หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ประจำวันที่ 2000-11-28

ข่าวการศึกษา

เด็ก ร.ร.กรุงเทพฯได้ใช้คอมพ์แล้ว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จุดประกายหลักสูตรใหม่ "อุษาคเนย์ศึกษา"
ยะลาเดินหน้าทดลองรูปแบบวิทยาลัยชุมชน
สอบ’เอสเอที’ ควบ ‘จีพีเอ’ ชิมลางยกเลิกเอนทรานซ์
‘รามฯ’ เปิดสอนปริญญาเอก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ประเทศไทยกับ Biological Physics: พรมแดนใหม่ของวิทยาศาสตร์
จดสิทธิบัตรผลิตเชื้อไวรัส
ไบโอเทคจัดประชุมเชิงปฏิบัติการต้นปี
อย.สั่งถอนยาแก้หวัดพีพีเอ ล้างหมด 493 ตำรับยี่ห้อดัง
โรงเผาขยะภูเก็ต...มิตรหรือศัตรูสิ่งแวดล้อม
เปิดใช้เตาเผาระบบใต้ดิน

ข่าววิจัย/พัฒนา

กรมวิทย์ร่วมเอกชนวิจัยสมุนไพรสกัดยาต้านไวรัสจากเปลือกมังคุด
ต่างชาติทึ่งหญ้าแฝกขอกลับไปใช้บ้านเกิด ไทยวางแผนศึกษาลึก
เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเก่งประดิษฐ์ เครื่องแยกเมล็ดแตงโม
เครื่องปลิดฝักถั่วลิสง
บ.เมืองผู้ดีประดิษฐ์เสื้อยุคคอมพิวเตอร์ติดแป้นคีย์บอร์ด!
มือชีวภาพอิเล็กทรอนิกส์
กระทรวงวิทย์สนองพระราชดำริ ‘ในหลวง’ ดันโครงการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นดีเซล
วิจัย ‘ไวน์ผักตบชวา ’ ช่วยขับลม – ขับพิษในร่างกาย

ข่าวทั่วไป

ภูเขายักษ์สูงทะมึนอยู่ใต้มหาสมุทร
สะพานพระราม 8 ใกล้เสร็จแล้ว
หวั่นจราจรติดหนักนาน 18 เดือน รื้อสะพานหัวช้างทำใหม่ปลาย ธ.ค.
ผู้ว่าสมัครขอที่การรถไฟ สร้างโรงขยะ 1,800 ล้าน





ข่าวการศึกษา


เด็ก ร.ร.กรุงเทพฯได้ใช้คอมพ์แล้ว

นายกิตติพล เชิดชูกิจกุล ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจและการคลังสภา กทม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 ทางคณะกรรมการได้รับการชี้แจงจาก คณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ว่าได้มีการปรับปรุงแก้ไข สรรหา ผู้ดำเนินการโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ทีโออาร์ฉบับใหม่นี้ทำให้นักเรียนในสังกัด กทม. กว่า 200,000 คน มีคอมพิวเตอร์ใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน โครงการได้เพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์มากกว่า 7,000 เครื่อง และกระจายทั่วถึง 432 ร.ร. มากกว่าที่กำหนดเดิม 4,700 เครื่อง โดยอยู่ในวงเงินงบประมาณเดิม 750 ล้านบาท อย่างไรก็ดีจะมีการจัดสรรคอมพิวเตอร์ให้มีความเหมาะสมกับแต่ละร.ร. ที่มีขนาดจำนวนนักเรียนไม่เท่ากัน (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2543)





มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จุดประกายหลักสูตรใหม่ "อุษาคเนย์ศึกษา"

