หัวข้อข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 2005-11-13

ข่าวการศึกษา

ทปอ.ทวงรัฐเพิ่มเงินให้พนักงานมหาวิทยาลัย
ศธ.วาง 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนปฏิรูปศึกษาใน 3 เดือน
ทปอ.หนุนกรอ.เฉพาะค่าเทอม ชงขยายทุนครอบคลุมภาคพิเศษ
เปิดติวเอนท์ผ่านทีวีสู่ 3 จว.ใต้
ม.นเรศวรเปิด"สวนพลังงาน"แห่งแรกในเอเชีย ดึง50สถาบันอุดมฯสร้างเครือข่ายในชุมชน
ม.มหิดลขยายสมัครน.ศ.โควต้า
ศูนย์นวัตกรรมฯไทย-ฝรั่งเศส แหล่งเรียนรู้เทคโนฯข้ามชาติ
ศธ.ทุ่ม 12 ล.จัดมหกรรมภาษาอังกฤษ
เผยเด็กไม่กู้ยืมเรียนICLอาจไม่ได้ส่วนลดค่าเรียน
'จุฬาฯ' ติด 'อันดับโลก'
มึนร่าง พ.ร.บ.บูรพาหาทางออกไม่เจอ จวก ส.ว.ยึดอัตตา
สกอ.เห็นดีจัดอันดับมหา’ลัย ข้อมูลมีอยู่รู้แล้วใครอันดับ 1
ร่างกฎหมายมหา"ลัยในกำกับฯคืบ 4สถาบันใกล้คลอด-"มบ."ยังสะดุด
พระเทพฯพระราชทาน วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล เชื่อมสายใย"ไทย-กัมพูชา"
สถาบันชาติพันธุ์ เปิดรับนักศึกษา
"มก."กำแพงแสนรับน.ศ. วิศวกรรมโยธาภาคพิเศษ
"ทูต"เมืองปลาดิบปลื้มเยาวชนไทย
เลือกเรียนภาษาจีน-ญี่ปุ่นอย่างไร
แย้มม.รัฐเก่งวิจัยแค่10แห่ง
สกอ.ชงหลักสูตรนักบินได้ทุน ICL ดันวท.นครพนมเปิดปวช.การบิน
เด็กไทยเมินเรียนวิทย์
มธ.-มก.เจ๋งคว้าแชมป์บริหารเงินทุน AJF
สังคมศาสตร์เผยหลักสูตรการจัดการองค์กรเภสัชกรรม
‘นำยุทธ’ ดัน มทร.เป็นผู้นำด้านวิทย์-เทคโนโลยี
แชมป์โอลิมปิคหุ่นยนต์ 2005
"จาตุรนต์"ยังไม่พอใจคุณภาพบัณฑิตไทย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

มกอช.จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
เอ็มเทคผุดโปรเจคสนามบินสีเขียว
ญี่ปุ่นเตรียมส่งคนท่องอวกาศ
ออกซิเจนบนดวงจันทร์
ยานญี่ปุ่นผิดปกติ แผนลงจอด"ดาว"สะดุด
"นาซ่า"ถังแตก คาดพับแผนบุกดาวแดง
ฝีมือไทยสู่ห้วงอวกาศ... "ดาวเทียมสำรวจเมฆ"แห่งนาซา
ยุ่นตั้งระบบเตือนภัย แผ่นดินไหวล่วงหน้า203จุด
ยานอวกาศญี่ปุ่นพร้อมสำรวจอุกกาบาต
มจธ.ตั้งเครือข่ายวิทย์-เทคโนภาคตะวันตก
สมาคมมนุษย์อวกาศสหรัฐ เรียกร้องวางแผนรับมือดาวชนโลก
ชี้"ภูเขาไฟระเบิด" ลดความร้อนทะเล
ชำแหละกฎเหล็ก Food Safety สหรัฐ
รอยเลื่อนภาคเหนือไทยลากยาวไปยันเกาะอินโดนีเซีย
จีนชิงส่งคนไปดวงจันทร์ตัดหน้ามะกันสำรวจหาเชื้อเพลิง
สายส่ง500กิโลโวลต์ทางทะเลสายแรกของประเทศไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและแหล่งประมงกลางทะเล
นาซาแนะไอเดีย ใช้แรงดึงดูดเขี่ย ดาวเสี่ยงชนโลก
"วิศวะ มก."เปิดค่าย นักอิเล็กทรอนิกส์น้อย
สร้างทอร์นาโดเทียม ผลิตกระแสไฟฟ้าทางเลือก
สถาบันมะกันพัฒนา เรดาร์ตรวจสภาพอวกาศ
ส่งยานอวกาศตีคู่ดาวเคราะห์น้อยใช้แรงดึงดูดฉุดพ้นวิถีอันตราย
ชี้ช่องพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล
แผนไปพลูโต

ข่าววิจัย/พัฒนา

เลี้ยงโคให้มีประสิทธิภาพ สร้างฟาร์มปลอดโรค
ชุดตรวจไอโอดีนเกลือ ฝีมือมหิดลเข้าตาอนามัยโลก
ธรรมศาสตร์ประยุกต์ไอทีลดภัยทางด่วน
ผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับ : จากผลงานวิจัยสู่ชุมชน
ปกป้องพันธุ์ข้าวไทยด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ
แผ่นแปะปิดแผลเบาหวาน ควบคุมการปล่อยตัวยาได้-คาด1ปีได้เห็นกัน
ปลูกพืชนอกโลก
ประดิษฐ์ชุดตรวจโรคเอดส์ตนเองใช้สำลีล้วงปากนำเข้าเครื่อง
รถดาวเทียมเตือนอุบัติเหตุ บอกคนขับรู้ตัว-เบรกอัตโนมัติก่อนชน
สภาวิจัยทุ่ม50ล้าน ค้นหาพืชพลังานใหม่
ภาชนะทรงพีระมิดช่วยยืดอายุกล้วยสุกช้า
เอกชนเปิดตัว'ยางตีนตะขาบ' รายแรก
นักวิจัยมก.เจ๋ง สังเคราะห์สารยับยั้งมะเร็ง
"เลย"ได้ทุนวิจัยเทคโนโลยีสู่ชุมชน
หอมหัวใหญ่บำรุงกระดูกกินอร่อยเสริมสร้างโครงแข็งแรง
ปลูกเซลล์ใหม่ซ่อมหูหนวก ทดลองนำเซลล์ลิงมาใส่หนูแล้วได้ผลสำเร็จ
ผลวิจัยสู่กรุงเทพมหานครที่ยั่งยืน จากปัญหาในเขตกรุงเทพฯที่รุมเร้าในทุกด้าน

ข่าวทั่วไป

ให้ผู้สูงอายุรักษาสุขภาพปาก เฉลี่ยเหลือฟันคนละ 18 ซี่
ดันเกษตรล่วงหน้า 5ปีขึ้นชั้นระดับโลก
คมนาคมไฟเขียวขึ้นค่ารถเมล์อีก 1 บาท
ครม.อนุมัติร่างกฏหมายตั้ง สำนักงานนวัติกรรมแห่งชาติ





ข่าวการศึกษา


ทปอ.ทวงรัฐเพิ่มเงินให้พนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดี ม.สงขลานครินท์ (มอ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลการ ประชุม ทปอ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้ฝากให้ ศ.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษา นำมติของ ทปอ. ไปยืนยันว่า ในปีการศึกษา 2549 ให้มีการเปลี่ยนเฉพาะเรื่องแหล่งเงินกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปเป็นกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคตหรือ ICL เท่านั้น ส่วนเรื่องอื่น ๆให้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีมติใด ๆ ออกมา เช่น ค่าใช้จ่ายรายหัวของนักศึกษา เรื่องการจัดสรรงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัย เป็นต้น พร้อมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของนักศึกษาด้วยว่าจะนำมาจากไหน เนื่องจาก ICL จะให้กู้ยืมเฉพาะค่าเล่าเรียนเท่านั้น ประธาน ทปอ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาไปแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ ทปอ. เป็นห่วงและเกรงว่าหากนำมาเป็นตัวอย่างให้แก่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ ด้าน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ทปอ. ยังจะขอให้คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการเงินฯ พิจารณาด้วยว่านักศึกษาภาคพิเศษ หรือภาคสมทบของมหาวิทยาลัยรัฐสามารถกู้ ICL ได้หรือไม่ ในขณะที่นักศึกษาเอกชนสามารถกู้ได้ นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องการปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ปรับขึ้นได้ 11% เท่ากับที่ข้าราชการได้เพิ่มไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 361 ล้านบาทเลย และเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 48 ที่ผ่านมา ข้าราชการก็ได้เงินเดือนเพิ่มอีก 5% ดังนั้น ทปอ. จึงมีมติให้ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ปรับเงินเดือนในส่วนดังกล่าวเพิ่มให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





ศธ.วาง 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนปฏิรูปศึกษาใน 3 เดือน

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาช่วง 3 เดือนตั้งแต่พฤศจิกายน 48-มกราคม 49 ว่า ตนได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์เชิงรุกในการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษา 2.ยุทธศาสตร์สำหรับเด็กพิการทุกประเภท เด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีปัญหา ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษา 4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ 5. ยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการนำความรู้ ประสบการณ์มาใช้ประโยชน์และเพิ่มบทบาทการศึกษาไทยบนเวทีโลก นอกจากนี้ยังจะกำหนดเพดานจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่ให้มากเกินไป โดยสำรวจข้อมูลเชิงศึกษาเปรียบเทียบจากต่างประเทศ, ผลักดันให้มีการพัฒนาการทดสอบวัดผลที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ทั้งในโรงเรียนของรัฐ เอกชน และการวัดผลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาของชาติ โดยลดการออกข้อสอบแบบปรนัย และให้ใช้ข้อสอบอัตนัยซึ่งนักเรียนต้องเขียนและอธิบายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มรายได้ให้แก่ครู โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเพิ่มค่าตอบแทนครูตามผลงาน หรือประโยชน์ที่เกิดจากการจัดการศึกษา ตลอดจนเร่งรัดการดำเนินโครงการเมกะโปรเจคท์ให้ทันตามที่รัฐบาลมอบหมาย โดยเฉพาะการจัดหาคอมพิวเตอร์ และเจรจาร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อลดภาษีหนังสือ และสื่อการเรียนการสอนจากต่างประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





ทปอ.หนุนกรอ.เฉพาะค่าเทอม ชงขยายทุนครอบคลุมภาคพิเศษ

นายประเสริฐ ชิตพงษ์ อธิการบดี ม.สงขลานครินทร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยถึงผลการประชุม ทปอ.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติว่าระบบปฏิรูปการเงินอุดมศึกษา ให้ปรับเปลี่ยนสถานะของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพียงอย่างเดียวก่อนโดยให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณผ่านการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักศึกษา ส่วนเงินกู้ยืมในส่วนของค่าครองชีพให้กับนักศึกษา ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับหรือไม่ ทปอ.ได้เสนอแนวทางหากรัฐไม่ให้การสนับสนุนงบประมาณ ดังนี้ 1.อาจจะให้นักศึกษากู้เงินค่าครองชีพผ่าน กยศ. 2.ให้รัฐบาลจัดหางบประมาณส่วนอื่นมาสนับสนุน และ3.ให้มีการจ้างนักศึกษาทำงานภายในมหาวิทยาลัย โดยรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณจัดจ้าง ด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นห่วงเรื่องเงินงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 48,000 ล้านบาทว่า จะไม่มีพอต่อการจัดสรรในระบบ กรอ. ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ลดงบประมาณในส่วนนี้ แต่เมื่อเปลี่ยนระบบก็จะทำให้มีการแบ่งสัดส่วนเงินที่แยกย่อยมากขึ้น ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาวิทยาลัยราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน ก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จึงอยากให้รัฐทบทวนในเรื่องนี้ และจัดสรรเพิ่มให้เพียงพอแก่ทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นึกถึงความเสมอภาคในการให้กู้ยืมเงินว่าไม่ควรให้เฉพาะนักศึกษาปริญญาตรี ภาคปกติเท่านั้น แต่ควรขยายครอบคลุมนักศึกษาที่เรียนภาคสมทบ หรือโครงการพิเศษของมหาวิทยาลัยด้วย (สยามรัฐรายวัน จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





เปิดติวเอนท์ผ่านทีวีสู่ 3 จว.ใต้

นายรุ่ง แก้วแดง รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้จัดโครงการรินน้ำใจให้น้องชาวใต้ เสริมความรู้สู่มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1 เมื่อเร็วๆ นี้แก่ แก่นักเรียนชั้น ม.6 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ปรากฎว่าประสบความสำเร็จและนักเรียนพึงพอใจมาก ดังนั้น ศธ.จึงร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดโครงการฯ เป็นครั้งที่ 2 ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 11ส่วนแยกจังหวัดยะลา ซึ่งจะถ่ายทอดสดและถ่ายทอดเทปการเรียนการสอน รวม 101 ชั่วโมง ไปยังโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงสงขลา เขตพื้นที่การศึกษา 3 คือ อ.นาทวี อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะเดา และ อ.สะบ้าย้อย โดยมีอาจารย์จากสถาบันกวดวิชา มหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมดังร่วมเป็นวิทยากรสอนเสริม สำหรับตารางการการถ่ายทอดสด จะเริ่มครั้งแรกวันที่ 12 พ.ย.นี้ วิชาภาษาไทย เวลา 13.00-15.00 น., วันที่ 26 พ.ย.เคมี, 24 ธ.ค.คณิตศาสตร์, 7 ม.ค.49 ชีววิทยา, 14 ม.ค.ภาษาอังกฤษ, 28 ม.ค.ฟิสิกส์ ส่วนเทปการเรียนการสอนจะเผยแพร่ดังนี้ วิชาฟิสิกส์ เวลา 13.00-14.00น.วันที่ 14, 28 พ.ย. วันที่ 12, 26 ธ.ค. วันที่ 9,23 ม.ค. วิชาสังคม วันที่ 21 พ.ย., วันที่ 5, 19 ธ.ค., วันที่ 2, 16 ม.ค.วิชาภาษาอังกฤษ วันที่ 16, 30 พ.ย., วันที่ 14, 28 ธ.ค., วันที่ 11, 25 ม.ค. วิชาชีววิทยา วันที่ 23 พ.ย., วันที่ 7, 21 ธ.ค., วันที่ 4, 18 ม.ค. วิชาเคมี วันที่18 พ.ย., วันที่ 2, 16, 30 ธ.ค., วันที่ 13, 27 ม.ค. วิชาภาษาไทย วันที่ 25 พ.ย., วันที่ 9, 23 ธ.ค., วันที่ 6, 20 ม.ค. วิชาคณิตศาสตร์ วันที่ 19 พ.ย.,วันที่3, 10, 17, 31 ธ.ค., วันที่ 21 ม.ค. วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เวลา 14.00-15.00น. วันที่ 19 พ.ย., วันที่ 3, 10, 17, 31 ธ.ค., วันที่ 21 ม.ค., วิชาศาสนา เวลา13.00-15.00 น. วันที่ 1, 8, 15, 22 ม.ค. ทบทวนความรู้ฟิสิกส์ สังคมอังกฤษ ชีวะและแนะแนว เวลา 13.00-14.00 น. วันที่ 15, 22, 29 พ.ย., วันที่ 6, 13, 20,27 ธ.ค.48 วันที่ 3, 10, 17, 24 ม.ค.49 ทบทวนความรู้เคมี ไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และแนะแนว เวลา 13.00-14.00 น.วันที่ 17, 24 พ.ย., วันที่ 1, 8,15, 22, 29 ธ.ค., วันที่ 5,12,19,26ม.ค. และทบทวนความรู้ 8 วิชาและแนะแนวเวลา 13.00-15.00 น. วันที่ 13, 20,27 พ.ย., วันที่ 4, 11, 18, 25 ธ.ค. สำหรับผู้สงสัยเกี่ยวกับระบบการแอดมิชชัน และปัญหาวิชาต่างๆ ที่ออกอากาศ สอบถามได้ที่ 0-2354-5746 หรือ ส่ง SMS ที่ 0-9078-3146,0-1666-8923และ0-6546-8470 และเว็บไซต์ www.moenet/edsouth.go.th (สยามรัฐรายวัน จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





ม.นเรศวรเปิด"สวนพลังงาน"แห่งแรกในเอเชีย ดึง50สถาบันอุดมฯสร้างเครือข่ายในชุมชน

รองศาสตราจารย์(รศ.) ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า วิทยาลัยพลังงานทดแทนมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เตรียมจัดสัมมนาเชิงวิชาการ "เครือข่ายพลังงานชุมชน" ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน ที่อาคารประชุมสัมมนาวิทยาลัยพลังงานทดแทน เพื่อสร้างเครือข่ายพลังงานทดแทนในชุมชน สู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาพลังงานชุมชนในเชิงนโยบายร่วมกัน สำหรับผู้ร่วมสัมมนา เป็นผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 41 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ตลอดจนผู้แทนชุมชนจากสมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก โดยมี ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิด มีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเป็นวิทยากร อาทิ Solar Zentrum Mecklenburg-Vorpommem และ Joachim Krueger Pfanzenklaranlagen GmbH จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว "สวนพลังงาน" (Energy Park) ซึ่งเป็นสวนสาธิตการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนอย่างถูกต้องและเป็นรูปธรรมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย บนพื้นที่ 50 ไร่ โดยเป็นการสาธิตการใช้งานจริงของระบบอย่างถาวรในสวนพลังงานประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สาธิตอุปกรณ์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์(Demonstration Area) ซึ่งประกอบด้วยระบบสาธิต เช่น 1.ระบบแท่นทดสอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 2.สถานีตรวจวัดรังสีดวงอาทิตย์ 3.ระบบสาธิตน้ำพุจากเซลล์แสงอาทิตย์ 4.ระบบสาธิตบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 150 วัตต์ 5.ระบบสาธิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการสื่อสาร 6.ระบบสาธิตไฟฟ้าสวนสาธารณะ 7.ระบบสถานีประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบรวมศูนย์ ขนาด 600 วัตต์ 8.ระบบสาธิตสถานีผลิตไฟฟ้ากระแสสลับจาก เซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาต่อเข้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าขนาด 3 กิโลวัตต์ 9.ระบบสาธิตเครื่องปรับอากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และ 10.ระบบสาธิตเครื่องทำความเย็นตู้เก็บผักและผลไม้ เป็นต้น ส่วนที่ 2 คือ พื้นที่ศูนย์วิชาการและแสดงนิทรรศการ สำหรับให้คำปรึกษาและบริการจัดฝึกอบรม สัมมนาด้านพลังงานทดแทน นอกจากนี้สวนพลังงานยังเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยด้านพลังงานทดแทนให้กับนิสิตปริญญาโทและเอกหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพลังงานทดแทน (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





