หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 5 ประจำวันที่ 2001-01-30

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯตั้ง 3 ทีมงาน มองอนาคตอุดมศึกษา
กพร.น้ำร่อง 6 สาขาโอนหลักสูตรวิชาเรียนได้
มองอนาคตเอนทรานซ์เหลือสอบแต่วิชาหลัก
ศธ.วางหลักเกณฑ์ให้โรงเรียนสอนนอกระบบ
ครูใหม่ 2 ปีประเมินไม่ผ่านออก
แนะพ่อแม่สร้างอีคิวให้ลูกต้องทำแต่แรกเกิด-7 ขวบ
เผยงานวิจัยชี้สอบเข้า ป.1 ทำให้เครียดแถมสิ้นเปลือง แนะยกเลิกการสอบหันมาใช้แบบประเมินความพร้อม
จัดงานใหญ่ ‘ราชมงคลวิชาการ’ ครั้งที่ 18

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

โครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลโรงเรียนแห่งแรกของปทุมธานี
ทดลองใช้เบนซินผสมแอลกอฮอล์แล้ว
ร่างแผนฯ 9 ศธ.เน้นเทคโนป้อนเด็กชนบท
ยกเครื่อง พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมแก้มาตรฐานคุมปล่อยของเสียมลพิษ
พบหลักฐานใหม่สิ่งมีชีวิตเกิดเมื่อ 4.4 พันล.ปี
‘ซื้อขายมนุษย์’ ระบาด! จี้คุมธุรกิจเถื่อนผ่านเน็ต
‘ทักษิณ’ โชว์วิชั่นขยับแผนตั้งกระทรวงไอที
ชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ เลวร้าย กระทบเกษตร-แหล่งน้ำ

ข่าววิจัย/พัฒนา

อังกฤษคลอดกฏหมายโคลนตัวอ่อนมนุษย์
สหรัฐลงมือขุดค้นพันธุกรรมมนุษย์
พบยาเอดส์ขนานใหม่
หญิงกิน ‘ปลา’ ปลดภาวะเสี่ยง 2 โรค เส้นเลือดตีบในสมอง-ลดความดัน

ข่าวทั่วไป

คนแห่ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมแนวใหม่
พบฝูงปลาโลมาปากแม่น้ำบางปะกง เตรียมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว
‘สวี’ เปิดห้องสมุดประชาชนในร้านค้า
ชี้โรค ‘ดีวีที’ ไม่เกี่ยวนั่งโดยสารชั้นประหยัด





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯตั้ง 3 ทีมงาน มองอนาคตอุดมศึกษา

รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทบวงฯ และคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างการอุดมศึกษาในอนาคต แต่ทบวงฯเห็นว่า สำนักวิเทศสัมพันธ์ควรจะคงความเป็นสำนักไว้เช่นเดิม เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติ นอกจากนี้ทบวงฯยังได้ตั้งคณะทำงานเพื่อมองอนาคตอุดมศึกษา 3 กลุ่มคือ 1.ดูการปฏิรูปการเรียนรู้ คุณภาพและมาตรฐานการศึกษา 2.ดูโครงสร้างการบริหารและการบริหารงานบุคคล 3.ดูการจัดสรรทรัพยากรและเทคโนโลยีการศึกษา โดยคณะทำงานต้องศึกษาหาข้อสรุปในเรื่องทั้งหมดให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อที่จะเสนอเป็นข้อคิดเห็นแก่ สปศ. ก่อนที่จะนำไปทำประชาพิจารณ์ต่อไป (เดลินิวส์ อังคารที่ 23 มกราคม 2544 หน้า 12)





กพร.น้ำร่อง 6 สาขาโอนหลักสูตรวิชาเรียนได้

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ในการเทียบโอนประสบการณ์ การทำงาน เพื่อยกเว้นหรือลดวิชาเรียนใน 6 สาขา คือ ช่างเชื่อม, ช่างยนต์, ช่างกลโรงงาน, ช่างไฟฟ้า, ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และช่างก่อสร้าง โดยผู้ที่จบการฝึกอบรมจากหลักสูตรเหล่านี้จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถนำวุฒิบัตรไปต่อยอดได้ทันที โดยไม่ต้องเรียนในวิชาการที่เขาเคยเรียนมาแล้ว (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 28)





