หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ประจำวันที่ 2001-02-20

ข่าวการศึกษา

"อานันท์" วอนคนจุฬาฯคิดออกนอกระบบใหม่
จุฬาฯหนุนใช้หลักสูตร 12 ปีแนะเริ่มทันทีไม่ต้องบอกก่อน
สสวท.คุมเข้มทุนปริญญาเอกต่อนอก
เตรียมปทส.4 ภาคเป็นปริญญา
Teachers will get a pay rise soon, pays new minister
ทบวงมหา’ลัยหนุนเด็กอยู่หอฝึกใช้ชีวิตในสังคม

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เนคเทคชวนนร.แข่งซื้อ-ประกอบคอมพิวเตอร์
ชวนเยาวชนเป็นทูตสิ่งแวดล้อม
Future Technology
จ๊าบสุดฯบริการดาวน์โหลดรูปลงหน้าจอมือถือ
Government not investing in science

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องวัดน้ำแบบพก
โชว์ผลงานเจ๋งคลิปต้านแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป

ไทยได้รับรางวัลนานาชาติ "Franklin D. Roosevelt ในการส่งเสริมคนพิการ"
ร่วมใจอนุรักษ์จำปีสิรินธร มีแห่งเดียวในโลก 100 ต้น
เสาโฮปเวลล์สนิมจับเขรอะเร่งแก้ไข ก่อนกระทบโครงสร้างจนใช้การไม่ได้
สาธารณสุขเตือน "โรคเลปโตสไปโรซิส"
กทม. เตือนคนกรุงยื่นแบบชำระภาษี
ปิดอ่าวไทยในปีนี้ไม่มีการผ่อนผัน





ข่าวการศึกษา


"อานันท์" วอนคนจุฬาฯคิดออกนอกระบบใหม่

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯฉบับใหม่ กล่าวในการประชุมรับฟังความเห็นเรื่อง "อนาคตของจุฬาฯจะเป็นอย่างไร" เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ว่า เราเถียงเรื่องการออกนอกระบบกันมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งตนก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ที่จุฬาฯยังเกิดความแตกแยก มีการโจมตีกันทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่เข้าใจกันและปล่อยให้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตนคิดว่าถ้ามีการคุยกันฉันท์เพื่อนมิตร มีความเอื้ออาทรต่อกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน สิ่งต่างๆ ก็จะแก้ไขได้ กระบวนการที่จะต้องเริ่มทำในขณะนี้คือการทำให้ชาวจุฬาฯ มีฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกนอกระบบที่ตรงกันไม่เช่นนั้นก็จะคุยคนละเรื่องกันต่อไป (เดลินิวส์ พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 12)





จุฬาฯหนุนใช้หลักสูตร 12 ปีแนะเริ่มทันทีไม่ต้องบอกก่อน

รศ. ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี พบว่าเหมาะสมกับสังคมไทย และควรเพิ่มบทบาทในเชิงรุกที่ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลง และความสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินข้อมูลข่าวสารได้ด้วย และเห็นว่าควรประกาศหลักสูตรให้เห็นภาพรวม 12 ปี และไม่จำเป็นต้องประกาศล่วงหน้า 1 ปีแล้วจึงใช้จริง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 12)