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่จุดประกาย เปิดสอนวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์) ขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมและภาษา ของประเทศในภูมิภาค ตลอดจนมีความรู้ภาษาอังกฤษอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก และยังต้องเลือกเรียนภาษาราชการภาษาใด ภาษาหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นวิชาบังคับ ซึ่งจะมีอาจารย์จากต่างประเทศที่มีความชำนาญเฉพาะด้านแต่ละภาษามาทำการสอน สำหรับหลักสูตรการศึกษาภาคภาษาไทย 4 ปี แบ่งเป็นปีละ 2 ภาคการศึกษา และมีภาคฤดูร้อน เพื่อเรียนภาษาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือวิชาบางวิชาที่มหาวิทยาลัยจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ และโอนหน่วยกิตมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ผู้เลือกเรียนวิชานี้ไม่ต้องสอบข้อเขียนของมหาวิทยาลัยเหมือนคณะอื่นๆ แต่จะคัดเลือกจากผลคะแนนสอบข้อเขียนของทบวงมหาวิทยาลัย 3 วิชาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา และสอบสัมภาษณ์ โดยคณะกรรมการสอบของโครงการ คุณสมบัติของผู้สมัคร 1. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้น ม.6 หรือเทียบเท่าทั้งในและต่างประเทศ 2. คุณสมบัติอื่นๆ ตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับสมัคร 100 คน 60 คนเป็นนักเรียนทั่วไป 30 คนเป็นโควต้าของนักเรียนต่างจังหวัด 10 คนเป็นนักเรียนจากต่างชาติ ผู้สนใจติดต่อซื้อใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึง 10 พฤษภาคม 2544 ราคาชุดละ 200 บาท หากสั่งทางไปรษณีย์ เริ่ม 15 มีนาคม ถึง 25 เมษายน 2544 ชุดละ 220 บาท ยื่นสมัครด้วยตนเอง วันที่ 25 เมษายน - 10 พฤษภาคม 2544 ทางไปรษณีย์ วันที่ 5 เมษายน - 30 เมษายน 2544 (สยามรัฐ จันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2543)





ยะลาเดินหน้าทดลองรูปแบบวิทยาลัยชุมชน

นายวิรัตน์ มะลิสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด (ศนจ.) ยะลา กล่าวว่า การศึกษาตามรูปแบบของวิทยาลัยชุมชนนั้น ต้องวัดการศึกษาให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับการศึกษา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จะต้องเน้นการบูรณาการ การเรียนรู้เข้ากับการดำรงชีวิต เพื่อให้การศึกษาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ศจน. ยะลา ได้จัดโครงการนำร่องตามรูปแบบวิทยาลัยชุมชนไว้ 10 โครงการ คาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2544 จะทำให้เห็นรูปแบบวิทยาลัยชุมชนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (เดลินิวส์ พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





สอบ’เอสเอที’ ควบ ‘จีพีเอ’ ชิมลางยกเลิกเอนทรานซ์

นายประพัฒน์พงษ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการได้พัฒนาข้อสอบวัดความถนัดทางการเรียนของนักเรียนระดับมัธยมปลาย หรือ เอสเอที (SAT : SCORLASTIC ATTITUDE TEST) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจะนำไปใช้วัดความรู้นักเรียนชั้น ม.6 เพื่อนำผลการทดสอบไปวิเคราะห์หาความแม่นยำ เพื่อเทียบเคียงกับผลการเรียนเฉลี่ย หรือ จีพีเอ คาดว่าจะทำการทดสอบ ในวันที่ 17 มกราคม 2544 นี้ สำหรับข้อสอบ เอสเอที ทางกรมวิชาการได้จัดไว้ 1,000 ข้อ โดยเลือกมาใช้ทดสอบนักเรียนเพียง 100 ข้อเท่านั้น แบ่งการทดสอบเป็น 3 ประเภทคือ การวัดความถนัด ความสามารถทางภาษา การวัดความสามารถในการคำนวณ และการวัดความสามารถ ความถนัดและคิดวิเคราะห์ ใช้เวลาทดสอบ 3 ชั่วโมง ข้อสอบ เอสเอที เป็นการวัดผลความรู้ความเข้าใจที่สะสมในตัวผู้เรียนมาตลอดหลักสูตร 3 ปี ซึ่งในต่างประเทศได้ใช้ข้อสอบนี้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมานานแล้วร่วมกับการพิจารณาค่าจีพีเอ การทดสอบนำระบบ เอสเอที มาใช้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหลังการทดสอบครั้งแรก เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาต่อไป (ไทยโพสต์ อังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2543)





