หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 6 ประจำวันที่ 2001-02-06

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯหนุนเปิดสอนนานาชาติรับมือต่างชาติ
ทบวงฯแจงเอนทรานซ์ระบบใหม่ ไม่ได้คิดขึ้นมาเพื่อล้มร.ร.กวดวิชา
ทบวงฯเตรียมบัญชี ง/ด ใหม่
ธรรมศาสตร์หน้าบานต่างชาติยอมรับการสอนธุรกิจ
รามฯเปิดสอนปริญญาเอกรัฐประศาสนศาสตร์
กรมธนารักษ์อนุมัติก่อสร้างทันที สถาบันราชภัฏธนบุรี ณ สมุทรปราการ
ศูนย์ภาษาอังกฤษพิบูลวิทยาลัยสร้างชื่อนักเรียนเก่งไปอังกฤษ
ทรท. ยอมฟังชาวบ้านขอดูงานศธ.เอง
สาธิตจุฬายุบโควตาผู้อุปถัมภ์ เลิกสอบ ป. 1 ใช้วิธีวัดพัฒนาการเด็ก
สศ. ไฟเขียวครูได้ย้ายปีละ 2 ครั้ง
ปี 45 ปรับราคาหนังสือ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

พระเทพฯสนพระทัยจีโนมมนุษย์ ดำริ "พันธุกรรม" ควรเป็นความลับ
เครื่องอัลตราซาวด์สามมิติเห็นหน้าลูกในท้องแบบทันใจ
ลดต้นทุนประหยัดพลังงาน
เตือนโฆษณาขายยาในเน็ตไม่ผ่านอย.
เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดดิ้นสุดชีวิต กลุ่มต้านตามตื๊อ ‘อานันท์’ ถอนหุ้นสหยูเนี่ยน
มะกันเอามั่ง ‘โคลนนิ่งคน’ เหตุผลฮิตช่วยคนมีลูกยาก

ข่าววิจัย/พัฒนา

ข้าวจีเอ็มโอ
ผ่าตัดเปลี่ยนเซลล์รักษาเบาหวานหาย
น.ศ.ม.รังสิตทำวิจัย เพิ่มกล้ามเนื้อท้อง ซิต-อัพเองเจ๋งกว่าใช้แอบโดมิไนเซอร์
แพทย์พบสารต้านมาลาเรีย
เอ็มเทคผลิตพลังงานจาก ‘เซลล์เชื้อเพลิง’ ช่วยลดปัญหามลพิษ
ญี่ปุ่นพบ ‘วาซาบิ’ ช่วยป้องกันฟันผุ

ข่าวทั่วไป

ดื่มไวน์แดงพิสูจน์กันหัวใจวายไม่ได้
เบอร์โทรศัพท์ 8 หลัก
ขอคืน (ตลับหมึก)





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯหนุนเปิดสอนนานาชาติรับมือต่างชาติ

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทบวงฯสนับสนุนให้มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพราะเห็นว่าเป็นการพัฒนาคนให้มีความรู้ในระดับนานาชาติ และจากการวิจัยก็พบว่าการเรียนตามปกติยังไม่เพียงพอ จึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเตรียมคนเพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรนานาชาติก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะพื้นฐานทางด้านภาษา จึงจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษากับต่างประเทศ รวมทั้งต้องปรับปรุงการบริหารจัดการให้เป็นสากลมากขึ้นด้วย ศ.ดร. ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจมาตลอด ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติจะต้องให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544)