มองอนาคตเอนทรานซ์เหลือสอบแต่วิชาหลัก

รศ. ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวในการสัมมนาครูแนะแนวทั่วประเทศเรื่อง "เจาะลึกทิศทางเอนทรานซ์ระบบใหม่" ว่า การสอบเอนทรานซ์มีอิทธิพลต่อเด็ก และผู้ปกครองมานานและมากจนเกินไป ดังนั้นปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการรับนักศึกษาโดยวิธีรับตรงมากขึ้น การสอบเอนทรานซ์มีข้อดีคือมีความโปร่งใสและยุติธรรม แต่มีข้อเสียคือการกวดวิชา ซึ่งทำลายระบบการสอนในโรงเรียน ในอนาคตอาจจะมีการลดวิชาสอบเหลือเพียงสอบวิชาหลักเท่านั้น (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 10)





ศธ.วางหลักเกณฑ์ให้โรงเรียนสอนนอกระบบ

ดร. กล้า สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างหลักเกณฑ์การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบ กล่าวว่า ขณะนี้ได้หลักการเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งเป็นหลักสูตรกลาง แต่มีหลักปฏิบัติโดยใช้ครูผู้สอนในโรงเรียน มีระยะเวลาการเรียนการสอนเท่ากับการศึกษาในระบบ จะไม่ให้จบเร็ว และจะใช้ช่วงนอกเวลาเรียนปกติในการจัดการเรียนการสอน ในเรื่องนี้ ดร. พนม ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ควรมีการกำหนดเป็นเกณฑ์ปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดกรมต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษานอกระบบได้ด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 26 มกราคม 2544 หน้า 12)





ครูใหม่ 2 ปีประเมินไม่ผ่านออก

นายปรัชญา เวสารัชข์ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มโครงสร้างบัญชีเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า สรุปแท่งเงินเดือนครูและบุคลากรการศึกษา 4 แท่ง โดยผู้บรรจุใหม่จะเป็นครูช่วยสอน เงินเดือนขั้นต้น 8,190 บาท สูงสุด 13,680 บาท ทำงานครบ 2 ปีต้องได้รับการประเมิน หากไม่ผ่านต้องออกจากการเป็นครู ถ้าผ่านจะเข้าสู่แท่งเงินเดือนครูปฏิบัติการขั้นต้น 10,080 บาท ขั้นประสิทธิภาพ 29,810 บาท สูงสุด 31,170 บาทมี 28 ขั้น ครูในปัจจุบัน 99% อยู่ ซี 1-7 หากปรับเข้าแท่งเงินเดือนใหม่จะเข้าสู่แท่งเงินครูปฏิบัติการ ส่งผลให้ครูที่รับเงินเดือนซี 7 เต็มขั้นปรับเป็น ซี8 ทันที ส่วนศึกษานิเทศก์เริ่มที่แท่งครูปฏิบัติการ อนาคตอาจปรับให้อยู่แท่งครูชำนาญการหรือ เท่าซี 9 (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2544 หน้า 20)





แนะพ่อแม่สร้างอีคิวให้ลูกต้องทำแต่แรกเกิด-7 ขวบ

ดร. รัศมี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลรัศมี กล่าวว่า ไอคิวเกิดจากพันธุกรรม แต่อีคิวเป็นความฉลาดทางอารมณ์ เกิดจากการบำรุงเสริมสร้างหลังจากที่เด็กเกิดมาแล้ว ถ้าเด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ เขาจะมีความสุข กล้าแสดงออก ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ การเสริมสร้างอีคิวเด็กให้มีศักยภาพ ต้องปลูกฝังตั้งแต่แรกเกิด-7 ขวบ อาหาร สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญมาก เด็ก 7 ขวบ-วัยรุ่น ต้องการหาประสบการณ์ด้วยตนเอง รักเพื่อนฝูง พ่อแม่จึงต้องช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์ เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงออกมา หาประสบการณ์ด้วยตนเองในขอบเขต ไม่ใช่เที่ยวเตร่หรือเรียนทั้งวัน ต้องค้นหาตัวตนแท้จริงของลูกว่าเป็นคนอย่างไร ชอบสิ่งใด ต้องสนับสนุนหรือแก้ไขให้เขาเติบใหญ่อย่างมีอิสระ มีคุณภาพของสังคม (มติชน จันทร์ที่ 22 มกราคม 2544 หน้า 13)