‘รามฯ’ เปิดสอนปริญญาเอก

ศ. รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจะครบรอบวันสถาปนา 27 ปีในวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งโครงการเปิดสอนระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ ขึ้นเป็นสาขาแรก โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาเป็นผู้จัดทำร่างหลักสูตรขึ้น ค่าหน่วยกิจจะเท่ากับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ นอกจากนี้ยังเปิดโครงการสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต โครงการเปิดหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโท และปริญญาตรีใหม่อีก 3 หลักสูตร โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะบริการคนไทยที่เกิดและเติบโตในต่างประเทศ ได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาไทย หรือชาวต่างประเทศที่สนใจภาษาไทยก็สามารถเรียนผ่านทางอินเตอร์-เน็ตได้เช่นกัน (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2543)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ประเทศไทยกับ Biological Physics: พรมแดนใหม่ของวิทยาศาสตร์

ศ. ดร. วิรุฬ สายคณิต เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และนักฟิสิกส์แนวหน้าของประเทศกล่าวว่า "งานวิจัยในปัจจุบันมีลักษณะที่เจาะลึกมากขึ้น...ลดขนาดมากขึ้น...เปลี่ยนแปลงมากขึ้น จนไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร จำเป็นต้องใช้ศาสตร์มากกว่า 1 แขนงมาร่วมกันศึกษาและแก้ปัญหา เช่น Biological Physics ก็เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ได้รับความสนใจ เป็นการนำความรู้ทางฟิสิกส์ไปอธิบายปรากฏการณ์ทางชีววิทยา ทิศทางของงานวิจัยใหม่ๆ ในประเทศไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางของ Biological Physics มากขึ้น ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ "The First Workshop on Biological Physics 2000" หรือ BP2k เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากการประชุมนี้ คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยจัดตั้ง Biological Physics Center เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานวิจัยในสหสาขาวิชา ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และเภสัช จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)





จดสิทธิบัตรผลิตเชื้อไวรัส

ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ประกาศจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรื่อง "กรรมวิธีการผลิตเชื้อไวรัส และการผสมสูตรเชื้อไวรัส ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช" เนื่องจากที่แล้วมาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ก่อปัญหาตามมาหลายอย่าง การนำเชื้อไวรัสมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นวิธีที่จะช่วยให้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชมีความปลอดภัย มากกว่ามาใช้ทดแทนสารเคมีที่มีอันตรายต่อระบบโดยรวม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)





ไบโอเทคจัดประชุมเชิงปฏิบัติการต้นปี

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางพันธุวิศวกร Bioinformatics as a Tool for Gene Manipulation ระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม 2544 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความสามารถการเรียนการสอน และพัฒนาเทคนิคพื้นฐานทางด้านพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแก่ผู้เข้าร่วมประชุม โดยในวันที่ 8-9 มกราคม 2544 เป็นการบรรยายและการปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ณ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ อาคารมหานครยิปซั่ม ชั้น 21 และวันที่ 10-12 มกราคม 2544 เป็นภาคปฏิบัติการทดลอง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน สนใจติดต่อคุณอัญชลี วัชระเรืองชัย หน่วยเผยแพร่เทคโนโลยีและประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพต่างชาติ อาคารมหานครยิปซั่ม ชั้น 15 โทร. 6422-2-5322-311 ต่อ 116 โทรสาร. 248-8303-5 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)





