หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 2001-02-13

ข่าวการศึกษา

โครงการเงินกู้กรุงไทยฯ ของ สช.ยังเดินหน้าต่อ
ผลวิจัยยูเนสโกเจอด้านลบกวดวิชา
สปศ.เห็นด้วยรวมวพ.กับรภ.
ยกเลิกแจกอาหารกลางวันเด็ก งบมีจำกัดกทม.แบกภาระไม่ไหว
กทม.เปิดร.ร.อาชีวะคาดเรียนได้เม.ย.นี้

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

49 โครงงานเด่นผ่านรอบแรก YSC.CS 2001
ธารน้ำแข็งที่หายไป
เปิดจ่ายภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตพฤษภา

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องผลิตโอโซนล้างผัก
เครื่องตรวจยางแผ่นรมควัน
รถประหยัดเวอร์ชั่น "ตู๋"
พบเฟิร์นมหัศจรรย์ดูดสารหนูจุดประกายกู้มลภาวะ "ดิน-น้ำ"
ยุ่นปิ๊งติดไมโครชิพนิ้วก้อยคนป่วย กันแพทย์-พยาบาลมั่วรักษาผิดตัว
ตื่นเตรียมรบกับไวรัสเอดส์พันธุ์ใหม่
Greenpeace: Golden rice over-hyped

ข่าวทั่วไป

บีทีเอสมุ่งเชื่อมรถไฟแม่กลอง บริษัทเจ้าหนี้ปิ๊งสายตะวันตกมากกว่า
แคนาดา-มะกันหวาดผวาวัวบ้า ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์วัวบราซิล
บังคับวัดสร้างเตาเผาศพปลอดมลพิษ
ห่วงสมดุลเพศหญิง-ชาย "วัยทอง"
เพลงไทยในไมโครฟิล์ม ภูมิปัญญาไทยทางดนตรีที่สูญหาย
อภ.ผลิตสมุนไพรแก้ ‘ชายวัยทอง’ โอ่คุณภาพเจ๋งกว่าของนอก
‘ห้องสมุดอัตโนมัติ’ โปรแกรมอัจฉริยะจากสมองคนไทย
จากน้ำสู่ “สมองคน” ‘อะมีบา’ เชื้อมรณะ!





ข่าวการศึกษา


โครงการเงินกู้กรุงไทยฯ ของ สช.ยังเดินหน้าต่อ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการสินเชื่อโรงเรียนเอกชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินให้กู้ภายในวงเงิน 120 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.เงินกู้เพื่อพัฒนาโรงเรียน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี (อัตรา ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544) จ่ายดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 8 ปี รวมเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ผ่อนชำระเงินต้นปีละ 2 ครั้ง 2.เงินกู้เพื่อเคหะสงเคราะห์ สำหรับครูใหญ่และครู วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 10-12 ปี 3.เงินกู้เพื่อสวัสดิการทั่วไป สำหรับครูใหญ่และครู วงเงินกู้รายละ 6 เท่าของเงินเดือนแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลา 3 ปี มีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ 5 โทร.(02) 208-3411 (มติชน พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 10) กทม.เปิดร.ร.อาชีวะคาดเรียนได้เม.ย.นี้ นางธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่ากทม. เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ร่างหลักสูตรเพื่อเตรียมก่อตั้ง วิทยาลัยอาชีวะ สังกัด กทม. โดยแยกเป็นหลักสูตรในเวลาเรียน คือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพของกรมอาชีวศึกษา และหลักสูตรนอกเวลาเรียน คือ หลักสูตรกรมการศึกษานอกโรงเรียน ประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาวิชา ช่างยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และคหกรรมด้านการตัดเย็บ เปิดโอกาสให้ผู้จบมัธยมต้นเข้าเรียนหลักสูตรในเวลาเรียน และให้ผู้ที่ทำงานแล้วเรียนหลักสูตรนอกเวลาเรียน ซึ่งจะใช้เวลาเรียนในช่วงเย็นและวันหยุด (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 34)





