หัวข้อข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ 42 ประจำวันที่ 2004-10-17

ข่าวการศึกษา

รุกรัฐบาลเพิ่มเงินพนักงานมหาวิทยาลัย
เปิดป.เอกสิ่งแวดล้อม มมส.นำร่องอินโดจีน
นักลงทุนรุ่นเยาว์ SCBS … อวดเทรนด์ธุรกิจอนาคต
เด็กไทยเจ๋งซิวเหรียญเงินโอลิมปิก ด้านดาราศาสตร์ระดับโลกครั้งแรก
สวช.ผลักดันเด็กไทยโชว์ผลงานระดับโลก
มอ.ถวายปริญญาดุษฎี “ในหลวง”
โครงการ “Fly THAI With Thai Artists” จัดนิทรรศการศิลปะ โดย 5 ศิลปิน
ชี้มหาวิทยาลัยต้องกล้าเตือน
มน.เจ้าภาพสัมมนานิสิตทั่วปท.
"ทักษิณ" จี้สกอ.ตั้งมหาวิทยาลัยอินเทอร์เน็ต
วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง
ดึง 3 มหาวิทยาลัยรับหน้าที่พี่เลี้ยงวชช.
นักเรียนไทยยอดเยี่ยม คว้า 7 รางวัล ประกวดสิ่งประดิษฐ์จาก 39 ประเทศ
ม.อียิปต์รับข้อเสนอไทยร่วมมือจัดตั้ง "วิทยาลัยอิสลาม"
แง้มห้องเรียนSMaRT School สร้างเด็กไทยสู่นักเทคโน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ก.วิทย์ผุดหอดูดาวอินทนนท์ใหญ่สุดในเอเชีย
ไอซีทีจับมือแอปเปิ้ลปั้นแอนิเมชั่นรุ่นใหม่
เสื้อเชิ้ตไฮเทคสำหรับคนแก่ฉลาดล้ำส่งข้อมูลล้มให้ลูกรู้
ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีแสง รับ-ส่งข้อมูลแทนคลื่นมือถือ
รพ.อุดรประดิษฐ์เครื่องดูดทิ้งน้ำปัสสาวะ เพิ่มประสิทธิภาพเตรียมตะกอนฉี่ส่งวิเคราะห์โรค
นาซาพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดนอกโลก
นาซาเล็งทดลองผ่าตัดไร้สายขั้นต่อไปผ่าตัดฉุกเฉินในอวกาศ
'สัปดาห์วิทย์'โชว์สุดยอดนวัตกรรม เนรมิตอิมแพคเป็นเมืองเทคโนโลยี
สทอภ.แจงสี่เบี้ยข้อดีดาวเทียมทีออส
ยานโซยุซเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักฟิสิกส์มช.ทำสำเร็จ ดอกไม้นาโนฯคาร์บอน
ญี่ปุ่นคิดเครื่องล่ามเที่ยวได้ทั่วโลก แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอื่นได้
ยางหนังกบกลายเป็นกาววิเศษ ปะติดกระดูกอ่อนหัวเข่ามนุษย์
นักวิจัย มก. คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยขนาดเล็ก ราคาถูก
ติดมีดหมอให้หุ่นยนต์แคปซูล ช่วยผ่าตัดลำไส้แทนมนุษย์
เกษตรอุบลฯเพิ่มมูลค่าผงไหม ผลิต'สบู่ไหมทอง'ลดรอยเหี่ยวย่น
นักวิจัยอาศัยพลังแม่เหล็ก นำส่งยาโจมตีเซลล์มะเร็ง
นักวิทย์ปริญญาเอกไทยสร้างชื่อระดับโลก ค้นพบเซลล์มนุษย์ผลิตมอร์ฟีนได้เหมือนฝิ่น
พัฒนาตาวิเศษติดรถยนต์เตือนภัยสิ่งที่คนขับมองไม่เห็น
รักษาอาการหน้ามืดเวียนหัวอย่างใหม่จับใส่เครื่องจำลองการบิน
เครือข่ายฝุ่นอัจฉริยะ
มจธ.หนุนโอโซนบำบัดแทนใช้สารเคมี
สองเอกชนไทยคว้านักเทคโนโลยีดีเด่น ผลงานเครื่องทำน้ำแข็งหลอด – ผลิตเลนส์ทนแรงขูดขีด
อุตสาหกรรมใหม่แปรรูป "เม็ดมัสตาร์ด" ผลิตสินค้าหลากชนิดอาหาร-ก๊าซชีวภาพ
พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
กล้องไฮเทคค้นหาเส้นเลือดก่อนแทงเข็ม
ม.เกษตรฯสร้างเชื้อเพลิงจากขยะกระดาษ ช่วยเอสเอ็มอีประหยัดน้ำมัน – ค่าฝังกลบของเสีย
ผู้ผลิตเครื่องดื่ม พัฒนาคอเทียม ทำงานแทนนักชิม
วิจัยใช้โทรมือถือระยะยาว เสี่ยงเป็นมะเร็งในโพรงหู
มจธ.เร่งวิจัยเพาะเห็ดนกยูง ชี้ช่องทางสร้างอาชีพให้ชาวราชบุรี

ข่าวทั่วไป

เดินหลังอาหารอัดฉีดชีวิต 2 ต่อ ย่อยอาหารดีกระปรี้กระเปร่าขึ้น
"อาเซียน" จับมือทำแผนต่อต้านการค้าสัตว์ป่า
ม.เกษตรพบทำเลเหมาะตั้งศูนย์พืชเมืองหนาว สถานีอ้อย จ.กาญจนบุรีผสมอ้อยและพืชหลายสายพันธุ์
พบรอยเท้าไดโนเสาร์เกือบ 600 รอยสวิตเซอร์แลนด์เตรียมเสนอเป็นมรดกโลก
ก.พลังงานรุกผลิตแก๊สโซฮอล์ แก้วิกฤติราคาน้ำมันในอนาคต
ยูเอ็นตั้งสมเด็จพระเทพฯเป็นทูตพิเศษอาหารโลก





ข่าวการศึกษา


รุกรัฐบาลเพิ่มเงินพนักงานมหาวิทยาลัย

ตามที่รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 3% และขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้มีการเพิ่มเงินพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและบริหารทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกคน 3% ทั้งยังขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งตามข้อเท็จ จริงแล้วแม้ว่าพนักงานมหาวิทยาลัยจะมีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยมีสัญญาจ้าง และการประเมินที่เข้มข้น แต่ไม่มีสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญ ในขณะที่ข้าราชการอยู่ได้จนเกษียณอายุ ดังนั้น เมื่อเทียบกับความมั่นคง พนักงานมหาวิทยาลัยจึงควรได้เพิ่มเงินเดือนด้วย เพื่อความเท่าเทียมกัน น.พ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทปอ.มีความเห็นตรงกันว่าควรจะเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย และได้เสนอความเห็นนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว แต่ยังไม่ได้ รับการตอบสนองในภาคปฏิบัติ ซึ่งในเร็วๆนี้ ทปอ.ก็ทำหนังสือเพื่อทบทวนเข้าไปที่ สกอ.อีกครั้ง ส่วนข้อเสนอแนะให้มหาวิทยาลัยนำเงินเหลือจ่ายมาเพิ่มเงินให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น เป็นวิธีการที่ดี แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจไม่มีเงินเหลือจ่ายพอ ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือปรับเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นอีก 3% และควรจะปรับให้พนักงานมหาวิทยาลัยชั้นผู้น้อยที่เทียบเคียงได้เท่ากับข้าราชการซี 1-7 ให้ขึ้นอีก 2 ขั้น จึงจะเป็นธรรม (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





เปิดป.เอกสิ่งแวดล้อม มมส.นำร่องอินโดจีน

รศ.ดร.วินัย วีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาวิทยาการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มมส. กำลังเปิดรับนิสิตระดับปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และสาขาการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอินโดจีน โดยเปิดรับสมัครเรียนตั้งแต่วันนี้-20 ต.ค. สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เปิดสอนทั้งระบบปกติและระบบพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) รับนิสิตจำนวน 10 คน ระบบพิเศษ รับนิสิตจำนวน 20 คน สามารถเลือกเรียนแขนงวิชาการจัดการศึกษาสิ่งแวดล้อม และแขนงวิชา การสื่อสารสิ่งแวดล้อม ส่วนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา) M.S. เปิดสอนทั้งระบบปกติ และระบบพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) และคาดว่าจะรับนิสิต ระบบปกติ 10 คน และระบบพิเศษ 20 คน (คมชัดลึก จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





นักลงทุนรุ่นเยาว์ SCBS … อวดเทรนด์ธุรกิจอนาคต

กิจกรรมโครงการธุรกิจในฝันของนักลงทุนรุ่นเยาว์ “SCBS Young Star Investor 2004” ของบริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ที่เปิดประตูความคิดเด็กไทยสู่โลกธุรกิจ มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 3,000 ชิ้น จาก 222 โรงเรียนทั่วประเทศ ก่อนที่จะคัดเลือกผลงานให้เหลือเพียง 20 สุดยอดความคิดสร้างสรรค์ โดยรางวัลธุรกิจสร้างสรรค์ดีเด่น ชนะเลิศ เป็นของน.ส.เบญญา โดยอาษา นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากผลงาน Eggstravaganza! สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายอลงกรณ์ พุทธคุณ นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ จากผลงาน “หลอดไฟเคลื่อนที่อัตโนมัติ” และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 น.ส.สถากร ทองเจริญพานิชนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จากผลงาน “ต้นไม้ไฮเทค” ส่วนผลงานที่เหลืออีก 17 ชิ้น ได้รับรางวัลธุรกิจคุ้มค่าน่าลงทุน พร้อมกันนี้ทุกรางวัลยังได้รับถ้วยรางวัล และร่วมเข้าค่ายพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เพื่อธุรกิจและการลงทุน “Creative Business Camp” ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นการเสริมทักษะการคิดเชิงธุรกิจด้วยการรับฟังการอบรมจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดอีกด้วย (สยามรัฐ จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





เด็กไทยเจ๋งซิวเหรียญเงินโอลิมปิก ด้านดาราศาสตร์ระดับโลกครั้งแรก

วันที่ 11 ต.ค. น.ส.ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า หลังจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยร่วมกับมูลนิธิโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)จัดส่งผู้แทนนักเรียน 2 คน คือ นายรักพงษ์ กิตตินราดร ร.ร.ราชวินิตบางแก้ว และนายประวีณ สิริธนศักดิ์ ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ นักเรียนระดับ ม.ปลาย เข้าร่วมแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่ประเทศยูเครน ตั้งแต่วันที่ 1-9 ต.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่านายรักพงษ์สามารถทำคะแนนจากการสอบภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และภาคสังเกตการณ์ จนได้รับรางวัลระดับเหรียญเงินจากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดจาก 19 ประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจัดส่งเด็กไทย ไปแข่งขันจนได้คำชมเชย จากคณะกรรมการจัดการแข่งขันว่าเป็นประเทศ ส่งเข้าแข่งขันใหม่แต่ได้รับรางวัลกลับไปด้วย น.ส.ประพีร์ กล่าวอีกว่า การได้รับรางวัลครั้งนี้ทำให้การเตรียมตัวส่งเด็กไปแข่งขัน ดาราศาสตร์โอลิมปิก ที่ประเทศจีนในปี 2548 เป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะรู้แนวทางการแข่งขัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจดาราศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากเป็นหนึ่งในวิชาภาคบังคับ ของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะรองรับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2550 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา นอกจากนั้น ไทยกำลังเจรจาขอจัดแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในปี 2550 ด้วย (ไทยรัฐ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





สวช.ผลักดันเด็กไทยโชว์ผลงานระดับโลก

นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้จัดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ" ณ หออัครศิลปิน โดยมีเยาวชนไทยจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมและมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านทัศนศิลป์จากศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศ.ประหยัด พงษ์ดำ ดร.ถวัลย์ ดัชนี และ อ.พิชัย นิรันต์ ซึ่งจากการอบรมดังกล่าวทำให้ได้ผลงานของนักศึกษาจำนวน 32 ชิ้น และในจำนวนดังกล่าวมี ผลงานจิตรกรรมของนักศึกษาจำนวน 8 คน ที่ ได้รับคัดเลือกให้นำไปจัดแสดงที่ประเทศสหรัฐ อเมริกา ในระหว่างวันที่ 15-28 ต.ค. ทั้งนี้ผลงานจิตรกรรมของเยาวชนที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านศิลปวัฒนธรรมและโครงการพระราชดำริ (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





มอ.ถวายปริญญาดุษฎี “ในหลวง”

รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์และปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก มอ.ประจำปีการศึกษา 2546 ซึ่งในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 4,463 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 3,3147คน ระดับปริญญาโท 1,134 คน และระดับปริญญาเอก 12 คน จากวิทยาเขตใหญ่ 2,568คน วิทยาเขตปัตตานี 1,180 คน เขตการศึกษาภูเก็ต 275 คน เขตการศึกษาตรัง 176 คน เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี 264 คน ในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยสงขลาฯ จะทูลเกล้าถวายปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(การจัดการสิ่งแวดล้อม) แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ จะพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ แก่บุคคลต่างๆ ดังนี้ ปริญญาทันตแทพยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศ.นพ.ทอง จันทร์ หงศ์ลดารมภ์, ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาธรณีฟิสิกส์ Associate Professor Dr.Lennart Hasselgren และปริญญาศิปลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย ศ.ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ นอกจากนี้ จะพระราชทานโล่เกียรติยศ สำหรับผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ แก่นายสุภาพ ศรีทรัพย์ จ.จังหวัดชุมพร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชุมชนในภาคใต้ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรางวัลอาจารย์ดีเด่น กองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่อนุสรณ์ ประจำปี 2547 แก่ รศ.ประดิษฐ์มีสุข คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยจะเข้ารับพระราชทานปริญญา และรับพระราชทานโล่เกียรติยศ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ 14 ต.ค.2547 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา (สยามรัฐ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





โครงการ “Fly THAI With Thai Artists” จัดนิทรรศการศิลปะ โดย 5 ศิลปิน

มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงการ “Fly THAI With Thai Artists” ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทยให้แพร่หลายไปยังนานาชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้ศิลปินและนักศึกษาศิลปะได้สร้างสรรค์และพัฒนางานศิลปะสู่สาธารณชนอีกแนวทางหนึ่ง จากความสำเร็จของการจัดโครงการครั้งนี้ส่งผลให้ 5 ศิลปินชั้นนำ อันประกอบด้วยสมภพ บุตราช ประทีป คชบัว ชยานันท์ อาวะโต สุวัฒน์ วรรณมณี และชัยณรงค์ กองกลิ่น ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานวาดเส้นบนสายการบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เกิดแรงบันดาลใจและพร้อมกันสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวออกจัดแสดงเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีศิลปินรับเชิญที่ร่วมสร้างสรรค์งานอีก 2 ท่าน ได้แก่ ถาวร โกอุดมวิทย์ ญาณวิทย์ กุญแจทอง การจัดการแสดงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงขององค์กรที่ให้การสนับสนุนและเห็นคุณค่าของผลงานศิลปะของศิลปินไทย โดยกำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม-26 พฤศจิกายน 2547 ณ ห้องโถง อาคารสำนักงานการบินไทย จำกัด (มหาชน) (สยามรัฐ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





ชี้มหาวิทยาลัยต้องกล้าเตือน

นายอำพล เสนาณรงค์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอนาคต" เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ว่า ที่ผ่านมามก. ถือว่าเป็นแหล่งรวมการวิจัย การค้นคว้าทดลอง การศึกษา การเรียนการสอนและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร แต่ในอนาคตอาชีพของคนไทยไม่ได้เน้นที่อาชีพเกษตรกรอย่างเดียว แต่จะมีอาชีพอื่นเข้ามาเสริมด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพื้นบ้าน หรือหัตถกรรม ดังนั้น มก.ต้องพัฒนาหลักสูตรให้ผสมผสานกับอาชีพเหล่านี้ด้วย ขณะเดียวกันมก.ต้องวางแผนในการจัดสภาพแวดล้อมให้ดี ไม่เช่นนั้นอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาเหมือนกรุงเทพมหานคร จึงต้องจัดทำแผนแม่บทมหาวิทยาลัย และกระจายงานไปยังวิทยาเขตให้มากขึ้น และที่สำคัญนอกจากจะฝึกให้นิสิตเป็นคนกล้าพูด กล้าเขียน กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ต้องสอนให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยด้วยเพื่อบัณฑิตจะได้มีคุณภาพ และมั่นใจที่จะออกไปรับใช้สังคม นายชวน หลีกภัย กรรมการสภาฯ มก. กล่าวว่า ในช่วง 20 ปี ตนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาหลายแห่ง เห็นว่านอกจากสถาบันอุดมศึกษาจะต้องดำเนินงานตามภารกิจของชาติแล้ว ยังควรมีการกำหนดนโยบายการดำเนินงานล่วงหน้าให้ชัดเจน และกว้างไกลอย่างน้อย 10 ปี มหาวิทยาลัยต้องชี้นำสังคมให้มากขึ้น มีข้อมูลกล้าทักท้วงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (เดลินิวส์ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





มน.เจ้าภาพสัมมนานิสิตทั่วปท.

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สำหรับในปี 2547 สภานิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาสภานิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2547 ณ อาคารเรียนรวมคณะวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะมีผู้นำนิสิต-นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยภาครัฐ-เอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยสาธารณสุข สถาบัน 4 เหล่าทัพ จากทั่วประเทศ รวม 165 สถาบัน จำนวนกว่า 400 คน เดินทางเข้ามาร่วมสัมมนาในงานดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำให้แก่ผู้นำนิสิต การระดมความคิดพัฒนากิจกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น ทัศนคติ แนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อนำความรู้ทักษะและประสบการณ์ที่ได้ไปขยายผลในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกิจกรรมภายในงานมีการจัดเสวนา การประชุมกลุ่มย่อย Walk Rally ศึกษาสถานที่สำคัญของเมืองพิษณุโลก และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ โดยมหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นประธานในพิธีเปิด การสัมมนาในครั้งนี้และกล่าวบรรยายพิเศษ (เดลินิวส์ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





"ทักษิณ" จี้สกอ.ตั้งมหาวิทยาลัยอินเทอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2547 นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้นำผู้บริหารศธ. 5 องค์กรหลักเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่บ้านพิษณุโลก เพื่อรายงานผลดำเนินงานของศธ.ในการเตรียมการแถลงผลงานรัฐบาล นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอ.) เปิดเผยว่า นายกฯได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ช่วยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้จัดการศึกษามีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้มหาวิทยาลัยรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการบริหารจะมีความคล่องตัวสูง ถ้าไม่ใช่ระบบราชการ และนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยจัดการศึกษาให้มากขึ้น ได้แนะสกอ.ให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยจัดการศึกษาให้มากขึ้น และอยากให้ตั้งมหาวิทยาลัยในไซเบอร์ สเปซ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอินเทอร์เน็ตของสกอ. โดยระดมมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่มีความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมกันวางระบบการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต นายกฯได้ขอให้สกอ.ส่งเสริมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัยมากขึ้น จะได้นำความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม และให้สอศ.ร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ยกระดับการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่แรงงานไทยที่มีกว่า 20 ล้านคน และให้เน้นผลิตบุคลากรสาขาที่ประเทศต้องการเช่น คอมพิวเตอร์ แฟชั่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ฯลฯ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง

รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิการภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวถึงความหมายของโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น “โครงการนี้จะเน้นไปที่การพัฒนาให้ครูเก่งขึ้น ในด้านการสอนวิทยาศาสตร์ โดยที่จะต้องไปตั้งโจทย์วิจัยจากเรื่องราวในท้องถิ่น จากนั้นลงไปค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ไปสัมผัสท้องถิ่นด้วยตนเอง ดังนั้นครูจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าตัวเขาได้เรียนรู้ เขารู้ว่าจะไปหาความรู้ในท้องถิ่นได้อย่าไง ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชน ผู้นำชาวบ้านสถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์” โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ที่เป็นงานวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับท้องถิ่นจากครูทั่วประเทศมีอยู่ทั้งหมด 44 โครงการ ซึ่งเมื่อครูได้ลงไปทำงานสัมผัสพื้นที่ท้องถิ่นแล้ว ก็สามารถเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ของพื้นที่ด้วย เช่น มิติทางสังคม ทางวัฒนธรรมประเพณี ตัวอย่างเช่นเรื่องหลักสูตรโคมลอย ทำให้สืบสาวไปถึงอดีตว่า แต่ก่อนนั้นสร้างโคมลอยขึ้นมาเพื่ออะไร เป็นวิถีชีวิตอย่างไร แต่ว่าในขณะเดียวกันโคมลอยก็สามารถใช้เป็นตัวอย่างในการสอนเรื่องพลังงานได้ด้วย เรื่องความร้อนทำให้ลอยตัว ครูสามารถพัฒนาเป็นสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ได้อีกทางหนึ่ง ได้มีการจัดแสดงพร้อมทั้งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างคุณครูผู้ทำโครงการ นักเรียน รวมถึงผู้บริหารของโรงเรียนที่เป็นแหล่งต้นทางของโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นนั้นด้วย โดยจะมีโครงการเด็ดๆ มาร่วมแสดงผลงานถึง 20 โครงการ อาทิ นาข้าวรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ, น้ำพุร้อนแม่จัน เชียงราย, การอนุรักษ์หอยนางรมตามธรรมชาติ บ้านแหลม ตรัง หรือแมลงหกขาพาสนุก บุรีรัมย์ เป็นต้น ในงานการประชุมวิชาการ วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม 2547 ณ ห้องแกรนด์บอลลูม โรมแรมมิราเคิลแกรน์ กรุงเทพฯ (สยามรัฐ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





ดึง 3 มหาวิทยาลัยรับหน้าที่พี่เลี้ยงวชช.

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยผลการหารือนโยบายในปี 2548 ของวิทยาลัยชุมชน (วชช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในปี 2548 จะดำเนินการเปิด วชช. 17 แห่ง ใช้เงินงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะทดลองให้มหาวิทยาลัย 3 แห่ง เป็นพี่เลี้ยง คือ ม.นเรศวร จะดูแล จ.พิจิตร ม.อุบลราชธานี จะดูแล จ.มุกดาหาร และ ม.ราชภัฏอุดร จะดูแล จ.หนองบัวลำภู สิ่งที่มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงต้องทำอันดับแรก คือทำความเข้าใจในหลักการของ วชช. เพราะที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดคิดว่า วชช.คือสถาบันการศึกษาของรัฐ ที่จะได้รับงบก่อสร้างและจัดจ้างทุกสิ่งจากรัฐ ไม่ต่างกับวิทยาลัยอาชีวะอีกแห่งหนึ่ง ทั้งที่จริง วชช.เป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา และมีชุมชนเป็นเจ้าของ โดยรัฐไม่ได้อุดหนุนงบ แต่อาจจะจัดหาบุคลากรจากท้องถิ่น ซึ่งรูปแบบโครงสร้างการดำเนินงาน วชช.ทุกแห่งจะแตกต่างกันตามความต้องการของชุมชน และมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงต้องทำเพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก สำหรับหลักสูตร วชช.ควรเปิดสอนสาขาที่ต่างกับวิทยาลัยอาชีวะ เช่น การสร้างบุคลากรระดับผู้ช่วยในสายวิชาชีพ เช่น ผู้ช่วยแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยเภสัชกร เจ้าหน้าที่ร้านแว่นตา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงสัปเหร่อ เพราะอาชีพเหล่านี้เป็นความต้องการของชุมชน แต่ขาดการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ วชช.จะเข้าไปยกระดับการศักยภาพบุคลากรในทุกสาขาวิชาชีพ (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 15 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





นักเรียนไทยยอดเยี่ยม คว้า 7 รางวัล ประกวดสิ่งประดิษฐ์จาก 39 ประเทศ

นายอดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันได้ทุกผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (Future Creation Excellence Award ) จำนวน 3 ชิ้น ได้แก่ คีมตอนกิ่ง จากการประดิษฐ์ของ ด.ช.กิตติ บางเขน นักเรียนชั้น ม.3 และ ด.ช.สุรชัย ลำน้ำ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวัดโพธิ์งาม จ.ชัยนาท รีโมตควบคุมสัญญาณไฟฟ้า จากการประดิษฐ์ของ น.ส.ดวงธรรม โชคธุลีกร น.ส.ปัญญาเนตร สุขสุภาพชน นักเรียนชั้น ม.4 น.ส.ณัฐยา อัตเศรณีย์ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ อุปกรณ์ทำผ้าบาติก จากการประดิษฐ์ของ น.ส.หทัยกาญย์ สุดสายทอง น.ส.จารุณี ชัยสิงการ น.ส.อลิสา จุฑาพันธ์ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ นักเรียนที่ได้รับรางวัล Future Creation Award จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ กังหันลมพลังลม จากการประดิษฐ์ของ ด.ช.กฤษดา นาวิก นักเรียนชั้น ป.6 ด.ญ.หทัยการณ์ สุริยะกานต์ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนอนุบาลหนองขุนชาติ จ.อุทัยธานี กับดักแมลงวัน จากการประดิษฐ์ของ ด.ญ.ภัควดี ราโช ด.ญ.จุฬาลักษณ์ ชูสงค์ ด.ช.ธนกฤษณ์ นาวีระ นักเรียน ชั้น ป.5 โรงเรียนอนุบาลชัยนาท จ.ชัยนาท รถหว่านปุ๋ย จากการประดิษฐ์ของ นายดงศักดิ์ สงศ์นาเครือ นายภราดร สานินจักร นักเรียน ชั้น ม.4 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง และอุปกรณ์จำลองสถานการณ์การเชื่อมไฟ จากการประดิษฐ์ของ นายณัฐพงศ์ ขุนพร้อม วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 16 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ม.อียิปต์รับข้อเสนอไทยร่วมมือจัดตั้ง "วิทยาลัยอิสลาม"