เผยงานวิจัยชี้สอบเข้า ป.1 ทำให้เครียดแถมสิ้นเปลือง แนะยกเลิกการสอบหันมาใช้แบบประเมินความพร้อม

บาทหลวง วิวัฒน์ แพร่สิริ ประธานคณะกรรมการฝ่ายกิจกรรม สภาการศึกษาคาทอลิก (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ทำวิจัย "วิธีการรับนักเรียนเข้าเรียนชั้น ป.1" กล่าวว่า วิธีการรับเด็กเข้าเรียนในชั้น ป.1 มีหลายวิธีคือ 1.เลื่อนจากชั้นอนุบาลขึ้น ป.1 2.พิจารณาตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดคู่กับการสัมภาษณ์ 3.การใช้เกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด เช่นโควต้าพิเศษ 4.การใช้แบบทดสอบความถนัด และสัมภาษณ์ดูความพร้อมเด็ก 5.การใช้แบบทดสอบ วัดความรู้ทางวิชาการ ปัญหาที่สำคัญคือ การสอบคัดเลือกด้านวิชาการ ซึ่งใช้ข้อสอบยากเกินความสามารถของเด็ก ทำให้ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปกวดวิชาจนเกิดความเครียดและสิ้นเปลืองมาก ตนคิดว่าควรใช้วิธีการเลื่อนจากอนุบาลขึ้น ป.1 รวมทั้งต้องกำหนดกรอบปฏิบัติในการรับเด็ก ป.1 ให้ชัดเจน รศ. เกื้อกูล ทาสิทธิ์ อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุด คือมีหน่วยงานกลาง สร้างแบบทดสอบและประเมินความพร้อมเด็ก ส่วน ดร. สายสุรี จุติกุล กล่าวว่า รูปแบบการรับเด็กควรใช้วิธีการหลากหลาย และแนวโน้มในอนาคตต้องยกเลิกวิธีการสอบความรู้ทางวิชาการให้ได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 10)





จัดงานใหญ่ ‘ราชมงคลวิชาการ’ ครั้งที่ 18

ผศ. ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กำหนดจัดงานยิ่งใหญ่ “ราชมงคลวิชาการ 44” ที่ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ต.คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยจะนำผลงานชิ้นเยี่ยมทั่วประเทศออกโชว์ให้ประชาชนได้ชม ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2544 (เดลินิวส์ พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 23)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


โครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลโรงเรียนแห่งแรกของปทุมธานี

นายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และบริษัทเกษตรอินทรีย์ จำกัด ได้ร่วมกับโรงเรียนพัฒนาวิทยา จัดทำโครงการธนาคารวัสดุรีไซเคิลขึ้นเป็นแห่งแรก ของจังหวัดปทุมธานี โดยสมาชิกจะนำเฉพาะวัสดุรีไซเคิลที่เหลือใช้ภายในบ้าน และโรงเรียน นำมาฝากธนาคารทุกวันศุกร์ โดยมีเจ้าหน้าที่แยกประเภทให้ตามรายการและราคา จะบันทึกจำนวนเงินตามสิ่งของลงในสมุดฝาก สามารถเบิกถอนได้เหมือนธนาคารทั่วไป โครงการณ์เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ 15 ธันวาคม 2543 (เดลินิวส์ อังคารที่ 23 มกราคม 2544 หน้า 32)





