หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 14 ประจำวันที่ 2000-11-21

ข่าวการศึกษา

เอเชียวีค ชู ม.เทคโนฯพระจอมเกล้าธนฯ ที่ 1 ของประเทศ
ม.อุบลฯย้ำออกนอกระบบทุกคนต้องมีความสุข
คัดเด็กไทยมีแววให้ทุนเรียนปั้นเป็นนักวิจัย
ติงโรงเรียนเห่อ ISO เลยเถิด
สปศ.แบ่งกทม.6 เขตพื้นที่การศึกษา
ชี้ครูไทยสอนประวัติศาสตร์ผิดวิธีมานาน
ศธ. เตือนสติราชภัฏให้ปริญญากิตติมศักดิ์ต้องรอบคอบ
ชี้ "ครู" ล้นประเทศ-เร่งลดบัณฑิต
ขรก.พลเรือนในงานศึกษาน้อยใจ สปศ.
"ดร.รุ่ง" แนะยกเลิกสอบเอนทรานซ์รวม

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

วิชาการดอตคอม
พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กสุดชนิดใหม่
พบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในอิตาลี
ผุดศูนย์ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ

ข่าววิจัย/พัฒนา

หนุนโครงการพระราชดำริพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม
การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อสูบน้ำรดต้นไม้
รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย
"บิลเกตส์" ทุ่ม 200 ล. วิจัยโรคมาลาเรียในไทย
นโยบายใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วได้ผล
เอเชียวีค ชู ม.เทคโนฯพระจอมเกล้าธนฯ ที่ 1 ของประเทศ : สถาบันเทคโนแห่งรัฐแมสสาชูเซตต์ และ สพช.หนุน

ข่าวทั่วไป

รพ. วังน้ำเย็นต้นแบบแพทย์แผนไทยยุคปัจจุบัน
กินให้อิ่มก่อนค่อยบินทีหลัง





ข่าวการศึกษา


เอเชียวีค ชู ม.เทคโนฯพระจอมเกล้าธนฯ ที่ 1 ของประเทศ

สถาบันเทคโนแห่งรัฐแมสสาชูเซตต์ และ สพช.หนุน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้ง "ศูนย์วิศวกรรมอุณหภาพ" (Thermal Engineering Center) เพื่อให้เป็นสถาบันวิจัยและวิศวกรรมชั้นนำด้านเทคโนโลยีอุณหภาพ ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่อุตสาหกรรมไทย จนสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา 25 ปีที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี อันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีโปรแกรมศึกษาและวิจัยด้านพลังงานอย่างจริงจัง มีบุคลากรระดับปรมาจารย์ชั้นนำ ในสาขาวิศวกรรมอุณหภาพเข้ามาร่วมงานเป็นองคาพยพของมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีศิษย์เก่าที่เป็นผู้มีอาชีพ ตั้งแต่ระดับผู้ออกแบบ ผู้ติดตั้ง จนถึงผู้ขาย ในธุรกิจพลังงาน จึงทำให้ศูนย์วิศวกรรมอุณหภาพสามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานถึงร้อยละ 90 เมื่อเร็วๆ นี้วารสารเอเชียวีค ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยเป็นอันดับ 1 ของประเทศแห่งเดียวที่มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและการจัดการ จากข่าวสารนี้เองมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซตต์ (Massachusetts Institution of Technology : MIT) ให้การยอมรับและร่วมมือกันสร้างโปรแกรมการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และงานวิจัยต่างๆ จึงมั่นใจว่าศูนย์อุณหภาพนี้นอกจากจะทำหน้าที่ปรับปรุงขบวนการการใช้พลังงานแล้ว ยังมุ่งมั่นงานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนสภาพของประเทศไทยที่เคยเป็นแต่ "ผู้รับ" มาเป็น "ผู้สร้าง" ทางเทคโนโลยีบ้าง (สยามรัฐ อังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2543 )





ม.อุบลฯย้ำออกนอกระบบทุกคนต้องมีความสุข

มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เตรียมเรื่องออกนอกระบบ ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ในขั้นตอนต่างๆ กัน เช่น ม.มหาสารคามได้ยกร่าง พ.ร.บ. เสร็จเรียบร้อยและกำลังทำประชาพิจารณ์ ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไร ร่างพ.ร.บ.จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และคาดว่า ม.มหาสารคาม จะออกนอกระบบได้ในปี 2544 อย่างแน่นอน ส่วนม.ขอนแก่น กำลังจัดทำ พ.ร.บ. ซึ่งคาดว่าจะเสนอสภา ม.ขอนแก่น ประมาณ เดือนเมษายน 2544 ม.บูรพา กำลังจะนำเสนอร่าง ส่วนม.อุบลราชธานี ศ.ไพฑูรย์ อิงสุวรรณ อธิการบดี ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า หลักการยกร่างพ.ร.บ. ของม.อุบลฯ คือดูสิ่งที่อยากจะเป็น หรือสิ่งที่จะทำให้การทำงานดีขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงสร้างของมหาวิทยาลัย และการบริหารจัดการที่จะต้องทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ ส่วนสถานภาพของบุคลากรเน้นว่าจะต้องทำให้ทุกคนมีความสุข (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