ทบวงฯแจงเอนทรานซ์ระบบใหม่ ไม่ได้คิดขึ้นมาเพื่อล้มร.ร.กวดวิชา

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่านิยมในการกวดวิชาขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล สิ่งที่ตนต้องการย้ำคือ การกวดวิชาไม่เกี่ยวกับการนำ GPA มาใช้ในการสอบเอนทรานซ์ แต่จะทำให้โรงเรียนต้องพัฒนาการสอนให้ดียิ่งขึ้น ตนคิดว่าน่าจะมีการศึกษาถึงการนำ GPA มาใช้ว่ามีผลกระทบต่อการสอบเอนทรานซ์หรือไม่ และจุดประสงค์ของการเอนทรานซ์ระบบใหม่ไม่ใช่การจะล้มหรือแก้ปัญหาการกวดวิชา แต่ต้องการให้นักเรียนเรียนครบตามหลักสูตร เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 10)





ทบวงฯเตรียมบัญชี ง/ด ใหม่

รศ. ท.พ. สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในการประชุม อ.ก.ม. วิสามัญเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทน ที่ประชุมได้ทำโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในทบวงมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ตามที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) จัดทำโดยให้เป็นลักษณะตามภาระพันธกิจอุดมศึกษาสากล คุณภาพการเรียน การสอน การประเมินผลงานด้านวิจัย การประเมินผลเข้าสู่ตำแหน่ง คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะสามารถสรุปโครงสร้างเงินเดือนใหม่เสนอต่อ สปศ. ได้ (เดลินิวส์ พุธที่ 31 มกราคม 2544 หน้า13)





ธรรมศาสตร์หน้าบานต่างชาติยอมรับการสอนธุรกิจ

ผศ. แน่งน้อย ใจอ่อนน้อม คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกโครงการ Programme in International Management (PIM) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยร่วมเป็นสมาชิกกว่า 40 แห่งทั่วโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออาจารย์ และนักศึกษา ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การวิจัย ซึ่งนอกจากนี้นักศึกษาของคณะที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนยังสามารถโอนหน่วยกิตกลับมายังคณะได้ด้วย โดยใช้อัตราค่าเล่าเรียนปกติ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 29 มกราคม 2544 หน้า 12)





รามฯเปิดสอนปริญญาเอกรัฐประศาสนศาสตร์

นายอุทัย เลาหวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกทางรัฐประศาสนศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนประกอบด้วย อาจารย์ประจำของคณะรัฐศาสตร์ มร. และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานี้ จากหลายมหาวิทยาลัย เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2544 ใบสมัครชุดละ 500 บาท จำหน่ายที่บัณฑิตวิทยาลัยชั้น 1 อาคารวิทยบริการและบริหาร หรือบัณฑิตศึกษา ชั้น 3 คณะรัฐศาสตร์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คณะรัฐศาสตร์ มร. โทร. 310-8469-70 หรือบัณฑิตวิทยาลัย โทร. 310-8560, 310-8563 (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 5)





กรมธนารักษ์อนุมัติก่อสร้างทันที สถาบันราชภัฏธนบุรี ณ สมุทรปราการ

รศ. ดร. วิชัย เทียนน้อย อธิการบดีสถาบันราชภัฏธนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมโครงการก่อสร้างสถาบันราชภัฏธนบุรี บริเวณ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ เพื่อขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ชานเมือง ประกอบกับที่ตั้งของสถาบันราชภัฏธนบุรีในปัจจุบันมีพื้นที่คับแคบขยายไม่ได้ ฉะนั้นโครงการก่อสร้างสถาบันราชภัฏธนบุรีแห่งใหม่ที่จังหวัดสมุทรปราการในอนาคตจะเป็นสถาบันหลักในการบริหารการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีทุกสาขา และเมื่อก่อสร้างเสร็จจะใช้ชื่อว่า "สถาบันราชภัฏธนบุรี ณ สมุทรปราการ" เพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดสมุทรปราการเจ้าของพื้นที่ด้วย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 29 มกราคม 2544 หน้า 32)