ม.มหิดลขยายสมัครน.ศ.โควต้า

นายสมพล พงศ์ไทย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ม.มหิดลได้ขยายเวลาการรับสมัครคัดเลือกนักศึกษาปริญญาตรี ในระบบโควต้า ได้แก่ โควต้าวิทยาเขต โควต้าพื้นที่ และโควต้าโครงการพิเศษ รับนักศึกษารวม 1,010 คน จากเดิมเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน ขยายเป็นถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยโครงการที่เปิดรับสมัครในช่วงนี้ ได้แก่ โครงการพิเศษของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา โครงการพิเศษผลิตแพทย์และทันตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และโควต้าพื้นที่ทั่วประเทศ ม.มหิดลยังมีทุนเรียนฟรี เช่น ในโครงการศรีตรังทองของคณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 120 ทุน โครงการพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือทุน พสวท. ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก จำนวน 10 ทุน และโครงการกระจายแพทย์หนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ จำนวน 20 ทุน ผู้สนใจติดต่อได้ที่กองบริการการศึกษา ม.มหิดล ศาลายา โทร.0-2849-6258-7 (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





ศูนย์นวัตกรรมฯไทย-ฝรั่งเศส แหล่งเรียนรู้เทคโนฯข้ามชาติ

ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส(Thai-French Innovation Centre) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(สจพ.) ศูนย์ฯดังกล่าว เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทย คือ สจพ. กับสภาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล สมาคมบริษัทผู้พัฒนาอุปกรณ์การสอนด้านอุตสาหกรรม และกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมงานเชื่อมและแก๊ส ของประเทศฝรั่งเศส ฝ่ายไทย จะได้ประโยชน์ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในแวดวงอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น ส่วนฝรั่งเศส จะได้รับผลตอบแทนในการลงทุนระยะยาว ในด้านการเผยแพร่เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการในประเทศกำลังพัฒนา ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส เพิ่งครบรอบ 15 ปี ไปเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา โอกาสนี้ ทางศูนย์ฯจึงจัดนิทรรศการขึ้น เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ด้านเทคโนโลยีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และแสดงผลงานทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ จัดสัมมนาวิชาการให้ผู้สนใจได้เข้าฟัง พร้อมเปิดห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีให้เข้าดู *พนาฤทธิ์ เศรษฐกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฯเล่าถึงรายละเอียดของศูนย์ฯว่า ก่อตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกอบรม และวิจัยด้านเทคโนโลยีสำหรับนักศึกษา และอาจารย์ของ สจพ. รวมไปถึงเป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิค วิศวกร และนักศึกษาของสถาบันอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะในประเทศไทยเอง หรือในภูมิภาคอินโดจีน ทั้งยังเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคให้กับภาคอุตสาหกรรม ศูนย์นี้แบ่งเป็น 5 ฝ่ายคือ เทคโนโลยีงานเชื่อม เทคโนโลยีระบบการผลิตอัตโนมัติ เทคโนโลยีไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการกัดกร่อน และมาตรวิทยาเชิงกล สำหรับฝ่ายเทคโนโลยีงานเชื่อมนั้น พนาฤทธิ์บอกว่า ทางสถาบันงานเชื่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันการเชื่อมสากล ได้ให้ศูนย์ฯเป็นที่ฝึกอบรมด้านการเชื่อมในหลายหลักสูตร เมื่อจบหลักสูตรแล้ว ก็จะได้ใบรับรองในระดับสากล ที่มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่สามารถออกใบรับรองได้ ศูนย์ยังขยายผล และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจะมีความร่วมมืออย่างนี้ต่อไป (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





ศธ.ทุ่ม 12 ล.จัดมหกรรมภาษาอังกฤษ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดงานมหกรรมวิชาการภาษาอังกฤษ โดยมีสาระหลักคือ การนำเสนอเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อประโยชน์ต่อการสื่อสารเป็นหลัก พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงปรัชญาแนวคิดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศ ซึ่งภายในนิทรรศการจะมีการจัดสื่อสมัยใหม่ การบรรยายจากวิทยากรชื่อดังร่วมด้วย ด้านคุณหญิงกษมา เปิดเผยว่า งานมหกรรมวิชาการภาษาอังกฤษ จะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ระหว่าง 17-18 ธ.ค.โดยใช้ชื่องาน "Expo Communicative English Learning (EXCEL) มีทั้งการบรรยาย นิทรรศการต่างๆ พร้อมทั้งได้จัดเวิร์คช็อปในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ และแหล่งการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมออกบูธจัดกิจกรรมกว่า 150 แห่ง โดยการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านบาท มหกรรมนี้ต้องการเน้นที่กลุ่มครูทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ปกครองที่มีความสนใจภาษาอังกฤษ (ข่าวสด จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





เผยเด็กไม่กู้ยืมเรียนICLอาจไม่ได้ส่วนลดค่าเรียน

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา ได้มีการหารือและได้ข้อยุติเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ ICL ดังนี้ มหาวิทยาลัยที่จะร่วมใช้ระบบ ICL ในปี 2549 คือ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันเฉพาะทางที่สังกัดหน่วยงานอื่น ๆ ที่สอนระดับอุดมศึกษาและเคยกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดิม จะให้กู้เฉพาะปริญญาตรีเท่านั้น ส่วนระดับปริญญาโท บัณฑิตศึกษาและปริญญาเอกยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะให้กู้ได้ในจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ได้ข้อยุติว่าหลักสูตรที่จะกู้ ICL ได้ คือ หลักสูตรปกติและหลักสูตรพิเศษ โดยหลักสูตรพิเศษจะต้องมีการกำหนดเพดานค่าเล่าเรียนที่ชัดเจนด้วย ด้าน ศ.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการอำนวยการฯ กล่าวว่า ในการประชุมได้มีกรรมการบางคนเสนอว่าไม่ควรให้มีส่วนลดสำหรับผู้ที่ไม่กู้ยืมเงินจาก ICL เพราะผู้กู้ยืมเงินจะต้องจ่ายเงินคืนในส่วนต่างของค่าเงินที่ลดลงแล้ว หรือตามอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่คนที่จ่ายเงินในอนาคตต้องจ่ายเงินมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรคำนวณเงินต้นในฐานเดียวกัน ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่านักศึกษาทุกคนจะขอใช้สิทธิกู้ยืมทั้งที่ไม่มีความจำเป็นนั้น ตนเห็นว่าจะต้องมีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจว่านักศึกษาที่กู้เงินไปจะต้องจ่ายคืนมากกว่าจ่ายด้วยเงินสด ดังนั้นนักศึกษาต้องคิดว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนตอนนี้หรือจะเป็นหนี้ในอนาคต อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าพ่อแม่คนไทยที่มีฐานะน่าจะย่อมจ่ายเงินค่าเล่าเรียนให้ลูกตอนนี้คงไม่ปล่อยให้ลูกเป็นหนี้แน่นอน (เดลินิวส์ อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





'จุฬาฯ' ติด 'อันดับโลก'

นิตยสาร “เดอะไทม์ไฮเออร์” ซึ่งเป็นนิตยสารในเครือของ “ไทม์” ได้ประกาศผล การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 200 อันดับแรกของปี 2548 ออกมาแล้ว ปรากฏว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็น มหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ติด อันดับ 121 ได้คะแนนรวม 26.7 เท่ากับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกอีก 2 แห่ง คือ “มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท” ในสหรัฐอเมริกา และ “มหาวิทยาลัยปารีส 1 ซอร์บอนน์” ในฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยที่ติด 200 อันดับแรกของโลก ส่วนใหญ่ เป็นมหาวิทยาลัยใน สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป สำหรับเอเชียและประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยติดอันดับน้อยมาก ออสเตรเลีย ติด 13 มหาวิทยาลัย ญี่ปุ่น ติด 10 มหาวิทยาลัย จีน ติด 6 มหาวิทยาลัย ฮ่องกง ติด 4 มหาวิทยาลัย อินเดีย เกาหลีใต้ และ นิวซีแลนด์ ติดประเทศละ 3 มหาวิทยาลัย สิงคโปร์ ติด 2 มหาวิทยาลัย มาเลเซีย ไต้หวัน และ ไทย ติดประเทศละ 1 มหาวิทยาลัย สำหรับ เอเชีย แล้ว มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 20 อันดับแรก คือ “มหาวิทยาลัย เบจิง” ในจีน (อันดับที่ 15) “มหาวิทยาลัยโตเกียว” ในญี่ปุ่น (อันดับที่ 16) และ “มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น” ในออสเตรเลีย (อันดับ ที่ 19) 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (สหรัฐอเมริกา) อันดับที่สอง เอ็มไอที (สหรัฐอเมริกา) อันดับที่สาม มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (สหราชอาณา จักร) อันดับที่สี่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (สหราชอาณาจักร) อันดับที่ห้า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (สหรัฐอเมริกา) อันดับที่หกถึงอันดับที่สิบเรียงลำดับ ได้ดังนี้ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์คเล่ย์ (สหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยเยล (สหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนียอินสติติวต์ออฟเทคโนโลยี (สหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (สหรัฐอเมริกา) และอีโคเล่โพลีเทคนิค (ฝรั่งเศส) สำหรับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แล้ว แยกตามสาขาวิชา ยังติดอันดับใน 100 มหาวิทยาลัยสุดยอดของโลก อีกด้วย ใน สาขาสังคมศาสตร์ ติด อันดับ 46 ซึ่งในสาขานี้อันดับหนึ่งได้แก่ “มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด” ใน สาขาไบโอ แมดีชิน ติด อันดับ 82 ซึ่งในสาขานี้อันดับหนึ่งได้แก่ “มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” อีกเช่นกัน และใน สาขาเทคโนโลยี ติด อันดับ 100 ซึ่งในสาขานี้อันดับหนึ่งได้แก่ “เอ็มไอที” การติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในครั้งนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งความภูมิใจของครูบาอาจารย์ นิสิต และศิษย์เก่าของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เดลินิวส์ อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





มึนร่าง พ.ร.บ.บูรพาหาทางออกไม่เจอ จวก ส.ว.ยึดอัตตา

รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายเจริญ คันธวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาว่า ทปอ.มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา ในส่วนของคณะกรรมการสรรหากรรมการ สภามหาวิทยาลัยในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งระบุแยกส่วนมากเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งได้ โดย ทปอ. ยืนยันกับนายเจริญว่า ต้องการให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัย มีความเป็นหนึ่งเดียว ประกอบด้วยกรรมการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำการสรรหากรรมการร่วมกัน แต่ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยบูรพา กำหนดให้มีกรรมการสรรหาในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิแยกออกเป็นชุดๆ ไม่เป็นภาพรวม สร้างความขัดแย้งให้กับมหาวิทยาลัยตั้งแต่เริ่มต้น และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนโดยใช่เหตุ สุดท้ายผู้เสียหายคือมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องนี้ทุกมหาวิทยาลัยก็ระมัดระวังตัวอยู่ เพราะมหาวิทยาลัยจะต้องอยู่กับคนทุกระดับและอยู่ด้วยความเป็นมิตร ซึ่งเรื่องนี้นายเจริญก็ยังไม่แน่ใจว่า ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา จะเดินไปในทิศทางใด เพราะผ่านการพิจารณาขั้นตอนสุดท้ายไปแล้ว แต่ก็รับที่จะนำความเห็นของ ทปอ.ไปหารือกับส่วนต่างๆทางการเมืองที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ซึ่ง ทปอ.ก็เพียงต้องการสะท้อนข้อเท็จจริง ไม่ต้องการล้วงลูกหรือบีบคั้นอะไร ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อห่วงใยของ ทปอ.ที่เกรงว่าจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นต้นแบบกำหนดในร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฉบับอื่นๆ และจะมีการชี้แจงกับกรรมาธิการร่วมสองสภาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฉบับอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ทปอ.ก็มีความเป็นห่วงว่าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฉบับอื่นๆ จะประสบปัญหาเดียวกัน ก็จะทำทุกวิถีทาง หากใครให้โอกาสชี้แจง ทปอ.ก็จะไป ที่ผ่านมา ส.ส.จะรับฟังความคิดเห็นของ ทปอ.และอธิการบดีต่างๆ แต่ในส่วนของ ส.ว.บางคนไม่รับฟังความเห็นของชาวมหาวิทยาลัย (ไทยรัฐ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





สกอ.เห็นดีจัดอันดับมหา’ลัย ข้อมูลมีอยู่รู้แล้วใครอันดับ 1

ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดที่จะให้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยนั้น ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวตนก็อยากให้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่ที่กำลังดำเนินการกันอยู่เป็นการจัดระดับซึ่งจะเป็นเส้นทางไปสู่การจัดอันดับได้ แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามในที่สุดก็อาจต้องทำทั้งจัดระดับและอันดับควบคู่กันไป เพื่อเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณที่ต้องพิจารณาเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยก็ได้ โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยศิลปากรทำระบบฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่จะจัดระดับแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลและงานวิจัยอีกหลายเรื่องที่จะมารองรับการจัดระดับ เช่น ข้อมูลนักศึกษา อาจารย์ หลักสูตรการเรียนการสอน การจำแนกประเภทสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ข้อมูลด้านการวิจัย การวิจัยสถานภาพของการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกายภาพ การวิจัยเรื่องการเปิดสอนนอกสถานที่ และการวิจัยเพื่อพัฒนากรอบมาตรฐานอุดมศึกษาในภาพรวม เป็นต้น ทั้งนี้คิดว่าข้อมูลที่มีขณะนี้สามารถนำมาจัดอันดับมหาวิทยาลัยได้แล้วว่าใครจะอยู่อันดับหนึ่ง สอง หรือ สาม ด้าน ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องจำเป็น โดยอาจจะนำข้อมูลของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ประเมินแล้วมาใช้ก็ได้ เพียงแต่หลักเกณฑ์ที่จะนำมาตัดสินจะต้องมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาจไม่ต้องการให้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัย เพราะหลักเกณฑ์ยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะต้องยอมรับการจัดอันดับและต้องมีการทำความเข้าใจว่าประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยได้ว่าเป็นอย่างไรคุณภาพการจัดการศึกษาเป็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียน ขณะเดียวกันการจัดอันดับจะเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณด้วย โดยมหาวิทยาลัยนั้นมีความเป็นเลิศทางไหนรัฐก็จะต้องจัดสรรเงินเพิ่มให้ แต่มหาวิทยาลัยไหนอยู่ในอันดับท้าย ๆ รัฐก็ต้องมาช่วยดูว่ามีปัญหาอะไรและจะสนับสนุนส่งเสริมให้พัฒนาขึ้นได้อย่างไร. (เดลินิวส์ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





ร่างกฎหมายมหา"ลัยในกำกับฯคืบ 4สถาบันใกล้คลอด-"มบ."ยังสะดุด

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เปิดเผยหลังหารือร่วมกับนายเจริญ คันธวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่วมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เกี่ยวกับปัญหาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา(มบ.) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลว่า ได้พูดคุยสะท้อนปัญหาให้นายเจริญรับฟัง ส่วนว่านายเจริญจะหาทางออกหรือดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่นั้น ทาง ทปอ.คงไม่ไปกดดัน แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ทปอ.ได้ประกาศจุดยืนก่อนหน้านี้แล้วว่า กรณีที่เกิดกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาจะปล่อยไปไม่ได้ เพราะการที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภากำหนดที่มากรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ และยังกำหนดที่มาแบบแยกส่วน จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น รวมทั้งการเมืองจะแทรกแซงได้ ซึ่ง ทปอ.เห็นว่าทั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องมาจากทุกภาคส่วน จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นชุดเดียวเพื่อสรรหากรรมการสภาฯร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองกับทุกฝ่าย นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) โดยประเด็นปัญหาในร่างกฎหมาย มบ.ไม่มีในร่างของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ดังนั้น อาจสามารถพิจารณาและมีผลบังคับใช้ได้เร็วภายในสิ้นปี 2548 นี้ (มติชนรายวัน พุธที่ 9 พ.ย. 2548 http://www.matichon.co.th)





พระเทพฯพระราชทาน วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล เชื่อมสายใย"ไทย-กัมพูชา"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ต.ซ็อมโบร์ อ.ปราสาทซ็อมโบร์ จ.กำปงธม ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ โดยสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเป็นผู้รับมอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชทานคำแนะนำให้แก่คณะกรรมการที่ดำเนินการโครงการโรงเรียนพระราชทานแห่งนี้ว่า "ความต้องการของข้าพเจ้าคือต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาเยาวชนที่มีศักยภาพเป็นอย่างดี และถ้าได้การศึกษาเล่าเรียนและฝึกอบรมที่ดีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสังคมกัมพูชา และสังคมโลกสืบต่อไป สิ่งที่คาดหวังจากนักเรียนเหล่านี้คือ ประการที่ 1 ต้องการเห็นนักเรียนมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ ที่สามารถจะนำความรู้ไปทำอาชีพปฏิบัติงานต่างๆ ได้ และสามารถศึกษาต่อในระดับขั้นที่สูงขึ้นได้ ประการที่ 2 ให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ประการที่ 3 มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถที่จะปฏิบัติงานต่างๆ ได้ด้วยดี ประการที่ 4 เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารจัดการดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากจะให้มาช่วยในการจัดการศึกษาของโรงเรียนนี้ให้ต่อเนื่องไป ไม่ให้ทอดทิ้ง มิให้มีคุณภาพที่ด้อยลง หวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะมีความคิดที่พัฒนาให้งานของเราดีขึ้นๆ จะได้เป็นประโยชน์ สร้างชีวิต และสร้างชาติกัมพูชาต่อไป การดำเนินงานตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษาได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 และจะครบ 5 ปี ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ (มติชนรายวัน พุธที่ 9 พ.ย. 2548 http://www.matichon.co.th)





