|
หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 32 ประจำวันที่ 2004-08-09
ข่าวการศึกษา
รุกมหาวิทยาลัยตั้ง "ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ"อุ้ม "เอสเอ็มอี" รายใหม่ต่อยอดนวัตกรรม มศว หนุนทดลองใช้แอดมิชชั่นปีนี้ ระดมทุนสร้างวิทยาเขตม.รามฯ สกอ.ให้ทุนเรียนต่อสาขาอนาคต
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
รถไฟใช้ลม-แสงอาทิตย์ปั่นแอร์ ทำยาเม็ดรักษาโรคแทนการฝังเข็มรักษาไมเกรนและอาการซึมเศร้า ไอซีทีจับมือซิปา เฟ้นหายอดฝีมือ ป้อนภาคเอกชน สร้างโทรศัพท์มือถือป้องกันเด็กหายโยงพ่อแม่ ไว้กับลูกหลานที่ยังเด็ก ประดิษฐ์กระจกทำความสะอาดตัวเองฉาบ ด้วยไทเทเนียมไดออกไซด์ ยานอวกาศ "พรานล่าดาวเคราะห์น้อย" ล้วงความลับหาความมหัศจรรย์ นักวิจัยเตือนภัยไวรัสพีดีเอ ร้ายกาจกว่าพีซีหลายเท่า หวั่นอนุภาคนาโนทำลายสุขภาพ กระตุ้นออกกฎหมายควบคุมการใช้งาน นาซาส่งยานสำรวจดาวพุธ ฟ้าผ่าพูดโทรศัพท์มือถือกลางพายุเตือนจะกลายเป็นสายล่อฟ้าชั้นดี
ข่าววิจัย/พัฒนา
แม่เหล็กช่วยดูดเลือดให้ไหลสะดวกบรรเทาอาการเจ็บปวด ให้ถอยลง ความรู้มุมมองใหม่ กับการขับเคลื่อนงานวิจัยท้องถิ่น พัฒนาแผงสับจ่ายไฟฟ้าไม่ง้อแรงงานคน จุฬาฯวิจัยรับรอง ใช้เบนซินไร้ตะกั่ว คนกรุงสุขภาพดี ยุทธศาสตร์ยานยนต์ของจีน กับงานวิจัยและพัฒนา ถอดรหัสยีนแก้ปัญหาสิว เตรียมพัฒนาสูตรยาเพื่อหนุ่มสาวหน้าใส หุ่นยนต์กับท้องไร่ท้องนา แพทย์ไทยพัฒนาระบบอ่านข้อมูลคลื่นหัวใจผ่านไร้สาย องค์กรทุนผนึกกำลังสร้างนักวิจัยอาชีพ เรือดำน้ำจิ๋วท่องใต้ทะเล สำรวจแร่-กู้เรืออับปาง เด็กไทยสร้างชื่อคิดค้นสารใหม่ทำโซล่าร์เซลล์ จุดประกายวิจัยพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์สู่พาณิชย์ ใช้ลูกเทนนิสปราบอาการนอนกรนติดไว้กลางหลังกัน ไม่ให้นอนหงาย สภาพัฒน์เร่งพัฒนาสงขลาสู่ยางพาราโลก วิจัยช่วยหูหนวกคุยโทรศัพท์ ยุโรปแปลงเสียงเป็นภาพเคลื่อนไหว ครูชลิดา บุญสุข สร้างเตาอบแสงอาทิตย์เรียนรู้พลังธรรมชาติ "อจ.จุฬา"คว้านักวิทยาศาสตร์ดีเด่น วิจัยวัคซีนสุนัขบ้าใหม่ประหยัด80% สร้างรถยนต์ตัวถังนุ่มแต่เหนียวชนคนชนรถไม่บาดเจ็บล้มตาย จีโนมสัตว์ 18 สายพันธุ์ มุ่งไขปริศนาโรคร้ายในคน กินวิตามินทุกวัน ช่วยบรรเทาเอดส์ ยืดอายุขัยยืนยาว วิจัยข้าวลูกผสมผลิตเอทานอลใช้ทดแทนน้ำมัน
ข่าวทั่วไป
เกณฑ์สัตว์เตือนภัยแจ้งแผ่นดินไหวมีสัญชาตญาณ ล่วงรู้โดยธรรมชาติ "ลุงยงค์"เปิดใจคว้าแมกไซไซ ป.4เมืองคอน นักวิทย์ดีเด่นวิพากษ์ ไทยก้าวไม่ถึงโนเบล ยุงรู้จักเลือกกินคน "เลือดชวนชิม" พบสารเคมีบนผิวหนังขับไล่ยุง ผลิตรองเท้าเด็กคู่เดียวใส่กันจนโตยืดขยายตัว ได้เหมือนหีบเพลงชัก เปิดเวทีแข่งขันมอเตอร์ไซค์เอทานอล อุปกรณ์ติดรถยนต์ดักกลิ่นเหล้า ดัดหลัง'เมาแล้วขับ' สมัครล้นแข่งหุ่นยนต์กู้ภัย พบไม้ตระกูลกระดังงาใหม่ "มหาพรหมราชินี"สวยที่สุด
ข่าวการศึกษา
รุกมหาวิทยาลัยตั้ง "ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ"อุ้ม "เอสเอ็มอี" รายใหม่ต่อยอดนวัตกรรม
นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการจัดตั้งสำนักงานซื้อขายสิทธิ์เทคโนโลยี ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจภายในมหาวิทยาลัยขึ้น เนื่องจากขณะนี้มหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมการบริการในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ยังไม่สามารถต่อยอดเพื่อให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากไม่มีหน่วยประสานเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภายนอก ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยจัดหาสถานที่หรืออาคารที่มีอยู่แล้ว และเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน หรือประชาชนเข้ามาใช้สถานที่ในการร่วมกันคิดและทำงาน โดยมหาวิทยาลัยจะช่วยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ โดยจะยังไม่คิดค่าเช่า เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการรายใหม่ จนกว่าบริษัทนั้นจะสามารถตั้งตัวได้ และเมื่อแยกออกจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว จึงค่อยคืนเงินให้ ซึ่งอาจจะใช้คืนในรูปของหุ้นในบริษัทนั้นๆ ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยมีหุ้นส่วนในบริษัทของลูกศิษย์กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานใหม่ให้กับสังคม และเป็นช่องทางที่จะทำให้นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกไปสู่โลกภายนอกได้ โดย สกอ.จะสนับสนุนงบประมาณแก่มหาวิทยาลัยที่สนใจ แห่งละประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงบประมาณ ก็เห็นด้วยในหลักการและรับปากว่า หากมหาวิทยาลัยใดดำเนินการได้ผล ในปีต่อไปจะเพิ่มงบประมาณให้ และเมื่อมหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องเข้ามาดูแลเรื่องของลิขสิทธิ์ทางปัญญา โดย สกอ.จะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยดำเนินงานเรื่องของ สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน สกอ.ก็จะจัดตั้งศูนย์จัดการทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นด้วย เพื่อประสานกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละมหาวิทยาลัย และในกรณีที่มหาวิทยาลัยใดยังไม่มีความพร้อมในการจัดตั้ง สำนักงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ทางศูนย์จัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ สกอ.ก็จะเข้าไปช่วยดูแล ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยนำทรัพย์สินทางปัญญาที่ตนมีอยู่มาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง โดย สกอ.จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ (ไทยรัฐ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
มศว หนุนทดลองใช้แอดมิชชั่นปีนี้
ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะนัดประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมนำร่องการนำระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่นมาทดลองใช้ในส่วนของการรับตรงนั้น ในส่วนของ มศว ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพราะ มศว ก็เปิดรับนักศึกษาด้วยวิธีรับตรงเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งการรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการรับนิสิต นักศึกษา เพื่อเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของแต่ละสถาบันซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และเรื่องนี้ รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ก็เข้าใจธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงได้พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ สำหรับกรณีที่มีการกำหนดอัตราการรับตรงไว้ที่ 60% โดยให้แบ่งเป็นส่วนที่มหาวิทยาลัยกำหนดวิธีการเอง 30% และให้นำระบบแอดมิชชั่นไปใช้ 30% ส่วนที่เหลืออีก 40% จึงจะเป็นการรับผ่านการสอบเอนทรานซ์นั้น ตนคิดว่าตัวเลขดังกล่าวคงยังไม่นิ่งและมหาวิทยาลัยทุกแห่งคงจะยังไม่ยึดตามตัวเลขดังกล่าวทั้งหมด ๆ (เดลินิวส์ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)
ระดมทุนสร้างวิทยาเขตม.รามฯ
นายสมัชชา โพธิ์ถาวร ผวจ.พังงา เปิดเผยถึงกรณีการสร้างมหาวิทยาลัยรามคำแหงสาขาวิทยบริการ เฉลิมพระเกียรติฯ ณ หมู่ 9 ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง ในขณะเปิดการแถลงข่าวผู้ว่าฯ พบสื่อมวลชนจังหวัดพังงา ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ว่าโครงการสร้าง ม.รามฯ ดังกล่าวทางจังหวัดจะเดินหน้าทำงานต่อไปให้สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ พี่น้องชาวพังงาสบายใจได้ เรื่องเงินการสร้างขณะนี้มีเงินอยู่แล้ว 12 ล้านบาท ได้มาจาก อบจ.5 ล้านบาท เทศบาลตำบล 7 แห่ง 1 ล้าน 4 แสนบาท เทศบาลเมือง 2 แห่ง 1 ล้านบาท และอบต.46 แห่ง 4 ล้าน 6 แสนบาท ยังขาดอีก 5 ล้านบาท ก็ได้ประสานทำความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดโดยการทอดผ้าป่า นายสมัชชา กล่าวต่อว่า ขณะนี้การทอดผ้าป่าสามัคคีจังหวัดกำลังเตรียมประชุมคณะกรรมการทำงาน โดยให้ประชาชนทั้ง 300 กว่าหมู่บ้านของจังหวัดพังงาได้มีโอกาสมาร่วมในงานครั้งยิ่งใหญ่นี้ด้วย คาดว่างานทอดผ้าป่านำเงินสร้าง ม.รามฯ นี้จะมีขึ้นในระยะไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า (เดลินิวส์ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)
สกอ.ให้ทุนเรียนต่อสาขาอนาคต
รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2547 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เตรียมจัดสรรทุนศึกษาต่อต่างประเทศ ระดับปริญญาโท-เอก ในสาขาวิชาสำหรับอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาไบโอ อินฟอร์เมติกส์ เป็นสาขาสหวิทยาระหว่างไบโอเทค วิศวกรรมพันธุศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ สาขานาโนเทคโนโลยี และสาขานิวโรซายน์ แอนด์ ค็อกนิทีฟ ซายน์ เป็นสาขาวิทยาศาสตร์ของระบบประสาทและวิทยาการการรับรู้ สกอ.จะเปิดรับสมัครผู้ขอรับทุนในเดือน ส.ค.นี้ จำนวน 80 คน โดยทุนดังกล่าวจะผลิตบุคลากรอย่างต่อเนื่อง 3 รุ่น รวม 3 ปีจะมีบุคลากรสาขาสำหรับอนาคตทั้งหมด 240 คน สาขาละ 80 คน เพื่อให้ได้กำลังคนเป็นกลุ่มก้อน เพียงพอจะเริ่มทำงานต่อได้จริง ผู้รับขอทุนอาจจะขอเข้ามาเองโดยตรง หรือทางมหาวิทยาลัยจัดส่งมา แต่อธิการบดีจะต้องรับรองว่าจะมีการพัฒนาสาขาวิชาที่ส่งบุคลากรศึกษาต่อภายในมหาวิทยาลัย เมื่อหลังจากสำเร็จการศึกษาจะสามารถกลับมาพัฒนาสาขาต่อได้ทันที ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แสดงความจำนงขอทุนศึกษาต่อสาขา นาโนเทคโนโลยี 10 ทุน ในปีการศึกษานี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ นาโนเทค (คมชัดลึก พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.komchadluek.net)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