ผลวิจัยยูเนสโกเจอด้านลบกวดวิชา

ดร. มาร์ค เบรย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการศึกษาเปรียบเทียบ สถาบันนานาชาติด้านการวางแผนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดเผยจากการที่ตนได้ทำวิจัยเรื่อง "ระบบการศึกษาเงา : การกวดวิชา และข้อคิดสำหรับนักวางแผน" พบว่าการกวดวิชามีแพร่หลาย ในแถบเอเซีย แอฟริกา ยุโรปตะวันออก และอเมริกากลาง จะมีในระดับมัธยมมากกว่าระดับประถม ส่วนภูมิภาคที่ไม่ให้ความสำคัญคือ ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ วิชาที่ได้รับความสนใจการกวดวิชามากที่สุดคือ ภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาก็มหาศาล ครูที่สอนกวดวิชาส่วนใหญ่เป็นครูในระบบโรงเรียนอ้างว่าไม่สามารถสอนตามหลักสูตรให้ครบชั่วโมงเรียน และต้องการหารายได้เสริม นักเรียนที่เรียนพิเศษส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เรียนดี เพียงแต่ต้องการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขัน การกวดวิชายังมีผลต่อการเรียนในห้องเรียนปกติ คือนักเรียนขาดความสนใจและความเชื่อมั่นที่นักเรียนมีต่อครู ทำให้คุณภาพการสอนตกต่ำ และทำให้ความผูกพันในครอบครัวลดน้อยลงด้วย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 12)





สปศ.เห็นด้วยรวมวพ.กับรภ.

รศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า ได้มีการหารือกับ ดร. พนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการรวมวิทยาลัยพลศึกษาเข้ากับสถาบันราชภัฏ โดยวิทยาลัยพลศึกษาปรับเป็นคณะพลศึกษาของสถาบันราชภัฏ ขณะนี้สถาบันราชภัฏกำลังยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. สถาบันราชภัฏ เพื่อให้เข้ากับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 12)





ยกเลิกแจกอาหารกลางวันเด็ก งบมีจำกัดกทม.แบกภาระไม่ไหว

นายชัยสิทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม. เตรียมเลิกแจกฟรีอาหารกลางวัน ชุดนักเรียน อุปกรณ์ การเรียนให้นักเรียนสังกัดกทม. 3 แสนกว่าคน ยอมรับแบกภาระปีละพันล้านบาทไม่ไหว จะช่วยเฉพาะเด็กที่จนจริงๆ เท่านั้น ส่วนนมยังให้เหมือนเดิม คาดว่าจะยกเลิกแจกอาหารกลางวันปี 2545 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 34)





กทม.เปิดร.ร.อาชีวะคาดเรียนได้เม.ย.นี้

นางธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่ากทม. เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ร่างหลักสูตรเพื่อเตรียมก่อตั้ง วิทยาลัยอาชีวะ สังกัด กทม. โดยแยกเป็นหลักสูตรในเวลาเรียน คือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพของกรมอาชีวศึกษา และหลักสูตรนอกเวลาเรียน คือ หลักสูตรกรมการศึกษานอกโรงเรียน ประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาวิชา ช่างยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และคหกรรมด้านการตัดเย็บ เปิดโอกาสให้ผู้จบมัธยมต้นเข้าเรียนหลักสูตรในเวลาเรียน และให้ผู้ที่ทำงานแล้วเรียนหลักสูตรนอกเวลาเรียน ซึ่งจะใช้เวลาเรียนในช่วงเย็นและวันหยุด (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 34)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


49 โครงงานเด่นผ่านรอบแรก YSC.CS 2001

ดร. กว้าน สีตะธานี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์สาขา วิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือ YSC.CS 2001 ว่า มีโครงงานที่ผ่านเข้ารอบแรกจำนวน 49 โครงงาน เจ้าของโครงงานจะได้รับทุนสนับสนุนจากเนคเทค เพื่อนำไปพัฒนาผลงาน ก่อนเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 1-4 มีนาคม นี้ เพื่อคัดเลือกไปแข่งขันในงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล หรืออินเทลไอเซฟ ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2544 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