สถาบันชาติพันธุ์ เปิดรับนักศึกษา

สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรใหม่ศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยรับสมัครผู้ที่มีความสนใจ และมีความพร้อมในการศึกษาวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ จีน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และประเทศไทย โดยนักศึกษาจะมีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติการภาคสนามในประเทศในอนุภูมิภาคดังกล่าว เป้าหมายหลักสูตรคือการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม โดยสามารถนำความรู้และประสบการณ์นั้นไปประกอบอาชีพในหน่วยงานของรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ หน่วยงานธุรกิจเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 พ.ย.2548 สอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา โทร.0-5377-6034 หรือ 0-5377-6000 ต่อ 1230 e-mail ethnic@ricr.ac.th (ข่าวสด พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





"มก."กำแพงแสนรับน.ศ. วิศวกรรมโยธาภาคพิเศษ

ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) แจ้งว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มก.วิทยาเขตกำแพงแสน กำลังเปิดรับสมัครผู้จบ ปวส.หรืออนุปริญญา เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีภาคสมทบ ในโครงการเปิดสอนปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ภาคพิเศษ (2) วิทยาเขตกำแพงแสน ประจำปีการศึกษา 2549 รุ่นที่ 6 สาขาวิศวกรรมโยธา เรียนทุกวันศุกร์เวลา 16.30-19.30 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-19.00 น. เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและผลิตบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมโยธาเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยจะศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ การออกแบบ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคของประเทศ โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี ทั้งนี้ มีโควต้าพิเศษสำหรับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยจะพิจารณาตามคะแนนสอบ รวมทั้งผู้มีทักษะและความสามารถทางวิชาการ ซึ่งเคยได้รับรางวัลประกวดสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือทุนเรียนดีที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ศึกษาต่อ ผู้สนใจสมัครด้วยตนเองได้ที่สำนักงานเลขานุการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม โทร.0-3435-5060 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2549 (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





"ทูต"เมืองปลาดิบปลื้มเยาวชนไทย

นายฟุจิตะ มัทสึงุ อุปนายกองค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวในงานแนะแนวการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ จัดโดยสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จำนวนนักศึกษาจากประเทศไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยศึกษาอยู่ในญี่ปุ่นรวมแล้วเกือบ 1,700 คน ในจำนวนนี้ 400 คน ศึกษาอยู่สถาบันสอนภาษาญี่ปุ่น หากดูจากจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาต่อในญี่ปุ่นแยกตามประเทศที่มาแล้ว จะเห็นว่าจำนวนของนักศึกษาไทยอยู่อันดับ 5 ด้านนายโยชิโนบุ ฮิโรชิ รักษาการเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นยาวนานถึง 600 ปี ญี่ปุ่นเองตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะไทยกำลังสร้างบทบาททางด้านการเมืองและเศรษฐกิจในย่านเอเชียอาคเนย์ ผลจากความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลให้เยาวชนของไทยที่ปรารถนาจะศึกษาในญี่ปุ่นมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันในไทยมีผู้ที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นมากกว่า 5 หมื่นคน คิดเป็นอันดับ 7 ของโลก และในการสอบความสามารถภาษาญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วมีผู้สอบเข้ามากกว่า 8,000 พันคน คิดเป็นอันดับ 4 ของโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสนใจอย่างสูงต่อภาษาญี่ปุ่นและประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในปี 2547 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมดที่เรียนในประเทศญี่ปุ่น 117,302 คน อันดับ1 คือนักศึกษาจากจีน 77,713 คน อันดับสองเกาหลี 15,533 คน อันดับสาม ไต้หวัน 4,096 คน อันดับสี่ มาเลเซีย 2,010 คน และอันดับ 5 ประเทศไทย 1,665 คน (มติชนรายวัน พฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





เลือกเรียนภาษาจีน-ญี่ปุ่นอย่างไร

จีนเป็นประเทศที่ค่าใช้จ่ายถูกและปัจจุบันมีตัวแทนจำนวนมาก หากแต่ในแง่ของการตัดสินใจแล้ว มีปัจจัย 3-4 เรื่องในการตัดสินใจ 1.งบประมาณ 2.เลือกสถานที่ให้ถูกกับตัวเอง 3.ความปลอดภัย เมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ปักกิ่ง เนื่องจากเป็นเมืองการศึกษาและพูดภาษาจีนแมนดาริน ซึ่งมีผลต่อการเรียนภาษาในชีวิตประจำวัน ข้อควรระวังในการตัดสินใจ คือ คนไทยส่วนใหญ่มักพิจารณาเพียงแค่ค่าเทอมที่ถูก แต่บางครั้งเรียนต่างจังหวัดกับเรียนที่ปักกิ่ง ค่าใช้จ่ายรวมอาจจะไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ดังนั้นช่องทางที่จะเรียนแบบประหยัดแต่ได้อยู่ในเมืองใหญ่คือการลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยส่วนตัวลง ขณะเดียวกันควรพิจารณาการเรียนในสถานศึกษาให้ละเอียด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าในบางสถาบันมีการนำนักเรียนต่างระดับไปเรียนรวมกัน ทำให้การเรียนไม่ได้ผล ค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตรภาษาไปจน ถึงระดับปริญญาตรีอยู่ราว 350,000-400,000 บาทต่อปี โดยราคาในต่างจังหวัดเมื่อเทียบกับปักกิ่งแล้วแตกต่างกัน 20% ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงราว 1 ล้านบาทต่อปี การพิจารณาขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีว่าจะเรียนแค่ภาษาหรือจะเรียนถึงระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เมืองที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมไป ได้แก่ โตเกียว ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และสะดวกสบาย โดยขั้นต้นสำหรับคนที่จะไปเรียนต่อระดับปริญญาไม่จำเป็นต้องพิจารณา มหาวิทยาลัยไปก่อน เนื่องจากจะต้องเข้าไปเรียนด้านภาษาก่อน เพราะบางครั้งมหาวิทยา ลัยที่เลือกไปอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องการเรื่องภาษาที่สูง จึงควรพิจารณาเมื่อไปถึง ดังนั้นข้อดีของการไปเรียนจึงไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวมาก ไม่มีการสอบวัดระดับก่อนไป คนที่สนใจไปศึกษาต่อสามารถเดินทางได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสอบวัดระดับภาษา (ประชาชาติธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/prachachart)





แย้มม.รัฐเก่งวิจัยแค่10แห่ง

ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)เปิดเผยว่าตามที่ รศ.ชูเวช ชาญสง่าเวช ประธานคณะอนุกรรมการทำงานการแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และคณะ ได้เข้าพบเพื่อรายงานความคืบหน้าการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา นั้นพบว่า มีความก้าวหน้าไปพอสมควร โดยงานวิจัยนี้จะเก็บข้อมูลจากมหาวิทยาลัยรัฐ 24 แห่ง เป็นข้อมูลเชิงลึก เช่น จำนวน อาจารย์ จำนวนนักศึกษา จำนวนหลักสูตรที่เปิดสอน หลักสูตรปริญญาเอก จำนวนผลงานตีพิมพ์ กิจกรรมการเรียนการสอนที่ออกมาในรูปวิจัย งบประมาณการวิจัย เป็นต้น จากนั้นจะนำมามาเปรียบเทียบว่า มีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง ที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และมหาวิทยาลัยไหนเป็นมหาวิทยาลัยเน้นการสอน ซึ่งเท่าที่ดูจากข้อมูลที่ได้คาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยด้านวิจัยประมาณ10 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นมหาวิทยาลัยเน้นการสอน รศ.ชูเวช ยังเสนอถึงปัญหาว่ามหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ จึงทำให้งานยากขึ้น เช่น ข้อมูลด้านไอทีที่มหาวิทยาลัยดังๆ บางแห่งก็บอกว่าไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าใด เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจัดซื้อเอง และไม่ได้มีการแจ้งต่อมหาวิทยาลัย หรือบางแห่งแจ้งว่าไม่มีข้อมูล สำหรับหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการแบ่งประเภทมหาวิทยาลัยนั้นเท่าที่ได้หารือกัน ส่วนใหญ่จะอิงมาตรฐานจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่รวบรวมอยู่นี้ไม่สมบูรณ์แน่นอน แต่เมื่อมีข้อมูลบางส่วนแล้วจะต้องมีการประกาศออกไปว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจัดอยู่ในประเภทไหน รวมทั้งการจัดระดับเป็นกลุ่มๆ ไปก่อน และเชื่อว่าหลังจากนั้นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะให้ข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (สยามรัฐรายวัน ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





สกอ.ชงหลักสูตรนักบินได้ทุน ICL ดันวท.นครพนมเปิดปวช.การบิน

ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการจัดตั้งวิทยาลัยการบินนานาชาติ ที่ ม.นครพนม ว่า ตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม เห็นด้วยกับการจัดตั้งวิทยาลัยการบินนานาชาติ เนื่องจากภาวะการขาดแคลนนักบินสูงมาก โดยจากรายงานของแอร์บัสและโบอิ้ง ในวารสารเกี่ยวกับนักบินระบุว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้า เอเชียแปซิฟิก จะขาดแคลนนักบินไม่ต่ำกว่า 5,900 คน โดยประเทศไทย คาดการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 300 คนต่อปี ทั้งนี้แต่ละปีสถาบันการบินพลเรือน ผลิตนักบินได้ 70 คน และทางกองทัพอากาศช่วยผลิตอีก 50 คน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดตั้งวิทยาลัยการบินฯ และเห็นว่าถ้าปีแรกรับนักศึกษามาแล้วแต่ยังไม่มีที่เรียน ก็จะจัดการสอนเรียนไปก่อน สำหรับการเรียนการสอน จะมีหลักสูตรนักบินที่จะรับผู้จบปริญญาตรี หลักสูตร 1 ปี โดยตั้งเป้าว่าจะรับนักศึกษาปีละ 100 คน แบ่งเป็น 4 รุ่นๆ ละ 25 คน ค่าใช้จ่ายในการเรียนประมาณ 2 ล้านบาทต่อคน และหลักสูตรปริญญาตรีเรียน 4 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่สาขาเทคโนโลยีการบิน สาขาวิศวกรรมการบิน และสาขาการจัดการการบิน ซึ่งคาดจะเปิดรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา 2550 และยังมีแนวคิดให้วิทยาลัยเทคนิคนครพนม เปิดสอนด้านการบินด้วยซึ่งจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตบุคลากรระดับ ปวช.ทางด้านการบิน อย่างไรก็ตามในหลักสูตรนักบินนั้น น่าจะสามารถกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ ICL ได้เพราะเป็นสาขาที่ขาดแคลน และคาดจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปีนักศึกษากลุ่มนี้จะใช้เงินคืนได้หมด ซึ่งอยู่ในวิสัยที่น่าจะกู้ ICL ได้ (สยามรัฐรายวัน ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





เด็กไทยเมินเรียนวิทย์

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการอภิปรายเรื่อง "การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์" การประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ศ.น.พ.อดุลย์ วิริยเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานการประชุม ได้สรุปถึงปัญหาทั่วไปของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในไทย โดยพบว่า 1.นักศึกษาเลือกเรียนทางวิทยาศาสตร์น้อยลง 2.ขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพ 3.คุณภาพของเนื้อหาวิชาวิธีการสอนและกระบวนการวัดผล และ 4.ภาครัฐสนับสนุนงานวิจัยไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะ อาทิ จัดโครงการร่วมระหว่างสองประเทศทางด้านการออกแบบหลักสูตร และเอกสารสื่อการเรียนการสอน คัดเลือกโรงเรียนตัวอย่าง 1 แห่ง เพื่อสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แบบองค์รวม ทำให้อาชีพอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับและได้รับผลตอบแทนทางวิชาชีพที่น่าพอใจ ใช้วิธีสอนเน้นปฏิบัติ มีปฏิสัมพันธ์ และสร้างความสนุกสนาน ใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต เพื่อพัฒนาทั้งผู้สอนและนักเรียน ให้ทุนการศึกษาเพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนด้านทุนเพื่อโครงการทดลองต่างๆ มีความยืดหยุ่นด้านหลักสูตรและฝึกอบรมผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ชัดเจนและต่อเนื่อง (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.komchadluek.net)





มธ.-มก.เจ๋งคว้าแชมป์บริหารเงินทุน AJF

นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเจเอฟ จำกัด เผยว่า บริษัทเริ่มจัดแข่งขันการบริหารเงินลงทุนทางอินเตอร์เน็ตประจำปี โดยได้รับการร่วมมือกับสำนักการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในตลาดทุนแก่เยาวชน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ผลการแข่งขันรางวัลชนะเลิศทุนประเภทตราสารหนี้ เป็นของทีม TU-FI2 นักศึกษาปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และ รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของทีม TU11 จาก มธ.เช่นกัน ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีม NIDA-F14 จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ส่วนผู้ชนะเลิศการแข่งขันบริหารเงินทุนประเภทตราสารทุน ได้แก่ทีม KU-EQ11 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) รองอันดับ 1 ทีม CMMU-EQ1 จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม KUE-Q13 จาก มก. สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับสถาบันบริหารเงินดีเด่นได้แก่ มธ. เนื่องจากทีมได้คะแนนรวมอยู่ใน 20 อันดับแรกสูงสุดของสองประเภทมากที่สุดถึง 7 ทีม การแข่งขันในปีนี้มีความเข้มข้นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือภาวะตลาดทุนมีความผันผวนสูง การสอบข้อเขียนที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าแข่งขันพัฒนาความรู้ความสามารถในการลงทุนทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ในการแข่งขันนั้นต้องอาศัยความสามารถในการบริหารการจัดการกระแสเงินเข้ามาเนื่องจากจะมีคำสั่งนำเงินเข้าออกระหว่างการแข่งขัน แต่ละทีมจะต้องบริหารเงินสดไม่ให้ติดลบและผิดกติกา ซึ่งถือได้ว่าสร้างความท้าทายให้กับผู้เข้ารวมแข็งขันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สถาบันต้นสังกัดของผู้ชนะการแข่งขันทั้งสองประเภทจะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งพิธีพระราชทานรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค (มติชนรายวัน ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





สังคมศาสตร์เผยหลักสูตรการจัดการองค์กรเภสัชกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.)ดร.กิตติมา สังข์เกษม คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 พฤศจิกายน คณะสังคมศาสตร์ จะจัดงาน 3 ทศวรรษแห่งการพัฒนา "งานราตรีสังคมศาสตร์สัมพันธ์" ที่สนามฟุตบอล มศว ประสานมิตร จุดเด่นของคณะสังคมศาสตร์ มศว อยู่ที่การมีหลากหลายศาสตร์ คือ 6 ภาควิชาดังนี้ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ ซึ่งสถาบันอื่นๆ จะเป็นคณะไปหมดแล้ว การมีหลากหลายศาสตร์ทำให้ความรู้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ นอกจากนี้ในอนาคตภาควิชาใดที่เข้มแข็งก็มีแนวโน้มจะแยกตัวเองออกไป ในวันนี้และอนาคต เราพยายามทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่เน้นการบูรณาการในรายวิชาและสาขาวิชา ขณะนี้ได้ทำความร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ร่วมกับภาควิชาบริหารธุรกิจ จัดเป็นหลักสูตรการจัดการองค์กรเภสัชกรรม แนวโน้มในอนาคต คณะสังคมศาสตร์พร้อมจะร่วมมือกับทุกคณะและทุกสาขาวิชาที่อยากสอนในหลักสูตรใหม่ๆ อย่าลืมว่าในขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมากมาย มีคณะต่างๆ เกิดขึ้นเหมือนกันหรือคล้ายๆ กัน ดังนั้นถ้าภาควิชาใดวิชาหนึ่งของคณะสังคมจะต้องแยกออกไปเป็นคณะ ก็จะไม่เหมือนกับสถาบันอื่น (มติชนรายวัน ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





‘นำยุทธ’ ดัน มทร.เป็นผู้นำด้านวิทย์-เทคโนโลยี

ผศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวเปิดการสัมมนาเรื่อง “การจัดการความรู้ภายในมหาวิทยาลัย” ตอนหนึ่งว่า การจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความทันสมัยมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางและน่าเชื่อถือนั้น ต้องมีกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่าง โดยการมุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ สร้างนักเทคโนโลยี และผู้ประกอบการเรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทุกสาขาวิชาชีพ บุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้ ICT เพื่อการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารจัดการ โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่มนุษย์ต้องวิ่งตามเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบ IT ให้มีความทันสมัย คล่องตัว เอื้อประโยชน์ทั้งบุคลากรในมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอก ส่วนการจะผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีความก้าวหน้าได้นั้น การพัฒนาบุคลากรถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องเร่งส่งเสริมด้านการศึกษาต่อ มีผลงานวิจัยและได้รับการฝึกอบรมจากต่างประเทศ ปรับปรุงสถานภาพตำแหน่งของข้าราชการทั้งสายผู้สอนและสายสนับสนุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบบริหารงานบุคลากร ที่ไม่ใช่ข้าราชการเพื่อเข้าสู่มาตรฐานอุดมศึกษา รวมทั้งจัดสวัสดิการภายในอย่างเหมาะสม หากบุคลากรทุกระดับมีคุณภาพ เข้าใจในทิศทางขององค์กรและพร้อมใจเดินไปสู่เป้าหมายด้วยความตั้งใจ เชื่อว่า มทร.จะก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในทุกด้าน และเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ต้องการของประชาชนทั่วประเทศ ที่ยึดมั่นในการผลิตบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 13 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





แชมป์โอลิมปิคหุ่นยนต์ 2005

ตามที่ประเทศไทย โดยศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิคหุ่นยนต์ 2005 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ถึง 13 ประเทศ อาทิ ไทย จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฯลฯ ร่วมทั้งสิ้น 120 ทีม โดยผลการแข่งขันปรากฎว่า ผู้แทนประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ดังนี้ ระดับอายุไม่เกิน 12 ปี ประเภทหุ่นยนต์ชักเย่อ ทีม PN Robot Junior I จาก รร.ประชานิเวศน์, ระดับอายุ 13-15 ปี ประเภทฮอคกี้รุ่นใหญ่ ทีม P.M ROBOT I จาก รร.พระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ และยังคว้าแชมป์ ประเภทการจราจรในกรุงเทพอีกด้วย สำหรับการแข่งขันในปี 2006 จะจัดขึ้นที่ประเทศจีน (สยามรัฐรายวัน เสาร์ที่ 12 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





