หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 2000-12-26

ข่าวการศึกษา

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับรางวัลเพิ่มผลผลิตแห่งอาเซียน
มจธ.รับสมัครศึกษาต่อป.ตรี
จุฬาฯ เปิดรับความเห็นร่างพ.ร.บ.ออกนอกระบบ
ถามใจคนจุฬาฯ เรื่องออกนอกระบบ
7 พรรคหนุนชะลอเงื่อนเวลาใช้แผนโอนศึกษา
5 ราชภัฏอีสานได้เกิด
มน.จัดเรียนอังกฤษประเทศนิวซีแลนด์
รับสมัครนิสิตปริญญาโท
วก.ย้ำใช้คะแนนคุณธรรมในเอนทรานซ์ได้ทันที
ทบวงฯยืนยันใช้คะแนนวัดผลครั้งที่ 1 เด็กโควตา
ปฏิรูปการศึกษาไทยสู่ KBE "ผู้นำประเทศ"จริงใจแค่ไหน?
เนคเทคคัดโรงเรียนใช้อินเทอร์เน็ตดีเด่น
เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี
"โรงเรียนต้นแบบ" หนทางยกระดับการศึกษาวิทย์-คณิตของ ศธ.
เมืองเบียร์หนุนแรงงานไทยมีงานทำ มอบหลักสูตร "เซเฟ่" ให้กรมพัฒนาฯฝึก
ชี้ชาวมหา’ลัยยังไม่ตื่นจากหลับไม่รับรู้วิกฤตอุดมศึกษาหลังปี’45
เทเสียงหนุนมหา’ลัยเป็นอิสระเมื่อพร้อม
ทุกมหา’ลัย พร้อมใจปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

แท็กซี่อาสาใช้ก๊าซธรรมชาติ
สนองพระราชดำริแก้น้ำเสีย กทม.เน้นระบายน้ำธรรมชาติ
ให้ทุนรุ่นเยาว์แข่งไอทีระดับโลก
"เปิดโลกสื่อสาร" จับมือนิตยสารไอที ไขปัญหาคอมพ์ผ่านจ.ส. 103 เริ่ม 9 ธ.ค.
อดใจรอราคาคอมฯถูกลงอีกต้นปีหน้า

ข่าววิจัย/พัฒนา

"ไทย"ซิวเหรียญทองงานวิจัยเทคโนโลยีใหม่ระดับโลก !
สร้างวัวโคลนต้านทานโรคทำฟาร์มโคเนื้ออนามัย
บำบัดน้ำเสียด้วยสาหร่าย ไอเดียเด็ดเทคนิคสมุทรสงคราม

ข่าวทั่วไป

ร.พ.เดชาเปิดคลินิกฟื้นคืนความเป็นชาย
นิวซีแลนด์ออกกฎใหม่ต้องขอวีซ่าเข้าเมือง
พบ "จำปี" พันธ์ใหม่ของโลก





ข่าวการศึกษา


พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับรางวัลเพิ่มผลผลิตแห่งอาเซียน

นายพารณ อิศรเสณา ณ อยุธยา นายกสภามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับรางวัลเกียรติยศ APO National Award 2000 จากองค์การเพิ่มผลผลิตระดับประเทศประจำปี 2543 (Asian Productivity Organization) หรือ APO ในฐานะเป็นบุคคลผู้บุกเบิกเรื่องการเพิ่มผลผลิตและให้การสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ริเริ่มนำแนวคิดและผลักดันให้นำเรื่องการเพิ่มผลผลิตมาใช้ในองค์การจนประสบความสำเร็จ เช่น เครือซีเมนต์ไทย นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญในจัดตั้งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเมื่อปี 2537 ด้วยความเชื่อว่าการเพิ่มผลผลิตไม่ทำไม่ได้สำหรับประเทศไทย และทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ต่อไป จึงได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้การเพิ่มผลผลิตเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต่อมาบรรจุเป็นแผนฯ 9 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ชักชวนให้อาจารย์สนใจศึกษาหาความรู้เพื่อเผยแพร่แนวคิดและเทคนิคแก่นักศึกษาและนักธุรกิจต่อไป (มติชน เสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2543 หน้า 4)