ศูนย์ภาษาอังกฤษพิบูลวิทยาลัยสร้างชื่อนักเรียนเก่งไปอังกฤษ

นางนิตยา นวลสาลี หัวหน้าหมวดวิชาภาษาต่างประเทศ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี แจ้งว่าที่โรงเรียนได้รับมอบให้เป็นศูนย์จัดการแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษของเขตการศึกษา 6 ในปี พ.ศ.2544 ผลการแข่งขัน น.ส. สุพิชชา จักรสิรินนท์ ชั้น ม.6/26 โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยชนะเลิศ เป็นตัวแทนของเขตการศึกษา 6 เข้าแข่งขันระดับประเทศ จะทำการแข่งขันในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2544 ณ หอประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษนานาชาติ ณ ประเทศอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม 2544 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน (เดลินิวส์ พุธที่ 31 มกราคม 2544 หน้า 29)





ทรท. ยอมฟังชาวบ้านขอดูงานศธ.เอง

นายยุทธชัย อุตมา เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า เท่าที่ได้รับฟังจากที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยยืนยันว่า ทางพรรคจะส่งคนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเอง ตัวบุคคลจะเป็นใครนั้นยังไม่ชัดเจน ด้านนาย ถวิล น้อยเขียว ประธานสภามนตรีสมาคมครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทย (สคท.) กล่าวว่า ทรท. ได้สรุปข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษาต่อพรรคไทยรักไทย โดยให้ชะลอแผนกระจายอำนาจด้านการศึกษาแล้วทบทวนโดยให้อิง พ.ร.บ. การศึกษาเป็นหลัก การแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาเป็น 295 เขต เป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การศึกษาและเกิดการประหยัดงบประมาณ เพราะจะมีการยุบหน่วยงานถึง 2,000-3,000 แห่ง และขอให้ดำเนินโครงสร้างองค์กรวิชาชีพครูตามที่คุรุสภานำเสนอ (มติชน พฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2544 หน้า 10)





สาธิตจุฬายุบโควตาผู้อุปถัมภ์ เลิกสอบ ป. 1 ใช้วิธีวัดพัฒนาการเด็ก

รศ.ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทอม 1 ปีการศึกษา 2544 สาธิตจุฬาฯ รับเด็ก ป. 1 จำนวน 100 คน โดยใช้แบบทดสอบวัดพัฒนาการ คัดตามลำดับคะแนนและจะประกาศผลแก่สาธารณชน โดยยกเลิกวิธีจับฉลาก โควตาผู้อุปถัมภ์และการสอบ แต่ยังใช้ระบบสวัสดิการรับบุตรหลานข้าราชการจุฬา ด้าน รศ.เกื้อกูล ทาสิทธิ์ อาจารย์ใหญ่ ร.ร. สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีนี้จะปรับปรุงเกณฑ์รับเด็กให้หลากหลาย ประเมินความพร้อมด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์และจะเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอนุมัติการเปิดเผยคะแนน ทั้งนี้จะหารือกับนักกฎหมายให้คงโควตาพิเศษผู้อุปถัมภ์ ร.ร. เพราะ พ.ร.บ.การศึกษากำหนดให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นสนับสนุนการศึกษา ด้าน ดร. สายสุรี จุติกุล ที่ปรึกษาสถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย กล่าวว่า อนาคตต้องเลิกรับเด็ก ป. 1 ด้วยวิธีสอบ และจะเชิญนักจิตวิทยามาพัฒนาแบบทดสอบดูความพร้อมเด็กแต่ละวัย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 7 มกราคม 2544 หน้า 20)