"จาตุรนต์"ยังไม่พอใจคุณภาพบัณฑิตไทย

นายภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยหลังประชุมเรื่องแนวทางการยกระดับมาตรฐานอุดมศึกษา มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พูดถึงคุณภาพอุดมศึกษาใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ปัญหาตัวป้อน หรือวัตถุดิบที่เข้าสู่ระดับอุดมศึกษามีคุณภาพต่ำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาทั้งของอุดมศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกัน 2.ปัญหาเชิงนโยบาย เช่น การเกิดสถาบันอุดมศึกษาเพราะเหตุผลทางการเมือง เรื่องนโยบายและทิศทางที่ไม่ชัดเจน การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน และ 3.ปัญหาเชิงระบบ คือ บทบาทหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตั้งแต่การสรรหา การได้มา คุณภาพ การไม่รู้บทบาทหน้าที่ และมีการเมืองแทรกแซงในหลายแห่ง รวมถึงภาวะผู้นำของอธิการบดีและแนวทางแก้ไข ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะต้องมีเกณฑ์มาตรฐานชัดเจนในด้านต่างๆ โดยเวลานี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) มีเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอยู่แล้ว และกำลังจะเริ่มออกเกณฑ์มาตรฐานตามสาขาต่างๆ ซึ่งบางสาขาจะต้องทำร่วมกับองค์กรวิชาชีพ โดยเน้นว่าจะต้องทำร่วมกับภาคเอกชน และอยากให้มีชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ได้ให้นโยบายสำคัญที่สุดจะต้องทำให้เกิดการตื่นตัวและมีจิตสำนึกในประชาคมมหาวิทยาลัยทุกระดับว่า เวลานี้คุณภาพการศึกษาต่ำ รวมทั้งนายจาตุรนต์ยังห่วงเรื่องความทันสมัยของหลักสูตรเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งนายจาตุรนต์ได้แนะนำให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจากทั่วโลกมาร่วมหารือ โดยรัฐบาลยินดีเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ยังย้ำชัดเจนเรื่องการจัดกลุ่ม จัดระดับ และจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยว่าต้องทำเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาจะต้องมีการปรับสาระของหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น ต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับในระดับอาชีวศึกษา ต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการเพิ่มสมรรถนะ และต้องมีการผลิตบุคลากรที่ตรงกับสาขาวิชาชีพที่เป็นความต้องการของประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่จะต้องเร่งทำอย่างจริงจัง คือการยกระดับมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ แต่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี เพราะต้องทำเป็นรุ่นๆ ไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่จะสามารถดำเนินการได้ในเวลานี้ คือการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งจำเป็นจะต้องรีบทำ (มติชนรายวัน เสาร์ที่ 12 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


มกอช.จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

นายชวาลวุฑฒไชยนุวัติผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่าปัจจุบันสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เป็นที่นิยมของตลาดโลกอย่างมากและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดย ปี2547 ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทจากเดิมที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง200-300ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.1% ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงถึง 60,000-100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่คำนึงถึงสุขอนามัยความปลอดภัยในการบริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรองรับการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกและให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)จึงได้จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศและกระบวนการรับรองผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่มกอช.กำหนดขึ้นจะเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์จำนวน2ฉบับโดยใช้แนวมาตรฐานสากลที่มีลักษณะเป็นกลางของCodexคือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เล่ม1:การผลิตแปรรูปแสดงฉลากและจำหน่ายเกษตรอินทรีย์(มกอช.9000-2546)และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เล่ม2:ปศุสัตว์อินทรีย์(มกอช.9000-2547)ส่วนขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานของมกอช.มีกระบวนการในการกำหนดมาตรฐาน สำหรับประโยชน์ของการมีหน่วยรับรองระบบงานคือลดความซ้ำซ้อน ด้านการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารณประเทศปลายทางสร้างความยอมรับในระบบการตรวจประเมินเพื่อควบคุมความปลอดภัยของสินค้าและอาหารของไทยลดอุปสรรคทางการค้าอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารภาคเอกชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจประเมินและกำหนดเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องในการตรวจประเมินให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหารทั้งนี้ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองระบบงาน(AB)ด้านเกษตรอินทรีย์ในประเทศได้แก่สำนักรับรองมาตรฐานสินค้าและระบบคุณภาพ(สรม)มกอช.และต่างประเทศได้แก่หน่วยบริการรับรองระบบประกันคุณภาพเกษตรอินทรีย์นานาชาติ(IOAS). (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





เอ็มเทคผุดโปรเจคสนามบินสีเขียว

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเอ็มเทคกำลังวางแผนโครงการสนามบินสีเขียวโดยใช้พลังงานจาก แสงอาทิตย์และเอทานอลเพื่อการลดการใช้พลังงานจากซากฟอสซิลในปัจจุบัน แนวความคิดดังกล่าว ได้มาจากการเข้าประชุมนานาชาติด้านพลังงานจากแอลกอฮอล์ ณ เมืองซานดิเอโก้ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันสหรัฐกำลังร่วมมือกับประเทศไฮติในการพัฒนาสนามบินในเมืองอิสปานิโอลา ประเทศไฮติ ให้กลายเป็นสนามบินสีเขียว ซึ่งใช้พลังงานจากธรรมชาติทั้งหมด โดยมีเป้าหมายให้สนามบินดังกล่าว เป็นศูนย์กลางด้านพลังงานทางเลือก การท่องเที่ยวและการฝึกการบินพลเรือน ขณะนี้ ศูนย์ฯกำลังพิจารณาเลือกสนามบินในประเทศว่า จะเป็นแห่งใดที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็น สนามบินสีเขียว โดยเบื้องต้นจะนำเสนอต่อบริษัท พีบี แอร์ เพื่อพัฒนาสนามบินของบริษัท ให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ โดยคาดว่าหากสามารถเจรจาได้ใช้เวลา 1 ปีในการ พัฒนาสนามบิน เอ็มเทคยังได้เจรจาขอความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดทำโครงการติดตามวงจรชีวิตของเอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อประเมินศักยภาพการผลิต และปริมาณความต้องการใช้ในประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลา 2 ปีระหว่าง พ.ศ.2549-2550 โดยในปีแรกจะศึกษาวงจรชีวิตของเอทานอล และในปีถัดไปจะศึกษาไบโอดีเซล สำหรับการคาดการณ์พลังงานเชื้อเพลิงของอนาคต รศ.ดร.ปริทรรศน์ มองว่า ในระยะเวลา 10 ปีแรกประเทศไทยควรมุ่งพัฒนาพลังงานชีวภาพโดย เน้นการผลิตแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และก๊าซเอ็นจีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสร้างพื้นฐานสำหรับในภาคขนส่ง อาทิ สถานีเติมก๊าซหรือหัวจ่าย เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)





ญี่ปุ่นเตรียมส่งคนท่องอวกาศ

สำนักข่าว AFP รายงานว่า นายไดสุเกะ อิโนโมโตะ หนุ่มญี่ปุ่นผู้คลั่งไคล้การ์ตูนวัย 34 ปี กำลังจะกลายเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนที่ 4 ของโลก ในปีหน้า และเขาต้องการจะยืนจ้องโลกมาจากห้วงอวกาศในชุดนักบินอวกาศที่ตัดเลียนแบบตัวการ์ตูนยอดฮิตจากเรื่อง " กันดัม " อีกด้วย โดยการเดินทางท่องอวกาศของนายอิโนโมโตะ อดีตกรรมการบริหารของลีฟดอร์ อินเทอร์เน็ทของมหาเศรษฐีทาคาฟูมิ โฮริเอะ ที่ต้องแลกกับค่าใช้จ่าย 20 ล้านดอลล่าร์ หรือ 800 ล้านบาทครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในปี 2549 นายอิโนโมโตะ ระบุในเว็บไซท์ของเขาว่า เขาผ่านการตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย และผ่านการฝึกขั้นพื้นฐานในรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ตามโครงการของบริษัทท่องเที่ยวอวกาศ สเปซ แอดเวนเจอร์ส ส่วนการฝึกตามขั้นตอนทั้งหมดจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2549 สำหรับการท่องอวกาศเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งเขาจะต้องอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 10 วันด้วย นายอิโนโมโตะ ยังมีแผนจะประกอบโมเดลหุ่นกันดัม ตอนที่เดินทางอยู่ในอวกาศด้วย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)





ออกซิเจนบนดวงจันทร์

ความหวังของการไปตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ใกล้ความจริงเข้ามาทุกขณะแล้ว เพราะหลังจากที่นาซ่านำภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิ้ลและตัวอย่างหินดวงจันทร์มาตรวจสอบหาแร่ที่เป็นประโยชน์ด้วยแสงอัลตราไวโอเล็ต พบหลักฐานว่าหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์อุดมด้วยแร่อิลมาไนต์ที่เป็นแหล่งออกซิเจน ซึ่งเป็นความหวังที่คุ้มค่าของมนุษย์ในทศวรรษหน้าที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์ ดร.ไมเคิล วาร์โก จากนาซ่า บอกว่า หลุมอุกกาบาตที่ตรวจสอบชื่อ อริสตาร์คัส อุดมไปด้วยสายแร่อิลมาไนต์ ซึ่งเมื่อใส่ความร้อนหรือส่งผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปมันจะปล่อยออกซิเจนที่ใช้หายใจหรือเป็นพลังงานเชื้อเพลิงกระสวยอวกาศได้ สำหรับขั้นต่อไปนาซ่าตั้งใจจะส่งหุ่นยนต์ลูนาร์ เรคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ ไปยังวงโคจรของดวงจันทร์เพื่อทำแผนที่แหล่งแร่และกำลังวางแผนส่งยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย (ข่าวสด จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ยานญี่ปุ่นผิดปกติ แผนลงจอด"ดาว"สะดุด

สถาบันวิทยาศาสตร์อวกาศ (ไอเอสเอเอส) ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของจาซ่าที่ทำหน้าที่ควบคุมภารกิจยานฮายาบุซะ แถลงว่า สัญญาณของยานเกิดผิดปกติขณะเจ้าหน้าที่บนพื้นโลกกำลังซักซ้อมทดสอบขึ้นตอนการนำยานลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ ทำให้ต้องยกเลิกปฏิบัติการทั้งหมด นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังต้องยกเลิกแผนการยิงอุปกรณ์แสดงจุดลงจอดของยานบนพื้นผิวดาวอิโตกาวะและยกเลิกแผนการส่งหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว รุ่น "มิเนอร์วา" ไปสำรวจผิวดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวอีกด้วย ส่วนขั้นตอนการซักซ้อมครั้งใหม่จะมีขึ้นในวันไหนยังไม่มีการกำหนดออกมา จาซ่าส่งยานฮายาบุซะออกจากศูนย์อวกาศคาโกชิมะเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 และเข้าสู่วงโคจรเพื่อเตรียมลงจอดบนผิวดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ภารกิจครั้งนี้เพื่อเก็บตัวอย่างบนผื้นผิวของดาวกลับมาให้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นวิเคราะห์ และตามกำหนดการเดิมยานต้องลงจอด 12 พฤศจิกายนนี้ (ข่าวสด จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





"นาซ่า"ถังแตก คาดพับแผนบุกดาวแดง

นายไมเคิล กริฟฟิน ผู้บริหารองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ "นาซ่า" เปิดเผยว่า นาซ่ากำลังขาดงบประมาณกว่า 120,000-200,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการปล่อยกระสวยอวกาศในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่สมาชิกรัฐสภาบางคนคิดว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นาซ่ายังมีภาระช่วยสร้างสถานีอวกาศนานาชาติให้สำเร็จด้วยการส่งยานอวกาศลำเลียงส่วนประกอบขนาดใหญ่ขึ้นไปประกอบในอวกาศ รวมถึงโครงการพัฒนายานอวกาศสำหรับส่งนักบินไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารอีกด้วย ด้านนายฮาวเวิร์ด แมกเคอร์ดี้ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยอเมริกัน กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้กลับไปซ้ำรอยเหตุการณ์ช่วงปีพ.ศ. 2512-2515 ที่สหรัฐริเริ่มความฝันยิ่งใหญ่ด้านอวกาศเรื่องการส่งยานไปดาวอังคาร การสร้างสถานีอวกาศและการส่งยานอวกาศลำเลียงลูกเรือและข้าวของไปยังอวกาศ สุดท้ายมีเพียงการส่งยานอวกาศเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ นายแมกเคอร์ดี้ เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการไปดาวอังคารจะถูกเลื่อนไป เพื่อหลีกทางให้การไปดวงจันทร์ ทั้งที่โครงการไปดวงจันทร์ถูกกำหนดให้เป็นเพียงสนามฝึกก่อนไปดาวอังคารเท่านั้น (ข่าวสด จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ฝีมือไทยสู่ห้วงอวกาศ... "ดาวเทียมสำรวจเมฆ"แห่งนาซา

ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ ผู้บริหารโครงการองค์การนาซา-เจพีเอล มีผลงานที่ผ่านมาล้วนแต่มีผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างมาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาทางด้านภัยพิบัติทางทะเล ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ช่วยให้เราสามารถพยากรณ์คลื่นลมในทะเลได้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศประหยัดเงินในการซื้อเทคโนโลยีนี้จากต่างประเทศเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาท แผนงานบูรณาการด้านยาเคมีภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ เป็นผู้เริ่มต้นโครงการนี้เพื่อต้องการให้ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ และยังเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของงานวัยให้สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อีกด้วย ที่ผ่านมางานวิจัยนี้สามารถช่วยลดการนำเข้าได้เป็นเงินมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ยังมีผลงานในต่างประเทศอีกหลายชิ้นที่สำคัญ อาทิ โครงการปรับปรุงระบบเครื่องรับสัญญาณจากห้วงอวกาศ ความถี่ย่านเคเอแบนด์(32 GHz) ของนาซาที่สหรัฐ สเปน และออสเตรเลีย โครงการระบบรับส่งสัญญาณของดาวเทียม โครงการดีฟอิมแพค และล่าสุดคือโครงการพัฒนาและออกแบบระบบรับส่งสัญญาณของดาวเทียมคลาวแซต(cloudSat) ดาวเทียมมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทขององค์การนาซา ที่กำลังจะส่งขึ้นสู่วงโคจรในปลายพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นดาวเทียมสำรวจเมฆ ดวงแรกของโลก โดยทำการตรวจวัดคุณสมบัติของเมฆ คลาวแซตเป็นดาวเทียมที่ทันสมัยที่สุดในโลกที่มีความสามารถตรวจจับความหนาแน่นของเมฆในแนวดิ่ง เพื่อศึกษาทำความเข้าใจสภาพลมฟ้าและระบบภูมิอากาศของโลก (มติชนรายวัน อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





ยุ่นตั้งระบบเตือนภัย แผ่นดินไหวล่วงหน้า203จุด

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นแถลงว่า ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ประสบแผ่นดินไหวมากที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง มีแผนจะติดตั้งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวในปีหน้า เพื่อตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และออกประกาศแจ้งเตือนระดับแรงสั่นสะเทือนที่กำลังเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ปัจจุบันหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ติดตั้งและทดลองใช้ "ระบบตรวจจับแรงสั่นสะเทือน" ในจังหวัดมิยากิ ทางตอนเหนือของประเทศมาแล้วนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองเซ็นได วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.2 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น กล่าวว่า ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวนี้จะถูกนำไปติดตั้งทั่วประเทศ 203 แห่ง ภายในเดือนมีนาคม 2549 ก่อนที่จะเริ่มใช้งานระบบเต็มรูปแบบต่อไป และว่า แม้ช่วงห่างระหว่างการแจ้งเตือนกับการเกิดแผ่นดินไหวจะเป็นเวลาช่วงสั้นๆ แต่ก็จะทำให้ประชาชนมีเวลาปิดแก๊ส หลบภัย หรือระงับบริการรถไฟชั่วคราว ทั้งนี้ แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องธรรมดา ประเทศญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวถึงร้อยละ 20 ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่า 6 ริกเตอร์ขึ้นไป (ข่าวสด อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ยานอวกาศญี่ปุ่นพร้อมสำรวจอุกกาบาต

ยานสำรวจอวกาศ "ฮายาบูสะ" กำลังตระเตรียมการสำหรับปฏิบัติการส่งหุ่นยนต์เล็กไปกระโดดกระหย่งกระแหย่งบนพื้นผิวอุกกาบาตนาม "อิโตกาวะ" เพื่อลงจอดเก็บตัวอย่างหินอุกกาบาตแล้วนำกลับมาวิเคราะห์ยังโลก หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ยานสำรวจฮายาบูสะจะลงจอดบนก้อนอุกกาบาตที่มีรูปร่างคล้ายอักษร "เอส" หลังจากถูกส่งออกไปจากศูนย์อวกาศคาโกชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 และขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกำลังศึกษาภาพถ่ายผิวอุกกาบาตเพื่อกำหนดเป้าหมายลงจอด ยานฮายาบูสะ ซึ่งเป็นโครงการของหน่วยงานที่ชื่อว่า ไอเอสเอสเอส อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสำนักงานสำรวจอวกาศแห่งญี่ป่น (จาซา) ได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรของอุกกาบาตอิโตกาวะตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน โดยใช้จรวจขับเคลื่อนพลังไอออน และอาศัยแรงเหวี่ยงจากโลกผลักให้ยานสำรวจมุ่งหน้าไปยังอุกกาบาต และตอนนี้อยู่ห่างจากอุกกาบาตราว 20 กิโลเมตร อุกกาบาตอิโตกาวะถูกค้นพบเมื่อปี 2541 ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ฮิเดโอะ อิโตกาวะ อุกกาบาตดังกล่าวเกิดจากอุกกาบาตสองลูก หรืออาจจะลูกเล็กๆ หลายลูกดึงดูดมารวมกัน เมื่อดูจากภาพถ่ายที่ได้ น่าประหลาดที่อุกกาบาตลูกนี้ไม่มีร่องรอยของหลุมที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตอื่นเลย พื้นผิวมีลักษณะที่หยาบมาก แสดงให้เห็นว่าอิโตกาวะไม่ได้เป็นก้อนหินขนาดใหญ่โดดๆ ก้อนเดียว แต่ค่อนข้างจะเป็นก้อนที่เกิดจากการรวมตัวของเศษซากวัตถุในอวกาศที่หลอมรวมเข้ามา ตามแผนการเดิม ยานฮายาบูสะจะทดลองซ้อมปล่อยหุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับลงเก็บตัวอย่างบนอุกกาบาตในวันที่ 4 พฤศจิกายน หุ่นยนต์สำรวจดังกล่าวมีขนาดเล็กหนักเพียง 591 กรัมเท่านั้น หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างนี้มีชื่อว่า ไมเนอร์วา (MINERVA ย่อมาจาก MIcro/Nano Experimental Robot Vehicle for Asteroid) หุ่นยนต์สำรวจติดตั้งกล้องบันทึกภาพสองตัวสำหรับบันทึกสภาพพื้นผิวอุกกาบาตที่หุ่นยนต์ลงจอด นอกจากนี้ยังมีกล้องตัวที่สามสำหรับถ่ายภาพระยะไกล และสามารถควบคุมการทำงานได้ขณะที่หุ่นยนต์กระโดดจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ขณะเดียวกัน หุ่นยนต์จะทำการเก็บตัวอย่างพื้นผิวลงในตัวแคปซูลที่เก็บตัวอย่างไว้ข้างใน ซึ่งจะกลับมาถึงโลกในเดือนมิถุนายน 2550 หรืออีกสองปีข้างหน้า โดยเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้ว ร่มชูชีพจะกางออกและจะร่อนลงกลางทะเลทรายวูเมราในออสเตรเลีย แผนดังกล่าวถูกยกเลิกเนื่องจากตรวจพบสัญญาณประหลาดที่รบกวนการทำงานของยานอวกาศ และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีแถลงจากองค์การจาซาถึงกำหนดซ้อมลงจอดครั้งต่อไปก่อนที่จะมีปฏิบัติการจริง (คมชัดลึก พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.komchadluek.net)