ธารน้ำแข็งที่หายไป

นักวิทยาศาสตร์จาก University College London ค้นพบว่า ธารน้ำแข็ง ชื่อ Pine Island ในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้หดสั้นลงเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร และบางลงกว่า 10 เมตร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในบริเวณแถบชายฝั่งของผืนทวีป เช่น โลกร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ถ้าผืนน้ำแข็งยังคงบางลงๆ ธารน้ำแข็ง Pine Island ก็คงจะหายสาปสูญไปจากทวีปแอนตาร์กติกา ภายในสองสามร้อยปีข้างหน้า (เดลินิวส์ พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า16)





เปิดจ่ายภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตพฤษภา

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะเปิดให้บริการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 สำหรับผู้ประกอบการทางอินเตอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางด้านเทคนิค และประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เป็นตัวกลางหักบัญชีลูกค้าเข้าสู่บัญชีกรมสรรพากร กรมสรรพากรจะส่งใบเสร็จรับเงินให้ทีหลัง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องผลิตโอโซนล้างผัก

รศ. ดร. พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องผลิตก๊าซโอโซนเพื่อใช้ในการล้างผักที่ปนเปื้อนสารพิษ ผลการวิจัยสรุปว่า ต้นแบบของเครื่องผลิตก๊าซโอโซนจะต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 20 กรัมต่อชั่วโมง ล้างผักได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 2 ลูกบาศก์เมตร ใช้เวลาล้างไม่เกิน 15 นาที เครื่องนี้ตกราคา 170,000 บาท สามารถล้างผักจากแหล่งที่ปลูกหรือจะใช้ล้างผักในตลาดสดก็ได้ ส่วนเครื่องผลิตก๊าซโอโซนที่เหมาะสมจะใช้กับครัวเรือนเป็นเครื่องที่มีกำลังการผลิต 250 มิลลิกรัมต่อชั่วโมง สนนราคา 5,000 บาท การดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ เพื่อใช้ในการสร้างเครื่องผลิตก๊าซโอโซน ต่อจากนั้นก็ทำการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง ตลอดจนการทดสอบการล้างผักด้วยก๊าซโอโซนในระดับห้องปฏิบัติการ ส่วนนี้ดำเนินการที่มจธ. ส่วนการวิจัยที่ 2 นำเครื่องต้นแบบการผลิตก๊าซโอโซนไปใช้งานจริงที่ตลาดสดในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ มอบให้สถาบันอาหารวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษชนิดต่างๆ โดยมีเป้าหมายวิเคราะห์ตัวอย่างมากว่า 100 ตัวอย่าง ที่เป็นสารพิษตกค้าง ทั้งก่อนและหลังจากที่มีการล้างผักด้วยน้ำที่ผ่านก๊าซโอโซนแล้ว ในเบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจเครื่องผลิตก๊าซโอโซนสามารถกำจัดสารพิษได้จริง ใช้ระยะเวลาดำเนินการรวม 3 เดือน (สยามรัฐ พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





เครื่องตรวจยางแผ่นรมควัน

นายสิงหา ลีระพันธ์ นักศึกษาปริญญาโท นักวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ออกแบบเครื่องเจาะและตรวจสอบสิ่งปลอมปนจากยางแผ่นรมควัน โดยผลิตเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความบริสุทธิ์ของยางต่อน้ำหนัก โดยใช้การวิเคราะห์รูปถ่ายจากกล้องเพื่อนำไปประมวลหาพิกัดของสิ่งปลอมปน หลังจากนั้นจะสั่งให้ทำการเจาะออกโดยใช้ระบบอัตโนมัติ ดร. กรธรรม สถิรกุล นักวิจัยหลักของฟีโบ้ เป็นผู้แนะนำให้ทำโครงการนี้ เพื่อนำเสนอขอทุนกับทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปกว่า 80 % และคาดว่าจะสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคมนี้ ใช้เวลาเขียนแบบประมาณ 3 เดือน และลงมือทำกว่า 7 เดือน ใช้งบประมาณกว่า 1 ล้านบาท (สยามรัฐ จันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