สศ. ไฟเขียวครูได้ย้ายปีละ 2 ครั้ง

นายสุรเทพ ตั๊นประเสริฐ ผู้อำนวยกองการเจ้าหน้าที่กรมสามัญศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสามัญฯ ปรับปรุงระเบียบการขอย้ายประจำปีของข้าราชการครูสายการสอนใหม่ จากเดิมย้ายได้ปีละครั้งมาเป็นปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ส่งคำร้องขอย้ายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งกรมจะแจ้งผลการย้ายภายในเดือนกันยายน และจะส่งตัวผู้ได้ย้ายเมื่อสิ้นภาคเรียนที่ 1 ส่วนคำขอย้ายครั้งที่ 2 ให้ส่งคำร้องภายในต้นเดือนมกราคมและจะได้รับผลการย้ายในเดือนมีนาคม โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะเริ่มใช้ในปี 2545 ส่วนปี 2544 ให้ข้าราชการครูส่งคำร้องขอย้ายภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 กรมฯ จะแจ้งผลย้ายในวันที่ 15 เมษายน 2544 ทั้งนี้จะส่งตัวผู้ย้ายไปเมื่อสิ้นปีการศึกษา 2543 หลักการพิจารณาผู้ที่ขอย้ายจากหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. เพื่ออยู่รวมกับคู่สมรส 2. เพื่อดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วยร้ายแรงหรือชราภาพ 3. เพื่อกลับภูมิลำเนาเดิม 4. เพื่อสะดวกในการเดินทางไปปฏิบัติราชการและ 5. ย้ายกรณีพิเศษอื่นๆ โดยผู้ที่จะขอย้ายต้องปฏิบัติราชการที่โรงเรียนปัจจุบันติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอย้ายและต้องไม่อยู่ระหว่างลาไปศึกษาต่อเต็มเวลา (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2544 หน้า 20)





ปี 45 ปรับราคาหนังสือ

นายพนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์กรการค้าของคุรุสภา กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ได้หารือถึงการผลิตหนังสือเพิ่มขององค์การค้าฯ ด้วยซึ่งเป็นผลกระทบมาจากกระทรวงศึกษาฯ ห้ามโรงเรียนใช้หนังสือเรียนของสำนักพิมพ์เอกชนที่จัดพิมพ์หนังสือเรียนไม่ถูกต้อง 18 รายการ ทำให้โรงเรียนหันมาซื้อหนังสือเรียนกับองค์การค้ามากขึ้นจนผลิตไม่ทัน ทั้งนี้องค์การค้าฯ จะยังไม่ขึ้นราคาหนังสือเรียน แต่อาจต้องปรับราคาใหม่ในปี 2545 เพราะจะมีการเปลี่ยนหลักสูตร (สยามรัฐ เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


พระเทพฯสนพระทัยจีโนมมนุษย์ ดำริ "พันธุกรรม" ควรเป็นความลับ

รศ. ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการกล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 23-24 มกราคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมสัมมนาวิชาการพิเศษอาหารและโภชนาการที่สถาบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่า เรื่องการพัฒนาโภชนาการก็คือการพัฒนาคน เป็นการพัฒนาสมรรถภาพและศักยภาพของคน ซึ่งมีผลอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศจึงทรงอยากให้จัดเป็นพิเศษ และทรงมีรับสั่งให้สถาบันจัดถวายวิธีการที่จะรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญของโภชนาการ โดยประมวลประสบการณ์ของสถาบันที่ทำงานด้านการวิจัยมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ร.ศ. ดร. ทรงศักดิ์ กล่าวว่า และพระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องนี้มาก ทรงรับสั่งว่า "เรื่องนี้เป็นประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก แต่ต้องคำนึงถึงอย่างอื่นด้วยเช่น ทรงยกตัวอย่างว่า รหัสพันธุกรรมของแต่ละคนน่าจะเป็นความลับ ไม่ใช่เปิดเผยกันทั่วไป อาจจะมีผลกระทบตามมาเช่น ถ้าไปสมัครทำงานแล้วบริษัทรู้รหัสพันธุกรรม ว่ามียีนบางอย่างผิดปกติ จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงก็จะถูกกีดกันในการทำงาน หรือบริษัทประกันภัยรู้ข้อมูลในรหัสพันธุกรรมแล้วจะไม่รับทำประกันชีวิต เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องในแง่ศีลธรรมและจริยธรรม" รศ. ดร. ทรงศักดิ์ กล่าว (มติชน อาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2544 หน้า 6)