มจธ.ตั้งเครือข่ายวิทย์-เทคโนภาคตะวันตก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดโครงการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านโครงงานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ครูและนักเรียนใน จ.ราชบุรี พร้อมตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยา หวังพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อบริการสำหรับการศึกษาค้นคว้าวิจัย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า กิจกรรมที่ทำขึ้นนี้เป็นการเชื่อมงานที่มหาวิทยาลัยทำในภารกิจปกติ นั่นคือการสอน การวิจัย และการให้บริการทางวิชาการ แต่จะอาศัยโจทย์ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันตก ในเรื่องของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ อาชีพ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้บริการด้านฝึกอบรมให้กับ ครู นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เพื่อเป็นเส้นทางชมธรรมชาติ สำหรับใช้เป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศวิทยาในลักษณะของป่าโปร่งร้อน ซึ่งมีทั้งต้นไม้ เห็ดรา พืชชั้นต่ำ และแมลง ซึ่งจะเป็นแหล่งทางชีววิทยาที่น่าศึกษา นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ สสวท. ตั้งศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยา เพื่อบริการสำหรับการศึกษาค้นคว้า และส่งเสริมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)





สมาคมมนุษย์อวกาศสหรัฐ เรียกร้องวางแผนรับมือดาวชนโลก

สมาคมนักสำรวจอวกาศ สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ระหว่างการประชุมประจำปี เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ทุ่มเททรัพยากรเพื่อวางแผนรับมือและป้องกันมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ "ดาวเคราะห์น้อย" พุ่งชนโลกในอนาคต "รัสตี้ ชไวคาร์ต" มนุษย์อวกาศในปฏิบัติการอพอลโล 9 และ "เอ็ด ลู" ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ควบคุมกระสวยอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ประชุมสมาคมนักสำรวจอวกาศเห็นว่า บทเรียนภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น โศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหวในปากีสถาน และพายุเฮอริเคนพัดถล่มสหรัฐ 3 ลูกซ้อน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของชาติต่างๆ รวมถึงรัฐบาลสหรัฐ ยังเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติไม่ดีพอ ชไวคาร์ต กล่าวว่า สมาคมฯไม่ได้มีวัตถุประสงค์ออกมาทำให้ผู้คนหวาดกลัวว่าดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลก แต่ต้องการให้ "นาซ่า" ซึ่งเป็นองค์การอวกาศที่ทันสมัยที่สุดของสหรัฐจัดทำแผนการรับมือความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลก และจับตาดูวิธีโคจรของดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่โคจรผ่านเข้ามาใกล้กับโลกมนุษย์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ชไวคาร์ต ระบุว่า วิธีป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกไม่ใช่เรื่องเหนือจริงเหมือนกับที่เห็นในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เช่น ต้องส่งมนุษย์อวกาศออกไปทำลายดาวเคราะห์น้อย เพราะเราสามารถเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยได้ (ข่าวสด พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ชี้"ภูเขาไฟระเบิด" ลดความร้อนทะเล

ดร.จอห์น เชิร์ช จากสถาบันวิจัยบรรยากาศซิโร่แห่งออสเตรเลีย ร่วมกับศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศแอนตาร์กติก เผยผลการศึกษาในวารสารเนเจอร์ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ปลายศตวรรศที่ 20 และข้อมูลระดับน้ำทะเล ร่วมกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการระเบิดภูเขาไฟพบว่า กลุ่มก๊าซและละอองอนุภาคที่พ่นออกมาจากการระเบิดของภูเขาไฟจะสะสมยังชั้นสตราโตสเฟียร์ หรือชั้นบนของบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.8 มิลลิเมตรทุกปีชะลอตัวลง ทั้งนี้ ภูเขาไฟระเบิดส่งผลเพิ่มอุณหภูมิพื้นผิวโลกและกระทบต่อระบบภูมิอากาศอื่นๆ ของโลก แต่นี่เป็นผลการศึกษาชิ้นแรกที่ระบุถึงความเชื่อมโยงของภูเขาไฟระเบิดกับน้ำทะเล โดยผลการศึกษานี้จะใช้รายงานในที่ประชุมภูมิอากาศสากลว่าด้วยเรื่องปฏิกิริยาเรือนกระจกที่เมลเบิร์นระหว่างวันที่ 13-17 พ.ย. (ข่าวสด พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ชำแหละกฎเหล็ก Food Safety สหรัฐ

สหรัฐเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถือว่ามีความเข้มข้นมากในเรื่องของมาตรฐานด้านความปลอดภัยในอาหาร พร้อมกฎหมายควบคุมสินค้านำเข้าประเภทอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชากรภายในประเทศว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปนั้น ได้รับการตรวจสอบควบคุมตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ทั้งนี้ สหรัฐจึงจัดตั้งโครงการอาหารปลอดภัยและการตรวจตราการให้บริการ (Food Safety and Inspection Service) หรือ FSIS ขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านอาหารต่อผู้บริโภค โดยยึดหลักการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างความปลอดภัย ป้องกันสุขภาพและสร้างความเป็นอยู่ที่มีประสิทธิภาพของผู้บริโภคหลายล้านคน ได้ จัด การฝึกอบรมสำหรับผู้ประกอบการผู้ให้บริการร้านค้าอาหารก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางของการรักษามาตรฐานความปลอดภัยให้เกิดขึ้น โดยได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบการงานบริการด้านอาหารขึ้น และเน้นหนักไปที่การสร้างกระบวนการทางสุขอนามัย โดยผู้รับการอบรมจะต้องผ่านหลักสูตรพื้นฐานได้แก่ การวิเคราะห์ความเสี่ยงและการควบคุมในภาวะฉุนเฉิน หรือ HACCP, กฎการฝึกหัด (The rules of practice), มาตรฐานด้านสุขอนามัย (sanitation performance standards), กระบวนการปฏิบัติการตามมาตรฐานสุขอนามัย (sanitation standard operating procedures) ส่วนมาตรการที่จะนำมาบังคับใช้ควบคุมสินค้านำเข้าประเภทอาหาร ตามนโยบายความปลอดภัยทางอาหารของสหรัฐอเมริกา มีดังนี้ 1.กฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายทางชีวภาพ (The Bioterrorism Act) กำหนดให้แจ้งล่วงหน้าก่อนการนำเข้าอาหารก่อนวันที่สินค้าจะเดินทางมาถึงพรมแดนของสหรัฐ 2.ระเบียบ Low-Acid Canned Food ระบุว่า 2.1 อาหารสำเร็จรูปกระป๋องมีค่าของความเป็นกรด-ด่าง (ค่า pH) เกินกว่า 4.6 และมีปฏิกิริยากับน้ำเกินกว่า 0.85 2.2 อาหารประเภทที่ทำให้เป็นกรด มีค่าเท่ากับ 4.6 หรือต่ำกว่า 3.สำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA จะให้หมายเลข FCE หรือ FCE# (Food Canning Establishment Number) เพื่อจดทะเบียนสินค้าอาหารนำเข้า ให้ระบุข้อมูลที่ประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิต/สินค้าที่ผลิต และกระบวนการผลิตสำหรับแต่ละสินค้าที่โรงงานผลิตแจ้งต่อ FDA เพื่อขอ FCE No. 4.สินค้าอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต hydrogenation หรือการเพิ่มไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช เพื่อเปลี่ยนน้ำมันให้เป็นไขมันที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น (trans fat acids) มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายวันที่ 1 มกราคม 2549 กำหนดให้ 4.1 ให้ระบุจำนวนของ trans fatty acids หรือ trans fat ไว้บนฉลากสำหรับสินค้าอาหารหรืออาหารเสริมสำหรับลดน้ำหนัก 4.2 ต้องระบุส่วนผสมที่เป็น trans fat อาทิ ไขมันอิ่มตัว (saturated fat) และคอเลสเตอรอล 4.3 สินค้าอาหารที่เป็นไขมันรวมทั้งสิ้น ต่ำกว่า 0.5 กรัมต่อการบริโภค 1 ครั้ง (per serving) และไม่ได้อ้างถึงส่วนผสมที่เป็นไขมัน กรดไขมัน หรือคอเลสเตอรอลไว้บนฉลากสินค้า ไม่จำเป็นต้องระบุว่ามีส่วนผสมของ trans fat ไว้บนฉลาก แต่ต้องหมายเหตุข้างล่างว่า "Is not a significant source of trans fat" 4.4 สินค้าอาหารเสริมที่มีจำนวนของ trans fat ผสมตั้งแต่ 0.5 กรัมขึ้นไป ให้ระบุไว้ในช่อง supplement facts-ประเภทอาหารที่มี trans fat acids 5.กฎด้านสุขอนามัย (sanitary and phytosanitary measures) 5.1 กำหนดกระบวนการผลิตตามระบบ HACCP (hazard analysis and critical control point) 5.2 กำหนดความปลอดภัยและการคุ้มครองโรคพืชรวมทั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับยาฆ่าแมลงตกค้าง 6.มาตรฐานสินค้า 6.1 มาตรฐานสินค้า - กำหนดตามกฎหมายอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าระบบ CGMP (current goods manufacture practice), ต้องผ่านการรับรองโรงงานตามมาตรฐานจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา และต้องได้มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา - กำหนดให้มีหนังสือรับรองคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศผู้ผลิต และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของ USFDA 6.2 มาตรฐานสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรฐานการนำเข้าเหตุผลการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น เรื่อง อนุรักษ์ปลาโลมา อนุรักษ์เต่าทะเล เป็นต้น 6.3 มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐ (national organic standards) เป็นไปตามกฎระเบียบ The U.S. Department of Agriculture หรือ USDA และมีเครื่องหมาย "USDA Organic" (ประชาชาติธุรกิจ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





รอยเลื่อนภาคเหนือไทยลากยาวไปยันเกาะอินโดนีเซีย

ผช.ดร.ฟองสวาท สุวคนธ์ สิงหราชวราพันธ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณจากกรมทรัพยากรธรณี ให้ศึกษา วิจัยรอยเลื่อนเมย ซึ่งจะพาดผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ตาก และแม่ฮ่องสอน ต่อเนื่องกับรอยเลื่อนสะแกงไปจนถึงเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ว่า จะมีผลกระทบกับพื้นที่ภาคเหนือหรือไม่ ซึ่งรอยเลื่อนในภาคเหนือ มีทั้งรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ทา รวมทั้งรอยเลื่อนเมย ยังเคลื่อนที่และมีพลังอยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเคลื่อนที่วิธีการศึกษาคือเอาจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปี มาเป็นจุดศูนย์กลางในการคำนวณ โดยพยายามทำนายว่าในรอบอีกสักกี่ปีจึงจะเกิดการเคลื่อนที่อีก แต่ปัจจุบันการพยากรณ์ยังไม่มีการทำนายได้ว่า แผ่นดินไหวจะเกิดเมื่อใด จะเป็นแต่เพียงบอกได้ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย เนื่องจากยังมีพลังอยู่ รอเวลาการเคลื่อนที่เท่านั้น ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด. (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





จีนชิงส่งคนไปดวงจันทร์ตัดหน้ามะกันสำรวจหาเชื้อเพลิง

สำนักข่าวเซาเทิร์น เมโทรโปลิส นิวส์ ของจีน เผยว่า ภารกิจสำคัญของการส่งคนไปยังดวงจันทร์ของจีน ก็เพื่อศึกษาแหล่งหัวเชื้อเพลิง ทางการจีนได้ป่าวร้องเรื่องนี้ขึ้น หลังจากที่เพิ่งส่งมนุษย์อวกาศสองคนออกเดินทางรอนแรมในวงโคจรรอบโลกนานถึง 5 วัน กลับลงมาได้สำเร็จ จีนมีโครงการพัฒนายานอวกาศแบบใหม่ อยู่ และคิดสร้างสถานีอวกาศของตนเองขึ้นด้วย ก่อนหน้าที่จะส่งคนไปยังดวงจันทร์ต่อไป นักวิทยาศาสตร์เอกของจีนนายกวยยาง ซิหยวน ได้ประกาศว่า จีนจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ในเวลาที่เหมาะ สม ราวปี พ.ศ. 2560 นี้ โดยที่มนุษย์อวกาศจะได้ไปติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อยู่บนนั้น และจะได้วัดความหนาของพื้นดินดวงจันทร์ และสำรวจปริมาณของก๊าซฮีเลียม -3 ซึ่งนักวิจัยเชื่อกันว่า นับเป็นหัวเชื้อ เพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเหมือนกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น นักวิทยาศาสตร์หลายคนถึงกับเชื่อว่ามีฮีเลียม-3 อยู่บนดวงจันทร์เป็นปริมาณมหาศาล สามารถจะขนมาใช้กันบนโลกได้นานหลายพันปี อเมริกาเพิ่งบอกไว้เมื่อเดือนกันยายนที่แล้วว่า ได้ตั้งงบจำนวน 4,160,000,000 บาทเพื่อจะส่งมนุษย์อวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์ อีก ในปี พ.ศ. 2561 นี้ หลังจากที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในโครงการอพอลโล เมื่อปี พ.ศ.2512. (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





สายส่ง500กิโลโวลต์ทางทะเลสายแรกของประเทศไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและแหล่งประมงกลางทะเล

นายรณชัย วรรณเสวก ผู้จัดการโครงการก่อสร้างระบบไฟฟ้า 500 เควี สำหรับรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า บมจ.กฟผ.ได้ดำเนินการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จำนวน 2 วงจร ก่อสร้างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 2 ถึงสถานีไฟฟ้าแรงสูงปลวกแดง ระยะทางประมาณ 47.6 กิโลเมตร เพื่อรับการจ่ายกระแสไฟฟ้า กำลังผลิต 1,346.5 เมกะวัตต์ ที่รับซื้อจากบริษัทเอกชน ตาม นโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เพื่อแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาครัฐ โดยได้ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทบีแอลซีพีเพาเวอร์ จำกัด ล่าสุดการดำเนินงานติดตั้งเสาไฟฟ้าได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขึงสายส่งไฟฟ้าไปตามเสาต่าง ๆ ทั้ง 140 ต้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรกคือส่วนที่อยู่ในทะเล ก่อสร้างจากบริษัทบีแอลซีพีเพาเวอร์ จำกัด บริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 2 ข้ามทะเลจนถึงเสาต้นแรกบนฝั่ง จำนวน 14 ต้น รวมระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งสายส่งทางทะเลของประเทศไทย เชื่อมต่อมายังโซนที่ 2 จากเสาต้นแรกบนฝั่งจนถึงถนนสุขุมวิท จำนวน 17 ต้น ระยะทางประมาณ 4.6 กิโลเมตร ซึ่งโซนที่ 1 และ 2 ใช้อุปกรณ์สายส่งทั้งหมดเป็นชนิดพิเศษป้องกันการกัดกร่อนจากไอทะเลโดยเฉพาะ ส่วนโซนที่ 3 ก่อสร้างจากถนนสุขุมวิท จนถึงสถานีไฟฟ้าแรงสูงปลวกแดง จำนวน 109 ต้น ระยะทางโดยประมาณ 38.8 กิโลเมตร ใช้อุปกรณ์ทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐาน การสร้างสายส่งนี้จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





นาซาแนะไอเดีย ใช้แรงดึงดูดเขี่ย ดาวเสี่ยงชนโลก

นักดาราศาสตร์ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา แนะให้ใช้แรงดึงดูดลากจูงดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงพุ่งชนโลกออกจากเส้นทางอันตราย นายสแตนลีย์ เลิฟและนายเอ็ดเวิร์ด ลู นักดาราศาสตร์ของนาซาเขียนบทความลงในวารสารเนเชอร์ฉบับวันพฤหัสบดีนี้ว่า แม้แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 เมตร ก็สามารถสร้างความเสียหายในวงกว้างและทำลายชีวิตได้หากพุ่งชนโลก การที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนแนะนำให้ส่งยานอวกาศไปจอดเทียบเพื่อเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยนั้น พวกเขาเห็นว่าทำได้ยากเนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมักมีพื้นผิวหยาบและมีมวลไม่แน่น ที่สำคัญส่วนใหญ่หมุนรอบตัวเอง ดังนั้นแทนที่จะใช้การจอดเทียบ พวกเขาคำนวณพบว่า หากยานอวกาศใช้แรงดึงดูดขนาด 20 ตัน โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยนาน 1 ปี ก็จะสามารถเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยไป 200 เมตร ได้นานประมาณ 20 ปี โครงการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยของนาซาหวังว่า ภายในสิ้นปี 2551 จะสามารถระบุหาดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงพุ่งชนโลกได้ราวร้อยละ 90 จากทั้งหมดหลายพันดวงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกินกว่า 1 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณได้ว่า อุกกาบาตที่ตกใส่เม็กซิโกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน และอาจทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์นั้น น่าจะมีความยาว 5-15 กิโลเมตร (สยามรัฐรายวัน ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