รถไฟใช้ลม-แสงอาทิตย์ปั่นแอร์
นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทเซปโก-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของเอกชนจากประเทศอังกฤษ ได้นำโครงการติดตั้งระบบปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์บนรถโดยสาร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้พลังงานที่เกิดจากแรงลมจากรถไฟขณะวิ่งไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามาเสนอให้ รฟท. จ่ายให้ระบบปรับอากาศในรถโดยสารมาเสนอให้ รฟท. พิจารณา ซึ่ง รฟท. จะนำมาทดลองใช้เพื่อประเมินว่าสามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงระบบปรับอากาศได้มากน้อยเพียงใดต่อไป ทั้งนี้เนื่องจาก รฟท. มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินงาน และต้องใช้น้ำมันถึงปีละ 1,700 ล้านบาท ขณะที่รัฐมีนโยบายจะให้ รฟท. แก้ปัญหาขาดทุนโดยเน้นลดค่าใช้จ่าย ทำให้ รฟท. ต้องแสวงหาแนวทาง ในการประหยัดต้นทุนทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิง ทั้งนี้บริษัทเซปโกฯ ได้เสนอต้นทุนให้ทราบว่า การติดตั้งระบบดังกล่าวนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีต้นทุนการติดตั้งตู้ละ 1 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าการติดตั้งระบบปรับอากาศปกติ 50% หรือที่ 2 ล้านบาท "ปัจจุบันเฉพาะค่าน้ำมันในการปั่นเครื่อง ปรับอากาศ ก็มีค่าใช้จ่ายปีละหลายสิบล้านบาท โดยเฉลี่ยต่อเที่ยว จะมีค่าน้ำมันสำหรับนำไปปั่นเครื่องปรับอากาศตู้ละ 800-1,000 บาท หากในภาพรวม รฟท. ประหยัดเรื่องเชื้อเพลิงได้เพียง 5% ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากแล้ว" (เดลินิวสิ์ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)
ทำยาเม็ดรักษาโรคแทนการฝังเข็มรักษาไมเกรนและอาการซึมเศร้า
ผู้บริหารของบริษัทโมเลคูลาร์ อคิวปังซเจอร์ นายเดวิด พิคการ์ด กล่าวบอกว่า ยาเม็ดกำลังอยู่ในขั้นทดลอง โดยผลิตขึ้นเพื่อรักษาอาการไมเกรนเหมือนอย่างกับการฝังเข็ม การฝังเข็ม ด้วยเข็มเหล็กกล้าตามปลายประสาทเพื่อรักษาโรค เป็นวิธีการรักษาโรคของชาวเอเชียหลายส่วนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แพทย์แผนโบราณของชาวตะวันออกถือว่า เหตุที่คนเราป่วยไข้เนื่องจากธาตุต่างๆของร่างกายขาดความสมดุล การฝังเข็มและวิธีการรักษาแบบโบราณอื่นๆ ก็เพื่อช่วยชะลอธาตุเหล่านั้น ให้กลับประสานกลมกลืนกันอย่างเดิม ผู้บริหารบริษัทกล่าวแจ้งว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังรวบรวมตัวอย่างเลือด ที่เก็บจากผู้ป่วยเป็นไมเกรนทั้งในสิงคโปร์และจีน ซึ่งหายจากโรคมาด้วยการฝังเข็ม จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,600 ราย จะเสร็จสิ้นลงในปี พ.ศ.2549 นี้ และจะได้นำมาศึกษาหาดูว่า มีหน่วยพันธุกรรมและโปรตีนอันใดซึ่งสนองตอบกับการฝังเข็ม เพื่อหาความรู้ด้านชีววิทยาว่า การฝังเข็มมีผลต่อร่างกายอย่างไร เพื่อจะได้คิดผลิตยาเพื่อให้ออกฤทธิ์ทางชีววิทยาแบบเดียวกับการฝังเข็ม เขากล่าวว่า หากยาเม็ดแทนการฝังเข็มรักษาไมเกรนได้ผล บริษัทก็จะผลิตยาเม็ดเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและการติดยาเสพติดขึ้นอีกขนานหนึ่ง. (ไทยรัฐ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
ไอซีทีจับมือซิปา เฟ้นหายอดฝีมือ ป้อนภาคเอกชน
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดประกวดมัลติมีเดียในระดับอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อโครงการ "มาย พอร์ตฟอริโอ คอนเทสต์" (My Portfolio Contest) โดยให้นักศึกษาทั่วประเทศ ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบมัลติมีเดียที่สมบูรณ์แบบทั้งภาพและเสียงด้วยวีซีดี โดยมีความยาวไม่เกิน 1 นาที และไม่จำกัดหัวข้อเรื่องในการส่งเข้าประกวด ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงแห่งภูมิภาคเอเชีย โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตงานด้านแอนิเมชั่น จึงต้องเร่งสร้างบุคลากรด้านนี้ให้ได้ 25,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพียง 1,000 คนเท่านั้น โดยผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวด จะส่งมอบให้แก่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิปา (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ผลงานของนักศึกษาต่อบริษัทชั้นนำต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น เพื่อโอกาสในการทำงานของนักศึกษาต่อไป การจัดการประกวดครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 5 เขตการแข่งขัน โดยในแต่ละภาคจะคัดเลือกผู้เข้ารอบ 10 อันดับแรก ที่มีผลงานโดดเด่น พร้อมทั้งให้ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านศิลปะ และด้านเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าสัมภาษณ์และรับสมัครเข้าทำงาน จากนั้นจึงคัดเลือกให้เหลือเพียง 5 อันดับในแต่ละเขต เพื่อหาผู้ชนะเลิศ ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษา พร้อมถ้วยรางวัล ผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.sipa.or.th ( คมชัดลึก อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.komchadluek.net)
สร้างโทรศัพท์มือถือป้องกันเด็กหายโยงพ่อแม่ ไว้กับลูกหลานที่ยังเด็ก
บริษัทเอสเค เทเลคอม ผู้ให้ บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุด ได้นำโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่สีสวยสดออกสู่ตลาด มันมีรูปร่างเหมือนกับใบหูของคนเรา แต่มีอุปกรณ์ติดตามตัว เชื่อมกับดาวเทียมหาพิกัดบนพื้นโลกอยู่ในเครื่องตลอด 24 ชม. ไม่ว่าโทรศัพท์จะปิดหรือเปิดอยู่ก็ตาม บนโทรศัพท์มีปุ่มอยู่ 4 ปุ่มเท่านั้น โดยใช้กดเพื่อติดต่อกับพ่อและแม่ ตั้งราคาไว้เครื่องละประมาณ 3,500 บาท คนเกาหลีใต้นิยมใช้โทรศัพท์ มือถือกันมากที่สุดชาติหนึ่ง มีผู้ที่เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือคนเดียวหลายเครื่อง มากถึง 3 ใน 4 ของพลเมืองทั้งหมด (ไทยรัฐ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
ประดิษฐ์กระจกทำความสะอาดตัวเองฉาบ ด้วยไทเทเนียมไดออกไซด์
สำนักข่าวบีบีซี ออนไลนส์ของอังกฤษรายงานว่า กระจกแบบใหม่จะฉาบด้วยผลึกบางๆ ของไทเทเนียม ไดออกไซด์ ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับแสง โดยมันสามารถจะย่อยทำลายฝุ่นละออง ที่ติดอยู่ตามพื้นผิวกระจกออก และเมื่อถูกฝนก็จะชะล้างหลุดออก ทำให้กระจกสะอาดเกลี้ยงเกลา วิศวกรผู้ร่วมค้นคิด กระจกปลอดฝุ่นผู้หนึ่งกล่าวว่า ธรรมดาสารไทเทเนียม ไดออกไซด์ ตัวมันเองก็เป็นเหมือนผงแห้ง ซึ่งดูไม่ค่อยจะเข้ากับกระจกเท่าใด "แต่เราใช้มันฉาบกระจกเพียงบางๆ จนมันติดแนบกับกระจกจนแทบจะเป็นเนื้อเดียว". (ไทยรัฐ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
ยานอวกาศ "พรานล่าดาวเคราะห์น้อย" ล้วงความลับหาความมหัศจรรย์
นักดาราศาสตร์แห่งโครงการสำรวจลึกใจกลางจักรวาลแห่งสหรัฐฯ ได้เสนอโครงการต่อองค์การอวกาศให้ส่งยานสำรวจ ซึ่งจะติดเสาอากาศยาว 30 เมตรคู่ ไปสำรวจองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อย 2 ดวงด้วยกัน มีดาวเคราะห์น้อย "นิกซ์" และ "1999 เอ็นดี 43" เหตุที่ถูกเลือกเพราะจะเดินทางไปถึงทั้งคู่ได้ง่ายกว่าเพื่อน โดยจะให้ยานสำรวจ ค้นคว้าหาความรู้ว่าดาวเคราะห์น้อยคู่นี้ประกอบด้วยวัตถุแข็งทั้งแท่ง หรือเป็นเพียงภูเขาขยะที่ลอยละล่องอยู่เท่านั้น. (ไทยรัฐ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
นักวิจัยเตือนภัยไวรัสพีดีเอ ร้ายกาจกว่าพีซีหลายเท่า
ในงานประชุมผู้เชี่ยวชาญระบบความปลอดภัย "แบล็ค แฮท บรีฟวิ่ง คอนเฟอร์เรนซ์" ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เซธ โฟกี้ รองประธานบริษัท แอร์สแกนเนอร์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ความปลอดภัยสำหรับแพลตฟอร์ม วินโดวส์ โมบาย ได้สาธิตการเขียนไวรัส วินซีอี 4.ดัตส์.เอ หรือ ไวรัส "ดัสต์" เพื่อแสดงให้เห็นถึงอันตรายของไวรัสในอุปกรณ์พกพา โฟกี้ บอกว่า โปรแกรมลักษณะดังกล่าว สามารถแพร่ระบาดโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว โดยไวรัสอาจจับจังหวะการกดแป้นพิมพ์บนพ็อคเก็ตพีซีของผู้ใช้ และส่งข้อมูลที่เก็บไว้ในเครื่องออกผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังสาธิตเครื่องมือโจมตีพีดีเอในรูปแบบอื่นอีก อาทิ โปรแกรมจับจังหวะการเคาะแป้นพิมพ์ และโปรแกรมควบคุมเสมือนจริงจากระยะไกล ซึ่งพุ่งเป้าโจมตีไปที่ระบบปฏิบัติการพ็อคเก็ตพีซีที่ใช้ชิพเออาร์เอ็มเท่านั้น เพราะมีสัดส่วนการใช้งานสูงสุดในตลาด โดยจะใช้เทคนิคการแพร่ระบาดคล้ายโปรแกรมม้าโทรจัน และเปิดทางให้แฮกเกอร์สามารถขโมยหรือจัดการข้อมูล รวมทั้งก่อกวนระบบต่างๆ ได้ (คมชัดลึก พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.komchadluek.net)
หวั่นอนุภาคนาโนทำลายสุขภาพ กระตุ้นออกกฎหมายควบคุมการใช้งาน
