หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 27 ประจำวันที่ 2004-07-05

ข่าวการศึกษา

สกอ.รับมีจ้างทำวิทยานิพนธ์ เตรียมออกระเบียบล้อมคอก
ม.นอร์ท-เชียงใหม่พัฒนาไอทีสู่อี-ยูนิเวอร์ซิตี้
มหิดล-เชียงใหม่คว้าทูตเยาวชน
โปรแกรมจำลองภาพอะตอม ทำวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องกล้วยๆ
เสนอตั้งกระทรวงอุดมศึกษา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ
ฮาร์ดดิสก์จิ๋วแค่1นิ้วแต่จุถึง5GB
"ศักดิ์รินทร์" บิ๊กสวทช.ใหม่ลุยจีเอ็มโอ-ผลิตนักวิจัย
เอ็มเทคเปิดเวทีเสนอนวัตกรรมนาโนเทค
แบตเตอรี่โฉมใหม่
"ไบโอไทย"ค้านจัดโซนนิ่งปลูกพืชจีเอ็มโอในไทย หวั่นทำลายฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ

ข่าววิจัย/พัฒนา

เว็บคำนวณค่าท่องเที่ยวโกอินเตอร์
เครื่องให้อาหารต้นข้าวทางอากาศ
วิจัยและพัฒนาเครื่องหยอด-หว่านข้าว...สู่ท่งกุลาร้องไห้
"ทักษิณ" ปิ๊งนาโนฯสั่งสวทช.เกาะติด
ประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย Rescue Robot 2004
เปิดโอกาสให้ท่องเน็ตชายหาดใช้ไว-ไฟ ต่อเชื่อมเว็บระหว่างโต้คลื่น
ลิฟต์อวกาศสูงเสียดฟ้า อนาคตใช้ขนส่งดาวเทียม
เม็กเท็คฯทุ่ม130ล้าน วิจัยนาโนเทค
เนคเทคลดขนาดสถานีตรวจอากาศ ใช้เทคโนโลยีเมมส์สร้างตัววัดมลพิษจิ๋ว
อันตรายจากวิตามินซี
เจ้าของโนเบล"เบิร์ต ซักแมนน์"ปาฐก "เปลี่ยนเชิงโครงสร้างสมอง"ที่มหิดล
ไมโครซอฟต์จดสิทธิบัตรผิวหนังคนใช้ ทำงานเป็นเครือข่ายชนิดใหม่
จี้ออกกฎหมายคุมวิจัย "สเต็มเซลล์"
วิจัยล้วงลึกยีนมะเร็งเต้านม เตือนสตรีหมั่นตรวจร่างกาย
นักวิจัยเร่งหาวิธียับยั้งวัณโรค พบสารไอซอกซิลทำลายเชื้อได้
คุณสมบัติของยานอวกาศรุ่นล่า "ไม่ต้องบอกคิดเองได้"
วิจัยระบุสมุนไพรไทยมาตรฐานต่ำ หลังตลาดขยายตัวกว่าสองพันล้าน
แม่โจ้โชว์เทคโนฯเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฝีมือไทย
ราชมงคล วิจัยไขน้ำมันปาล์ม ไบโอดีเซลช่วยชาติ
เครื่องผ่ามะพร้าวไฮเทค ผลงานเด่นครอบครัวศรีเหรา
ญี่ปุ่นผลิตกุหลาบน้ำเงินสำเร็จ ใช้เทคโนโลยีชีวภาพดัดแปลงยีน
นักวิจัย ม.มหิดล พัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพอาหารอัจฉริยะ นาโนเซ็นเซอร์วัดคุณภาพอาหารแทนนักชิม
สุคนธบำบัดอัลตร้าซาวนด์ความงาม
พลังน้ำรักษาโรคสะเก็ดเงิน-เอดส์
สถานีตรวจอากาศจิ๋ว เนคเทคย่อส่วนเหลือเล็กกว่าฝ่ามือ
ห้องเสื้อไฮเทคฝีมือบัณฑิต ช่วยสาวๆเลือกชุดหรูได้สวยถูกใจ
วิศวกร ป.4 ดีกรี "ขยะ" "กรี เพชรวิสิทธิ์"

ข่าวทั่วไป

เว็บไซต์รัฐเมินระบบรักษาความปลอดภัย
องค์การอนามัยโลกออกโรงเตือนควรควบคุมแพทย์ทางเลือก
เขื่อนเป็นภัยต่อแม่น้ำทั่วโลกทำสิ่งแวดล้อมเสียหายหลายด้าน
ผอ.ไทยคดีศึกษาเปิด4ข้อยัน ศิลาจารึกหลักที่1เกิดสมัยร.4
สุภาพบุรุษพึงระวังภัยจากโทรมือถืออาจสร้างความเสื่อมให้เชื้ออสุจิ
สรรพคุณสารสกัดกระบองเพชรช่วยลดอาการเมาค้าง
มนุษย์กินธัญพืชมานานกว่าที่คิดหลักฐานระบุ 23,000 ปี
อย.แฉ "โซแลม" ระบาดแทนยาบ้า
สนช.เพิ่มสาขานวัตกรรมธุรกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่
ม.แม่โจ้จัดงาน มหกรรมอาหาร เกษตรอินทรีย์
เสด็จฯ เปิดรถไฟฟ้า
ยูเนสโกเพิ่มมรดกโลก 13 แห่ง





ข่าวการศึกษา


สกอ.รับมีจ้างทำวิทยานิพนธ์ เตรียมออกระเบียบล้อมคอก

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) กล่าวถึง กรณีที่เป็นข่าวมีการประกาศโฆษณารับจ้างทำวิทยานิพนธ์ผ่านทางเวบไซต์ ว่าเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สนใจและกำลังติดตาม เพราะถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้องทั้งยังกระทบต่อคุณภาพมาตรฐานอุดมศึกษาไทย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าเป็นเพียงส่วนน้อย "การเรียนระดับบัณฑิตศึกษาจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยดูแลทั่วถึง เพียงระยะหลังมีความนิยมเข้าเรียนมากขึ้น การดูแลจึงอาจรอดหูรอดตาอาจารย์ไปบ้าง" เขากล่าว สกอ.จะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการดูแลจัดทำวิทยานิพนธ์ให้รัดกุมมากขึ้น จากเดิมก็มีการกำหนดหลักการในเบื้องต้น เช่น การกำหนดรูปแบบการส่งต้นฉบับในแต่ละขั้นตอน และสัดส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาต่อจำนวนนักศึกษาที่กำหนดไว้ 1 ต่อ 5 นั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบกระบวนการจัดทำวิทยานิพนธ์ "ใครก็ตามที่ทำเรื่องนี้ ก็ขอให้รู้ว่าเป็นการทำลายคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย จงละอายแก่ใจ ถ้าเป็นอาจารย์ทำและพิสูจน์ทราบว่าจริง ก็ถือว่าผิดจรรยาบรรณร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกได้ ส่วนนักศึกษาผู้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยสามารถไม่อนุมัติปริญญา หรือถ้าอนุมัติแล้วก็ยังมีสิทธิถอดถอนปริญญา และถึงขั้นให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาได้ สำหรับเอกชนที่รับจ้างทำนั้น ก็ต้องดูในแง่กฎหมาย ซึ่งน่าจะเข้าข่ายเป็นการละเมิด" เลขาธิการกอ. กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ม.นอร์ท-เชียงใหม่พัฒนาไอทีสู่อี-ยูนิเวอร์ซิตี้

นายณรงค์ ชวสินธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมุ่งสู่เป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ยูนิเวอร์ซิตี้ ซึ่งมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีที่ทันสมัย และนำไปใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอน ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้งบประมาณลงทุนระบบไอทีกว่า 80 ล้านบาท ใน 4 ส่วน ได้แก่ 1.ศูนย์การเรียนรู้ (อี-เวิร์กเพลส) ซึ่งจะติดตั้งคอมพิวเตอร์ประมาณ 70 เครื่อง พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้นักเรียนค้นคว้าข้อมูล และอนาคตจะเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้บริการได้ 2. ระบบศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) 3. ระบบจัดเก็บข้อมูลและเครื่องแม่ข่าย ความเร็วสูง 2 ล้านเมกะไบต์ต่อวินาที ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานไอทีจะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ติดตั้งซอฟต์แวร์บริหารสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ ยังกำลังติดตั้งซอฟต์แวร์โทเทิ่ล แคมปัส แมเนจเม้นต์ โซลูชั่น หรือทีซีเอ็มเอส ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการสถาบันการศึกษา รองรับการใช้งานเวบเบส และระบบปฏิบัติการวินโดว์ส ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทะเบียนประวัติการศึกษา (เอสแอลเอส) ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการบริหาร ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร ระบบการจัดเก็บเอกสาร ระบบบริหารงานหอพักนักศึกษา รวมทั้งติดตั้งซอฟต์แวร์ iScheduler เพื่อจัดตารางการเรียนการสอนให้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยลงทุนระบบดังกล่าวประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งติดตั้งและดูแลระบบโดย บมจ. เมโทรซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งติดตั้งระบบไปแล้วประมาณ 50% อีก 3 เดือนจะเสร็จสมบูรณ์ ต่อไป ผู้ปกครอง สามารถตรวจสอบประวัติการเรียนของบุตรหลานได้เมื่อเข้าเวบไซต์ของมหาวิทยาลัยนอร์ท www.northen.ac.th ได้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดัที่ 1 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





มหิดล-เชียงใหม่คว้าทูตเยาวชน

นางสาวพีร์ดา จิตนุยานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายภูวดล ธนะเกียรติไกล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาชีวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการคัดเลือกทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าร่วมงาน "ลอนดอน อินเตอร์เนชั่นแนล ยูธ ไซ ฟอรั่ม"ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ระดับเยาวชนนี้ ดำเนินการโดยบริติช เคานซิล ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศ ทั้งนี้ ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คน จะเดินทางไปประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 28 ก.ค.- 10 ส.ค.นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษากว่า 250 คนจาก 60 ประเทศทั่วโลก (คมชัดลึก จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.komchadluek.net/news)





โปรแกรมจำลองภาพอะตอม ทำวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องกล้วยๆ

นายวิโรจน์ ตันตราภรณ์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า โครงการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์รากฐานของ สสวท. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดทำสื่อประกอบการสอนชุดภาพจำลอง 3 มิติของอะตอมและโมเลกุล โดยมี ดร.เกตุศิริ เกื้อเส้ง เป็นหัวหน้าทีมวิจัย โดยจะนำไปใช้สอนนักเรียนระดับประถมศึกษา จึงออกแบบโปรแกรมให้ใช้งานง่าย เมื่อต้องการศึกษาอะตอมใดก็คลิกเลือกที่อะตอมนั้น ภาพที่ปรากฏมีลักษณะเป็น 3 มิติ สามารถใช้เมาส์คลิกแล้วหมุนซ้ายขวา หรือพลิกได้ตามต้องการ นอกจากนี้ ยังใช้เทคนิคพิเศษใส่แสงที่มีสีลงในอะตอมด้วย เพื่อสร้างความสวยงามและเพิ่มความเข้าใจ "หลักสูตรวิทยาศาสตร์รากฐาน" ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ โดยจะเริ่มสอนให้นักเรียนตระหนักว่าธรรมชาติมีข้อจำกัด และความหลากหลายที่มีอยู่นั้นก็มีขอบเขต มีรูปแบบชัดเจนเป็นกลุ่ม ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ถึงไม่ต้องเรียนมากมายแต่สามารถเข้าใจสรรพสิ่งในธรรมชาติได้ และที่สำคัญคือ หลักสูตรจำเป็นต้องสอนต่อเนื่องตามลำดับชั้นเรียนในแต่ละปี เพราะความรู้ที่สะสมจากปีก่อนจะเป็นพื้นฐานของการเรียนการสอนในชั้นเรียนปีต่อไป (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 2 ก.ค 47 http://www.komchadluek.net/news)





