หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 8 ประจำวันที่ 2004-02-27

ข่าวการศึกษา

“หัวเฉียว”ผนึกกำลังม. เซี่ยงไฮ้ เปิดแพทย์แผนจีน
‘เซาธ์อีสบางกอก’ ให้ทุนเรียนฟรี
กรรมการกยศ.ไฟเขียวปรับกองทุนกู้เรียน
ยกร่างหลักเกณฑ์ประเมินผลงานครูใหม่
ยกย่อง ‘ชิษณุสรร’อาจารย์นักวิทย์ดีเด่น
สพฐ.จัดทัวร์ครู-นักเรียนดูงาน ‘จีพีเอ’
ม.เกษตรศาสตร์จับมือกับอียูเปิดคอร์ส ‘อุตสาหกรรมอาหาร’
อ.ก.พ.ทบวงฯ ลงมติโอนย้ายขรก.ไปราชภัฏ
ม.นเรศวรตั้งเงื่อนไขอาจารย์ทำวิจัยรองรับการแข่งขันเปิดเสรีทางศึกษา
สอศ. ปลื้มผลงานสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่
ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธน แห่งแม่ฟ้าหลวง
แฉครูสอนฟุตฟิตฟอไฟประสิทธิภาพต่ำ
ร่าง ก.ม. ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาใกล้คลอด

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ฟุตบอลหุ่นยนต์
เด็กวิศวะฯ การบิน อวดผลงาน “แบบจำลองขับเครื่องบินเสมือนจริง”
เครื่องจับแมลงวันทองแบบลูกกลิ้ง
ETV: สู่มาตรฐานใหม่เตาเผาขยะไทย
เด็กไทยเก่งชิงแชมป์ระดับโลก “Intel ISEF” 2004
เล็งออกกฎคุมน้ำทิ้งฟาร์ม ‘สัตว์น้ำจืด’
เตือนภัยกระดาษรีไซเคิลสารเคมีสูง
ม.เกษตรฯ ปรับตัวรับยุคไอทีพัฒนาสู่ ‘มหาวิทยาลัยไร้สาย’
หุ่นยนต์หมอ’ ช่วยผ่าตัดทางไกล
เรื่องจริงผ่านจอหลุมดำทึ้งดาวฤกษ์
ขอพระราชทานชื่อ สิรินธร ผีเสื้อวงศ์ใหม่ของโลกที่พบในไทย
ทส. คุมเข้มร้านทองคำปล่อยไอกรด
“เครื่องบินบังคับ” รุ่นนี้ทุนต่ำ-ทำไม่ยาก
บ้านอนาคตแสนฉลาดคิดเองได้ ช่วยเจ้าของทำงานทุกอย่าง
คดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์สูงขึ้น บริษัทในอังกฤษโดนกันระนาว

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องปั่นไฟใช้ก๊าซชีวภาพ
พบหญิงขาดธาตุเหล็กอ่อนเพลียง่าย
ล้วงความลับพืชผลิตโฮโดรเจน ปูทางผลิตเชื้อเพลิงบริสุทธิ์
มหิดลลุยวิจัยผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบ
ฉีดไขมันเสริมทรวงอก
วิจัยรถอัจฉริยะวิ่งได้ไม่ใช้คนขับเล็งช่วยผู้พิการ
ปรับโฉมพลาสติกถนอมอาหารรักษาแผลผิวหนังพุพอง
2เวิร์มใหม่ผนึกกำลังถล่มข่ายอินเตอร์เนต
พัฒนายากินหยุดเซลล์มะเร็งปอด
Auto CAD ช่วยวางแบบเสื้อลดเศษผ้าเหลือทิ้งคุมต้นทุน
เผย ‘โทเทิ่ล คอนโทรล’ แนวทางใหม่รักษาหืด
3 นักวิทยาศาสตร์สวีเดนประกาศพบเทคนิคเจอ ‘อัลไซเมอร์’ เร็วขึ้น
ถอดรหัสจีโนม ‘พุดเดิล-บ๊อกเซอร์’ ไขสุขภาพมนุษย์และเพื่อนแท้สุนัข
หนูอังคาร
งานวิจัยโครงการพระราชดำริแก้น้ำท่วมกรุง คว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่น สกว.
อันตรายจากสนามแม่เหล็กระดับต่ำ ทำเอาเซลล์สมองหนูทดลองเสียหาย
นักบอลสมัครเล่นโปรดทราบ ลูกโหม่งอาจทำให้กระดูกคอเสื่อม
ผลิตไฮโดรเจน.....ไม่ยากอย่างที่คิด
ควันเสียจากรถยนต์อาจะเป็นตัวการก่อความเสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
20นักประดิษฐ์บันลือโลก
ความเครียดตอนกลางวันตามรังควานผลาญเวลาหลับลึกตอนกลางคืนให้ลดลง
ระวังแคดเมียมในสาหร่าย
การค้นคว้าวิจัยใช้ใบปาล์มเป็นอาหารสัตว์ในมาเลเซีย

ข่าวทั่วไป

เกมคำไขว้ไทย
ใต้สถานีรถไฟฟ้ามลพิษสูง
เดลินิวส์ติด 1 ใน 10 เว็บยอดนิยม
สมุนไพรสบู่ : ใบไม้ 5 ชนิด
ศาสตร์แห่งรักบนเวบ
ส.เว็บมาสเตอร์เร่งพัฒนาระบบป้องกัน ‘เมลขยะ’
อีเอมเอส : ปลดพันธนาการผู้ต้องขัง
สปส.-รร. แพทย์พบกันครึ่งทาง หาทางดูแลคนไข้ประกันสังคม
กรมวิทย์เตือนไวรัส ‘ฟูเจี้ยนฟลู’ หวัดพันธ์ใหม่จ่อเข้าไทย พ.ค. นี้
ชี้สื่อตัวดีทำภาษาไทยวิบัติ
ยก “ในหลวง” “ยูเอ็น” ถวายรางวัลใหญ่
ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ แด่ในหลวง
ยกเครื่องระบบขนส่งกำจัดสารพิษอันตราย
ไฮแคร์ฯ รุกธุรกิจสุขภาพ-ความงาม
รปภ.ออนไลน์ ป้องกันเว็บไซต์ต้องห้าม
กรมวิชาการเกษตรคุมเข้มนำเข้าสารเคมีทั่วประเทศ
ดึง 9 มหา’ลัยวางยุทธศาสตร์ท้องถิ่น





ข่าวการศึกษา


“หัวเฉียว”ผนึกกำลังม. เซี่ยงไฮ้ เปิดแพทย์แผนจีน

รศ.ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร รักษาการคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนจีน โดยนักศึกษาจะต้องเรียนไม่น้อยกว่า 181 หน่วยกิต ในระยะเวลา 5 ปี โดยเรียนพื้นฐานภาษาจีนเป็นระยะเวลา 1,740 ชั่วโมงและเรียนวิชาพื้นฐานอาชีพกลุ่มวิชาชีพแพทย์แผนจีน 27 วิชา เช่น พื้นฐานการแพทย์แผนจีน ยาสมุนไพรจีน เป็นต้น โดยต้องฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกในประเทศไทย 6 เดือนและฝึกงานในโรงพยาบาลประเทศจีน 6 เดือน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาร่วมสองสถาบันและสามารถเข้าสอบรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนจีนทั้งในประเทศไทยและประเทศจีนได้ ซึ่งจะเริ่มจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2547 (กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





‘เซาธ์อีสบางกอก’ ให้ทุนเรียนฟรี

วิทยาลัยเซาธ์อีสบางกอก เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6, ปวช หรือเทียบเท่า จากโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาทั่วประเทศเพื่อคัดเลือกเข้ารับทุนเรียนฟรีในโครงการทุนการศึกษาช้าง เผือกมัธยมศึกษาสู่บัณฑิต ครั้งที่ 3 ปีการศึกษา 2547 ในคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ, คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี/ การตลาด/ คอมพิวเตอร์ธุรกิจและคณะนิติศาสตร์ สาขาวิชานิติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทุนเรียนดีสำหรับที่มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.75 จำนวน 35ทุนและประเภทความสามารถพิเศษ ด้านกีฬาประเภทบาสเกตบอลหญิง มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 จำนวน 12 ทุนและประเภทเชียร์ลีดเดอร์มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 จำนวน 3 ทุนนักเรียนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่วิทยาลัยเซาธ์อีสบางกอก โทร 0-2398-1352 (มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า17)





กรรมการกยศ.ไฟเขียวปรับกองทุนกู้เรียน

นายเปรมประชา ศุภสมุทร ผู้จัดการกองทุนให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนรูปแบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าที่ประชุมเห็นชอบรูปแบบกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือ Income Contigent Loan for Higher Education (ICL) แต่มี 3 เรื่องที่ต้องเสนอให้เป็นมติรัฐมนตรี ได้แก่ 1.ผู้กู้เดิมต้องแก้ไขสัญญาเงินกู้เพื่อการเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ซึ่งกยศ. ไม่สามารถทำเองโดยพลการได้ 2.การแก้ พรบ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นรูปแบบใหม่ ICL ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้กู้เฉพาะนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยกู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียนและเปลี่ยนวีธีชำระหนี้ใหม่เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ ปรับอัตราดอกเบี้ยและการให้กู้ที่ไม่เฉพาะกลุ่มคนยากจนเท่านั้น 3.เรื่องงบประมาณ เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการตามรูปแบบกองทุนใหม่ ซึ่งจะนำมติที่ประชุมเข้าหารือกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 20)





ยกร่างหลักเกณฑ์ประเมินผลงานครูใหม่

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) เปิดเผยความคืบหน้าในการประเมินผลงานข้าราชการครูและผู้บริหารเพื่อเลื่อนขั้นตำแหน่งว่าขณะนี้กำลังประเมินผลงานครูจากอาจารย์ 2 ระดับ 7 เป็นอาจารย์ 3 ระดับ 8 โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกใช้การประเมินจากผลงานวิชาการมีจำนวน 5,000 คนและส่วนที่สองใช้วิธีการประเมินแบบใหม่คือประเมินที่สถานศึกษาโดยคณะกรรมการ 3 ชุดได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการเขตพื้นที่และคณะกรรมการหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อดูผลการสอนของครูจำนวน 60,000 คน ซึ่งจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้จากนั้นจะเลื่อนตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม สำหรับการประเมินผลงานครูในอนาคตจะเน้นการประเมินที่สถานศึกษาเป็นหลัก เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ว่า การเลื่อนวิทยฐานะครูจะต้องดูจากผลการเรียนการสอนเป็นสำคัญ รวมทั้งได้ให้ก.ค.ออกกฏคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลาการทางการศึกษาว่าด้วยการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูรองรับด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 11)