รถประหยัดเวอร์ชั่น "ตู๋"

นายวรวุฒิ ก่อวงศ์พาณิชย์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ได้คิดประดิษฐ์รถประหยัดพลังงานขึ้น โดยการออกแบบโครงสร้างเขียนแบบด้วยมือแล้วลงเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รถประหยัดพลังงานนี้เป็นคานเดี่ยวรูปตัวทีใช้เหล็กสเตนเลส ตัวถังเป็นอะลูมิเนียมแผ่นทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา มีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานน้ำมันได้ แต่ทั้งนี้ต้องสามารถรับภาระน้ำหนักในสภาวะการขับขี่ได้ด้วย จากการทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้น้ำมัน 1 ลิตร เป็นค่าที่ยังไม่ได้ปรับแต่งเครื่องยนต์ ถ้าพัฒนาเสร็จคงประหยัดพลังงานน้ำมันได้มากกว่านี้ (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 12)





พบเฟิร์นมหัศจรรย์ดูดสารหนูจุดประกายกู้มลภาวะ "ดิน-น้ำ"

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในวารสารเนเจอร์เล่มล่าสุดได้รายงานว่า นักเคมีที่เชี่ยวชาญคุณภาพดินของมหาวิทยาลัย ฟลอริดา เกนสวิลล์ ศึกษาพบว่า ต้นเฟิร์นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า พีทิริส วิตทาทา (Pteris Vittata) ซึ่งพบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐและที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และขึ้นเองตามธรรมชาติมีคุณสมบัติพิเศษในการดูดกลืนสารหนูซึ่งเป็นสารพิษ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียง จุดประกายความหวังว่า มนุษย์อาจจะใช้ธรรมชาติพิฆาตมลภาวะทำความสะอาดดินและน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐระบุว่า เฟิร์น ชนิดนี้เป็นพืชชนิดแรกที่ศึกษาค้นพบว่า ดูดกลืนสารหนูได้ในปริมาณมากและรวดเร็วกว่าพืชหลายชนิด โดยจะเก็บสารหนูไว้ที่ใบของมัน ต่างจากพืชอื่นๆ ที่จะใช้รากดูดสารพิษ ข้อดีของมันก็คือจัดการกำจัดสารพิษได้ง่าย (มติชน พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





ยุ่นปิ๊งติดไมโครชิพนิ้วก้อยคนป่วย กันแพทย์-พยาบาลมั่วรักษาผิดตัว

เอเอฟพี แจ้งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า แพทย์ญี่ปุ่นหวังติดไมโครชิพบันทึกประวัติคนไข้ไว้ที่นิ้วก้อย ช่วยกันแพทย์พยาบาลให้การรักษาผิดพลาด ทีมนักวิจัยประจำโรงพยาบาลโอโบริ มหาวิทยาลัยโตโฮ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาไมโครชิพบันทึกประวัติคนไข้ทั้ง ชื่อสกุล กรุ๊ปเลือด การแพ้ยา อาการป่วย วิธีรักษาและกำหนดวันผ่าตัดเอาไว้ โดยจะติดไว้ที่นิ้วก้อยของคนไข้ทุกราย ทั้งนี้เพื่อป้องกันแพทย์และพยาบาลให้การรักษาคนไข้ผิดตัวผิดวิธี (มติชน อังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