เสนอตั้งกระทรวงอุดมศึกษา

วันที่ 3 ก.ค. 2547 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นายอดุลย์ วิริยะเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ (ทปอ.) กล่าวถึงผลการประชุม ทปอ.ว่า จากการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูประบบราชการ ทำให้การ บริหารงานอุดมศึกษาเกิดความล่าช้า โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล รวมกันแล้วมากกว่า 100 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งยังมีสถานศึกษาอื่นๆอีกหลายหมื่นแห่ง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ขึ้น แต่ทำงานช้าและอุ้ยอ้าย ทั้งนี้ นายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้เสนอให้มีการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาขึ้น แยกจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ดังนั้นต้องแยกสถาบันอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และอาจจะรวมสถาบันการอาชีวศึกษาเข้ามารวมด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นด้วยกับหลักการ และมอบให้นายมณฑลไปศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม เพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุม ทปอ.ในครั้งต่อไป (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 47http://www.thairath.co.th)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โดยนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้ประสานกับกลุ่มบริษัทซอร์เทคของญี่ปุ่น นำเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ยังอยู่ในสภาพการทำงานดีเยี่ยมนำมาติดตั้งในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ต่อมาได้มีการก่อสร้าง อาคารปฏิบัติการวิจัยแสงสยาม ได้ติดตั้งสถานีทดลองของระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน และเริ่มใช้แสงซินโครตรอนในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2545 เป็นต้นมา การใช้ ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1.ประโยชน์ในงานวิจัยด้านฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่น การหาคุณสมบัติของอะตอม โมเลกุล และความยาวพันธะระหว่างอะตอมภายในโมเลกุลของสสาร การจัดเรียงตัวของอะตอมบริเวณพื้นผิว และมลพิษที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถตรวจวัดสารที่มีปริมาณน้อยมากได้อย่างแม่นยำ 2.ประโยชน์ใน งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยใช้แสงซินโครตรอนเป็นเครื่องมือศึกษาโครงสร้างของสารชีวโมเลกุลที่มีขนาดเล็กมากและมีโครงสร้างที่มีความซับซ้อนซึ่งพบในสิ่งมีชีวิต ได้แก่ โปรตีน กรมนิวคลีอิก เป็นต้น ทำให้ช่วยออกแบบตัวยาสำหรับรักษาโรคและการรักษาโรคได้ 3.ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม แสงซินโครตรอนสามารถใช้ในกระบวน การผลิตแม่แบบสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้มีขนาดเล็กมาก ๆ เช่น ไมโครชิพที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ หรือการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรขนาดจิ๋วที่มีความคลาดเคลื่อนในแต่ละมิติน้อยมาก. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.dailynews.co.th)





ฮาร์ดดิสก์จิ๋วแค่1นิ้วแต่จุถึง5GB

นายเจมส์ ชิริโค รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี ได้เดินทางมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 12 รุ่นในประเทศไทย ประกอบด้วย ฮาร์ดดิสก์ จิ๋ว ขนาด 1 นิ้ว ความจุ 5 กิกะไบต์ ซึ่งสามารถจุเพลงได้มากถึง 2,500 เพลง ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5-3.5 นิ้ว มีอินเตอร์เฟซแบบซีเรียลเอทีเอ ซีเรียล แอทแทช สกาซี่ และไฟเบอร์ แชนแนล ความเร็วรอบ 15,000 รอบต่อนาที ความจุ 500 GB รวมทั้งบาร์ราคูดา 7200.8 สำหรับพีซีที่มีความจุ 400 GB เป็นต้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ใหม่ของซีเกททั้ง 12 รุ่น จะเริ่มวางจำหน่ายภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยเน้นให้ครอบคลุมตลาดส่วนบุคคล องค์กร ฯลฯ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องเล่นเพลงระบบ เอ็มพี 3 ดีวีอาร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์พีซีและโน้ตบุ๊ก รวมทั้งศูนย์ข้อมูลองค์กร (เดลินิวส์ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.dailynews.co.th)





"ศักดิ์รินทร์" บิ๊กสวทช.ใหม่ลุยจีเอ็มโอ-ผลิตนักวิจัย

นายศักดิ์รินทร์ ภูมิรัตน์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คนใหม่ กล่าวถึงนโยบาย ว่าจะเน้นการนำงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะจะมุ่งเรื่องการสร้างกำลังคนให้เพียงพอกับการทำงานวิจัยและพัฒนา ให้เกิดในหน่วยงานต่างๆ โดย จะเพิ่มอัตราที่เหมาะสมของนักวิจัยอยู่ที่ 50:10,000 คน สาเหตุที่ไทยมีนักวิทยาศาสตร์น้อย เพราะขาดการส่งเสริมการศึกษาในด้านนี้ ไม่ได้มีการลงทุนเกี่ยวกับด้านนี้ที่มากพอ แม้จะมีมหาวิทยาลัยมาก แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์เลย ดังนั้น สวทช.จะสร้างกำลังคน โดยไปร่วมกับมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการเรียนการสอน ทำงานร่วมกัน รวมทั้งกระตุ้นให้ใช้วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ในแผนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ส่วนเทคโนโลยีที่ควรจะพัฒนา จะเน้นหรือพุ่งเป้าหมายไปในสิ่งที่ถนัด เช่น เรื่องอาหาร การเกษตร ด้านสุขภาพ แต่ด้านไอทีและยานยนต์ก็ต้องพัฒนาด้วย พร้อมทั้งจะเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น เพราะแม้จะดูเหมือนความสนใจและเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ จะมีแนวโน้มดีขึ้น เกี่ยวกับนโยบายจีเอ็มโอของประเทศไทยว่า ภายหลังจากได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านจีเอ็มโอนั้น ล่าสุดได้พิจารณาเหลือ 3 ทางเลือกคือ 1. อนุญาตให้ใช้จีเอ็มโอมากขึ้นแต่ยังไม่ชัดว่าเชิงพาณิชย์ หรือแค่เพื่อการทดลองควบคู่ ไปกับทำไร่นาแบบธรรมดา 2. ยังคงเป็นแบบปัจจุบันคือไม่ให้ทดลองระดับไร่นาเปิด ต้องรอจนกว่าพร้อมใช้ และขึ้นกับความเชื่อมั่นของสังคมว่ามั่นใจค่อนเปลี่ยนแปลง และ 3. ไม่เอาจีเอ็มโอเลย ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกใช้กัน โดยคณะอนุกรรมการฯจะสรุปข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดพร้อมแนวทางต่างๆ เสนอต่อ นายกฯในเดือน ก.ค.นี้. (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





เอ็มเทคเปิดเวทีเสนอนวัตกรรมนาโนเทค

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวในเวทีอภิปราย งานวิจัยวัสดุนาโนของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ว่า วัสดุนาโน (Nanomaterials) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งของนาโนเทคโนโลยี เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โครงสร้างขนาดนาโนเมตรถูกนำมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษ ความก้าวหน้าของผลงานวิจัยวัสดุนาโน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านต่างๆ อาทิ ด้านพลังงาน มีการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง (Dye Sensitized Solar Cells) โดยอาศัยกลไกทางปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีที่ถูกกระตุ้นด้วยแสงคล้ายกับการสังเคราะห์แสงของพืช มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 10% ซึ่งใกล้เคียงกับเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิกอน แต่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิกอน เนื่องจากผลิตได้ง่าย และใช้วัสดุราคาไม่แพง ด้านการเกษตรมีการใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการผลิตซิลิกอนคาร์ไบด์จากแกลบ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับหลายอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตและแปรรูปโลหะ แก้ว และแม่พิมพ์ การเตรียมผลึกเซลลูโลสจากฟางข้าวและเชิงอ้อยใช้เป็นวัสดุเสริมแรงในพลาสติก หรือชิ้นงาน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานาโนฟิล์มให้สามารถกันรังสียูวีและรังสีความร้อน ลดการสูญเสียพืชผลทางการเกษตรได้ดีเป็นพิเศษ และเทคโนโลยีนาโนวัสดุด้านอื่นๆ อีกมากมาย นักวิจัยที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ฝ่ายอุดหนุนการวิจัยของเอ็มเทค ซึ่งจัดตั้งอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดัที่ 1 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





แบตเตอรี่โฉมใหม่

บริษัทโตชิบา ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ล่าสุด คือ Dierct Methanol Fuel Cell หรือเรียกกันย่อ ๆ ว่า DMFC คือ เชื้อเพลิงเหลวเมธานอล ขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่ให้พลังงานสูงถึง 100 มิลลิวัตต์ มีขนาดเท่านิ้วโป้งของคนเรา ขนาดกว้าง 0.88 นิ้ว และยาว 1.80 นิ้ว น้ำหนักเพียง 8.5 กรัม ถือว่าเป็นเซลล์เชื้อเพลิงเหลวเมธานอลที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ถือเป็นกรีนเพาเวอร์ หรือพลังงานสะอาดที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโลก ทำงานโดยการผสมเมธานอลเข้ากับอากาศและน้ำ ก็จะเกิดพลังงานสูงถึง 100 มิลลิวัตต์ ซึ่งทางโตชิบา บอกว่า เซลล์เชื้อเพลิงเหลวเมธานอลนี้ ผลิตขึ้นมาให้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทพกพา เช่น เครื่องฟังเพลงจากไฟล์เอ็มพี 3 หากใช้แบตเตอรี่จากเซลล์ดังกล่าว จะเล่นเพลงติดต่อกันได้นานถึง 20 ชั่วโมง โตชิบามีแผนจะผลิตเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ.2005 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น DMFC อาจจะเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ซึ่งใช้กับโทรศัพท์มือถือ พีดีเอ และอุปกรณ์พกพาไฮเทคอื่น ๆ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





"ไบโอไทย"ค้านจัดโซนนิ่งปลูกพืชจีเอ็มโอในไทย หวั่นทำลายฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย "ไบโอไทย" ค้านสวทช.กรณีเสนอนายกฯ จัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ ชี้ในทางปฏิบัติควบคุมการปนเปื้อนระหว่างเกษตรอินทรีย์และพืชจีเอ็มโอไม่ได้ หวั่นฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นจีเอ็มโอไปด้วย ชี้ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบยังมีปัญหา ขณะที่ยอดขายก็ไม่ดีอย่างที่คิดไว้ ขณะที่การทดลองที่อังกฤษ พบไม่สามารถลดการใช้สารเคมีได้ แนะยืดเวลา 10 ปี ออกกฎหมายความปลอดภัย พร้อมทดลองให้มั่นใจก่อนดำเนินการจริง นายวิฑูรย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีควรจะเปิดโอกาสให้มีการศึกษาวิจัยก่อนในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุมความปลอดภัย แต่ในระดับไร่นายังไม่ควรอนุญาต โดยระยะเวลาการทดลองอาจจะยืดไปนาน 10 ปี ก่อนที่จะมาสรุปอีกครั้งว่า จะเปิดประเทศรับพืชจีเอ็มโอหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการออกฎหมายควบคุมความปลอดภัยด้วย สิ่งที่ประเทศไทยควรจะต้องทำในตอนนี้เรื่องพืชจีเอ็มโอ คือ การสร้างความเข้มแข็งทั้งในเรื่องข้อมูลผลกระทบ และระบบกฎหมายอาจจะยืดเวลาไปประมาณ 10 ปี ก่อนที่จะบอกว่าควรจะเลือกพืชจีเอ็มโอหรือไม่ในตอนนี้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 3 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เว็บคำนวณค่าท่องเที่ยวโกอินเตอร์