สสวท.คุมเข้มทุนปริญญาเอกต่อนอก

ดร. พิศาล สร้อยสุหร่ำ รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สศวค.) ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกว่า ที่ประชุมเห็นว่าการกำหนดในระดับนโยบายการให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐในประเทศไทยว่า ทุนปริญญาเอกดังกล่าวควรได้มาตรฐานระดับนานาชาติ (International Program) โดยควรได้รับความร่วมมือและสนับสนุนทางด้านวิชาการจากต่างประเทศ สสวท. จึงมีแผนความร่วมมือระหว่างนิสิต นักศึกษา ทุน สศวค. ระดับปริญญาเอกกับอาจารย์ผู้ร่วมโครงการในต่างประเทศเพื่อให้นิสิต นักศึกษาได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ได้รับประสบการณ์ทักษะด้านภาษา และการทำวิจัยอย่างกว้างขวาง โดยทางโครงการฯ ได้ส่งเสริมให้นิสิตปริญญาเอก ทุน สศวค. ไปศึกษาวิจัยที่ต่างประเทศคนละ 1 ปี ซึ่งนิสิต นักศึกษาดังกล่าวต้องมีความพร้อมทางด้านภาษา ด้านการวิจัย ผ่านการเรียนทางทฤษฎีตามหลักสูตร และผ่านการสอบรวบยอดแล้ว ดร.พิศาล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำให้นิสิต นักศึกษาปริญญาเอกที่รับทุน สศวค. ทำงานวิจัยที่สนองต่อความต้องการที่แท้จริงและเร่งด่วนของชาติ โดยอาจให้เป็นงานวิจัยของโครงการฯของภาควิชา หรือของมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหลักและให้นักศึกษาเลือกหัวข้อวิจัยที่โครงการ สศวค. กำหนดไว้ โดยทางโครงการฯ จะมีเงินอุดหนุนการวิจัยเป็นรายบุคคล และยังมีเงินสนับสนุนการวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยอีกด้วย (ไทยโพสต์ อังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





เตรียมปทส.4 ภาคเป็นปริญญา

นายสุรพล นิติไกรพจน์ กรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า กำลังจัดทำกฎหมายรองรับการยกฐานะวิทยาลัยสังกัดกรมอาชีวศึกษาให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา เน้นเฉพาะสถาบันที่เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) ในเบื้องต้นได้หารือกับกรมอาชีวะ ว่าจะจับกลุ่มวิทยาลัย 24 แห่งก่อน ดูจากเกณฑ์มาตรฐานของทบวงมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสัดส่วนอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับต่างๆ จำนวนนักศึกษาและคณะที่เปิดสอน คาดจะจัดกลุ่มเป็นสถาบัน 4 กลุ่มใน 4 ภูมิภาค ไม่รวมสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน (สยามรัฐ เสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





Teachers will get a pay rise soon, pays new minister

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ นายเกษม วัฒนชัย กล่าวว่า จะเพิ่มเงินเดือนให้ครูในไม่ช้านี้ และกล่าวว่า การเพิ่มเงินเดือนให้ครูเป็นก้าวแรกของการยกระดับการศึกษาไทย ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษากำลังพิจารณาอัตราที่เหมาะสม (Bangkok Post, Sunday, Feb. 18, 2001, P.2)





ทบวงมหา’ลัยหนุนเด็กอยู่หอฝึกใช้ชีวิตในสังคม

รศ. ท.พ. สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าว จากการสัมมนาเรื่อง “แนวทางความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา กับผู้ประกอบธุรกิจหอพักเพื่อการพัฒนานักศึกษา” ว่า นักศึกษาที่อยู่หอพักไม่ค่อยรู้จักกันทั้งๆ ที่อยู่คณะเดียวกัน น่าจะมีปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีความผูกพันมากขึ้น หอพักเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหล่อหลอม พัฒนาบุคลิกภาพให้สามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ทุกมหาวิทยาลัยควรจะตั้งฝ่ายรับผิดชอบประสานงานดูแลพฤติกรรมของนักศึกษาที่อยู่หอพักในและนอกมหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการหอพักเอกชนด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เนคเทคชวนนร.แข่งซื้อ-ประกอบคอมพิวเตอร์

ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า ได้จัดโครงการแข่งขันเลือกซื้อและประกอบคอมพิวเตอร์ ครั้งที่ 1 รับสมัครจนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2544 ประกาศผลในวันที่ 18 มีนาคม 2544 ผู้สมัครต้องเป็นนักเรียนไม่เกินชั้น ม.4 หรือเทียบเท่าจำนวน 200 คน โรงเรียนละไม่เกิน 2 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายไตรภาคี โทร. (02) 644-8150-99 ต่อ 650-655 (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





ชวนเยาวชนเป็นทูตสิ่งแวดล้อม

คุณหญิง จันทนี สันตะบุตร นายกสมาคมเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สมาคมฯร่วมกับบริษัทไบเออร์ไทย จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดรับสมัครเยาวชนไทยทั่วประเทศ เข้าประกวดยุวทูตเพื่อสิ่งแวดล้อมประจำปี 2544 เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนมีบทบาท และตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม และสามารถที่จะเป็นแกนนำในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกคะแนนสูง 10 คนแรก จะได้เดินทางไปทัศนศึกษาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ส่วนผู้ที่ผ่านการคัดเลือกอีก 40 คน จะร่วมทัศนศึกษาและฝึกอบรมในประเทศไทย (เดลินิวส์ พฤหัสที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