ตื่นเตรียมรบกับไวรัสเอดส์พันธุ์ใหม่

หัวหน้าทีมวิจัยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลในเกาหลีใต้ พบเชื้อไวรัสเอดส์สายพันธุ์ใหม่ ในเลือดของหญิงวัย 33 ปี ที่เสียชีวิตลงด้วยโรคเอดส์ เมื่อ พ.ศ.2540 และไล่ๆ กัน แพทย์สหรัฐฯก็พบเชื้อเดียวกันนี้ ในผู้ป่วยโรคเอดส์ในไซปรัส ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ.2541 เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีโครงสร้างหน่วยสายพันธุ์ผิดกับสายพันธุ์อื่น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีรักษาต่างกันและใช้วัคซีนคนละอย่างกัน (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





Greenpeace: Golden rice over-hyped

กลุ่มกรีนพีช ได้กล่าวว่า ข้าวที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า Golden Rice ไม่สามารถแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารในประเทศกำลังพัฒนาได้ โดยให้ข้อมูลว่า ข้าวดังกล่าวไม่ได้ให้วิตามิน A มากดังที่บริษัทได้ให้ข้อมูลไว้ ถ้าจะให้ร่างกายได้รับวิตามินเอ ตามความต้องการมนุษย์ต้องรับประทานข้าวที่หุงสุกแล้วประมาณ 9 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนจะรับประทานได้มากขนาดนั้น ในขณะที่อุตสาหกรรมทางด้านพันธุกรรมตอบโต้ว่า ข้าวดังกล่าวสามารถป้องกันเด็กเป็นพันๆ คนจากโรคตาบอด และเด็กเป็นล้านๆ คนจากโรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะขาดวิตามินเอได้ เมล็ดข้าวที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมนี้ได้ถูกนำส่งจากห้องแล็บในยุโรปไปที่ International Rice Research Institute ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อทดลองปลูกในประเทศ หลังจากที่บริษัทผู้ให้การสนับสนุนการวิจัยนี้คือ บริษัทซินเจนตา ได้บริจาคให้ และอนุญาตให้มีการศึกษาวิจัยต่อได้ ในขณะเดียวกัน Gordon Conway ประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ผู้สนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์เรื่อง Golden Rice ได้เลยเถิดไปมากและกล่าวอีกว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท และสื่อมวลชน คงลืมไปว่าผลิตผลนี้เกิดจากการวิจัย ซึ่งยังต้องการการพัฒนาในขั้นต่อๆ ไป ก่อนที่จะนำไปให้ชาวนาและผู้บริโภค (Bangkok Post Sunday, February 11, 2001, P.2)





ข่าวทั่วไป


บีทีเอสมุ่งเชื่อมรถไฟแม่กลอง บริษัทเจ้าหนี้ปิ๊งสายตะวันตกมากกว่า

นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่ากทม. เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กทม. ดำเนินการต่อขยายรถไฟฟ้าสายตะวันตก ล่าสุดคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) และกทม. มีแผนปรับเปลี่ยนช่วงถนนพัฒนาการสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระยะทาง 6.1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้างในงบประมาณ 742 ล้านบาท มาเป็นส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแทน ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนทางมาเป็นต่อขยายรถไฟฟ้าสายตะวันออก มีความเห็นตรงกันที่จะขยายเส้นทางจากสาทร-ตากสิน ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร ส่วนจากตากสิน- จุดตัดทางรถไฟสายแม่กลองระยะทาง 2 กิโลเมตร จากทางรถไฟวัดอ่างแก้ว ว่าจะให้เส้นซ้ายเพื่อเชื่อมทางรถไฟ ใช้เป็นเส้นทางเชื่อมถนนเพชรเกษม ด้าน นายคำรบลักข์ กล่าวว่า จะเร่งประชุมคณะกรรมการจัดระบบการขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อสรุปแผนงาน ทั้งนี้มีแนวโน้มจะขยายโครงการไปถึงถนนเพชรเกษม ส่วนกทม. เสนอให้ปรับเส้นทางโดยเลี้ยวซ้ายไปเชื่อมทางรถไฟ คาดว่าการขยายเส้นทางดังกล่าวสามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ 7 หมื่นคนต่อวัน (วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 6 สยามรัฐ)