มจธ.รับสมัครศึกษาต่อป.ตรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีประจำปีการศึกษา 2544 ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และโครงการพิเศษผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขายใบสมัครตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2543 - 12 มกราคม 2544 ณ ส่วนทะเบียนและประเมินผล สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 470-8151 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2543)





จุฬาฯ เปิดรับความเห็นร่างพ.ร.บ.ออกนอกระบบ

รศ.ดร.ชัชชัย สุมิตร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯว่า ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับร่าง พ.ร.บ.ที่ทำไว้ แต่ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้อ้างอิงได้ การเสนอความเห็นได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 19 มกราคม 2544 ที่สำนักงานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น และจะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





ถามใจคนจุฬาฯ เรื่องออกนอกระบบ

จากการเสวนา เรื่อง "จุฬาควรออกนอกระบบหรือไม่" เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2543 นั้น รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวว่าต้องนำนโยบายเรื่องการออกนอกระบบมาคิด และดูปรัชญาการศึกษาว่าคืออะไร และมีคำถามว่าถ้าออกจะต้องดำเนินการอย่างไร ทำไมจะต้องแข่งขันกัน ทำไมต้องต่างคนต่างทำ ทำไมไม่ทำเป็นเครือข่าย รศ.ดร. แล ดิลกวิทยารัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะตัดสินใจออกนอกระบบดีหรือไม่ มีความชัดเจนโปร่งใสเพียงใด และที่สำคัญมีแต่คำถามว่าจะเปลี่ยนอย่างไร โดยที่ไม่เคยมีใครถามว่าเหตุใดต้องเปลี่ยน ส่วน นายใจ อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ทุกคนในมหาวิทยาลัยยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่รัฐต้องรับผิดชอบในการเพิ่มงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการซื้อขายขึ้นในมหาวิทยาลัย และปรัชญาของมหาวิทยาลัยจะถูกกำหนดโดยเงิน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2543 หน้า 8)





7 พรรคหนุนชะลอเงื่อนเวลาใช้แผนโอนศึกษา

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ในการเสวนาวิสัยทัศน์การศึกษาของพรรคการเมือง จัดโดยชมรมผู้สื่อข่าวสายการศึกษาได้มีการสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วม เนื่องจากขณะนี้องค์กรครูได้คัดค้านและเสนอให้ชะลอแผนปฏิบัติการ รวมทั้งในการกระจายอำนาจต้องยึดหลักและขั้นตอนตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งต้องไม่กำหนดเงื่อนเวลาตายตัวว่าจะต้องถ่ายโอนภายใน 10 ปี ตามพ.ร.บ.กระจายอำนาจกำหนด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้แทนทั้ง 7 พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าจะต้องมีการประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนไม่ใช่การบังคับ ทั้งไม่จำเป็นต้องยืนตามเงื่อนเวลาเดิมที่ต้องเริ่มแผนปฏิบัติการในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทั้งเห็นว่าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงต้องออกมาทำความเข้าใจกับองค์กรครู และองค์กรปกครองท้องถิ่นให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า (มติชน พฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2543 หน้า





5 ราชภัฏอีสานได้เกิด

นายสุวรรณ นาคพนม รองเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) รักษาการเลขาธิการ สรภ. เปิดเผยว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่คัดค้านการจัดตั้งสถาบันราชภัฏใหม่ทั้ง 5 แห่งในจังหวัดชัยภูมิ นครพนม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ โดย สรภ.ชี้แจงชัดเจนว่าการที่ ครม. เห็นชอบในหลักการจัดตั้งตั้งแต่ปี 2540 ก่อนที่ครม.จะออกมติเศรษฐกิจวิกฤต และการจัดตั้งจะไม่เพิ่มอัตรากำลังเพราะจะเกลี่ยอัตราที่มีอยู่เดิม ซึ่งสรภ. อาจเสนอให้แต่ละแห่งของตั้งงบประมาณเองตั้งแต่ปี 2545 คาดว่าปีแรกจะขอตั้งงบประมาณได้สถาบันละ 500-600 ล้านบาท และแต่ละแห่งจะสามารถรับนักศึกษาได้เพิ่ม 1 เท่าตัว (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2543 หน้า 20)