อย.สั่งถอนยาแก้หวัดพีพีเอ ล้างหมด 493 ตำรับยี่ห้อดัง

นพ. วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการ อย. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยอันตรายจากการใช้ยาเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทุกคนมีมติพ้องกันเป็นเอกฉันท์ ให้เพิกถอนตำรับยาสูตรผสมที่มียาเฟนิลโปรพาโนลามีน (พีพีเอ) ออกทั้งหมด 493 ตำรับจากท้องตลาด เพราะมีข้อมูลทางวิชาการยืนยันความไม่ปลอดภัย มีความเสี่ยงเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยกลับคืนเหมือนเดิม และไม่ใช่ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งต้องเสนอมติส่งให้คณะกรรมการยาเปิดประชุม เพราะอำนาจเพิกถอนยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับเป็นอำนาจของ รมว.สาธารณสุข รายชื่อยา พีพีเอ ในสูตรยาบรรเทาหวัด ไอ คัดจมูก ทั้งหมดที่ไม่ปลอดภัย สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือสอบถามโดยตรงที่กองควบคุมยา โทร.590-7354, 590-7162 ส่วนยาที่เหลือในตลาดนั้นบริษัทสามารถขายได้จนกว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ และอาจใช้เวลา 6 เดือน เพื่อให้บริษัทยาเปลี่ยนแปลงสูตรยา และขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ ยาบรรจุเสร็จที่ขายในท้องตลาดซึ่งโดนผลกระทบนี้ได้แก่ ยาทิฟฟี่ ดีคอลเจน นูต้า นูต้าโคล ทิพทอพ ฟาโคเจน โคลัยซาล เป็นต้น (ไทยโพสต์ พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 )





โรงเผาขยะภูเก็ต...มิตรหรือศัตรูสิ่งแวดล้อม

ร.ท. ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก นายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต กล่าวว่า ได้รับมอบโรงเผาขยะมูลฝอยจากกรมโยธาธิการเพื่อมาดำเนินการเอง ก่อนหน้านั้นมีกระแสการต่อต้านมาก จะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงประโยชน์และข้อดี โรงเผาขยะแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วโลก เผาขยะได้ต่อเนื่อง 24 ชม. พลังงานความร้อนที่ได้จากการเผานำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสูด 2.5 เมกะวัตต์ มีระบบป้องกันการเกิดสารมลพิษ ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2543 หน้า 24)





เปิดใช้เตาเผาระบบใต้ดิน

บริษัทไทยฮอนด้า แมนูแฟคเตอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ ได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงาน คือเตาเผาขยะและกากอุตสาหกรรมชนิดใต้ดิน เป็นเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีประสิทธิภาพในการเผาสูง 1,400 องศาเซลเซียส เถ้าที่เหลือจากการเผาเพียง 2% จากขยะหรือกากอุตสาหกรรม ไอความร้อนที่เกิดจากการเผาสามารถนำกลับมาใช้ได้ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2543 หน้า 24)





ข่าววิจัย/พัฒนา


กรมวิทย์ร่วมเอกชนวิจัยสมุนไพรสกัดยาต้านไวรัสจากเปลือกมังคุด

เมื่อเร็วๆ นี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทเอเซียน นูทราซูติคอล เซ็นเตอร์(เอเอ็นซี) เพื่อร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสมุนไพรเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ โครงการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการร่วมกับเอเอ็นซี คือ การศึกษาประสิทธิภาพการต้านเชื้อไวรัสของสารธรรมชาติ จีเอ็ม-วัน ซึ่งเป็นสารที่เอเอ็นซีสกัดได้จากเปลือกมังคุด จีเอ็ม-วัน มีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ 1.ต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดการอักเสบและการเกิดหนอง 2. ต้านการอักเสบ ซึ่งได้ผลกว่าแอสไพรินถึง 3 เท่า 3. เป็นสารแอนตี้ออกซิเดนท์ หรือสารต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ดีกว่าวิตามินอี และ 4.มีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยกระชับรูขุมขน คุณสมบัติดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและมีการเผยแพร่ในวารสารต่างประเทศด้วย จึงได้มีการผลิตเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว และรักษาสิวอย่างมีประสิทธิภาพ ( มติชน จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 )