แคนาดา-มะกันหวาดผวาวัวบ้า ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์วัวบราซิล

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ รัฐบาลแคนาดาสั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวหลายชนิดจากบราซิล ประกอบด้วยเนื้อวัวแช่เกลือ ของเหลวจากวัวและเนื้อวัวแผ่นในเจลลี่ เนื่องจากไม่มั่นใจการควบคุมเชื้อโรควัวบ้าของบราซิล คำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์วัวจากบราซิลดังกล่าว ทำให้บราซิลได้รับผลกระทบจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังแคนาดาปีละประมาณ 9 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ทั้งสหรัฐและโปแลนด์ยังมีคำสั่งห้ามนำเข้าเช่นกัน (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 2)





บังคับวัดสร้างเตาเผาศพปลอดมลพิษ

นายประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ผู้บริหาร กทม. เห็นชอบให้สำนักอนามัยปลอดมลพิษไปยกร่างข้อบัญญัติการควบคุมมลพิษจากฌาปนสถาน เพื่อกำหนดให้วัดทั้ง 300 แห่งทั่ว กทม. ก่อสร้างฌาปนสถานตามที่ กทม.กำหนด หากวัดใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก่อสร้างฌาปนสถานที่ก่อให้เกิดมลพิษก็จะสั่งปิดใช้ฌาปนสถาน คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในปี 2545 โดย กทม. ได้ประสานกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ช่วยออกแบบตามมาตรฐานปลอดมลพิษ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เป็นมาตรฐานราคาถูกเตาละประมาณ 1.5 ล้านบาท (พิมพ์ไทย พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 13)





ห่วงสมดุลเพศหญิง-ชาย "วัยทอง"

น.พ. นิกร ดุสิตสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเพศศาสตร์ศึกษา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพทางเพศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัญหาทางเพศทั้งชายและหญิงวัยทองเป็นเรื่องของคนไม่ยอมรับความจริง ทั้งนี้ในผู้หญิงหลังจากอายุประมาณ 40-45 ปี การทำงานของรังไข่เริ่มลดประสิทธิภาพลง และเมื่ออายุประมาณ 50 ปี เป็นการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ฮอร์โมนเพศหญิงก็จะหมดไป ส่วนฮอร์โมนแห่งความกำหนัดหรือเทสโทสเตอโรนก็จะลดลงทันทีอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ส่วนในผู้ชายนั้นจะมีการหลั่ง เทสโทสเตอโรน เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี และรักษาระดับไว้ได้จนถึงอายุ 35 ปี หลังจากจะลดอัตราการผลิตลงประมาณปีละ 1% เท่านั้น เมื่ออายุ 85 ปี จะมีฮอร์โมนนี้สูงถึง 40% ของระดับวัยกลัดมันที่อายุ 25 ปี จึงไม่แปลกที่ผู้ชายอายุกว่า 90 ปียังสามารถมีบุตรกับภรรยาสาวได้ น.พ. นิกร กล่าวอีกว่า ถ้าสามีภรรยาไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ไม่มีความรู้หรือความเข้าใจอาจทำให้มีปัญหาตามมา ดังนั้นเพศศึกษาจึงมีความจำเป็นในคนทุกเพศและทุกอายุ การบำบัดรักษาด้วยฮอร์โมนเพศอย่างถูกต้องเหมาะสมจะช่วยลดช่องว่างแห่งความแตกต่างกันระหว่างหญิงชายวัยทองและสร้างความสมดุลในเรื่องของเพศสัมพันธ์ในครอบครัวไว้ได้อย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ (มติชน พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