มน.จัดเรียนอังกฤษประเทศนิวซีแลนด์

มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอายุ 13-19 ปี ในช่วงปิดภาคฤดูร้อนที่ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเวลา 27 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม - 20 เมษายน 2544 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์วิทยบริการ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนเรศวรโทร.(02)676-4080-2 (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2543)





รับสมัครนิสิตปริญญาโท

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป เพื่อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตร "วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเวชศาสตร์ชุมชน" เรียนนอกเวลาราชการ (เสาร์ - อาทิตย์) ประจำปี 2544 สอบถามได้ที่ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.256-4236, 252-7864 ภายใน 31 มกราคม 2544 (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2543)





วก.ย้ำใช้คะแนนคุณธรรมในเอนทรานซ์ได้ทันที

ดร.ประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธ์ อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวถึงกรณีประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เห็นด้วยกับกรมวิชาการที่ให้นำคะแนนพฤติกรรมสำนึกต่อประโยชน์สาธารณะของนักเรียนชั้น ม.ปลาย มาเป็นส่วนประกอบในการเอนทรานซ์ว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมการกำกับติดตามการสอบเอนทรานซ์ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินการ ซึ่งถ้าเกิดความชัดเจนและไม่ยากต่อการปฏิบัติ กรมวิชาการก็พร้อมที่จะเข้าไปให้ความร่วมมือ ขณะนี้กรมวิชาการกำลังจัดทำคู่มือการบันทึกความดีของนักเรียนให้แก่โรงเรียนต่างๆ เพื่อใช้เป็นเอกสารคู่กับใบ ร.บ. ในการสอบเอนทรานซ์ (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





ทบวงฯยืนยันใช้คะแนนวัดผลครั้งที่ 1 เด็กโควตา

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการเปิดเผยว่า คณะกรรมการดำเนินงานการใช้ผลการเรียนเฉลี่ยเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ได้พิจารณาเรื่องการจัดทำแบบรายงาน "บันทึกความดี" ของนักเรียนเพื่อนำคะแนนความประพฤติมาพิจารณาประกอบการเอ็นทรานซ์ โดยแบบบันทึกดังกล่าวจะระบุเลขประจำตัวนักเรียน รหัสโรงเรียนและประทับตรานูนของโรงเรียนแนบไปกับใบ รบ. นอกจากนี้ได้หารือถึงการคัดเลือกนักศึกษาในระบบโควตาของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการใช้ผลการสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1 จะทำให้เด็กเครียดและไปกวดวิชากันมาก โดยมีการเสนอให้มหาวิทยาลัยคัดนักศึกษาเอง แต่ทบวงฯยังยืนยันที่จะใช้ผลการสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1 โดยชี้ว่าสะดวกและเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่ารวมทั้งสร้างความเสมอภาคให้แก่ผู้สอบทุกคนเพราะใช้ข้อสอบกลางที่ออกโดยทบวงฯ (มติชน พฤหัสที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 10)





ปฏิรูปการศึกษาไทยสู่ KBE "ผู้นำประเทศ"จริงใจแค่ไหน?

ระบบเศรษฐกิจสังคมความรู้ หรือ Knowledge Base Economy (KBE) เป็นแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้รับความสนใจอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งไทยให้ความสนใจ KBE กระทั่งบรรจุในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ว่า สังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้เป็นเป้าหมาย 1 ใน 3 ประการของสังคมไทยที่ถึงปรารถนาในอนาคต ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ได้เสนอประเด็นหลัก 3 อย่างที่ต้องพิจารณาสำหรับการจัดการศึกษาไทย ดังนี้ 1.ความครอบคลุมและความเสมอภาค 2.คุณภาพการศึกษา 3.การบริหารและการจัดการ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาจะเกิด ต้องอาศัย "ความเข้าใจ" ของผู้นำประเทศ การสนับสนุนจากทุกส่วนของสังคม รัฐ และหน่วยงานของรัฐต้องปรับระบบความคิด และเจตคติการทำงาน ประสานงานกันภายในและองค์กรต่างๆ ในสังคมตลอดจนสร้างกลไกที่เป็นกลาง ตรวจสอบ ดูแลการนำแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความนี้ได้ที่ www.trf.or.th/pr/election (มติชน อาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2543 หน้า 4)