ทดลองใช้เบนซินผสมแอลกอฮอล์แล้ว

นางอังสนา ลิ้มสกุล หัวหน้าสำนักทะเบียนการค้า จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า กรมทะเบียนการค้าได้เชิญบริษัทผู้ค้าน้ำมัน และผู้ค้ารถยนต์ และผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือเกี่ยวกับการใช้ก๊าซโซฮอล์ในรถยนต์ ผลการประชุมหารือสรุปได้ว่า ในเรื่องคุณภาพอากาศ หากกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้เพิ่มอัตราสูงสุดของความดันไอ จะทำให้เพิ่มปริมาณก๊าซโอโซนในอากาศ แต่ผลการศึกษาเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า การใช้ก๊าซโซฮอล์ จะมีผลต่อเครื่องยนต์หรือไม่ โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงมาตรฐานน้ำมันเบนซินที่ใช้งานในปัจจุบัน หากนำเอาเอทานอลไปผสมในน้ำมันเบนซินที่ใช้งานในปัจจุบัน ก็จะทำให้ค่าความดันไอและค่าการกลั่นของก๊าซโซฮอล์ที่ผลิตได้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดคุณภาพก๊าซโซฮอล์ให้แตกต่างจากน้ำมันเบนซินในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และมลพิษทางอากาศอันอาจเกิดขึ้นได้ บางจากยินดีจะผลิตก๊าซโซฮอล์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดของน้ำมันเบนซินที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ไปก่อน และจะใช้กับรถของทางราชการ คือรถของ วท. กรมทะเบียนการค้า กรมควบคุมมลพิษและบางจาก หากไม่พบปัญหาใดๆ จึงจะจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 22 มกราคม 2544 หน้า 32)





ร่างแผนฯ 9 ศธ.เน้นเทคโนป้อนเด็กชนบท

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายกล้า สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระยะที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนที่คณะทำงานร่างเสนอ โดยสาระสำคัญแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.การพัฒนาด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และ 3.การพัฒนาการบริหารการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ส่วนด้านการกีฬาและพลานามัยจะแทรกอยู่ในด้านการศึกษา นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาเฉพาะด้านด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และได้เรียนต่อ ม.ปลาย โดยจะนำสื่อเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มนี้ในชนบท ส่วนด้านวิชาการจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน พัฒนาครูให้มีคุณภาพ ตลอดจนบูรณาการด้านการกีฬาและพลานามัยเข้าไปเป็นส่วนควบด้วย ทั้งจะใช้กลไกการศึกษาในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะได้กำหนดแผนปฏิบัติการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในกลุ่มเด็กวัยเรียนและผู้สูงอายุ (มติชน พุธที่ 26 มกราคม 2544 หน้า 10)





ยกเครื่อง พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมแก้มาตรฐานคุมปล่อยของเสียมลพิษ

นายอิสสระ โชติบุรการ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษาศึกษามลพิษในดินจาก 3 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าดินที่อยู่รอบๆ โรงงานฟอกหนังมีการปนเปื้อนของสารโครเมียมสูงมาก เช่นเดียวกับการปนเปื้อนของสารตะกั่วและกรดซัลฟุริกในโรงงานหลอมแบตเตอรี่เก่า เท่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการออกมาตรฐานการปนเปื้อนของมลพิษในดินเป็นการเฉพาะเลย มีเพียงแต่มาตรฐานของคุณภาพน้ำ และอากาศเท่านั้น ดังนั้นกรมโรงงานฯจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการ จัดทำร่างมาตรฐานสภาวะที่เกิดจากการปนเปื้อนของกิจการขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลักที่จะขอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ใหม่ โดยการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน และวิธีการควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจาก การประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทเพิ่มเติมเข้าไป ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2544 ร่างดังกล่าวน่าจะแล้วเสร็จ (มติชน พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 7)