ศ.แอน โดว์ลิงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เราหายใจเอาอนุภาคนาโนเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว และยังมีข้อกังขาอยู่ว่าอนุภาคนาโนเหล่านี้สามารถทำลายระบบภายในร่างกายได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนงานที่อยู่ในโรงงานผลิตวัสดุนาโนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ศ.โดว์ลิงค์จึงเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมการใช้ท่อนาโนคาร์บอนหรือนาโนทิวป์ และอนุภาคนาโนชนิดอื่นให้เหมือนกับสารเคมีใหม่ตามกฎหมายของอังกฤษและสหภาพยุโรป รวมทั้งต้องผ่านการรับรองเฉพาะต่างจากสารเคมีชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ตลอดจนเร่งมือวิจัยและตรวจสอบผลกระทบของอนุภาคนาโนที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่ออกมารองรับถึงอันตรายที่อนุภาคนาโนมีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ท่อนาโนคาร์บอนและอนุภาคนาโน เป็นวัสดุที่มีขนาดเล็กมากที่ระดับ 1 ในพันล้านเมตร หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมคนเราถึง 80,000 เท่า โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้วัสดุดังกล่าวมีหลายรายการ อาทิ เครื่องสำอาง ชิพคอมพิวเตอร์ แผงกันแดด อุปกรณ์ทำความสะอาดกระจกด้วยตนเอง และเสื้อผ้า เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่มนุษย์จะได้สัมผัสจากความล้ำสมัยของนาโนเทคโนโลยี กำลังออกสู่ท้องตลาดในเร็ววัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่น้ำหนักเบา หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนน้ำทะเลเค็มๆ ให้กลายเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ รวมทั้งยารักษาโรคชนิดที่เจาะจงไปยังเซลล์เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ (คมชัดลึก พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.komchadluek.net)
นาซาส่งยานสำรวจดาวพุธ
องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐหรือนาซา เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นาซาประสบความสำเร็จในการปล่อยยานอวกาศเมสเซนเจอร์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ โดยมีเป้าหมายการสำรวจดาวพุธ นับเป็นการส่งยานอวกาศขึ้นสำรวจดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวนพเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี หลังจากที่เคยส่งยานมาริเนอร์ 10 ขึ้นสู่ดาวพุธเมื่อปี 2516 เป็นต้นมา นาซาเปิดเผยว่า จากการที่เกิดเหตุพายุเฮอร์ริเคนอเล็กซ์ ได้พัดกระหน่ำชายฝั่งนอร์ธแคโรไลนา ส่งผลให้กำหนดการส่งยานอวกาศดังกล่าวต้องเลื่อนไป จากเดิมที่ต้องปล่อยยานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยการปล่อยยานครั้งนี้ ใช้จรวดเดลตา 2 เป็นตัวส่งยานเมสเซนเจอร์ ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินทางสู่ดาวพุธประมาณ 6 ปีครึ่ง หรือถึงดาวพุธในปี 2554 หลังจากนั้นจะสำรวจบรรยากาศ ส่วนประกอบโครงสร้างต่างๆ ของดาวพุธ เป็นเวลา 1 ปี (สยามรัฐ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)
ฟ้าผ่าพูดโทรศัพท์มือถือกลางพายุเตือนจะกลายเป็นสายล่อฟ้าชั้นดี
ผู้เชี่ยวชาญศาสตราจารย์หลิว ซูหัว แห่งคณะอุตุนิยมวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้บอกให้ความเห็นว่า การใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฟ้าร้องฟ้าคะนองอาจเป็นอันตรายได้ เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากเครื่องโทรศัพท์ จะเป็นสื่อไฟฟ้าอย่างดี ทำให้ตัวเครื่องโทรศัพท์จะมีฐานะเป็นสายล่อฟ้า ล่อให้กระแสไฟฟ้าจากสายฟ้ามาลงได้ อาจารย์จู เป่ย ผู้เชี่ยวชาญแห่งคณะฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็แนะนำว่า หากว่าจะต้องใช้โทรศัพท์ ขณะที่กำลังมีพายุฝน ควรหลบเข้าไปใช้ในอาคารที่มีสายล่อฟ้าติดอยู่ เพราะหากไปใช้อยู่กลางแจ้ง อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตหรือบาดเจ็บได้ ที่ถูกควรจะปิดโทรศัพท์เสียด้วย เพราะการปล่อยให้โทรศัพท์ยังคงเชื่อมต่อกับข่ายสื่อสารอยู่นับว่าเป็นเรื่องเสี่ยง (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
ข่าววิจัย/พัฒนา
แม่เหล็กช่วยดูดเลือดให้ไหลสะดวกบรรเทาอาการเจ็บปวด ให้ถอยลง
วารสารการแพทย์ "คลินิกรักษาอาการเจ็บปวด" เปิดเผยว่า ได้มีการศึกษาพบว่า การใช้แม่เหล็กช่วยรักษาเยียวยาอาการเจ็บปวดอันเนื่องมาจากไหล่ยึดติดให้บรรเทาลงได้ เนื่องจากสนามแม่เหล็กมีสรรพคุณช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น การศึกษาค้นพบว่ามันมีอานุภาพทำให้เลือดลมแถบบริเวณที่มีความเจ็บปวด ค่อยๆไหลเวียนได้สะดวกขึ้น. (ไทยรัฐ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
ความรู้มุมมองใหม่ กับการขับเคลื่อนงานวิจัยท้องถิ่น
สถาบันวิจัยและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พานักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ ทั้งจากมหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฏ รวมทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 120 คน ลงพื้นที่เพื่อไปดูงานวิจัยโดยชาวบ้าน ในโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง นอกจากมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย สกว.ได้ให้คำจำกัดความงานวิจัยดังกล่าวไว้ว่า "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น" ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบใหม่ที่ไม่เน้นการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ หรือเอกสารรายงาน แต่มุ่งหวังจะเสริมพลังชุมชน ให้คนในชุมชนได้เข้าร่วมเพื่อเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะอยู่กับชุมชน ที่ชุมชนใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยผลงานสำคัญของงานวิจัยแบบนี้ คือ คน และ กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน โดยมีผศ.เอี่ยม ทองดี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัย และผู้ประสานงานโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ในส่วนของสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ สิ่งที่ได้รับจากการวิจัยท้องถิ่น คือ ได้องค์ความรู้ใหม่จากชาวบ้าน และที่สำคัญ มุมมองเรื่องของความรู้ก็ได้เปลี่ยนไป จากเดิมมองว่าความรู้อยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยที่มหาวิทยาลัยออกไปเก็บเกี่ยวความรู้จากชาวบ้าน ไปถอดความรู้และบทเรียนจากชาวบ้าน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปในลักษณะ เข้าไปดูว่าชาวบ้านจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ให้เต็มที่ได้อย่างไร ขาดตรงไหนก็เข้าไปเสริม อย่างนี้ต่างหาก ทำให้อย่างไรชาวบ้านได้เผยศักยภาพ แสดงศักยภาพ หรือมีศักยภาพ ที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
พัฒนาแผงสับจ่ายไฟฟ้าไม่ง้อแรงงานคน
นายกฤษพล ภาคนิกร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัง พัฒนาแผงสับจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติ ชูจุดเด่นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ฝังตัวช่วยตรวจสอบประมวลผล และสั่งงานให้ระบบปลด หรือสับสวิตช์แหล่งจ่ายไฟแทนแรงงานคน เพิ่มเสถียรภาพในการใช้ไฟฟ้าในตัวอาคารได้อย่างต่อเนื่อง นักศึกษาเจ้าของโครงงานเครื่องสับจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า การสับจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าสองแหล่งโดยอัตโนมัติจะเกิดขึ้น เมื่อแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก (การไฟฟ้า) มีความบกพร่อง ระบบควบคุมของเครื่องจะปลดการต่อเชื่อมไฟฟ้าหลักและทำการเดินเครื่องปั่นไฟ และตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าของเครื่องปันไฟ เมื่อแรงดันไฟฟ้าปกติก็จะทำการเชื่อมไฟฟ้าทางด้านเครื่องปั่นไฟและต่อเชื่อมไฟฟ้าทางด้านหลัก โดยเครื่องปั่นไฟจะทำการปิดการทำงานตัวเองโดยอัตโนมัติ "ตัวแผงสับจ่ายไฟอัตโนมัติจะทำงานแทนคน แต่ดีกว่าตรงที่ช่วยให้เกิดเสถียรภาพไฟฟ้าดีขึ้นนอกจากนี้ แผงที่พัฒนาขึ้นมายังสามารถใช้ร่วมกับเครื่องปั่นไฟทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ในกรณีเครื่องรุ่นใหม่จะทำช่องสายสัญญาณต่อตรงเข้าไป เวลาไฟดับตัวสับเปลี่ยนจะส่งสัญญาณไปที่เครื่องปั่นไฟให้เริ่มทำงาน ส่วนรุ่นเก่าต้องประยุกต์เพิ่มฟังก์ชั่นบางอย่าง โดยอาจเปลี่ยนแปลงระบบสตาร์ทของเครื่องปั่นไฟ ด้วยการเอาสัญญาณของแผงสับป้อนให้เครื่องปั่นไฟทำงาน (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
จุฬาฯวิจัยรับรอง ใช้เบนซินไร้ตะกั่ว คนกรุงสุขภาพดี
ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ วิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากกรมควบคุมมลพิษประกาศเริ่มมาตรการบังคับใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วทั่วประเทศในปี 2539 ทำให้ระดับตะกั่วในบรรยากาศลดต่ำลงไปมาก เช่นเดียวกับระดับตะกั่วในเลือดของคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงในกลุ่มตำรวจจราจรและเด็กนักเรียนซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด สารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะมีผลกระทบต่อร่างกาย ในการวิจัยยังได้พิจารณาถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องการลงทุนการผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่ว เมื่อเทียบกับผลที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น พบว่า ความคุ้มค่าในเชิงสุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้นนั้นมีมากถึง 36 เท่า การแก้ปัญหาทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากต้นเหตุ โดยการขจัดมลพิษ คือ สารตะกั่วออกจากน้ำมันเบนซิน จึงส่งผลที่ดีและคุ้มค่า ช่วยลดความเสี่ยงต่อผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