ยกย่อง ‘ชิษณุสรร’อาจารย์นักวิทย์ดีเด่น

ศ.นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยถึงรายชื่ออาจารย์ 4 ท่าน ที่ได้รับการยกย่องเป็นอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดลประจำปี 2546 ได้แก่ ศ.ม.ร.ว.ชิษณุสรร หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของโปรตีน ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและหัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวเคมี สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่บุกเบิกงานด้านการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนประกอบและหน้าที่การทำงานของโปรตีนต่างๆในไทยและได้สร้างเครือข่ายการวิจัยทั้งในประเทศและระดับนานาชาติสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ รศ.ทรงศักดิ์ เพ็ชรมิตร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มีความรู้ความชำนาญในด้านอณูชีวิทยาและชีวเคมีและสามารถถ่ายทอดได้อย่างชัดเจนและยังให้บริการวิชาการแก่นักศึกษาและบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ศ.พญ.ลีนา องอาจยุทธ หัวหน้าสาขาวิชาวักกะวิทยา (ไต) และรองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับยกย่องในฐานะอาจารย์แพทย์และมีผลงานช่วยในโครงการต่างๆ และคนสุดท้ายได้แก่ผศ.ดร.วรณี ดำรงรัตน์ คณะพยาบาลศาสตร์เนื่องจากนำความรู้ทางการพยาบาลและการสาธารณสุขจากต่างประเทศมาประยุกต์สอนนักศึกษาได้ดีโดยเฉพาะการพยาบาลผู้ป่วยโรคเอดส์ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า8)





สพฐ.จัดทัวร์ครู-นักเรียนดูงาน ‘จีพีเอ’

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่าเมื่อเร็วๆนี้โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนเบญจมราชาลัยได้นำคณะนักเรียนและครูแนะแนวจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 57 คนไปศึกษาดูงานเรื่องค่าคะแนนเฉลี่ยสะสมม.ปลายหรือจีพีเอของโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็กในจังหวัดนครราชสีมาได้แก่โรงเรียนสุรนารีวิทยา โรงเรียนมหิศราธิบดี โรงเรียนนครราชสีมาวิทยาลัย โดยมีวัตถุเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับจีพีเอระหว่างนักเรียนส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีนายมังกร กุลวานิชที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนางบุญชู ชลัษเฐียร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือวัดผลเป็นผู้รับผิดชอบประสานงาน ซึ่งนายมังกร กล่าวว่าลักษณะการวัดประเมินผลของโรงเรียนแต่ละแห่งมีความคล้ายคลึงกัน คือมีการแบ่งคะแนนเป็นสองส่วน ระหว่างผลการเรียนกลางภาคและปลายภาค ส่วนการวัดการประเมินผลจะเน้นด้านความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ สำหรับประเด็นการเพิ่มสัดส่วนจีพีเอให้เป็นร้อยละ 25 ในปีการศึกษา 2548 และเพิ่มจนถึง 100 เปอร์เซนต์ในปีการศึกษา 2549 นั้น นักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการช่วยให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 10)





ม.เกษตรศาสตร์จับมือกับอียูเปิดคอร์ส ‘อุตสาหกรรมอาหาร’

ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ ผู้จัดการโครงการ Asian-European Excutive Training for Food-Industry ซึ่งเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในยุโรปและเอเชีย 5 แห่ง เปิดหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทในสาขา Asian-European Mater of Science in Food Science and Technology เพื่อให้นักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติทั้งจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและศึกษาร่วมกับนักศึกษาจากประเทศในแถบยุโรปและยังเปิดอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคนี้ให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรมในแต่ละครั้งด้วย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือเอเชียและยุโรปหรือเอเชียลิงค์ที่สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญระหว่างยุโรปและกลุ่มประเทศเอเชียในด้านอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้คณะกรรมมาธิการยุโรปยังให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า10)





อ.ก.พ.ทบวงฯ ลงมติโอนย้ายขรก.ไปราชภัฏ

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ อ.ก.พ. ทบวงมหาวิทยาลัยมีนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน มีมติให้ตัดโอนข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือสกอ. จำนวน 40 รายที่ประสงค์จะตัดโอนไปเป็นข้าราชการของสถาบันราชภัฏต่ละแห่งทันทีตามที่ได้ขึ้นบัญชีไว้ ส่วนอีก 90 รายที่ขอตัดโอนไปยังสถาบันราชภัฏในกรุงเทพมหานครที่ประชุมมีมติให้ตัดโอนได้ แต่กำหนดขั้นตอน ระยะเวลา และการส่งมอบงาน โดยยื่นความจำนงเป็นรายบุคคลเพื่อขออนุมัติเป็นรายๆไป (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า10)





ม.นเรศวรตั้งเงื่อนไขอาจารย์ทำวิจัยรองรับการแข่งขันเปิดเสรีทางศึกษา

ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เผยว่าขณะนี้ทางคณะได้เร่งปรับบทบาทและภารกิจเพื่อรองรับการแข่งขันการเปิดเสรีทางการศึกษาและมุ่งสู่เป้าหมายที่จะเป็นวิทยาลัยแห่งการวิจัยให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้วิจัยรวมกลุ่มกัน 3-4 คน โดยให้แบ่งเวลา 30-40 % ของชั่วโมงการทำงานทั้งหมดเพื่อการวิจัยโดยเฉพาะอาจารย์ใหม่ต้องมีการนำเสนอผลงานวิจัยหรือบทความทางวิชาการภายใน 1 ปี รวมไปถึงอาจารย์ที่ไปศึกษาดูงาน หรืออบรมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนและหน่วยงานต่างๆด้วย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า12)





สอศ. ปลื้มผลงานสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่

สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประกาศผลประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ประจำปี 2546 ระดับชาติครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ ณ เดอะมอลล์ บางกะปิ กรุงเทพฯ จากผลงาน 904 ชิ้น ผลงานที่ได้รับรางวัลแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้านและสำนักงานรางวัลชนะเลิศได้แก่ “เครื่องไล่ลมเบรก-คลัตซ์แบบสุญญากาศ” จากวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี ประเภทที่ 2 อุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ รางวัลชนะเลิศได้แก่ “MIXER ONE” จากวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ประเภทที่ 3 อุปกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รางวัลชนะเลิศได้แก่ “เครื่องจับแมลงวันพลังน้ำ” จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ประเภทที่ 4 ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรางวัลชนะเลิศได้แก่ “เซฟตี้ก๊อก” จากวิทยาลัยการอาชีพพรรณานิคม ประเภทที่ 5 ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจและประมงทะเล รางวัลชนะเลิศได้แก่ “เครื่องสีข้าวกล้อง” จากวิทยาลัยเทคนิคยโสธร และประเภทที่ 6 วิจัยและพัฒนา รางวัลชนะเลิศได้แก่ “เครื่องอัดวัสดุสำหรับเพาะเห็ด” จากวิทยาลัยอาชีพบึงกาฬ ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาเกม “OJAK สะพานแห่งความรัก ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ทีม “UNIT VI” จากวิทยาลัยราชสิทธาราม และการแข่งขันทักษะวิชาชีพสาขาช่างก่อสร้างงานก่ออิฐและฉาบปูน “ฝีมือเด็กไทยเพื่อสังคมไทย” รางวัลชนะเลิศได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธน แห่งแม่ฟ้าหลวง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยศูนย์ภาษาแห่งนี้ก่อตั้งขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยรัฐบาลจีนตั้งใจจัดสร้างศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร เพื่อเป็นที่ระลึกว่าในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นเครื่องหมายแห่งไมตรีจิต มิตรภาพระหว่างประชาชนของประเทศทั้งสอง ภารกิจของศูนย์แห่งนี้ มุ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนภาษาจีนให้มีมาตรฐานเป็นสถานที่สัมมนาที่เกี่ยวข้องกับจีน ตลอดจนเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศทั้งสอง (สยามรัฐ จันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





แฉครูสอนฟุตฟิตฟอไฟประสิทธิภาพต่ำ

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประเมินผลความสามารถของครูผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา ประมาณ 10,000 คน พบว่าร้อยละ 45 มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับปานกลางและค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ครูผู้สอนที่จบสาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ หรือโทด้านภาษา ก็ยังมีทักษะด้านการพูด ฟัง อ่าน เขียน ในระดับปานกลาง ส่วนครูประถมศึกษา เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ จึงพบว่าร้อยละ 90 มีความสามารถค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะประเทศไทยกำลังเปิดประเทศ การสื่อสารต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณ กว่า 300 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนของครู เพื่อยกระดับความสามารถของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ จำนวน 15,000 คน โดยเริ่มต้นใน 30 จังหวัดท่องเที่ยว (ไทยรัฐ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





ร่าง ก.ม. ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาใกล้คลอด

ศ.ดร.สุรพล มิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ของวุฒิสภา เปิดเผยว่าขณะนี้วุฒิสภาได้เห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การให้อิสระกับมหาวิทยาลัยในการบริหารงานบุคคลที่ให้สิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัย 2. การขยายเวลาการเกษียณอายุราชการของข้าราชการสายวิชาการจาก 60 ปี เป็น 65 ปี 3.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยรับเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการที่มีอยู่เดิม และเงินในตำแหน่งใหม่ไปพร้อมกันด้วย ขั้นตอนต่อไปของร่าง ก.ม. นี้จะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ถ้าเห็นชอบก็จะบังคับใช้ประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายนนี้ (เดลินิวส์ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ฟุตบอลหุ่นยนต์

จากการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย (Robocup Thailand Championship)ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท ซีเกต เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีกติกาว่าให้แต่ละฝ่ายมีหุ่นยนต์ร่วมทีมได้ไม่เกิน 5 ตัว แข่งขันกันเตะฟุตบอลเข้าประตูมากที่สุดในเวลา 20 นาที ผลปรากฏว่าทีมที่ชนะเลิศ คือทีม Plasma-z จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชมป์เก่า ส่วนรองชนะเลิศคือ ทีมแมลงปอน้อย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม จากทีม ITE-Goldi จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





เด็กวิศวะฯ การบิน อวดผลงาน “แบบจำลองขับเครื่องบินเสมือนจริง”

อาจารย์กีรติ แสงแจ่ม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ หัวหน้าโครงการออกแบบสร้างแบบจำลองการบิน และนิสิตภาควิชาวิศวกรรม การบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แสดงขีดความสามารถ สร้างแบบจำลองการบิน (Flight Simulator) ฝีมือคนไทยล้วน ๆ จัดโชว์ผลงานครั้งแรก ในนิทรรศการวิชาการบนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 9 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่ฝันอยากเป็นนักบิน ทดลองขับเสมือนได้บินจริงเป็นจำนวนมาก การออกแบบและโปรแกรมแสดงผลเครื่องมือประกอบการบินบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เช่น เข็มวัดความเร็ว ความสูง อุปกรณ์ช่วยบิน เช่น VOR DMEILS พร้อมหน้าปัดการปรับคลื่นวิทยุ เพื่อใช้ในการติดต่อกับหอบังคับการ และอุปกรณ์ช่วยในการลงจอด โดยแผงควบคุมที่ออกแบบได้ออกแบบให้มีแผนที่ที่ใช้อ้างอิงตำแหน่งของเครื่องบินด้วยระบบ GPS (Global Positioning System) พร้อมแผนที่ประกอบการบิน ซึ่งเป็นอุปกรณ์เพิ่มสำหรับนักบินในการหาตำแหน่งที่ถูกต้องของเครื่องบินรวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องนักบินเพื่อความสมจริง “ทีมงานยังตั้งใจจะพัฒนาแบบจำลองการบินนี้ต่อไป โดยการทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เพื่อให้สมจริงยิ่งขึ้นและอุปกรณ์ที่สร้างมาจะใช้ในการเรียนการสอนของภาควิชาฯ ในอนาคต” (สยามรัฐ เสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เครื่องจับแมลงวันทองแบบลูกกลิ้ง

นายวิวิทย์ บุญเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาเครื่องกลและเทคนิคเครื่องกลและเทคนิค ยานยนต์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ได้คิดค้น “เครื่องจับแมลงวันทองแบบลูกกลิ้ง” หลักการทำงานของเครื่องจับแมลงวันทองนี้จะอาศัยพลังงานจากระบบน้ำหยดจากถังน้ำให้ไหลลงสู่กระเดื่องน้ำ เมื่อน้ำเต็มกระเดื่อง กระเดื่องก็จะกระดกทำให้น้ำไหลออกมาเป็นจังหวะเดียวกับกับลูกกลิ้งก็จะกลิ้งให้แมลงที่มาตอมสารเมธิลยูจินนอล กลิ้งเข้าไปในตู้เก็บแมลงที่เตรียมไว้ สามารถจับแมลงได้ครั้งละ 50-60 ตัว เฉลี่ยได้วันละ 1,000-2,000 ตัว สิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ สาขาเทคนิคระดับภาคที่ จ.สุราษฏร์ธานี และรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2546 ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2547 ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน (คมชัดลึก อาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ETV: สู่มาตรฐานใหม่เตาเผาขยะไทย

กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนให้ รศ.ดร.สมรัฐเกิดสุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการวิจัยเรื่อง “การจัดตั้งศูนย์ตรวจประเมินเตาเผาขยะมูลฝอย” ขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานในการ ประเมินประสิทธิภาพเตาเผาขยะที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายขึ้นมา การสร้างระบบตรวจประเมินเตาเผาขยะ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ตรวจวัด ได้นำไปใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศเรียกกลไกรูปแบบนี้ว่า “การตรวจประเมินเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม” (Environment Technology Verifiaction-ETV) จึงเป็นสิ่งที่ รศ.ดร.สมรัฐ และคณะโดยมีความร่วมมือกับบริษัทผลิตเตาเผาขยะ 4 แห่ง ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันและสามารถจัดทำมาตรฐานใหม่ของเตาเผาขยะไทยได้สำเร็จแล้ว (สยามรัฐ จันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 10)





เด็กไทยเก่งชิงแชมป์ระดับโลก “Intel ISEF” 2004

โครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 6 ในมหกรรมการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศครั้งที่ 3 หรือ Thailand ICT Contest Festival 2004 ซึ่งจัดโดยศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัท อินเทลไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยในปีนี้เด็กเก่งจากเมืองพระปฐม ทวีธรรม ลิมปานุภาพ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เป็นผู้ชนะเลิศในสาขาคอมพิวเตอร์ ร่วมด้วยคนเก่งจากเมืองตรัง ศุภโชค หฤหรรษพงศ์ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และ ณัฎฐ์ ปิยะปราโมทย์ จากโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จ.ราชบุรี ได้รับรางวัลพิเศษ และรางวัลที่สองสาขาคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ คนเก่งทั้ง 3 จะเป็นผู้แทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF ครั้งที่ 55 ณ มลรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





เล็งออกกฎคุมน้ำทิ้งฟาร์ม ‘สัตว์น้ำจืด’

นายวิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯกล่าวว่าจากการสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงสัตว์น้ำพบว่า ในปี 2543 มีจำนวนฟาร์มเพาะเลี้ยงจำนวน 256,082 แห่งหรือมีพื้นที่เลี้ยง 600,905.93 ไร่และมีแนวโน้มที่ปริมาณฟาร์มเลี้ยงจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่เลี้ยงมากที่สุดคือ จังหวัดสมุทรปราการ รองลงมาคือสุพรรณบุรีและสมุทรสาคร โดยในปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับการปล่อยน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งส่งผลให้คุณภาพแม่น้ำลำคลองหลายสายมีคุณภาพต่ำเกินมาตรฐาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยน้ำทิ้งโดยจะควบคุมใน 5 ปัจจัยหลักคือ ค่าบีโอดี จะต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร ปริมาณสารแขวนลอย 80 มิลลิกรัม/ลิตร แอมโมเนีย ไนโตรเจน 1.1 มิลลิกรัม/ลิตร ไนโตรเจนรวม 4.2มิลลิกรัม/ ลิตรและฟอสฟอรัส 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อออกกฎประกาศกระทรวงบังคับใช้ต่อไปและจะจัดทำคู่มือการเลี้ยงปลาและควบคุมมาตรฐานน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแจกจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศโดยเน้นสัดส่วนการให้อาหารปลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาน้ำเสีย (กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 10)





เตือนภัยกระดาษรีไซเคิลสารเคมีสูง

นายรังสรรค์ ปิ่นทอง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมระดับ 8 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตกระดาษทั่วไปจะต้องมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ เช่น สี สารฟอกขาว คลอรีน เป็นต้น สำหรับกระบวนการผลิตกระดาษรีไซเคิลนั้นจะต้องมีการใช้สารเคมีบางชนิดมาเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน เช่น กรดบอร์ลิก สารเติมแต่งสี โซเดียมซิลิเกต ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันคนเริ่มหันมาใช้กระดาษรีไซเคิลแทนกระดาษหนังสือพิมพ์ในการบรรจุอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหารและมีผลต่อสุขภาพที่จะแสดงผลในระยะยาวซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นประชาชนควรนำกระดาษรีไซเคิลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การนำไปบรรจุอาหารแต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรจะใช้กระดาษที่ทำจากเยื่อบริสุทธิ์หรือกระดาษรีไซเคิลเคลือบมันแล้วเท่านั้น (มติชนรายวัน อังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 18)





ม.เกษตรฯ ปรับตัวรับยุคไอทีพัฒนาสู่ ‘มหาวิทยาลัยไร้สาย’

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่าทางมหาวิทยาลัยได้วางโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบ Wireless Lan ให้เชื่อมโยงอาคารทั้ง 150 อาคาร รวมทั้งติดตั้งแอกเซสพอยท์กว่า 120 ตัวในวิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยได้เลือกสถานที่ภายในมหาวิทยาลัยที่เป็นจุดสำคัญๆและติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แสงสว่าง มีระบบรักษาความปลอดภัยและระบบไฟฟ้าที่นักศึกษาสามารถนั่งทำงาน ค้นคว้าหาข้อมูลผ่านโน้ตบุ๊คได้โดยสะดวกซึ่งจะทำให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 11)





หุ่นยนต์หมอ’ ช่วยผ่าตัดทางไกล

โรงพยาบาลจอห์น ฮอบสกินส์ เมืองบัลติมอร์ มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ได้มีการนำหุ่นยนต์อาร์ซีเอ็ม-พาร์คีย์ มาทำหน้าที่เป็นหมอช่วยให้แพทย์เจ้าของไข้สามารถติดต่อสื่อสารกับคนไข้แบบออนไลน์ได้โดยหุ่นยนต์จะทำการเชื่อมต่อโมเด็มเข้าสู่อินเทอร์เน็ต และแพทย์จะออนไลน์เพื่อสนทนาเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถใช้หุ่นยนต์นี้เป็นโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ท่องอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วยและยังช่วยในการผ่าตัดภายในได้อีกด้วยซึ่งการนำหุ่นยนต์มาช่วยในด้านนี้ทำให้ลดความผิดพลาดที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ได้ ซึ่งคณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์โทมัส กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้ทดลองให้หุ่นยนต์ทำการผ่าตัดอาการนิ่วในไตโดยใช้ไตปลอมพบว่าอาร์ซีเอ็ม-พาร์คีย์ทำงานได้อย่างแม่นยำและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