ในการแข่งขันพัฒนาเว็บเซอร์วิสระดับเยาวชนครั้งที่ 3 "Thailand Student .NET Competition 2004" ของบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เพื่อหาตัวแทนเข้าแข่งขันเว็บเซอร์วิส (เว็บบริการ) ระดับโลก ประชันฝีมือกับเยาวชนกว่า 40 ประเทศ ด้วยการพัฒนาโปรแกรมผ่านเทคโนโลยี ".NET Platform" ระหว่างวันที่ 2-8 ก.ค. นี้ ในการแข่งขันระดับภูมิภาค "Imagine Cup 2004" ที่ประเทศบราซิล ปรากฏว่า ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมพ่วงตำแหน่งตัวแทนประเทศไทย ได้แก่ ทีม gNU.NET จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กับผลงาน ....Where2Go Project.... เป็นเว็บเซอร์วิสที่ช่วยค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลร้านอาหาร และโรงแรมในบริเวณใกล้เคียง พร้อมช่วยวางแผนการเดินทาง และคำนวณค่าใช้จ่าย นายธนพล ภวเดโชชัย นายจิระวัฒน์ ผดุงกิจจานนท์ นายกิตติ พงศ์พิรุฬห์ และนายชัชวาล ตรียา นุวัฒน์ เจ้าของผลงาน บอกว่า แวร์ ทู โก มี 2 ฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก ๆ ได้แก่ ฟังก์ชั่นค้นหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งใช้ Fuzzy Logic ในการค้นหา เบื้องต้นมีข้อมูลอยู่ 5 จังหวัด และฟังก์ชั่นจัดตารางเวลาการท่องเที่ยว โดยโปรแกรมถูกออกแบบให้มีความ ยืดหยุ่น ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนตารางเวลาได้ตลอด ส่วนโปรแกรม "Smart Map Service" บริการเลือกเส้นทางในการเดินทางที่ใกล้ และประหยัดเวลาที่สุด ทั้งการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวและรถเมล์ ผลงานของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ "SmartCity .NET" โปรแกรมที่นำหลักการของเว็บเซอร์วิสมาใช้ทำระบบตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในบ้าน ระบบสั่งเปิด-ปิดไฟ สั่งซื้อสินค้า และอาหาร ของนักศึกษามหาวิทยาลัยสุรนารี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.dailynews.co.th)





เครื่องให้อาหารต้นข้าวทางอากาศ

จากความสำเร็จของการวิจัยยานเหาะเพื่อการเกษตร โดยภาควิชาวิศวกรรม การบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตร ศาสตร์ ล่าสุด ทางภาควิชาฯ จึงได้ดำเนินการ "โครงการวิจัยการให้อาหารต้นข้าวทางอากาศ" โดย รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ กล่าวว่า ทางคณะผู้วิจัยได้เริ่มแนวคิดนำเอาอุปกรณ์พิเศษเครื่อง ULTRA LOW ENERGY MIST ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บนยานเหาะมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับพ่นสารจุลินทรีย์ชีวภาพลงในพื้นที่แปลงนาข้าว ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรแสดงความจำนงต้องการเครื่องให้อาหารต้นข้าวทางอากาศนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางคณะวิจัยกำลังพัฒนาเพื่อ ให้สามารถผลิตเครื่องมือออกมาสู่เกษตรกรได้ ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง รศ.ดร.ปองวิทย์ บอกผู้สนใจสามารถมาขอรับแบบฟอร์มพร้อมเสียค่าอุปกรณ์ประมาณ 200 บาทเท่านั้นแล้วสามารถนำไปประดิษฐ์ได้เองให้สามารถ ใช้งานได้เลยตามความเหมาะสม เกษตรกร สอบถามรายละเอียดได้ที่ รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศว กรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โทร. 0-2942-8555 ต่อ 1733, 0-9771-4654. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.dailynews.co.th)





วิจัยและพัฒนาเครื่องหยอด-หว่านข้าว...สู่ท่งกุลาร้องไห้

นายสุรเวทย์ กฤษณเศรณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าว การแก้ปัญหาการปลูกข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นอกจากจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพแล้วสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ กรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาเครื่องปลูกข้าวเพื่อแก้ปัญหาการปลูกข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้จนประสบความสำเร็จทั้งหมด 4 เครื่อง ดังนี้ เครื่องหยอดข้าว 10 แถว ใช้พ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 60-70 แรงม้า เครื่องหยอดข้าว 4 แถวติดรถไถเดินตาม เครื่องหว่านข้าวติดรถ เครื่องหว่านข้าวติดรถไถเดินตาม เครื่องหยอดข้าวและเครื่องหว่านข้าวทั้ง 4 เครื่องดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเมล็ดพันธุ์แล้ว เกษตรกรยังสามารถปลูกข้าวได้เต็มพื้นที่และเร็วขึ้น เมล็ดข้าวที่ใช้วิธีการหว่านหรือหยอดด้วยเครื่องจะได้รับการโรยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นข้าวเติบโตขึ้นจึงมีความแข็งแรง ทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นายสุรเวทย์ กฤษณเศรณี โทร. 0-2940-5566 ทุกวันในเวลาราชการ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.dailynews.co.th)





"ทักษิณ" ปิ๊งนาโนฯสั่งสวทช.เกาะติด

นายกร ทัพพะรังสี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องนาโนเทคโนโลยี ความท้าทายของประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้นำนักวิจัยระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังการพูดคุยดังกล่าว นายกฯได้พูดกับตนว่าค่อนข้างประทับใจกับนักวิจัยทั้ง 5 คน เพราะทำให้นายกฯเกิดแรงจูงใจว่าจะทำอะไรต่อไป โดยเฉพาะการนำนาโนฯและใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังได้พูดในรายการวิทยุ เชิญชวนให้ไปชมงานนิทรรศการด้านนาโนฯและความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยด้วย รมว.วท. ยังได้มอบหมายให้ศูนย์ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ไบโอเทค เอ็มเทค เนคเทค นาโนเทค และศูนย์พลังงาน ไปหาคำตอบภายใน 30 วัน ว่าจะประยุกต์ใช้นาโนฯกับการวิจัยและพัฒนาอะไรให้มีความชัดเจน จากนั้นจะสรุปข้อมูลนำเสนอนายกฯต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมอบหมายให้ สวทช.เตรียมคัดเลือกเด็กเก่งไปร่วมงานไบโอเทคแฟร์ ที่ประเทศอินเดีย เพื่อตามรอยนายกฯ ที่เคยพาเด็กไปรัสเซีย และทำให้ได้เรียนรู้ว่าประเทศเหล่านั้นมีการพัฒนาอะไรบ้าง (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.thairath.co.th)





ประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย Rescue Robot 2004

โครงการการแข่งขันประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย ในระดับนักศึกษา ในโครงการ Thailand Rescue Robot Championship 2004 ซึ่งถือว่าเป็นรายการแรกของประเทศไทย ที่มีการแข่งขันการสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย เพื่อช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอันตราย เช่น เหตุเพลิงไหม้, ตึกถล่ม หรือภัยจากเหตุวินาศกรรม นับว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม และน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งถึงความสามารถของเด็กไทยกับการพัฒนาความสามารถทางด้านเทคโนโลยีไปสู่ระดับโลก ซึ่งแม่งานใหญ่ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก สมาคมวิชาชีพหุ่นยนต์ไทย ร่วมกับ เครือซิเมนต์ไทย ส่งเสริมกิจกรรมที่ดีมีคุณค่าให้เกิดขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมเยาวชนไทยได้คิดเป็น และสร้างสรรค์ผลงานที่ดีเพื่อโลกในอนาคต อีกทางหนึ่ง สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดของโครงการ Thailand Rescue Robot Championship 2004 ที่เว็บไซต์ www.trs.or.th (สยามรัฐ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.siamrath.co.th)





เปิดโอกาสให้ท่องเน็ตชายหาดใช้ไว-ไฟ ต่อเชื่อมเว็บระหว่างโต้คลื่น

บริษัทอินเทล ผู้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รายใหญ่ ของโลก ได้พัฒนาอุปกรณ์ทันสมัยที่ได้รวมเอาแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ แบบสัมผัสจอมารวมเข้ากับแผงโซลาร์ ติดเอาไว้บนกระดานโต้คลื่น พร้อมด้วยอุปกรณ์กันน้ำ ซึ่งเป็น แผ่นพลาสติกใสบางๆ เพื่อเอาใจกลุ่มคนรักทะเลที่ไม่ต้องการจะขาดจากโลกการสื่อสาร แม้ในเวลาที่กำลังเล่นกระดานโต้คลื่นในทะเล อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีเสาอากาศไว-ไฟ สำหรับการเชื่อมต่อกับเว็บ อีกทั้งยังสามารถเว็บแคม เพื่อเก็บบันทึกภาพอันน่าประทับใจในท้องทะเลได้ด้วย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นของแปลกใหม่ ที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อที่จะใช้โปรโมตการแข่งขันโต้คลื่นที่จะมีขึ้นในอังกฤษในเดือนนี้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.thairath.co.th)





ลิฟต์อวกาศสูงเสียดฟ้า อนาคตใช้ขนส่งดาวเทียม

แบรดลีย์ ซี.เอ็ดเวิร์ด หัวหน้าโครงการสร้างลิฟต์อวกาศ ประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ในเมืองแฟร์มองต์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ (นาซา) เผยว่า ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว 21,500,000 บาท สำหรับศึกษาแนวทาง ในการสร้างลิฟต์อวกาศ โดยตามแนวคิดที่วางไว้นั้น ลิฟต์อวกาศจะสูงถึง 62,000 ไมล์ และสามารถรับน้ำหนักบรรทุก ได้คราวละ 13 ตัน นาซาคาดการณ์ว่า ลิฟต์อวกาศจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 15 ปี หรือภายในปีพ.ศ.2562 เรียกว่าสามารถเปิดใช้งานได้ก่อนโครงการของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ที่จะส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2563 โดยใช้ คาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotube) ซึ่งอะตอมของคาร์บอนเกาะเกี่ยวกันเป็นรูปท่อยาว และพบว่า มีคุณสมบัติแข็งแกร่งกว่าเหล็ก แต่ขนาดเบาและสามารถนำมามัดรวมกัน เพื่อทำเป็นเคเบิลตัวลิฟต์ขนสิ่งของขึ้นสู่อวกาศ สายเคเบิล ที่ทำจากคาร์บอนนาโนทิวบ์นี้ กว้างประมาณสามฟุตแต่บางกว่ากระดาษ และในการขนส่งของสู่อวกาศนั้น ปลายข้างหนึ่งของสายเคเบิลจะยึดติดอยู่กับแท่น ซึ่งตามแผน จะตั้งที่ชายฝั่งแห่งหนึ่ง ริมมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเส้นศูนย์สูตรของประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งลมค่อนข้างสงบ อากาศดี มีเครื่องบินพาณิชย์ผ่านไม่กี่ลำ ขณะที่ปลายข้างบน จะห้อยต่องแต่งอยู่กับบอลลูนอวกาศ นอกจากนี้ แท่นที่อยู่ภาคพื้นดิน ยังได้รับการออกแบบมาให้เคลื่อนที่ได้ เพื่อหลบเลี่ยงเส้นทางโคจรของดาวเทียม ขณะเดียวกันลิฟต์อวกาศนี้จะใช้เซลล์พลังงาน ที่สามารถแปลงแสงสว่างไปเป็นไฟฟ้า สำหรับยกลิฟต์ขึ้นลง โดยจะมีเครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ตั้งอยู่ที่แท่นในการยิงลำแสงไปที่ลิฟต์ เพื่อป้อนพลังงานให้กับเซลล์ที่ทำหน้าที่แปลงเป็นไฟฟ้า เอ็ดเวิร์ดเชื่อว่า ลิฟต์อวกาศเป็นรูปแบบการขนส่งที่ถูกและปลอดภัย ซึ่งท้ายที่สุดอาจใช้เป็นช่องทางสำหรับส่งยานสำรวจไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ด้วย ตอนนี้เหลือแค่รอพัฒนาคาร์บอนนาโนทิวบ์ ให้มีความแข็งแกร่งตามที่ต้องการก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาสักสองปีจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มโครงการก่อสร้าง (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