เนคเทคคัดโรงเรียนใช้อินเทอร์เน็ตดีเด่น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า เนคเทคฯ โดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet@1509) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำโครงการมอบรางวัลดีเด่น ด้านการเสริมสร้างกิจกรรมทางอินเตอร์เน็ตประจำปี 2544 และประกวดเรียงความของนักเรียนซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่โรงเรียน ครูอาจารย์ ที่สามารถนำไอทีมาประยุกต์ใช้ในการบริหาร บริการได้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 15 มกราคม 2544 สอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการ SchoolNet โทร.(02) 247-8288 (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 ธันวาคม 2543 หน้า 16)





เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี

อ.ชัยชาญ สุวรรณอำภา อาจารย์สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ได้สร้างห้องปฏิบัติการทางภาษของโรงเรียนซึ่งเรียกว่า Computer Assisted Language Learning (CALLS) นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยออกแบบซ๊อฟแวร์การสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียนอย่างถูกต้อง โดยนำจอมอนิเตอร์มาพ่วงต่อกันหลายๆ จอ แทนการใช้คอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง รวมสื่อการสอนทุกอย่าง เช่น โทรทัศน์. วีดีโอ. สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน, ซีดีรอม, เอกสาร แล้วถ่ายทอดจากกล้องวีดีโอเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านออกมาทางจอมอนิเตอร์ ท่านใดที่สนใจซ๊อฟแวร์นี้สามารถติดต่อได้ที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง (เดลินิวส์ พุธที่ 20 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





"โรงเรียนต้นแบบ" หนทางยกระดับการศึกษาวิทย์-คณิตของ ศธ.

จากข้อค้นพบที่ได้จาการวิจัยและประเมินผลวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ระดับนานาชาติ หรือ IEA (International Association for the Evaluation of Educational Achievement) ซึ่งพบว่านักเรียนไทยระดับ ป.3-ป.4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ โดยวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป.3 ประเทศไทยได้ลำดับที่ 17 จาก 24 ประเทศ และชั้น ป.4 ได้ที่ 22 จาก 26 ประเทศ ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ป.3 ได้ที่ 21 จาก 24 ประเทศ และชั้น ป.4 ได้ที่ 24 จาก 26 ประเทศ และได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยรวมของทุกประเทศนั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ได้พยายามหาทางร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้อยู่ในระดับสูงขึ้น จนเกิด "โครงการจัดทำโรงเรียนต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์" ที่มีความพร้อมด้านสื่อการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน โดยได้เริ่มพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนในการจัดการเรียนสอน และประเมินผลการเรียนรู้ และพัฒนาโรงเรียนให้มีสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมีกิจกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ สวนคณิตศาสตร์ ค่ายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นมา ขณะนี้ได้มีโรงเรียนต้นแบบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จำนวนทั้งหมด 13 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เซนต์ดอมินิก บูรณะศึกษา ปราโมชวิทยารามอินทรา ไผทอุดมศึกษา ราชินีนาถ เลิศหล้า วัฒนาวิทยาลัย และโสมาภานุสสรณ์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากต้นสังกัด ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบชุดแรกของโครงการที่จะใช้นำร่องก่อนขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ (มติชน อาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2543 หน้า 4)





เมืองเบียร์หนุนแรงงานไทยมีงานทำ มอบหลักสูตร "เซเฟ่" ให้กรมพัฒนาฯฝึก

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ ทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และการนำความรู้ทักษะฝีมือไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากได้นำวิธีการ แนวทางการฝึกอบรมแบบใหม่ที่เรียกว่า "เซเฟ่" มาปรับใช้ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อผู้เรียน ให้สามารถนำทักษะฝีมือและความรู้ด้านธุรกิจไปประกอบอาชีพอิสระได้จริงยิ่งขึ้น การประกอบธุรกิจตามรูปแบบ CEFE (Competency-Based Economies Through Formation of Enterprise) เป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างธุรกิจ โดยฝึกให้ผู้เข้ารับการฝึกได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ สำหรับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีแผนจะเปิดฝึกเป็นหลักสูตรระยะสั้นประมาณเดือน มี.ค. 2544 และในวันที่ 19 มกราคมนี้ จะมีการจัดฝึกอบรมนำร่องให้กับผู้บริหารจากสถาบันฯ และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2543 หน้า 32)