มหาวิทยาลัยอัลฮัตซาร์ ประเทศอียิปต์ พร้อมรับข้อเสนอในหลักการของไทย ภายใต้ความร่วมมือจัดตั้งวิทยาลัยอิสลาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนราธิวาสที่จะเปิดใหม่ ด้านไทยเร่งเตรียมความพร้อมจัดสอนภาษาอารบิกให้ผู้สนใจ รอป้อนวิทยาลัยอิสลาม รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยกับ "คม ชัด ลึก" ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามว่าขณะนี้ได้รับการประสานกับสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทยว่า จากข้อเสนอเบื้องต้นที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอรูปแบบที่กำหนดให้วิทยาลัยอิสลามที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนราธิวาส ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอัลฮัตซาร์ ประเทศอียิปต์ ได้ตอบรับให้ความร่วมมือในการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่ประเทศไทยได้กำหนด ทางสถานทูตอียิปต์ยังเสนอให้ไทยเร่งพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอารบิกให้นักเรียนไทยในเขตภาคใต้ เพราะเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการเรียนการสอนในสาขาวิชาศาสนา ซึ่งเด็กภาคใต้นิยมศึกษาต่อ ดังนั้นขณะที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสยังไม่ได้จัดตั้งขึ้น ทาง สกอ. จะได้จัดการสอนภาษาอารบิกในสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมถึงที่กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มฐานความเข้มแข็งด้านภาษาให้เด็กล่วงหน้า (คมชัดลึก 16 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





แง้มห้องเรียนSMaRT School สร้างเด็กไทยสู่นักเทคโน

SMaRT School เป็นหนึ่งในโครงการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือ สสวท.มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่องการเรียนการสอนสาระการออกแบบ และเทคโนโลยีของประเทศไทยในการพัฒนาหลักสูตร สื่อ กิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้ง ครู ให้จัดการเรียนการสอนในวิชาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง นักเรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์ และลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้ศักยภาพของ ICT เป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับอังกฤษ โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้ สสวท.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสาระการออกแบบ และเทคโนโลยี นำกิจกรรมมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับเด็กไทย โดยนำบางส่วนในหลักสูตร Design & Technology ของอังกฤษมาทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง ซึ่งช่วงแรกระดับประถมศึกษาคือโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ส่วนระดับมัธยมศึกษาเลือกโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อาจารย์อุปการ จีระพันธุ หัวหน้าโครงการเทคโนโลยี สสวท. กล่าวว่า การนำโครงการ SMaRT School มาใช้ในระดับประถมจะเน้นให้นักเรียนเรียน Primary Design & Technology ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานวิชาการออกแบบฯ ในขั้นต้นด้วยการให้เด็กเล็กได้ฝึกออกแบบร่างภาพ ทำต้นแบบ และเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น รวมทั้งฝึกใช้เครื่องมือ วัสดุ และอุปกรณ์เพื่อทำงานอย่างปลอดภัย เด็กสามารถทำงานได้ง่ายๆ โดยไม่ใช้เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่เป็นอันตราย มุ่งเน้นให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ข้อสำคัญการเรียนการสอนสาระการออกแบบฯ ในโครงการ SMaRT School ต้องการให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบ มีครูเป็นผู้กำหนดกรอบเพื่อให้เด็กทำตามโครงการโดยเริ่มจากความต้องการ หรือปัญหาของเด็กที่ต้องการจะทำชิ้นงานใดๆ ออกมา ในส่วนของทรัพยากรที่เตรียมไว้ให้เด็กเป็นโจทย์นั้นมีครูเป็นผู้กำหนด และให้นักเรียนลงมือทำภายในเวลาที่ตั้งไว้โดยไม่มีแบบร่าง งานที่ออกมาจึงเกิดจากความคิดของเด็ก ความยากง่ายของการเรียนสาระการออกแบบฯ ซึ่ง สสวท.นำแนวทางของ SMaRT School มาใช้จึงได้จัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับวัยของผู้เรียน เริ่มจากชั้น ป.1 ใช้แผ่นกริด เป็นกระดาษที่ใช้ในการร่างแบบ ป.2 จะประดิษฐ์ชิ้นงานจากวัสดุเหลือใช้ หรือเมื่อนักเรียนโตถึง ป.5 สามารถใช้เทคโนโลยีในระดับที่ซับซ้อนขึ้นได้ก็จะนำกระดานอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Interactive White Board มาใช้ประกอบการเรียน (มติชนรายวัน อาทิพย์ที่ 17 ต.ค. 47 http://www.matichon.co.th)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ก.วิทย์ผุดหอดูดาวอินทนนท์ใหญ่สุดในเอเชีย

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ และมีมติอนุมัติงบจำนวน 300 ล้านบาท ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการจัดสร้างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และหอดูดาวแห่งชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2550 นั้น สำหรับหอดูดาวกำหนดเป็นห้องดูดาว ที่มีมาตรฐานระดับโลก กำหนดใช้พื้นที่บนยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง เพราะเป็นสถานที่เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 2,500 เมตร ทำให้ท้องฟ้าเปิดเกือบตลอดทั้งปี ส่วนการก่อตัวของเมฆก็อยู่ในระดับต่ำกว่ายอดดอย จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการดูดาว โดยกรมอุทยานแห่งชาติได้มอบที่ดินบริเวณที่ทำการอุทยานดอยอินทนนท์ เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารสำหรับติดตั้งกล้องดูดาว ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 เมตร ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ หรือ "โลว์บอลติก" ซึ่งเป็นระบบหุ่นยนต์ที่สามารถสั่งงานควบคุมระยะไกล จึงสามารถมองได้ไกลถึงนอกระบบสุริยจักรวาล โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของประเทศ มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด รวมทั้งยังทำให้เกิดความร่วมมือในด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และยังช่วยกระตุ้นให้เยาวชนสนใจเข้ามาเรียนรู้และศึกษาในด้านนี้มากขึ้น โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านวิชาการทางดาราศาสตร์ของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ 80 พรรษา (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ไอซีทีจับมือแอปเปิ้ลปั้นแอนิเมชั่นรุ่นใหม่

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เพื่อดำเนินนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาแอนิเมชั่นอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงได้ร่วมกับบริษัทแอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ในการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของเครื่องแมคอินทอช อีแมค จีโฟว์ ในราคาพิเศษที่ 29,900 บาท จากเดิมที่ราคา 39,900 บาท โดยโครงการ "แมค อัพ ยัวร์ ไลฟ์"นี้เป็นการเปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไป มีโอกาสเป็นเจ้าของเครื่องแมคอินทอช และได้รับการอบรมความรู้เบื้องต้นในการใช้เครื่องมือเพื่อการพัฒนาแอนิเมชั่น โดยโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.-15 ธ.ค.นี้ ผู้สนใจสามารถจองเครื่องด้วยการจ่ายเงิน 5,000 บาท และจะได้รับเครื่องภายใน 2 สัปดาห์หลังการจองเครื่อง สำหรับกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้ ได้แก่ ผู้ที่สนใจมัลติมีเดียและนักพัฒนาแอนิเมชั่นมือใหม่ ที่ต้องการลงทุนต่ำและต้องการเริ่มทำธุรกิจเป็นนักพัฒนา รวมถึงกลุ่มนักศึกษาและผู้ที่สนใจแอนิเมชั่น โดยแอปเปิ้ลตั้งเป้าที่จะจำหน่ายเครื่องแมคอินทอชผ่านโครงการนี้ได้ถึง 2,000 เครื่องจนถึงสิ้นปีนี้ สำหรับการรองรับโครงการจะทำการส่งเครื่องผ่านตัวแทนจำหน่ายคือ บริษัทเดอะแวลู ซิสเต็มส์ โดยมีสินค้าพร้อมส่งให้กับผู้สั่งจองเบื้องต้น 300-400 เครื่อง โดยผู้ที่ซื้อเครื่องจะได้รับสิทธิในการอบรมความรู้เกี่ยวกับแอนิเมชั่น โดยจะอบรมทักษะได้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันอิมเมจิแมค และบริษัทดิจิตอลซาวด์ (คมชัดลึก จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





เสื้อเชิ้ตไฮเทคสำหรับคนแก่ฉลาดล้ำส่งข้อมูลล้มให้ลูกรู้

หนังสือพิมพ์รายวัน เดอะ สเตรทส์ ไทม์ ในสิงคโปร์ รายงานว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบลูทูธมาเป็นส่วนหนึ่ง ของการพัฒนาเสื้อเชิ้ตไฮเทคสำหรับผู้สูงอายุ โดยเมื่อเกิดอุบัติเหตุลื่นหกล้ม จะสามารถส่งผ่านข้อความเตือนในรูปแบบเอสเอ็มเอสไปยังโทรศัพท์มือถือ หรือส่งอีเมล์ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องตามที่ได้ทำการบันทึกไว้ทันที รองศาสตราจารย์ฟรานซิส เทย์ จากสถาบันวิจัยด้านไบโอเอ็นจิเนียริ่ง และนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของคนสิงคโปร์ จะมีอายุเกิน 65 ปี และจากจำนวนนี้มีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุคือ การลื่นหกล้ม ซึ่งหากปราศจากการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้วอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครราว 40 คน ปรากฏว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 100% เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถส่งผ่านข้อความเร่งด่วน เมื่อเกิดอุบัติเหตุการลื่นหกล้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ไทยรัฐ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีแสง รับ-ส่งข้อมูลแทนคลื่นมือถือ

สมาคมวิซิเบิล คอมมิวนิเคชั่นส์ กลุ่มความร่วมมือของบริษัทไอที 12 แห่งในญี่ปุ่น เสนอแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากแสงไฟแอลอีดี เพื่อการรับ-ส่งสัญญาณสื่อสารแทนเทคโนโลยีไร้สาย คาดมีความเร็วสูงสุด 500 เมกะบิตต่อวินาที นายมาซาโอะ นาคากาวา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาเคโอะ นักวิจัยในสมาคมดัง กล่าวเปิดเผยว่า หลอดแอลอีดีขาวสามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็ว 80 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่สีแดงและเขียว สามารถย้ายข้อมูลได้ที่ความเร็ว 200 เมกะบิตต่อวินาที และ 500 เมกะบิตต่อวินาที ตามลำดับ และด้วยเทคโนโลยีตัวนี้จะช่วยค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในตึก ซึ่งผูกโทรศัพท์มือถือติดไว้กับไฟเพดาน สำหรับระบุตำแหน่งที่แท้จริงของเขาหรือเธอได้คล้ายๆ กับรถยนต์ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านไฟหน้าและไฟท้าย ขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์ในรถยนต์จะบอกคนขับได้ว่ามีหล่มขนาดใหญ่อยู่ข้างหน้า ด้านนายชินิชิโร ฮารุยามา ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และข้อมูลของมหาวิทยาลัยเคโอะ กล่าวว่า แสงมีข้อดีมากกว่าเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายหลายประการ อาทิ การป้องกันความเป็นส่วนตัวที่ทำได้ง่ายขึ้น เช่น เพียงปิดประตูหรือหน้าต่าง หรือเก็บมือถือไว้ในกระเป๋า คนอื่นก็จะไม่อาจล้วงข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือที่สามารถสื่อสารกับหลอดแอลอีดีได้ (คมชัดลึก พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





รพ.อุดรประดิษฐ์เครื่องดูดทิ้งน้ำปัสสาวะ เพิ่มประสิทธิภาพเตรียมตะกอนฉี่ส่งวิเคราะห์โรค

นายอมร เตียงพิทยากร เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ 8 โรงพยาบาลอุดรธานี ผู้ประดิษฐ์เครื่องดูดทิ้งน้ำปัสสาวะ กล่าวว่า การตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยโรครวมถึงติดตามผลการรักษาผู้ป่วย จะต้อง นำน้ำปัสสาวะของผู้ป่วยมาพักไว้ เพื่อรอให้ตกตะกอน จากนั้นจะใช้เฉพาะตะกอน ซึ่งมีเซลล์ผู้ป่วยปะปนอยู่ด้วย โดยปริมาตรตะกอนที่แพทย์ต้องการนั้น เพียง 1 มิลลิลิตรเท่านั้น ขณะที่ต้องเทปัสสาวะที่เหลือทิ้งถึง 10 มิลลิลิตร โดยจะคาดคะเนด้วยสายตา บางครั้งอาจเกิดการผิดพลาด ทำให้วิธีการดังกล่าวยังไม่ได้มาตรฐาน และอาจส่งผลให้การวินิจฉัยโรคของแพทย์ขาดคุณภาพ เมื่อเกิดการผิดพลาดก็จำเป็นต้องขอปัสสาวะจากผู้ป่วย เพื่อตรวจวินิจฉัยซ้ำใหม่ จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จึงประดิษฐ์เครื่องดูดทิ้งน้ำปัสสาวะ เพื่อทำหน้าที่แทนการคาดคะเนด้วยสายตา โดยเครื่องจะดูดทิ้งเฉพาะส่วนใสของน้ำปัสสาวะ และเหลือส่วนที่เป็นตะกอน ทั้งยังสามารถปรับปริมาตรตะกอนปัสสาวะ ที่คงเหลืออยู่ในหลอดได้ตามต้องการ ในอัตราการดูดประมาณ 14 มิลลิลิตรต่อวินาที "ภายในเครื่องจะบรรจุปั๊มน้ำขนาดเล็กและมอเตอร์ ทำหน้าที่ดูดน้ำปัสสาวะจากหลอดดูด จากนั้นส่งผ่านปัสสาวะออกทางท่อน้ำทิ้งขนาดเล็ก ที่สามารถปรับปริมาตรการดูดปัสสาวะให้ตรงตามที่ต้องการได้ โดยประสิทธิภาพของเครื่องดังกล่าว ทำให้การตรวจนับจำนวนตะกอนปัสสาวะแม่นยำและถูกต้อง จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยของแพทย์จากตะกอนปัสสาวะมีความถูกต้องมากขึ้น ตรงตามมาตรฐานโรงพยาบาล (HA) โดยปัจจุบันเครื่องดูดทิ้งน้ำปัสสาวะได้ผลิตใช้ภายในโรงพยาบาลอุดรธานี และจำหน่ายให้สถานพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





นาซาพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดนอกโลก

ทิม โบรเดริก ศัลยแพทย์จากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ โอไฮโอ ทีมงานนีโม 7 เปิดเผยว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ ดำเนินโครงการทดสอบผ่าตัดใต้ทะเลในโครงการ "นีโม 7" โดยส่งทีมนักบินอวกาศ 4 นาย ดำดิ่งสู่ห้องปฏิบัติการใต้ทะเลอควาเรียส ที่อยู่ลึกลงไปใต้ทะเล 19 เมตร ในคีย์ ลาร์โก ฟลอริดา สหรัฐ เพื่อช่วยดำเนินการจำลองการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ในการทดลองครั้งนี้ ศัลยแพทย์บนพื้นโลกจะใช้ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดซีอุส โดยใช้คลื่นอากาศในการส่งข้อมูลแทนที่ใช้สายเคเบิลใต้ทะเล เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของมือหุ่นยนต์ผ่าตัดที่อยู่ในห้องปฏิบัติการอควาเรียส โดยซีอุสมีแขนหุ่นยนต์ 2 แขน และมีแขนที่ติดตั้งกล้องส่องอวัยวะภายในขนาดเล็ก ซึ่งสามารถควบคุมได้จากแผงหน้าปัดของเครื่องผ่าตัดและโดยที่ควบคุมผ่านคันบังคับ ในปฏิบัติการผ่าตัดครั้งนี้ รวมถึงปฏิบัติการทดลองผ่าตัดถุงน้ำดี แม้จะเป็นเพียงการฝึกผ่าตัดกับหุ่นจำลองสำหรับใช้ฝึกผ่าตัดเท่านั้น แต่นับว่าเป็นการทดลองครั้งสำคัญซึ่งหากประสบผลสำเร็จ การผ่าตัดทางไกลนี้อาจจะนำไปใช้ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เพื่อผ่าตัดฉุกเฉินให้กับนักบินอวกาศที่ยังปฏิบัติการอยู่ที่สถานี อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติการผ่าตัดทางไกลนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ ระยะเวลาหาหน่วยของสัญญาณ ซึ่งหากสัญญาณระหว่างปลายทางกับต้นทางห่างกันเกิน 0.7 วินาที อาจมีผลต่อการผ่าตัดได้ สำหรับระยะห่างจากโลกกับสถานีอวกาศนั้นไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นระยะห่างจากโลกกับดาวอังคาร อาจมีผลกระทบอยู่บ้าง ในการทดลองครั้งนี้ ยังได้เตรียมการเผื่อไว้ในกรณีสัญญาณขาดหายด้วย โดยจะให้นักบินอวกาศเป็นผู้ลงมือผ่าตัดเองตามคำบอกของแพทย์บนโลก ด้านนายเดฟ วิลเลียมส์ นักบินอวกาศ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการทดลองครั้งนี้ ให้เหตุผลถึงการเลือกติดตั้งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทางไกลบนสถานีอวกาศนานาชาติ แทนที่จะนำตัวนักบินกลับมารักษาบนโลกว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับโลกสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





นาซาเล็งทดลองผ่าตัดไร้สายขั้นต่อไปผ่าตัดฉุกเฉินในอวกาศ

รายงานของนิตยสาร "นิวไซเอนทิสต์" แจ้งว่า จะทำการทดลอง "นีโม 7" ซึ่งเป็นการผ่าตัดจำลองในห้องทดลองใต้ทะเล โดยศัลยแพทย์จะอยู่ห่างตัวเครื่องออกไป 1,250 ไมล์ และมันน่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยการผ่าตัดไร้สายครั้งแรกของโลก โดยศัลยแพทย์ผู้ควบคุมการผ่าตัดครั้งนี้คือ นายแพทย์เมห์ราน อันวาริ ในออนตาริโอ จะใช้ระบบหุ่นยนต์ซีอุส (Zeus) ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ ที่ในห้องทดลองอะควาเรียสซึ่งอยู่ใต้ทะเล 19 เมตร นอกชายฝั่งที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริการะบบหุ่นยนต์ซีอุส ประกอบด้วยแขนหุ่นยนต์ 2 ข้าง และแขนที่มีกล้องอยู่ในตัว อีก 1 ข้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ควบคุมการทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และแท่งควบคุมจอยสติ๊ก สำหรับการทดลองครั้งนี้อาจนำไปสู่การผ่าตัดมนุษย์อวกาศที่ทำงานอยู่บนสถานีอวกาศนานา ชาติต่อไป (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 15 ต.ค.47 http://www.thairath.co.th)





'สัปดาห์วิทย์'โชว์สุดยอดนวัตกรรม เนรมิตอิมแพคเป็นเมืองเทคโนโลยี

นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงได้มอบหมายสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัท กันตนา ออร์แกนไนท์เซอร์ แมนเนเม้นท์ จำกัด เป็นแกนนำจัดงานวันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำ 2547 นี้ ระหว่างวันที่ 19-23 ต.ค. ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยใช้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ งานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมนับพันชิ้น รวมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนตื่นตัวที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านนางปฎิมา ตันติคมน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกันตนา ออร์แกนไนท์ฯ ซึ่งดำเนินการจัดรูปแบบงาน กล่าวว่า งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ จะใช้เนื้อที่ถึง 47,000 ตารางเมตรของอาคารนิทรรศการในอิมแพค เมืองทองธานี เพื่อรองรับกลุ่มนิทรรศการถึง 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งจะจัดแสดงผลงานความก้าวหน้าที่กำลังเป็นที่จับตามองของศูนย์ไบโอเทค เช่นการปลูกถ่ายอวัยวะเทียม หรือผลงานการค้นพบและเพาะพรรณไม้ชนิดใหม่ที่ชื่อว่า ‘มหาพรหมราชินี’ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแสดงเทคโนโลยีสมาร์ทการ์ด และบ้านอัจฉริยะสำหรับคนพิการ กลุ่มนาโนเทคโนโลยี กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนโลหะวัสดุและหุ่นยนต์อัจฉริยะ ซึ่งจะแบ่งเป็นโซนรถยนต์ โซนผ้าไหม โซนวัตถุดิบ หุ่นยนต์อัจฉริยะ เครื่องร่อนกระดาษ กลุ่มพลังงานจะแสดงตัวอย่างบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มเทคโนโลยีการใช้แสงอิเล็กตรอน ซึ่งจะแสดงการใช้ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร และกลุ่มเด็กอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการจำลองรถไฟฟ้าแม่เหล็กสูงแบตเตอรี่จากผลไม้ และเกมวิทยาศาสตร์ลับสมอง "ไฮไลต์ของงานอยู่ที่สกายโดมและแลนด์มาร์ค ซึ่งมีลักษณะคล้ายโดมฉายดวงดาวของท้องฟ้าจำลอง โดยจะนำเสนอผลงานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงษานุวงศ์ นอกจากนี้ กระทรวงต่างๆ ร่วมนำผลงานมาแสดง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะแสดงผลงานการปลูกผักปลอดสารพิษ และการเพาะเลี้ยงปลากะลังจุดฟ้า ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ไทยเพาะพันธุ์ได้สำเร็จเป็นประเทศแรก ภาพลายพิมพ์ดีเอ็นเอพันธุ์ข้าว กระทรวงอุตสาหกรรมจะแสดงระบบความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร กระทรวงสาธารณสุขจะแสดงนิทรรศการสมุนไพร และการแพทย์แผนไทย กระทรวงคมนาคมจะสาธิตเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ระบบดาวเทียมสำรวจร่องน้ำของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และแผนที่อินเตอร์แอคทีฟของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ส่วนกระทรวงกลาโหมจะแสดงการจำลองสถานการณ์รบ และหุ่นจำลองเครือข่ายการสื่อสารโดยอาศัยบอลลูนรอบอ่าวไทย (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 16 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





สทอภ.แจงสี่เบี้ยข้อดีดาวเทียมทีออส

นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ดาวเทียมทีออส (THEOS) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีอวกาศด้านการสำรวจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลภูมิสารสนเทศทั่วโลก โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลฝรั่งเศสในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านอวกาศและการสร้างดาวเทียม ดาวเทียมทีออสได้รับการออกแบบมาเพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรม ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการติดตามผู้ก่อการร้าย เนื่องจากมีขีดความสามารถในการบันทึกภาพขาว-ดำ (Panchoromatic) ด้วยรายละเอียดภาพ 2 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ 22 กิโลเมตร และบันทึกภาพสี (Multispectral) รายละเอียดภาพ 15 เมตร ความกว้างแนวภาพถ่าย 90 เมตร และมีอายุการใช้งาน 5-7 ปี "ดาวเทียมดวงนี้สามารถถ่ายภาพได้ทั่วโลก เราอยากได้ภาพถ่ายภูมิศาสตร์ หรือดูการเพาะปลูกของประเทศคู่แข่งเราก็สามารถทำได้ ซึ่งตามนโยบายเปิดน่านฟ้าของสหประชาชาติถือว่าไม่ผิดกติกา ทีนี้เวลาประเทศไหนอยากได้ภาพถ่ายของประเทศตัวเองเขาก็สามารถสั่งซื้อมาที่ไทยได้" นายชาญชัย กล่าวในงานสัมมนา Thai-French Cooperation Seminar on THEOS : A New Dimention of Thai Sattellite เพื่อนำเสนอภาพรวมของโครงการพัฒนาดาวเทียม ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้จากดาวเทียม THEOS จะช่วยให้การปรับปรุงแผนที่สามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และให้รายละเอียดได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปีเท่านั้นในการปรับปรุงแผนที่ จากแต่เดิมต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 10-20 ปี คาดว่าดาวเทียมนี้พร้อมจะยิงขึ้นสู่วงโคจรในปีถัดไป ที่เกาะเฟรนซ์ กีอานา ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส และสามารถใช้งานได้ทันทีหลังจากปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 16 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ยานโซยุซเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติ

โครอลยอฟ- ยานอวกาศโซยุซ ทีเอ็มเอ-5 ได้เข้าเชื่อมต่อสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว หลังจากทะยานขึ้นจากฐานปล่อยในเมืองไบโคนูร์ ในคาซัคสถานเมื่อ 49 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยนักบินอวกาศที่ขึ้นไปกับยานโซยุซ ประกอบด้วยนายซาลิซาน ชาริพอฟ ,นายยูริ ชาร์กิน ชาวรัสเซีย และนายเลรอย เชียโอ ชาวอเมริกันจะใช้เวลาอยู่บนสถานีอวกาศ 6 เดือน ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ยานโซยุซ ทำหน้าที่แทนยานอวกาศสหรัฐที่ถูกระงับไว้หลังเกิดเหตุยานโคลัมเบียระเบิด ขณะกลับสู่พื้นโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 (กรุงเทพธุรกิจ อาทิตย์ที่ 17 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักฟิสิกส์มช.ทำสำเร็จ ดอกไม้นาโนฯคาร์บอน

ดร.พิศิษฐ์ สิงห์ใจ และรศ.ดร.สมชาย ทองเต็ม ผู้ประสานงานหน่วยวิจัยนาโนวัสดุ ภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยวิจัยนาโนวัสดุ ภาควิชาฟิสิกส์ฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการปลูกดอกไม้ของท่อนาโนคาร์บอน แห่งแรกในเมืองไทย โดยใช้เทคนิค Spark Sputtering Depositionร่วมกับวิธี Chemical Vapor Deposition ของก๊าซไฮโดรคาร์บอน โดยดอกไม้ของท่อนาโนคาร์บอน (Cabon nanotubes; CNTs) ได้งอกออกจากอนุภาคเหล็ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวคะตะลิสต์ (catalyst) เกาะติดบนแผ่นแก้ว นับเป็นดอกไม้นาโนดอกแรก ที่บานในเมืองไทยโดยใช้เทคนิคพิเศษ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เป็นเวลา 2 ปีด้วยงบประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2547 ความสำเร็จของผลงานวิจัย ก่อให้เกิดท่อนาโนคาร์บอนขึ้น และท่อนาโนคาร์บอนที่ได้นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำเป็นตัวจ่ายอิเล็กตรอนแบบเย็น (Cold field emission) ในจอแสดงผลแบบแบน หรือในหลอดไฟแบบแบน ซึ่งจะให้แสงสว่างและประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดไฟปกติเป็นต้น (สยามรัฐ จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





ญี่ปุ่นคิดเครื่องล่ามเที่ยวได้ทั่วโลก แปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอื่นได้