คัดเด็กไทยมีแววให้ทุนเรียนปั้นเป็นนักวิจัย

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานกรรมการโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการกำลังเปิดรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศจำนวน 100 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสใกล้ชิดกับพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (สวทช.) ในการทำกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์นาน 9 เดือน เพื่อคัดเลือกเด็กที่มีแววทางด้านวิทยาศาสตร์ปีละ 10 คน โดยจะสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับสูงสุดที่เด็กสามารถเรียนได้ จะช่วยสร้างนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สวทช. จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม นี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หน้า 16)





ติงโรงเรียนเห่อ ISO เลยเถิด

ดร.เทอร์เรนซ์ มอร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการฝึกอบรมและกระบวนการเรียนรู้ สถาบันธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADBI) เปิดเผยว่า จากรายงานของ ADBI เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนานาชาติ พบว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ของไทยและนานาชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวทางเดียวกันคือ มุ่งเน้นจัดการศึกษาให้ทั่วถึง สร้างความเสมอภาค ให้อิสระและทางเลือกที่หลากหลาย เรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ส่วนจุดเน้นที่ต่างกันคือ จุดมุ่งหมายของนานาชาติจะให้น้ำหนักกับบริบททางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มุ่งเน้นการสร้างสมรรถนะการแข่งขัน พัฒนาทุนปัญญา พัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดแรงงาน ในขณะที่ไทยจะมุ่งเน้นการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีลักษณะที่พึงประสงค์ การปลูกฝังจิตสำนึกต่างๆ การศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับความรู้สากล ส่วนด้านเนื้อหาการเรียนรู้นั้น นานาชาติมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนบทบาทของสถาบันการศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ การจัดการข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาเครื่องมือในการคิด ส่วนไทยมุ่งเน้นการจัดหลักสูตรให้หลากหลายมีหลักสูตรแกนกลาง และหลักสูตรท้องถิ่นเน้นความรู้คู่คุณธรรม ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาโรงเรียนต่างๆ ยอมจ่ายเงิน 3-4 แสนบาท เพื่อให้ได้ขึ้นป้าย ISO ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีการทบทวน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





สปศ.แบ่งกทม.6 เขตพื้นที่การศึกษา

รศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า ได้แบ่งพื้นที่การศึกษาของกรุงเทพมหานครเป็น 6 เขต ตามเขตการปกครอง โดยจะเรียกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มบูรพา, กลุ่มรัตนโกสินทร์, กลุ่มศรีนครินทร์, กลุ่มเจ้าพระยา, กลุ่มกรุงธนใต้ และกลุ่มกรุงธนเหนือ ทั้งนี้การเรียกชื่อกลุ่มการศึกษาจะไม่เรียกตามกลุ่มเดิม แต่จะใช้เป็นเขตการศึกษา 1-6 แทน เมื่อรวมเขตพื้นที่การศึกษาในภูมิภาคอีก 289 เขต ก็จะรวมเป็น 295 เขต (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ชี้ครูไทยสอนประวัติศาสตร์ผิดวิธีมานาน

นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย กล่าวถึงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในสถานศึกษาของไทยว่า สอนผิดวิธีมานานแล้ว เพราะสอนให้นักเรียนท่องจำ ไม่สอนให้รู้จักการวิเคราะห์ และสอนให้เป็นเรื่องสนุก ไม่สอนให้ผู้เรียนเกิดสำนึกในความเป็นไทย นายพลาดิศัย เสนอแนะว่า การเรียนประวัติศาสตร์ควรสอนให้เด็กรู้จักใจกว้าง พร้อมเปิดรับข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ ที่เพิ่งถูกค้นพบด้วย แล้วนำข้อมูลใหม่ๆ มาพิจารณาโดยใช้หลักของเหตุและผล (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ศธ. เตือนสติราชภัฏให้ปริญญากิตติมศักดิ์ต้องรอบคอบ