เรื่องจริงผ่านจอหลุมดำทึ้งดาวฤกษ์

กล้องสำรวจอวกาศจันทราและนิวตันซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ (นาซา) และกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ของสำนักงานอวกาศยุโรป (อีซา) ได้ตรวจพบดาวฤกษ์ซึ่งหลุดจากเส้นทางโคจรพลัดหลงเข้าไปในเส้นทางหลุมดำซึ่งอยู่บริเวณใจกลางกาแลคซีและห่างจากโลกประมาณ 700 ล้านปีแสง ซึ่งกล้องรังสีเอ็กซ์สามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์มองทะลุก๊าซและฝุ่นในจักรวาลและได้ตรวจพบแรงระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อก๊าซจากดาวฤกษ์มีความร้อนเพิ่มขึ้นหลายล้านองศาขณะถูกหลุมดำฉีกร่างและดูดเข้าไปภายใน ซึ่งนักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดกับการแลคซีบางแห่งเท่านั้นในทุก 10,000 ปีและจะมีดาวบางดวงเท่านั้นที่จะถูกดูดเข้าไปหรือถูกบังคับให้หมุนเร็วขึ้นกว่าปกติ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า8)





ขอพระราชทานชื่อ สิรินธร ผีเสื้อวงศ์ใหม่ของโลกที่พบในไทย

Dr.David Adamaki นักวิทยาศาสตร์แห่งกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และนายวิชัย มะลิกุล จิตกรนักกีฎวิทยา ผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันสมิธโซเนียน ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานชื่อแมลงผีเสื้อกลางคืนชนิดใหม่ ที่ถูกพบจากประเทศไทย ซึ่งภายหลังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า Sirinthorn Thailand ienses Adamaki & Malikul เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ และในฐานะที่ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 25)





ทส. คุมเข้มร้านทองคำปล่อยไอกรด

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 24 ก.พ.ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐานควบคุม การปล่อยทิ้งอากาศเสียจากสถานประกอบการหลอม และต้มทองคำ ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นำเสนอโดยกำหนดให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษด้านอากาศ ที่จะต้องมีการควบคุมบังคับการปล่อยอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เนื่องจากที่ผ่านมา กระบวนการหลอมทองได้ปล่อยก๊าซอ๊อกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งเป็นสาเหตุของฝนกรด โดยเฉพาะเขต กทม.ได้แก่ เขตสัมพันธ์วงศ์ พระนคร ป้อมปราบฯ และราชเทวี พบค่าความเข้มข้นของก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนในบรรยากาศสูงสุดที่ 0.317 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) โดยถือเป็นปริมาณที่สูงมากจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 0.17 พีพีเอ็มเท่านั้น และมีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากไอกรดที่เกิดขึ้น นายประพัฒน์กล่าวว่า จะต้องควบคุมร้านทองอย่างใกล้ชิด โดย คพ. ติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศ และนำข้อมูลเผยแพร่ ให้สาธารณชนรับรู้ นอกจากนี้ก็จะมีการออกคู่มือให้คำแนะนำแก่หน่วยงานท้องถิ่น ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศร้านหลอมทอง รวมทั้งหากเป็นไปได้ก็อาจต้องย้ายสถานประกอบการเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมต่อไปด้วย (ไทยรัฐ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 15)





“เครื่องบินบังคับ” รุ่นนี้ทุนต่ำ-ทำไม่ยาก

ศักดิ์สิทธิ์ สุภาพร เจ้าของเครื่องบินเล็กบังคับ (JACK PLANE) กล่าวว่าจุดเด่นของเครื่องบินเล็กบังคับแบบนี้สามารถบังคับบินได้จริง มีความทนทาน ขึ้นและลงจอดที่พื้นได้โดยไม่เสียง่าย อุปกรณ์ที่ทำสามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ราคาเงินลงทุนประมาณ 2,000, 2,500, แต่ถ้าเป็นแบบโบอิ้งประมาณ 3,000 บาท สนใจ ติดต่อได้ที่ คุณศักดิ์สิทธิ์ สุภาพร 0-1782-3464 หรือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 9 จ.ชลบุรี และใน กทม. แถว ๆ แคราย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





บ้านอนาคตแสนฉลาดคิดเองได้ ช่วยเจ้าของทำงานทุกอย่าง

นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส กำลังช่วยกันคิดค้นให้มีบ้านแสนฉลาด เช่น จะปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม เปิดน้ำให้โดยอัตโนมัติ ชงกาแฟให้ เปิดวีดีโอให้ เปลี่ยนรายการอาหารให้ ปรับแสงสว่างให้ ล๊อกประตูบ้านให้ ขณะนี้กำลังวิจัยห้องทดสอบเชิงพาณิชย์ โดยทดสอบเทคโนโลยีนี้สามารถทำให้ชีวิตในบ้านง่ายขึ้น (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





คดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์สูงขึ้น บริษัทในอังกฤษโดนกันระนาว

เลน ไฮต์ ตัวแทนจากหน่วยงานรับผิดชอบดูแลคดีความด้านเทคโนโลยีในอังกฤษพบว่า องค์กรธุรกิจหลายแห่ง กำลังตกเป็นเหยื่อจากคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปกว่า 77 % จะเป็นการจู่โจม และสร้างความเสียหายจากการปล่อยไวรัสประมาณ 254 กรณี อีก 20 % เป็นการขโมยข้อมูลสำคัญ พยายามทำลายเว็บไซต์และปล่อยอีเมล์ขยะก่อกวน ค่าใช้จ่ายในการขจัดปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้ค่าจ่ายสูง เช่น ขจัดไวรัส และปัญหาทางอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ สามารถดูแลได้เพียง 1 ใน 3 ของปัญหา (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องปั่นไฟใช้ก๊าซชีวภาพ

สองพี่น้องตระกูล “เฉลิมชัยวินิจกุล” จากย่านบางพลี จ.สมุทรปราการ ได้พัฒนา “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซชีวภาพ” ล่าสุดได้พัฒนาเครื่องยนต์ศักยภาพสูงขนาด 330 แรงม้าโดยนำระบบซีดีไอ แทนระบบหัวเทียนได้สำเร็จ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 110 กิโลวัตต์ ทำงานต่อเนื่องได้นาน 8-10 ชม. มีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 5 เท่าตัว ประหยัดกระแสไฟฟ้าได้กว่า 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้า องค์การค้าโลก (WTO) จะมีข้อบังคับให้ประเทศสมาชิกแต่ละชาตินำก๊าซชีวภาพมาใช้ไม่ต่ำกว่า 8% ของพลังงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งคาดว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซชีวภาพรุ่นใหม่ที่ใช้ระบบซีดีไอนี้น่าจะเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกร ผู้สนใจติดต่อได้ที่ ไพศาล โทร 0101-1987-7002 (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 9)





พบหญิงขาดธาตุเหล็กอ่อนเพลียง่าย

มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ทำการศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ของธาตุเหล็กเสริมที่มีผลต่อการอ่อนเพลียในหญิงที่ไม่ได้เป็นโรคโลหิตจางที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ โดยทำการวิจัยในหญิง 136 คนที่มีอายุตั้งแต่ 18-55 ปี โดยกลุ่มทดลองถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกจะได้รับธาตุเหล็กเสริม กลุ่มสองจะได้รับยาหลอก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มหญิงที่ได้รับธาตุเหล็กเสริมนี้มีอาการอ่อนเพลียลดลง 29% ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมีอาการอ่อนเพลียลดลง 13 % ซึ่งผลการวิจัยจะมีผลโดยตรงเมื่อความเข้มข้นของเหล็กในกระแสเลือดอยู่ในช่วงต่ำหรือค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเข้มข้นของสารเฟอริตินหรือปริมาณเหล็กสะสมในร่างกาย 50 ไมโครกรัมต่อลิตร จะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับธาตุเหล็กเสริม (มติชนรายวัน อังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า18)





ล้วงความลับพืชผลิตโฮโดรเจน ปูทางผลิตเชื้อเพลิงบริสุทธิ์

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอนและบริษัทไซแอนซ์ แอน เทคโนโลยี จากญี่ปุ่น รายงานในวารสารทางวิทยาศาสตร์ไซแอนซ์ ถึงความสำเร็จในการค้นพบความลับของพืช โดยใช้แบคทีเรียพืชที่ชื่อ “เทอร์โมซินเนโคคอคคัส อีลองกาตัส” เป็นต้นแบบในการจับภาพกระบวนการเปลี่ยนน้ำมาเป็นก๊าซไฮโดรเจนของต้นพืชโดยอาศัยเครื่องถ่ายภาพโครงสร้างคริสตัลด้วยแสงเอกซเรย์ ที่มีความคมชัดสูงถ่ายภาพกระบวนการแตกตัวของโมเลกุลน้ำในต้นพืช เป็นอะตอมไฮโดรเจน 2 อะตอมและออกซิเจน 1 อะตอม ซึ่งก่อนหน้านี้มีทีมวิจัยกลุ่มอื่นได้ทำการศึกษาและแสดงให้เห็นการแตกตัวของโมเลกุลน้ำซึ่งเกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นโดยศูนย์กลางเร่งปฏิกิริยาที่มีอะตอมของธาตุแมงกานีส 4 อะตอมเมื่อทำการศึกษาต่อพบว่ามีอะตอมแมงกานีส 3 อะตอม อะตอมของแคลเซียม 1 อะตอมและออกซิเจนอีก 4 อะตอมรวมตัวเป็นโครงสร้างทรงลูกบาศก์และทำให้ศูนย์กลางเร่งปฏิกิริยามีสภาพที่เสถียร เมื่อนำผลงานวิจัยทั้งสองชิ้นมาประกอบกันทำให้ได้เบาะแสของกระบวนการทางเคมีที่ทำให้น้ำแตกตัวเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน ซึ่งหากสามารถแยกไฮโดรเจนออกมาได้ก็จะสามารถนำไปเป็นแหล่งพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้ประหยัดมากกว่าพลังงานจากถ่านหินหรือปิโตรเลียมทั่วไป (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





มหิดลลุยวิจัยผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบ

ดร.สุธี ยกส้าน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาวัคซีน สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าวิจัยโครงการวิจัยบูรณาการนำร่องเรื่อง “การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน 3 ชนิด” เผยว่า วัคซีนที่จะทำการวิจัยประกอบด้วย วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อตายซึ่งได้จากการเพาะเลี้ยงในเซลล์ วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนและตับอักเสบบี (DTP-HB) และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดตัดต่อยีน ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบโดยเพาะในสมองหนูซึ่งทำให้มีการวิตกถึงความปลอดภัยเนื่องจากการปนเปื้อนของเนื้อเยื่อสมองสัตว์ ดังนั้นการวิจัยนี้จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพวัคซีนไทยให้ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ไร้ผลข้างเคียง ลดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณการใช้หนูในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ นอกจากนี้จะได้วัคซีนรวม DTP-HB ที่เหมาะสมกับการใช้เป็นวัคซีนสำหรับเด็ก และได้วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดตัดต่อยีนที่ผ่านการทดสอบคุณภาพทางเภสัชวิทยามาใช้อีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ฉีดไขมันเสริมทรวงอก

ดร.โคตาโร โยชิมูระ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเปิดเผยว่า เทคนิคดูดไขมันส่วนเกินจากต้นขา หน้าท้องมาผสานกับสเต็มเซลล์ ช่วยให้ทรวงอกมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามเสริมขนาดหน้าอกด้วยไขมันมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเกิดปัญหาเนื้อเยื่อตายและรวมกันเป็นก้อนแข็ง และแพทย์จำเป็นต้องใช้ไขมันเป็นจำนวนมาก แต่เทคนิคนี้ทีมวิจัยได้ดูดเซลล์ไขมันจากท้องหรือต้นขาซึ่งเป็นแหล่งไขมันเหลวที่อุดมสมบูรณ์และมีสเต็มเซลล์มากกว่าปกติ เมื่อนำมาผสมกับเนื้อเยื่อไขมันตามปกติแล้วจะสามารถนำมาฉีดหน้าอกได้ ซึ่งประโยชน์ของการใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยได้แก่ กำจัดไขมันบริเวณต้นขาหรือกระเพาะอาหารและเนื้อเยื่อยังไม่ถูกต่อต้านจากระบบมีคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





วิจัยรถอัจฉริยะวิ่งได้ไม่ใช้คนขับเล็งช่วยผู้พิการ

รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เผยถึงโครงการวิจัยพัฒนายานอัจฉริยะ (Development of an Intelligence vehicle) ว่ารถนี้จะทำการเขียนโปรแกรมให้รถสามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองได้นอกจากนี้ยังติดตั้งอุปกรณ์รับข้อมูลหรืออุปกรณ์ตรวจวัดประเภทต่างๆ เช่นตรวจวัดตำแหน่งปัจจุบันของรถ ตำแหน่งรถคันอื่นๆ สิ่งกีดขวางบนถนน และที่สำคัญรถอัจฉริยะนี้จะสามารถสื่อสารระหว่างรถอัจฉริยะด้วยกันเองได้ ป้องกันไม่ให้รถชนกัน ผู้โดยสารเพียงป้อนข้อมูลของสถานที่ปลายทางที่จะไปเท่านั้นซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ เช่นผู้พิการแขนขา สายตา ผู้สูงอายุ เป็นต้น โครงการวิจัยนี้ใช้ระยะเวลา 3 ปีในการพัฒนาต้นแบบรถอัจฉริยะซึ่งขณะนี้สมาคมกำลังเสนอโครงการเพื่อขอทุนวิจัยจากหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ มีนักวิจัยที่จะดำเนินโครงการ 30 คนโดยมีดร.บุญเสียง เบญจอรรถฤทธิ์ จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ปรับโฉมพลาสติกถนอมอาหารรักษาแผลผิวหนังพุพอง

นายแพทย์ดำรง หาดทรายทอง ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลไทยนครินทร์ เปิดเผยว่าโรงพยาบาลได้ศึกษาดัดแปลงแผ่นพลาสติกที่ใช้ถนอมอาหารมาใช้ปิดแผลสดหรือแผลถลอก โดยแผ่นพลาสติกนี้ผลิตจากพีวีซีชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ มาตัดเป็นชิ้นแล้วนำไปอบฆ่าเชื้อด้วยแก๊สเอทลินออกไซด์ 4-5 ชั่วโมง เมื่อนำมาปิดแผลให้คนไข้พบว่าแผ่นพลาสติกไม่ติดกับแผลของคนไข้ทำให้เวลาลอกเปลี่ยนแผ่นใหม่ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและไม่ทำให้สูญเสียเซลล์ซึ่งร่างกายสร้างมาแทนที่บริเวณแผลดังกล่าวและเซลล์ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีเนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยทำให้ความชื้นและอุณหภูมิของแผลเหมาะสม ส่งผลให้แผลไม่แห้งและไม่เป็นสะเก็ด จากการทดลองใช้พบว่าแผลที่ไม่รุนแรงจะหายภายใน 5- 7 วันและไม่เกิดแผลเป็น นอกจากนี้ยังป้องกันการติดเชื้อได้ดีโดยแผลที่ไม่สกปรกมากสามารถเปลี่ยนแผ่นพลาสติกได้ 2-3 วันต่อครั้ง แต่ถ้าแผลสกปรกสามารถเปลี่ยนได้ทุกวัน ซึ่งคนไข้พอใจมากและยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้แผ่นปิดแผลแบบที่ใช้ทั่วๆไป ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์และเตรียมขออนุญาตองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันความปลอดภัยด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





2เวิร์มใหม่ผนึกกำลังถล่มข่ายอินเตอร์เนต

สำนักข่าวเอ็มเอสเอ็นบีซี รายงานว่าบริษัทผลิตซอฟแวร์ต่อต้านไวรัสหลายแห่งตรวจพบไวรัสเน็ตสกาย(netsky) แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนายโจ เทลอาฟิซิ นักวิจัยไวรัสของบริษัทเน็ทเวิร์ค แอสโซซิแอทส์ อิงค์ กล่าวว่าไวรัสนี้ตรวจสอบได้ยากเนื่องจากหัวข้อและเนื้อความอีเมล์ได้จากการสุ่มเลือก นอกจากนี้ยังได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของการซ่อมแซมคอมพิวเตอร์ที่ติดเชื้อไวรัสมิเมลและมายดูม ข้อดีของไวรัสตัวนี้คือไม่ทำอันตรายคอมพิวเตอร์ที่ติดเชื้อจะทำการแพร่ระบาดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังพบเวิร์มบาเกล.บี (Bagel.B) ซึ่งมีอันตรายระดับปานกลางโดยติดตั้งประตูหลังบนคอมพิวเตอร์เพื่อปล่อยอีเมลสแปม (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า5)





พัฒนายากินหยุดเซลล์มะเร็งปอด

ศ.พ.ญ. สุมิตรา ทองประเสริฐ หัวหน้าหน่วยมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า การพัฒนายารักษามะเร็งปอดชนิดรับประทายเป็นการพัฒนายาที่เรียกว่า Melecular targeted thrapy ซึ่งยาจะเข้าไปจับตัวรับบนผิวหนังของเซลล์มะเร็งโดยตรงและไปออกฤทธิ์ทำให้เซลล์สูญเสียความสามารถในการขยายตัวและทำให้เซลล์บางเซลล์เสื่อมสลาย ใช้กับผู้ป่วยที่ดื้อยาเคมีบำบัดหรือไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด โดยขณะนี้ได้นำยามาใช้ในการทดลองวิจัยทางคลีนิกแต่ยังไม่มีจำหน่ายเพราะอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า8)





Auto CAD ช่วยวางแบบเสื้อลดเศษผ้าเหลือทิ้งคุมต้นทุน

ผศ.ดร.จรัมพร หรรษมนตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและทีมงานได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับจัดเรียงชิ้นงานผ้าและปรับเปลี่ยนมุมผ้า ช่วยให้ใช้พื้นผ้าได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดเลือกรูปแบบของผืนผ้าและมุมหมุนของชิ้นผ้าได้โดยวิธีการหาคำตอบจะใช้วิธีการแบบฮิวลิสติก คือการลองเลื่อนและหันไปตามจุดตำแหน่งภายในและขอบเขตที่กำหนดแล้วจึงเลือกตำแหน่งและมุมวางผ้าที่ดีที่สุด จากนั้นจะทำการอัดแน่นชิ้นผ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเรียงให้ดีขึ้น โดยในการพัฒนาใช้ภาษาออโตลิส (Auto LISP) ที่ทำงานบนโปรแกรมออโตแคด (AutoCAD) มาพัฒนาซึ่งมีข้อดีหลายข้อ อาทิเช่นการใช้งานโดยถ่ยชิ้นงานจริงจากภายนอกเข้าสู่โปรแกรมจัดเรียงทำได้ง่ายทั้งยังสามารถใช้จัดเรียงงานลักษณะอื่นๆได้และสามารถคำนวณค่าใช่จ่ายในการจัดซื้อวัตถุดิบได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกในการสร้างชิ้นผ้าเพื่อลดการผิดพลาดในการนำชิ้นผ้าเข้าโปรแกรมและหลังจากการจัดเรียงอัตโนมัตแล้วผู้ใช้ยังสามารถปรับเลื่อนชิ้นผ้าเองได้แต่จะไม่สามารถตรวจสอบการทับกันของชิ้นผ้าได้และไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการจัดเรียงที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งผลการวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับจัดเรียงชิ้นผ้าได้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า8)





เผย ‘โทเทิ่ล คอนโทรล’ แนวทางใหม่รักษาหืด

ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ประธานกรรมการจัดการประชุมโรคหืดระดับโลก ครั้งที่ 4 เปิดเผยว่า การประชุมนี้มีแพทย์เฉพาะทางโรคหืดมาประชุมถึง 2,500 คน ในปัจจุบันพบว่ามีคนไข้ที่เป็นโรคหืด โรคภูมิแพ้ประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งโรคหืดนั้นสามารถรักษาได้ถ้าพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ปัจจุบันมีการพัฒนาการรักษาให้ควบคุมโรคได้โดยสิ้นเชิง และการประชุมครั้งนี้มีการยอมรับเรื่องการใช้ยาและการจัดระบบการรักษาที่ดีที่เหมาะสมซึ่งรียกว่า “โทเทิ่ล คอนโทรล” โดยผู้ป่วยและแพทย์ต้องร่วมมือกัน จัดระบบยาและรูปแบบการรักษาให้เหมาะสม ไปพบแพทย์ตามเวลานัดหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีอาการของโรคทั้งเวลากลางวัน-กลางคืน ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้นบรรเทาอาการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแนวทางการรักษานี้จะนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก (มติชนรายวัน พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า18)