ยุทธศาสตร์ยานยนต์ของจีน กับงานวิจัยและพัฒนา
จีนได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 21 โดยรัฐบาลได้วางแผนและดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2544-2549) เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเป็นระบบ และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้ได้ปีละ 1 ล้านคัน จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแผนเริ่มจากกลางปี พ.ศ. 2542 สถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีนได้พบปะและขอความร่วมมือจากสภาวิจัยแห่งชาติสหรัฐ เพื่อศึกษาและวางกลยุทธ์ในการพัฒนารถยนต์แห่งชาติจีน รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มของปริมาณรถยนต์ เช่น การจราจรติดขัด มลภาวะจากการใช้รถยนต์ และการใช้พลังงานในการขนส่งทางรถยนต์ ตามแผนนี้จีนได้จัดกลุ่มโรงงานผลิตรถยนต์ 118 แห่งเสียใหม่ โดยรวมโรงงานผลิตเข้าเป็น 3 กลุ่มใหญ่ และจัดกลุ่มโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายร้อยแห่งเข้าเป็น 5-10 กลุ่มใหญ่ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้กระตุ้นให้กลุ่มโรงงานของจีน ผลิตรถยนต์แบบประหยัด (Chinese economy car) ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,300 cc. และมีมาตรฐานไอเสียและอัตราการใช้เชื้อเพลิงตามที่รัฐกำหนด มีราคาไม่เกิน 80,000 RMB (ประมาณ 390,000 บาท) ตลอดจนมีการวางแผนการลงทุนในถนนและทางหลวง ท่อลำเลียงน้ำมันและก๊าซ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งต่างๆ ไว้รองรับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ ในด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ จีนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาไปสู่การมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองในที่สุด โดยผู้ประกอบการจีนจะต้องมีการปรับตัวมากจากผลของการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกของจีน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตยานยนต์จากต่างประเทศ ตลอดจนผู้นำเข้าสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้โดยเสรี แม้กระทั้งบริษัทร่วมทุนในโครงสร้างปัจจุบัน ก็ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตจีนเท่าที่ควร ในระยะสั้น จีนจึงเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์แก๊สโซลีนและดีเซลสมัยใหม่ ระบบการควบคุมแบบอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการควบคุมการปล่อยมลภาวะจากยานยนต์ รัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุนโดยการร่วมลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาระยะยาวกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างห้องปฏิบัติการของรัฐบาล เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยียานยนต์ยุคใหม่ โดยเฉพาะขยายการให้ทุนสนับสนุนแก่สถาบันการศึกษา เพื่อฝึกฝนนักศึกษาทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์รวมทั้ง แผนภูมิวงจรการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ จีนยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมากที่ต้องแก้ไข เพื่อทำให้จีนก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลกที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
ถอดรหัสยีนแก้ปัญหาสิว เตรียมพัฒนาสูตรยาเพื่อหนุ่มสาวหน้าใส
โฮลเกอร์ บรักเกอแมน หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จ-ออกัส ประเทศเยอรมนี ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว โดยค้นพบยีนในแบคทีเรียที่มีส่วนทำลายส่วนประกอบผิวหนังของมนุษย์ได้ ขณะที่ยีนอีกหลายตัวมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบของสิว การถอดรหัสพันธุกรรมแบคทีเรียดังกล่าว และสามารถระบุยีนได้มากถึง 2,333 ยีน โดยยีนแต่ละตัวต่างมีส่วนที่ทำให้เกิดสิว จะเห็นได้ว่าหลายตัวผลิตเอนไซม์ที่ทำลายผิวหนังโดยตรง หลังจากรู้การทำงานของยีนแต่ละตัวแล้ว ก้าวต่อไปคือการค้นหาวิธีป้องกันไม่ให้ยีนผลิตเอนไซม์ออกมา ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ทำไมบางคนจึงเป็นสิวมากกว่าเพื่อน แต่ข้อสรุปในเบื้องต้นเชื่อว่า น่าจะเป็นเพราะคนที่เป็นสิวมากมีระบบภูมิคุ้มกันน้อยกว่าอีกคนก็เป็นได้ "เมื่อแบคทีเรียเริ่มโจมตีผิวหนัง อาการอักเสบจะเกิดขึ้น นั่นทำให้เราเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนแตกต่างกัน" หัวหน้านักวิจัย ยังบอกอีกว่า การเกิดสิวเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามาก ซึ่งจะไปหล่อเลี้ยงบรรดาแบคทีเรียนั่นเอง ( คมชัดลึก อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.komchadluek.net)
หุ่นยนต์กับท้องไร่ท้องนา
นักวิจัยและวิศวกรจาก University of Illinois ได้พัฒนาหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบเพื่อนำมาใช้งานในฟาร์ม เริ่มต้นจากไร่ข้าวโพด โดยชื่อหุ่นยนต์เหล่านี้ถูกเรียกชื่อกันสั้น ๆ ว่า ag robot ซึ่งคำว่า ag ก็ย่อมาจาก agricultural ซึ่งแปลว่าเกี่ยวกับเกษตรกรรมนั่นเอง ราคาต้นทุนอยู่ระหว่าง 6,000 ถึง 20,000 บาท ที่มีความสามารถมากหน่อยก็อาจจะถึง 300,000 บาท โดยที่การพัฒนาในขั้นตอนนี้ยังมุ่งเน้นไปที่ระบบนำทางของหุ่นยนต์ในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงรวมไปถึงการเคลื่อนที่ในท้องไร่ท้องนาซึ่งแน่นอนว่าด้วยสภาพภูมิประเทศคงสร้างความ ลำบากให้กับหุ่นยนต์ไม่น้อย ระบบนำทางหรือ Navigation System ของหุ่นยนต์เหล่านี้ก็มีหลากหลายด้วยกัน พวกราคาถูกหน่อยก็อาจใช้เทคนิคที่ว่ากันว่าเหมือนคนเมาเหล้าเดินคือเดินไปทางซ้ายทีขวาทีเมื่อเจอสิ่งกีดขวางทางขวาก็เอียงมาเดินทางซ้าย เมื่อเจอสิ่งกีดขวางทางซ้ายก็เดินเบี่ยงมาทางขวา ในที่สุดก็สามารถเดินตามแนวของแถวในไร่ข้าวโพดได้ในที่สุด ที่แพงขึ้นมาอีกนิดก็เป็นการใช้คลื่นเสียงอัลตราโซนิคในการส่งสัญญาณและคอยรับสัญญาณที่สะท้อนกลับมาเพื่อนำมาแปลความหมายอีกทีว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าหรือไม่คล้าย ๆ กับเทคนิคที่ค้างคาวใช้เวลาออกหากินตอนกลางคืน โดยอาจจะใช้รังสีอินฟราเรดในการตรวจจับความเคลื่อนไหวของวัตถุที่อยู่ตรงหน้าได้อีกด้วย ที่ไฮเทคที่สุดก็คงจะเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้เลเซอร์ในการนำทาง ซึ่งสามารถกะระยะได้อย่างแม่นยำมากที่สุดและแพงที่สุด ภารกิจของหุ่นยนต์คือ การกำจัดวัชพืช การพ่นยาฆ่าแมลง และที่ฉลาดขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นการตรวจจับโรคระบาดที่เกิดขึ้นในพืช รวมไปถึงแมลงที่บุกรุกเข้ามากัดกินผลผลิต หรือเก็บตัวอย่างดินนำกลับมาวิเคราะห์ วิศวกรได้ออกแบบให้หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เดลินิวส์ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)
แพทย์ไทยพัฒนาระบบอ่านข้อมูลคลื่นหัวใจผ่านไร้สาย
นายรังสรรค์ จรรยาวนิชย์ ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เมดิคอล ซอฟต์แวร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของแพทย์ที่สนใจการพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งนี้ พร้อมเปิดตัวซอฟต์แวร์ระบบบริหารโรงพยาบาล (เอชไอเอส) ชื่อ "iMed" สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีกว่า 200 เตียงขึ้นไปในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล ไอซีที เอ็กซโป 2004 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 ส.ค.นี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยบริษัทใช้การพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเวบ เซอร์วิส รองรับจำนวนผู้ใช้พร้อมกันในเวลาเดียว 200 คน และใช้โอเพ่นซอร์ส ที่เปิดให้โรงพยาบาลเข้าถึงซอร์สโค้ดสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยน (โมดิฟายด์) ระบบได้เหมาะสมกับการใช้งานองค์กร ครอบคลุมระบบงานส่วนหน้าของโรงพยาบาลทั้งหมดตั้งแต่เวชระเบียน ห้องแพทย์ ห้องยา ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ไม่รวมถึงระบบบัญชี ล่าสุดบริษัทพัฒนาโปรแกรม iECG ซึ่งเป็นโปรแกรมเพิ่มเติม สำหรับการอ่านข้อมูลคลื่นหัวใจผ่านระบบไร้สาย โดยใช้เทคโนโลยีเครือข่ายของฮัทช์ ซึ่งเมื่อรถฉุกเฉินโรงพยาบาลรับตัวผู้ป่วย ซึ่งภายในรถมีเครื่องอ่านคลื่นหัวใจ ซึ่งจะมีสายเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ "ฮัทช์ ไอซ์" ซึ่งเป็นพอคเก็ตพีซีมือถือของฮัทช์ ลดเวลาการรักษาจาก 180 นาทีเหลือเพียง 90 นาที เทคนิคการส่งเป็นชุดข้อมูล (แพ็คเกจ ดาต้า) ซึ่งจะระบุหัวและปลายทางข้อมูล ป้องกันการสูญหายข้อมูลตามสภาพสัญญาณ ทั้งใช้มาตรฐานการส่งข้อมูล ECGM ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้การส่งคลื่นหัวใจโดยเฉพาะทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยได้ด้วย จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายมือถือไปยังเครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) ของโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะสามารถเรียกข้อมูลออกมาวิเคราะห์ได้ทันที (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
องค์กรทุนผนึกกำลังสร้างนักวิจัยอาชีพ
ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ศช.) เปิดเผยว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ หรือ ไบโอเทค ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงด้านความร่วมมือ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวิชาการ กับโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการที่อุทยานวิทยาศาสตร์และตามมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเครือข่ายของไบโอเทค พร้อมทั้งจะพิจารณารับบัณฑิตปริญญาเอกจาก คปก.ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 20 ทุนเข้าเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกของไบโอเทค ในขณะที่ สกว.จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรและสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ ด้าน ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) มุ่งสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกมาตรฐานสากลขึ้นภายในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในด้านวิจัย ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษาในโครงการ ที่สำเร็จปริญญาเอกแล้ว 256 คน นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติอีกกว่า 676 เรื่อง และยื่นขอจดสิทธิบัตรอีก 17 เรื่อง ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องที่ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก สำหรับความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานนี้ มีเป้าหมายสูงสุดคือสร้างเส้นทางอาชีพนักวิจัยที่สมบูรณ์ เชื่อมต่อกันมาตั้งแต่ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มาสู่การทำวิจัยหลังปริญญาเอก ก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพ (mainstream researcher) จนไปสู่เมธีวิจัยอาวุโส ในที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
เรือดำน้ำจิ๋วท่องใต้ทะเล สำรวจแร่-กู้เรืออับปาง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียช่วยกันพัฒนาเรือดำน้ำขนาดเล็ก โดยตั้งชื่อว่าเซอราฟินา เป็นเรือดำน้ำขนาดเพียง 40 ซม. ดำน้ำได้ลึก 5,000 เมตร มุ่งประโยชน์ด้านการสำรวจ ทั้งทะเลลึก หาสินแร่ กู้เรืออับปาง ตลอดจนภารกิจทางทหาร ระบุติดตั้งโปรแกรมสั่งงาน 2 ระบบภายในตัว สามารถควบคุมด้วยรีโมตหรือปรับระบบอัตโนมัติควบการทำงานด้วยตัวเอง โดยออกแบบสำหรับสำรวจมหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นงานช่วยกู้เรืออับปางหรืองานสำรวจแร่ งานค้นหาและกู้ภัย ตลอดจนภารกิจทางทหาร เรือดำน้ำเซอราฟินามีกังหันขับเคลื่อน 5 กังหัน ตัวลำเรือทำจากพลาสติก ภายในอัดแน่นด้วยชุดแบตเตอรี่และวงจรไฟฟ้า สามารถเดินทางใต้น้ำได้ด้วยความเร็วหนึ่งเมตรต่อวินาที เทียบแล้วพอกับหนึ่งก้าวเดินของมนุษย์ แต่สามารถวิ่งบนผิวน้ำ พลิกตัวและปรับทิศทางของตัวเองได้หลังจากพลิกตีลังกาแล้ว นักวิจัย กล่าวว่า การที่ออกแบบให้เรือเซอราฟินามีขนาดเล็กมากนี้ช่วยประหยัดได้อย่างมาก ข้อดีอีกประการของเรือดำน้ำเซอราฟินาก็คือ เมื่อเรือดำน้ำมีขนาดเล็กมาก จะขจัดปัญหาเรื่องแรงดันน้ำในที่ลึก ในทางกลับกันขนาดที่เล็กมากของเรืออาจทำให้กลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลได้โดยง่าย (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
เด็กไทยสร้างชื่อคิดค้นสารใหม่ทำโซล่าร์เซลล์ จุดประกายวิจัยพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์สู่พาณิชย์
นายอรรถพล กิติยานันท์ นักศึกษาไทยผู้ได้รับทุน Monbusho ของรัฐบาลญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์พลังงาน ที่สถาบันพลังงานก้าวหน้า (Institute of Advance Energy - IAE) แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยถึง ผลงานวิจัยการสร้างสารสังเคราะห์ชนิดใหม่ ที่ใช้ทำอิเล็กโตรด ซึ่งช่วยให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสง (Dye-sensitized Solar Cell) เพิ่มขึ้น สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดหนึ่ง ที่การทำงานอาศัยกลไกทางปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี ซึ่งคล้ายคลึงกับการสังเคราะห์แสงของพืช มีส่วนประกอบหลักคือ กระจกนำไฟฟ้า สารที่ใช้ทำอิเล็กโตรด ซึ่งเคลือบอยู่บนผิวกระจก และตัวสีย้อม (Dye) ซึ่งเคลือบบริเวณผิวของสารอิเล็กโตรด และสารละลายอิเล็กโตรไลท์ โดยต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์ชนิดนี้ถูกกว่าโซล่าร์เซลล์ซิลิกอนหลายเท่าตัว แต่ปัญหาคือเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงมีประสิทธิภาพต่ำเพียง 10% ในการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า สารสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นเป็นการผสมสารที่มีชื่อว่าเซอร์โคเนีย (Zirconia, ZrO2) เข้ากับสารไทเทเนีย (Titania, TiO2) ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้เป็นสารทำอิเล็กโตรดมากที่สุดในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับสารไทเทเนีย ที่เป็นสารตั้งต้นเพียงอย่างเดียวแล้ว จะพบว่าสารผสมนี้ให้กระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นมากกว่าการใช้ไทเทเนียบริสุทธิ์ ที่เตรียมขึ้นจากห้องปฏิบัติการถึง 10% งานวิจัยชิ้นนี้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลก ที่สามารถผสมสารชนิดอื่นลงไปในเนื้อของไทเทเนีย แล้วทำให้ประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นจุด "คอขวด" หนึ่งในการพัฒนาโซล่าร์เซลล์ชนิดสีย้อมไวแสงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และจากการค้นพบดังกล่าวอาจนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสีย้อมไวแสงในเชิงพาณิชย์ต่อไป เพราะผลจากงานวิจัยครั้งนี้จะทำให้เกิดงานวิจัยอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มทางเลือกด้านแหล่งพลังงานให้มากขึ้น อันนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลกต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 4 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
ใช้ลูกเทนนิสปราบอาการนอนกรนติดไว้กลางหลังกัน ไม่ให้นอนหงาย
หนังสือพิมพ์ "เดอะ เฮรัลด์ ซัน" ที่นครเมลเบิร์นรายงานว่า ผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยการนอนกรน ที่มารับการักษาวิธีนี้พากันหายจากการนอนกรนกันไปถึง 80% ด้วยเหตุที่ลูกเทนนิสที่ผูกติดอยู่กลางหลัง จะคอยบังคับไม่ให้นอนหงายได้ ต้องนอนตะแคงท่าเดียว มันไม่แต่เพียงป้องกันไม่ให้นอนกรนอย่างเดียวเท่านั้น หากยังช่วยป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอนหลับ สืบเนื่องจากการนอนกรน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย เนื่องจากผู้นั้นจะหยุดหายใจลงเป็นพักๆ พักละสัก 2-3 วินาที อันล่อแหลมกับการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจได้ นักวิจัยของสำนักงานสาธารณสุขออสติน ดร.มารี บาร์นส์ ผู้คิดออกแบบเข็มขัดห้อยลูกเทนนิส กล่าวว่า เข็มขัดจะช่วยผู้ที่นอนกรนเมื่อเวลานอนหงาย ได้มากเป็นจำนวนถึงสองในสาม ให้หายจากการนอนกรนลงได้ และเล่าต่อไปว่า มีคนคิดใช้ลูกเทนนิส เพื่อรักษาอาการนอนกรนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 แล้ว แต่เพิ่งจะมาสำเร็จ เพราะคิดออกแบบเข็มขัดขึ้นมาได้ เข็มขัดแบบที่ออกนี้ จะมีเข็มขัดคาดรอบเอวอยู่ 1 เส้นแล้วมีสายสะพายข้ามไหล่ ส่วนลูกเทนนิสจะใส่ไว้ในถุง ผูกติดกับเข็มขัดที่คาดไว้รอบเอว พร้อมกับแนะนำว่า ผู้ที่นอนกรน และอยากจะรักษาแบบนี้ ควรจะปรึกษาแพทย์ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
สภาพัฒน์เร่งพัฒนาสงขลาสู่ยางพาราโลก
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การแปลงยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราสู่ความเป็นเลิศและให้เป็นศูนย์กลางยางพาราโลกไปสู่การปฏิบัติ" โดยมีนางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน, สำนักงบประมาณ, เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยางพารา รวมทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ เสนอโครงการเพื่อทำวิจัยสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราในหลายสาขา รศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา กล่าวว่า ได้เสนอโครงการเทคโนโลยีชีวภาพน้ำยาง ผลิตภัณฑ์ยารักษาและเสริมสร้างสุขภาพ "โครงการเทคโนโลยีชีวภาพน้ำยางผลิตภัณฑ์ยารักษาและเสริมสร้างสุขภาพ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 1.สำหรับวัตถุประสงค์การดำเนินการในเบื้องต้น มีด้วยกัน 6 ขั้นตอน 2.วัตถุประสงค์ของโครงการและแนวทางในการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อขยายผลในเชิงปฏิบัติของโครงการนำร่อง และ 3.การดำเนินงานวิจัยที่มีศักยภาพอื่นๆ จำนวน 2 ขั้นตอน ใช้งบรวมทั้งหมดครบวงจร 700 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวที่ประชุมให้ความสนใจ" ขณะที่ รศ.ดร.อมรรัตน์ พงศ์ดารา หัวหน้าสถาบันวิจัยจีโนมและชีวสารสนเทศ กล่าวว่าได้มีการเสนอโครงการจีโนมยางและชีวสารสนเทศ ซึ่งตั้งเป้าหมายเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมยางพาราสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างคลังข้อมูลรหัสพันธุกรรมยาง รวมทั้งพัฒนางานวิจัยในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อชุมชน โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากที่ประชุมเช่นกัน ผช.ศ.ดร.วราภรณ์ ตันรัตนกุล จากคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่าได้เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายางดิบและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี วงเงินงบประมาณรวม 20 ล้านบาท โดยรองเลขาธิการสศช.ได้มอบให้ผู้เสนอโครงการกลับไปทบทวนในรายละเอียดอีกครั้ง (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