ต่างชาติทึ่งหญ้าแฝกขอกลับไปใช้บ้านเกิด ไทยวางแผนศึกษาลึก

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เปิดเผยภายหลังการจัดอบรมหญ้าแฝกนานาชาติ เรื่องการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้เรื่องหญ้าแฝกสู่นานาประเทศครั้งนี้มีประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ให้ความสนใจส่งตัวแทนหน่วยงานภาครัฐจาก 13 ประเทศเข้าร่วมรวม 30 คน โดยมีเป้าหมายนำความรู้ที่ได้กลับไปรับใช้กับประเทศของตนเอง ซึ่ง ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาหญ้าแฝกในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาหญ้าแฝกมานานกว่า 9 ปี จากโครงการพัฒนาหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนเป็นที่ยอมรับว่ามีความก้าวหน้า พร้อมทั้งมีโครงการพัฒนาด้านนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยตุงฯ จึงมีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติจริง ในการนำหญ้าแฝกมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงงานหัตถกรรม จากหญ้าแฝก พร้อมกันนี้ กปร. ยังได้เผยแพร่เรื่องหญ้าแฝกผ่านเว็บไซต์ www.rdpd.go.th ของสำนักงานเพื่อให้ทั่วโลกได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นด้วย ( ไทยรัฐ ศุกร์ที่24 พฤศจิกายน 2543 )





เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเก่งประดิษฐ์ เครื่องแยกเมล็ดแตงโม

นายกนก สำลีราช นายคัมภีร์ วาสักศิริ และนายจักรายุธ กอเซ็ม ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ร่วมกันออกแบบและสร้างเครื่องแยกเมล็ดแตงโมโดยมีอาจารย์สมควร วัฒนกิจไพบูลย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน การออกแบบและสร้างเครื่องแยกเมล็ดแตงโม อาศัยการทำงานโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟส 1แรงม้า เครื่องสามารถทำการแยกเมล็ด โดยความเร็วรอบของการตี 285/นาที และใช้ความเร็วในการร่อนตะแกรงคัดแยก 200 ครั้ง/นาที จะได้เมล็ดแตงโมที่สมบูรณ์ประมาณ 90 % สัดส่วนการสูญเสียเพียง 10 % ของเมล็ดแตงโมทั้งหมด การทำงานของเครื่องสามารถป้อนลูกแตงโมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 ซม. ได้ประมาณครั้งละ 12 ลูก/นาที ใช้งบประมาณ 10,000 บาท ซึ่งเครื่องแยกเมล็ดแตงโมงนี้จะเหมาะสำหรับแตงโมที่ต้องการเมล็ดเท่านั้น (แตงโมชนิดทานเมล็ด) ( สยามรัฐ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 )





เครื่องปลิดฝักถั่วลิสง

นายกิตติชัย ฟักพันธ์ นายจิรวัฒน์ หอมจันทร์ และนายธีระ วัชรานุวิทย์ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) โดยมีนายวัชรภัย ภุมรินทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ร่วมกันผลิต เครื่องปลิดฝักถั่วลิสงสามารถปลิดถั่วลิสงได้อย่างรวดเร็ว 33 กิโลกรัม/ชั่วโมง ได้ผลผลิตฝักถั่วดี 93.28 % ฝักถั่วแตก 0.17 % และฝักถั่วลิสงติดหนวด6.55 % และสามารถคัดแยกถั่วลิสงได้ 2 ขนาด คือ ฝักถั่วลิสงที่ 1-2 เมล็ด และ 3-4 เมล็ด มีประสิทธิภาพในการคัดขนาดฝักถั่วลิสงถึง 75.63 % เครื่องปลิดฝักถั่วลิสงนี้จะมีต้นกำลังมอเตอร์ AC 220 V. ขนาด 600 x 1,450 mm. ปลิดถั่วลิสงได้ทุกพันธุ์ และปรับความแรงลมที่ใช้ในการทำความสะอาดฝักถั่วลิสงได้ ใช้งบประมาณ 12,000 บาท ขั้นตอนการทำงานแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ การปลิดถั่วลิสงออกจากต้น การผัดสีทำความสะอาด และการคัดขนาดฝักถั่วลิสง ( สยามรัฐ พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 )





บ.เมืองผู้ดีประดิษฐ์เสื้อยุคคอมพิวเตอร์ติดแป้นคีย์บอร์ด!

