หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 18 ประจำวันที่ 2000-12-19

ข่าวการศึกษา

ม.รามฯเปิดอีก 6 สาขาปริญญาเอก
กศน.ระดมตั้งศูนย์สื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้คนไทย
วช.ให้ทุนวิจัยความไม่เสมอภาคทางการศึกษา
รัฐบาลลอดช่องเพิ่มทุนเรียนนอก
จุฬาฯพัฒนาปริญญาโทวิจัยทางประวัติศาสตร์
เรียนฟิสิกส์ออนไลน์ผ่านเว็บ
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับรางวัลเพิ่มผลผลิตแห่งอาเซียน
จุฬาฯ เปิดรับความเห็นร่างพ.ร.บ.ออกนอกระบบ
ถามใจคนจุฬาฯ เรื่องออกนอกระบบ
ทบวงฯยืนยันใช้คะแนนวัดผลครั้งที่ 1 เด็กโควตา
ชี้ชาวมหา’ลัยยังไม่ตื่นจากหลับไม่รับรู้วิกฤตอุดมศึกษาหลังปี’45
ทุกมหา’ลัย พร้อมใจปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ
เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

อุตฯอนุมัติตั้งสถาบันเหล็ก
อบรมอนุรักษ์พลังงาน

ข่าววิจัย/พัฒนา

นำน้ำเสียจากชุมชนมาใช้ในการเกษตรกรรมไม่เป็นอันตรายต่อพืชปลอดภัยต่อการบริโภค
นักวิทย์เฮ—สร้าง’พิมพ์เขียวพืช’สำเร็จ
เชื้อเพลิงถั่ว
กาแฟช่วยขี้ยาลดมะเร็ง

ข่าวทั่วไป

เด็กไทยเจ๋งชนะเลิศช่างเชื่อมที่สิงคโปร์
สำนักงาน รพช. เปลี่ยนเป็นกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท
สำนักงานทะเบียนอำเภอพนัสนิคมได้ ISO9002
จัดระเบียบปากคลองเป็นที่ท่องเที่ยว
จนได้จอดรถใต้สนามหลวง
เด็กไทยเจ๋งชนะเลิศช่างเชื่อมที่สิงคโปร์





ข่าวการศึกษา


ม.รามฯเปิดอีก 6 สาขาปริญญาเอก

นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2544 จะเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ ในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ใน 6 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา สาขาจิตวิทยาให้คำปรึกษา และสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ขายใบสมัครวันที่ 1 ธันวาคม 2543 - 14 มกราคม 2544 รับสมัครวันที่ 8 - 14 มกราคม 2544 โทร. 310-8566 หรือ E-mail:phd-program@ram.ru.ac.th (ข่าวสด พุธที่ 13 ธันวาคม 2543 หน้า 32)





กศน.ระดมตั้งศูนย์สื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้คนไทย

ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการศึกษานอกโรงเรียนมีนโยบายจัดตั้งศูนย์สื่อ (Media Center) ขึ้นในห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ เพราะว่าการเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นการเรียนทางไกล และเรียนด้วยตนเองสื่อต่างๆ ยังไม่เพียงพอ ห้องสมุดประชาชนและศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) น่าจะเป็นแหล่งที่สะดวกที่สุด ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับสื่อของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยรามคำแหง การจัดตั้งศูนย์สื่อนี้เพื่อต้องการดึงนักศึกษาเข้ามาใช้บริการห้องสมุดประชาชน เพื่อการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





วช.ให้ทุนวิจัยความไม่เสมอภาคทางการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นาย อุเทน ปัญโญ จากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยเรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษาของสังคมชนบทในภาคเหนือตอนบน โดยสัมภาษณ์ชาวพื้นเมืองเชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ ชายไทยใหญ่ ไทยจีนฮ่อ ไทยลื้อ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง-อาข่า มูเซอ ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่อยู่ในสังคมชนบทมีความเห็นสอดคล้องเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ในเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ล้าสมัย คุณภาพของครู คุณภาพของผู้เรียนรัฐให้การสนับสนุนน้อย วิธีการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคคือ รัฐต้องจัดหางบประมาณและทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคคลทางการศึกษา รวมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน การขยายการศึกษาระดับสูงในชุมชน (ข่าวสด พุธที่ 13 ธันวาคม 2543 หน้า 29)