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ เอ็นอีซีของญี่ปุ่น ได้ประดิษฐ์เครื่องอุปกรณ์ ซึ่งสามารถแปลงเสียงพูดภาษาญี่ปุ่นออกให้เป็นเสียงภาษาอังกฤษและในทางกลับกัน กำหนดจะนำออกจำหน่ายกับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจญี่ปุ่นก่อน ภายในเวลา 2-3 เดือนข้างหน้านี้ แม้ว่าเครื่องรุ่นแรกจะยังแปลระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับอังกฤษได้เท่านั้น แต่นายอากิโตชิ โอกูมรา นักวิจัยของบริษัทเอ็นอีซีกล่าวว่า การจะเปลี่ยนให้แปลเป็นภาษาอื่นได้นั้น ไม่มีปัญหาและได้เริ่มแปลงเครื่องให้แปลระหว่างภาษาญี่ปุ่นกับจีนอยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังอาจเป็นไปได้ว่าจะออกแบบเครื่องสำหรับให้ใช้กับโทรศัพท์มือถืออีกด้วย (ไทยรัฐ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ยางหนังกบกลายเป็นกาววิเศษ ปะติดกระดูกอ่อนหัวเข่ามนุษย์

นักวิจัยชาวออสเตรเลียได้เอายางจากหนังของกบมาใช้เป็นกาวเยียวยาหัวเข่าของแกะ ซึ่งกระดูกอ่อนชำรุดจนหายไปแล้วถึง 10 ตัว ตามข้อต่อต่างๆ ของคนเราก็มีกระดูกอ่อนแบบเดียวกัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนกับตัวกันกระเทือน ยางจากกบนี้ได้จากกบออสเตรเลีย 2 สายพันธุ์ ซึ่งทำรังจำศีลอยู่ใต้ดินเกือบชั่วนาตาปี จะโผล่ขึ้นจากดินมาหาอาหารกินในช่วงเฉพาะหน้าฝนเท่านั้น มันจะขับยางออกมาตามตัว ซึ่งจะไปอุดปากบรรดาแมลงทั้งหลายไว้ และปล่อยให้มันจับกินเป็นอาหารภายหลัง โดยปกติแล้วกระดูกอ่อนที่หัวเข่าของคนเรา มักจะได้รับความเสียหายจากการเล่นกีฬา และการผ่าตัดซ่อมแซมได้ยาก หากใช้เยียวยาด้วยกาว แต่กาวชนิดที่ใช้อยู่มักจะเป็นพิษขึ้นง่าย และไม่สู้ ยืดหยุ่น เพื่อปล่อยให้ก๊าซและสารอาหารแทรกซึมผ่านไปได้เท่าใดนัก เพื่อที่มันจะได้หายฟื้นเร็วขึ้น (ไทยรัฐ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





นักวิจัย มก. คิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยขนาดเล็ก ราคาถูก

อาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา ได้เสนอขอทำ โครงการวิจัยเรื่องการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากมะนาวไทยเพื่อการส่งออก โดยได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โดยในขั้นตอนการวิจัย ได้ทดลองกลั่นโดยเครื่องกลั่นแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ กับเครื่องที่ออกแบบขึ้นใหม่ที่เพิ่มเติมส่วนในการควบคุมการไหลของไอเพื่อเพิ่มความดันในถังกลั่น ใช้เวลาในการทำวิจัยรวมทั้งการเก็บข้อมูลในการกลั่นประ มาณ 3 ปี และประสบความสำเร็จให้ผลที่น่าพอใจโดยให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 2% จากที่เคยกลั่นได้น้อยกว่า 1% จากเครื่องกลั่นเดิม และเห็นว่าเครื่องกลั่นในรูปแบบนี้ยังไม่มีในท้องตลาด จึงได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว พร้อมทั้งได้ผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากผลงานนี้ ส่งผลให้เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2546 ของมูล นิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย เป็นโครงการพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจำหน่ายเป็นถังขนาดต่าง ๆ สำหรับถังความจุ 30 ลิตร ราคา 80,000 บาท ถังความจุ 50 ลิตร ราคา 100,000 บาท และถังความจุ 100 ลิตร ราคา 150,000 บาท (ยังไม่รวมภาษี) รายได้จากการจำหน่ายนำไปพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่อไป ผู้สนใจสามารถติดต่อได้โดยตรงที่ อาจารย์สุรัตน์วดี จิวะจินดา โทรศัพท์ 0-3435-1399, 0-3428-1092 หรือ e-mail : rdiswj@nontri.ku.ac.th (เดลินิวส์ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





ติดมีดหมอให้หุ่นยนต์แคปซูล ช่วยผ่าตัดลำไส้แทนมนุษย์

ทีมงานจากศูนย์เซนต์วาลเดอรา ในอิตาลี และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี ในกรุงโซล เจ้าของแนวคิดหุ่นยนต์แคปซูล บอกว่า แคปซูลตัวนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรค รวมทั้งอาจทำการผ่าตัดแบบง่ายๆ ได้ด้วย ผู้ป่วยจะต้องกลืนแคปซูลติดกล้องเข้าไปในท้อง จากนั้นกล้องจะทำการส่งสัญญาณภาพผ่านออกมานอกร่างกาย วิธีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูบริเวณภายในของร่างกายที่มีปัญหาได้ ซึ่งแคปซูลจะเคลื่อนตัวผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้ตามจังหวะของระบบการย่อยอาหารภายในร่างกาย แต่แนวคิดของทีมงานชุดนี้ ซึ่งนำโดยเปาโล ดาริโอ นักวิจัยจากเซนต์ แอนนา วาลเดอรา ต้องการให้แคปซูลสามารถตรวจดูอวัยวะภายในได้ และต้องสามารถผ่าตัดแทนแพทย์ได้ด้วย เนื่องจากแคปซูลรุ่นใหม่จะประกอบด้วยขาจำนวนมากช่วยให้ชอนไชไปยังส่วนต่างๆ ของลำไส้ได้ง่ายขึ้น "หลังจากกลืนแคปซูลเข้าไปยังกระเพาะแล้ว สารเคลือบผิวจะย่อยสลาย จากนั้นตัวหุ่นยนต์จะเริ่มเคลื่อนที่" ดาริโอ ให้สัมภาษณ์ และว่าจากการทดสอบเบื้องต้น บรรดาขาต้นแบบสามารถเดินผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารและสำไส้ได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่ออวัยวะภายใน นอกจากนี้ ทีมงานได้พัฒนาระบบควบคุมการเคลื่อนที่ของขาเหล่านั้น ด้วยการใช้โลหะจำรูป (shape memory alloy) ที่สามารถ "จดจำ" รูปร่างเดิมได้เหมือนสปริงเป็นส่วนประกอบหลัก และคาดว่าจะทำการทดลองในตัวสัตว์ทดลองในเร็วๆ นี้ ในท้ายที่สุดทีมงานหวังว่าจะติดตั้งเครื่องมือผ่าตัดลงไปในแคปซูลเพื่อให้ทำการผ่าตัดแบบง่ายๆ ได้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการนำเสนอในงานประชุมนานาชาติระบบและหุ่นยนต์อัจฉริยะ (ไอรอส) 2004 ในเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น (คมชัดลึก อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





เกษตรอุบลฯเพิ่มมูลค่าผงไหม ผลิต'สบู่ไหมทอง'ลดรอยเหี่ยวย่น

ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชฯ จ.อุบลราชธานี วิจัยผลิตผงไหมให้โปรตีนบริสุทธิ์ 18 ชนิดรวมสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดรอยเหี่ยวย่น และสารกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนังมนุษย์ ต่อต้านไวรัส โรคเริม และงูสวัด ระบุใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางประเภท“สบู่” นายประทีป มีศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ศูนย์ได้วิจัยผลิตผงไหมเป็นครั้งแรกในไทย เมื่อปี 2540 จากเศษไหมที่เหลือใช้ในขบวนการผลิตรังไหมทั้งไหมพันธุ์ไทยพื้นเมืองและพันธุ์ต่างประเทศ ทำให้ทราบคุณสมบัติของไหมพันธุ์ไทย ซึ่งผลิตได้จากส่วนของซีรีซิน (sericinX ) จากส่วนของไฟโบอิน (fibroin) เมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่าผงไหมไทยที่ได้มีโปรตีนธรรมชาติบริสุทธิ์ถึง 18 ชนิด มีคุณสมบัติหลายด้าน ทั้งต้านอนุมูลอิสระ กำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนัง ดูดซับความชื้น ขจัดเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมสภาพ ทำให้เซลล์สะอาด แข็งแรงและยืดอายุเซลล์ จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดที่จะนำผงไหม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาทิ เครื่องสำอาง ดังนั้น ในปี 2541 จึงร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการผลิตผงไหมที่มีประสิทธิภาพ พบว่า ผงไหมพันธุ์ไทยแท้ มีคุณสมบัติหลายประการแตกต่างจากผงไหมพันธุ์อื่นๆ และในปี 2544 ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วิจัยการผลิตสบู่ไหมไทย พร้อมกับทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการ ดูการก่ออาการแพ้และระคายเคืองของผิวหนัง ศึกษาฤทธิ์การกำจัดจุลินทรีย์ และนำไปทดลองใช้ ปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับ ทางคณะวิจัยจากศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตอุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร สำนักปรมาณูเพื่อสันติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายเทคโนโลยีการผลิต “สบู่ผงไหมไทย” ให้จดสิทธิบัตรในนามของ “มูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





นักวิจัยอาศัยพลังแม่เหล็ก นำส่งยาโจมตีเซลล์มะเร็ง

เทคนิคการเคลื่อนที่วัตถุด้วยการใช้เศษตะไบเหล็กไปโรยบนแผ่นการ์ด จากนั้นแอบนำแม่เหล็กไปวางไว้ข้างใต้ เพื่อว่าจะได้เป็นตัวดูดแผ่นการ์ดให้เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ นักวิทยาศาสตร์ใช้หลักการเดียวกันนี้ มาพัฒนาระบบนำส่งยาที่ถูกฉีดเข้าไปยังกระแสเลือดของตัวผู้ป่วย จะช่วยให้แพทย์สามารถนำส่งยาไปยังอวัยวะที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเนื้องอก ด้าน ศ.แอนดริว แฮร์ริสัน หัวหน้าทีมนักเคมี มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก กล่าวว่า อนุภาคแม่เหล็กที่ทีมงานนำมาใช้สามารถนำส่งยาได้ทั่วร่างกาย เพียงแค่นำตัวยามาผูกติดกับอนุภาคเหล็ก จากนั้นก็ฉีดเข้ากระแสเลือด และใช้แม่เหล็กภายนอกร่างกายเป็นตัวขับเคลื่อนยาไปยังจุดหมายที่ต้องการ แต่การนำไปใช้จริงนั้นยังติดปัญหาใหญ่ ตรงที่ทีมวิจัยต้องหาทางนำอนุภาคแม่เหล็กไปเชื่อมต่อกับโมเลกุลยาให้ได้ โดยจะต้องใช้อนุภาคเหล็กบริสุทธิ์ขนาด 10 ล้านส่วนใน 1 มิลลิเมตร เพราะคุณสมบัติดังกล่าวจะทำให้ไม่เกิดสารพิษตกค้าง และมีราคาถูกอย่างมาก แต่ปัญหาคือของทั้งสองสิ่งไม่สามารถรวมตัวกันได้ คณะทำงานจึงต้องเคลือบอนุภาคด้วยตัวกลาง เพื่อให้สามารถยึดติดกับโมเลกุลยาได้ ซึ่งทางออกที่ค้นพบขณะนี้ คือการเพาะแบคทีเรียที่มีอนุภาคเหล็กภายในตัวโดยธรรมชาติ (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