วิจัยช่วยหูหนวกคุยโทรศัพท์ ยุโรปแปลงเสียงเป็นภาพเคลื่อนไหว
ระบบซิมเฟส เป็นผลงานความร่วมมือของนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ ในกรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ในอังกฤษ และบริษัทเวียทอล ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในฮอลแลนด์ รวมทั้งบริษัทบาเบิลเทคในเบลเยียม ผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์เสียงให้ระบบ "ซิมเฟส" (Sim Face) ระบบสื่อสารต้นแบบที่สามารถแปลงเสียงพูดจากปลายสายโทรศัพท์ ให้กลายเป็นภาพใบหน้ามนุษย์จำลองที่เคลื่อนไหวได้ ช่วยให้คนหูไม่ดีหรือได้ยินเสียงไม่ชัด สามารถอ่านริมฝีปากของคู่สนทนาเสมือนจริง ผ่านจอภาพคอมพิวเตอร์เสริมการได้ยินได้ สถาบันเพื่อคนหูหนวกแห่งชาติ อังกฤษ ได้ทดลองนำระบบซิมเฟสไปให้อาสาสมัครที่มีปัญหาด้านการได้ยินใช้ และพบว่า 84% สามารถจดจำคำพูด และสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ได้อย่างปกติ โดยระบบสามารถถอดคำพูดแต่ละคำในประโยค และนำเสนอเป็นภาพแอนิเมชั่นโดยใช้เวลาเพียง 1 ใน 5 ของวินาทีเท่านั้น ระบบซิมเฟสทำงานบนคอมพิวเตอร์แล็บท็อป สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ทั้งแบบมีสายและไร้สายได้ทั้งหมด หลักการทำงานของระบบจะจำลองวิธีการทำงานเหมือนกับระบบประสาทในสมองที่จะถูกฝึกให้จดจำและจับคู่เสียงกับการเคลื่อนไหวริมฝีปาก จะเห็นได้ว่า ซิมเฟสสามารถถอดคำและระบุเสียงหน่วยที่เล็กที่สุดของคำได้ นั่นทำให้ระบบสามารถแปลเป็นภาพได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อช่วยคนหูหนวกแบบถาวร แต่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยผู้ที่มีปัญหาด้านการได้ยิน ซึ่งชาวตะวันตกมีอาการดังกล่าวมากถึง 1 ใน 7 คนของประเทศ และซิมเฟสถูกฝึกให้รองรับภาษาอังกฤษ สวีเดน และฮอลแลนด์ นอกจากนี้ ยังสามารถปรับใช้ในภาษาถิ่นได้ด้วย (คมชัดลึก พฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 47http://www.siamrath.co.th)
ครูชลิดา บุญสุข สร้างเตาอบแสงอาทิตย์เรียนรู้พลังธรรมชาติ
ครูชลิดา เล่าว่า หลังจากไปดูงานที่สำนักงานพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่ จ.เชียงใหม่ ก็เกิดความสนใจและคิดจะสร้างเตาอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมและลงมือสร้างจนสำเร็จ เตาอบที่สร้างขึ้นนี้มี 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของตู้อบ ทำด้วยโครงเหล็ก หลังคาจั่วเอียง 45 องศา ฝาสี่ด้านและด้านล่างของตู้ใช้โฟม และสังกะสีกรุทั้งด้านนอกและด้านใน โดยมีโฟมอยู่ตรงกลาง ข้างในทาด้วยสีดำ จั่วด้านบนติดด้วยกระจกหนา และส่วนที่เพิ่มพลังงานความร้อน มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ด้านข้างสี่ด้านและส่วนล่างกรุด้วยสังกะสีและโฟมเช่นเดียวกับตู้อบ ส่วนด้านบนปิดด้วยกระจกใสชนิดหนาใช้วางต่อจากตู้อบในช่องอากาศเข้า โดยวางเอียง 15 องศา ส่วนการทำงานอาศัยแสงอาทิตย์ส่องผ่านแผ่นกระจกใสด้านในของตู้อบ สีดำจะดูดกลืนความร้อนไว้ทำให้อุณหภูมิในตู้สูงขึ้น อากาศที่อยู่ในตู้ก็จะร้อนขึ้นด้วย จะทำให้ความหนาแน่นของอากาศน้อยลงเป็นผลให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้น และอากาศร้อนในส่วนของตัวเพิ่มพลังงานความร้อนจะเคลื่อนเข้ามาช่วยเพิ่มความร้อนในตู้อบ ในขณะที่อากาศร้อนลอยขึ้นนั้นจะผ่านผลิตผลหรือวัสดุที่นำไปอบ และพาไอน้ำและความชื้นออกไปทางช่องระบายอากาศด้วย ขณะเดียวกัน อากาศเย็นที่เข้ามาด้านช่องรับอากาศเข้าในส่วนเพิ่มพลังงานความร้อนจะเข้ามาแทนที่อากาศร้อนที่ลอยตัว ก็จะทำให้อากาศร้อนขึ้นอีก การไหลเวียนของอากาศในตู้จะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปตามหลักทางธรรมชาติ ทำให้คนในชุมชนได้มาใช้เตาอบแสงอาทิตย์ และทำให้รู้จักพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้ทดแทนพลังงานอื่นๆ เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า แก๊สธรรมชาติ เพราะพลังงานเหล่าอาจหมดไปในอีกไม่นาน ผู้สนใจอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์สอน กับครูชลิดา บุญสุข สามารถเขียนจดหมายส่งตรงถึง รร.ชุมชนกิ่วแลหลวง ม.4 ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)
"อจ.จุฬา"คว้านักวิทยาศาสตร์ดีเด่น วิจัยวัคซีนสุนัขบ้าใหม่ประหยัด80%
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2547 ขึ้นที่โรงแรมสยามซิตี โดย ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น แถลงว่า คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่องให้ ศ.น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักวิทยาศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปีนี้ นอกจากนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อีก 6 คน คือ ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี จากหน่วยวิจัยความเป็นเลิศของระบบซับซ้อน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดร.ศรันย์ สัมฤทธิ์เดชขจร จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เน็คเทค) และ ผศ.ดร.สุพล เดชอนันตา จาก ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น.พ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า งานทางวิชาการที่ทำอยู่เวลานี้ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง โรคสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะจากเชื้อพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกัน โดยศึกษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ลักษณะอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคด้วยวิธีใหม่ การเก็บส่งตัวอย่างเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ใช้ตู้เย็น ศึกษาสายพันธุ์ไวรัสพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ ศึกษาผลแทรกซ้อนของวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ทำจากสมองสัตว์ ซึ่งควรยกเลิกและทดแทนด้วยวัคซีนอื่น และการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 80% (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 5 ก.ค. 47 http://www.matichon.co.th)
สร้างรถยนต์ตัวถังนุ่มแต่เหนียวชนคนชนรถไม่บาดเจ็บล้มตาย
สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์อันมีชื่อเสียงของสหรัฐฯ กำลังคิดออกแบบรถยนต์หนังเหนียว มีตัวถังหุ้มนวม ถึงแม้จะชนคนหรือรถยนต์ด้วยกันไม่แรงเท่าไร ก็ไม่ทำให้คนต้องบาดเจ็บหนัก หรือรถเสียหายมาก โดยให้หุ้มตัวถังรถด้วยฟิล์มโปร่งแสงทำด้วย วัสดุประกอบด้วยก๊าซฟลูออรีนซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งชั้นฟิล์มแบบนี้ได้ใช้ทำโดมหลัง ของโครงการก่อสร้างสวนอีเดน ที่เมืองคอร์นวอลล์ ในอังกฤษมาแล้ว ช่างของสถาบันเอ็มไอทีเชื่อว่า ฟิล์มที่หุ้มตัวถังรถจะมีสภาพเป็นเหมือนกับนวม เมื่อรถไปชนคน หรือไปกระแทกกับคนอื่น โดยไม่แรงนักจะไม่ทำให้คนเดินถนนบาดเจ็บมาก หรือรถเสียหายมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อรถยนต์ถูกสร้างให้หนังเหนียวขึ้น ก็จะสามารถจัดการจราจรให้รถวิ่งในถนน หลบหลีกกันได้ใกล้ๆ กันมากขึ้น ทำให้มีพื้นที่การจราจรเพิ่มขึ้น นักวิจัยได้กล่าวเรียกลักษณะของการจราจรแบบนั้นว่า "ทำให้รถยนต์แล่นเบียดเสียดกันได้" ขณะเดียวกันนักวิจัยของเอ็มไอทียังได้คิดออกแบบตัวถังรถ ที่สามารถเปิดสวิตช์ให้รถเปลี่ยนเป็นสีต่างๆได้ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างเช่น เมื่อเกิดต้องเบรกหยุดรถโดยกะทันหัน นายไรอัน ชิน ผู้ประสานงานของโครงการกล่าวว่า "เมื่อเป็นแบบนี้ ไฟสัญญาณไฟกะพริบเมื่อรถต้องจอดลงกลางทาง ก็ไม่ต้องใช้อีกต่อไป เพราะรถมันจะเปิดไฟสัญญาณให้รถคันอื่นรู้ได้เอง" (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
จีโนมสัตว์ 18 สายพันธุ์ มุ่งไขปริศนาโรคร้ายในคน
สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐ เปิดเผยว่า คณะทำงานได้คัดเลือกสิ่งมีชีวิต 18 สายพันธุ์ เพื่อนำมาถอดรหัสพันธุกรรมอย่างละเอียด โดยก่อนหน้าได้ดำเนินการเสร็จแล้วในหนู (rat), หนูบ้าน (mouse), สุนัข และชิมแปนซี เป้าหมายเพื่อค้นหาสาเหตุของโรคร้ายที่เกิดในมนุษย์ รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ด้านชีววิทยาพื้นฐาน และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ด้วยการเปรียบเทียบดีเอ็นเอมนุษย์กับสัตว์ โดยเชื่อว่าจะสร้างข้อมูลที่มีคุณประโยชน์ต่อวงการแพทย์อย่างมหาศาล มาร์ก กายเออร์ ผู้ดูแลโปรแกรมวิจัยดังกล่าว ภายใต้การงบประมาณจากวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลพันธุกรรมชุดใหม่ที่ทีมงานมีแผนจะถอดรหัส จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใกล้เป้าหมายในการค้นหาส่วนประกอบสำคัญของจีโนมมนุษย์ ที่เกี่ยวพันกับพัฒนาการ สุขภาพ และโรคร้าย สำหรับรายชื่อสัตว์ 18 ชนิดที่จะถูกถอดรหัสพันธุกรรม ประกอบด้วย อุรังอุตัง, ช้าง, กระแต, เม่นยุโรป, หนูตะเภา, เม่นไม่มีหางขนาดเล็ก, อาร์มาดิลโลเก้าแถบ, กระต่าย และแมวบ้าน ขณะที่สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ราเมือก ที่เรียกว่า ไพซารัม โพลิเซพาลัม, ทากที่เป็นแหล่งพักพิงของปรสิต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพยาธิใบไม้, พยาธิตัวกลมสองชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ, ปลาไหลทะเล, สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่อยู่ในน้ำ ได้แก่ โปรโตซัวซิลิเอต ซึ่งเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษสายตรงของฟองน้ำ และพลาโกโซน สัตว์ทะเลลำตัวแบนที่เป็นสิ่งมีชีวิตยุคเริ่มต้น ส่วนสัตว์ที่ทีมงานดำเนินการอยู่ในขณะนี้แล้ว ได้แก่ วัว จิงโจ้ และมอดแป้ง (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