เครื่องอัลตราซาวด์สามมิติเห็นหน้าลูกในท้องแบบทันใจ

บริษัทซีเมนท์ พัฒนาเครื่องตรวจอัลตราซาวด์รุ่นใหม่ล่าสุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ใจร้อนอยากเห็นหน้าลูกในท้องไวๆ ดร.โรส เดอ ไบรอัน จากโรงพยาบาลเด็กเกรท ออร์มอนด์ สตรีท ในลอนดอน กล่าวว่า ด้วยประสิทธิภาพของอุปกรณ์แสดงภาพที่มีการประมวลภาพได้ดีและเร็วขึ้น พ่อแม่สามารถเห็นรายละเอียดของภาพเด็กที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งที่ยากมากในเครื่องแบบสองมิติ นอกจากนี้ หมอสามารถตรวจสอบว่า เด็กในท้องมีสภาพร่ายกายที่พิการก่อนที่จะคลอดออกมาหรือไม่ เช่น เนื้องอก ปากหรือเพดานปากโหว่ ซึ่งช่วยให้หมอสามารถหาวิธีการรักษาเด็กอย่างมีประสิทธิภาพได้ก่อนคลอด เครื่องอัลตราซาวด์แบบสามมิตินี้ ราคาเครื่องละประมาณ 120,000-140,000 ปอนด์ แล้วแต่รุ่น (E-xiteไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





ลดต้นทุนประหยัดพลังงาน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เชิญชวนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เข้าร่วมโครงการ "ลดต้นทุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และสนับสนุนฐานการผลิตเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน" หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการลดต้นทุน SME เพื่อมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานและเทคโนโลยีในทิศทางที่ถูกต้อง ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่ โทร. 202-4599. 436-8282-5 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 24)





เตือนโฆษณาขายยาในเน็ตไม่ผ่านอย.

สำนักข่าวไทยรายงานว่า ปัจจุบันนี้มีการโฆษณาขายอาหารและยาทางอินเตอร์เน็ตกันอย่างโจ่งแจ้ง ในรูปแบบของ อี-คอมเมิร์ซ และอื่นๆ อีกหลายรายการ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการลงโฆษณา ทั้งนี้ทั้งอาหารและยานั้นจัดเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต อย. ก่อน จึงจะลงโฆษณาได้ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย. ขณะนี้ อย. กำลังจะปรับปรุงกฎหมายอาหารใหม่ เพื่อให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ขัดขวางการเติบโตของ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบหากทำ อี-คอมเมิร์ซ ประเภทอาหาร โดยในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง อย. กับกลุ่มผู้ผลิตอาหาร พร้อมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่จากเนคเทคมาร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้กฎหมายที่เอื้อแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายอาหารได้ที่ www.fda.moph.go.th (มติชน อังคารที่ 30 มกราคม 2544 หน้า 7)





เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดดิ้นสุดชีวิต กลุ่มต้านตามตื๊อ ‘อานันท์’ ถอนหุ้นสหยูเนี่ยน

น.ส. ไอดา อรุณวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลังงานทางเลือก ให้สัมภาษณ์ เรื่องที่กลุ่มชาวบ้าน ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด รวมตัวกันเรียกร้องให้นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการในบริษัทสหยูเนี่ยน ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของบริษัทยูเนี่ยนพาวเวอร์ดีเวลอปเม็นต์ (ยูพีดีซี.) กลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด ถอนหุ้นออกจากโครงการดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มชาวบ้านเคยรวมตัวกันไปพบนายอานันท์มาแล้ว และขอให้ถอนหุ้นครั้งหนึ่งแล้ว แต่นายอานันท์พยายามบอกปัดว่า บริษัทสหยูเนี่ยนที่ตัวเองเป็นกรรมการบริหารอยู่นั้น มีหุ้นส่วนเพียงจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นส่วนอื่นๆ คือแค่ 10% เท่านั้น รวมทั้งผลการพิสูจน์เรื่องความเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถถอนหุ้นออกจากกลุ่มทุนดังกล่าวได้ (มติชน เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 7)