นักวิทย์ปริญญาเอกไทยสร้างชื่อระดับโลก ค้นพบเซลล์มนุษย์ผลิตมอร์ฟีนได้เหมือนฝิ่น

นักวิทยาศาสตร์ไทยสร้างชื่อเสียงระดับโลก จากผลงานวิจัยค้นพบ ร่างกายมนุษย์สามารถสร้างมอร์ฟีนได้เหมือนต้นฝิ่น เพียงแต่ปริมาณต่ำกว่า และจะผลิตสารแก้ปวดนี้ เฉพาะกรณีที่เจ็บปวดหรือบาดเจ็บเท่านั้น เผยงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในเวบไซต์ต่างประเทศ และวารสารด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำในสหรัฐ รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า วารสารของบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกา (Proceedings of the National Academy of Sciences of the USA) ฉบับวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำในระดับนานาชาติ ได้นำเสนอบทความวิจัยเรื่อง “การสร้างสารมอร์ฟีนในเซลล์มนุษย์” ซึ่งเป็นผลงานจากห้องปฏิบัติการของ ศ.ดร.มายน์ฮาร์ท เซ็งค์ มหาวิทยาลัยฮัลเล ประเทศเยอรมนี โดยผลงานวิจัยนี้เป็นงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ น.ส.โชติมา เผือกนาโพธิ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาไทยซึ่งได้รับทุนปริญญาเอกจาก DAAD ซึ่งทุนสำหรับนักศึกษาต่างประเทศของรัฐบาลเยอรมนี ให้ทำวิจัยในห้องปฏิบัติการดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ น.ส.โชติมา ได้ค้นพบว่า เซลล์ประสาทและเซลล์ตับอ่อนของมนุษย์ สามารถสร้างมอร์ฟีนได้ด้วยตัวมันเองเช่นเดียวกับการสร้างมอร์ฟีนในต้นฝิ่น เพียงแต่ในเซลล์มนุษย์จะสร้างในปริมาณต่ำกว่ามาก และต้องใช้เครื่องมือที่มีความไวสูงมากสำหรับการตรวจวัด เป็นที่ทราบกันว่า การสร้างมอร์ฟีนในต้นฝิ่นเป็นกระบวนการซับซ้อน ที่ต้องผ่านปฏิกิริยาทางชีวเคมีเกือบถึง 20 ขั้นตอน ส่วนการที่เซลล์ของมนุษย์สามารถสร้างมอร์ฟีนได้เอง แสดงว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมอร์ฟีนทั้งระบบ จะต้องมีอยู่ในเซลล์มนุษย์ด้วย และยีนเหล่านี้จะสร้างมอร์ฟีนเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะไม่ปกติและต้องการสารนี้เท่านั้น เช่น เจ็บปวด ไม่สบาย ปริมาณมอร์ฟีนที่ตรวจพบในงานวิจัยนี้มีระดับความเข้มข้นอยู่ในหน่วยของนาโนโมลาร์เท่านั้น คงจะต้องศึกษาวิจัยเพิ่มทางด้านสรีรวิทยาต่อไป อาทิ ศึกษากลไกการสร้างมอร์ฟีนของเซลล์ การตอบสนองต่อมอร์ฟีนของร่างกาย ซึ่งความรู้เหล่านี้อาจนำไปสู่กลไกรักษาโรคแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งยา (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





พัฒนาตาวิเศษติดรถยนต์เตือนภัยสิ่งที่คนขับมองไม่เห็น

บริษัทเดนโซ คอร์ป ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบเตือนภัยสำหรับผู้ขับขี่ สำหรับสิ่งต่างๆที่อยู่นอกเหนือสายตาควบคุมของผู้ขับขี่เป็นครั้งแรกของโลก ระบบดังกล่าวจะเฝ้าระวังสิ่งต่างๆรอบตัวรถผ่านการควบคุมจากกล้องดิจิตอล และเซ็นเซอร์ตรวจจับ มันสามารถวิเคราะห์สิ่งที่มีความเคลื่อนไหวในระยะไกล หรือในทิศทางเดียวกันกับระยะทางของรถ เช่น คนเดินถนน คนส่งของ สิ่งกีดขวางการจราจร หรือมอเตอร์ไซค์กำลังวิ่งตรงมายังตัวรถ เมื่อเซ็นเซอร์และกล้องดิจิตอลสามารถตรวจจับสิ่งต่างๆ ได้แล้วจะส่งผ่านข้อมูลเตือนมายังผู้ขับขี่ทันที. (ไทยรัฐ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





รักษาอาการหน้ามืดเวียนหัวอย่างใหม่จับใส่เครื่องจำลองการบิน

รายงานการวิจัยของแพทย์ในอังกฤษพบว่าคนที่มีอาการวิงเวียนศีรษะเรื้อรัง เมื่อนำไปรักษาด้วยเข้าเครื่องจำลองการบินอย่างที่ใช้ฝึกนักบินและมนุษย์อวกาศแล้ว ผลปรากฏว่าช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้มาก นักวิจัยของเอ็นเอชเอส ทรัสท์ โรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธ และวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอนได้ทดลองรักษาผู้ป่วย 40 ราย ที่มีประวัติเกี่ยวกับสมดุลในการทรงตัว โดยในการรักษาได้ให้เข้าเครื่องจำลองการบินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน ปรากฏว่ามันช่วยลดอาการวิงเวียนลงได้ถึงครึ่งหนึ่งทั้งในแง่ความถี่ และความหนักเบาของอาการ อาการหน้ามืดเวียนหัวและความรู้สึกคลื่น เหียนนั้น เกี่ยวข้องกับระบบหูชั้นในที่ควบคุมเรื่องการทรงตัวของคนเรา สำหรับการทดลองครั้งนี้ในการรักษาประกอบด้วยการให้ลองใช้จานหมุน เก้าอี้หมุน และออกกำลังกายตามวีดิโอ ซึ่งทั้งหมดนี้ เคยใช้กับการฝึกนักบินและมนุษย์อวกาศมาแล้วทั้งสิ้น (ไทยรัฐ 14 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





เครือข่ายฝุ่นอัจฉริยะ

เครือข่ายระบบความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ทั้งหลายเช่นเซ็นเซอร์ (Senser) ที่มีไว้สำหรับส่งสัญญาณเตือนภัย นักวิศวกร ก็พยายามที่จะสร้างเป็นระบบเครือข่ายอัจฉริยะ ให้มีขนาดเล็กลงมาก ๆ เพื่อฝังเข้าไปในวัตถุต่าง ๆ ที่ต้องการที่จะทราบความเป็นไปของวัตถุนั้น แล้วก็ใช้ระบบเครือข่ายแบบไร้สายเอาไว้เชื่อมต่อเพื่อคอยตรวจสอบความเป็นไปได้ตลอดเวลา เซ็นเซอร์แต่ละตัวนั้นก็จะมีไมโครโปรเซสเซอร์ชิป แบตเตอรี่จ่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก อุปกรณ์สำหรับรับและส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ นักประดิษฐ์พยายามที่จะประดิษฐ์ออกมาให้มีขนาดเล็กเท่าฝุ่นละอองหรือเม็ดกรวดเม็ดทรายกันเลย จึงเรียกว่าฝุ่นอัจฉริยะ หรือ Smart dust และบางทีเขาก็ใช้ตัวภาษาอังกฤษว่า โม้ท หรือ mote ซึ่งก็คือวัตถุหรืออนุภาคขนาดเล็กนั้นเอง ขณะเรื่องเซ็นเซอร์หรือฝุ่นอัจฉริยะ นักวิศวกรก็ได้พยายามสร้างมาตรฐานกำหนดเป็นโค้ด โดยสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ IEEE ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นก็ยังเป็นสถาบันทางวิศวกรรมไฟฟ้าที่ใหญ่และมาตรฐานที่สุดของโลก และสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์เล็กจิ๋วขนาดนี้เขาจะให้อยู่ในโค้ดตัวเลขที่เรียกว่า 802.15.4 โค้ดมาตรฐานพวกนี้ในอนาคตจะมีการอ้างอิงถึงกันมาก นอกจากนี้เรื่องของเซ็นเซอร์ประเภทนี้จะใช้สัญญาณความถี่วิทยุหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า RFID-radio frequency identity tag ซึ่งจะมีอุปกรณ์ไร้สายขนาดเล็กมาก ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร เป็นแถบสัญญาณเพื่อรับและส่งสัญญาณวิทยุให้รู้ว่า วัตถุที่ติดแถบนี้อยู่ ณ บริเวณใด ดร.คริส พิสเตอร์ (Kris Pister) หัวหน้าคณะวิจัยเรื่องเครือข่ายอัจฉริยะขนาดจิ๋วแบบไร้สายนี้ ก็ริเริ่มที่จะดำเนินการติดตั้งฝุ่นอัจฉริยะ 50,000 จุด ตามตึกต่าง ๆ ณ บริเวณเมืองเบอรคลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อวัดการสั่นไหว ของตึกสูง ซึ่งเป็นบริเวณที่มักจะพบแผ่นดินไหว ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ ก็มีนักวิจัยที่จะสร้างเครือข่ายฝุ่นอัจฉริยะจำนวน 10,000 จุดรอบล้อมบริเวณฟาร์มข้าวโพดประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร สำหรับการวิจัยทางทหาร (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 47 http://www.dailynews.co.th)





มจธ.หนุนโอโซนบำบัดแทนใช้สารเคมี

รศ.ดร.พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ทำการวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตและการประยุกต์ใช้โอโซน กล่าวว่า ขณะนี้การนำเทคโนโลยีโอโซนมาใช้เริ่มแพร่หลายกับการนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีโอโซนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สำหรับเครื่องผลิตโอโซนที่คิดค้นขึ้นนี้ ใช้หลักการแตกตัวของออกซิเจนผ่านท่อโลหะทรงกระบอก 2 ชั้น ห่างกันประมาณ 1 มิลลิเมตร เมื่อปล่อยให้อากาศผ่านเข้าสู่ช่องที่มีขั้วไฟฟ้า เมื่อออกซิเจนแตกตัวซ้อนกับออกซิเจนที่ไม่แตกตัวจะกลายเป็นโอโซน โดยเครื่องที่ผลิตมีขนาด 1 x 2 x 1 เมตร สามารถผลิตโอโซนได้ถึง 30 กรัมต่อชั่วโมง ขณะที่การบำบัดน้ำปริมาณ 3,000 ลิตร จะใช้โอโซนประมาณ 10 กรัม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำในการบำบัดด้วย การนำเทคโนโลยีโอโซนมาประยุกต์ใช้งานนั้น ช่วยให้เกิดความปลอดภัย และประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม ต้องทำการศึกษาดัดแปลงให้เครื่องผลิตโอโซนมีความแข็งแรง และคงทนต่อสภาพภูมิอากาศในไทย ทั้งต้องเร่งพัฒนาให้เครื่องสามารถผลิตโอโซนได้ในปริมาณที่มากขึ้นด้วย ขณะนี้ได้ทดลองนำไปใช้งานจริงแล้ว อาทิ บริษัท เอ็น แอกซิส จำกัด ได้นำโอโซนมาใช้ในการบำบัดอากาศภายในอาคาร ช่วยใช้ขจัดกลิ่นอับชื้นในหอผึ่งเย็นในอาคาร หรือที่โรงแรมเวสติน แกรนด์ สขุมวิท ได้ติดตั้งโอโซนเพื่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีและค่าน้ำ รวมทั้งได้นำโอโซนมาประยุกต์ใช้ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในโรงภาพยนตร์ ลดกลิ่นอับชื้นจากเชื้อจุลินทรีย์ ขณะที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็ลทรัล หัวหิน รีสอร์ท นำโอโซนมาใช้ในระบบซักผ้า เพื่อช่วยลดพลังงานเชื้อเพลิงในการทำน้ำร้อน ลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ซึ่งอาจก่อให้เกิดสารตกค้างในเนื้อผ้าได้ พร้อมทั้งลดพลังงานในการบำบัดน้ำเสียไปพร้อมกัน (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





สองเอกชนไทยคว้านักเทคโนโลยีดีเด่น ผลงานเครื่องทำน้ำแข็งหลอด – ผลิตเลนส์ทนแรงขูดขีด

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผลรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2547 โดยนายปิยะ จงวัฒนา ผู้พัฒนาเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งหลอดและนมพาสเจอร์ไรส์ขึ้นใช้เอง และยังผลิตเครื่องจักรส่งออก รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นร่วมกับกลุ่มนักเทคโนโลยีจากบริษัทไทยออพติคอลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งพัฒนากระบวนการผลิตเลนส์ทนต่อแรงขูดขีดและแรงกระแทกสูง โดยได้รับเงินรางวัลๆ ละ 5 แสนบาท ปัจจุบันเครื่องทำน้ำแข็งหลอดพัฒน์กล มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 80 และยังส่งออกไปขายในต่าง และยังพัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งประเภทอื่นๆ อาทิ เครื่องทำน้ำแข็งเกล็ด เครื่องทำน้ำแข็งอัด เครื่องทำน้ำแข็งแบบแผ่น และเครื่องทำน้ำแข็งถ้วย นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบแปรรูปนม ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งทัดเทียมต่างประเทศ และยังสร้างเครื่องโฮโมจิไนซ์ (Homogenizer) ขึ้นเป็นตัวแรกของไทย แทนการนำเข้า ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในโรงงานแปรรูปนมเกือบทุกประเภท ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ซึ่งจะได้เงินรางวัล 1 แสนบาทคือ ดร.อดิศร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ด้วยผลงานเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านระบบเครื่องไฟฟ้าจุลภาค (Mems) ที่นำมาพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดขนาดเล็กชนิดต่างๆ เช่น เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ เครื่องตรวจวัดปริมาณสารต่างๆ ในเลือด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องมือวัดประเภทเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก สำหรับวัดอุณหภูมิ ความดัน ความเร่ง ปั๊มขนาดเล็กและระบบสวิตช์เชิงแสง เป็นต้น นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ลำดับต่อมาคือ ผศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับผลงานด้านการถ่ายเทความร้อนและมวลสาร และการอบแห้งแบบทั่วไป ซึ่งนำพัฒนาเป็นเครื่องอบแห้งกุ้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่งที่สภาวะความดันต่ำ ทำให้คงคุณสมบัติอาหารได้เหมือนเดิมหรือเปลี่ยนแปลงน้อย เช่น คุณค่าทางโภชนาการและสีของอาหาร นอกจากนี้ยังนำมาพัฒนาเป็นเครื่องผสมอาหารสำหรับอุตสาหกรรมอีกด้วย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





