หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 2001-01-09

ข่าวการศึกษา

ทบวงจัดสนทนาปฏิรูปอุดมศึกษาเผยแพร่ช่อง 11
รภ.สวนดุสิตย้ำขอออกนอกระบบไม่รอเพื่อน
รามฯขอเป็นม.ไอทีสอนภาษาไทยผ่านเว็บ
จุฬาฯหวั่นหมอยาล้นตลาดเสนอรื้อเกณฑ์คัดนิสิตเภสัช
มน.ตั้งศูนย์โรคหัวใจช่วยเหลือประชาชน
กรมสามัญเร่งพัฒนาบุคลากรสู่ระบบใหม่
ปรับใหม่กศ.ทางไกล
มร.เตรียมเปิด ร.ร.นานาชาติอนุบาล-ป.ตรี รับบุคคลทั่วไป

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

พระจอมเกล้าธนบุรีตั้งศูนย์พัฒนาฯ
สสวท.บรรยายแนวโน้ม กศ.วิทยาศาสตร์
WAP ไทยมีแนวโน้มดีแม้จะใช้ไม่เป็น
กรีนพีซจี้ออกกม.คุมนำเข้าเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม
สวทช.เร่งเครื่องเปิดอุทยานวิทย์แห่งแรก
พพ.ประเดิมหนุนใช้พลังงาน ‘ลม’ ทดแทนน้ำมัน
‘มหันตภัยโคบอลต์ –60’ ติดอันดับ 1, 10 ข่าวดังวิทย์ปี’43 ที่ชาวบ้านโหวต
‘ชาร์ป’ยัน ‘ไมโครเวฟ’ ไม่อันตรายอย่างที่คิด

ข่าววิจัย/พัฒนา

สะท้านวงการเมรัยสูงระดับ รม.พิษณุโลกโชว์ไวน์ผักตบชวา
ใช้ไมโครโฟนจิ๋ว
ทารกเสพติดได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง
ผู้ใช้ ‘มือถือ’ ระยะสั้นยิ้มออก วิจัยไม่พบ ‘โรคมะเร็งสมอง’
ตปท.ตีข่าวนักวิจัยอาร์เจนตินา พบวัคซีนต้าน ‘มะเร็ง’ ปีหน้าลุยกับคน
พบ ‘อโวคาโด’ รักษาไวรัสตับอักเสบได้

ข่าวทั่วไป

พลิกโฉมใหม่ 14 สวนสาธารณะ
โทษของอดมื้อเช้า สมองพลอยตาย





ข่าวการศึกษา


ทบวงจัดสนทนาปฏิรูปอุดมศึกษาเผยแพร่ช่อง 11

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การปฏิรูปอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ในส่วนของทบวงมหาวิทยาลัยนั้นได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ คืบหน้าไปมากพอสมควร และหลายส่วนได้สำเร็จลุล่วงไปเรียบร้อยแล้ว ตนเห็นว่าทางทบวงมหาวิทยาลัยน่าจะได้รายงานความคืบหน้าให้ประชาชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาได้รับทราบเป็นระยะๆ จึงได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดรายการสนทนาปฏิรูปการศึกษาขึ้นโดยเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันอาทิตย์ระหว่างเวลา 10-05 -10.30 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2544 เป็นต้นไป (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





รภ.สวนดุสิตย้ำขอออกนอกระบบไม่รอเพื่อน

ผศ. สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันราชภัฏ (รภ.) สวนดุสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันฯ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อเตรียมรองรับการออกนอกระบบราชการไว้แล้ว จะเสนอให้คณะกรรมการสถาบันราชภัฏ พิจารณาประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน 2544 สถาบันฯ มีความพร้อมทุกด้าน บุคลากรส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ (เดลินิวส์ พุธที่ 3 มกราคม 2544 หน้า 10)





รามฯขอเป็นม.ไอทีสอนภาษาไทยผ่านเว็บ

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เปิดสอนภาษาไทยผ่านอินเตอร์เน็ต เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2544 เพื่อเผยแพร่ภาษาไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยทำ e-learning พร้อมบรรจุตำราเรียนกว่า 1,000 เล่มลงเว็บไซด์ ซึ่งเว็บไซด์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงคือ www.ru.ac.th (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 5 มกราคม 2544 หน้า 32)