พบหลักฐานใหม่สิ่งมีชีวิตเกิดเมื่อ 4.4 พันล.ปี

เมื่อวันที่ 11 มกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารเนเจอร์ ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยตัวอย่างแร่อายุกว่า 4.4 พันล้านปี ทำให้เชื่อว่าลักษณะภูมิประเทศและสภาวะแวดล้อมของโลกในยุคสมัยดังกล่าวมีอุณหภูมิและปริมาณน้ำเพียงพอที่จะมีสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างแร่เพทาย ซึ่งเป็นแร่ที่ทนทาน ละลายน้ำยาก และเก่าแก่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ถูกค้นพบที่บริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย จากการศึกษาพบว่ามีอายุมากถึง 4.4 พันล้านปี นักวิทยาศาสตร์จึงนำตัวอย่างของแร่มาตรวจสอบ โดย นายจอห์น วัสเลย์ นักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ของอังกฤษ หนึ่งในทีมสำรวจ กล่าวว่า จากการศึกษาตัวอย่างแร่เพทายที่พบสามารถบ่งชี้ได้ว่า เมื่อ 4.4 พันล้านปีก่อนหรือหลังโลกก่อกำเนิดเพียง 150 ล้านปี มียุคสมัยที่พื้นผิวโลกเหมือนกับในยุคปัจจุบัน ทั้งอุณหภูมิและปริมาณน้ำ ซึ่งหมายความว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากที่ใดมีน้ำย่อมหมายความว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตเพราะปริมาณน้ำที่เพียงพอสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต (มติชน เสาร์ที่ 13 มกราคม 2544 หน้า 18)





‘ซื้อขายมนุษย์’ ระบาด! จี้คุมธุรกิจเถื่อนผ่านเน็ต

สำนักข่าวไทยรายงานว่า ข่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตรายงานว่า การซื้อ-ขายทารกและชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์กำลังเป็นที่แพร่หลายอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แหล่งข่าวจากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษเปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวอังกฤษครอบครัวหนึ่งชื่อ จูดิธและอเลน คิลซาว ได้ติดต่อขอรับเด็กฝาแฝดอเมริกันคู่หนึ่งชื่อ บีลันดาและคิมเบอร์รี่ไปเลี้ยงโดยผ่านนายหน้าซึ่งเป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็กชื่อ แคริ่ง ฮาร์ต อดอปชั่น โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 8,200 ปอนด์หรือ 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐ (มติชน พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 7)





‘ทักษิณ’ โชว์วิชั่นขยับแผนตั้งกระทรวงไอที

น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น. กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า พ.ต.ท. ทักษิน ชินวัตร สั่งการให้รวบรวมข้อมูลและเตรียมตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน ทั้งนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ให้เหตุผลว่า ในปีปัจจุบันมีการพูดถึง ระบบประสาทอัตโนมัติ (Digital Nervous System) กันแล้ว จึงสมควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบส่งข้อมูลจากทบวงฯ กระทรวง กรมต่างๆ ให้กับผู้บริหารระดับสูงของแต่ละกระทรวง น.ต. วุฒิพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงไอทีจะเป็นฐานให้รัฐบาลได้รับรู้สถานการณ์ในแต่ละด้าน อาทิ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม โดยในระยะเริ่มต้นอาจจะตั้งเป็น สำนักงานไอทีก่อน จากนั้นอาจพัฒนาไปสู่กระทรวงในภายหลัง การตั้งกระทรวงไอทีเพื่อเป็นหน่วยงานด้านข้อมูลเพราะ ปัญหาใหญ่ของประเทศวันนี้ไม่ใช่ปัญหาข้อมูลรั่วไหล แต่ปัญหาคือไม่มีข้อมูลทำให้ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานนั้นได้ร่างเค้าโครง หลักการ ครบถ้วนแล้วรอเสนอให้ พ.ต.ท. ทักษิณ พิจารณา และคาดว่าทันทีที่เป็นรัฐบาลจะทำงานได้เลย (มติชน ศุกร์ที่ 26 มกราคม 2544 หน้า 11)