เม็กเท็คฯทุ่ม130ล้าน วิจัยนาโนเทค

นายสาธิต จิตต์จงรัก กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัทเม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคาตาไลซิสและวิศวกรรมปฏิกิริยาที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ดำเนินโครงการวิจัยการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผงวงจรไฟฟ้าชนิดยืดหยุ่นได้ที่มีสมรรถนะสูง โดยบริษัทสนับสนุนงบประมาณ 130 ล้านบาท สำหรับจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือด้านนาโนเทค และคาดว่าในระยะเวลา 5 ปีจะได้แผงวงจรที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการวิจัยแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ โครงการพัฒนาสาร "โอเอสพี" เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยสารนี้ช่วยป้องกันการทำปฏิกิริยาทางเคมีของทองแดงกับออกซิเจน ซึ่งใช้กันในอุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรไฟฟ้า โครงการพัฒนาโพลีอิไมด์ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ชนิดหนึ่งให้มีสถานะของเหลว เพื่อใช้เคลือบชิ้นงานให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และโครงการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าชนิดยืดหยุ่นโดยนาโนเทคโนโลยี โดยการวิจัยจะศึกษาลดขนาดของตัวกลางนำไฟฟ้า จากปัจจุบันที่ใช้ทองแดงอาจเป็นวัสดุอื่นที่มีขนาดเล็กระดับนาโน และการวิจัยอาจรวมไปถึงการพัฒนาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถโค้งงอได้ เพื่อให้พร้อมที่จะสร้างไว้บนแผงวงจรชนิดยืดหยุ่น ซึ่งจะเป็นการขยายขอบเขตการใช้งานให้กว้างออกไป เช่น โทรศัพท์มือถือพับได้ คอมพิวเตอร์พับหรือโค้งงอได้ ไปจนถึงจอโทรทัศน์ที่สามารถม้วนหรือพับได้ เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





เนคเทคลดขนาดสถานีตรวจอากาศ ใช้เทคโนโลยีเมมส์สร้างตัววัดมลพิษจิ๋ว

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทคอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือวัดมลพิษทางอากาศโดยใช้เทคโนโลยีเมมส์ ซึ่งจะช่วยย่อส่วนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศจากตู้คอนเทนเนอร์ให้เล็กกว่าฝ่ามือ ในราคาที่ถูกลงและผลิตได้ในปริมาณมาก โดยโครงการได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ที่แบ่งกันรับผิดชอบการพัฒนาอุปกรณ์ในแต่ละส่วนของระบบ โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) จะพัฒนาเซ็นเซอร์วัดการสั่นสะเทือน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาเซ็นเซอร์วัดคาร์บอนมอนนอกไซด์ มหาวิทยาลัยสุรนารีพัฒนาเซ็นเซอร์วัดความชื้น เนคเทคพัฒนาเซ็นเซอร์วัดก๊าซพิษ และบริษัท ซิลิกอนคราฟ จำกัด พัฒนาวงจรประมวลผลและส่งข้อมูล ทั้งนี้ ตัวตรวจวัดสภาพอากาศขนาดจิ๋วจะสื่อสารแบบไร้สาย โดยรับพลังงานจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถวัดคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อุณหภูมิ และระดับความชื้นในอากาศ "สำหรับเทคโนโลยีเมมส์และเนมส์เป็นระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Micro/Nano-Electro-Mechanical Systems) ที่พัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ จะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องมือ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีขนาดเล็กระดับไมโครและนาโน ประกอบด้วยส่วนไฟฟ้าขับเคลื่อนและกลไก โดยถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีการผลิตวงจรรวม และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ นาโนเซ็นเซอร์ตรวจวัดเชื้อโรค และห้องปฏิบัติการบนชิพ (Lab-on-a-chip) ซึ่งมีความสามารถในการควบคุมการไหลของเหลวในปริมาณน้อยมาก (นาโนลิตร) นำไปใช้ตรวจโรคอย่างรวดเร็วทันใจ ประหยัด และไม่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ทดสอบสารชีวภาพอย่างรวดเร็ว และใช้ตรวจสอบและขยายจำนวนสารพันธุกรรม ดร.อดิสร เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเมมส์ในเมืองไทย ด้านการแพทย์และการวัดสภาพแวดล้อม น่าจะมีโอกาสเติบโตสูงในไทยได้ ในทางกลับกันทางด้านโทรคมนาคม แม้มูลค่าตลาดจะสูงกว่าด้านอื่นๆ แต่ไทยไม่มีบริษัทเอกชนที่จะต่อยอดแอพพลิเคชั่นออกไปได้ นอกจากนี้ เนคเทคยังเปิดกว้างการสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้สนใจทำวิจัยในเทคโนโลยีเมมส์ เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีราคาแพง ซึ่งเนคเทคมีห้องปฏิบัติการและห้องวิจัยที่พร้อม และสามารถทำวิจัยแบบครบวงจรได้ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





อันตรายจากวิตามินซี

คณะนักวิจัยที่ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยดุค ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ ที่ศึกษาพบว่า การทานวิตามินซีมากเกินไป อาจทำให้อาการข้ออักเสบทรุดหนักมากกว่าเดิม โดยเป็นการแย้งผลการวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าการทานวิตามินซีปริมาณมาก อาจช่วยป้องกันข้อเสื่อม ซึ่งเป็นข้ออักเสบชนิดหนึ่งได้ ความน่าเชื่อถือของบทความนี้ กล่าวถึงผลการวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารข้ออักเสบและข้อรูมาตอยด์ระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระในวิตามินซี อาจช่วยป้องกันข้อเสื่อมได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วกลับเป็นตัวทำลายข้อที่สำคัญ เพราะผลการทดลองพบว่า หนูที่ได้รับวิตามินซีปริมาณมากเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน มีอาการข้ออักเสบ มากกว่าหนูที่ได้รับวิตามินซีปริมาณน้อยหรือปานกลาง นักวิจัยจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า วิตามินซีอาจไปกระตุ้นการทำงานของโปรตีนที่สร้างข้อกระดูก ปัจจุบันแพทย์แนะนำให้ทานวิตามินซีไม่เกินวันละ 90 มิลลิกรัม สำหรับผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัม สำหรับผู้หญิง ซึ่งการทานผักและผลไม้วันละ 5 จาน จะได้รับวิตามินซีประมาณ 200 มิลลิกรัม ขณะที่วิตามินซีเสริมบางประเภทให้วิตามินซีมากถึง 500 มิลลิกรัม ดังนั้นควรลดวิตามินซี มาบริโภควิตามินซีในผัก-ผลไม้ ระดับพอเหมาะ (สยามรัฐ 29 มิ.ย. 47 http://www.siamrath.co.th)





เจ้าของโนเบล"เบิร์ต ซักแมนน์"ปาฐก "เปลี่ยนเชิงโครงสร้างสมอง"ที่มหิดล

ศ.ดร.ประเสริฐ โศภณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคมนี้ เวลา 14.00-15.30 น. ศ.ดร.เบิร์ต ซักแมนน์ (Prof. Dr.Bert Sakmann) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (ปี พ.ศ.2534) ชาวเยอรมันได้มาบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสมองกับผลกระทบต่อการศึกษา" (STRUCTURAL CHANGES IN THE BRAIN: EFFECT OF LEARNING) ที่ ห้อง N.101 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งเป็นประโยชน์ทางด้านศึกษาวิจัยด้านการแพทย์และสรีรวิทยาของประเทศ ทั้งนี้ ศ.ดร.เบิร์ต ซักแมนน์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี พ.ศ.2534 ร่วมกับ ศ.ดร.เออร์วิน นีเฮอร์ จากผลงานการศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคเพตช์ คลามป์ (patch clamp) เพื่อศึกษาไออน แชนเนล (ion channels) ในการส่งสัญญาณประสาทผ่านซินแนปส์ ซึ่งนับเป็นการเปิดประตูสู่ความก้าวหน้าของการวิจัยด้านอิเล็กทรอฟิซิโอโลจี (electrophysiology) ในระดับโมเลกุล และนำไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ ศ.ดร.ประเสริฐเปิดเผยว่า ผลงานของ ศ.ดร.เบิร์ต ซักแมนน์ ยังได้รับรางวัลระดับนานาชาติอื่นๆ อีกมากมายในเวลาต่อมา และยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมพัฒนาองค์ความรู้ และร่วมสร้างเครือข่ายงานวิจัยของวิชาการด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย จึงได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยมหิดลให้ ศ.ดร.เบิร์ตได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสรีรวิทยา ซึ่งมีกำหนดการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ (มติชนรายวัน 29 มิ.ย. 47 http://www.matichon.co.th)





ไมโครซอฟต์จดสิทธิบัตรผิวหนังคนใช้ ทำงานเป็นเครือข่ายชนิดใหม่

บริษัทไมโครซอฟต์รายงานว่า ได้ ประสบความสำเร็จในการจดสิทธิบัตรผิวหนังมนุษย์ ให้ทำงานในฐานะที่เป็นเครือข่ายชนิดใหม่ รายงานจาก "อินซอร์ซ" (InSourced) อ้างว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเลขที่ 6,754,472 ซึ่งเป็นทั้งวิธีการและเครื่องมือในการส่งพลังงานและข้อมูลโดยใช้ร่างกายมนุษย์ สิทธิบัตรดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชนิดใหม่ที่จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ หลายชนิดเข้าด้วยกันโดยมีผิวหนังเป็นตัวสื่อสาร ตัวอย่างเช่น อาจเป็นไปได้ว่าจะมีลำโพงเพียงหนึ่งตัวสำหรับบุคคลที่ใช้อุปกรณ์ พีดีเอ และวิทยุพกพา โดยลำโพงนั้นเชื่อมต่อ ผ่านทางผิวหนัง นอกจากนี้ อุปกรณ์ชนิดที่แตกต่างกันยังสามารถใช้พลังงานจากแหล่งเดียวกันได้โดยผ่านผิวหนังเช่นกัน ทั้งแหล่งพลังงานและอุปกรณ์ต่างๆ นั้น จะเชื่อมต่อกับร่างกายคนเราโดยผ่านทางขั้วไฟฟ้า. (ไทยรัฐ พุธที่ 30 มิ.ย. 47http://www.thairath.co.th)





จี้ออกกฎหมายคุมวิจัย "สเต็มเซลล์"

จากการสัมมนาเรื่องทิศทางการวิจัยและพัฒนาด้านเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ในประเทศไทย จัดโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร.นเรศ ดำรงชัย นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยได้ร่างแนวปฏิบัติและประเด็นพิจารณาทางชีวจริยธรรม การวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดแล้วเสร็จ และถือเป็นแนวปฏิบัติฉบับแรกที่หน่วยงานให้ทุนวิจัยและพัฒนาต้องใช้เป็นแนวทาง ซึ่งจะต้องอยู่ในขอบเขตของหลักเกณฑ์ทางด้านจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปัญหายังมี 2 ส่วน คือการรักษาผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง และปัญหาเรื่องสภาพความมีชีวิต หรือเป็นมนุษย์ของตัวอ่อนที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แม้แต่ในระดับโลกก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัว ดังนั้น แต่ละประเทศต้องออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ของไทยก็ยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน ทั้งคงยังต้องทบทวนและรับฟังความคิดเห็นของสังคมอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งยังขึ้นกับนโยบายผู้นำประเทศด้วย ผศ.น.พ.สุรเดช หงส์อิง จากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแพทย์ใช้สเต็มเซลล์ รักษาโรคธาลัสซีเมีย โดยใช้วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกได้แล้ว แต่ค่ารักษาสูงถึง 5 แสนบาทต่อคน อีกทั้งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ และมหิดล ได้เริ่มศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งระดับห้องทดลองก้าวหน้ากว่า 50% แล้ว คาดว่าไม่เกิน 1 ปีน่าจะมีข่าวดี อย่างไรก็ตาม การวิจัยด้านนี้ยังขาดงบฯ หากรัฐบาลสนใจและสร้างบุคลากรมากขึ้น ก็น่าจะไปได้ไกลกว่านี้ (ไทยรัฐ พุธที่ 30 มิ.ย. 47http://www.thairath.co.th)