3 นักวิทยาศาสตร์สวีเดนประกาศพบเทคนิคเจอ ‘อัลไซเมอร์’ เร็วขึ้น

แอคเนตา นอร์เบิร์ก เบนต์ ลางสโตรม เฮนรี่ อิงเกลอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนและมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กแห่งสหัฐอเมริกา ได้พัฒนาวิธีการตรวจคนไข้โรคสมองเสื่อมโดยการใส่สารเรืองแสงที่เรียกว่าไทโอโฟลวินเข้าไปในสมองซึ่งสารนี้จะไปเกาะกับโปรตีนที่ทำให้การสื่อสารในสมองผิดปกติ เมื่อสแกนสมองด้วยเทคนิคโพสิตรอน อีมิชชั่น โทโมกราฟีหรือ เพต ก็จะได้ภาพในสมองของผู้ป่วยในส่วนที่ถูกทำลายซึ่งทำให้แพทย์รักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเทคนิคนี้นับว่ามีประโยชน์มากเพราะสามารถช่วยให้แพทย์พบอาการป่วยของคนไข้ได้เร็วขึ้นและยังสามารถเริ่มให้การรักษาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถช่วยในการหายารักษาใหม่ๆได้อีกด้วย (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า18)





ถอดรหัสจีโนม ‘พุดเดิล-บ๊อกเซอร์’ ไขสุขภาพมนุษย์และเพื่อนแท้สุนัข

การที่มนุษย์คุ้นเคยและอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับสุนัขอย่างใกล้ชิด ทำให้ทั้งมนุษย์และสุนัขมีปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากพันธุกรรมใกล้เคียงกัน เช่น โรคมะเร็งที่ถือเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในมนุษย์และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในสุนัขอายุ 10 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงได้มีการนำสุนัขไปเป็นสัตว์ทดลองเพื่อศึกษาหาทางรักษาโรคที่เกิดในมนุษย์ ซึ่งดร.เด็บบอราห์ ลินซ์ จากสถาบันการศึกษาสุนัขออโรรา รัฐโอไฮโอ สหรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมผลการศึกษาจีโนมของสุนัขสายพันธุ์พุดเดิลแล้วส่วนสายพันธุ์บ็อกเซอร์คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งหลังการศึกษาก็จะนำไปสู่การไขปัญหาทางสุขภาพทั้งสุนัขและมนุษย์ (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า19)





หนูอังคาร

จากความต้องการทราบถึงการตอบสนองของร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมภายใต้แรงโน้มถ่วงระหว่าง 0- 1จี จึงเป็นการถือกำเนิดโครงการ ‘มาร์สแกรวิตีไบโอแซเทลไลต์’ เป็นการนำหนูใส่ยานอวกาศแล้วส่งขึ้นวงโคจร ยานจะสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมโดยการหมุนรอบตัวเองช้าๆด้วยอัตรา 34 รอบต่อนาที เพื่อให้ได้แรงโน้มถ่วง 0.38 จีเท่ากับดาวอังคารพอดี เป้าหมายของโครงการนี้คือการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกระดูกผุ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อลีบและการเปลี่ยนแปลงในหูชั้นในซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว โดยหนูแต่ละตัวจะแยกกันอยู่ในห้องเล็กๆมีกล้องถ่ายภาพจับภาพอยู่ตลอดเวลา มีเครื่องให้น้ำที่ควบคุมด้วยปั๊มเพื่อให้สามารถวัดปริมาณการใช้น้ำได้ ของเสียจากหนูจะถูกเก็บไว้ใต้ห้องหนู มีระบบวิเคราะห์ฉี่หนูสำหรับตรวจอาการกระดูกพรุน มีเครื่องวัดน้ำหนักตัวหนูสำหรับวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวซึ่งหนูที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้จะเป็นหนูตัวเมียทั้งหมดเนื่องจากสัตว์ตัวเมียมีผลต่อแรงโน้มถ่วงมากกว่าตัวผู้และกินอาหารน้อยกว่าหนูตัวผู้ (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า19)





งานวิจัยโครงการพระราชดำริแก้น้ำท่วมกรุง คว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่น สกว.

โครงการวิจัยหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำและปริมาณน้ำปากแม่น้ำเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์เตือนภัยน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน โดยมี รศ.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับการยกย่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกง.) ให้เป็นหนึ่งในสิบของงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2546 โดยเป็นผลงานเด่นที่นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงแล้วในการเตือนภัยน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (สยามรัฐ จันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 10)





อันตรายจากสนามแม่เหล็กระดับต่ำ ทำเอาเซลล์สมองหนูทดลองเสียหาย

วารสารมุมมองด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมของสถาบันวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา รายงานผลวิจัยของศาสตราจารย์เฮนรี ไลพบว่า หนูทดลองเมื่อถูกสนามแม่เหล็กระดับอ่อน 60 ครั้งต่อวินาทีเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ดีเอ็นเอ หรือระดับสารพันธุกรรมในเซลล์สมองถูกทำลายลง และเมื่อถูกสนามแม่เหล็กนั้นถึง 48 ชั่วโมง พบว่ายิ่งทำให้ความเสียหายเพิ่มมากขึ้น กระบวนการนั้นเป็นกระบวนการที่เซลล์ทำลายตัวเอง เพราะไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ศ.ไลบอกว่า การสัมผัสกับสนามแม่เหล็กในระดับต่ำเป็นเวลานาน เช่น เครื่องเป่าผม ผ้าห่มไฟฟ้า ที่โกนหนวดไฟฟ้า อาจทำลายเซลล์ สมองของมนุษย์ได้ เพราะมันค่อนข้างแรงและอยู่ ใกล้กับศีรษะ ดังนั้นคนเราจึงควรจะระมัดระวังและจำกัดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้เท่าที่จะเป็นไปได้ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





นักบอลสมัครเล่นโปรดทราบ ลูกโหม่งอาจทำให้กระดูกคอเสื่อม

ทีมนักวิจัยนำโดยเฟซา คอร์คูซูส แห่งมหาวิทยาลัยมิดเดิล อีสต์ เทคนิคัล ในอังการา ประเทศตุรกี ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนักฟุตบอลสมัครเล่น 30 คน กับคนที่ไม่เล่นฟุตบอล นำไปฉายภาพสะท้อนแม่เหล็กและเอกซเรย์ดูบริเวณคอ พร้อมทั้งวัดดูความยืดหยุ่นและ ความแข็งแรงของคอ ปรากฏว่า กลุ่มคนที่เล่นบอลนั้นการเคลื่อนไหวบริเวณคอ มีความยืดหยุ่นน้อยกว่า และพบว่ามีอาการไขสันหลังถูกบีบเค้นมากกว่า ซึ่งปกติแล้วอาการเสื่อมแบบนี้มักจะพบกับผู้ป่วยในวัยสูงอายุ ความเสื่อมที่เกิดขึ้น อาจแสดงออกมาแค่ความเจ็บปวดเล็กน้อย แต่ก็สามารถนำไปสู่ความเจ็บไข้ที่รุนแรงได้ อย่างเช่น ข้อส่วนหลังส่วนคอติดยึด หัวหน้านักวิจัยบอกว่า วิธีป้องกันก็มีอยู่เหมือนกันคือ ก่อนออกไปโหม่งบอล ควรจะได้เอกเซอร์ไซส์ หรือให้เวลากับการวอร์มช่วงไหล่ให้ถูกต้องเสียก่อน งานวิจัยนี้ รายงานในวารสาร ยูโรเปียน สไปน์ เจอร์นัล (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ผลิตไฮโดรเจน.....ไม่ยากอย่างที่คิด

นักวิจัยจาก University of Minnesota ทำเครื่องผลิตไฮโดรเจนจากเอทานอลเป็นเครื่องต้นแบบมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีความสูงประมาณ 2 ฟุต แอลกอฮอลที่นำมาใช้เป็นเอทานอลที่ได้จากกระบวนการหมักข้าวโพด โดยโฮโดรเจนที่ได้จากปฎิกิริยาที่เกิดขึ้นในเครื่องจะถูกนำมาใช้สำหรับเซลล์เชื้อเพลิงประเภทไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell) เครื่องผลิตไฮโดรเจน ดังกล่าวถูกคาดหวังและมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับยานพาหนะ ที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อน (เดลินิวส์ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





ควันเสียจากรถยนต์อาจะเป็นตัวการก่อความเสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก

ดร.เปาโล ครอสิกนานิ หัวหน้าคณะวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในมิลาน ศึกษาเรื่องมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กมาเป็นเวลา 20 ปี โดยดูผลกระทบจากเด็กที่อาศัย อยู่ใกล้กับถนน พบว่าเบนซินซึ่งพบในควันเสีย ของรถยนต์มีส่วนก่อให้เกิดมะเร็งในเม็ดเลือดขาว แต่ยังไม่ถึงกับชี้ชัดลงไปเสียทีเดียว ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นอีกในความสัมพันธ์ ระหว่างจราจรกับการเกิดมะเร็งนี้คณะวิจัยได้ติดตามศึกษามะเร็งในเม็ดเลือดขาวกับเด็ก ในเมืองวาเรส ทางตอนเหนือของอิตาลี กับเด็ก 120 ราย เมื่อตรวจดูแล้วพบว่ามีเด็กเพียง 4 ราย ในช่วงอายุและเพศเดียวกัน ที่ไม่เป็นมะเร็งดังกล่าว นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างอากาศนอกบ้านของเด็ก โดยดูทั้งความหนาแน่นของจราจร และสภาพอากาศที่สามารถจะมีผลต่อระดับเบนซินในอากาศ พบว่าเด็กๆ ที่ได้สัมผัสเบนซินในระดับสูงมีโอกาสเป็นลูคีเมียถึงเกือบ 4 เท่า ส่วนคนที่สัมผัสกับเบนซินในระดับปานกลางมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ผลที่ได้เป็นเช่นเดียวกันทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง ผลการศึกษาครั้งนี้ จึงชี้ว่าควันเสียจากรถยนต์อาจมีส่วนก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวขึ้นได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