กินวิตามินทุกวัน ช่วยบรรเทาเอดส์ ยืดอายุขัยยืนยาว
คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยมูฮิมบิลิ ในแทนซาเนีย เปิดเผยว่า การกินวิตามินรวมทุกวันช่วยลดการขยายตัวของเชื้อไวรัสเอดส์ได้ เห็นได้จากผลการทดลองในกลุ่มผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 1,000 คน ในระยะเวลา 8 ปี ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจะได้รับวิตามินรวมเพื่อบริโภคในแต่ละวัน ผลการวิจัยพบว่าจำนวนอาสาสมัครที่เชื้อเอชไอวีพัฒนาถึงระยะสุดท้าย และเสียชีวิตลงด้วยโรคเอดส์นั้น มีจำนวนเพียงเล็กน้อย ขณะที่ส่วนที่เหลือมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น และระดับการติดเชื้อไวรัสต่ำลง อีกทั้งความซับซ้อนของการติดเชื้อก็ลดลงอีกด้วย "แม้วิตามินจะไม่สามารถแทนที่ยาต้านไวรัสได้ จนทำให้หนึ่งในสี่ของผู้หญิงที่ได้รับวิตามินเสียชีวิต และเชื้อเอดส์ยังคงพัฒนาตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยวิตามินก็ช่วยยืดระยะเวลาการขยายตัวของเชื้อให้ช้าลง จนกว่าจะมีการพัฒนาตัวยาใหม่ออกมาแก้ปัญหาได้" นักวิจัยกล่าว ทีมงานยังเชื่อว่าการใช้วิตามินบำบัดอาการติดเชื้อเอชไอวี สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณในการรักษาได้ด้วย ราคาของวิตามินตกอยู่ประมาณ 15 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 600 บาทต่อ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
วิจัยข้าวลูกผสมผลิตเอทานอลใช้ทดแทนน้ำมัน
นายวิชัย หิรัญยูปกรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การวิจัยข้าวว่า จะเน้นวิจัยพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้บริโภค พันธุ์ข้าวเพื่อการอุตสาหกรรม พันธุ์ข้าวเฉพาะพื้นที่ และพันธุ์ข้าวเพื่อโภชนาการ โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเพื่อการอุตสาหกรรมนั้นจะต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ ไม่เน้นในเรื่องคุณภาพของเมล็ดข้าวมากนัก เนื่องจากไม่ได้นำมาใช้บริโภคโดยตรง แต่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ในปัจจุบันมีการผลิตเอทานอล จากอ้อย และมันสำปะหลัง เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของข้าว ก็สามารถนำมาแปรรูปผลิตเอทานอลได้เช่นเดียวกัน แต่ขณะนี้ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากข้าวยังสูงกว่าพืชทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว จึงยังไม่คุ้มค่าที่จะนำข้าวมาผลิตเอทานอล ทั้งนี้การผลิตเอทานอลในปัจจุบัน หากใช้มันสำปะหลัง 1,000 กิโลกรัมจะผลิตเอทานอลได้ประมาณ 100 ลิตร ในขณะที่ข้าว 1,000 กิโลกรัมจะสามารถผลิต เอทานอลได้ถึง 400 ลิตร แต่ด้วยราคาข้าวแพงจึงทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลสูงกว่ามันสำปะหลังและอ้อย ดังนั้นหากสามารถผลิตข้าวได้ปริมาณเพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนต่ำลง แล้วจำหน่ายในราคาใกล้เคียงกับราคามันสำปะหลัง หรืออ้อย เมื่อนำข้าวมาผลิตเอทานอลเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินก็จะคุ้มค่าอย่างแน่นอน กรมวิชาการเกษตรก็พยายามที่จะวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า 2,000 กิโลกรัมต่อไร่และต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนสามารถวิจัยพัฒนาข้าวพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตได้กว่า 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ได้แล้ว (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)
ข่าวทั่วไป
เกณฑ์สัตว์เตือนภัยแจ้งแผ่นดินไหวมีสัญชาตญาณ ล่วงรู้โดยธรรมชาติ
สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า สำนักงานข่ายติดตามภัยแผ่นดินไหวได้เกณฑ์เอาสัตว์จากสวนสัตว์ เมืองอันชาน ที่มณฑลเหลียวหนิงมาเลี้ยง เพื่อจะได้คอยติดตามดูปฏิกิริยาของมัน ที่อาจจะแสดงออกมาให้รู้ เมื่อรู้ว่ากำลังจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ผู้ช่วยวิศวกรของสำนักงานกล่าวแจ้งว่า "สัตว์บางชนิดจะแสดงอาการแปลกๆให้รู้ก่อนหน้าจะเกิดแผ่นดินไหวได้ก่อนถึงหนึ่งอาทิตย์ และยิ่งมันแสดงกิริยาแตกตื่นมากเท่าใด ก็ส่อว่าจะเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นเท่านั้น" ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาเชื่อว่า สัตว์ หลายชนิดล้วนแต่มีสัญชาตญาณรู้ถึงภัยของการเกิดแผ่นดินไหวในตัว ตั้งแต่ ม้า ลา หมูวัว ควาย หมา แมว ไก่ เป็ด ห่าน หนู งู แม้ กระทั่งปลา พวกมันจะแสดงอาการหลายแบบหลายอย่าง ตั้งแต่อาการผิดปกติธรรมดาไปจนตื่นตระหนก (ไทยรัฐ อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
"ลุงยงค์"เปิดใจคว้าแมกไซไซ ป.4เมืองคอน
รอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาบุคคลให้ได้รับรางวัล รามอน แม็กไซไซ ของมูลนิธิรามอน แม็กไซไซ แห่งฟิลิปปินส์ ประกาศให้นายประยงค์ รณรงค์ ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาผู้นำชุมชนร่วมกับผู้ได้รับรางวัลอื่นๆ อีก 6 คน ซึ่งประกอบด้วย นางเฮย์ดี โยรัค นักกฎหมายสตรีวัย 62 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญในการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่อดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ลักลอบไปฝากไว้ในธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ามากกว่า 700 ดอลลาร์ คืนมาเป็นผลสำเร็จ ได้รับรางวัลสาขา ผู้ให้บริการภาครัฐ, นายเจียง หยาน หยง อดีตนายแพทย์เสนารักษ์เกษียณอายุ ชาวจีน ผู้เป็นหัวหอกในการต่อสู้กับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส ได้รับรางวัลในสาขา ผู้ให้บริการสาธารณะ, นายอับดุลลาห์ อาบู ซายิด ชาวบังกลาเทศ ในสาขา สื่อมวลชน วรรณกรรมและศิลปะสื่อสร้างสรรค์, นายเบนจามิน อับบาดีอาโน่ ชาวฟิลิปปินส์ ในสาขาผู้นำโดดเด่น และนายลักษมีนารายัน รามทาส ชาวอินเดีย กับนายอิบบิน อับดูร์ เรห์มัน ชาวปากีสถาน ได้รับร่วมกันในสาขาสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ (มติชนรายวัน อังคารที่ 3 ส.ค. 47 http://www.matichon.co.th)
นักวิทย์ดีเด่นวิพากษ์ ไทยก้าวไม่ถึงโนเบล
ดร.ยอดหทัย เทพธนานนท์ ประธานกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ได้ประกาศผลการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2547 ว่า ในปีนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 32 คน ซึ่งคณะกรรมการสรรหามีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานการศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี 6 คน ประกอบด้วย ผศ.ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เจ้าของงานวิจัยด้านการศึกษาวัสดุเชิงประกอบประเภทพาร์ทิคูเลตของโพลิเอทธิลีน มีเป้าหมายใช้การแพทย์ทดแทนกระดูก ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาและพัฒนาปฏิกิริยาเคมีอินทรีย์ เพื่อใช้ในการสังเคราะห์สารที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจตามต้องการ ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ออกแบบระบบนำส่งยาแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตยาที่ไม่ซับซ้อน ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) วิจัยการนำเทคโนโลยีแสงและอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งานร่วมกัน เพื่อตอบสนองด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ เกษตร สื่อสาร และสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.สุพล อนันตา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยและพัฒนาเทคนิคการผลิตผงและเซรามิคคุณภาพสูง ด้วยต้นทุนต่ำกว่าต่างประเทศถึง 1 ใน 10 และ ผศ.ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศึกษาพฤติกรรมสัตว์และนิเวศวิทยา ได้แก่ ปลากัดป่า และปูก้ามดาบ ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เจ้าของงานวิจัยระดับนานาชาติ อาทิ การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค การสนับสนุนให้ยุติการใช้วัคซีนจากสมองสัตว์ และเสนอวิธีทดแทนด้วยการใช้วัคซีนที่ปลอดภัย โดยใช้การฉีดแบบประหยัด กระทั่งองค์การอนามัยโลกนำไปประกาศใช้ทั่วโลก กล่าวว่า ประเทศไทยขาดรากฐานในการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ที่ดี ถ้าไทยอยากได้นักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นสมองที่ดีเลิศในการสร้างรากฐานให้กับประเทศ เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นได้นั้น จะต้องใช้เวลาถึง 20 ปีเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับอนุบาล และการที่จะเป็นประเทศที่สามารถสู้กับคนอื่นได้ ต้องมีรากฐานที่ดี ต้องมีบุคลากรในการให้ความรู้คำแนะนำ และมีองค์กรสนับสนุนที่ดีกว่านี้ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 5 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
