|
หัวข้อข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 47 ประจำวันที่ 2006-11-20
ข่าวการศึกษา
เล็งปรับแอดมิชชันปี 52 เพิ่มสอบโอเน็ตทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ วิจิตร แนะเร่งปรับบทบาทสภา ม. อภิสิทธิ์ไม่เชื่อรัฐบาลดันมหาลัยออกนอกระบบได้หมด เด็กบัณฑิตพัฒนศิลป์เฮ! ครม.ยกเป็นนิติบุคคล-สอนถึงป.ตรี เสนอแอดมิชชั่นส์ปี52 สอบโอเน็ตรวมจีพีเอ นศ.ม.รามฯ ยื่นหนังสือ วิจิตรและสุรยุทธ ค้านม.ออก สพฐ.เปิดอัตราเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ เด็กไทยเจ๋งคว้าคะแนนสูงสุด พร้อมซิว 2ทอง - 5เงิน 'คณิต-วิทย์ โอลิมปิก' สกอ.เปิดคะแนนสูง/ต่ำวิชาเฉพาะปี 2550 ทปอ.เสนอ5แนวทางดันมหา'ลัยนอกระบบ "อธิการบดี"เล็คเชอร์อนาคต "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ"
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เลิกใช้แสงเลเซอร์สู้มะเร็ง เลือกไฟแรงสูงถูกกว่า กันเยอะ เอาใจผู้สูงวัยด้วยไม้เท้าไฮเทค ล้มเมื่อไรเรียกรถ ฉุกเฉินได้ทันที มายพอร์ตโฟลิโอ คอนเทสต์ 3 เวทีของนักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก ไซเบอร์แพลนเน็ตคว้ารางวัลเอเชีย-แปซิฟิก อ.ชิตหวังให้เด็กเข้าใจ หุ่นยนต์ ไม่ใช่แค่ความคิดจากฮอลลีวูด กล้องมองทะลุกำแพงช่วยงานตำรวจวางแยกชิงตัวประกัน หาตัวผู้รอดชีวิตจากตึกถล่ม นักบินอวกาศรัสเซียวาดวงสวิง ตีกอล์ฟในอวกาศ ด้วยมือเดียว โชว์พลังมด! ประเดิมเทศกาลหนังวิทยาศาสตร์
ข่าววิจัย/พัฒนา
ประดิษฐ์หุ่นยนต์แสนฉลาด รู้จักทำงานและแก้ตัว เองได้ นอนหลับสนิทดีทำให้เกิดปัญญาดี นร.สอบคะแนนดีล้วนแต่นอนหัวค่ำ บอกบ๊อดไม้ขีดโบราณบั้งโพล๊ะโปรเจ็กไทล์ งานวิจัยครูไทยดึงวิทย์ใกล้ท้องถิ่น สจล.ร่วมขบวนคิดหุ่นยนต์กู้ภัยตึกถล่ม ติดกล้องวิดีโอปรับทิศทางค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึก เข้านอนซึมเศร้าแต่ตื่นเช้าคึกคัก เพราะฮอร์โมน พลังงานเพิ่ม ก้าวแรกของนักสร้างหุ่นยนต์ โคราชซิ่งรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ฝีมือ มทร.อีสานช่วยชาติรับมือน้ำมันแพง
ข่าวทั่วไป
เรียกคืนเครื่องราชฯ การแก้ไขคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ พยาบาล 90,000 คนรวมพลังตรวจคัดกรองโรคฟรี 9 ธ.ค.นี้ เผยเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงวันละ 37 คน อิสราเอลพึ่งนาโนเล็งสร้างอาวุธจิ๋วพิฆาตอริแบบไม่ทันเห็นตัว ย้ำสื่อตระหนักถึงสังคม ซีดีเอ็มเอ จีนสร้างโรงไฟฟ้า พลังแสงอาทิตย์ขนาดยักษ์
ข่าวการศึกษา
เล็งปรับแอดมิชชันปี 52 เพิ่มสอบโอเน็ตทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าววานนี้ (19 พ.ย.) ว่า ได้หารือถึงการปรับระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (แอดมิชชั่น) ที่จะเริ่มในปี 2552 ร่วมกับ นายปรัชญา เวสารัชช์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ ศ.ดร.อุทมพร จามรมาน ประธานคณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชั่นของ ทปอ. และผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่จัดสอบ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานมี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมทั้งมีนโยบายนำคุณธรรมนำความรู้ จึงหารือกันว่าจะมีแนวทางใดที่จะประเมินให้คุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งในรายงานการศึกษาขั้นพื้นฐานในค่าเฉลี่ยตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (จีพีเอเอ็กซ์) เพื่อให้มีคุณลักษณะปรับการประเมินให้มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อยุติและได้ให้ สทศ.ไปคิดหาวิธีประเมินหาค่าน้ำหนักดังกล่าว แต่การหารือเห็นว่าควรจัดสอบโอเน็ตเพิ่มให้ครอบคลุมทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
วิจิตร แนะเร่งปรับบทบาทสภา ม.