Future Technology

เทคโนโลยี 3G หรือ Third Generation หมายถึง การสื่อสารสมบูรณ์แบบที่สามารถให้บริการได้พร้อมกันทั้งเสียง ข้อมูล ภาพ ในลักษณะมัลติมีเดีย เนื้อหาของ 3G มีความหลากหลาย แล้วแต่เจ้าของเทคโนโลยี หรือเจ้าของแนวความคิดนั้นๆ ว่าจะพัฒนา 3G มาจากเทคโนโลยีพื้นฐานอะไร เช่น PHS หรือ Personel Handyphone System ต้นแบบเทคโนโลยี PCT ในเมืองไทย ปัจจุบัน PHS สามารถรับส่งข้อมูลความเร็วสูงสุดได้ถึง 512 kbps ซึ่งเป็นความเร็วที่ผ่านระดับ 3 G เรียบร้อยแล้ว (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ หน้า 16)





จ๊าบสุดฯบริการดาวน์โหลดรูปลงหน้าจอมือถือ

สก๊อต องอาจ และภูมินทร์ ศรีทานันท์ แห่งบริษัทเมโทรคิว จำกัด ได้จัดให้บริการดาวน์โหลดรูปลงหน้าจอมือถือ โทรศัพท์มือถือที่สามารถนำมาทำได้ ต้องเป็นมือถือจากค่ายโนเกีย ตั้งแต่รุ่น 3210 ขึ้นไป จะโชว์รูปถ่ายช่วงเปิดเครื่อง ยกเว้นรุ่น 3310 ที่สามารถโชว์ค้างไว้หน้าจอตลอดเวลา นอกจากนี้มี อิริคสัน รุ่น A2618 และ โมโตโรลา 8088 สนใจการดาวน์โหลดติดต่อได้ที่ gotpig@hotmail.com และ phum_pong@hotmail.com (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





Government not investing in science

ในการประชุมเรื่อง "Science and Technology Policy : Guidelines for the New Government" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มีนักวิชาการหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสนับสนุนกับการเรียนการสอนทางด้านวิทย์/เทคโน มากนัก เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าลงทุน และนักเรียนส่วนใหญ่ไม่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าครูมีวิธีการสอนที่น่าเบื่อ นอกจากนี้ทางคณะผู้จัดการประชุมได้เสนอแนวทาง 3 รูปแบบเพื่อการพิจารณากำหนดนโยบายด้านวิทย์/เทคโนของชาติคือ 1)ต้องกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2) นำไปสู่ความกินดีอยู่ดีของประชาชนและสังคม 3) เน้นการพัฒนาบุคลากรเป็นหลัก (Bangkok Post, Sunday, Feb 18, 2001 p.2)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องวัดน้ำแบบพก

ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ร่วมลงนามกับ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเปิดตัวต้นแบบอุปกรณ์ตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำชนิดพกพา ซึ่งเป็นผลงานของ ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 20 ผลิตภัณฑ์ทางด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม (ไทยรัฐ อังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 15)





โชว์ผลงานเจ๋งคลิปต้านแผ่นดินไหว

ศ. ดร. ปณิธาน ลักคุณประสิทธิ์ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึง สิ่งประดิษฐ์ "คลิปยึดขาเหล็กปลอก" ต้านภัยแผ่นดินไหวว่า สิ่งประดิษฐ์นี้จะทำหน้าที่เป็นคลิปสำหรับเป็นขอรัดขาเหล็กปลอกในเสาคอนกรีตเสริมเหล็กของอาคารที่สร้างใหม่ ช่วยทำให้เสาทนต่อการโยกเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเกือบเท่าตัว และมีผลช่วยรั้งขาเหล็กปลอกในเสาให้อ้าออกยากขึ้น การใช้คลิปยึดขาเหล็กออกนั้นจะติดตั้งที่เสาในบริเวณที่อยู่ใกล้ฐาน หรือคานในระยะ 1 ใน 4 ของความสูงจากพื้นขึ้นไป และจากคานลงมา ซึ่งได้มีการทดสอบมา 2 ปีและต้นทุนในการผลิตคลิปดังกล่าว ซึ่งทำจากเหล็กนำมาดัดไม่เกิน 5 บาท แต่มีประสิทธิภาพมาก หน่วยงานใดที่สนใจติดต่อได้ที่ สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (ไทยรัฐ พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