จุฬาฯหวั่นหมอยาล้นตลาดเสนอรื้อเกณฑ์คัดนิสิตเภสัช

รศ.ดร. สุนิพนธ์ ภุมมางภูร คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ได้หารือกับที่ประชุมคณบดี เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้คะแนนสอบวัดความรู้ของนักเรียนที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะเภสัชจุฬาฯ ตนเห็นว่าเมื่อนำผลคะแนนมาใช้แล้ว ไม่ควรเก็บไว้ถึง 3 ปี เพื่อนำมาใช้อีกเพราะ ไม่เป็นธรรมและเป็นการแย่งที่นั่งของนักเรียน ม.6 รุ่นต่อๆ ไป เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกสัญญาการใช้ทุนของนิสิตเภสัชศาสตร์ตั้งแต่ปี 1-5 ที่ทำสัญญาไว้แล้ว และตั้งแต่ปี2544 เป็นต้นไป นิสิตใหม่ไม่ต้องทำสัญญาใช้ทุนอีก เนื่องจากขณะนี้เภสัชกรในโรงพยาบาลรัฐมีเต็มอัตราแล้ว แต่ละปีเภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาประมาณ 800 คนคาดว่าอีก 3-4 ปี เภสัชกรจะล้นตลาดเนื่องจากเภสัชกรไม่ยอมไปประจำที่ร้านขายยา (เดลินิวส์ พุธที่ 3 มกราคม 2544 หน้า 10)





มน.ตั้งศูนย์โรคหัวใจช่วยเหลือประชาชน

ผศ. ไพศาล อินทสิงห์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิด เผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจขึ้น โดยนอกจากเป็นศูนย์เพื่อการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย แล้วยังเปิดบริการประชาชนด้วย แต่ยังขาดแคลนงบประมาณที่จะซื้อเครื่องมือแพทย์ จึงจะจัดงานราตรีศูนย์โรคหัวใจขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2544 เพื่อหารายได้สมทบเข้ากองทุนศูนย์โรคหัวใจ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





กรมสามัญเร่งพัฒนาบุคลากรสู่ระบบใหม่

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผย ในการประชุมผู้บริหารกรมสามัญศึกษา ว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ตอบรับแนวคิดที่จะให้อาจารย์ในสังกัดกรมสามัญศึกษา ร่วมออกข้อสอบเอนทรานซ์ ซึ่งทางกรมสามัญศึกษาจะทำหลักเกณฑ์เพื่อกลั่นกรองผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาเป็นผู้ร่วมออกข้อสอบเอนทรานซ์ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 5 มกราคม 2544 หน้า 10)





ปรับใหม่กศ.ทางไกล

นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า ในปี 2544 จะเน้นปฏิรูปการเรียนรู้นอกระบบ 5 ด้านดังนี้ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดสภาพการเรียนรู้ที่เอื้อต่อผู้เรียน พัฒนาศูนย์สื่อ นอกจากนั้นจะปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาทางไกล จากเดิมเคยจัดพบกลุ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง รวมทั้งจัดระบบครูที่ปรึกษารูปแบบอาสาสมัคร เช่น ศิษย์เก่า ข้าราชการเกษียณมาให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ผู้เรียน กศน.จะมุ่งปฏิรูปหลักสูตรการเรียนทำหลักสูตรท้องถิ่น ประการสุดท้ายจะปฏิรูปการวัดและประเมินผลเน้นทักษะ การปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ทั้งปรับกิจกรรมพบกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิต คู่มือดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จในเดือน มกราคม 2544 เพื่อนำไปใช้ภาคเรียนแรก ปีการศึกษา 2544 (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 5 มกราคม 2544 หน้า 20)