"วิศวะ มก."เปิดค่าย นักอิเล็กทรอนิกส์น้อย

กลางเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดโครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ รุ่นที่ 85 ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ และนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่าย ทำการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อประยุกต์ใช้งานต่างๆ ด้วยตนเอง และยังเป็นการพัฒนาความรู้สู่การเป็นนักวิจัยระดับมืออาชีพต่อไป รศ.ชัยวัฒน์ ชัยกุล หัวหน้าโครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์รุ่นที่ 85 กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมของประเทศเป็นอย่างมาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงได้จัดทำโครงการค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ นี้ขึ้นโดยให้งบประมาณจำนวน 100,000 บาท เพื่อคัดเลือกนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งชายและหญิงจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 50 คน มาเข้าค่าย โดยผู้สมัครอาจจะสมัครด้วยตนเองหรือหรือโรงเรียนเป็นผู้ส่งตัวแทนมาก็ได้ ซึ่งการคัดเลือกดูจากใบสมัครการเขียนเรียงความ ความสนใจของเด็ก สำหรับการจัดค่ายอบรมความรู้อิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่เคยผ่านการอบรมมาก่อน ในส่วนที่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนหรือเคยผ่านการเข้าค่ายอบรมมาแล้ว ก็จะเสริมความรู้ด้านการออกแบบวงจรเทคโนโลยี Embedded System และ RFID เพื่อเป็นรากฐานต่อไป (ข่าวสด ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





สร้างทอร์นาโดเทียม ผลิตกระแสไฟฟ้าทางเลือก

"หลุยส์ มิชอว์ด" วิศวกรปิโตรเลียมชาวแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเสนอทฤษฎีเครื่องสร้างทอร์นาโดขึ้น และทำการทดลองที่มหาวิทยาลัยยูท่าห์ ต้นแบบเครื่องสร้างทอร์นาโดมีลักษณะเป็นหอสูง 15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร ใช้หลักการหมุนเวียนความร้อนของบรรยากาศเช่นเดียวกับวัฏจักรการเกิดทอร์นาโดและเฮอริเคนในธรรมชาติ เมื่อเชื้อเพลิงที่กระจายในวงกลมบนพื้นหอคอยถูกเผาและปล่อยความร้อน อากาศที่ส่งเข้าไปทางท่อรอบฐานด้านในหอคอยจะได้รับความร้อนแล้วเคลื่อนเข้าสู่ด้านในก่อนจะหมุนวนกลายเป็นทอร์นาโด เครื่องสร้างทอร์นาโดขนาดจริงจะใหญ่กว่านี้มาก โดยน่าจะสูง 100 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 400 เมตร และทอร์นาโดเทียมที่สร้างน่าจะมีฐานกว้าง 50 เมตร และตอนบนขยายกว้างออกไปถึง 20 กิโลเมตร จากหอคอยที่ไม่มีหลังคาโดยจะควบคุมการเกิดทอร์นาโดด้วยการเพิ่มหรือลดปริมาณอากาศร้อนที่ส่งมาตามท่อรอบฐานหอคอย และจะมีการติดตั้งกังหันเพื่อรับพลังงานลมจากเครื่องสร้างทอร์นาโดและเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถ่านหิน นิวเคลียร์หรือก๊าซ ต้องใช้ระบบหอหล่อเย็น ซึ่งมีต้นทุนสร้างสูงมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ และจำเป็นต้องสร้างใหม่ทุก 20 ปี เพื่อลดไอน้ำที่เกิดขึ้นและส่งไปหมุนกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมิชอว์ด คาดว่าเครื่องสร้างทอร์นาโดจะเข้ามาแทนที่หอหล่อเย็นในอนาคตและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่โรงงานไฟฟ้า (ข่าวสด ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





สถาบันมะกันพัฒนา เรดาร์ตรวจสภาพอวกาศ

สถาบันวิจัย "เอสอาร์ไอ" ในแคลิฟอร์เนีย ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบเรดาร์ Advanced Modular Incoherent Scatter Radar (AMSIR) ที่ใช้ในการตรวจสอบสภาพอวกาศซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สนามแม่เหล็ก หรือดาวเทียมสื่อสารของโลก ระบบเรดาร์ ประกอบด้วยแผงเรดาร์ 3 แผงที่วัดความหนาแน่นและการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนและประจุไฟฟ้าในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ที่ระยะ 80-1,000 กิโลเมตร เหนือท้องฟ้า โดยรับข้อมูลได้หลายทิศทางในเวลาเดียวกันทั้งยังสามารถเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็วแตกต่างจากระบบเรดาร์อวกาศทั่วไปที่มีขนาดใหญ่และต้องเลื่อนไปตามองศาของท้องฟ้าด้านที่ต้องการเก็บข้อมูลซึ่งต้องใช้เวลาหลายนาที โรเบิร์ต โรบินสัน ผู้จัดการโครงการอุปกรณ์ตรวจสอบบรรยากาศชั้นสูงของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐ กล่าวว่า ระบบเรดาร์ AMSIR นอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการทหารแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ (ข่าวสด ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ส่งยานอวกาศตีคู่ดาวเคราะห์น้อยใช้แรงดึงดูดฉุดพ้นวิถีอันตราย

นายสแตนลีย์ เลิฟ และนายเอ็ดเวิร์ด ลู นักดาราศาสตร์ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซาเขียนบทความลงในวารสารเนเชอร์ฉบับวันพฤหัสบดีนี้ว่า แม้แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 200 เมตร ก็สามารถสร้างความเสียหายในวงกว้างและทำลายชีวิตได้หากพุ่งชนโลก นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณได้ว่า อุกกาบาตที่ตกใส่เม็กซิโก เมื่อ 65 ล้านปีก่อน และอาจทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์นั้น น่าจะมีความยาว 5-15 กิโลเมตร การที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนแนะนำให้ส่งยานอวกาศไปจอดเทียบเพื่อเปลี่ยนทิศทาง ของดาวเคราะห์น้อยนั้น พวกเขาเห็นว่าทำได้ยากเนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมักมีพื้นผิวหยาบและมีมวลไม่แน่น ที่สำคัญส่วนใหญ่หมุนรอบตัวเอง ดังนั้น แทนที่จะใช้การจอดเทียบ พวกเขาคำนวณพบว่า หากยานอวกาศใช้แรงดึงดูดขนาด 20 ตัน โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยนาน 1 ปี ก็จะสามารถเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยไป 200 เมตร ได้นานประมาณ 20 ปี โครงการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยของนาซาหวังว่า ภายในสิ้นปี 2551 จะสามารถระบุหาดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงพุ่งชนโลกได้ราวร้อยละ 90 จากทั้งหมดหลายพันดวงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกินกว่า 1 กิโลเมตร (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 13 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





ชี้ช่องพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศ.ดร.คริสโทป เมนเก้(Prof.Christoph Menke) ที่ปรึกษาบัณฑิตวิทยาลัย ร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE) กล่าวภายหลังการสัมมนาวิชาการ "การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ทางออกและเครื่องมือของประเทศไทย" ที่โรงแรมสยามซิตี้ ว่า หากไทยจะหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีอุปสรรคทางด้านการเงิน จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล เนื่องจากต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ เทียบเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งต้องวางแผนศึกษาความคุ้มทุน ความปลอดภัยต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี ศ.ดร.คริสโทปกล่าวว่า พลังงานที่เหมาะสำหรับประเทศไทยขณะนี้ คือ พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล รองลงมาคือพลังงานน้ำขนาดเล็กที่เป็นระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ซึ่งใช้ระดับน้ำที่ไม่สูงมาก และมีอัตราการไหลที่ต่อเนื่องและคงที่ ซึ่งไทยมีความพร้อมทางด้านชลประทาน สามารถนำมาใช้ได้ทันที (มติชนรายวัน เสาร์ที่ 12 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





แผนไปพลูโต

องค์การอวกาศสหรัฐ หรือ นาซ่า เปิดให้เข้าชมยานอวกาศรุ่นใหม่ล่าสุด "นิว ฮอไรซอนส์" ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ รัฐฟลอริดาซึ่งนาซ่าเตรียมส่งออกไปสำรวจดาวพลูโตและแถบไคเปอร์ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2539 ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางราว 9 ปี ดาวพลูโตถูกค้นพบเมื่อปี 2473 ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 6,400 ล้านกิโลเมตร เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลจาก ดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยไคเปอร์ที่ประกอบด้วยกลุ่มวัตถุที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 100 กิโลเมตร มากกว่า 35,000 ก้อนลอยอยู่ (ข่าวสด เสาร์ที่ 12 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เลี้ยงโคให้มีประสิทธิภาพ สร้างฟาร์มปลอดโรค

คณะวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมทำการวิจัย “สร้างฟาร์มโคนมปลอดวัณโรคและโรคแท้งติดต่อ” นายสุพล จันทโคตร นักวิชาการ สำนักสุขศาสตร์สัตว์ และสุขอนามัยที่ 7 กรมปศุสัตว์ หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า “การ ควบคุมกำจัดวัณโรคและโรคแท้งติดต่อในโค สามารถทำได้ ด้วยการตรวจหาโคที่ติดเชื้อภายในฝูงและคัดทิ้ง โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะตรวจไม่พบโคที่เป็นโรคดังกล่าว อยู่ในฝูงติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยได้เริ่มนำมาตรการดังกล่าวมาใช้บ้างแล้ว” ในการวิจัย ทางทีมงานได้ทำการตรวจวินิจฉัยโรค ในโคนมของฟาร์มเกษตรกรรายย่อย ที่อยู่ในพื้นที่การเลี้ยงโคนม ในจังหวัดแห่งหนึ่งเขตภาคกลาง ซึ่งเข้าร่วม “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การเลี้ยงโคนม” ด้วยวิธี Single intradermal tuberculin test (SID) Bovine Purified Protein Derivative, CSL., Australin และเก็บตัวอย่างซีรั่ม เพื่อวินิจฉัยโรคแท้งติดต่อด้วยวิธี Rose Bengal plate test เป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้งต่อเนื่องกัน เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2548 มีโคนมที่ได้ รับการตรวจโรคทั้งสองจำนวน 7,170 ตัว 8,315 ตัว 7,873 ตัว ตามลำดับ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 601 ฟาร์ม 613 ฟาร์ม 562 ฟาร์มเมื่อทีมวิจัยพบโคที่ให้ผลบวกต่อการตรวจด้วยวิธี SID จะแจ้งให้เกษตร-กรทราบเพื่อคัดทิ้งโคทันที ส่วนโคที่ให้ผลบวกต่อการตรวจด้วยวิธี Rose Ben-gal plate test จะตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี Tube agglutination test ก่อนทำการคัดทิ้ง จากการดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง สามารถทำ ให้อุบัติการณ์ของโรคในฟาร์มเกษตรกรมีจำนวนลดลง ส่วนหนึ่งเพราะเกษตรกรใช้ “การผสมเทียม” ซึ่งสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ภายในฟาร์มผ่านทางการสืบพันธุ์ลงได้ ประกอบกับประเทศ ไทยดำเนินมาตรการควบคุมโรคแท้งติดต่อในโคนมทั่วประเทศมาเป็นระยะเวลานาน โดยการใช้ “วัคซีนสเตรน 19” ร่วมกับการคัดโคที่เป็นโรคแท้งติดต่อทิ้ง ซึ่งเป็นมาตรการในการกำจัดโรค ที่มีประสิทธิภาพ และใช้กันในหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มาตรการดังกล่าว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรตรวจโรคในฟาร์มที่พบเชื้อทุก 30-180 วัน จนกว่าจะตรวจไม่พบโค ที่ติดเชื้อในฟาร์ม พร้อมทั้งตรวจโรคในโคทดแทน ทุกครั้งก่อนนำเข้าฟาร์ม ซึ่งจะทำให้กำจัดโรคได้รวดเร็วขึ้น (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





ชุดตรวจไอโอดีนเกลือ ฝีมือมหิดลเข้าตาอนามัยโลก

ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้ชุดตรวจสอบสารไอโอดีนในเกลือ (I-Kit) ซึ่งทีมงานพัฒนาขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ของผลิตภัณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกและองค์การยูเนสโก กำลังประเมินประสิทธิภาพ สำหรับนำไปใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพเกลือไอโอดีนที่จะใช้ทั่วโลก ทั้งนี้ ชุดตรวจดังกล่าวได้ใช้แพร่หลายทั่วประเทศ ผ่านหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 5 ปีมาแล้ว สำหรับนำไปตรวจสอบคุณภาพเกลือบริโภคในครัวเรือนว่ามีส่วนผสมของสารไอโอดีนระดับที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันภาวะขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคคอพอก ปัญญาอ่อนแต่กำเนิด หูหนวก เป็นใบ้ กล้ามเนื้อใช้การไม่ได้ สติปัญญาเสื่อม สมองทึบ ไม่กระปรี้กระเปร่า เหนื่อยง่ายและระบบการสืบพันธุ์ผิดปกติ ภาวะขาดสารไอโอดีนกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ซึ่งพบในประชากรโลกถึง 807 ล้านคน หรือ 13% ขณะที่ประเทศไทยพบมากถึง 15 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของประชากรทั้งประเทศ และพบว่า 57 จังหวัดของไทยเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ส่วนวิธีใช้งานชุดตรวจคุณภาพเกลือ เพียงหยดน้ำยาลงในเกลือ หากเกลือเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม และยิ่งปริมาณเข้มมากเท่าไร หมายถึงว่าจะมีปริมาณไอโอดีนมากเท่านั้น ปัจจุบันๆ ไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป แต่หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาน้ำยาบรรจุขวดขนาดใหญ่ สำหรับตรวจหาสารไอโอดีนในเกลือ และเครื่องอ่านค่าไอโอดีนสำหรับโรงงานผลิตเกลือขนาดใหญ่ และยังได้พัฒนาเครื่องอ่านแบบย่อส่วน ซึ่งสามารถวัดไอโอดีนได้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันแต่มีขนาดเล็กกว่า และสามารถอ่านค่าเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ได้ ปัจจุบันทีมงานกำลังพัฒนาชุดทดสอบหาสารไอโอดีนในปัสสาวะ สำหรับคัดกรองเด็กที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคขาดสารไอโอดีน โดยจะบอกได้ใน 3 ระดับว่า ขาดมาก ปานกลาง หรือปกติ ซึ่งขณะนี้ทดสอบในห้องปฏิบัติการเสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังใช้ทดสอบภาคสนาม หากสำเร็จจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันเด็กไทยไอคิวต่ำถาวรได้ (คมชัดลึก จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.komchadluek.net)





ธรรมศาสตร์ประยุกต์ไอทีลดภัยทางด่วน

นายพงศ์ภูมิ ศรชมแก้ว นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้ทำวิจัยเพื่อคิดค้นเครื่องมือช่วยระบุจุดเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน โดยผลจากการเก็บข้อมูลชี้ให้เห็นว่า อุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นในจุดเดิมซ้ำกันหลายครั้ง ทั้งบริเวณทางแยกและทางโค้ง และแต่ละปีตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี สถิติรายงานอุบัติเหตุที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเก็บบันทึกไว้ในปัจจุบันอยู่ในรูปของข้อมูลรายงานจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุและตัวเลขผู้บาดเจ็บ จึงไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีป้องกันอุบัติเหตุให้ลดน้อยลงได้ นักวิจัยจึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส มาใช้ในงานวิศวกรรมโยธา เพื่อสร้างฐานข้อมูลอุบัติเหตุ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุล่วงหน้า ข้อมูลประกอบด้วยแผนที่ภาพ แผนที่แสดงตำแหน่ง ข้อมูลเส้นทางเดินรถ ข้อมูลอุบัติเหตุที่มีอยู่เดิมมาจัดการร่วมกัน โดยบันทึกลงในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ ทำให้สามารถเรียกดูข้อมูล จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันที ขณะนี้งานวิจัยอยู่ในขั้นตอน ของการรวบรวมข้อมูล สำหรับเขียนโปรแกรม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานโปรแกรมดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านจีไอเอสมากนัก โดยเชื่อว่าหากโปรแกรมดังกล่าวเสร็จสิ้น และมีการใช้งานจริง จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางพิเศษได้มาก โดยเฉพาะจุดที่เก็บข้อมูล คือบริเวณทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษอุดรรัถยา ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูล โปรแกรมนี้จะช่วยออกแบบและปรับปรุงเส้นทางจราจร ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณทางโค้ง หรือทางแยกที่พื้นผิวจราจรไม่สมบูรณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้เมื่อโปรแกรมดังกล่าวแล้วเสร็จ จึงจะนำเสนอการทางพิเศษฯ พิจารณาเพื่อนำไปใช้งานต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)





ผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับ : จากผลงานวิจัยสู่ชุมชน

โครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่รู้จักในชื่อกลุ่มจังหวัดล้านนา ได้มีโครงการเล็กๆ โครงการหนึ่ง เงินงบประมาณ 10 ล้านบาท ประจำปี 2549 มีผลงานวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้คือโครงการ "เครือข่ายผู้ผลิตปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ" ดำเนินงานภายใน 8 จังหวัด 60 แห่ง การผลิตปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ เป็นผลงานการวิจัย ปี 2546 ของอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเกษตรและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาผสมผสานเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับการทำงานในชนบทไทย จนพบว่าช่วยให้เกษตรกรหมักปุ๋ยคุณภาพดีได้ในเวลาเพียง 1 เดือน โดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย มีธาตุอาหารตามที่มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด ผลิตปุ๋ยหมักได้ปริมาณมากไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15 ตัน โดยไม่ต้องใช้โรงเรือน ผลิตได้ทุกฤดูกาล ทำงานง่าย ใช้พลังงานต่ำ เหมาะกับการทำงานแบบกลุ่มสมาชิก และสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี การผลิตปุ๋ยหมักระบบนี้มีการลงทุนไม่ถึง 1 แสนบาท คือเป็นเครื่องย่อยเศษพืชประมาณ 52,000 บาท พัดลมเติมอากาศประมาณ 16,000 บาท เครื่องเย็บกระสอบประมาณ 13,000 บาท และท่อพีวีซีและระบบไฟฟ้าอีกประมาณ 8,000 บาท แม้ต้องลงทุนอยู่บ้างแต่ก็มีความคุ้มค่า เพราะหากคิดเป็นรายได้ต่อเดือนแล้ว กลุ่มเกษตรกรจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาททุกเดือน โดยมีค่าไฟฟ้าเพียง 7 สตางค์ต่อกิโลกรัมของปุ๋ย จากจุดเด่นของระบบที่ไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ยและมีการทำงานที่ง่าย การผลิตปุ๋ยหมักวิธีนี้มีหลักการง่ายๆ คือ พยายามจัดองค์ประกอบภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมต่อการย่อยสลายเศษพืชด้วยจุลินทรีย์ชนิดใช้ออกซิเจนให้มากที่สุด การจัดรูปร่างของกองปุ๋ยให้เป็นรูปปริซึมสามเหลี่ยมสูง 1.5 เมตร และการย่อยเศษพืชให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 1-3 นิ้ว จะทำให้กองปุ๋ยสามารถสะสมความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายเอาไว้ภายในกองปุ๋ยได้ ความร้อนในกองปุ๋ยที่มีค่าสูง 60-70 องศาเซลเซียสใน 2-5 วันแรก จะเป็นอุณหภูมิที่มีความเหมาะสมในการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลุ่มเทอร์โมฟิลิกที่ชอบความร้อนสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกรา และหลังจากนั้นเมื่ออุณหภูมิลดลงเป็น 40-60 องศาเซลเซียส ก็จะมีการย่อยสลายต่อไปอีกโดยจุลินทรีย์อีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเมโซฟิลิก ที่ชอบความร้อนปานกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแบคทีเรียและรา จุลินทรีย์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีอยู่ในมูลโคอยู่แล้ว จะพัฒนาและคัดสายพันธุ์ขึ้นมาเองภายในกองปุ๋ย เมื่อความร้อนในกองปุ๋ยนี้ลอยตัวสูงขึ้นตามธรรมชาติ อากาศภายนอกที่เย็นกว่าก็จะไหลเข้ากองปุ๋ยทางด้านข้าง เท่ากับเป็นการเติมอากาศให้กับกองปุ๋ยอยู่ตลอดเวลา ตามปรากฏการณ์พาความร้อนที่เรียกว่า Chimney Convection และเมื่อมีการอัดอากาศเข้าไปในกลางกองปุ๋ยเป็นครั้งคราวด้วยพัดลมเติมอากาศ ก็จะทำให้ภายในกองปุ๋ยมีออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอต่อการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์อยู่เสมอ การย่อยสลายก็จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย และได้ปุ๋ยหมักในเวลาเพียงประมาณ 30 วัน ผู้สนใจชมวิธี ติดต่อคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ 50290 โทร.0-5387-8123 หรือ www.compost.mju.ac.th (มติชนรายวัน จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th)





ปกป้องพันธุ์ข้าวไทยด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ

นางหทัยรัตน์ อุไรรงค์ นักวิชาการเกษตร 8 กล่าวว่า ลายพิมพ์ดีเอ็นเอเป็นเทคโนโลยีชีวภาพแขนงหนึ่งที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการตรวจพิสูจน์วินิจฉัยพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของพันธุ์พืชว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรเพื่อใช้ในการจำแนกพันธุ์ได้อย่างแม่นยำเหมือนการใช้ลายพิมพ์นิ้วมือในคน ประกอบกับมีบริษัทต่างชาติได้ทำการจดสิทธิบัตรและวางจำหน่ายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทยในต่างประเทศ ทำให้เกิดกระแสของของการปกป้องพันธุ์ข้าวไทย สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้จัดทำโครงการวิจัยลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพันธุ์ข้าวไทย เพื่อปกป้องพันธุ์ข้าวไทยไม่ให้ผู้อื่นนำไปครอบครองและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยไม่ให้สูญพันธุ์ คณะผู้วิจัยได้เริ่มดำเนินการโครงการวิจัยลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพันธุ์ข้าวไทยในปี 2542 จนประสบผลสำเร็จในปี 2546 โครงการวิจัยประกอบด้วยการทำลายพิมพ์ดีเอ็นพันธุ์ข้าวไทยทั้งข้าวพันธุ์รับรองและพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เก็บอนุรักษ์ไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืชปัจจุบันได้ทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอพันธุ์ข้าวไทยแล้วกว่า 2,467 ตัวอย่างพันธุ์ นับเป็นการทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่ใช้ระบบที่ดีและทันสมัยที่สุด รวมทั้งได้ข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็น เอของข้าวไทยมากที่สุดในขณะนี้ นอกจากนี้หลังจากได้ข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอแล้วคณะผู้วิจัยยังได้จัดทำระบบสารสนเทศลายพิมพ์ดีเอ็นเอของข้าวไทยซึ่งมีข้อมูลดีเอ็นเอข้าว อยู่เป็นจำนวนมากเพื่อให้สามารถสืบค้นนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยได้ง่ายสะดวกและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญงานวิจัยลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพันธุ์ข้าวไทยยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบการปลอมปนของข้าวพันธุ์อื่นในข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ปัจจุบันมีผู้ส่งออก โรงสี และกระทรวงพาณิชย์มาใช้บริการตรวจสอบกับสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเป็นจำนวนมาก เป็นการช่วยรักษาภาพลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยไม่ให้มีการปลอมปน งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประเภทงานวิจัยพื้นฐานประจำปี 2546 ของกรมวิชาการเกษตร และรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2548 จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ถึงวันนี้สามารถมั่นใจได้เต็มที่แล้วว่าพันธุ์ข้าวของประเทศไทยไม่ว่าจะนำไปปลูกที่ใดในโลกหรือแม้แต่นำพันธุ์ข้าวไทยไปผสมกับพันธุ์อื่น ลายพิมพ์ดีเอ็นเอสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ข้าวของไทย และยังช่วยให้รู้ว่าพันธุ์พืชใดใกล้ที่จะสูญพันธุ์ควรที่จะอนุรักษ์ไว้ด้วยการขยายพันธุ์ต่อไป. (เดลินิวส์ อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





แผ่นแปะปิดแผลเบาหวาน ควบคุมการปล่อยตัวยาได้-คาด1ปีได้เห็นกัน

ดร.อุรชา รังสาดทอง นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยว่า นาโนเทคได้สนับสนุนงบประมาณ 3 แสนบาท ให้วิจัยแผ่นแปะหรือปลาสเตอร์ยา สำหรับปิดแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้นาโนเทคโนโลยีช่วยนำส่งยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียในแผล ซึ่งจะทำให้แผ่นแปะมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถปลดปล่อยตัวยาอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ต่างจากการใส่ยาปกติที่ขาดความต่อเนื่อง ในการส่งยาสู่บาดแผล ในการผลิตทีมวิจัยจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า อิเล็กโตรสปินนิ่ง (Electrospinning) หรือกระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต เพื่อผลิตเส้นใยขนาดนาโน หรือเล็กประมาณ 100-150 นาโนเมตร และจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า เส้นใยนาโนที่ผลิตขึ้นมานี้ไม่มีพิษต่อเซลล์ร่างกายแต่อย่างใด สำหรับเส้นใยเหล่านี้จะบรรจุตัวยาปฏิชีวนะชื่อ ซีฟาเล็กซิน (Cephalexin) มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ต้นเหตุของการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เกิดบาดแผลได้ง่าย เพราะมีระดับน้ำตาลในตัวปริมาณมาก เมื่อเป็นแผลแล้วจะหายช้า บางรายถึงขั้นต้องตัดอวัยวะที่ติดเชื้อทิ้งเพื่อป้องกันแผลลุกลาม อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในลักษณะนี้มีให้เห็นแล้วในต่างประเทศ เช่น สหรัฐได้นำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตเครื่องแบบทหาร มีคุณสมบัติช่วยลดการติดเชื้อและช่วยระบายเหงื่อและอากาศให้ดีขึ้น ส่วนเคล็ดลับควบคุมการปลดปล่อยยาของเส้นใย ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนผสมระหว่างตัวยากับโพลิเมอร์ ขนาดของเส้นใย และชนิดของโพลิเมอร์ที่เลือกใช้ เช่น หากเลือกใช้โพลิเมอร์ที่ชอบน้ำ เวลาแปะลงไปที่ผิวหนัง เมื่อร่างกายมีเหงื่อเกิดขึ้น โพลิเมอร์ก็จะค่อยๆ ย่อยสลายและปล่อยตัวยาออกมาได้ ปัจจุบันทีมงานกำลังทดสอบดูว่า ต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ตัวยาถึงจะหมดแผ่น ซึ่งขณะนี้สามารถกำหนดระยะเวลาการส่งยาจากแผ่นแปะ ไปยังแผลได้ประมาณ 2 วัน และขั้นต่อไปจะพัฒนาให้อยู่ในรูปของปลาสเตอร์ยา คาดว่าภายใน 1 ปี น่าจะได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นทางเลือกใหม่ของระบบนำส่งยาทางผิวหนัง (คมชัดลึก อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.komchadluek.net)





ปลูกพืชนอกโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ ศ.เวนดี้ บอสส์ และ ผช.ศ.เอมี่ กรันเด็น ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยรัฐนอร์ธคาโรไลนา สหรัฐ ได้ทุนจากองค์การนาซ่ามาศึกษาพืชใต้น้ำ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ชื่อไพโรคอคคัส ฟิวริโอซุส เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างพืชที่ทนทานต่อสภาพในอวกาศ ไพโรคอคคัสเติบโตใต้ทะเลลึกบริเวณภูเขาไฟ อยู่ได้ทั้งในน้ำเดือดและน้ำเย็นจัด นักวิจัยตั้งความหวังว่าจะสกัดสารพันธุกรรมของไพโรคอคคัส เพื่อถ่ายเทคุณสมบัติทนทานแข็งแกร่งนำไปใส่ในพืชต่างๆ (ข่าวสด อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





ประดิษฐ์ชุดตรวจโรคเอดส์ตนเองใช้สำลีล้วงปากนำเข้าเครื่อง

หนังสือพิมพ์รายวันของสหรัฐฯแจ้งว่า ได้มีการประดิษฐ์ชุดตรวจโรคเอดส์ด้วยตนเองขึ้นแล้ว คณะที่ปรึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาอยู่ว่า ควรจะอนุมัติให้นำออกจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่อนามัยและตามสำนักงานแพทย์แห่งต่างๆ ได้ใช้กันอยู่แล้ว เครื่องดังกล่าวใช้งานได้ง่าย เพียงแต่ใช้ไม้พันสำลีล้วงกวาดเข้าไปในปาก แล้วเอาไปเข้าเครื่องดูก็จะสามารถรู้ผลได้ภายในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องที่คณะที่ปรึกษายังเป็นห่วงกันอยู่ก็คือ หากว่าคนทั่วไปนำไปตรวจตนเองที่บ้าน และพบว่าตนเองเป็นโรคขึ้นแล้วจะเกิดรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจขึ้นอย่างใดบ้าง. (ไทยรัฐ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





รถดาวเทียมเตือนอุบัติเหตุ บอกคนขับรู้ตัว-เบรกอัตโนมัติก่อนชน

หลังจากซุ่มวิจัยและพัฒนามานานถึง 2 ปี ในที่สุดบริษัท จีเอ็ม ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ก็เปิดตัวระบบสื่อสารไร้สายสำหรับรถยนต์ หวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน นำร่องติดในรถยนต์ซีดานสุดหรู คาร์ดิแลค เอสทีเอส คาดว่าจะวางจำหน่ายภายใน 5-10 ปี หากผู้ผลิตรถยนต์และทางการสหรัฐเห็นชอบด้วย บริษัท ได้สาธิตระบบสื่อสารไร้สายที่ชื่อว่า "วี 2 วี" (vehicle-to-vehicle : V2V) ให้สาธารณชนได้ทึ่ง ทันทีที่รถกำลังจะชนกัน ระบบจะเตือนคนขับให้รู้ตัว แถมยังมีระบบเบรกอัตโนมัติเพื่อหยุดรถก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น วิศวกรของบริษัท บอกว่า ทีมงานได้พัฒนาระบบนี้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และกำลังพยายามสร้างมาตรฐานสื่อสารไร้สายระหว่างรถแต่ละคัน และหวังว่าผู้ผลิตรถรายอื่นจะเห็นด้วยกับจีเอ็ม ถ้าทุกฝ่ายเห็นดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น และหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน อย่างคณะกรรมาธิการการสื่อสารสหรัฐ (เอฟซีซี) ลงนามข้อตกลงร่วมกันก่อน ภายใน 5-10 ปีก็จะมีรถพวกนี้วิ่งบนถนน สำหรับรถยนต์นำร่องที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้ ได้แก่ คาร์ดิแลค เอสทีเอส ซึ่งทีมงานได้ติดตั้งระบบไร้สาย สายอากาศของระบบระบุพิกัดผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) และชิพคอมพิวเตอร์ ให้รถทดสอบทั้งสิ้น 3 คัน เสาอากาศบนตัวรถจะรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อบอกตำแหน่งของรถคนอื่นๆ โดยสายอากาศดังกล่าว สามารถรับข้อมูลที่แตกต่างกันได้มากถึง 100 จุด ซึ่งรวมถึงข้อมูลความเร็ว ระบบเบรก และการเปลี่ยนสัญญาณไฟ จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์ในรถจะรวบรวมและประมวลผลข้อมูลดังกล่าว และส่งต่อข้อมูลบอกให้คนขับและรถคันอื่นๆ ได้รับทราบ นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ของรถจะคำนวณตำแหน่งและความเร็วของรถคันอื่นๆ ณ เวลาจริง โดยสูตรคณิตศาสตร์ที่จะดึงเอาข้อมูลจากระบบจีพีเอสและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรถ พร้อมกับข้อมูลจากรถคันอื่นมาประมวลผล เพื่อจะได้ส่งสัญญาณเตือนและป้องกันการชนได้ หน้าจอคอมพิวเตอร์บนแผงคอนโซลด้านหน้าของตัวรถ จะแสดงรูปสัญลักษณ์ของรถคันที่อยู่ถัดไป ถ้าเป็นสีเขียวแปลว่าปกติ สีเหลืองหมายถึงเตือนให้ระวัง เมื่อระยะห่างระหว่างรถกำลังจะใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ และสัญลักษณ์จะเปลี่ยนเป็นสีแดงหากอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งใกล้จะมาถึง และในเวลานั้น ที่นั่งของคนขับจะเกิดการสั่นสะเทือนเตือนให้รู้ตัว ซึ่งคนขับสามารถตั้งระบบเบรกอัตโนมัติรอไว้ล่วงหน้าได้ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจะหยุดได้ทันท่วงทีหากเกิดการชนขึ้นจริง (คมชัดลึก พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.komchadluek.net)





สภาวิจัยทุ่ม50ล้าน ค้นหาพืชพลังานใหม่

สภาวิจัยหนุนค้นหาพืชพลังงานใหม่ทดแทนมันสำปะหลัง พร้อมเปิดรับงานวิจัยจีเอ็มโอพืชพลังงาน และจัดทำฐานข้อมูลพืชน้ำมัน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2548 วช.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนให้กับโครงการวิจัยการกลั่นเอทานอลจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2 หน่วยวิจัยราว 15 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2549 คาดว่าจะจัดสรรเงินสนับสนุนครอบคลุมพลังงานทดแทนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เอทานอล และไบโอดีเซล รวมทั้งสิ้นราว 50 ล้านบาท ขณะนี้เราวิจัยและโรงงานต้นแบบ ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชน และในปี 2549 เราจะเน้นหาชนิดของพืชที่จะนำมาใช้ประโยชน์สร้างพลังงานทดแทนให้ประเทศไทย อาทิ สบู่ดำ ปาล์ม ถั่ว และน้ำมันมะพร้าว ในการค้นหาพืชพลังงานทดแทนใหม่นั้น จะพิจารณาในเรื่องความเป็นไปได้ของพืชที่จะทำ ดูด้านการตลาด และดูพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ถึงจะได้ข้อมูลพืชที่จะมารองรับพลังงานต่อไปได้ นอกจากนี้ วช.ยังเปิดกว้างรับโครงร่างของโครงการวิจัยพืชพลังงานจีเอ็มโอมาพิจารณาด้วย โดยจะประเมิณศักยภาพและผลกระทบพืชพลังงานบางตัวที่อาจใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) มาช่วยเสริมสร้างด้านพลังงาน ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป คาดว่าภายในเดือนมกราคม 2549 น่าจะสามารถรวบรวมโครงการวิจัยที่จะดำเนินการทั้งหมดได้แล้วเสร็จ ภายใต้เงื่อนไขหลักที่ว่า จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อประเทศ สิ่งแวดล้อม สังคม และประชาชน ด้าน ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ นักวิจัยจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับพืชพลังงานจีเอ็มโอว่า ใน 4-5 ปีข้างหน้าประเทศไทยอาจต้องทดลองวิจัยและพัฒนาพืชจีเอ็มโอเพื่อมาช่วยสนับสนุนด้านพลังงานในประเทศขึ้นมาบ้าง เพราะในอนาคตวิกฤติพลังานเป็นเรื่องไม่แน่นอน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวน่าจะดำเนินการได้แล้ว (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)