ชี้ชาวมหา’ลัยยังไม่ตื่นจากหลับไม่รับรู้วิกฤตอุดมศึกษาหลังปี’45

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการจัดเวทีอภิปรายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ นอกจากจะพูดถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว จะมีการหยิบยกประเด็นสถาบันอุดมศึกษาภายใต้โครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามาแลกเปลี่ยนด้วย เพราะเวลานี้ชาวมหาวิทยาลัยยังไม่รับรู้ถึงวิกฤตที่จะเกิดภายในช่วง 5-7 ปีนี้ และยังขาดการเตรียมตัวเข้าสู่กระทรวงใหม่หลังปี 2545 เพราะแม้แต่ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ (ทปอ.) ก็ยังไม่เคยพูดถึงปัญหา ข้อจำกัด และข้อแตกต่างของสถาบันอุดมศึกษาที่จะมาอยู่ร่วมกัน และทบวงมหาวิทยาลัยก็มีเพียง นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงฯ ดำเนินการอยู่เพียงผู้เดียว นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยมีอิสระ เป็นเอกเทศมาตลอดจึงลืมคิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น การตั้งงบฯอุดหนุนอุดมศึกษา ก็อาจถูกโยงเป็นประเด็นการเมืองเพราะจะเกิดภาพความไม่เท่าเทียมกันและความจำกัดระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดยอาจมีการวิ่งหานักการเมืองเพื่อขอเงินเพิ่ม” (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 10)





เทเสียงหนุนมหา’ลัยเป็นอิสระเมื่อพร้อม

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ตัวแทน 7 พรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคถิ่นไทย พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเสรีธรรม กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งทุกพรรคมีนโยบายคล้ายคลึงกันที่จะพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นอิสระ โดยไม่ใช่การบังคับและเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ (มติชน พฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2543 หน้า 10)





ทุกมหา’ลัย พร้อมใจปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยหลังจากการประชุมร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยว่า นักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยมีความรู้ทางภาษาอังกฤษแตกต่างกันมาก ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความลำบาก สมควรเพิ่มหน่วยกิตการเรียนภาษาอังกฤษจากเดิม 6 หน่วยกิตเป็น 12 หน่วยกิต หรืออย่างน้อย 9 หน่วยกิต นักศึกษาระบบโควต้าควรใช้คะแนนสอบวัดความรู้ในวิชาภาษาอังกฤษ ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องแบ่งระดับนักศึกษาตามคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้พัฒนาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 19 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


แท็กซี่อาสาใช้ก๊าซธรรมชาติ

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก จัดโครงการ "แท็กซี่อาสาสมัครใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV)" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ขับรถแท็กซี่เข้าใจในเรื่องประโยชน์ของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถใช้แทนน้ำมันที่มีราคาสูง และยังช่วยลดปัญหามลพิษ ขณะนี้ ปตท. กำลังเปิดรับสมัครแท็กซี่อาสาฯ ในระยะนำร่องจำนวน 1000 คัน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.537-2163, 537-2159 หรือที่ อาคาร 6 กรมการขนส่งทางบก (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2543 หน้า 28)





สนองพระราชดำริแก้น้ำเสีย กทม.เน้นระบายน้ำธรรมชาติ

นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่า กทม. เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำเสียในเขตกรุงเทพฯ ให้กทม. คิดวางแนวผลักดันน้ำเสียตามคูคลองต่างๆ ลงทะเล และเปิดคูคลองรับน้ำดีให้ไล่น้ำเสียลงทะเลได้เร็วขึ้น ด้วยการทำแก้มลิงใกล้ชายทะเล เพื่อให้เป็นแอ่งที่พักน้ำเสียที่ไหลลงมาจากด้านบน เมื่อถึงช่วงที่น้ำทะเลหนุนก็จะปิดประตูไม่ให้น้ำเข้าในแก้มลิง เมื่อน้ำทะเลลดลงก็จะเปิดประตูให้น้ำเสียออก โดยจะเริ่มที่พื้นที่ฝั่งธนบุรีก่อน ศึกษาสภาพคูคลอง และภาพถ่ายทางอากาศเพื่อวางแผนระบายน้ำ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 34)