มร.เตรียมเปิด ร.ร.นานาชาติอนุบาล-ป.ตรี รับบุคคลทั่วไป

รศ.ดร. รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังจัดทำโครงการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งจะเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งจะเปิดรับบุคคลทั่วไปไม่เกี่ยวกับการรับเด็กของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนการเรียนการสอนจะเป็นนานาชาติทั้งหมด โดยครูที่สอนจะมาจากต่างประเทศ ส่วนสถานภาพของโรงเรียนจะจัดเป็นโรงเรียนนานาชาติ หรือห้องแล็บของมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเหมือนกับโรงเรียนสาธิต ที่ยังไม่รู้ว่าจะเก็บค่าเล่าเรียนจากผู้ปกครองได้หรือไม่ หรือจะให้เรียนฟรีตามที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติกำหนด สำหรับสถานที่ตั้งโรงเรียนนานาชาติในช่วงแรกจะจัดตั้งบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 คาดว่าจะเปิดรับนักเรียนได้ตั้งแต่ปี 2545 และจะขยายโรงเรียนดังกล่าวไปอยู่บริเวณคลอง 4 จ.ปทุมธานี คาดว่าภายในปี 2545-2546 โรงเรียนดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และเต็มรูปแบบ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 5 ธันวาคม 2544 หน้า 11)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


พระจอมเกล้าธนบุรีตั้งศูนย์พัฒนาฯ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภาคอุตสาหกรรม (CIPD) เพื่อสนับสนุนและนำวิชาการไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ภาคธุรกิจ มุ่งเน้นให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบ ISO 9000 และมีการจัดอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ ISO ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละอียดได้ที่ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. โทร.470-8271-5 หรือที่ศูนย์ CIDP 470-9194 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2543)





สสวท.บรรยายแนวโน้ม กศ.วิทยาศาสตร์

นายธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ทางสสวท.จะจัดบรรยายทางวิชาการเรื่อง "Trend in Science Education" ในวันที่ 17 มกราคม 2544 เวลา 8.30 - 12.00 น. ณ ห้องธาราทิพย์ โรงแรมอิมพีเรียล ธารา สุขุมวิท 26 โดยมี Prof. Dr. Henry Heikkinen หัวหน้าภาควิชาเคมีและชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยนอร์ชเทิร์นโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรให้การบรรยายในโอกาสที่ได้เดินทางมาเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนา และจัดทำมาตรฐานหลักสูตร และการประเมินผลของสสวท. ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





WAP ไทยมีแนวโน้มดีแม้จะใช้ไม่เป็น

นายกมลภัทร บุญค้ำ ผู้อำนวยการส่วนเทคโนโลยีโมบาย บริษัทสยามทูยู จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทบุกเบิกการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีไร้สายแบบใหม่ (WAP) ความนิยมในการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีเทคโนโลยี WAP ว่ายังมีไม่มากเท่าที่ควร แต่มีแนวโน้มที่จะนิยมใช้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้มือถือของไทยนิยมเปลี่ยนโทรศัพท์รุ่นที่ใหม่ขึ้น ปัญหาที่ผู้ใช้พบ คือการติดตั้งระบบไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูล (เดลินิวส์ พุธที่ 3 มกราคม 2543 หน้า 12)





กรีนพีซจี้ออกกม.คุมนำเข้าเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม

น.ส.อวยพร สุธนธัญญากร เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็นโอ) กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมจัดทำร่างข้อกำหนดผลิตภัณฑ์โดยให้ปลอดจากยีน Cry9C ซึ่งเป็นโปรตีนจากข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสตาร์ลิงค์ ที่พัฒนาโดยบริษัท อาเวนดิน และข้าวโพดชนิดนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาผลิตอาหารสำหรับมนุษย์ กรีนพีซถือว่าการตัดสินใจที่จะดำเนินการดังกล่าวของ อย. เป็นเรื่องที่ดีและเป็นการปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ น.ส.อวยพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ถึงความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค และยังไม่มีข้อยุติหรือพิสูจน์ในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนผู้บริโภค ทางกรีนพีซเห็นว่าควรมีการออกกฎหมายควบคุมการนำเข้าเมล็ดพืชที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้ในประเทศ ไม่ว่าจะใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารมนุษย์ (มติชน อังคารที่ 26 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