ชี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ เลวร้าย กระทบเกษตร-แหล่งน้ำ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้ออกรายงานชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนในขณะนี้ว่าเลวร้ายลงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คิด และคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ นอกจากนี้ รายงานยังได้แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรและแหล่งน้ำ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.4-1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 0.09-0.88 เมตร ในช่วงระยะ 100 ปีข้างหน้า (มติชน ศุกร์ที่ 26 มกราคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


อังกฤษคลอดกฏหมายโคลนตัวอ่อนมนุษย์

สมาชิกวุฒิสภาของอังกฤษได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 212 ต่อ 92 อนุญาตให้ใช้เซลล์ต้นตอในการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เซลล์ต้นตอ (Stem Cells) เป็นเซลล์ตั้งต้นที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น เลือด สมอง และกระดูก จึงมีศักยภาพที่จะใช้รักษาได้หลายโรค รวมทั้งเบาหวาน เยื่อหุ้มสมอง และไขสันหลังอักเสบ และโรคเส้นโลหิตสมองตีบหรือแตก ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไข พ.ร.บ. การปฏิสนธิของมนุษย์และตัวอ่อนวิทยา ปี พ.ศ. 2523 เป็นการบรรยายขอบเขตงานวิจัยให้ครอบคลุมต้นตอจากตัวอ่อนมนุษย์ แต่ยังคงกำหนดให้การโคลนมนุษย์เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามเดิม (ไทยโพสต์ พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 12)





สหรัฐลงมือขุดค้นพันธุกรรมมนุษย์

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับบริษัทคอมแพค คอมพิวเตอร์ ในการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดซุปเปอร์ เพื่อสำรวจลึกเข้าไปในโครงสร้างพันธุกรรมของมนุษย์ และค้นหาให้รู้ว่าตำแหน่งและหน้าที่การงานของหน่วยพันธุกรรมคืออะไร เพื่อมนุษย์สามารถรู้ความลับของโครงสร้างพันธุกรรมได้ ก็จะสามารถปฏิรูปหยูกยา และความรู้พื้นฐานทางชีววิทยาได้เสียใหม่ (ไทยรัฐ อังคารที่ 23 มกราคม 2544 หน้า 7)





พบยาเอดส์ขนานใหม่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทแกล็คโซ สมิธ ไคลน์ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ค้นพบยารักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ขนานใหม่ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ต้องรับประทานยาวันละหลายๆ เม็ดอีกต่อไป ยาขนานใหม่นี้มีชื่อว่า "ทริซิเวียร์" ผลิตโดยบริษัทแกล็คโซ สมิธ ไคลน์ เป็นยาที่รวมตัวยาสำคัญถึง 3 ขนาน ในการบำบัดอาการของผู้ป่วยโรคเอดส์รวมทั้งตัวยาเอแซตที โดยคนไข้สามารถรับประทานเพียงวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น (มติชน พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 7)





หญิงกิน ‘ปลา’ ปลดภาวะเสี่ยง 2 โรค เส้นเลือดตีบในสมอง-ลดความดัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมนักวิจัยชาวสหรัฐได้ศึกษาผลการรับประทานปลากับ ภาวะความเสี่ยงการเป็นโรคเส้นเลือดตีบในสมองในหญิงชาวอเมริกันจำนวน 80,000 คน ปรากฏว่า การรับประทานปลา จะช่วยลดภาวะความเสี่ยงการเป็นโรคดังกล่าวได้ถึง 48% และช่วยลดความดันเลือดในกลุ่มเสี่ยงได้ด้วย คณะนักวิจัยระบุว่า ผู้ที่รับประทานปลา โดยเฉพาะปลาที่มีไขมันมากและอยู่ในเขตน้ำเย็น เช่น ปลาแซลมอน ปลาแม็คเคอเรล ปลาซาร์ดีน ฯลฯ จะได้รับไขมันโอเมกา-ทรี ซึ่งกรดไขมันดังกล่าวมีคุณสมบัติในการป้องกันเลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม ซึ่งทำให้เส้นเลือดสมองตีบประเภทขาดเลือดเฉพาะที่ เนื่องจากการอุดตันหรือ Ischemic Stroke ได้ (มติชน เสาร์ที่ 20 มกราคม 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