วิจัยล้วงลึกยีนมะเร็งเต้านม เตือนสตรีหมั่นตรวจร่างกาย

รศ.ดร.พิมพิชฌา ปัทมสิริวัฒน์ ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิจัยความสัมพันธ์ของยีนพันธุกรรมกับมะเร็งเต้านม เปิดเผยว่า การวิจัยได้แบ่งเป็น 2 โครงการ โดยโครงการแรกมุ่งศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม/รังไข่ ชนิดถ่ายทอดพันธุกรรมโดยตรง ส่วนโครงการ 2 มุ่งศึกษาสตรีกลุ่มเสี่ยงปานกลางถึงสูง ซึ่งสมาชิกครอบครัวสายตรง 2 คนขึ้นไปป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม/รังไข่ งานวิจัยช่วงแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า สตรีเหล่านี้มีการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม BRCA1 หรือ 2 ซึ่งเป็นยีนกดมะเร็งเต้านมทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้เซลล์ที่เริ่มผิดปกติกลายเป็นเซลล์ที่ก่อมะเร็ง และเมื่อยีนดังกล่าวกลายพันธุ์จึงไม่สามารถยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง และจากการศึกษาพบว่าร้อยละ 60 ของจำนวนครอบครัวที่ศึกษา 40 ครอบครัว มีการส่งต่อยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวให้ลูกหลาน ส่วนการวิจัยต่อเนื่องในขณะนี้ เป็นงานวิจัยปริญญาโทและเอก ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สกว. เพื่อตอบคำถามสำหรับครอบครัวที่เหลือ ซึ่งเป็นมะเร็งในครอบครัวเช่นกัน แต่ไม่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ 2 ในบริเวณถอดรหัสโปรตีน ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่าบางส่วนของยีน BRCA2 ที่อยู่ภายนอกส่วนที่ถอดรหัส มีการเปลี่ยนแปลงไปบางจุด ซึ่งพบบ่อยๆ ในร้อยละ 95 ของครอบครัวเสี่ยงที่เหลือเหล่านี้ การเปลี่ยนแปลงบางส่วนของยีน BRCA2 เชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับการก่อมะเร็งเต้านม เพราะสตรี แม่ ลูก หรือพี่ น้อง ในครอบครัวเดียวกันที่เป็นมะเร็งเหมือนกันมีการเปลี่ยนแปลงที่จุดเดียวกัน โดยข้อมูลความรู้ทางพันธุศาสตร์ของมะเร็งเหล่านี้ น่าจะทำให้สตรีไทยมีความรู้เพิ่มขึ้น และตื่นตัวในการปฏิบัติตน ดูแลสุขภาพ หมั่นตรวจร่างกายในเวลาที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนปรับวิถีการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถป้องกัน และลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านม และการถ่ายทอดมะเร็งเต้านมในครอบครัวไทยได้อย่างชัดเจน (กรุงเทพธุรกิจ 30 มิ.ย. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





นักวิจัยเร่งหาวิธียับยั้งวัณโรค พบสารไอซอกซิลทำลายเชื้อได้

ดร.เบญจวรรณ เพชรสุขศิริ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำงานวิจัยเรื่องวัณโรค โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยเอดส์ที่จะเป็นวัณโรคมากขึ้น ทั้งยังอาจจะกลายเป็นวัณโรคที่ดื้อยาได้อีกด้วย วิธีที่จะต่อสู้กับวัณโรคได้ดีที่สุดทางหนึ่งก็คือ การหาตัวยาใหม่มาใช้ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อวัณโรค ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าสารไอซอกซิล (Isoxyl : 4,4 Diisoamyloxydiphenylthiourea) และสารประกอบอนุพันธ์อื่นๆ ของไทโอยูเรีย (Thiourea) ในความเข้มข้นต่ำนั้นมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อวัณโรคได้ โดยที่ไอซอกซิลความเข้มข้นเพียง 0.30-1.25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และสารอนุพันธ์ของไทโอยูเรียความเข้มข้นเพียง 0.30-10.0 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถทำลายเชื้อวัณโรคได้ด้วยผลจากการทดลองในระดับห้องทดลอง ดร.เบญจวรรณกล่าวว่า การศึกษากลไกการทำลายเชื้อวัณโรคมาจนพบต้นตอของสาเหตุนี้ ประโยชน์สูงสุดเป็นการเรียนรู้ว่า กระบวนการสังเคราะห์กรดไขมันอย่างเช่นกรดโอลิอิกในเซลล์เชื้อวัณโรคนั้น เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของเชื้อวัณโรค และมีความน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะใช้สารออกฤทธิ์ไปทำการยับยั้งการสังเคราะห์กรดไขมัน หรือขัดขวางในระดับยีน มิให้สร้างเอนไซม์ในการสังเคราะห์กรดไขมัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการต่อสู้กับเชื้อวัณโรค (มติชน 30 มิ.ย. 47 http://www.matichon.co.th)





คุณสมบัติของยานอวกาศรุ่นล่า "ไม่ต้องบอกคิดเองได้"

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอริโซนา (UA) มหาวิทยาลัยอริโซนา สเตท (ASU) และห้องปฏิบัติการ เจ็ตพรอพัลชัน (JPL) กำลังคิดค้นแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนากลไกการเรียนรู้ และซอฟต์แวร์ที่มีแบบแผนการเรียนรู้ขึ้น เพื่อให้ซอฟต์แวร์ฉลาดนี้ สามารถนำไปใช้กับยานอวกาศทุกชนิดได้ ไม่ว่าจะเป็นยานอวกาศแบบโคจร หรือแบบลงสำรวจก็ตาม ซอฟต์แวร์ฉลาดที่กำลังพัฒนากันนี้ จะนำไปใช้กับดาวเทียม อีโอ-1 (EO-1) ขององค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งสหรัฐฯ (นาซา) โดยซอฟต์แวร์จะช่วยในการจัดข้อมูลแล้วส่งข่าวที่สำคัญเป็นอันดับแรกลงมาให้ทันเวลา ในขณะที่ชะลอข้อมูลที่ไม่เร่งด่วนไว้ก่อน ค่อยส่งตามมาภายหลัง โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์นี้มีชื่อว่า การทดลองยานอวกาศอัตโนมัติ (ASE) ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นทดสอบและพัฒนา สำหรับระยะทดสอบขั้นถัดไปจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปล่อยให้ดาวเทียมอี-โอ 1 ทำงานในแบบอัตโนมัติ อย่างเกือบเต็มที่ และให้ใช้ซอฟต์แวร์ตรวจวัดน้ำท่วมในระหว่างขึ้นบิน. (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





วิจัยระบุสมุนไพรไทยมาตรฐานต่ำ หลังตลาดขยายตัวกว่าสองพันล้าน

รศ.ดร.อาทร ริ้วไพบูลย์ นักวิชาการพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการสัมมนาวิชาการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงการวิจัยในเรื่องตลาดสมุนไพรในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้สมุนไพรไทยได้มีการขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจากการวิจัยมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านร้านขายยา 121 แห่ง จาก 72 จังหวัด ตลอดปี 2546 พบว่า ประชาชนทั้งประเทศได้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสูงขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 2,240 ล้านบาท นักวิชาการเภสัชศาสตร์ห่วงยาสมุนไพรไทย หลังสำรวจพบ คุณภาพยาสมุนไพรไม่ได้มาตรฐาน แม้ว่าจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่า 4 ปีที่แล้วก็ตาม ดังนั้นจะต้องให้ความรู้ประชาชนในการตรวจสอบคุณภาพยาสมุนไพรด้วยตนเองมากขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดัที่ 1 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





แม่โจ้โชว์เทคโนฯเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฝีมือไทย

ผศ.ดร.นพมณี โทปุญญานนท์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และหัวหน้ากลุ่มปทุมมา โครงการบูรณาการนำร่องไม้ดอกไม้ประดับ เปิดเผยถึงความคืบหน้างานวิจัย การพัฒนาระบบผลิตต้นปทุมมาต้นทุนต่ำด้วยเครื่องไบโอรีแอคเตอร์ว่า เป็นเทคโนโลยีนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ที่นำมาศึกษาและปรับมาเป็นแบบฉบับคนไทย เน้นใช้วัสดุภายในประเทศ ช่วยลดต้นทุน 3 เท่า เมื่อวิจัยเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วไป พบอัตราการเพิ่มของต้นปทุมมามากกว่า 3-4 เท่า หรือช่วยเพิ่มปริมาณต้นปทุมมาได้ถึง 1,000 ต้นต่อขวด และนอกจากต้นปทุมมาแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้และต้นไม้อื่นๆ แต่จะต้องวิจัยหาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับต้นไม้แต่ละชนิด หลักการของระบบผลิตนี้จะให้อาหารต้นไม้อย่างเป็นเวลา และในระบบของเครื่องไบโอรีแอคเตอร์เดิมจะเพาะเลี้ยงต้นไม้ไว้ขวดเดียวกันกับอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว และใช้แรงดันดูดอาหารขึ้นมาเลี้ยงต้นไม้ซึ่งปลูกไว้ด้านบน เมื่อต้องการเปลี่ยนชนิดอาหารจะต้องยกกลุ่มต้นไม้ที่เลี้ยงออก ทำให้เนื้อเยื่อที่เพาะเลี้ยงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย จึงเป็นข้อเสียของเครื่องไบโอรีแอคเตอร์แบบเดิม สำหรับโครงการบูรณาการนำร่องไม้ดอกไม้ประดับนี้ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ในส่วนของต้นปทุมมาอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยศึกษาการผลิตนอกฤดู, เทคโนโลยีในการผลิตนอกฤดู, วิจัยหาวิธียับยั้งแบคทีเรียที่มีผลต่อการเหี่ยวของปทุมมา เพื่อใช้แสดงในงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2549-2550 โดยจะแสดงถึงศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับนอกฤดูของเกษตรกรไทย พร้อมทั้งเป็นการเปิดตลาดส่งออกไม้ดอกไทยด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดัที่ 1 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ราชมงคล วิจัยไขน้ำมันปาล์ม ไบโอดีเซลช่วยชาติ

อาจารย์กุณฑล ทองศรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกล คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้คิดค้น “ไบโอดีเซลจากไขน้ำมันปาล์ม เป็นผลสำเร็จ สำหรับไบโอดีเซล ที่วิจัยจนสำเร็จนี้ จะแตกต่างจากที่อื่นๆ ที่เคยวิจัยมา เพราะส่วนมากจะนำส่วนของน้ำมันของพืช มาผสมกับน้ำมันดีเซลเสียมาก แต่งานวิจัยนี้ได้นำเอาส่วนของ ไขน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ได้จาการนำน้ำมันปาล์มดิบ ที่สกัดออกจากเปลือกนอกของผลปาล์มมาผ่านกระบวนการแยกส่วนออกมาที่จะได้ทั้งน้ำมันและไขน้ำมันออกมา ซึ่งคุณสมบัติของไขน้ำมันปาล์มนั้นจะแข็งตัวในอุณหภูมิปกติ ส่วนใหญ่ไขจากน้ำมันปาล์มจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสบู่ แต่ตนได้นำไขน้ำมันปาล์มมาผ่านกระบวนการละลายด้วยความร้อนจะได้ไขที่หลอมละลาย เมื่อนำไปทดลองผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วนต่างๆ พร้อมกับทดสอบสมรรถะตัวแปรที่มีผลกระทบต่อการใช้เชื้อเพลิงผสม อันได้แก่ ความข้นใสและความถ่วงจำเพาะ ทดสอบการจุดวาบไฟ จุดติดไฟ ค่าความร้อนของเชื้อเพลิง และความหนาแน่นแล้วพบว่า อัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันดีเซล กับไขน้ำมันปาล์มคือ 80:20 ซึ่งนั้นก็เท่ากับว่าแทนที่เราจะต้องซื้อน้ำมันดีเซลเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราใช้น้ำมันจากไบโอดีเซล จะสามารถลดปริมาณน้ำมันดีเซลถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ไบโอดีเซลจากไขน้ำมันปาล์ม นั้นเหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่มีรอบกำลังต่ำ จำพวกเครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องยนต์เรือ แล้วปัญหาของไบโอดีเซล จากไขน้ำมันปาล์ม ก็มีเพียงแค่การแข็งตัวของไข ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้โดยการผ่านตัวท่อไอเสียเพื่อป้องกันการแข็งตัวของไขน้ำมันปาล์มได้ ผู้สนใจติดต่อรายละเอียดได้ที่ อาจารย์กุณฑล ทองศรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลเกษตรสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โทร 0-6753-4235 หรือ 0-2549-3300, 0-2549-3310 (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