เพลงไทยในไมโครฟิล์ม ภูมิปัญญาไทยทางดนตรีที่สูญหาย

เมื่อครั้งที่ นายเดวิด มอร์ตัน นักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกันเข้ามาทำวิทยานิพนธ์ในเมืองไทย เขาได้ค้นคว้าเกี่ยวกับดนตรีไทยและถ่ายไมโครฟิล์มโน๊ตเพลงไทยที่บันทึกไว้เป็นโน๊ตสากล แล้วนำกลับไปเก็บไว้ที่สถาบันมานุษดุริยางค์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับทำสำเนาเพื่อการศึกษาแจกจ่ายไปตามสถาบันอื่นๆ หลายแห่งทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา หลายปีผ่านไป กระทั่ง ดร. ปัญญา รุ่งเรือง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ ภาควิชาศิลปนิเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับเชิญไปสอนวิชาดนตรีไทย ที่มหาวิทยาลัยคันต์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และบังเอิญพบไมโครฟิล์มโน๊ตเพลงไทย 5 ม้วนเหล่านี้เข้า ขณะไปหาข้อมูลในห้องสมุด ปีที่ค้นพบคือ 2534 ขณะที่ข้อมูลของห้องสมุดระบุว่าถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2502 ดร. ปัญญา จึงได้ดำเนินงานโครงการฟื้นฟูโน๊ตเพลงไทยฉบับครูให้มีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้ง "องค์กรเพื่อการศึกษาวิจัยดนตรีไทย" (Thai Music Research Organization) ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 มีการจัดหาทุนมาสนับสนุนงานวิจัย ณ วันนี้ การศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ แต่ทีมงานยังขาดแคลนเงินทั้งค่าวิจัยและค่าพิมพ์ออกมาเป็นหนังสืออีกกว่า 4,000,000 บาท ซึ่งผู้ต้องการให้การสนับสนุนสามารถติดต่อได้ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มติชน ศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 18





อภ.ผลิตสมุนไพรแก้ ‘ชายวัยทอง’ โอ่คุณภาพเจ๋งกว่าของนอก

ภญ. อินทนิมา กุญชร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ได้ผลิตสมุนไพรเพื่อลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะผลิตใช้ในประเทศไทยและที่เหลือจะส่งต่อไปจำหน่ายในต่างประเทศในรูปยาแผนปัจจุบันอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ โดยมีเป้าหมายในปี 2544 จะเน้นสมุนไพรวัยทองของผู้ชาย เพราะปัจจุบันพบว่า ผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยทองก็เริ่มที่จะมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายลดลงทำให้เกิดความหงุดหงิดไม่สบายเนื้อสบายตัวได้ตลอดเวลา ดร. กฤษณา ไกรสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อก. กล่าวว่า การผลิตสมุนไพรในปีนี้จะเน้นไปที่การป้องกัน มะเร็งต่อมลูกหมาก และเป็นยาสำหรับผู้ชายวัยทองโดยการสกัดสารจากมะเขือเทศมาผ่านกระบวนการสกัดสารสำคัญแล้วนำมาวิจัย ซึ่งจากการวิจัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อย่างมาก เพราะมะเขือเทศในบ้านเรานั้นดีและมีมากพอเพียงจนกระทั่งประเทศอิสราเอลนำมะเขือเทศในประเทศไทยจากหนองคาย สกลนคร และเชียงใหม่ไปจดสิทธิบัตร ขณะเดียวกันยังได้วิจัยขมิ้นชันเพื่อนำมาสกัดเพื่อบำรุงตับ และใช้ในโรคอื่นได้ด้วย เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดจาง (มติชน พุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