จากที่มีข่าวสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ จะพิจารณามอบปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่กำนันผู้มีอิทธิพลคนหนึ่ง ซึ่งมีประวัติพัวพันการค้ายาเสพติด และมีกลุ่มอาจารย์นักศึกษาคัดค้านนั้น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การมอบปริญญากิตติมศักดิ์เป็นสิทธิของสภาประจำสถาบันแต่ละแห่งที่จะพิจารณาให้ใครก็ได้ แต่สถาบันจะต้องรับผิดชอบด้วยว่า เป็นคนที่สังคมยอมรับหรือไม่ และแนะนำให้แต่ละสถาบันพิจารณาอย่างรอบคอบ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ชี้ "ครู" ล้นประเทศ-เร่งลดบัณฑิต

นายปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำแผนปฏิรูปสถาบันผลิตครูว่า ที่ประชุมได้เสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับภาวะวิกฤติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เพื่อปฏิรูปการศึกษาพบว่า ในระยะปี 2543-2554 จะมีครูเกษียณราชการ 1,912 คน คิดเป็นร้อยละ 46.36 การหาครูที่มีคุณภาพสูงมาทดแทนนั้นยากมาก เนื่องจากร้อยละ 60 มีวุฒิปริญญาเอก อีกทั้งการผลิตครูแต่ละสถาบันมากเกินความต้องการ มีนักศึกษาร้อยละ 20 เท่านั้นที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู จึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพัฒนาครูประจำการที่มีอยู่และปฏิรูปสถาบันผลิตครู ปฏิรูปคุณภาพคณาจารย์ สถาบันต่างๆ ต้องเริ่มลดจำนวนการผลิตครูลง (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 )





ขรก.พลเรือนในงานศึกษาน้อยใจ สปศ.

ศ. ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยว่า มีประเด็นของข้าราชการพลเรือนที่ทำหน้าที่ธุรการ ในหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษา รวมทั้งผู้บริหารนอกสถานศึกษา แสดงความน้อยใจว่า สปศ. ยังไม่ได้กำหนดเส้นทางความก้าวหน้าทางวิชาชีพให้เด่นชัดเหมือนกับข้าราชการครู ทั้งนี้ตนจะมอบหมายให้ ศ. ดร. ปรัชญา เวสารัชช์ ไปพิจารณารายละเอียด ดร. ปรัชญา กล่าวว่า สปศ. ยังไม่ได้พิจารณา เพราะตั้งใจจะให้กระทรวงที่จัดตั้งใหม่เป็นผู้พิจารณา แต่เมื่อมีการท้วงติง สปศ. ก็จะรับไปพิจารณา (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน หน้า 12)





"ดร.รุ่ง" แนะยกเลิกสอบเอนทรานซ์รวม

ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) กล่าวว่า มีนักวัดผลเสนอว่า การเก็บคะแนนสอบวัดความรู้ไว้ใช้ 3 ปี จะทำให้เด็กที่สอบได้แล้วสละสิทธิ์ เพื่อไปสอบใหม่มากขึ้น ทำให้ผู้ที่สมัครใหม่มีทางเลือกน้อยลง และได้เสนอว่าควรจะยกเลิกการสอบเอนทรานซ์รวม และให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเป็นผู้ดำเนินการเอง ตนยังเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการสอบ แต่ควรนำคะแนนเฉลี่ยสะสมมัธยมปลาย (GPA) มาใช้ทั้งหมด (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


วิชาการดอตคอม

นายพิเชษฐ กิจธารา นายอรรถกฤต ฉัตรภูติ และดร.บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ อดีตนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รวมตัวกันจัดทำเว็บไซด์วิชาการดอตคอม (www.Vcharkarn.com) เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสาระน่ารู้รอบๆ ตัวสู่เยาวชน ตามสถานศึกษาต่างๆ และประชาชนทั่วไป เว็บไซด์นี้จัดทำเมื่อปลายปี 2542 ปัจจุบันได้พัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว โดยแยกเป็นหลายส่วนได้แก่ แมกกาซีนวิชาการ เรือนไทย วิชาการคาเฟ่ วิชาการไกด์ (ไทยโพสต์ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กสุดชนิดใหม่