สวทช.เร่งเครื่องเปิดอุทยานวิทย์แห่งแรก

นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.ได้เร่งรัดที่จะเปิดบริการอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมวิจัย และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครบวงจรตลอดจนเป็นแหล่งพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยมุ่งให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในอนาคตอุทยานวิทยาศาสตร์จะให้บริการประชาชน 7 ด้านคือ 1.ให้บริการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน 2.บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนา 3.บริการปรึกษาทางด้านอุตสาหกรรม 4.บริการเสาะหาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้บริการค้นหาข้อมูลและเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ 5.บริการจัดการคุณภาพ 6.บริการทรัพย์สินทางปัญญา และ 7.บริการตรวจวิเคราะห์ และทดสอบวัตถุ สารเคมีตลอดจนผลิตภัณฑ์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย (มติชน 8 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





พพ.ประเดิมหนุนใช้พลังงาน ‘ลม’ ทดแทนน้ำมัน

นายสวัสดิ์ เหมกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในปี 2544 นั้น พพ.มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนน้ำมันหลายโครงการ เช่น พลังงานจากน้ำ พลังงานจากแสงแดด พลังงานจากลม และพลังงานจากชีวมวล โดยต้นปี 2544 จะมีแผนที่พลังงานลมเล่มแรกของประเทศไทยออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ โดยแผนที่ดังกล่าวจะบอกรายละเอียดว่าพื้นที่ใดได้รับอิทธิพลจากลมชนิดใดบ้าง พื้นที่ใดมีปริมาณลมพัดผ่านสูงสุด และต่ำสุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันได้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่ที่น่าจะมีพลังงานลมเพียงพอแก่การนำไปใช้ผลิตพลังงานทดแทนคือ พื้นที่ทางภาคใต้ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงมา และพื้นที่บนเกือบทุกแห่งในภาคใต้ ซึ่งแม้ว่าพลังงานในรูปแบบดังกล่าวจะยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงทางด้านพลังงานในประเทศไทยได้มากนัก แต่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาระให้กับรัฐบาล ที่ผ่านมาโครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลแสงอาทิตย์ สำหรับหมู่บ้านในชนบทที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ห่างไกลในชนบท อยู่บนเกาะต่างๆ หรือกระทั่งอยู่หลังภูเขา สามารถมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง (มติชน อังคารที่ 26 ธันวาคม 2544 หน้า 7)





‘มหันตภัยโคบอลต์ –60’ ติดอันดับ 1, 10 ข่าวดังวิทย์ปี’43 ที่ชาวบ้านโหวต

นายไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สวทช.ได้จัดอันดับ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์ปี พ.ศ.2543 โดยการโหวตให้คะแนนจัดอันดับจากประชาชนทั่วไปที่ร่วมลงคะแนนประมาณ 2,580 คน ผลปรากฎว่า อันดับ 1 ได้แก่ข่าว มหันตภัยโคบอลต์-60 อันดับ 2 พบร่องรอยน้ำบนดาวอังคาร อันดับ 3 จีเอ็มโอ ชีวภาพแปลงพันธุ์ อันดับ 4 พบเชื้อไข้รากสาดใหญ่สู้เชื้อเอดส์ได้ อันดับ 5 ไทยมองเห็นพลังงานใหม่ใช้แอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังแทนน้ำมัน อันดับ 6 ความก้าวหน้าโครงการศึกษาจีโนมนุษย์ อันดับ 7 ปัญหาอาชญากรรมและการล่อลวงบนอินเตอร์เน็ตขยายตัว อันดับ 8 พบปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกในไทย อันดับ 9 หุ่นยนต์ไทยพัฒนาก้าวไกลระดับนานาชาติ อันดับ 10 เยาวชนไทยคว้าเหรียญคณิต-วิทย์โอลิมปิก (มติชน อังคารที่ 26 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





‘ชาร์ป’ยัน ‘ไมโครเวฟ’ ไม่อันตรายอย่างที่คิด

บริษัทกรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด จัดแถลงข่าวเพื่อทำความเข้าใจและนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของเตาไมโครเวฟชาร์ป และนำผู้สื่อข่าวเข้าชมขบวนการผลิต และการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของเตาไมโครเวฟ ที่โรงงานผลิตไมโครเวฟ บริษัทชาร์ป นายวีรเทพ ฉัตรศิริวิชัยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ที่บอกว่าเตาไมโครเวฟใช้พลังงานแบบรังสีนั้นความจริงไม่ใช่ แต่เตาไมโครเวฟเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับคลื่นวิทยุ ไม่ใช่รังสีอย่างที่หลายคนเข้าใจ และยังไม่มีรายงานว่าไมโครเวฟที่พลังงานต่ำจะทำให้เป็นมะเร็ง ต้อ หรือตาบอดได้ (มติชน 8 ธันวาคม 2543 หน้า 32)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สะท้านวงการเมรัยสูงระดับ รม.พิษณุโลกโชว์ไวน์ผักตบชวา