ยุงรู้จักเลือกกินคน "เลือดชวนชิม" พบสารเคมีบนผิวหนังขับไล่ยุง
นักวิจัยอุลริค เบอเนียร์ ได้พยายามศึกษาสารเคมี ที่มีอยู่ตามผิวหนังคนเรามาไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด เพื่อจะได้รู้ว่าอันไหนยุงชอบและอย่างไหนยุงเกลียด เขากล่าวว่า "ยุงชอบกรดแล็กติกและสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่างรวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มันชอบกลิ่นหอมๆ ของน้ำหอม น้ำมันใส่ผมและยาดับกลิ่น นอกจากนั้นมันยังชอบผ้าดำด้วย" เขาเปิดเผยว่าได้พบสารเคมีที่อยู่ตามผิวหนังที่ไล่ยุงได้เหมือนกัน แต่ไม่ยอมระบุอ้างว่า เพราะเป็นเรื่องมีสิทธิบัตร แต่กล่าวยอมรับว่า "สิ่งที่ค้นพบนับว่าทำให้เกิดความมั่นใจมาก" แต่พวกของที่เชื่อกันว่า จะช่วยไล่ยุงได้อย่างกระเทียม แป้งข้าวหมากและวิตามินบี-12 ปรากฏว่าไม่สู้ได้ผลนัก "วิธีป้องกันยุงกัดแน่ๆอันหนึ่ง ก็คืออย่าให้ยุงวางไข่ได้ อย่าปล่อยให้มีภาชนะมีน้ำขังทิ้งอยู่ให้ยุงวางไข่ได้" (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
ผลิตรองเท้าเด็กคู่เดียวใส่กันจนโตยืดขยายตัว ได้เหมือนหีบเพลงชัก
บริษัทเครื่องกีฬาในเยอรมนี ได้ ผลิตรองเท้าเด็ก ซึ่งจะขยายขนาดโตตามอายุขัยของเด็กได้ แค่ใช้คู่เดียวก็ใส่ได้จนถึงโตใหญ่ บริษัท"เค 2" แจ้งว่า "รองเท้าที่ขยายขนาดตัวเองได้ จะขยายยืดตัวชั่วแต่เพียงกดปุ่มเท่านั้น จะยืดออกได้เหมือนกับหีบเพลงชัก โดยที่พ่อแม่ไม่ต้อง คอยซื้อรองเท้าคู่ใหม่ เปลี่ยนให้เมื่อลูกหลานโตขึ้น หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี แจ้งว่าศัลยแพทย์กระดูกผู้เชี่ยวชาญได้กล่าว แสดงความเห็นว่า "รองเท้านั้นมีคุณภาพใช้ได้ พื้นรองเท้าก็แข็งแรงและทนทาน ภายในก็นุ่มแต่มั่นคง" (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.thairath.co.th)
เปิดเวทีแข่งขันมอเตอร์ไซค์เอทานอล
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการแข่งขันใช้เอทานอลกับรถจักรยานยนต์ โดยพิจารณาเห็นว่าปัจจุบันยังไม่ได้รณรงค์ใช้กับรถจักรยานยนต์ ซึ่งทั่วประเทศมีมากกว่า 18 ล้านคัน และคาดว่า ในปี 2547 จะมีรถจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคัน ซึ่งผู้ใช้น้ำมันเบนซินส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาในสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน สมัครเข้าร่วมการแข่งขันดัดแปลงเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงเอทานอล มีสัดส่วนการผสมสูงถึง 95% ต่อน้ำมันเบนซิน 5% (E95) หากทำสำเร็จจะทำให้ประหยัดและลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินได้ถึง 72,000 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นก้าวสำคัญของไทยในการปลดแอกการใช้พลังงาน นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญเป็นการให้นิสิตนักศึกษาได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่เกี่ยวกับเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งคาดว่าผลงานจากโครงการจะเป็นจุดเชื่อมนำไปสู่นวัตกรรม กับกลุ่มอุตสาหกรรมและดึงประชาชนให้เข้ามีส่วนร่วม ในการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน อีกทั้งจะเป็นการต่อยอด อนาคตไทยอาจเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่ประเทศจีนและอินเดีย ที่ปัจจุบันมีการใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก ผู้สนใจสมัครเข้าแข่งขันได้ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ ที่กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สำนักกรรมาธิการ 3, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไทย ซึ่งกำหนดแต่ละทีมประกอบด้วย 5 คน และหัวหน้าทีมต้องเป็นอาจารย์ของสถาบัน โดย 60 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับรถจักรยานยนต์ 1 คัน และเงินสด 10,000 บาท ส่วนทีมชนะเลิศได้รับ 1.5 แสนบาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
อุปกรณ์ติดรถยนต์ดักกลิ่นเหล้า ดัดหลัง'เมาแล้วขับ'
ผู้ขับขี่ในเมืองบริสตัลและมิดแลนด์ตะวันตก สหรัฐอเมริกาและประเทศสวีเดน มีโอกาสทดลองใช้ "แอลกอร์ลอค" อุปกรณ์ควบคุมเครื่องยนต์ไม่ให้สตาร์ตติด หากตรวจพบว่าผู้ขับขี่เมาสุรา ซึ่งจะติดตั้งในส่วนห้องเครื่องของรถยนต์ และผู้ขับต้องเป่าลมเข้าไปในท่อที่ต่อออกมาจากเครื่องนี้ หากแอลกอฮอล์ในเลือดมีระดับสูงกว่าที่ตั้งค่าไว้ เครื่องยนต์จะสตาร์ตไม่ติด โดยหลักการทำงานของอุปกรณ์นี้คล้ายกับเครื่องวัดระดับลมหายใจ มลรัฐหลายๆ แห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้แนะนำให้ผู้ขับขี่รู้จักกับ "แอลกอร์ลอค" โดยใช้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการพักใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งสำหรับมาตรการป้องกันอีกด้วย และดูเหมือนว่าเจ้าอุปกรณ์ชนิดนี้จะถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติความปลอดภัยบนท้องถนนในฤดูใบไม้ร่วงนี้ และหากตราเป็นกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้กันอย่างจริงจัง คาดว่าปีหน้าคงได้ติดตั้งอุปกรณ์นี้ในรถยนต์แน่นอน ริชาร์ด ฟรีแมน โฆษกของ เอเอ มอเตอร์ริ่ง ทรัสต์ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือราคาของอุปกรณ์และการติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ สำหรับอัตราค่าเช่าประมาณ 90 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน หรือประมาณ 3,600 บาท และติดตั้งอีก 110 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,400 บาทต่อเดือน (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)
สมัครล้นแข่งหุ่นยนต์กู้ภัย
รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เปิดเผยถึงความคืบการรับสมัครโครงการ Thailand Rescue Robot Championship 2004 ผ่านทางเว็บไซต์ และปิดรับสมัครไปเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่ามีนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมประกวดมากถึง 93 ทีม จาก 40 สถาบันทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายและน่ายินดีที่มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ จากทุกภาคของประเทศ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี สงขลา ซึ่งต่อจากนี้โครงการจะจัดกิจกรรมให้ความรู้และรายละเอียดของการประกวด เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจก่อนการประกวด จากนั้นเดือนตุลาคม จะเป็นการแข่งขันในรอบคัดเลือก โดยผู้เข้าสมัครจะต้องนำหุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์มาแสดงความสามารถเพื่อคณะกรรมการจะคัดให้เหลือ 8 ทีมสุดท้าย ไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศต่อไป โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา 200,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ World Robocup Rescue 2005 ที่ประเทศญี่ปุ่น (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)
พบไม้ตระกูลกระดังงาใหม่ "มหาพรหมราชินี"สวยที่สุด
ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ วว. พร้อมด้วย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกันแถลงถึงการค้นพบ "มหาพรหมราชินี" พรรณไม้วงศ์กระดังงาชนิดใหม่ของโลก ซึ่งถือเป็นดอกไม้สวยงามที่สุดในตระกูลกระดังงา ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ดร.ปิยะกล่าวว่า ได้รับทุนวิจัยจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย เพื่อรวบรวมและจำแนกพรรณไม้ในวงศ์กระดังงาทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบพรรณไม้วงศ์กระดังงาชนิดใหม่ของโลก ที่บริเวณยอดเขาในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอน ถือเป็นชนิดที่ 49 ของพรรณไม้ในวงศ์กระดังงาจากทั่วโลก ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ดังกล่าวว่า มหาพรหมราชินี และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & R.M.K. Saunders เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม การค้นพบมหาพรหมราชินีว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้ ได้รับการรับรองจาก ดร.อลูนา วีราโสริยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณไม้สกุลมหาพรหม แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง พร้อมทั้งเตรียมตีพิมพ์ข้อมูลการค้นพบในวารสารนอร์ดิก เจอร์นัล ออฟ โบตานี(Nordic Journal of Botany) แห่งประเทศเดนมาร์กด้วย สำหรับมหาพรหมราชินีดังกล่าว จัดว่าเป็นพรรณไม้ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากพบเหลือในธรรมชาติเพียง 18 ต้นเท่านั้น โดยสภาพนิเวศวิทยาบริเวณที่ค้นพบเป็นพื้นที่สูงชันอยู่ในป่าดิบเขา ในระดับความสูง 1,100 เมตร มีลมแรงและอากาศหนาวเย็นจัดในช่วงฤดูหนาว มีความชื้นสัมพัทธ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม มหาพรหมราชินี ถือเป็นพรรณไม้ที่มีความใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับมหาพรหม เนื่องจากอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่เป็นพรรณไม้ที่มีขนาดดอกใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดในสกุลมหาพรหมที่มีอยู่แล้วทั่วโลก 48 ชนิด และที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย 7 ชนิด (มติชนรายวัน ศุกร์ที่ 6 ส.ค. 47 http://www.matichon.co.th)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|