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิดในมาดากัสการ์ นับเป็นไพรเมตที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกคือ ตัวลีเมอร์แคระ (mouse lemur) ซึ่งจัดเป็นไพรเมตที่ถือกำเนิดมายาวนานที่สุด และกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ไพรเมต (primate) หมายถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสมองเจริญดี เมื่อเทียบกับสัดส่วนของร่างกาย ลำตัวตั้งตรง ระบบสายตาและมือมีวิวัฒนาการจนใช้ได้ดี นิ้วหัวแม่มือพับขวางฝ่ามือได้ มีกระบอกตาหุ้มนัยน์ตา มองสิ่งต่างๆ ในลักษณะ 3 มิติ มีทั้งพวกมีหาง และไม่มีหาง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกาะแห่งนี้ได้แยกตัวออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อราว 165 ล้านปีก่อน ทำให้เป็นที่เกิดของพืชและสัตว์ที่พบได้เฉพาะแต่ที่นั่นที่เดียวหลายชนิดด้วยกัน ฟอสซิลของตัวลีเมอร์ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุประมาณ 58 ล้านปี จึงเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์และสัตว์พวกไพรเมตอื่นๆ (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2543 )





พบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในอิตาลี

พบซากไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่เคยท่องโลกเมื่อ 200 ล้านปีก่อน นับเป็นสัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมา ไดโนเสาร์นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า ซัลทริโอซอร์ (Saltriosaur) สูง 8 เมตรเศษ หนักกว่า 1 ตัน ได้ถูกค้นพบในชั้นหินปูนที่เหมืองแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอิตาลี จุดที่สร้างความฉงนให้แก่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคือมีนิ้ว มีฟันที่เหมือนเลื่อยคมๆ กระดูกอกสองง่ามรูปตัววีที่ว่านี้นับว่าน่าสนใจเพราะเหมือนของนก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าอาจเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์ (ไทยโพสต์ อังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2543)





ผุดศูนย์ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ

สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตั้งศูนย์ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NERIC) เผยแพร่ข้อมูลด้านทรัพยากรชายฝั่งทะเลทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และนำข้อมูลมาใช้จัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลของพื้นที่ศึกษาของโครงการบริเวณอ่าวพังงา ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่จัดเก็บเป็นระบบ Metadata โดยรวบรวมข้อมูลทางกายภาพชีวภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยข้อมูลบางส่วนได้นำเข้าสู่ระบบ GIS และข้อมูลได้นำมาพัฒนาสู่ระบบการช่วยตัดสินใจ Decision Support System (DSS) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารต่อไป ผู้สนใจสามารถใช้ข้อมูลได้ที่ www.oepp.go.th/neric (พิมพ์ไทย พุธที่ 8 พฤศจิกายน 2543 หน้า 9)





ข่าววิจัย/พัฒนา


หนุนโครงการพระราชดำริพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นำโดย นายพรเทพ ปานณรงค์ราญ รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร. ได้จัดประชุมคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการโครงการหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำ และปริมาณน้ำปากแม่น้ำเจ้าพระยา (Hydrodynamic Flow Measurement) เพื่อการบริหารจัดการหรือควบคุมปริมาณน้ำเหนือหลาก ให้สอดคล้องกับสภาพน้ำทะเลหนุน เป็นการหลีกเลี่ยงสภาวะน้ำท่วมในฤดูฝน ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ปากแม่น้ำตอนล่าง (จากบางไทรถึงอ่าวไทย) ขณะนี้แผนการดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี (2544-2546) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก 3 หน่วยงานหลักคือ สำนักงาน กปร. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และกรมชลประทาน (พิมพ์ไทย พุธที่ 8 พฤศจิกายน 2543 หน้า 8)





การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อสูบน้ำรดต้นไม้

ประเทศไทยได้มีการนำเอาเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ในกิจกรรมต่างๆ หลายกิจกรรม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้เพื่อสูบน้ำรดต้นไม้ ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ถนน, สวนหย่อม, สวนสาธารณะ) นิคมอุตสาหกรรม (ถนน, สวนหย่อม) และสวนปาล์ม นอกจากนี้ยังใช้เซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการอบแห้งในอุตสาหกรรมชุมชนอีกด้วย ผู้สนใจโครงการนี้สามารถสอบถามรายละเอียดที่ ดร. พอพนธ์ สิชฌนุกฤฏ์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงาน สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 644-8150 ต่อ 119 โทรสาร 644-8028-9 email : pre@nstda.or.th.





รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญชวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และมีอายุไม่เกิน 25 ปี ร่วมประกวดงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ในโครงการ "รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย" โดยผลงานที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าแข่งขันในระดับประเทศในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัท อิมเมจ อิมแพค โทร. 253-6810-1





"บิลเกตส์" ทุ่ม 200 ล. วิจัยโรคมาลาเรียในไทย

มูลนิธิ "บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ สนับสนุนเงินจำนวน 200 ล้านบาทเพื่อการศึกษา วิจัยการควบคุมไข้มาลาเรียในประเทศไทย น.พ. สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวอยู่ในระหว่างการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และใน วันที่ 23 พ.ย. นี้ จะเรียกเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำจังหวัดตาก เพื่อทำการศึกษานำร่อง สาเหตุที่เลือกพื้นที่ จ.ตาก เนื่องจากมีปัญหาโรคไข้มาลาเรียมากที่สุดในประเทศไทย





นโยบายใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วได้ผล

รศ.พญ. สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ และคณะจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาระดับตะกั่วในเลือดของเด็กแรกเกิด - 2 ขวบ เพื่อเปรียบเทียบกับเด็กเล็กกว่า 2 ขวบ ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม พบว่าเด็กในกรุงเทพมีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าเด็กที่อยู่ใน อ.สามพราน ขณะที่เด็กโตกว่าจะมีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่าเพศหญิงที่มีอายุรุ่นเดียวกัน หมอแจงว่าระดับตะกั่วในเลือดเด็กกรุงเทพฯ ลดลง ผลจากสภาพแวดล้อมดีขึ้น เนื่องจากการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว (เดลินิวส์ อังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)





เอเชียวีค ชู ม.เทคโนฯพระจอมเกล้าธนฯ ที่ 1 ของประเทศ : สถาบันเทคโนแห่งรัฐแมสสาชูเซตต์ และ สพช.หนุน

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้ง “ศูนย์วิศวกรรมอุณหภาพ” (Thermal Engineering Center) เพื่อให้เป็นสถาบันวิจัยและวิศวกรรมชั้นนำด้านเทคโนโลยีอุณหภาพ ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่อุตสาหกรรมไทย จนสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา 25 ปีที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี อันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีโปรแกรมศึกษาและวิจัยด้านพลังงานอย่างจริงจัง มีบุคลากรระดับปรมาจารย์ชั้นนำ ในสาขาวิศวกรรมอุณหภาพเข้ามาร่วมงานเป็นองคาพยพของมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีศิษย์เก่าที่เป็นผู้มีอาชีพ ตั้งแต่ระดับผู้ออกแบบ ผู้ติดตั้ง จนถึงผู้ขาย ในธุรกิจพลังงาน จึงทำให้ศูนย์วิศวกรรมอุณหภาพสามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานถึงร้อยละ 90 ทีเดียว เมื่อเร็วๆ นี้วารสารเอเชียวีค ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นมหาวิทยาลัยทีมีงานวิจัยเป็นอันดับ 1 ของประเทศแห่งเดียวที่มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและการจัดการ จากข่าวสารนี้เองมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสสาชูเซตต์ (Massachusetts Institution of Technology : MIT) ให้การยอมรับและร่วมมือกันสร้างโปรแกรมการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และงานวิจัยต่างๆ (สยามรัฐ อังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2543 )





ข่าวทั่วไป


รพ. วังน้ำเย็นต้นแบบแพทย์แผนไทยยุคปัจจุบัน

น.พ. สำราญ อาบสุวรรณ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า รพ. วังน้ำเย็น ได้เริ่มดำเนินการด้านการแพทย์แผนไทย มาเป็นเวลา 20 ปี เริ่มจากการผลิตยาสมุนไพรใช้ในโรงพยาบาลและแนะนำให้ประชาชนปลูกสมุนไพรไว้ใช้เอง รวมทั้งให้การสาธิตฝึกอบรมให้กับ นศ. อายุรเวท และประชาชนในพื้นที่ น.พ. ยุทธพงษ์ ศรีมงคล ผู้อำนวยการ ร.พ. เปิดเผยว่า ประชาชนให้การยอมรับ และสนใจที่จะมารับบริการมากขึ้น ทำให้มูลค่าการผลิตยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)





กินให้อิ่มก่อนค่อยบินทีหลัง

คณะนักวิจัยของญี่ปุ่นได้แนะนำหลังจากการศึกษาวิจัยว่า ควรกินอาหารให้อิ่มก่อนขึ้นเครื่องบิน จะช่วยให้เลือดลมไหลเวียน และปริมาณออกซิเจนในเลือดดี ระหว่างการเดินทาง ในห้องโดยสารที่มีความกดอากาศต่ำและอากาศก็แห้ง เหตุที่ผู้โดยสารบางคนเป็นลมหรือมีอาการของโรคหัวใจขึ้นระหว่างการเดินทาง เนื่องจากเลือดลมไหลติดขัดกว่าที่เคย อันเป็นอาการที่มักเป็นกันมาก ผู้โดยสารยังอาจรู้สึกปวดหัว หนาว และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215