‘ห้องสมุดอัตโนมัติ’ โปรแกรมอัจฉริยะจากสมองคนไทย

คุณนำโชค โสมาภา กรรมการผู้จัดการบริษัทโสมาภา อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด วัย 30 ปีเศษ เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวคิดในเรื่องการเพิ่มมูลค่าของสินค้า โปรแกรมที่ว่านี้ได้แก่ โปรแกรมบริการการศึกษา โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ โปรแกรมการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต และโปรแกรมพัฒนาระบบงานของระบบข้อมูลบุคคลเดินทางเข้า-ออก ราชอาณาจักรไทย (ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) สำหรับโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัตินั้น เป็นโปรแกรมสำหรับงานต่างๆ ของห้องสมุด ซึ่งสามารถใช้ได้กับห้องสมุดขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เป็นงานให้บริการแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในห้องสมุดให้สามารถยืม-คืนหนังสือ และสืบค้นข้อมูลได้อัตโนมัติ รวมทั้งมีระบบข้อมูลสื่อที่หลากหลายเช่น วารสาร หนังสือ เทป ซีดี ซึ่งที่ผ่านมา คุณนำโชค ได้ไปพัฒนาระบบนี้ให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์, มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสารสนเทศจันทบุรี, โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่, โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ, วิทยาลัยครูบ้านเกิ่น เวียงจันทน์ ประเทศลาว และกลุ่มโรงเรียนโสมาภา เป็นต้น ราคาของโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้เริ่มต้นที่หลักแสนขึ้นไปทั้งสิ้น อย่างห้องสมุดอัตโนมัติราคาตั้งแต่ 1.4 แสนถึง 1 ล้านถึงหลายล้าน ขึ้นกับปริมาณหนังสือที่จัดเก็บ ชนิดของทรัพยากรที่จัดเก็บ ปริมาณสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการ ฯลฯ (มติชน เสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





จากน้ำสู่ “สมองคน” ‘อะมีบา’ เชื้อมรณะ!

ทันทีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแห่งศิริราชพยาบาลพบตัวอะมีบาอยู่ในร่างกายของคนไข้และกำลังแบ่งตัวออกมาเกาะกินเนื้อสมองอย่างน่ากลัว จึงต้องออกคำเตือนให้ประชาชนทั่วไประมัดระวังเชื้อร้ายดังกล่าว พ.ญ. ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา แห่งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงที่มา “อะมีบา” ให้ทราบรายละเอียดดังนี้ อะมีบา ที่มีชื่อว่า เนคเกอเรีย หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Naegieria และอะคันธามีเบีย หรือ Acanthamoebia จะอาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติไม่ใช่โรคติดต่อ ชอบอยู่ในน้ำค่อนข้างนิ่ง คู คลอง ข้างถนน แหล่งน้ำที่มีพืชน้ำอาศัยอยู่ หรือแหล่งน้ำที่มีน้ำขังอยู่ ชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช เคยตรวจพบเชื้อนี้ในแหล่งน้ำที่มีน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยลงมา เพราะแหล่งน้ำเหล่านี้มีอุณหภูมิสูงหากเข้ามาอยู่ในตัวคนจะเจริญเติบโตได้ดี จะเป็นโรคก็ต่อเมื่อได้รับเชื้อเข้าไป เป็นสัตว์เซลล์เดียวขนาดใกล้เคียงกับเม็ดเลือดขาว เคลื่อนที่ได้รวดเร็วเพราะอะมีบานี้มีเท้าเทียม หรือสโลสปอร์ตช่วยในการเคลื่อนไหว ถ้าเมื่อใดที่อะมีบานี้ขึ้นสมองผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะหมดหวังในการรักษา ผู้ป่วยจะเป็นโรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับน้ำที่สำลักเข้าไปว่ามีเชื้ออยู่หรือไม่ เชื้อเนคเกอเรียก่อโรครุนแรงและรวดเร็วกว่า เชื้ออะคันธามีเบียเพราะจะไชจากโพรงจมูกและขึ้นไปกินเนื้อสมองเลย ไม่พบเชื้อนี้ในน้ำกร่อย และน้ำทะเล ส่วนเชื้ออะคันธามีเบีย สามารถติดเชื้อที่บาดแผลตามผิวหนังหรือติดเชื้อผ่านตา ผ่านเยื่อกระจกตาได้ ต่างประเทศเคยมีรายงานการติดเชื้อจากคอนแท็กต์เลนส์ด้วย (มติชน อังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 19)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215