นายผจญ อยู่ยืน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการอาหาร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก เจ้าของผลงานวิจัยไวน์ผักตบชวา กล่าวว่า ผักตบชวาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยขับลมและแก้พิษในร่างกาย เมื่อนำมาผลิตไวน์จะได้ทั้งคุณประโยชน์และความอร่อย แต่ต้องมีขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้อง เพราะผักตบชวามีอันตรายถึงชีวิตถ้าไม่รู้วิธีการผลิต เนื่องจากผักตบชวาสามารถดูดซับเอาสารเคมีและโลหะหนักต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ จึงควรหาผักตบชวาที่สะอาดๆ โดยต้องเป็นสถานที่ไกลจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งมลภาวะทางน้ำต่างๆ และนำผักตบชวามาตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียดที่สุด (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2544 หน้า 20)





ใช้ไมโครโฟนจิ๋ว

หัวหน้าทีมวิจัยโครงการนาโนไมโครโฟนของสถานทดลองขับเคลื่อนด้วยจรวด องค์การอวกาศสหรัฐฯแจ้งว่า ได้ประดิษฐ์ไมโครโฟนจิ๋ว โดยลอกแบบการทำงานของหูชั้นในของมนุษย์ ที่ใช้ขนจำนวนมากแปลงการสั่นสะเทือน ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมอง เขาชี้แจงว่า ความเคลื่อนไหวเท่ากับเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และไมโครโฟนจิ๋วสามารถได้ยินกระทั่งเสียงแบคทีเรียกำลังว่ายเคลื่อนไหว หรือเสียงของของเหลวเคลื่อนไหวภายในเซลล์หนึ่งๆ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 6 มกราคม 2544 หน้า 7)





ทารกเสพติดได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง

แพทย์พิสูจน์ได้ว่า หญิงมีครรภ์สามารถสอนลูกในท้องให้ชอบกินของสิ่งไหนได้ ตั้งแต่อยู่ในท้อง นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส ได้พิสูจน์จากาการศึกษากับทารกเพิ่งคลอด 24 คน ผู้เป็นแม่ของทารกเหล่านี้ครั้งหนึ่งมีนิสัยชอบกินเมล็ดของต้นไม้ตระกูลเดียวกับแครอท เมล็ดมีกลิ่นหอม รสคล้ายชะเอมเมื่อตอนตั้งท้อง ทันทีที่ทารกหลุดออกมาจากท้องแม่ แพทย์จับให้ดมกลิ่นของเมล็ดพืชนั้นทันที และคอยสังเกตดูว่ามีท่าทางรู้จักกลิ่นนั้นหรือไม่ ผลปรากฎว่าทารกของแม่ที่ชอบกินเมล็ดพืชชนิดนั้นเมื่อตอนตั้งท้องอยู่ ล้วนพากันหันจมูกมาทางกลิ่นนั้น ส่วนลูกของแม่คนที่ไม่ได้กินก็ปรากฏว่าพากันเฉยๆ หรือไม่ก็หันหน้าหนี แพทย์ผู้วิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษานับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า แม่สามารถฝึกลูกในท้องให้ชอบกินของอย่างเดียวกันได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 6 มกราคม 2544 หน้า 7)





ผู้ใช้ ‘มือถือ’ ระยะสั้นยิ้มออก วิจัยไม่พบ ‘โรคมะเร็งสมอง’