คนแห่ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมแนวใหม่

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่โรงพยาบาลตำรวจ พ.ต.อ. น.พ. สมยศ ดีมาก รองผู้บังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.อ. น.พ. ชาญชิต แสงแก้ว นายแพทย์งานออธอปิดิกส์ โรงพยาบาลตำรวจ สามารถคิดค้นวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ด้วยการผ่าตัดแนวใหม่ที่เสียค่าใช้จ่ายน้อย ขณะนี้มีผู้สนใจแสดงความประสงค์จะเข้ารับการรักษา แต่ทั้งนี้โรงพยาบาลตำรวจรับคนไข้ได้วันละ 5 ราย ซึ่งต้องรอคิวห้องผ่าตัด และมีค่าใช้จ่ายรายละ 10,000 บาท (มติชน เสาร์ที่ 20 มกราคม 2544 หน้า 5)





พบฝูงปลาโลมาปากแม่น้ำบางปะกง เตรียมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว

นายสุรพล วัฒนกูล ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับแจ้งจาก นางสมจิตร์ พันธ์สุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่าข้ามว่า ได้พบปลาโลมาฝูงใหญ่ ประมาณ 80-100 ตัว ซึ่งมีทั้งปลาโลมาหัวบาตร โลมาปากขวด และโลมาเผือก เข้ามาหากินที่ปากแม่น้ำบางปะกงในช่วงเดือน ธันวาคม 2543 ทุกปี ซึ่งจะเข้ามาหาปลาดุกทะเลซึ่งเป็นอาหารของปลาโลมา และจะอยู่ไปจนถึงเดือน เมษายน จากนั้นจะกลับสู่ทะเล คณะเทศมนตรี ต.ท่าข้าม จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ลงเรือชมปลาโลมา และข้อกำหนดในการบริการนำชม (เดลินิวส์ พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 29)





‘สวี’ เปิดห้องสมุดประชาชนในร้านค้า

นายนิโอ๊ะ นิมุ หัวหน้าศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบ.อ.) สวี จ.ชุมพร เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี อ.สวี ร่วมกับร้านค้าในชุมชน ได้ดำเนินการโครงการห้องสมุดในร้านค้าชุมชน โดยตั้งเป้าหมายไว้ตำบลละ 1 แห่ง รวม 11 แห่ง ทั้งนี้เพื่อขยายบริการการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประชาชนในชุมชนต่างๆให้มากที่สุด ซึ่งในระยะเริ่มต้นนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 3 แห่งคือ ที่ตำบลปากแพรก ต.นาโพธิ์ และ ต.ควน ซึ่งความคิดริเริ่มดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจากการที่บรรณารักษ์ห้องสมุดเห็นว่า เมื่อประชาชนมาซื้อสินค้าในร้านขายอาหาร ร้านขายของชำ ฯลฯ ขณะที่รอรับบริการน่าจะใช้เวลาส่วนดังกล่าวให้เป็นประโยชน์โดยการอ่านหนังสือ จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านมากยิ่งขึ้น จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก และจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกตำบลต่อไป (มติชน พุธที่ 24 มกราคม 2544 หน้า 16)





ชี้โรค ‘ดีวีที’ ไม่เกี่ยวนั่งโดยสารชั้นประหยัด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 12 มกราคมว่า ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าโรคโดยสารชั้นประหยัด ซึ่งศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ดีพ เวน ธรอมโบซิส (ดีวีที) ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการนั่งเครืองบินโดยสารชั้นประหยัดอย่างที่หลายคนคิด แต่เกิดจากการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ทั้งการโดยสารเครื่องบินชั้นเฟิร์สต์ คลาส หรือ บิสซิเนส คลาส รวมทั้งในรถยนต์ โรงภาพยนตร์หรือที่โต๊ะทำงานเป็นเวลานานๆ ก็เป็นโรคดังกล่าวได้ (มติชน อังคารที่ 13 มกราคม 2544 หน้า 18)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215