ภาชนะทรงพีระมิดช่วยยืดอายุกล้วยสุกช้า

นักวิจัยน้อยพบภาชนะรูปทรงพีระมิดมีส่วนช่วยให้กล้วยเก็บไว้ได้นานขึ้น หากใช้พลาสติกห่ออีกชั้น คว้ารางวัลชนะเลิศโครงงานวิทยาศาตร์ภาคตะวันตก ด.ญ.ศศิธร บุญทัน ด.ญ.มาลีรัตน์ ไชยปัญญา และ ด.ญ.รัตญา ชูขำ 3 นักวิจัยน้อย จากโรงเรียนวัดหุบกระทิง จ. ราชบุรี กล่าวว่า สาเหตุของการทำโครงงานนี้ว่าเริ่มจากชาวสวนปลูกพืชส่งออกส่วนใหญ่ในประเทศไทยประสบกับปัญหา พืชผักผลไม้เน่าบ้าง หรือสุกเร็วบ้าง ทำให้ผลไม้ถูกส่งกลับ และต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกล้วย ผลไม้ที่มีการส่งออกครั้งละมากๆ และประสบปัญหาสุกเร็วก่อนถึงที่หมาย ในทีมจึงคิดกันว่าทำอย่างไรที่จะช่วยลดอัตราการสุกของกล้วย และได้ทดลองใช้ภาชนะที่มีรูปร่างต่างๆ มาทำเป็นภาชนะบรรจุกล้วย จากการทำโครงงานนี้ทำให้เรารู้ว่ารูปทรงของภาชนะที่บรรจกล้วยที่สามารถเก็บรักษากล้วยไว้ให้สุกช้าที่สุด คือรูปทรงพีระมิดฐานสี่เหลี่ยมเจาะรูระบายอากาศและใช้พลาสติกห่อกล้วย จึงจะสุกช้า ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวได้คว้ารางวัลชนะเลิศในโครงงานวิทยาศาตร์ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการของ มจธ. ครูและนักเรียนที่ร่วมโครงงานตลอดระยะเวลา 1 ปี สำหรับโครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และในปีนี้ได้จัดแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 25 โครงงาน ซึ่งมีโครงงานที่ได้รับรางวัล 3 โครงงาน คือ โครงงานเรื่อง "รูปทรงกับการสุกของกล้วย" โครงงานเรื่อง"กกช้างลดไขมัน" จาก โรงเรียนวัดจันทราราม จ.ราชบุรี และโครงงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โครงงานเรื่อง "เห็ดดนตรี" จากโรงเรียนธรรมจารินีวิทยา จ.ราชบุรี (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)





เอกชนเปิดตัว'ยางตีนตะขาบ' รายแรก

นายสุพจน์ เตชานุรักษ์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ห้าดาวแทรค จำกัด ธุรกิจในเครือบริษัท โมลด์เมท จำกัด ผู้ผลิตยางตันแบรนด์ TOKAI สำหรับรถโฟล์คลิฟ เปิดเผยว่า บริษัทประสบความสำเร็จพัฒนา "ล้อยางตีนตะขาบ" จากยางธรรมชาติ 100% และได้เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วภายใต้แบรนด์ STAR TRAX คาดว่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้เต็มที่ต้นปี 2549 เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีผู้ใดผลิตมาก่อน จึงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะได้รับการตอบรับอย่างดี โดยจะสามารถสร้างมูลค่าส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เทคโนโลยีผลิตยางตีบตะขาบดังกล่าว ค่อนข้างใหม่ในประเทศ และแตกต่างจากการผลิตยางตัน อาทิ เรื่องของการขึ้นรูปและอุปกรณ์บางอย่าง บริษัทจึงขอรับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยางตีนตะขาบ บริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และแนวทางการผลิตยางตีนตะขาบในขนาดต่างๆ ตั้งแต่ การอบรมถ่ายทอดข้อมูลให้ความรู้ถึงประเภท, ลักษณะรูปร่าง, โครงสร้างของ track, ส่วนประกอบต่างๆ และขนาดของยาง นอกจากนี้ ยังได้สอนเกณฑ์การออกแบบ track ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การเตรียมวัตถุดิบ,ชิ้นส่วนประกอบและการขึ้นรูป จากความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สามารถผลิตยางตีนตะขาบในขนาดต่างๆ จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบตามต้องการ และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง คุณสมบัติของยางตีนตะขาบ จะช่วยลดปัญหาเสียงดังจากแรงสั่นสะเทือน, ลดปริมาณฝุ่นละออง และ ลดปัญหาการเกิดรอยที่เกิดจากการกดทับบนผิวถนน ซึ่งในต่างประเทศเริ่มออกข้อบังคับ เนื่องจากการใช้งานของยางตีนตะขาบจะก่อให้เกิดเสียงที่เบากว่า จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ ยางตีนตะขาบจะออกแบบดอกยาง ให้เหมาะสมกับงานและขนาดของรถแต่ละชนิด สำหรับรองรับสภาพการใช้งานในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ด้านนางสาวหงษ์สุดา สอนกลิ่น ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ ITAP กล่าวว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยางตีนตะขาบเพื่อให้เป็นมาตรฐานการผลิตให้บริษัทฯ นำไปใช้พัฒนาการออกแบบและการผลิตเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ITAP ต้องการสนับสนุนและผลักดันให้มีการผลิตขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าให้กับยางธรรมชาติและมีราคาสูงขึ้น สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 พศจิกายน 2548 http://www.bangkokbiznews.com)





นักวิจัยมก.เจ๋ง สังเคราะห์สารยับยั้งมะเร็ง

รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า ทางภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มก.ได้ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ทำการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์แนพโทควิโนนเอสเทอร์ โดยพบว่า สารประกอบประเภท "แนพโทควิโนนเอสเทอร์" มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งแยกได้จากต้นทองพันชั่ง ทีมวิจัยได้ทำการสังเคราะห์สารอนุพันธ์แนพโทควิโนนเอสเทอร์ รวมทั้งไรนาแคนทินจากแนพทอลและอนุพันธ์ของกรดคาร์บอนซิลิก โดยได้พบสารใหม่ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ถึง 35 ชนิด ผลการทดลอง พบว่า สารประกอบแนพโทควิโนนเอสเทอร์สามารถสังเคราะห์ได้จากปฏิกิริยาเอสเทอร์ริฟิเคชั่นระหว่างสารประกอบแนพโทควิโนนแอลกอฮอล์กับสารอนุพันธ์จากกรดคาร์บอนซิลิก ในส่วนของสารประกอบแนพโทควิโนนแอลกอฮอล์ก็สามารถเตรียมได้ โดยเริ่มต้นจากสารตั้งต้น คือ กรด 1-ไฮดรอก ซี-2-แนพโทอิก โดยผ่านปฏิกิริยาทั้งหมด 9 ขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนจะได้เปอร์เซ็นต์ของผลิตผลสูง (71-100%) เมื่อนำไปทดสอบการออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด คือ มะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก พบว่า ในสารประกอบแนพโทควิโนนเอสเทอร์ที่มีส่วนของเอสเทอร์เป็นอนุพันธุ์ของอะโรมาติกจะให้ผลการออกฤทธิ์ดีกว่าในส่วนของเอสเทอร์ที่เป็นอนุพันธ์ของโซ่อะลิฟาติก (ข่าวสด พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





"เลย"ได้ทุนวิจัยเทคโนโลยีสู่ชุมชน

ผศ.ชัชจริยา ใบลี รองอธิการบดีฝ่ายงวิจัยและวางแผน มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เปิดเผยว่า จากผลการประชุมเครือข่ายบริหารวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวิทยาลัยขอนแก่นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยได้รับอนุมัติทุนอุดหนุนการวิจัยจากเครือข่ายบริหารวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เครือข่าย สกอ.) ประจำปี 2549 จำนวน 4 โครงการ สำหรับโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุน ประกอบด้วย ชุดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการวิจัยพัฒนาชุมชนต้นแบบการจัดการความรู้เพื่อพึ่งตนเองด้านพลังงานชุมชนเชิงเขา กรณีศึกษาบ้านท่าเปิบ ต.กกดู่ อ.เมืองเลย ชุดการท่องเที่ยว เป็นโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการประสานข้อมูลและเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.เมือง จ.เลย โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีการศึกษาห้วยน้ำหมาน อ.เมืองเลย โครงการชุดสุราอาหารปลอดภัย และผลิตภัณฑ์แปรรูป โครงการวิจัยการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์หน่อไม้บรรจุถุงของกลุ่มอาชีพบานอาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย (ข่าวสด พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





หอมหัวใหญ่บำรุงกระดูกกินอร่อยเสริมสร้างโครงแข็งแรง

นักวิจัยเมืองนาฬิกาศึกษาวิจัยได้ผลว่า หอมหัวใหญ่ นอกจากจะช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้นแล้ว ยังมีสรรพคุณบำรุงกระดูกให้แข็งแรงด้วย คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยในวารสารวิชาการ “เคมีการเกษตรและอาหาร” ว่า ได้พบจากการ ทดลองในห้องปฏิบัติการว่าหอมหัวใหญ่ มีสารประกอบชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสรรพคุณช่วยป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูกไปโดยรวดเร็วได้. (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 10 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





ปลูกเซลล์ใหม่ซ่อมหูหนวก ทดลองนำเซลล์ลิงมาใส่หนูแล้วได้ผลสำเร็จ

ผศ.ดร.เจริญศรี ธนบุญสมบัติ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประยุกต์เทคนิคเซลล์บำบัดมาใช้เพื่อรักษาภาวะหูหนวก โดยนำเซลล์ใหม่ที่ได้จากลิงมาพัฒนาให้เป็นเซลล์ประสาท ก่อนจะนำไปปลูกถ่ายในตัวหนูทดลอง สำหรับงานวิจัย ซึ่งร่วมมือกับนักวิจัยสวีเดนนี้มุ่งแก้ปัญหาด้านการได้ยินมีเป้าหมาย 2 อย่าง ได้แก่ การสร้างเซลล์ขนในหูกับการสร้างเซลล์ประสาท แต่ทีมวิจัยเลือกที่จะทำวิจัยเพื่อสร้างเซลล์ประสาทหู และสามารถนำสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของลิงมากระตุ้นให้เป็นเซลล์ประสาทหู และนำไปปลูกถ่ายในหนูทดลองได้สำเร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในหนูเพื่อทดสอบการได้ยินว่าดีขึ้นมากน้อยเพียงใด จากนั้นก็จะเปลี่ยนมาทดลองในสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การทดลองกับคนอาจไม่ใช่ระยะเวลาอันสั้นนี้ เพราะทีมวิจัยต้องทดลองกับสัตว์จนมั่นใจก่อน (คมชัดลึก ศุกร์ที่ 11 พ.ย. 48 http://www.komchadluek.net)





ผลวิจัยสู่กรุงเทพมหานครที่ยั่งยืน จากปัญหาในเขตกรุงเทพฯที่รุมเร้าในทุกด้าน

สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ( JGSEE ) รวมนักวิจัยจากแขนงต่าง ๆ เร่งระดมสมองเพื่อจัดทำกรอบและแนวทางการส่งเสริมพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้จริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ยั่งยืน ผลการวิจัยได้พูดถึงในหลายด้าน เช่นการวางผังเมืองหรือการขนส่ง สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อม ผลการวิจัยระบุว่า มลพิษทางอากาศทั้งเรื่องคุณภาพอากาศและก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะที่ผ่านมาพบว่านโยบายของรัฐไม่เอื้ออำนวย ทั้งยังขาดเงินทุนสนับสนุน รวมทั้งขาดองค์ความรู้ อาทิ การจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบบูรณาการ ปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ซึ่งต่อไปต้องพัฒนาใช้เทคโนโลยีสะอาดเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการลดฝุ่นและสารที่ก่อให้เกิดโอโซน รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการพัฒนาตัวดูดซับมลพิษที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การพัฒนาและการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศและสำหรับการป้องกันภูมิอากาศ การวางแผนและนโยบายโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาระบบเตือนภัยที่สามารถคาดการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าได้ การจัดการขยะมูลฝอยที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิ ภาพเพียงพอ ขาดการกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการจัดเก็บ การคัดแยกขยะ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร สำหรับเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำ ผลการวิจัยพบว่าน้ำมีคุณภาพต่ำลงมาก มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และถูกปล่อยลงในแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้น้ำในแหล่งน้ำมีคุณภาพต่ำ ไม่เหมาะสำหรับการอุปโภค บริโภค จึงต้องดำเนินการจัดการคุณภาพน้ำของ กรุงเทพฯอย่างเร่งด่วน โดยภายใน 10 ปีข้างหน้านี้เราจะต้องเพิ่มมาตรฐานแหล่งน้ำให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้สามารถทำการเกษตร เล่นกีฬาทางน้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้. (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 13 พ.ย. 48 http://www.dailynews.co.th)





ข่าวทั่วไป


ให้ผู้สูงอายุรักษาสุขภาพปาก เฉลี่ยเหลือฟันคนละ 18 ซี่

น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานการสำรวจภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นโรคฟันผุมากกว่ากลุ่มเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน และมีแนวโน้มฟันผุมากขึ้น จากร้อยละ 95.2 ในปี 2527 เป็นร้อยละ 95.6 ในปี 2544 แต่ได้รับการรักษาฟันผุ ถอน อุด มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 16.3 เป็นร้อยละ 14.4 ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพช่องปากที่สำคัญของผู้สูงอายุในประเทศไทยคือ ฟันที่ใช้งานได้มีจำนวนน้อยลง ทำให้รับประทานอาหารลำบาก สาเหตุหลักที่ทำให้สูญเสียฟันมี 2 ประการ ได้แก่ โรคปริทันต์และโรคฟันผุ โดยจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุประมาณครึ่งหนึ่งคือ ร้อยละ 47.7 มีฟันธรรมชาติใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ โดยร้อยละ 8.4 ของผู้สูงอายุ สูญเสียฟันธรรมชาติทั้งปาก ร้อยละ 33.1 มีโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง และมีฟันธรรมชาติเฉลี่ย 18.1 ซี่ต่อคน นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงของเหงือก ฟัน เยื่อเมือกในช่องปากต่อมน้ำลาย และอวัยวะใกล้เคียงกับช่องปาก โดยต่อมน้ำลายในช่องปากจะผลิตน้ำลายน้อยลง เป็นผลให้เกิดภาวะปากแห้ง การสูญเสียฟันที่มีการสึกกร่อนจากการใช้งาน ทั้งด้านบดเคี้ยวและคอฟัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารลดลง ปัญหาทางทันตกรรมยังส่งผลให้เกิดโรคต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ อาทิ โรคเบาหวาน จะมีผลกระทบต่อระบบของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบหลอดเลือด ระบบไหลเวียนโลหิต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในช่องปาก การหายของแผลจะช้ากว่าปกติและแผลติดเชื้อได้ง่าย โรคหัวใจโดยแบคทีเรียที่เกิดจากการติดเชื้อในช่องปากเรื้อรัง สามารถแบ่งกระจายสู่กระแสเลือดและนำสู่การอักเสบของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ วัณโรคปอดในผู้สูงอายุอาจพบเป็นแผลวัณโรคในช่องปากได้ โรคหอบหืดอาจต้องใช้ยาพ่นในช่องปากเป็นสเตียรอยด์ หากใช้บ่อยๆ จะมีผลข้างเคียงให้เกิดเชื้อราในช่องปาก โรคไตเรื้อรัง อาจพบเลือดออกที่ชั้นใต้เยื่อบุช่องปากบริเวณด้านข้างของลิ้น เป็นต้น. (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.thairath.co.th)





ดันเกษตรล่วงหน้า 5ปีขึ้นชั้นระดับโลก

นางนภาภรณ์ คุรุพสุธาชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานเดือนม.ค.-ต.ค. 2548 มีปริมาณการซื้อขาย 67,439 สัญญา เพิ่มขึ้นจาก 28,556 สัญญาช่วงปีที่แล้ว ที่เริ่มเปิดการซื้อขายเดือนพ.ค.-ธ.ค. 2547 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 375 สัญญา เพิ่มขึ้นจาก 256 สัญญา หรือเพิ่มขึ้น 46.48% มูลค่าการซื้อขาย 17,085 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2548 ปริมาณการซื้อขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 สัญญา โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2549-2553) เพื่อพัฒนาให้ AFET เป็นตลาดอ้างอิงราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญในตลาดโลก ตั้งเป้าหมายเพิ่มสินค้าเข้าซื้อขายจำนวน 2 รายการ และกำลังศึกษาน้ำยางข้น น้ำตาล ปาล์มน้ำมันและกาแฟอาราบีก้าเข้าซื้อขายใน AFET และจะมีปริมาณการซื้อขายเท่ากับ 132,000 สัญญา/ปี สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ 1.การพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เป็นตัวกลาง เพื่อเป็นผู้ประกันความเสี่ยงแทนเกษตรกร และ 2.การพัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล (ข่าวสด จันทร์ที่ 7 พ.ย. 48 http://www.matichon.co.th/khaosod)





คมนาคมไฟเขียวขึ้นค่ารถเมล์อีก 1 บาท

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.48 พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. และรถร่วมบริการ ซึ่งมีตัวแทนนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วม ว่า จากการตรวจสอบต้นทุนการเดินรถของผู้ประกอบการ ซึ่งพิจารณาจากต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ประกอบด้วย รถร้อนที่ 700 บาทต่อคันต่อวัน รถปรับอากาศธรรมดา 1,100 บาทต่อคันต่อวัน และรถยูโรทู 1,500 บาทต่อคันต่อวัน ค่าเงินเดือนพนักงานและค่าจัดการการเดินรถ 1,600 บาทต่อคันต่อวัน โดยคำนวณจากฐานปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 600 คนต่อคันต่อวัน และอัตราเฉลี่ยการรับส่งผู้โดยสารต่อคันต่อวันพบว่าผู้ประกอบการรถร่วมบริการจะมีต้นทุนการเดินรถที่นำไปคำนวณในการจัดเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 7 บาทต่อคน ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่รถร่วมบริการจัดเก็บอยู่แล้วในปัจจุบัน ทางกระทรวงคมนาคมก็เตรียมพิจารณาปรับค่าโดยสารตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการอีก 1 บาท ในต้นปี 49 เพื่อแลกกับการปรับปรุงบริการมาตรฐานเดินรถให้ดียิ่งขึ้น ทั้งสภาพตัวรถที่ต้องปลอดภัย คุณภาพของผู้ขับรถและการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงาน เพื่อจูงใจให้พนักงานขับรถและเก็บค่าโดยสารปฏิบัติหน้าที่อยู่บนพื้นฐานที่ดี (สยามรัฐรายวัน อังคารที่ 8 พ.ย. 48 http://www.siamrath.co.th)





ครม.อนุมัติร่างกฏหมายตั้ง สำนักงานนวัติกรรมแห่งชาติ

นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน มีสาระสำคัญคือ ให้มีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ โดยจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ขึ้นมาดำเนินงาน เพื่อรับผิดชอบ และรวมไปถึงให้เป็นแกนกลาง และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศในเชิงระบบ และเป็นแกนกลางในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง สอดคล้องกับการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหลังจากนี้ให้จัดส่งร่างพระราชกฤษฏีกาดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาต่อไป (กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 9 พ.ย. 48 http://www.bangkokbiznews.com)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215