เครื่องผ่ามะพร้าวไฮเทค ผลงานเด่นครอบครัวศรีเหรา

การทำงานของเครื่องปอกมะพร้าวไฮเทค จากอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายถวิล เปิดเผยว่า การทำงานของเครื่องสามารถทำงานได้อย่างเหลือเชื่อ 1 ชั่วโมง ผ่ามะพร้าวได้กว่า 100 ผล แต่ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้วางผลมะพร้าว นับตั้งแต่ได้เครื่องปอกผลมะพร้าวมานี้ งานปอกมะพร้าวนับเป็นเรื่องง่ายสำหรับครอบครัว ถือว่าเป็นเรื่องเล็กมากสำหรับการปอกมะพร้าว ใช้ทุนทั้งหมดประมาณ 30,000 บาท อุปกรณ์ที่นำมาประกอบเป็นเครื่องปอกมะพร้าวสำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ (09) 836-0197 ยินดีให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเครื่องปอกมะพร้าว และดูของจริงได้ตลอดเวลา การทำเครื่องปอกมะพร้าว 1. กระบอกไฮดรอลิกพร้อมกระปุกน้ำมันที่หาได้ง่ายจากรถต่าง ๆ หรือดัดแปลงจากของเก่า ๆ ที่มี เพราะที่บ้านเป็นอู่ซ่อมรถจึงหาง่าย 2. แท่นเหล็ก สูงประมาณ 1 เมตร หรือวัดให้เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการใช้งานหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า เป็นแท่นสำหรับทำงาน 3. ชุดใบมีดสเตนเลส เพื่อป้องกันการเป็นสนิม โดยออกแบบไม่ให้เหมือนใคร โดยเน้นการทำงานที่ง่ายและประหยัด 4. ถังรองน้ำมะพร้าว แล้วแต่ความสะดวก แต่ของครอบครัวนี้เป็นลักษณะกลมเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน พร้อมทั้งตะแกรงสเตนเลสเพื่อความสะอาด และทำความสะอาดได้ง่าย 5. ชุดใบมีดต้องมีตัวสำหรับรองรับอีก 2 ข้าง ลักษณะเหมือนไม้ง่ามลูกเสือ เพื่อเป็นการรองรับผลมะพร้าวไม่ให้หล่นลงไปด้านหลัง หลังจากชุดไฮดรอลิกทำงาน 6. ใบมีดที่รองรับต้องยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และอยู่ด้านล่างเพื่อให้น้ำมะพร้าวไหลลงถังเก็บสเตนเลสที่มีก๊อกสำหรับถ่ายเทน้ำ (มติชน พฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. 47 http://www.matichon.co.th/techno)





ญี่ปุ่นผลิตกุหลาบน้ำเงินสำเร็จ ใช้เทคโนโลยีชีวภาพดัดแปลงยีน

หลังจากทุ่มเทวิจัยมานานถึง 14 ปี ในที่สุดบริษัทซันโตรี ผู้ผลิตสุรากลั่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นก็สามารถพัฒนากุหลาบสีน้ำเงินได้เป็นผลสำเร็จ โดยนำยีนที่ทำให้เกิดการสังเคราะห์สีน้ำเงินเข้าไปใส่ในดอกกุหลาบสีม่วง ทำให้ดอกกุหลาบพันธุ์ใหม่ที่ให้สารสีเดลฟินิดิน (Delphinidin) ซึ่งโดยกุหลาบตามธรรมชาติไม่มีสีนี้อยู่ เทคนิคในการผสมพันธุ์ไม้ดอกเพื่อบังคับให้กุหลาบออกดอกเป็นสีน้ำเงินนั้น สีของดอกกุหลาบที่ได้มักออกไปทางสีม่วงอ่อนอมเทามากกว่าที่จะเป็นสีน้ำเงินชัดๆ โดยที่สีดังกล่าวเกิดจากการผสมกันของเม็ดสีแดงหรือส้มกับดอกไม้ที่ไม่มีสารสีเดลฟินิดินอยู่ อย่างไรก็ดี ดอกกุหลาบของซันโตรีที่ยังดูออกไปทางสีม่วงมากกว่าน้ำเงินเหมือนกัน และนักวิจัยของบริษัทเองก็ยอมรับว่าคงต้องวิจัยให้หนักมากขึ้นเพื่อให้ได้ดอกกุหลาบสีน้ำเงินท้องฟ้าสดใส แต่โดยเทคนิคแล้วบริษัทถือว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาดอกกุหลาบสีน้ำเงิน เพราะอย่างน้อยกุหลาบใหม่นี้มีเม็ดสีน้ำเงินปนอยู่ด้วย "เท่ากับว่าตอนนี้เราเดินมาครึ่งทางแล้ว" ทานากะ กล่าว บริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตกุหลาบสีใหม่นี้สู่ตลาดได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจนี้ราวหมื่นกว่าล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





นักวิจัย ม.มหิดล พัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพอาหารอัจฉริยะ นาโนเซ็นเซอร์วัดคุณภาพอาหารแทนนักชิม

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ เกิดเจริญ หน่วยสร้างเสริมศักยภาพทางนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เซ็นเซอร์ยุคต่อไปจะทำงานร่วมกัน และสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ต่างจากเซ็นเซอร์ในยุคแรกที่ทำงานเป็นเอกเทศ การคุยของเซ็นเซอร์เหมือนการทำงานของระบบซอฟต์แวร์ จะเห็นเลยว่าปัจจุบันวิศวกรรมด้านซอฟต์แวร์ฝังตัว (embeded system) พัฒนาไปไกลมาก สามารถเขียนโปรแกรมขนาดจิ๋วลงในเซ็นเซอร์ได้ ส่งผลให้จากเมื่อนำเซ็นเซอร์แต่ละตัวมาอยู่ด้วยกันเป็น 100 ตัว สามารถใช้เป็นประสาทตารับรู้สิ่งที่เห็นได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนชีวภาพกล่าว นาโนเซ็นเซอร์ที่จะทำต่อไป คือ การใช้เซ็นเซอร์ควบคุมคุณภาพของอาหารอย่าง น้ำปลา หรือไวน์ เป็นการตรวจวัดรสชาติ ปกติแล้วการที่เราจะบอกได้ว่าอาหารอร่อยหรือไม่ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของลิ้นกับจมูกที่ดีมาก ซึ่งจมูกคนเราจะมีเซลล์นับล้านเซลล์ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยประสบการณ์ด้านการชิมด้วย แต่หากเราคิดจะใช้เซ็นเซอร์ตรวจไวน์ ต้องใช้หลายตัวถึงจะทำได้ ผมคิดว่าน่าจะใช้ราว 20-30 ตัว จากนั้นก็เอาไวน์ที่คัดว่าอร่อยจริงๆ มาสอนเครื่องรู้จัก เมื่อเครื่องรู้ก็สามารถชิมแทนไวน์แทนคนได้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเซ็นเซอร์ในอนาคต ผศ.ดร.ธีรเกียรติ กล่าวว่า ในอนาคต เซ็นเซอร์จะเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น แม้นักวิจัยไทยจะยังไม่สามารถพัฒนาชิ้นงานได้ถึงระดับ แต่ ดร.ธีรเกียรติ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ให้เป็นระบบเครือข่าย ที่แต่ละตัวสามารถพูดคุยกัน และส่งสัญญาณที่ประมวลผลออกมาได้ เซ็นเซอร์เครือข่ายนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแอพพลิเคชั่นได้หลากหลาย (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





สุคนธบำบัดอัลตร้าซาวนด์ความงาม

ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)กล่าวว่า วว.ได้พัฒนา เครื่องสุคนธบำบัดอัลทราโซนิกส์และเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อความงาม โดยฝีมือนักวิจัยของ วว. คือ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลยันฮี เพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ สำหรับนำไปใช้ในคลินิกเสริมความงาม และสถานสปาทั่วประเทศ นวัตกรรมใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมอัลตราโซนิกส์ทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันหอมระเหย โดยไม่ต้องอาศัยความร้อนจากไฟ น.พ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า ราคาเครื่องต้นแบบสุคนธบำบัดอัลตราโซนิกส์ 3,500 บาท ส่วนเครื่องนวดอัลตราซาวด์ประมาณ 7,500 บาท (มติชน ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





พลังน้ำรักษาโรคสะเก็ดเงิน-เอดส์

โดย รศ.ดร.พิชัย โตวิวัชญ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่องพลังวิเศษของน้ำในยุคนาโนเทคโนโลยีว่า จากผลสำรวจน้ำดื่มที่สามารถใช้ในการรักษาโรคพบว่า น้ำต้องผ่านขบวนการลดพันธะไฮโดรเจน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญทำให้น้ำขาดพลัง จึงทดลองนำแรงสั่นสะเทือนเพื่อทำให้น้ำเกิดการกระจายไฮโดรเจน และทำให้น้ำนั้นมีคุณภาพดี โดยนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคผิวหนังอย่างโรคสะเก็ดเงิน พบว่าให้ดื่มนำที่ผ่านขบวนการ MRET กับผู้ป่วยวันละ 1 ลิตรครึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นตามลำดับ น.พ.พีรยศ รงสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการกองอำนวยการผู้ป่วยโรคเอดส์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้นำน้ำที่ผ่านขบวนการ MRET มาทดลองกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์พบว่า ผู้ป่วยไม่แสดงอาการของโรคเอดส์ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น จึงอยากจะผลักดันให้มีการทำวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคด้วยวิธีการดื่มน้ำที่มีคุณภาพ และในขณะนี้ได้มีการทำเครื่องกรองน้ำดังกล่าวออกมาแล้ว (มติชน ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





สถานีตรวจอากาศจิ๋ว เนคเทคย่อส่วนเหลือเล็กกว่าฝ่ามือ

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทคอยู่ระหว่างสร้างเครื่องมือวัดมลพิษทางอากาศจิ๋ว ซึ่งจะช่วยย่อส่วนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศจากตู้คอนเทนเนอร์ให้เหลือเล็กกว่าฝ่ามือ ทำให้สะดวกนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่การจราจรแออัด ในราคาที่ถูกลงและผลิตได้ในปริมาณมาก หน่วยงานได้แบ่งกันรับผิดชอบการพัฒนาอุปกรณ์ในแต่ละส่วนของระบบ โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) จะพัฒนาตัววัดการสั่นสะเทือน ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาตัววัดคาร์บอนมอนอกไซด์ มหาวิทยาลัยสุรนารี พัฒนาตัววัดความชื้น เนคเทคพัฒนาตัววัดก๊าซพิษ และบริษัท ซิลิกอนคราฟ จำกัด พัฒนาวงจรประมวลผลและส่งข้อมูล ทั้งนี้ ตัวตรวจวัดสภาพอากาศขนาดจิ๋วจะสื่อสารแบบไร้สาย โดยรับพลังงานจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อุณหภูมิ และระดับความชื้นในอากาศ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ถึงสภาพมลพิษในอากาศว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวหรือไม่ "เราย่อส่วนสถานีตรวจอากาศให้เหลือเล็กจิ๋วนี้ ได้ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเมมส์และเนมส์ หรือระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Micro/Nano-Electro-Mechanical Systems) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีขนาดเล็กระดับไมโครและนาโน หรือเล็กกว่าผงฝุ่นละอองหลายเท่าตัว โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ อุปกรณ์ตรวจวัดเชื้อโรคที่ใช้น้ำยาเพียงเล็กน้อย แต่ให้ผลตรวจรวดเร็วทันใจและประหยัด เนคเทคยังเปิดกว้างการสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้สนใจทำวิจัยในเทคโนโลยีเมมส์ เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีราคาแพง ขณะที่เนคเทคมีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการและห้องวิจัย และสามารถทำวิจัยแบบครบวงจรได้ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ การจำลองสถานการณ์ และการสร้างชิ้นงาน (คมชัดลึก พฤหัสบดีที่ 1 ก. ค.47 http://www.komchadluek.net/news)