รัฐบาลลอดช่องเพิ่มทุนเรียนนอก

นางสาว สุจิตรา จิตรนุเคราะห์ ผู้อำนวยการกองสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2544-2545 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิ่มทุนสนับสนุนให้นักเรียนกลุ่มอาเซียนจาก 30 ทุนเป็น 60 ทุน โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ส่วนระยะเวลาในการศึกษากำหนดไว้ 3-4 ปี ขึ้นกับสาขาวิชาที่เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ หรือมหาวิทยาเทคโนโลยีนันยาง สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับทุนคือ มีสัญชาติไทย เป็นผู้จบ ม.6 หรือกำลังศึกษาในระดับ ม.6 ในปีการศึกษา 2543 เกรดเฉลี่ยรวม 3.0 ขึ้นไป ไม่อยู่ระหว่างการขอรับทุนใด มีสุขภาพดี โดยสามารถสมัครขอรับทุนได้ที่ กองการสัมพันธ์ต่างประเทศ และสถานทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย โทร. (02) 281-6370 ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โทร. (02) 286-2111 หรือที่ http://www.gov.sg/mfa/scp. หมดเขตรับสมัครวันที่ 26 ธันวาคม 2543 นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2544 ได้เพิ่มจำนวนผู้สำรองรับทุนจาก 5 คนเป็น 15 คน (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





จุฬาฯพัฒนาปริญญาโทวิจัยทางประวัติศาสตร์

นายฉลอง สุนทราวาณิชย์ ประธานบริหารหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการปรับหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต พ.ศ. 2544 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ว่า เพื่อมุ่งผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ แนวคิด และวิธีการวิจัยทางประวัติศาสตร์ สามารถบูรณาการความรู้ และเครื่องมือวิจัยในศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานวิจัยทางประวัติศาสตร์ตอบสนองความต้องการของสังคมได้ และให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันตก รวมทั้งเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





เรียนฟิสิกส์ออนไลน์ผ่านเว็บ

ผศ. นันทชัย ทองแป้น หัวหน้าภาควิชาเคมีและฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดทำ online course โดยสรุปเนื้อหาของวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้อ่านเพิ่มเติมจากในห้องเรียน โดยผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย สำหรับคณะวิทยาศาสตร์ได้จัดทำทุกภาควิชา ในหมวดวิชาฟิสิกส์ได้พัฒนาโฮมเพจวิชาฟิสิกส์ เพื่อให้นักศึกษาได้ค้นคว้ากว่า 12 วิชา





พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับรางวัลเพิ่มผลผลิตแห่งอาเซียน

นายพารณ อิศรเสณา ณ อยุธยา นายกสภามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัลเกียรติยศ APO National Award 2000 จากองค์การเพิ่มผลผลิตระดับประเทศประจำปี 2543 (Asian Productivity Organization) หรือ APO ในฐานะเป็นบุคคลผู้บุกเบิกเรื่องการเพิ่มผลผลิตและให้การสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ริเริ่มนำแนวคิดและผลักดันให้นำเรื่องการเพิ่มผลผลิตมาใช้ในองค์การจนประสบความสำเร็จ เช่น เครือซิเมนต์ไทย นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญในจัดตั้งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเมื่อปี 2537 ด้วยความเชื่อว่าการเพิ่มผลผลิตไม่ทำไม่ได้สำหรับประเทศไทย และทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ต่อไป จึงได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้การเพิ่มผลผลิตเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต่อมาบรรจะเป็นแผนฯ 9 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ชักชวนให้อาจารย์สนใจศึกษาหาความรู้เพื่อเผยแพร่แนวคิดและเทคนิคแก่นักศึกษาและนักธุรกิจต่อไป (มติชน เสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2543 หน้า 4)





จุฬาฯ เปิดรับความเห็นร่างพ.ร.บ.ออกนอกระบบ

รศ.ดร.ชัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯว่า ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับร่าง พ.ร.บ.ที่ทำไว้ แต่ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้อ้างอิงได้ การเสนอความเห็นได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 19 มกราคม 2544 ที่สำนักงานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น และจะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