ให้ทุนรุ่นเยาว์แข่งไอทีระดับโลก

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัทไอทีชั้นนำ มอบทุนสนับสนุนแก่ทีมเยาวชนผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือ YSC.CS 2001 จำนวน 49 ทีม เพื่อนำทุนกลับไปวิจัยและพัฒนาโครงงาน เพื่อเข้าแข่งขันในรอบสุดท้าย และเป็นตัวแทนประเทศร่วมงาน Intel ISEF ในปีหน้า (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2543 หน้า 16)





"เปิดโลกสื่อสาร" จับมือนิตยสารไอที ไขปัญหาคอมพ์ผ่านจ.ส. 103 เริ่ม 9 ธ.ค.

นายวิชัย วรวนาวงศ์ ผู้ดำเนินรายการ "คลินิกคอมพ์" กล่าวว่า รายการวิทยุคลีนิกคอมพ์ เล็งเห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่มีต่อชีวิตประจำวันของคนไทย จึงได้ร่วมมือกับกองบรรณาธิการนิตยสารไอที เช่น ไอทีซอฟต์, ไมโครคอมพิวเตอร์, ควิกพีซี และคอมพิวเตอร์ทูเดย์ จัดรายการ ถาม-ตอบ ปัญหาการใช้งานคอมพิวเตอร์ ทางวิทยุ โดยสามารถโทรเข้ามายังรายการได้ที่ (02)241-5986 และ 241-5988 ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 16.00-17.00 น. ทางสถานีวิทยุ จ.ส.เอฟ.เอ็ม. 103 เมกะเฮิรตซ์ ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 9 ธันวาคม 2543 (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2543 หน้า 8)





อดใจรอราคาคอมฯถูกลงอีกต้นปีหน้า

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้พัฒนาชิพให้มีคุณภาพสูงขึ้น เร็วขึ้น และเปลืองไฟน้อยลง ทำให้แนวโน้มราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกลง และยังได้พัฒนาชิพ ไอเทเนียม (Itanium) เป็นชิพที่มีความเร็วสูง 64 เมกะบิต มีหน่วยความจำที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับธุรกิจออนไลน์ 24 ชั่วโมง และรองรับโปรแกรมปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ 2000 จะเปิดตัวชิพ 0.13 ไมครอน และชิพ ไอเทเนียม ในปีหน้า (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


"ไทย"ซิวเหรียญทองงานวิจัยเทคโนโลยีใหม่ระดับโลก !

นายกฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรรม (อก.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อก.ได้ส่งผลงาน "ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดรำข้าว" และ "ชุดทดสอบยาเสพติด" เข้าร่วมแสดงในงาน "บรัสเซลส์ ยูเรก้า" ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงผลงานประดิษฐ์ คิดค้น การวิจัย และเทคโนโลยีใหม่ระดับโลก จัดขึ้นประจำทุกปี ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม และครั้งนี้มีการแสดงผลงานประดิษฐ์ประมาณ 600 เรื่องจาก 31 ประเทศ ผลปรากฎว่า ชุดทดสอบยาเสพติดของ นายชฎา พิศาลพงศ์ นักวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาของ อก. ได้รับรางวัลเหรียญทอง โดยชุดทดสอบยาเสพติดดังกล่าว ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสะดวกกับผู้ใช้ทดสอบ ลดอันตรายที่อาจเกิดจากวิธีเดิม และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับวิธีใช้จะใช้ทดสอบสารต้องสงสัยว่าเป็นยาเสพติด โดยวิธีทำให้เกิดสี หรือคัลเลอร์ ลีแอ๊กชั่น ซึ่งปกติปฏิกิริยาการเกิดสีสำหรับสาร 1 ชนิด ต้องใช้น้ำยาเคมี 2-3 ตัว ทำปฏิกิริยากับสารต้องสงสัย (มติชน พฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