ห้องเสื้อไฮเทคฝีมือบัณฑิต ช่วยสาวๆเลือกชุดหรูได้สวยถูกใจ

ห้องลองชุดแนวใหม่นี้เป็นผลงานของ น.ส.สเมธัส ตัณฑรัตน์เจริญ บัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)โดยมี ดร.สกล ธีระวรัญญูเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิจัย ที่พิจารณาเห็นปัญหาการเลือกซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภค ที่บ่อยครั้งซื้อไปแล้วไม่ถูกใจ ห้องลองชุดไฮเทคจะจำลองทางเดิน ที่มีลักษณะคล้ายทางเดินแสดงแบบเสื้อ (แคทวอล์ค) โดยฉากหลังเป็นสีฟ้า ติดตั้งกล้องวิดีโอขนาดเล็ก 2 ตำแหน่งบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อบันทึกภาพการเคลื่อนไหวขณะยืนและนั่งของลูกค้า ที่จะเดินตามแนวไฟกะพริบที่ติดตั้งบนพื้นทางเดิน "เมื่อจับภาพท่าทางคนลองเสื้อได้แล้ว ระบบจะนำไปซ้อนภาพกับบรรยากาศที่เลือกไว้ เช่น งานแต่งงาน หรืองานเลี้ยง จากนั้นจะแสดงผลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เห็นในทันที จึงช่วยลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ ส่วนตำแหน่งที่ตั้งของห้องลองชุดจะอยู่ส่วนกลางของแผนกเสื้อผ้าต่างๆ ภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้แต่ละแผนกสามารถใช้ห้องลองเสื้อร่วมกันได้ โดยส่วนทดลองเดินคาดว่ามีความยาวไม่เกิน 2 เมตร ขณะที่ความยาวของส่วนเปลี่ยนเสื้อจะประมาณ 1 เมตร ขณะนี้ยังไม่มีต้นแบบที่สมบูรณ์ เป็นเพียงแนวคิดและทำวิจัยเบื้องต้นเท่านั้น (คมชัดลึก อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.komchadluek.net/news)





วิศวกร ป.4 ดีกรี "ขยะ" "กรี เพชรวิสิทธิ์"

เจ้าของผลงานประดิษฐ์ “เตาเผาขยะเอื้ออาทร” กรี เพชรวิสิทธิ์” หรือ “ลุงกรี” ปัจจุบันอายุ 62 ปี เป็นคนบ้านโนนทอง อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ จบแค่ชั้น ป.4 จากโรงเรียนวัดเจริญศรีสุข ที่บ้านเกิด ได้นำความคิดจากการเป็นคนงานขนขยะ ในโรงงานไปเผาทำลายในเตาเผา ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้เห็นขั้นตอนการผลิตเตาเผาขยะอยู่ทุกวัน เกิดความสนใจมาก จึงพยายามสอบถามจากผู้รู้และพนักงาน ทั้งในเรื่องราคาและระบบการผลิต เมื่อกลับเมืองไทยก็คิดประดิษฐ์เตาเผาขยะ โดยใช้ทักษะในการจดจำรายละเอียดต่าง ๆ และจดบันทึกลงสมุดไว้ พร้อมทั้งศึกษาเทคนิค จนถึงขั้นฝึกเขียนแบบแปลนขึ้นมาเอง เพื่อทำเตาเผาขยะให้หมู่บ้าน โดยใช้เหล็กแผ่น แล้วไปจ้างโรงงานประกอบเหล็กม้วนให้เป็นวงกลม เพื่อนำมาสร้างเตาเผากำจัดขยะในขนาด สูง 3.5 เมตร กว้าง 80 ซม. เท่ากับของญี่ปุ่นที่เคยเห็นมา แต่ตอนแรกไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากสร้างผิดแบบ ประกอบกับเหล็กที่ใช้ก็ไม่ได้มาตรฐาน ไฟที่เผาไหม้ไม่แรง ลุกไหม้ได้ช้า แถมมีควันดำออกมาด้วย ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง ลุงกรีจึงได้ทำการค้นคว้า ทดลอง คำนวณ ศึกษาหาข้อบกพร่องต่าง ๆ จนคิดค้นเตาเผาขยะในรูปแบบของตนเองขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ เป็น “เตาเผาขยะแบบแฝด” หรือ “เตาเผาคู่” (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





ข่าวทั่วไป


เว็บไซต์รัฐเมินระบบรักษาความปลอดภัย

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เผย "ผลการสำรวจเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐครั้งที่ 1" จากการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเทค โนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสำรวจความพร้อมการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ในระดับกรมหรือเทียบเท่า จำนวน 267 หน่วยงาน ระหว่างวันที่ 14 ม.ค.-31 มี.ค. 2547 ด้วยระบบ SEE-Indicator พบว่า หน่วยงานภาครัฐในระดับกรมหรือเทียบเท่ามีบริการผ่านทางเว็บไซต์ทุกหน่วยงาน โดย 96 เปอร์เซ็นต์ มีความพร้อมในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของหน่วยงาน และ 74 เปอร์เซ็นต์ มีความพร้อมในการปฏิสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์กับประชาชน โดยมีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถทำธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ได้สมบูรณ์ ส่วนการประเมินปัจจัยสำคัญสำหรับการให้บริการทางเว็บไซต์ พบว่า 91 เปอร์เซ็นต์ ของหน่วยงานภาครัฐให้ความทันสมัยของข้อมูลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ให้ความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์เป็นปัจจัยที่สำคัญ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 28 มิ.ย. 47 http://www.dailynews.co.th)





องค์การอนามัยโลกออกโรงเตือนควรควบคุมแพทย์ทางเลือก

องค์การอนามัยโลกเตือนเกี่ยวกับการใช้วิธีรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก ซึ่งยังไม่ได้มีการควบคุมอย่างถูกต้องและไม่ปลอดภัย อาจเป็นอันตรายได้ ตั้งแต่วิธีการฝังเข็มไปจนถึงการใช้ยาสมุนไพร และการรับประทานอาหารเสริม องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งหลายคนมักซื้ออาหารเสริมจากร้านมาใช้เองและไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบ องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานมากขึ้น เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ หรือการแพทย์ทางเลือก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน ที่ประเทศจีนมีรายงานคนไข้ได้รับอันตราย จากการรักษาด้วยแพทย์แผนโบราณถึง 9,854 คน เฉพาะในปี 2545 เพียงปีเดียว เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนถึงกว่า 2 เท่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การสนับสนุนให้ใช้วิธีรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แผนโบราณ ไม่ใช่เรื่องถูกต้องเสมอไป และเป็นความเชื่อที่ผิด นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ป่วยและเสียชีวิตจากการใช้ยาแผนโบราณตามความเชื่อแบบผิดๆ (ไทยรัฐ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.thairath.co.th)





เขื่อนเป็นภัยต่อแม่น้ำทั่วโลกทำสิ่งแวดล้อมเสียหายหลายด้าน

กองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก (WWF) รายงานผลการศึกษาที่พบว่า การสร้างเขื่อนถือเป็นภัยอันร้ายแรงต่อแม่น้ำใหญ่ทั่วโลก แม้เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ แต่ก็สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รายงานชื่อ "ริเวอร์ แอท ริสค์" หรือ "แม่น้ำในความเสี่ยง" กล่าวว่า "น้ำที่ได้จากเขื่อนนั้นเป็นความสูญเสีย โดยสาเหตุหลักเกี่ยวกับการใช้ อย่างไม่มีประสิทธิภาพของระบบชลประทาน ซึ่งทุกปี ทั่วโลกสูญเสียน้ำไปถึง 1,500 ล้านล้านลิตร เทียบเท่ากับ 10 เท่าของปริมาณการบริโภคน้ำของทวีปแอฟริกันทั้งทวีป และ 60 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำสายใหญ่บนโลกนี้ 227 สาย ต้องแตกแยกลงเป็นเสี่ยงๆ เพราะมีการสร้างเขื่อนกั้นสายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย สัตว์น้ำลดจำนวนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลมา ปลาแม่น้ำ และนก พร้อมทั้งยังบีบบังคับให้คนนับสิบล้านคนต้องย้ายถิ่นฐานออกไป รายงานดังกล่าวระบุว่า แม่น้ำแยงซี อยู่ในระดับความเสี่ยงมากที่สุด โดยมีการวางแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และที่กำลังสร้างอยู่ 46 แห่ง รายงานระบุว่าการสร้างเขื่อนเข้าไปขัดขวางความสมดุลในเชิงนิเวศน์ของแม่น้ำ โดยลดจำนวนออกซิเจนและสารอาหารในน้ำ ส่งผลต่อการอพยพและการแพร่พันธุ์ ของสัตว์น้ำ (ไทยรัฐ อังคารที่ 29 มิ.ย. 47 http://www.thairath.co.th)





ผอ.ไทยคดีศึกษาเปิด4ข้อยัน ศิลาจารึกหลักที่1เกิดสมัยร.4

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. จัดเสวนาอุษาคเนย์ ในหัวข้อ "การปรับเปลี่ยนอายุเวลา จารึกสุโขทัยหลักที่ 1" โดยนายพิริยะ ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ผู้อภิปรายว่าการเปลี่ยนอายุของจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 จากสมัยสุโขทัยมาเป็นช่วงระหว่าง พ.ศ.2394-2398 ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ตั้งอยู่บนข้อสังเกต 4 ประการที่พบบนจารึกดังกล่าว คือ 1.มีการใช้คำศัพท์และข้อความคล้ายคลึงกับศิลาจารึกสุโขทัย 2.มีการใช้คำและข้อความไม่สอดคล้องกับศิลาจารึกหลัก 3.มีการใช้คำศัพท์หรือเนื้อหาที่สอดคล้องกับวรรณกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 4.พบว่าเหตุการณ์ในศิลาจารึกสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และสาเหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ขึ้นมา เพราะต้องการปรับปรุงสยามให้รับกับนานาอารยประเทศ เนื่องจากขณะนั้นสยามติดต่อกับชาติตะวันตกมาก มีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตก ศิลาจารึกหลักนี้สำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ไทยจนแยกกันไม่ออก แต่น่าจะพิจารณาและให้ความสำคัญกับรัชกาลที่ 4" นายพิริยะกล่าว ผู้สื่อข่าวรายว่า ในตอนท้ายมีผู้ซักถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากจารึกดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนให้เป็นมรดกแห่งความทรงจำโลกจากยูเนสโก นายพิริยะกล่าวตอบว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการยูเนสโกว่าจะพิจารณาอย่างไร สำหรับศิลาจารึกหลักที่ 1 เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่ประดิษฐ์อักษรไทยในปี พ.ศ.1826 ขณะที่ข้อสันนิษฐานของนายพิริยะชี้ว่าจารึกดังกล่าวสร้างในสมัยรัชกาลที่ตรงกับ พ.ศ.2394-2411 จะพบว่ามีระยะเวลาห่างกันกว่า 500 ปี (มติชน 30 มิ.ย. 47 http://www.matichon.co.th)