20นักประดิษฐ์บันลือโลก

20 นักประดิษฐ์ขึ้นทำเนียบ Nation Inventors Hall of Fame ประจำปี 2547 หลังนวัตกรรมนำประโยชน์มาให้สังคมมหาศาล เงื่อนไขสำคัญก่อนที่นักประดิษฐ์จะขึ้นทำเนียบเกียรติยศนี้ได้คือต้องครอบครองสิทธิบัตรในดินแดนอเมริกันชนและชิ้นงานนั้นต้องมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ โดยมีคณะกรรมการจากตัวแทนองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติร่วมพิจารณาและมอบรางวัล ซึ่งนักประดิษฐ์ 20 รายได้แก่แฮร์รี่ เวสเลย์ คูเวอร์ ผู้ประดิษฐ์กาวตราช้าง เฟรเดอริค แบนติง ชาร์ล เบสต์ เจมส์ คอบลิป 3 นักวิจัยชาวแคนาดาที่ค้นพบ สกัดและผลิตตัวยาอินซูลินออกจำหน่าย จอห์น โรบลิง ผู้สร้างสะพานแขวนด้วยเทคนิคขึงเคเบิล โรเบิร์ต กัลโลและลุค มองตานิเย่ ที่พิสูจน์และค้นพบไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอชไอวี) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ลอยด์ ออกัสตัส ฮอลล์ สร้างสารเคมีที่ช่วยถนอมอาหารเป็นผลึกเกลือเรียกว่า flash-dried และใช้แอนตี้ออกซิแดนท์ป้องกันไม่ให้ไขมันและน้ำมันในเบเกอรี่เสีย อีเลียส โฮวี่ ผู้พัฒนาจักรเย็บผ้าเครื่องแรก ชาร์ล ดี เคลแมน ผู้คิดวีธีรักษาต้อกระจก เรย์ ดอลบี้ผู้สร้างระบบเสียงดอลบี้ ... หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเยี่ยมชมได้ที่ http://www.invent.org (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





ความเครียดตอนกลางวันตามรังควานผลาญเวลาหลับลึกตอนกลางคืนให้ลดลง

วารสารไซโคโซมาติค เมดิซิน รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ในสหรัฐอเมริกา พบความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดที่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน ส่งผลให้เกิดการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอในเวลากลางคืนได้ กล่าวคือคนที่มีความเครียด มักจะตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อยกว่า และมีช่วงเวลาหลับลึกน้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยเครียดนักวิจัยได้ติดตามดูอัตราการเต้นของหัวใจในกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีสุขภาพดี 59 ราย ในขณะนอนหลับ โดยสิ่งที่ทำให้เครียดคือบอกกับกลุ่มนักศึกษาครึ่งหนึ่งว่า พวกเขาจะต้องกล่าวปราศรัยเป็นเวลา 15 นาที เมื่อตื่นขึ้นมา ส่วนหัวข้อจะเป็นเรื่องอะไรนั้น เอาไว้ค่อยบอกตอนตื่นขึ้นมาแล้ว จากนั้นนักวิจัยได้ตรวจดูความแตกต่าง ของอัตราการเต้นของหัวใจที่มีนัยสำคัญ พบว่าแบบแผนการเต้นของหัวใจในกลุ่มที่มีความเครียดนั้น คล้ายกับที่พบในกลุ่มคนที่นอนไม่หลับ หรือคล้ายคลึงกับเวลาที่ระบบประสาทถูกรบกวนนั่นเอง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





ระวังแคดเมียมในสาหร่าย

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างสาหร่ายทะเลจำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของแคดเมียม พบว่ามีการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินมาตรฐานฉบับร่างของโคเด็กซ์ สาเหตุที่เลือกพิสูจน์สาหร่าย เนื่องจากสาหร่ายมาจากทะเล และแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเล พิษของแคดเมียมจะไปสะสมอยู่ที่ไต แต่ถ้าได้รับเข้าไปมาก ๆ จะไปสะสมในตับ แคดเมียมจะรบกวนระบบการหมุนเวียนและดูดซึมของวิตามิน แคลเซียม และคอลลาเจนในร่างกาย มีผลทำให้กระดูกพรุน (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 7)





การค้นคว้าวิจัยใช้ใบปาล์มเป็นอาหารสัตว์ในมาเลเซีย

ข่าวต่างประเทศผ่านโทรทัศน์เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2547 รายงานว่ามาเลเซียและญี่ปุ่นจะร่วมกันทำวิจัยเรื่อง นำใบปาล์มมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าอาหารสัตว์ การทำอาหารสัตว์ อาจมีการใช้จุลอินทรีย์ช่วยหมักใบปาล์มหรือใช้น้ำย่อยให้แปรรูปไปอยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ง่ายขึ้น มีการเติมแร่ธาตุอาหารเสริม ปรุงแต่งกลิ่นรสให้น่ากิน ซึ่งอาหารสัตว์นี้จะมีราคาค่อนข้างแพง จึงเหมาะกับสัตว์ที่มีราคาแพง (เดลินิวส์ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 12)





ข่าวทั่วไป


เกมคำไขว้ไทย

ศพงษ์ ธงไชย หัวหน้ากลุ่มธงไชยนวัตกรรม ได้ประดิษฐ์เกมคำไขว้ไทยโดยศึกษาข้อดี-ข้อเสีย จากเกมคำไขว้ภาษาอังกฤษมาดัดแปลง เขาเรียกว่าซูเปอร์ครอสเวิร์ด มีตัวอักษรด้านหน้า-ด้านหนัง เล่นคำบุพบทที่สามารถทำเป็นวลี เขาใช้เวลา 10 ปี จึงสามารถแก้ปมปริศนาได้สำเร็จ อาทิ การแบ่งช่องไฟ 4 ช่องหรือการจินตนาการในเรื่องของสระไทยที่ดิ้นได้ตลอดเวลา เขาได้จดสิทธิบัตรแล้ว (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 27)





ใต้สถานีรถไฟฟ้ามลพิษสูง

กทม. ได้จ้างผู้เชียวชาญมาตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียงโครงการรถไฟฟ้า โดยตรวจฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และระดับเสียง ตามสถานีต่าง ๆ ผลการตรวจปรากฏว่ามีค่าเกินว่าระดับมาตรฐาน มลพิษที่สูงเช่นนี้อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณนั้น ๆ กทม. ได้เตรียมประสานงานความร่วมมือไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อเตรียมย้ายป้ายรถเมล์ใต้สถานีรถไฟฟ้าทั้ง 23 สถานี (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 35)





เดลินิวส์ติด 1 ใน 10 เว็บยอดนิยม

สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้ทำการจัดอันดับเว็บไซต์ยอดนิยม เพื่อทำการมอบรางวัล Truehits.net Web Award 2003 ให้แก่ 10 อันดับเว็บไซต์ที่มีผู้ชมสูงสุด ตามลำดับได้แก่ 1.เว็บไซต์สนุกดอทคอม 2.เว็บไซต์เอ็มเว็บ 3. เว็บไซต์กระปุก 4. เว็บไซต์เอ็มไทย 5. เว็บไซต์แรคน่าร๊อก 6. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 7. เว็บไซต์หรรษา 8. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 9. เว็บไซต์สยามสปอร์ต 10. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





สมุนไพรสบู่ : ใบไม้ 5 ชนิด

คุณวรรณา อุ่นหนาฝาคั่ง เจ้าของผลิตภัณฑ์ สบู่ใบไม้ 5 ชนิด ได้รับรางวัล 5 ดาวสุดยอดสินค้าโอทอปในระดับ กทม. ในประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารและยา ด้วยรูปแบบแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร เขานำเอาใบไม้แห้งซึ่งใบไม้ที่ใช้เด่นด้วยรูปใบสวยงามคือ ใบยาง มาชุบกับสบู่เหลวที่ได้เตรียมไว้แล้ว จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้ง แค่นี้ก็จะได้ผลิตภัณฑ์สบู่ใบไม้ ขณะที่รูปทรงภายนอกดูสวยเก๋สรรพคุณของเนื้อสบู่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าต่อสภาพผิวที่เหมาะกับแต่ละคน โดยทำเป็น 5 สูตรคือ สูตรมะละกอ มังคุด แตงกวา น้ำผึ้ง และใบบัวบก เขายังได้เตรียมโครงการจะผลิตสบู่สูตรใหม่เพิ่มอาทิ สูตรขมิ้น สูตรดาวเรือง และสูตรเสลดพังพอนรวมทั้งมีโครงการจะผลิตแขมพูใบไม้เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ใครที่สนใจสบู่สมุนไพรโอทอป 5 ดาวของ กทม. ติดต่อได้ที่ 0-2655-8081 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 10)





ศาสตร์แห่งรักบนเวบ

วิทยาลัยการศึกษาทางไกลบนอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้จัดทำเวบไซต์ ‘ศาสตร์แห่งความรัก’ (www.LoveEd.biz) เพื่อสอนการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขรวมไปถึงเรื่องเพศศึกษาสำหรับทุกผู้ทุกวัย ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ อาจารย์พิเศษ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีหนึ่งในคณะที่ปรึกษาเวบไซต์ศาสตร์แห่งความรักกล่าวว่า ศาสตร์แห่งความรักเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะแนะนำแนวทางและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เวบไซต์ศาสตร์แห่งความรักจึงเป็นแหล่งความรู้เรื่องเพศศึกษาแห่งใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยสาระความรู้มากมาย ทั้งประมวลกฎหมายสำคัญ กรณีศึกษา คดีความตัวอย่าง รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยทอง อีกทั้งยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ครู นักวิชาการ นักจิตวิทยารวมถึงนักกฎหมายที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆทั้งความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว การครองรัก ครองคู่ เรื่องเพศสัมพันธ์ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 5)





ส.เว็บมาสเตอร์เร่งพัฒนาระบบป้องกัน ‘เมลขยะ’