มูลนิธิสุขภาพอเมริกัน (American Health Foundation) เผยแพร่ผลการวิจัยล่าสุดที่ได้จากการศึกษากลุ่มผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 469 คน อายุตั้งแต่ 18 – 80 ปี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งสมองระยะเริ่มแรก เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคดังกล่าว จำนวน 422 คน โดยสอบถามทั้งสองกลุ่ม เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือระบบเซลลูล่าร์ ผลปรากฎว่าการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ได้เกี่ยวพันกับการป่วยเป็นมะเร็งสมอง เพราะในกลุ่มหลังที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งนั้นมีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย ส่วนอัตราเฉลี่ยในการใช้โทรศัพท์มือถือของทั้งสองกลุ่มนั้นตกเดือนละไม่ถึง 3 ชม.ในเวลาไม่เกิน 3 ปี อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าในระยะยาวแล้วจะมีความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่ (มติชน อาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2543 หน้า 6)





ตปท.ตีข่าวนักวิจัยอาร์เจนตินา พบวัคซีนต้าน ‘มะเร็ง’ ปีหน้าลุยกับคน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิจัยอาร์เจนตินารายหนึ่งได้อ้างว่า สามารถวิจัยคิดค้น ผลิตวัคซีนที่สามารถนำมาใช้ต่อต้านโรคมะเร็งมากกว่า 1 ชนิดจนประสบความสำเร็จ โดยวัคซีนที่กล่าวมานี้สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของหนูให้ต่อต้านมะเร็งเต้านม และเนื้องอกหลายชนิดได้ (มติชน 8 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





พบ ‘อโวคาโด’ รักษาไวรัสตับอักเสบได้

ผลการศึกษาของนักวิจัย มหาวิทยาลัยชิชูโอกะ ของญี่ปุ่น เกี่ยวกับสารสกัดจากผลอโวคาโด พบว่าสารดังกล่าวอาจช่วยลดความเสียหายที่เกิดต่อตับ อันเนื่องมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างถาวร สำหรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการตับวาย และถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับอาจทำให้เสียชีวิตได้ (มติชน อาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2543 หน้า 6)





ข่าวทั่วไป


พลิกโฉมใหม่ 14 สวนสาธารณะ

นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า กทม.มีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของสวนสาธารณะใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการเพิ่มการบริการและนันทนาการที่มีคุณภาพมากขึ้น สวนสาธารณะที่จะดำเนินการมีทั้งหมด 14 แห่งคือ สวนลุมพินี จัดเป็นสวนอเนกประสงค์, สวนจตุจักร จัดเป็นสวนไม้ในวรรณคดี, สวนพระนคร จัดเป็นสวนไม้ดัด, สวนสราญรมย์ จัดเป็นสวนวัฒนธรรม, สวนธนบุรีรมย์ จัดเป็นสวนสมุนไพรเมืองร้อน, สวนหลวงร.9 จัดเป็นสวน พฤกษศาสตร์, สวนเสรีไทย จัดเป็นสวนน้ำ, สวนหนองจอก จัดเป็นสวนไทรงาม, สวนรมณีนาถ จัดเป็นสวนสุขภาพ, อุทยานเบญจสิริ จัดเป็นสวนประติมากรรม, สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จัดเป็นสวนพฤกษศาสตร์, สวนสันติภาพ จัดเป็นอุทยานดนตรี, สวนรถไฟ จัดเป็นสวนแห่งครอบครัว, สวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา จัดเป็นสวนสุนทรีย์วิถีไทย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 6 มกราคม 2544 หน้า 6)





โทษของอดมื้อเช้า สมองพลอยตาย

ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ของอังกฤษ ได้บอกเตือนการไม่กินอาหารเช้าหรือลืมกินมื้อใดมื้อหนึ่ง การปฏิบัติดังกล่าวเป็นภัยกับสุขภาพ การกินอาหารเช้าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสมอง จำเป็นต้องมีอาหารถึงจะมีสมาธิ คืออาหาร เคยมีการศึกษาพบว่าเด็กที่กินอาหารเช้าจะเรียนในโรงเรียนได้ทั้งวันได้ดีกว่าเด็กที่อด นอกจากนั้น การอดอาหารบางมื้อ ยิ่งอาจจะทำให้กินจุมากกว่าปกติ เพราะความหิวเมื่อเจอขนมนมเนยก็คว้าใส่ปากเรื่อยไป กลายเป็นทำให้อ้วน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 6 มกราคม 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215