มะกันเอามั่ง ‘โคลนนิ่งคน’ เหตุผลฮิตช่วยคนมีลูกยาก

เมื่อวันที่ 29 มกราคม สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาว่า สมาคมแพทย์นานาชาติในสหรัฐ ได้พยายามหาทางปลูกถ่ายพันธุกรรมมนุษย์ หรือโคลนนิ่งมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือสามีภรรยาที่มีบุตรยาก นายพานอส ซาวอส อาจารย์สอนวิชากุมารเวชประจำมหาวิทยาลัยเคนทักกี้ กล่าวว่า ทางสมาคมแพทยศาสตร์จะพัฒนาแนวทางหรือมาตรฐาน เพื่อควบคุมเทคโนโลยีการโคลนนิ่งมนุษย์ และเพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เทคโนโลยีโคลนนิ่งมนุษย์กำลังจะเริ่มก็จริง แต่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (มติชน พุธที่ 31 มกราคม 2544 หน้า 15)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ข้าวจีเอ็มโอ

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครลอสแองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อวันที่ 27 มกราคม ถึงความสำเร็จของบริษัทซินเจนตา (Syngenta) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ในการถอดรหัสพันธุกรรมข้าวได้ถึง 99.5 เปอร์เซ็นต์ โดยพันธุ์ข้าวดังกล่าวจะให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ว ทนต่อสภาพอากาศร้อน ต้านทานโรค และแมลงว่า บรรดาบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพอาทิ บริษัทมอนซานโต้ ต่างร่วมแสดงความยินดีกับบริษัทซินเจนตา ซึ่งเป็นบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง บริษัทเซเนก้า และบริษัทโนวาทิส ยักษ์ใหญ่แห่งเคมีภัณฑ์ ธุรกิจเกษตร นายปีเตอร์ เมลดรัม ประธานบริษัทโมเรียด ยีนเนติกส์ ที่เข้าร่วมโครงการกับบริษัทซินเจนตา กล่าวว่า บริษัทได้ใช้เวลาในการทดลองเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมข้าวถึงสามปีเต็ม และความสำเร็จครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการพบรหัสพันธุกรรมข้าวที่สามารถนำไปปลูกในเชิงพาณิชย์ จะนำไปสู่การพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตสูงขึ้นภายในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้า บริษัทซินเจนตาเตรียมเผยแพร่พิมพ์เขียวรหัสพันธุกรรมข้าวให้แก่หน่วยงานวิจัยต่างๆ เช่น โครงการถอดรหัสพันธุ์ข้าวระหว่างประเทศที่รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ อย่างไรก็ตามพิมพ์เขียวฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสมบูรณ์ในราวปี 2546 บริษัทซินเจนตา แถลงว่า งานค้นคว้าพันธุกรรมข้าวที่ร่วมมือกับสถาบันการวิจัยครั้งนี้จะทำให้ชาวนาได้รับประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ผู้ที่นำข้าวไปปลูกโดยทำข้อสัญญากับบริษัทไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และค่าธรรมเนียมสิทธิบัตร นายการุณ กิตติสถาพร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า หากมีการผลิตข้าวดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ได้จะเกิดผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยแน่นอน นายนิพนธ์ วงศ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีไทย กล่าวว่า หากมีการผลิตข้าวจีเอ็มโอขึ้นมาจริง จะเป็นประโยชน์ต่อประชากรโลก เพราะสหประชาชาติพยากรณ์ไว้ว่าอีก 10 ปีโลกจะขาดแคลนอาหาร ส่วนผลกระทบกับการส่งออกข้าวไทยนั้น คาดว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากข้าวไทยเน้นตลาดบน และข้าวจีเอ็มโอคงจะปลูกในพื้นที่ขาดแคลนอาหารเช่น แอฟริกา บังคลาเทศ มากกว่าการผลิตออกขาย (มติชน อาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2544 หน้า 21)