อุตสาหกรรมใหม่แปรรูป "เม็ดมัสตาร์ด" ผลิตสินค้าหลากชนิดอาหาร-ก๊าซชีวภาพ

นายปรีชา โกวิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลานนา โปรดักส์ จำกัด อธิบายว่า บริษัท ลานนา เป็นบริษัทร่วมทุนกับเอกชนของญี่ปุ่นที่ต้องการผลิตสินค้าที่นำ Biotechnology มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีพันธกิจที่จะมุ่งไปสู่การนำ Fermentation technology และ Distillation technology มาใช้โดยเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ยากต่อการเลียนแบบ และเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งพัฒนาสายการผลิต และผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องความต้องการของตลาด โดยนำเข้าเม็ดมัสตาร์ดพันธุ์ดีจากแคนาดา 2 สายพันธุ์ คือ Cutlass และ Yellow ปีละประมาณ 4,000 ตัน เพื่อนำมาผลิตแป้งมัสตาร์ด บริษัทได้คิดค้นว่า การใช้เทคโนโลยีทันสมัยหมักเม็ดมัสตาร์ดนั้น จะได้ประโยชน์จากเม็ดมัสตาร์ดเต็มที่ และสามารถดัดแปลงให้เข้าสายการผลิตของบริษัท ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยแยกเป็น 7 สายงานเกี่ยวข้องเป็นลูกโซ่ ในลักษณะผลิตภัณฑ์อาร์แอนด์ดี เริ่มตั้งแต่โรงงานแป้งสู่โรงงานอาหารแช่เยือกแข็ง และผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น แกงฮังเล แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ขณะที่เทคโนโลยีกระบวนการแช่เยือกแข็งอุณหภูมิต่ำกว่า ติดลบ 20 องศาเซลเซียล กับ พืชสด อาทิ วาซาบิ ขิง และแครอท ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปีละ 3,000 ตัน ส่วนโรงงานน้ำมันหอมระเหย ที่พัฒนาจากแป้งหมักมัสตาร์ดนั้น จะผ่านกระบวนการบีบอัดแบบเย็น กลั่นด้วยไอน้ำ และกระบวนการ Gas Chromatography ซึ่งเป็นวิธีการที่ทันสมัย หลังจากนั้นจะนำมาสกัดแยกส่วนให้มีความบริสุทธิ์ และมีคุณภาพ จนได้สินค้าน้ำมันหอมระเหยจากมัสตาร์ดปีละ 55 ตัน และฮอสดราดิช 10 ตันต่อปี ปัจจุบันได้รับความนิยมมากจากธุรกิจสปา อาหาร และเครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะนี้กำลังจะใช้ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตแปรรูปสินค้า มาผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และพลังงานความร้อน เพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์และใช้ในฟาร์มเองทั้งหมด ซึ่งผลพลอยได้ที่เหลือจากการผลิตก๊าซชีวภาพ ยังสามารถนำกลับเป็นปุ๋ย ที่มีคุณภาพสูงใช้ในการปรับปรุงดินให้มีความสมบูรณ์ และลดต้นทุนการเพาะปลูกจากการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการส่งเสริมให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อม (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว มีชื่อว่า BOADICEA จะใช้วิธีการทำนายโดยอาศัยข้อมูล และรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของครอบครัว และจะช่วยบอกถึงความเสี่ยงของผู้หญิงแต่ละคน เพื่อที่จะได้หาทางในการป้องกัน และตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งหากตรวจพบเร็ว ก็จะทำให้การรักษาได้ผลดี สำหรับ BOADICEA นั้น จะสามารถทำนายความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ โดยมะเร็ง 2 ชนิดนี้ มักจะเกี่ยวพันกับประวัติครอบครัวของผู้ป่วย และผลของการทำนายจะบอกได้ว่า ผู้หญิงคนไหนมีความเสี่ยงสูง เพื่อแพทย์จะได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมของผู้หญิงจำนวน 1,484 คนเป็นฐาน และข้อมูลครอบครัวอีก 156 ครอบครัว ที่เคยมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยมะเร็งในสหราชอาณาจักรกล่าวอีกว่า เมื่อระบบดังกล่าวนี้เป็นที่คุ้นเคยในการใช้งานแล้ว จะมีการพิจารณานำขึ้นให้ข้อมูลกับผู้หญิงทั่วโลกทางอินเตอร์เน็ตด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 15 ต.ค.47 http://www.thairath.co.th)





กล้องไฮเทคค้นหาเส้นเลือดก่อนแทงเข็ม

เฮิร์ตเบิร์ท ซีแมน วิศวกรด้านชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทนเนสซี ในแมมฟิส พัฒนาอุปกรณ์ช่วยพยาบาล สามารถแทงเข็มเข้าเส้นเลือดผู้ป่วยได้แม่นยำ ตัดปัญหาคลำเส้นเลือดไม่พบ อุปกรณ์ดังกล่าวมีไว้เพื่อเอื้อประโยชน์เจ้าหน้าที่พยาบาล ในการค้นหาตำแหน่งเส้นเลือดเพื่อแทงเข็มฉีดยา หรือการให้น้ำเกลือ รวมทั้งยังร่นระยะเวลาในการให้เลือดกับผู้ป่วยฉุกเฉินอีกด้วย "วีซีอี" (vein contrast enhancer : VCE) เป็นระบบต้นแบบที่ใช้กล้องอินฟราเรดคลื่นความถี่ระยะใกล้ ตรวจจับเส้นเลือดของผู้ป่วย ณ เวลาจริง จากนั้นส่งต่อให้คอมพิวเตอร์เพิ่มความชัดเจนของภาพที่ได้ และป้อนต่อไปยังเครื่องฉายหรือโปรเจคเตอร์ เพื่อนำภาพเส้นเลือดไปฉายลงบนผิวหนังของผู้ป่วย โดยภาพจากกล้องจะถูกนำเข้าไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลภาพ และสร้างเป็นแผนที่ภาพบนฉากหลังสีเขียวโดยจะปรับสีเข้มและสว่างให้กับเส้นเลือดและเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ จากนั้นจะส่งต่อภาพนี้ไปยังโปรเจคเตอร์เพื่อยิงลำแสงไปยังผิวหนังผู้ป่วย ดังนั้น ทุกครั้งที่แทงเข็มลงบนผิวหนัง จึงมั่นใจได้ว่าไม่ผิดตำแหน่ง เพราะจะมองเห็นภาพของเส้นเลือดอย่างชัดเจน ซึ่งกุญแจสำคัญของระบบนี้อยู่ที่ "กระจกร้อน" (hot mirror) มีคุณสมบัติโปร่งแสงในความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ แต่จะสะท้อนความยาวคลื่นร้อนของอินฟราเรดออกมา สำหรับระบบวีซีเอปัจจุบันถูกย่อให้มีขนาดเล็กเท่ากล่องรองเท้า ทำให้สามารถพกพาและติดตั้งร่วมกับโต๊ะเจาะเลือดได้อย่างสะดวก และทีมงานมีแผนทดสอบอุปกรณ์ในโรงพยาบาลที่เทนเนสซีปลายปีนี้ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 15 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ม.เกษตรฯสร้างเชื้อเพลิงจากขยะกระดาษ ช่วยเอสเอ็มอีประหยัดน้ำมัน – ค่าฝังกลบของเสีย

นักวิจัยม.เกษตรฯ แปรสภาพขยะเยื่อกระดาษเป็นเอทานอล เผยขั้นตอนผลิตสะดวกรวดเร็วกว่าวัตถุดิบประเภทอ้อย มันสำปะหลัง รวมทั้งปริมาณเชื้อเพลิงที่ได้สูงกว่าด้วย ระบุงานวิจัยจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดสร้างถังปฏิกิริยาติดตั้งในโรงงาน หวังช่วยเอสเอ็มอีผลิตเอทานอล ลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดจนประหยัด ค่าฝังกลบขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม ดร.จีมา ชมสุรินทร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการศึกษาการผลิตเอทานอลจากกากตะกอนเยื่อกระดาษเหลือทิ้ง เปิดเผยว่า โครงการได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 80,000 บาท ในระยะเวลา 6 เดือน และกำหนดแล้วเสร็จช่วงเดือนมีนาคม 2548 โดยดำเนินการร่วมกับบริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษเช็ดหน้า ผ้าอ้อมและผ้าอนามัย จากการตรวจสอบคุณสมบัติของเยื่อกระดาษ และศึกษางานวิจัยต่างประเทศพบว่า เยื่อกระดาษเหลือทิ้งสามารถนำไปผลิตเอทานอลได้ เนื่องจากลักษณะของเยื่อที่สั้น ไม่มีลิกนิน (lignin) หรือโครงสร้างแข็งในไม้ เพราะถูกกำจัดไปตั้งแต่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้ว ทำให้ง่ายต่อการย่อยสลาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดสายพันธุ์จุลินทรีย์ ที่จะใช้ย่อยสลายเยื่อกระดาษให้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งได้ขอความร่วมมือคณะวิทยาศาสตร์ ให้ช่วยดูสายพันธุ์แบคทีเรีย ส่วนการเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นเอทานอล คาดว่าจะใช้ยีสต์อบขนมมาทดสอบ ซึ่งหาง่าย ราคาถูก และน่าจะเหมาะกับการผลิตเอทานอลใช้เองในโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ผันขยะมาเป็นเชื้อเพลิงใช้ในกระบวนการผลิตแทนน้ำมันได้ งานวิจัยชิ้นนี้จะทำเฉพาะในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้เวลาที่แน่นอนในการหมักยีสต์ให้เป็นเอทานอล รวมถึงการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตด้วย โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปต่อยอดในการออกแบบถังปฏิกิริยาเพื่อใช้ในการผลิตจริง ซึ่งจะเน้นไปที่การออกแบบอุปกรณ์ให้โรงงานเอสเอ็มอีสามารถใช้งานเองได้ง่าย ขั้นตอนไม่ซับซ้อนในการผลิตเอทานอล (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 15 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





ผู้ผลิตเครื่องดื่ม พัฒนาคอเทียม ทำงานแทนนักชิม

ทีมงานจากบริษัท เควสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล และมหาวิทยาลัยวาเกนนิงเกน ในเนเธอร์แลนด์ ร่วมกันพัฒนาลำคอเทียมขึ้นมาใช้งาน สำหรับทดสอบรสชาติเครื่องดื่มคาร์โบไฮเดรตต่ำ หรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังชนิดใหม่โดยเฉพาะ ในการทดสอบเครื่องดื่มสูตรใหม่ นักชิมจะต้องแยกสารประกอบแต่ละชนิดที่มีอิทธิพลต่อรสชาติต่างๆ ออกมา แต่การใช้คนทดสอบจะให้ผลลัพธ์ที่มีความหลากหลายมาก ทีมงานจึงพัฒนาลำคอเทียมขึ้น ด้วยการใช้หลอดแก้ว 2 หลอด ต่อเชื่อมเข้ากับหลอดยางอีก 1 หลอด ติดตั้งลดหลั่นกันลงมา โดยมีลิ้นปิดกั้นระหว่างหลอด ซึ่งหลอดบนสุดจะแทน "ปาก" ที่ต่ำกว่าจะเป็น "หลอดอาหาร" โดยด้านล่างจะติดตั้งเครื่องพ่นอากาศ ที่จะขับแก๊สเข้าไปในอัตราเดียวกับที่การหายใจของมนุษย์โดยเฉลี่ย การทำงานเริ่มต้นขึ้นด้วยการปิดลิ้นกั้น และใส่ของเหลวกลิ่นมะนาวลงไป เมื่อใส่จนเต็ม "ปาก" แล้ว ทีมงานจะเปิดลิ้นกั้นให้ของเหลวไหลลงไป เหลือทิ้งไว้เพียงชั้นของกลิ่นบางเบาที่ติดอยู่ด้านหลังของผนัง "หลอดอาหาร" และปล่อยอากาศเข้าไปรับกลิ่น และเชื่อมต่อกับเครื่องมือตรวจวัดเพื่อวิเคราะห์รสชาติทั้งหมดที่ได้ จากการทดสอบพบว่า อุปกรณ์ชุดนี้ให้ความแม่นยำได้เหมือนกับลมหายใจของนักชิมที่เป็นคนจริง โบเอลริคบอกว่า นวัตกรรมชิ้นนี้เหมาะกับการใช้ทดสอบชิมเครื่องดื่มที่ซับซ้อน อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มคาร์โบไฮเดรตต่ำ เพราะโปรตีนและน้ำตาลที่ผสมอยู่ในเครื่องดื่มสามารถบดบังรสชาติอื่น (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 15 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)





วิจัยใช้โทรมือถือระยะยาว เสี่ยงเป็นมะเร็งในโพรงหู

สถาบันวิจัยสวีเดนเผยใช้มือถือระยะยาวเพิ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งในโพรงหู แต่สำรวจแค่เฉพาะระบบอนาล๊อก ไม่รวมระบบจีเอสเอ็มในปัจจุบัน สถาบันคาโรลินสก้า ได้เปิดเผยรายงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า บุคคลที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลา 10 ปีหรือกว่านั้น มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นมะเร็งในโพรงหูโดยจากการตรวจสอบต่อกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการรับฟังและผู้มีสุขภาพหูปกติพบว่า กลุ่มแรกจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งโพรงหูถึงสองเท่าหากใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี โดยหากใช้โทรเพียงหูข้างเดียว จะมีโอกาสเป็นมะเร็งดังกล่าวสูงกว่าใช้กว่าใช้โทรทั้งสองหู แต่การวิจัยนี้ได้กระทำกับโทรศัพท์มือถือรุ่นอนาล๊อกเพียงประเภทเดียวทำให้ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เหมือนกับระบบจีเอสเอ็มซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันหรือไม่ นับเป็นรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการใช้โทรศัพท์มือถือรอบใหม่ โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือพยายามปฎิเสธยังไม่มีอันตรายใดๆ จากการใช้โทรศัพท์มือถือต่อมนุษย์ เพราะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มายืนยัน (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 15 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