สร้างวัวโคลนต้านทานโรคทำฟาร์มโคเนื้ออนามัย

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ได้นำลูกวัวตัวผู้สีดำออกแสดงเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เกิดจาการถอดแบบพันธุกรรม หรือ โคลนนิ่งตัวแรกที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความสามารถในการต้านทานโรคของสัตว์ตัวต้นแบบ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ลูกวัวอายุ 1 เดือนชื่อ 86สแควร์ ตัวนี้จะเป็นต้นแบบในการผลิตฝูงวัวปลอดโรคในอนาคต ลูกวัวสูง 3 ฟุตตัวนี้สร้างขึ้นจากสารพันธุกรรมที่ได้จากวัวตัวผู้ตัวหนึ่งที่ชื่อ 86 เมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งเป็นวัวที่สามารถต้านทานโรคได้โดยธรรมชาติ 3 โรคด้วยกันคือ โรคบรูเซลโลซิน หรือโรคแท้งติดต่อ วัณโรค และโรคท้องร่วง นักวิทยาศาสตร์จะลงมือตรวจสอบเซลล์ของ 86 สแควร์ในเดือนหน้า เพื่อดูว่ามันมีคุณสมบัติต้านทานโรคด้วยหรือไม่ หากเป็นวัวต้านทานโรคนักวิจัยก็จะถอดแบบพันธุกรรมของ 86 สแควร์ และให้มันผสมพันธุ์กับวัวตัวเมียเพื่อดูว่าคุณสมบัติต้านทานโรคจะส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้หรือไม่ เป้าหมายคือสร้างวัวปลอดโรคซึ่งจะทำให้การเลี้ยงวัวมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น และให้เนื้อสำหรับเลี้ยงพลโลกมากขึ้น (ไทยโพสต์ พุธที่ 20 ธันวาคม 2543 หน้า 12)





บำบัดน้ำเสียด้วยสาหร่าย ไอเดียเด็ดเทคนิคสมุทรสงคราม

น.ส.วนิภา บุญศรีเมือง นักเรียนระดับ ปวช. ปี 2 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการบำบัดน้ำเสียในแหล่งชุมชนเทศบาลเมืองสมุทรสงครามจากใช้สาหร่ายครบวงจร ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลชมเชยจากงานวันสิ่งแวดล้อมไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า ผลที่ได้รับจากโครงการเป็นที่น่าพอใจมาก สาหร่ายที่นำมาใช้บำบัดสามารถใช้บำบัดน้ำเสีย ให้กลับคืนสู่สภาพที่ดีได้ถึงร้อยละ 75 สามารถนำน้ำนั้นปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อระบบนิเวศ ส่วนตะกอนที่เหลือยังสามารถนำไปใช้ถมบริเวณป่าชายเลนเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้อีกด้วย วัชพืชที่ใช้บำบัดน้ำเสียสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก เช่น ทำปุ๋ยพืชสด อาหารสัตว์ เป็นต้น (ไทยโพสต์ พุธที่ 20 ธันวาคม 2543 หน้า 13)





ข่าวทั่วไป


ร.พ.เดชาเปิดคลินิกฟื้นคืนความเป็นชาย

นพ.ชอบ กรประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลเดชา เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ชายไทยที่ป่วยด้วยโรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อมมีอัตราเพิ่มขี้นเรื่อยๆ จากปัญหาดังกล่าวโรงพยาบาลจึงเปิด "คลินิกฟื้นคืนความเป็นชาย" ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชายทุกคนที่มีปัญหานี้เข้ามารับการตรวจรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น (มติชน เสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2543 หน้า 7)





นิวซีแลนด์ออกกฎใหม่ต้องขอวีซ่าเข้าเมือง

กรมการจัดหางานประกาศเตือนคนไทยที่จะเข้าไปประเทศนิวซีแลนด์ว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์มีนโยบายใหม่ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศนิวซีแลนด์ต้องยื่นขอวีซ่า เนื่องจากว่าที่ผ่านมามีคนงานไทยลักลอบเข้าไปทำงาน และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ แก่ประเทศนิวซีแลนด์ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2544 หน้า 32)





พบ "จำปี" พันธ์ใหม่ของโลก

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ค้นพบ "จำปี" พันธุ์ใหม่ของโลกกลางป่าพรุน้ำจืด จังหวัดลพบุรี ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญ พระนามาภิไธยว่า "จำปีสิรินธร" กำลังเร่งปรับขยายพันธุ์ให้เป็น "ไม้ประดับ" และศึกษาสรรพคุณทางสมุนไพร (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2543 หน้า 1-2)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215