ผ่าตัดเปลี่ยนเซลล์รักษาเบาหวานหาย

องค์การต่อต้านโรคเบาหวานของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ของอังกฤษ เชื่อว่าจะสามารถลงมือทดลองรักษาโรคเบาหวานแบบใหม่ ด้วยการฉีดกลุ่มเซลล์เล็กในเนื้อของตับอ่อนของผู้อื่นให้กับตับอ่อนของผู้ป่วย ในอีกไม่กี่เดือนนี้ได้ หลักจากที่การทดลองรักษาผู้ป่วยเบาหวานในแคนาดา 18 ราย ตามวิธีดังกล่าวปรากฏว่า 18 รายเท่ากันหายขาดจากโรค เพราะไม่ต้องฉีดอินซูลินอีกเลยมาได้สองปีแล้ว วิธีรักษานั้นคิดขึ้นโดยศัลยแพทย์อังกฤษ ชื่อ หมอเจมส์ ชาปิโร ทำงานอยู่มหาวิทยาลัยเบอดาในแคนาดา (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 29 มกราคม 2544 หน้า 7)





น.ศ.ม.รังสิตทำวิจัย เพิ่มกล้ามเนื้อท้อง ซิต-อัพเองเจ๋งกว่าใช้แอบโดมิไนเซอร์

น.ส.มธุรส มาศวิเชียร นักศึกษาคณะกายภาพบำบัดและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตน และ น.ส.ดุษฎี วันทา ได้ทำวิจัยเรื่อง การเปรียบผลการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ระหว่างการออกกำลังกายในท่า ซิต-อัพ กับการใช้เครื่องเล่นออกกำลังกายที่เรียกว่า แอบโดมิไนเซอร์ ผลการทดลอง ปรากฏว่า การออกกำลังกายทั้ง 2 วิธีมีผลทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง พบว่าการทำ ซิต-อัพ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงเพิ่มขึ้นถึง 62.15% ในขณะที่การออกกำลังกายโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แอบโดมิไนเซอร์ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงเพิ่มขึ้นแค่ 42.78% เท่านั้น (มติชน เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 7)





แพทย์พบสารต้านมาลาเรีย

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีสว่า 2 นายแพทย์ชาวอินเดียจากศูนย์ ยาวาฮาร์ลัล เนห์รู ที่ตั้งอยู่ในเบงกาลอร์ ได้ค้นพบสารไตรคลอซาน ซึ่งมีอยู่ในน้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ครีมรักษาสิว และยาดับกลิ่นกาย นอกจากจะมีสรรพคุณฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว ยังสามารต่อต้านเชื้อไข้มาลาเรียได้ด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 14)





เอ็มเทคผลิตพลังงานจาก ‘เซลล์เชื้อเพลิง’ ช่วยลดปัญหามลพิษ

เอ็มเทคผลิตเซลล์เชื้อเพลิง เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ของสังคมไทย คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงแบบคาร์บอเนตได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ระบุเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อมลพิษ พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าได้ในอนาคต ดร. สุมิตรา จรสเวโรจน์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวถึง การพัฒนาเชื้อเพลิงในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันเกิดวิกฤติการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และเอ็มเทคเห็นว่า พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของสังคมไทยในยามที่ขาดแคลนพลังงานในอนาคต ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวัสดุศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ เอ็มเทค มีโครงการวิจัยที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเซลล์เชื้อเพลิงแบบ คาร์บอเนต ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์เนคเทค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สพช. 5ล้านบาท โดยขณะนี้สามารถขึ้นรูปเซลล์เชื้อเพลิงได้แล้ว อยู่ระหว่างการทดลองคุณสมบัติทางไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าอีกประมาณ 2 ปีจะสามารถแล้วเสร็จ (กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 13)