ถามใจคนจุฬาฯ เรื่องออกนอกระบบ

จากการเสวนา เรื่อง “จุฬาควรออกนอกระบบหรือไม่” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2543 นั้น รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวว่าต้องนำนโยบายเรื่องการออกนอกระบบมาคิด และดูปรัชญาการศึกษาว่าคืออะไร และมีคำถามว่าถ้าออกจะต้องดำเนินการอย่างไร ทำไมจะต้องแข่งขันกัน ทำไมต้องต่างคนต่างทำ ทำไมไม่ทำเป็นเครือข่าย รศ.ดร. แล ดิลกวิทยารัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะตัดสินใจออกนอกระบบดีหรือไม่ มีความชัดเจนโปร่งใสเพียงใด และที่สำคัญมีแต่คำถามว่าจะเปลี่ยนอย่างไร โดยที่ไม่เคยมีใครถามว่าเหตุใดต้องเปลี่ยน ส่วน นายใจ อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ทุกคนในมหาวิทยาลัยยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่รัฐต้องรับผิดชอบในการเพิ่มงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการซื้อขายขึ้นในมหาวิทยาลัย และปรัชญาของมหาวิทยาลัยจะถูกกำหนดโดยเงิน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2543 หน้า 8)





ทบวงฯยืนยันใช้คะแนนวัดผลครั้งที่ 1 เด็กโควตา

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการเปิดเผยว่า คณะกรรมการดำเนินงานการใช้ผลการเรียนเฉลี่ยเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ได้พิจารณาเรื่องการจัดทำแบบรายงาน “บันทึกความดี” ของนักเรียนเพื่อนำคะแนนความประพฤติมาพิจารณาประกอบการเอ็นทรานซ์ โดยแบบบันทึกดังกล่าวจะระบุเลขประจำตัวนักเรียน รหัสโรงเรียนและประทับตรานูนของโรงเรียนแนบไปกับใบ รบ. นอกจากนี้ได้หารือถึงการคัดเลือกนักศึกษาในระบบโควตาของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการใช้ผลการสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1 จะทำให้เด็กเครียดและไปกวดวิชากันมาก โดยมีการเสนอให้มหาวิทยาลัยคัดนักศึกษาเอง แต่ทบวงฯยังยืนยันที่จะใช้ผลการสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1 โดยชี้ว่าสะดวกและเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่ารวมทั้งสร้างความเสมอภาคให้แก่ผู้สอบทุกคนเพราะใช้ข้อสอบกลางที่ออกโดยทบวงฯ (มติชน พฤหัสที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 10)





ชี้ชาวมหา’ลัยยังไม่ตื่นจากหลับไม่รับรู้วิกฤตอุดมศึกษาหลังปี’45

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการจัดเวทีอภิปรายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ นอกจากจะพูดถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว จะมีการหยิบยกประเด็นสถาบันอุดมศึกษาภายใต้โครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามาแลกเปลี่ยนด้วย เพราะเวลานี้ชาวมหาวิทยาลัยยังไม่รับรู้ถึงวิกฤตที่จะเกิดภายในช่วง 5-7 ปีนี้ และยังขาดการเตรียมตัวเข้าสู่กระทรวงใหม่หลังปี 2545 เพราะแม้แต่ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ (ทปอ.) ก็ยังไม่เคยพูดถึงปัญหา ข้อจำกัด และข้อแตกต่างของสถาบันอุดมศึกษาที่จะมาอยู่ร่วมกัน และทบวงมหาวิทยาลัยก็มีเพียง นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงฯ ดำเนินการอยู่เพียงผู้เดียว นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยมีอิสระ เป็นเอกเทศมาตลอดจึงลืมคิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น การตั้งงบฯอุดหนุนอุดมศึกษา ก็อาจถูกโยงเป็นประเด็นการเมืองเพราะจะเกิดภาพความไม่เท่าเทียมกันและความจำกัดระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยอาจมีการวิ่งหานักการเมืองเพื่อของเงินเพิ่ม” (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 10)





ทุกมหา’ลัย พร้อมใจปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยหลังจากการประชุมร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยว่า นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความรู้ทางภาษาอังกฤษแตกต่างกันมาก ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความลำบาก สมควรเพิ่มหน่วยกิตการเรียนภาษาอังกฤษจากเดิม 6 หน่วยกิตเป็น 12 หน่วยกิต หรืออย่างน้อย 9 หน่วยกิต นักศึกษาระบบโควต้าควรใช้คะแนนสอบวัดความรู้ในวิชาภาษาอังกฤษ ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องแบ่งระดับนักศึกษาตามคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้พัฒนาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี

อ.ชัยชาญ สุวรรณอำภา อาจารย์สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนสายน้ำผี้ง ได้สร้างห้องปฏิบัติการทางภาษของโรงเรียนซึ่งเรียกว่า Computer Assisted Language Learning (CALLS) นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยออกแบบซ๊อฟแวร์การสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียนอย่างถูกต้อง โดยนำจอมอนิเตอร์มาพ่วงต่อกันหลายๆ จอ แทนการใช้คอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง รวมสื่อการสอนทุกอย่าง เช่น โทรทัศน์. วีดีโอ. สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน, ซีดีรอม, เอกสาร แล้วถ่ายทอดจากกล้องวีดีโอเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านออกมาทางจอมอนิเตอร์ ท่านใดที่สนใจซ๊อฟแวร์นี้สามารถติดต่อได้ที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


อุตฯอนุมัติตั้งสถาบันเหล็ก

นายวิรัช กฤตผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก สามารถจัดตั้งสถาบันเหล็ก ได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานระหว่างเอกชนและรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และยังเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการตลาด การค้า ตลอดจนความรู้ด้านเทคโนโลยี (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 ธันวาคม 2543 หน้า 9)





อบรมอนุรักษ์พลังงาน

บริษัท อีอีซี อีเนอร์วีติคส์ จำกัด ร่วมกับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จัดโครงการฝึกอบรม "การอนุรักษ์พลังงาน ในอาคารประเภทโรงแรมและโรงพยาบาล" แก่บุคลากรที่มีพื้นฐานด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นผู้รับผิดชอบงานหลักในระดับผู้จัดการพลังงาน วิศวกร หรือหัวหน้าช่าง การอบรมจะจัดขึ้นในระหว่าง 10 - 12 มกราคม 2544 และ 17 - 19 มกราคม 2544 ผู้สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 642-1160-4 (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2543 หน้า 24)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นำน้ำเสียจากชุมชนมาใช้ในการเกษตรกรรมไม่เป็นอันตรายต่อพืชปลอดภัยต่อการบริโภค

นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมกันศึกษาวิจัยเรื่อง "การนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน มาใช้เพื่อการเกษตรกรรม" โดยมี ผศ.ดร. เสนีย์ กาญจนวงค์ หัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ระยะเวลาการวิจัย 2 ปีครึ่ง ผลการวิจัยพบว่า การใช้น้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียมาใช้ในการเกษตรกรรมไม่เป็นอันตรายต่อพืช และปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และยังเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรนอกและในฤดูเพาะปลูกตามธรรมชาติ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2543 หน้า 28)





นักวิทย์เฮ—สร้าง’พิมพ์เขียวพืช’สำเร็จ

นายไซมอน ไบรต์ จากบริษัทซินเจนต้า กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า นักพืชวิทยาของทางบริษัทประสบความสำเร็จในการทำพิมพ์เขียวพืช ซึ่งสามารถนำมาอธิบายได้ว่าพืชต่างๆ มีความเจริญเติบโตอย่างไร พืชที่นำมาถอดพิมพ์เขียวเป็นพืชตระกูลหญ้าชื่อว่า Arabidopsis หรือ thale cress จากการถอดพันธุกรรมทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำพืชให้ได้ผลผลิตมากกว่า และรสชาติดีกว่าพันธุกรรมเดิม (ข่าวสด ศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





เชื้อเพลิงถั่ว

รายงานจากนิตยสารวิทยาศาสตร์ โดย ศ. มูรีต โดกรู แห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองแล้วเชื่อว่า แก๊สไฮโดรเจน ที่ได้จากการผลิตจากถั่วฮาเซลนัท สามารถนำไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ให้กับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2543 หน้า 24)