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทอิเล็กเทกซ์ในบักกิ้งแฮมเชียร์ของประเทศอังกฤษ ได้พัฒนาเทคนิคในการถักทอสายไฟให้เป็นเสื้อผ้า ซึ่งนอกจากจะใช้สวมใส่ได้แล้วยังทำหน้าที่เหมือนแป้นคีย์บอร์ดเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นได้อีกด้วย ( มติชน อังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2543 )





มือชีวภาพอิเล็กทรอนิกส์

วิศวกรและแพทย์ชาวอังกฤษสร้างมืออิเล็กทรอนิกส์มือแรกของโลกสำเร็จ เป็นมือเทียมที่มีขนาดเล็กพอที่จะให้เด็กใช้งานได้ ขณะนี้โรงพยาบาลเมืองนอตติงแฮมกำลังทดลองใช้กับคนไข้เด็กเล็กที่มีมือเพียงส่วนเดียว มือเทียมนี้ได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างและการทำงานได้อย่างมือคน โดยอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงเรียกว่า มือไบรโอนิกส์ หรือ bionic hand ซึ่งใช้เวลาพัฒนานานถึง 20 ปีในที่สุดก็สามารถทำให้มอเตอร์และแบตเตอรี่มีขนาดเล็กพอที่จะบรรจุอยู่ภายในมือได้ เด็กเล็กๆ สามารถใช้งานและทำความคุ้นเคยกับมันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ช่วยให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ มือเทียมนี้ทำงานด้วยสัญญาณสั่งการจากสมอง ผู้ใช้จะส่งสัญญาณไปขยับกล้ามเนื้อภายในท่อนแขนระหว่างศอกกับข้อมือ เมื่อขั้วไฟฟ้าตรวจจับสัญญาณได้ก็จะผ่านคำสั่งไปยังมอเตอร์ ทีมนักวิจัยกำลังสร้างมือเทียมที่มีขนาดใหญ่กว่านี้สำหรับผู้ใหญ่ ( ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 )





กระทรวงวิทย์สนองพระราชดำริ ‘ในหลวง’ ดันโครงการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นดีเซล

นายอาทิตย์อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระกระแสรับสั่งผ่านนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ว่าอยากเห็นโครงการแปรรูปน้ำมันปาล์มผลิตเป็นน้ำมันดีเซลในประเทศไทย ซึ่งในประเทศมาเลเซียสามารถทำได้สำเร็จแล้ว ส่วนภาคใต้ของไทยก็มีโรงงานปาล์มจำนวนมาก ขณะเดียวกันในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก็ได้คิดโครงการนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลาย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้สนองพระราชดำริในการผลักดันโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาขึ้นมา โดยถือเป็นโครงการพระราชดำริเร่งด่วนที่จะนำเสนอให้รัฐบาล แม้ว่าจะมีการยุบสภาก็ตาม ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง มีกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นแกนนำในการวิจัยพัฒนาทุกๆ ด้าน พร้อมกับจะขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลสาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อให้ช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีอีกทางหนึ่ง คาดว่าน่าจะนำวาระนี้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนธันวาคมนี้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อใหม่ ( มติชน อาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2543)