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)และนายกสมาคมผู้ดูแลเวบไทย (ไทยเวบมาสเตอร์) กล่าวว่าสมาคมร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้ให้บริการอีเมลฟรีในประเทศรวมถึงบริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาโปรแกรมสำหรับป้องกันอีเมลขยะ โดยเครื่องมือดังกล่าวจะสามารถกรองอีเมลขยะจากการตรวจสอบข้อความและอีเมลแอดเดรสของผู้ส่ง ทำให้ปริมาณอีเมลขยะลดลง ซึ่งในระยะแรกสมาคมจะเป็นผู้ดูแลการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวแต่อาจโอนงานให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบเพราะต้องมีค่าใช่จ่ายต่อเนื่องในการอัพเดทฐานข้อมูลสำหรับโปรแกรมต่อเนื่อง (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 6)





อีเอมเอส : ปลดพันธนาการผู้ต้องขัง

“ระบบติดตามตัวผู้ต้องขัง” (อิเล็กทรอนิกส์ มอนิเตอริ่ง ซิสเต็ม: อีเอมเอส) เป็นระบบที่ให้ผู้ต้องขังสวมอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่บรรจุข้อมูลรหัสประจำผู้ต้องขัง กันน้ำลึก 5 เมตรที่ข้อมือหรือข้อเท้าตลอดเวลาซึ่งอุปกรณ์ติดตามตัวนี้จะส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุ (อาร์เอฟ) ไปยังอุปกรณ์รับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ในบ้านหรือสถานที่กำหนดได้ และอุปกรณ์เครื่องรับจะส่งข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐานไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์สั่งการ (คอมมานด์ เซ็นเตอร์) ที่ตรวจสอบสถานะของผู้ต้องขังได้ หากอุปกรณ์ติดตามตัวถูกตัด ดึงออกหรือผู้ต้องขังออกนอกพื้นที่ในเวลาที่ไม่ได้รับอนุญาต ระบบจะส่งสัญญาณไปที่คอมมานด์เซนเตอร์ทันที ดังนั้นผู้ต้องขังจะสามารถไปโรงเรียน ว่ายน้ำ ทำงาน ใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ตามปกติ ซึ่งนายชาญยุทธ์ เจนธัญญารักษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัมเทรา บอนด์ จำกัด ผู้ได้รับสิทธิทำตลาดระบบติดตามอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ภายในเดือนนี้บริษัทจะเสนอบริการเอาท์ซอร์สซิ่งช่วยบริหารศูนย์สั่งการ (คอมมานด์ เซ็นเตอร์) แก่กระทรวงยุติธรรม โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายกรุงเทพฯและปริมณฑล 3,000 คนจากผู้ต้องขัง 250,000 คนซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 300-400 ล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 6)





สปส.-รร. แพทย์พบกันครึ่งทาง หาทางดูแลคนไข้ประกันสังคม

นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่าสถานพยาบาลที่สังกัดโรงเรียนแพทย์ทั้ง 12 แห่งจะไม่ถอนตัวจากระบบประกันสังคมและจะร่วมมือกันจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดสรรงบประมาณและจะร่วมมือกันศึกษารูปแบบการรักษาพยาบาลตติยภูมิ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการผู้ประกันตน ทั้งนี้จะปรับปรุงค่าชดเชยบริการทางการแพทย์ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ป่วยเรื้อรังรวมทั้งปรับวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมโดยจะปรับราคาค่าชดเชยทั้งระบบให้กับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า11)





กรมวิทย์เตือนไวรัส ‘ฟูเจี้ยนฟลู’ หวัดพันธ์ใหม่จ่อเข้าไทย พ.ค. นี้

นายแพทย์สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่าขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ติดตามการระบาดของไวรัสชื่อฟูเจี้ยนฟลู ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศสหรัฐอเมริกาและทางตอนเหนือของประเทศจีน คาดว่าเชื้อไวรัสนี้จะเข้ามาระบาดในภูมิภาคแถบนี้ราวเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ ทั้งนี้เคยได้ตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2546 2-3 รายแต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต โดยอาการป่วยจะรุนแรงเฉพาะผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีและเด็กต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งปัจจุบันการรักษาจะใช้วัคซีนรักษาไข้หวัดใหญ่ที่ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100 % ทำได้เพียงลดความรุนแรงของโรคลงเท่านั้น (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 3)





ชี้สื่อตัวดีทำภาษาไทยวิบัติ

รศ.ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะผู้ทำวิจัยเรื่อง “การฟื้นฟูสมรรถภาพการใช้ภาษาไทย” เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอาชีพต่าง ๆ 500 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47 เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีบทบาทต่อการใช้ภาษาไทยมากที่สุด ส่วนสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยมีส่วนวิบัติมากที่สุด พบว่าร้อยละ 43.60 เป็นเพราะสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และร้อยละ 62.80 เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงของประเทศควรจะเป็นแบบอย่างที่ดี (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 24)





ยก “ในหลวง” “ยูเอ็น” ถวายรางวัลใหญ่

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ว่า องค์การสหประชาชาติ แถลงการณ์ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ ทูลเกล้าถวายรางวัล “The Habitat Scroll of Honor Award” เป็นโล่ประดับทองคำทำด้วยมือ โดยนางแอนนา ติไมยูกา รองเลขาธิการสหประชาติเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นับเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่สหประชาชาติมอบให้กับบุคคล พิจารณาจากความสำคัญของผลงาน ในพระราชกรณียกิจ ในการบริหารจัดการยกระดับคุณภาพน้ำในประเทศไทยโครงการพัฒนาของพระองค์ท่านมีความสมบูรณ์และหลากหลาย ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งในอันที่จะกระตุ้นประชากรทุกหมู่เหล่า มีจิตสำนึก ร่วมในการดูแลป้องกันภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เดลินิวส์ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 1, 2)





ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ แด่ในหลวง

ดร.เดวิด ซารเดอร์ อดีตคณบดีภาควิชาการดนตรี มหาวิทยาลัยนอร์ท แทกซัส กล่าวว่า ทางคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่อาวุโส ของมหาวิทยาลัยบอร์ทแทกซัส ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการดนตรี ที่พระราชวังไกลกังวล ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติ ให้วงดนตรี “ดิ วัน โอค๊อก แจซช์ แบนด์” บรรเลงเพลงถวายหน้าพระที่นั่งเป็นการส่วนพระองค์ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 19)





ยกเครื่องระบบขนส่งกำจัดสารพิษอันตราย

พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยของสารเคมี ครั้งที่ 1 ประจำปี 2547 ว่าที่ประชุมได้หารือเพื่อทำแผนเชิงยุทธศาสตร์ และจัดทำแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2550-2554) โดยต่อไปการเคลื่อนย้ายสารเคมี กรมควบคุมมลพิษต้องทราบ ตำรวจจราจรต้องรับรู้เส้นทางที่รถจะขับเคลื่อน ห้ามออกนอกเส้นทาง ส่วนเรื่องเวลาการเคลื่อนย้ายยังไม่กำหนด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิจารณา กรมการป้องกันอุบัติภัยและสาธารณะภัยแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 3)





ไฮแคร์ฯ รุกธุรกิจสุขภาพ-ความงาม

นางวันเพ็ญ ธรรมสิริ กรรมการผู้จักการบริษัท ไฮแคร์ คอสเมติค (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับสิทธิให้กับตัวแทนศูนย์สุขภาพและความงามไฮแคร์ ไวเยอร์แกนส์ เซ็นเตอร์ ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงโดยล่าสุด บริษัท ได้นำนวัตกรรมใหม่จากเยอรมนี “แอคคิวสไดเลอร์” กระสวยอวกาศเพื่อบำบัดเซลลูไลท์ ช่วยผลักดันให้เลือดและน้ำเหลืองไหลเวียนดีขึ้น จึงมีประสิทธิภาพในการขจัดของเหลวและไขมันส่วนเกินออกทางระบบน้ำเหลือง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 8)





รปภ.ออนไลน์ ป้องกันเว็บไซต์ต้องห้าม

นายธริศร์ ทิบทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลมอล แอ็คเซ็ส เทคโนโลยี จำกัด ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ที่กลั่นกรองและป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้แล้วด้วยราคาเพียง 900 บาท กลุ่มเว็บไซต์ต้องห้าม มีกำหนดไว้ 10 ประเภท กลุ่มเว็บไซต์ทางเพศ เว็บไซต์อาชญากรรม เว็บไซต์ยาเสพติด เว็บไซต์การพนัน เว็บไซต์จารกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ภาษาหยาบคาย เว็บไซต์อาวุธ เว็บไซต์เพศศึกษา เว็บไซต์แต่งกายยั่วยวน และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ซอฟต์แวร์นี้ ยังมีรายการด้วยว่า มีใครทำอะไรกับคอมพิวเตอร์แล้วรายงานให้ผู้ปกครองทราบ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 16)





กรมวิชาการเกษตรคุมเข้มนำเข้าสารเคมีทั่วประเทศ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่าปี 2547 เพื่อสนับสนุนนโยบายแห่งความปลอดภัยด้านอาหาร กรมวิชาการเกษตรจึงต้องมีความเข้มงวดกับการนำเข้าสารเคมี และโรงงานที่ผลิตสารเคมี ต้องมีการตรวจสอบการผลิตและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ที่จะนำไปใช้กำจัดศัตรูพืช ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรซึ่งอาจก่อให้เกิดสารตกค้างในพืชผัก ที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นปัญหาการส่งออก ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้กำหนดสารเคมีที่นำเข้าแล้ว 93 ชนิด (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 13)





ดึง 9 มหา’ลัยวางยุทธศาสตร์ท้องถิ่น

สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (สกถ.) ร่วมกับสถาบันการศึกษารวม 9 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.บูรพา ม.นเรศวร ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.อุบลราชธานี ม.ทักษิณ และ ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกันลงนามความร่วมมือเพื่อให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศทำหน้าที่เป็นเครือข่ายในการติดตามการดำเนินงานขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มหาวิทยาลัยทั้ง 9 แห่ง จะต้องตั้งศูนย์พัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดย ม.อุบลราชธานีได้เปิดศูนย์นำร่องเป็นแห่งแรก (สยามรัฐ พุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 22)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215