สุภาพบุรุษพึงระวังภัยจากโทรมือถืออาจสร้างความเสื่อมให้เชื้ออสุจิ

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะการเจริญพันธุ์ ระบุว่า การนำเอาโทรศัพท์มือถือไปไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือห้อยไว้กับสายเข็มขัด ทำให้จำนวนเชื้ออสุจิของผู้ชาย ลดลงเกือบร้อยละ 30 ซึ่งการวิจัยนี้เป็นผลงานการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซเกด (Szeged) ได้ทำการวิเคราะห์เชื้ออสุจิของผู้ชายจำนวน 221 คน และสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมในการใช้โทรศัพท์มือถือ และพบความเกี่ยวพันระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือกับการผลิตเชื้ออสุจิ เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือแม้ เพียงการเปิดเครื่องเอาไว้เฉยๆ ก็สามารถลดจำนวนเชื้อและคุณภาพของตัวเชื้อลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลโดยศึกษาในวงกว้างต่อไป เพราะงานชิ้นนี้ยังไม่ได้นำเอาแง่มุมอื่น ในชีวิตของผู้ชายมาร่วมในการศึกษาด้วย. (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





สรรพคุณสารสกัดกระบองเพชรช่วยลดอาการเมาค้าง

ดร.เจฟฟ์ ไวส์ และคณะจากมหาวิทยาลัยทูเลน ได้ทำวิจัยกับอาสาสมัคร 55 คน อายุระหว่าง 21-35 ปีให้เข้าร่วมการทดลอง โดยอาสาสมัครครึ่งหนึ่งรับสารสกัด จากผิวของต้นกระบองเพชร โอปุนเทีย ฟิคัส อินดิคา (Opuntia ficus indica) ก่อนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก โดยทั้งหมดไม่ทราบว่าตนได้รับสารสกัดของจริงหรือยาหลอก หลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมงจึงให้กินอาหารค่ำ แล้วอีก 4 ชั่วโมงต่อมาจึงได้ดื่มเหล้าในปริมาณที่จะทำให้เมาค้าง หลังจากดื่มเสร็จ 1 ชั่วโมงนักวิจัยจึงได้ทดสอบระดับแอลกอฮอล์ในเลือด แล้วถึงขับรถไปส่งที่บ้านพร้อมกับกำชับให้มาทดสอบใหม่ในวันถัดไป เช้าวันถัดมาอาสาสมัครต้องจัดอันดับความเมาค้างของตน ทั้งในแง่ของอาการและสภาพโดยรวม หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ให้มาทดสอบซ้ำอีกครั้ง แต่คราวนี้สลับกลุ่มกันโดยใครไม่ได้รับสารสกัดในครั้งแรกก็จะได้รับในครั้งนี้ คณะวิจัยของ ดร.ไวส์ พบว่ากลุ่มอาการเมาค้าง 3 อาการ คือ อาการคลื่นเหียน ปากแห้ง และไม่อยากอาหารนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 2 มิ.ย. 47 http://www.thairath.co.th)





มนุษย์กินธัญพืชมานานกว่าที่คิดหลักฐานระบุ 23,000 ปี

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ตรวจสอบพืชที่เก็บได้จากแหล่งโบราณคดีอายุ 23,000 ปีในอิสราเอล พบว่าหญ้าป่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารของมนุษย์ยุคพาลีโอลิธิกหรือยุคหิน มีอายุเก่าแก่กว่าเดิมราว 10,000 ปี มากกว่าที่เคยแสดงไว้ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าพวกเขาพบหลักฐานเมล็ดธัญพืช เช่น แป้งสาลีป่า และข้าวบาร์เลย์ รวมถึงพันธุ์พืชจำพวกธัญพืชป่าต้นเล็กอีกหลายชนิด หลักฐานที่ว่าเมล็ดธัญพืชที่มนุษย์ยุคพาลีโอลิธิกเหล่านี้เก็บกินเป็นการแสดงถึงว่า เป็นขั้นต้นของการปลูกธัญพืชโดยปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาชิ้นนี้มีรายงานอยู่ในวารสาร โพรซีดดิ้ง ออฟ เดอะ เนชั่นแนล อะคาเดมี ออฟ ไซน์ ฉบับออนไลน์ระหว่างวันที่ 21-25 มิ.ย. งานวิจัยก่อนหน้านี้เกือบทั้งหมดที่ศึกษาเรื่องอาหารของมนุษย์พาลีโอลิธิก ได้มุ่งเป้าการศึกษาไปยังซากสัตว์ที่หลงเหลืออยู่ เพราะ ว่าขาดข้อมูลซากพืชมาศึกษา. (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





อย.แฉ "โซแลม" ระบาดแทนยาบ้า

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ผู้เสพซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปหาสิ่งทดแทนมาเสพมากขึ้น โดยเฉพาะยาในกลุ่มของโซแลม ซึ่งเป็นยาในกลุ่มของยากล่อมประสาท ช่วยระงับความเครียด แก้อาการซึมเศร้า ผลข้างเคียงคือกินแล้วจะง่วงนอน และถ้าใช้ยาติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ติดได้ หรือนำไปสู่การติดยาเสพติดตัวอื่นที่รุนแรงมากขึ้น และส่วนใหญ่มักใช้โซแลม ทดแทนการเสพยาบ้า ขณะนี้ อย.ได้รวบรวมข้อมูลการจำหน่ายยากลุ่มนี้ว่าส่งไปขายที่ใดบ้าง และจังหวัดใด โดยพบว่ามีการจำหน่ายมากใน จ.ระนองและตาก มีส่วนหนึ่งส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย อีกจุดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีร้านขายยาอยู่เพียงร้านเดียว มียอดจำหน่ายไม่มาก แต่กลับมีการลักลอบนำยาโซแลมเข้ามาโดยผิดกฎหมาย และมีการนำไปใช้ในกลุ่มวัยรุ่นเพื่อก่อความไม่สงบ ซึ่ง อย. ได้ประสานกับประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมอย่างใกล้ชิดแล้ว (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 2 มิ.ย. 47 http://www.thairath.co.th)





สนช.เพิ่มสาขานวัตกรรมธุรกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่

ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า สาขานวัตกรรมเชิงธุรกิจเป็นสาขาพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้เป็นกลไกในการจัดการบริหารองค์ความรู้ของเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งยกระดับนวัตกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วย สนช. ตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นในเกิดนวัตกรรมใหม่กว่า 50 ชิ้น รวมถึงนวัตกรรมใหม่ที่เข้าสู่ภาคธุรกิจในครั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 25 ราย การจัดประกวดโครงการนวัตกรรมแห่งชาติสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในปีก่อนๆ ได้จัดแข่งขันใน 3 สาขาได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาเสริมสร้างสุขภาพ โดยรางวัลนวัตกรรมเชิงธุรกิจ จัดเป็นสาขาใหม่ที่เริ่มปีนี้เป็นครั้งแรก ในปีนี้ สนช.ยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมเชิงธุรกิจด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการเขียนแผนธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยจะจัดกิจกรรมสัญจรไปใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ จะให้ความรู้กับนักศึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมการผลิตอย่างครบวงจร การเสริมทักษะการเจรจาเกี่ยวกับสินค้า ความสำคัญของการจดสิทธิบัตร รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจด้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ นอกจากจะได้รับโล่เกียรติยศ ยังได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ในรูปแบบของการให้ทุนเริ่มต้น เพื่อจัดทำต้นแบบไม่เกิน 1 ล้านบาท และเงินสนับสนุนดอกเบี้ยวงเงินกู้ในการประกอบธุรกิจไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือรวมลงทุนไม่เกิน 25 ล้านบาท รวมถึงการศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย รายละเอียดในการเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษาได้ที่ เวบไซต์ http://www.tiacom.org (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ม.แม่โจ้จัดงาน มหกรรมอาหาร เกษตรอินทรีย์

สถาบันอาหารร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดงานมหกรรมอาหารเกษตรอินทรีย์สู่ครัวโลก ครั้งที่ 1 ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ โดยนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาเรื่อง "อุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนทางสู่อำนาจใหม่ของไทยในตลาดโลก" ที่อาคารศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในงานมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารและอาหารไทยสู่โลกระหว่างสถาบันอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (ฉะเชิงเทรา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในโครงการความร่วมมือดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา และตกลงให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานความร่วมมือพื้นที่เขตภาคเหนือ โดยใช้สถานที่ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ จะมีการจัดกิจกรรมและการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ การสาธิตการวิเคราะห์ตรวจสอบยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้ การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร การสอบเทียบเครื่องมือ การตรวจสอบจีเอ็มโอ การสัมมนาวิชาการในหัวข้อต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันอาหาร จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายฝึกอบรมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร.0-5349-8127, 0-5387-3073 หรือแผนกฝึกอบรมสถาบันอาหาร โทร.0-2886-8088 ต่อ 221-225 โทรสาร 0-2886-8106-7 (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 2 ก.ค. 47 http://www.komchadluek.net/news)





เสด็จฯ เปิดรถไฟฟ้า

วันที่ 3 ก.ค. 2547พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราช- ดำเนินทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ) สายแรกของประเทศ โดยในเวลา 17.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาถึงสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายก- รัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และพล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหารรฟม. เฝ้าฯรอรับเสด็จ นายกรัฐมนตรีกล่าวถวายรายงานการดำเนินงาน โดยสรุป ถือเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย มีระยะทาง 20 กม. จำนวน 18 สถานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีกดปุ่มไฟฟ้า เปิดแพรคลุมป้ายโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิม-รัชมงคล ซึ่งเป็นการเปิดป้ายผ้าพร้อมกันถึง 4 จุด ทั้งภายนอกและในสถานี จากนั้น ทั้งสามพระองค์เสด็จฯลงชั้นชานชาลา เพื่อประทับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัช-มงคล จากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีบางซื่อที่เป็นสถานีปลายทางแล้วเสด็จฯ กลับมายังศูนย์ซ่อมบำรุง และศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ รวมระยะทาง 29 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 47http://www.thairath.co.th)





ยูเนสโกเพิ่มมรดกโลก 13 แห่ง

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อแหล่งมรดกโลกแหล่งใหม่ 13 แห่งทั่วโลกเมื่อ 2 ก.ค.ระหว่างการประชุม ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน ประกอบด้วย 1. สุสานแห่งอาณาจักรโคกูริว ซึ่งอยู่ระหว่างคาบสมุทรเกาหลีกับพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 2. หุบเขามาดริว แคลเรอร์ เปราฟิตา ในประเทศอันดอร์รา 3. พระราชวังและสุสานอิมพีเรียลแห่งราชวงศ์หมิงและ ราชวงศ์ชิงของจีน 4. สวนคาร์ลตันและอาคารนิทรรศการรอยัลในออสเตรเลีย 5. สวนโบราณคดีจัมปาเนอร์-ปาวากาธในอินเดีย 6. สถานีชาตระปาตี ชิวาจีในอินเดีย 7. ปาซาร์กาดี เมืองหลวงเก่าเปอร์เซียของอิหร่าน 8. เส้นทางแสวงบุญและสถานศักดิ์สิทธิ์บนเทือกเขาคิอิ ญี่ปุ่น 9. โบราณสถานอุม แอร์ ราซัสในอิหร่าน 10. ภาพแกะสลักบนหินในโบราณสถานแทมการี คาซัคสถาน 11. หุบเขาออร์คอนในมองโกเลีย 12. หมู่เกาะเวเกายันในนอร์เวย์ และ 13. สำนักโน-โวเดวิชีในรัสเซีย ทั้งนี้ ยูเนสโกประกาศรายชื่อแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่รวม 21 แห่งแล้วจากที่มีการคัดเลือกจำนวน 48 ชื่อ ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาแหล่งมรดกโลก ที่ตกอยู่ในอันตราย 35 แห่ง เนื่องจากการทำอุตสาหกรรมและเหมืองถ่านหิน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 3 ก.ค. 47http://www.thairath.co.th)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215