วิจัย ‘ไวน์ผักตบชวา ’ ช่วยขับลม – ขับพิษในร่างกาย

นายผจญ อยู่ยืน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอาหาร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพิษณุโลกกล่าวว่า จากการที่ได้สังเกตเห็นชาวบ้านนำเอายอดผักตบชวามากินเป็นอาหาร แล้วคิดว่าผักตบชวาน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการนำมาสานเป็นกระเป๋า เมื่อได้ศึกษาคุณสมบัติของพืชชนิดนี้เพิ่มเติมจึงพบว่า สามารถขับลมและขับพิษบางอย่างในร่างกายได้ จึงได้เขียนโครงการขอทุนวิจัยที่จะทำวิจัยเรื่อง ไวน์ผักตบชวาขึ้นมา โดยการวิจัยแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ไวน์ผักตบชวาสด และไวน์ผักตบชวาอบแห้ง เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง โดยไวน์ที่ได้จากผักตบชวาสดจะนุ่มกว่าผักตบชวาอบแห้ง ( มติชน อังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2543)





ข่าวทั่วไป


ภูเขายักษ์สูงทะมึนอยู่ใต้มหาสมุทร

ทิวเขาใหญ่ที่สุดในโลก ขึ้นอยู่บนสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ทอดจากทางใต้ของไอซ์แลนคดเคี้ยวเป็นทางยาวถึง 9,600 กม. ภูเขาใต้น้ำลูกดังกล่าว มีชื่อว่า "แอตแลนติส แมสซิฟ" อยู่ลึกลงไปไม่ต่ำกว่า 12,000 ฟุต สูงเด่นกว่ายอดภูเขาใต้น้ำแถบเดียวกันเกือบสองเท่า คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องถ่ายภาพส่งคลื่นใต้น้ำเพื่อศึกษาหาข้อมูล พร้อมกับผลัดกันลงเรือดำน้ำต่อด้วยไทเทเนียมดำลงไปถ่ายภาพ และงมเก็บตัวอย่างหินขึ้นมาศึกษา เรือดำน้ำสำรวจ "อัลวิน" สามารถดำลึกได้ถึง 14,764 ฟุต และกบดานอยู่ใต้น้ำนานถึง 8 ชั่วโมง ( ไทยรัฐ พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 )





สะพานพระราม 8 ใกล้เสร็จแล้ว

สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมการ เสาเดี่ยว 3 ระนาบที่ยาวที่สุดในโลก ความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานพระราม 8 พร้อมทางยกระดับด้านฝั่งธน และพระนครได้เนื้องานแล้ว 43 % คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2544 ได้ขอให้กทม. เร่งรัดผู้รับเหมาเพื่อให้เปิดใช้ได้กลางเดือนพฤษภาคม 2544 ให้ทันกับการเปิดภาคเรียน ( เดลินิวส์ พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 )





หวั่นจราจรติดหนักนาน 18 เดือน รื้อสะพานหัวช้างทำใหม่ปลาย ธ.ค.

นายสนั่น โตทอง ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า กทม. จะเตรียมรื้อและสร้างใหม่สะพานหัวช้าง โดยขยายจาก 5 เป็น 8 ช่อง เริ่มก่อสร้างปลาย ธ.ค. นี้ ใช้เวลา 18 เดือน โดย หจก.วิรัตน์ก่อสร้างเป็นผู้รับเหมา ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อเตรียมทำสัญญาในวงเงิน 50.2 ล้านบาท คาดว่าสร้างปัญหาจราจรในระหว่างก่อสร้างอย่างมาก ( เดลินิวส์ จันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2543 )





ผู้ว่าสมัครขอที่การรถไฟ สร้างโรงขยะ 1,800 ล้าน

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่า กทม. ได้หารือกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอที่ของการรถไฟฯ 50 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงกำจัดขยะแบบบ่มแก๊ส และปุ๋ยหมัก และยังติดต่อหาที่บริเวณใกล้เคียงเพิ่มอีก ส่วนการดำเนินการก่อสร้างจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน และให้สิทธิ์หารายได้เป็นเวลา 10 ปีหลังจากนั้นทุกอย่างจะตกเป็นของ กทม. ( เดลินิวส์ พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2543 )






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215