มจธ.เร่งวิจัยเพาะเห็ดนกยูง ชี้ช่องทางสร้างอาชีพให้ชาวราชบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนเชื้อเห็ดนกยูงจากศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้วิจัยพัฒนารูปแบบและวัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ดขึ้น เพื่อให้ได้ปริมาณเห็ดในอัตราส่วนที่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเห็ดที่ใช้ โดยให้โรงเรียนห้วยยางเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดผลการวิจัยในครั้ง ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การบรรยายให้ความรู้ฝึกหัดปฏิบัติจริง ตลอดจนการกำหนดประเด็นสงสัยที่จะทดลองค้นหาคำตอบร่วมกันโดยให้นักเรียนเป็นผู้เก็บบันทึกข้อมูลของเห็ดที่ได้ ภายใต้การแนะนำของครู ซึ่งเป็นโอกาสการสร้างนิสัยการสังเกต การตั้งคำถามและหาความจริงที่เกิดขึ้นตามหลักธรรมชาติด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และเมื่อผลการวิจัยสำเร็จเป็นที่น่าพอใจก็นำไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านในจังหวัดราชบุรีนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ดร.ทศพร ทองเที่ยว ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของโครงการเล่าว่า การวิจัยเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงแบบขึ้นชั้น ด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 เพื่อพัฒนาให้เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกของชาวบ้านในจังหวัดราชบุรี ที่เคยเพาะเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้าขายแล้วมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ โดยได้ทำการเลี้ยงทดลองในเชิงเศรษฐกิจร่วมกับอาจารย์ศรีราชา บัวเบา ครูที่โรงเรียนบ้านยางเป็นการนำร่อง ทำการทดลองทั้งปี ดูผลของอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมมีผลยังไง ดูเรื่องของอาหาร ทดสอบใช้น้ำตาล ฟอสเฟต ปุ๋ยไนโตรเจนและส่าโรงเหล้า ในปริมาณต่างๆ กัน เราประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งคือสามารถเพาะเห็ดได้ 20 กิโลกรัม ต่อ 1 โรงเรือน ขายได้กิโลกรัมละ 500 บาท เท่ากับ 10,000 บาทต่อโรงเรือน ขณะที่ต้นทุนตกประมาณโรงเรือนละ 3,000 บาท คาดว่าต้นปีหน้าจะสามารถนำถ่ายทอดให้อาจารย์ในโรงเรียนและชาวบ้านไปสร้างอาชีพได้ อาจารย์ศรีราชา บัวเบา โรงเรียนบ้านห้วยยางเล่าว่า โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมมือกันมากว่า 3 ปี ประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดนกยูงแบบขึ้นชั้น ด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ทำให้มีเงินรายได้เพื่อใช้จ่ายในโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นโครงการที่ทางโรงเรียนดำเนินการ การขยายผลสู่เกษตรกรรายรอบ เชื่อว่าชาวบ้านในชุมชนจะมีความมั่นใจและสนใจทำเป็นอาชีพกันมากขึ้น ความสำเร็จในการเพาะเห็ดนกยูงแบบขึ้นชั้นของโรงเรียนบ้านห้วยยางใน ครั้งนี้ นับเป็นการสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมอบให้แก่เกษตรกร จังหวัดราชบุรี เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมให้กับชุมชน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่าการนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่สู่ชุมชนหากให้ชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกันแล้ว เทคโนโลยีที่เหมาะสมก็จะเป็นสิ่งที่สร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่คนในชุมชนได้ (สยามรัฐ 16 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





ข่าวทั่วไป


เดินหลังอาหารอัดฉีดชีวิต 2 ต่อ ย่อยอาหารดีกระปรี้กระเปร่าขึ้น

นักวิจัยด้านสาธารณสุขเมืองน้ำชาได้ศึกษาพบว่า การเดินวันละ 3 พัก พักละ 10 นาที ก็บำรุงร่างกายได้ไม่แพ้การเดินรวดเดียววันละ 30 นาที นอกจากจะช่วยลดระดับไขมันแล้ว นอกจากจะช่วยย่อยอาหารแล้ว ยังจะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น ยังช่วยให้พุงยุบอีกด้วย ดังนั้น จึงควรถือการเดินเล่นหลังอิ่มข้าว เป็นเหมือนกับของหวานหลังอาหาร (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 11 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





"อาเซียน" จับมือทำแผนต่อต้านการค้าสัตว์ป่า

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ในการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 เปิดเผยว่า กลุ่มอาเซียนมีมติร่วมกันที่จะยกร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือ ในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาค โดยให้ อินโดนีเซียยกร่างแผน และเสนอต่อเลขาธิการอาเซียน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมไซเตส ครั้งที่ 14 ทั้งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์และปฏิบัติตามกรอบของไซเตส เน้นการใช้ประโยชน์จากพืชและสัตว์อย่างยั่งยืน ในการแก้ปัญหาลักลอบค้าอย่างผิดกฎหมาย โดยจะมีการประสานงานในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนประเทศไทยได้เปิดศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการสืบสวน และติดตามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ ว่าศูนย์นี้จะเป็นหน่วยงานในการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ในภูมิภาคอาเซียน (ไทยรัฐ อังคารที่ 12 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ม.เกษตรพบทำเลเหมาะตั้งศูนย์พืชเมืองหนาว สถานีอ้อย จ.กาญจนบุรีผสมอ้อยและพืชหลายสายพันธุ์

รศ.ประเสริฐ ฉัตรวชิระวงษ์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงโครงการสำรวจพื้นที่เหมาะสมในการสำรวจพื้นที่จัดตั้งสถานีผสมพันธุ์อ้อยว่า หลังจากที่ตระเวนดูสภาพดินหลายแห่งทั่วประเทศไทย พบว่าบริเวณบ้านทิพุเย ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด เพราะสามารถทำให้อ้อยทุกสายพันธุ์ออกดอกได้เต็ม 100% องค์ประกอบของพื้นที่ที่จะทำให้อ้อยออกดอกได้ดีนั้น ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 500 เมตร มีอุณหภูมิราว 15 องศาเซลเซียส และต้องมีความชื้นสูง ซึ่งพื้นที่ใน อ.ทองผาภูมิ มีคุณสมบัติครบถ้วน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร พื้นที่อยู่ในหุบเขา อากาศหนาวเย็น มีลำธารไหลผ่านตลอดปี ทำให้อ้อยออกดอกได้ทุกพันธุ์ นอกจากนี้ รศ.ประเสริฐยังมีแผนผลักดันให้สถานีแห่งนี้ เป็นสถานีผสมพันธุ์อ้อยของชาติ หลังจากมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลแห่งชาติขึ้นมาแล้ว ซึ่งขณะนี้บรรดานักวิชาการกำลังพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยดังกล่าวอยู่ ขณะที่โครงการพัฒนาอ้อยพลังงานสำหรับผลิตเอทานอลโดยตรงนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วราว 20% มีเชื้อพันธุกรรมกว่า 800 ตัว และพัฒนาอ้อยพลังงานขึ้นมาแล้วกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการคัดเลือกก่อนนำลงแปลงทดสอบ คาดว่าหากได้งบประมาณต่อยอด ภายใน 3-4 ปีก็จะแล้วเสร็จ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 13 ต.ค. 47 http://www.bangkokbiznews.com)





พบรอยเท้าไดโนเสาร์เกือบ 600 รอยสวิตเซอร์แลนด์เตรียมเสนอเป็นมรดกโลก

นักชีววิทยาสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า พบรอยเท้าของไดโนเสาร์ จำนวนมากกว่า 580 รอย มีอายุย้อนหลังไปถึงกว่า 150 ล้านปี บริเวณเทือกเขาจูรา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นจุดเดิมที่พบร่องรอยไดโนเสาร์จำนวนมากมาตลอด รอยเท้าดังกล่าวปรากฏบนแผ่นหินปูนกว้าง 600 ตารางเมตร ที่เขตเชอเวเนส์ สำหรับบริเวณดังกล่าวพบรอยเท้าไดโนเสาร์จำนวนมากมาแล้วกว่า 2,000 รอย รอยเท้าที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 3-16 นิ้ว คาดว่าน่าจะเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินพืช 4 ขา ที่มีความยาว 15-20 เมตร และมีความสูง 2 เมตรครึ่ง และรอยเท้าของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ 2 ขาที่มีขนาดเล็กกว่า สวิตเซอร์แลนด์พยายามเคลื่อนไหวให้ สหประชาชาติขึ้นทะเบียนบริเวณดังกล่าว เข้าสู่บัญชีมรดกโลก และต้องการตั้งบริเวณดังกล่าวให้เป็นสวนด้านชีววิทยา และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมร่องรอยสิ่งมีชีวิตก่อนยุคประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ในปีก่อนมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมร่องรอยไดโนเสาร์ที่นี่กว่า 20,000 คน (ไทยรัฐ 14 ต.ค. 47 http://www.thairath.co.th)





ก.พลังงานรุกผลิตแก๊สโซฮอล์ แก้วิกฤติราคาน้ำมันในอนาคต

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย. นี้จะมีปริมาณกำลังผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอีก 150,000 ลิตรต่อวัน จากบริษัท ไทยอะโกร จำกัดที่พร้อมจะผลิตเอทานอลป้อนเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ปริมาณกำลังผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 225,000 ลิตรต่อวัน เป็น 375,000 ลิตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงในปี 2548 จะมีกำลังผลิตป้อนเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมอีก 715,000 ลิตรต่อวัน ทั้งนี้ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือเอทานอล ถือเป็นนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำมันอย่างยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน ที่เป็นการพัฒนาพลังงานจากพืชเป็นเอทานอลเพื่อผสมในน้ำมันเบนซิน จำนวน 10% ให้ได้แก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมอย่างครบวงจรทั้งการกำหนดมาตรฐานน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ ลดภาษี การให้บีโอไอ เพื่อส่งเสริมการลงทุน การวางแผนการเลือกพื้นที่ปลูก การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การดัดแปลงเครื่องยนต์ให้สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ได้ด้วยเช่นกัน ตามแผนยุทธศาสตร์นั้นจะให้มีการผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จำนวน 30 ล้านลิตร/เดือน ในปี 2547-2549 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่ขณะนี้มีความต้องการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถึง25-30 ล้านลิตรต่อวัน (สยามรัฐ 16 ต.ค. 47 http://www.siamrath.co.th)





ยูเอ็นตั้งสมเด็จพระเทพฯเป็นทูตพิเศษอาหารโลก

สหประชาชาติแต่งตั้งสมเด็จพระเทพฯ เป็นทูตพิเศษของโครงการอาหารโลก หวังพึ่งพระปรีชาสามารถจัดหาอาหารแก่เด็กนักเรียนอย่างถูกหลักโภชนาการ รณรงค์ช่วยเด็กที่ขาดโภชนาการทั่วโลกได้ 50 ล้านคน ภายในปี 2550 นายเจมส์ ที.มอร์ริส ผู้อำนวยการบริหารโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ ได้ประกาศแต่งตั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นทูตพิเศษประจำโครงการอาหารโลก ระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหาร ที่สำนักงานใหญ่ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเจมส์ กล่าวว่า เนื่องจากสมเด็จพระเทพฯ ทรงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเรื่องการศึกษาและโภชนาการ เนื่องจากพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านพัฒนาการศึกษา และทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภากาชาดไทย "พระองค์ทรงมีบทบาทพิเศษสำหรับการจัดหาอาหารแก่เด็กๆ ในโรงเรียน และทรงส่งเสริมประโยชน์จากโภชนาการที่ถูกหลัก ภายใต้การสนับสนุนของโครงการอาหาร เพื่อการศึกษาในโครงการอาหารโลก หรือ ดับเบิลยูเอฟพี ของสหประชาชาติ" นายเจมส์ กล่าวและว่า ทางโครงการอาหารโลกแสดงความเชื่อมั่นในความรู้และความสามารถของพระองค์ว่า จะทรงช่วยในการรณรงค์ของโครงการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เด็กที่ขาดโภชนาการทั่วโลกได้รับการศึกษาและโภชนาการอย่างพอเพียง ซึ่งปีที่แล้วมีเด็ก 15 ล้านคนจาก 69 ประเทศ ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ ซึ่งโครงการอาหารโลกได้ตั้งเป้าว่าจะสามารถช่วยเหลือเด็กให้ได้ถึง 50 ล้านคน ภายในปี 2550 ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมการทำงานของโครงการอาหารโลก และทรงแสดงความหวังว่า พระองค์จะให้ความช่วยเหลือได้บ้าง (คมชัดลึก อาทิตย์ที่ 17 ต.ค. 47 http://www.komchadluek.net)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215