ไทยได้รับรางวัลนานาชาติ "Franklin D. Roosevelt ในการส่งเสริมคนพิการ"

นาย William J. Venden Heuvel ประธานสถาบัน The Franklin and Eleanor Roosevelt Institute โดยคณะกรรมการนานาชาติเห็นว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมให้คนพิการเป็นที่ยอมรับในสังคม พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมเป็นพิเศษต่อการที่ไทยได้ออกประกาศเรื่อง "สิทธิของผู้พิการชาวไทย และพ.ร.บ. ฟื้นฟูคนพิการ" ตลอดจนก่อตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูคนพิการแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ต่อไป จึงได้มอบรางวัล "Franklin D. Roosevelt ในการส่งเสริมคนพิการ" แก่ประเทศไทย ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นเงิน 50,000 เหรียญสหรัฐ และรูปปั้นอดีตประธานาธิบดี Roosvelt ผู้รับมอบคือประมุข หรือผู้นำรัฐบาล พิธีรับมอบจะจัดขึ้น ณ สำนักงานองค์การสหประชาติที่นครนิวยอร์ก (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 11)





ร่วมใจอนุรักษ์จำปีสิรินธร มีแห่งเดียวในโลก 100 ต้น

นายเที่ยง รักมิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ชัยจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี กล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านได้รณรงค์อนุรักษ์จำปีสิรินธร ซึ่งมีอยู่ 100 ต้นในประเทศไทย และมีแห่งเดียวในโลก เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และได้ทำโครงการเพื่อพัฒนาอนุรักษ์ป่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 32)





เสาโฮปเวลล์สนิมจับเขรอะเร่งแก้ไข ก่อนกระทบโครงสร้างจนใช้การไม่ได้

พ.ต.ท. ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อสรุปแนวสายทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายเหนือ (หมอชิต-ลำลูกกา) ตนคิดว่าน่าจะใช้แนวโฮปเวลล์เดิม เนื่องจากลงทุนน้อยเพราะว่ามีเสาอยู่แล้ว จะมีอุปสรรคในแง่ของสัญญาที่มีอยู่เดิม ระหว่างการรถไฟฯ กับบริษัทโฮปเวลล์ แต่จะทิ้งไว้ไม่ได้เนื่องจากขณะนี้เสาโครงสร้างของโฮปเวลล์สนิมจับ อาจจะทำให้กระทบตัวโครงสร้าง ถ้าไม่ใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 32)





สาธารณสุขเตือน "โรคเลปโตสไปโรซิส"

แพทย์หญิง ประนอม คำเที่ยง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า โรคเลปโตสไปโรซิส กำลังระบาดหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรคติดต่อที่มีจากหนูเป็นพาหะ อาการของโรค มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง ตาแดง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เชื้อโรคจะอยู่ในที่น้ำขัง ดิน โคลน ทรายที่เปียกชื้น การป้องกัน ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือยาง ในขณะประกอบอาชีพ การทำนา ทำสวน หรือทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (เดลินิวส์ พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 32)





กทม. เตือนคนกรุงยื่นแบบชำระภาษี

กรุงเทพมหานครแจ้งประชาชน เตรียมยื่นแบบและชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนภาษีที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปี 2544 ณ สำนักงานเขตที่ยื่นแบบไว้ ภาษีโรงเรือน ยื่นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 ภาษีป้าย ยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2544 ภาษีบำรุงท้องที่ ยื่นภายในวันที่ 30 เมษายน 2544 (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 34)





ปิดอ่าวไทยในปีนี้ไม่มีการผ่อนผัน

นายธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ช่วงที่สัตว์น้ำในอ่าวไทยกำลังวางไข่ ได้ประกาศให้ชาวประมงห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือบางประเภท ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยไม่มีการผ่อนผันเหมือนปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทู (เดลินิวส์ พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 27)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215