กาแฟช่วยขี้ยาลดมะเร็ง

ผลการวิจัยล่าสุด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Epidemiology and Community Health ระบุว่าคนสูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะน้อยลงหากกินกาแฟด้วย ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงลงได้ราวครึ่งหนึ่ง รายงานการศึกษาบางชิ้นพบว่า กาแฟอาจทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็งแล้วกลายเป็นสารที่มีอันตรายน้อยลงก็เป็นได้ แต่ทางที่ดีไม่ควรสูบบุหรี่เลยจะดีกว่า เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ สำหรับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันและชาวยุโรปเป็นมะเร็งปีละกว่า 100,000 ราย (ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





ข่าวทั่วไป


เด็กไทยเจ๋งชนะเลิศช่างเชื่อมที่สิงคโปร์

เยาวชนไทย 2 คน ได้แก่ นายสิงห์คำ สุอุดมสินโรจน์ และนายนันธิชัย วิริยานุกุล ซึ่งได้เข้าร่วมแข่งขันฝีมือช่างเชื่อม ซึ่งจัดโดย สมาคมการเชื่อมโลหะสิงคโปร์ ในการประชุม Asian Federation ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลที่ 4 ตามลำดับ การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันประมาณ 60 คนจาก 9 ประเทศ และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกครั้งในวันที่ 15 - 20 มีนาคม 2544 (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2543 หน้า





สำนักงาน รพช. เปลี่ยนเป็นกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท

นายสุดจิต นิมิตกุล อธิบดีกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท เปิดเผยว่า สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 108ก ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 มีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2543 หน้า 34)





สำนักงานทะเบียนอำเภอพนัสนิคมได้ ISO9002

นายโสภณ ชุ่มชูจันทร์ นายอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้เผยว่า สำนักงานทะเบียนอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้รับการรับรองระบบบริหารงานได้คุณภาพ มอก. ไอเอสโอ 9002 จากสถาบันรับรองมาตรฐาน ไอเอสโอ (สรอ.) นับเป็นสำนักทะเบียนอำเภอแห่งแรกของ จังหวัดชลบุรี ที่ได้การรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ จากสถาบันรับรองระบบบริหารงานคุณภาพแห่งนี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2543 หน้า 34)





จัดระเบียบปากคลองเป็นที่ท่องเที่ยว

สำนักผังเมือง กทม. วางแผนผังจัดระเบียบปากคลองตลาด อนุรักษ์พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น อนุรักษ์อาคารที่มีค่า และปรับปรุงสภาพโดยทั่วไปให้สวยงาม และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะเป็นสถานที่จำหน่ายไม้ดอก ไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2543 หน้า 34)





จนได้จอดรถใต้สนามหลวง

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างที่จอดรถใต้สนามหลวงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนแบบใหม่ เป็นที่จอดรถขนาด 2 ชั้น ลึก 12 เมตร ชั้นที่จอดรถเก๋งจะมีความสูง 3 เมตร ชั้นที่จอดรถบัสสูง 5 เมตร โดยภายในจะติดเครื่องระบายอากาศเพื่อไม่ให้อับทึบ สำหรับพื้นที่ที่จะก่อสร้างที่จอดรถใต้ดิน จะใช้ด้านเหนือของสนามหลวง คือด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์การออกแบบจะแล้วเสร็จ จากนั้น กทม. จะประกาศเชิญชวนบริษัทเอกชนมาซื้อแบบ โดยเอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมดมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยบริษัทจะมีรายได้จากการเก็บค่าจอดรถ ซึ่งการกำหนดค่าจอดรถจะมีคณะกรรมการร่วมกันพิจารณา เพื่อให้มีราคาเป็นธรรม (สยามรัฐ พุธที่ 13 ธันวาคม 2543 หน้า 6)





เด็กไทยเจ๋งชนะเลิศช่างเชื่อมที่สิงคโปร์

เยาวชนไทย 2 คน ได้แก่ นายสิงห์คำ สุอุดมสินโรจน์ และนายนันธิชัย วิริยานุกุล ซึ่งได้เข้าร่วมแข่งขันฝีมือช่างเชื่อม ซึ่งจัดโดย สมาคมการเชื่อมโลหะสิงคโปร์ ในการประชุม Asian Federation ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลที่ 4 ตามลำดับ การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันประมาณ 60 คนจาก 9 ประเทศ และประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกครั้งในวันที่ 15 – 20 มีนาคม 2544 (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2543 หน้า






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215