ญี่ปุ่นพบ ‘วาซาบิ’ ช่วยป้องกันฟันผุ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายฮิเดกิ มาซุดะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทโอกาวะซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสอาหารญี่ปุ่น เปิดเผยว่า นอกจากวาซาบิ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสสีเขียว กลิ่นฉุนจัดที่ชาวญี่ปุ่นใช้รับประทานกับปลาดิบ จะมีสรรพคุณทำให้จมูกโล่ง และป้องกันโรคมะเร็งแล้ว วาซาบิยังอาจจะช่วยป้องกันอาการฟันผุได้ด้วย เพราะวาซาบิประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่า ไอโซทิโอ ไซยาเนตส์ สารชนิดนี้สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นต้นเหตุของอาการฟันผุได้ และยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการผลิตเอนไซม์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้หินปูนเกาะตามซอกฟัน (มติชน อาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2544 หน้า 6)





ข่าวทั่วไป


ดื่มไวน์แดงพิสูจน์กันหัวใจวายไม่ได้

สำนักข่าวไทยรายงานว่า สมาคมโรคหัวใจอเมริกันได้แพร่ข่าวว่า แพทย์ทั้งหลายไม่ควรแนะนำคนไข้ของตนเองให้ดื่มไวน์แดงเพื่อป้องกันการหัวใจวาย เพราะคุณประโยชน์ของไวน์แดงในการป้องกันโรคหัวใจนั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน แพทย์ควรจะเน้นและส่งเสริมให้คนใช้มาตรการป้องกันอื่นที่มีการพิสูจน์แล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงทางหัวใจวายได้ เช่น การรับประทานผลไม้และลดการบริโภคผลิตภัณฑ์นมเป็นต้น สมาคมโรคหัวใจอเมริกันระบุด้วยว่า สารออกซิเดนต์ดังกล่าว ไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะไวน์แดงเท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบกันแล้วพบว่า ในน้ำองุ่นซึ่งเป็นน้ำผลไม้ธรรมดาๆ ก็มีสารดังกล่าวด้วย ถ้าดื่มน้ำองุ่นก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากแอลกอฮอล์ด้วย (มติชน เสาร์ที่ 27 มกราคม 2544 หน้า 7)





เบอร์โทรศัพท์ 8 หลัก

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวถึงการเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์จาก 7 หลักทั่วประเทศเป็น 8 หลักทั่วประเทศ จะเริ่มใช้ใน ก.ค.นี้ ในพื้นที่ทั่วประเทศทุกบริการ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะทำให้มีเลขหมายให้บริการได้ทั่วถึง 80 ล้านเลขหมาย ทศท. จะนำรหัสเขตใส่หน้าเลขหมายโทรศัพท์ปัจจุบัน โดยจะตัดเลขศูนย์ออก สำหรับเลขหมายในเขตภูมิภาคนั้นจะเป็นการใส่รหัสเขตเข้าหน้าเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศ แต่จะตัดเลขศูนย์ออก (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





ขอคืน (ตลับหมึก)

บริษัทรีไซเคิลคอนเซ็ปต์ ได้นำธุรกิจซื้อตลับหมึกพิมพ์เครื่องพรินเตอร์ รู่นเอเซอร์ และอิงค์เจ็ต เพื่อขายให้กับโรงงานในต่างประเทศ นำมาใช้บรรจุผงหมึกซ้ำ ราคารับซื้อตลับละ 100 – 300 บาท ต่ำสุด 10 บาทก็มี ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขณะนี้ยังมีความต้องการอีกมาก ผู้ที่สนใจขายโทร.ติดต่อได้ที่ 673-2590 หรือ อีเมล recycle@recycleconcept.com จะมีเจ้าหน้าที่ไปรับถึงบ้าน (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 24)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215