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การส่งเสริมของรัฐเพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยในกำกับอย่างมีคุณภาพ ในการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปี 2549 ว่า การส่งเสริมมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ตนจำแนกแนวทางในการส่งเสริมของทางรัฐบาล คือ ด้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งเหลืออีก 20 แห่ง ตนยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และได้มีการหารือกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ว่า หากมหาวิทยาลัยใดที่ยังยืนยันจะออกนอกระบบ ก็ให้ผ่านความเห็นชอบแค่ ครม. และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เลย ไม่ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ให้การสนับสนุน และบอกในการประชุม ครม.เองว่า เรื่อง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องการ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเสนอร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างรอบคอบ ตนจึงเสนอแนวปฏิบัติ คือ ให้สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยืนยันตามร่าง พ.ร.บ.เดิม ที่ เคยตกไปในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเรื่องเสนอต่อ สนช.ต่อไป
การก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ต้องทบทวนในบทบาทของสภามหาวิทยาลัย ต้องส่งเสริมความเข้มแข้งให้กับสภามหาวิทยาลัย เพราะถือเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย หากสภามหาวิทยาลัยยังเป็นแบบเดิม ผมมองว่ายังไม่เอื้อต่อการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หากสภามหาวิทยาลัยใด ที่ในการประชุมแต่ละครั้ง มีเอกสารการประชุมเป็นตั้งๆ ยังไม่ถือเป็นสภามหาวิทยาลัย เพราะงานของสภามหาวิทยาลัยต้องดูเชิงนโยบาย ไม่ล้วงลูก ไม่ก้าวก่ายงานอธิการบดี
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
อภิสิทธิ์ไม่เชื่อรัฐบาลดันมหาลัยออกนอกระบบได้หมด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษเรื่อง อนาคตของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในการประชุมวิชาการ ทปอ. ประจำปี 2549 เรื่อง ทิศทางการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เห็นว่าไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังใช้เวลาในการผลักดันมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือการออกนอกระบบนานมาก เนื่องจากมีการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2507 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตลอดเวลา แม้หลายเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงสามารถหาข้อยุติได้ เช่น การออกนอกระบบจะไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าเล่าเรียนจริงหรือ หรือออกนอกระบบไปแล้วจะกระทบต่อการใช้เสรีภาพทางวิชาการจริงหรือไม่ เป็นต้น แต่ก็ยังหาข้อยุติกันจนทำให้เรื่องการออกนอกระบบยังเป็นปัญหาวุ่นวายและสับสนอยู่อย่างนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนจะผลักดันการออกนอกระบบ ก็มีจดหมาย อีเมลจากนักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัย และประชาชนที่คัดค้านและต่อต้านเรื่องนี้มาถึงตนเป็นจำนวนมาก โดยเหตุผลก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้นรัฐบาลและมหาวิทยาลัยจะต้องออกมาทำความชัดเจนเพื่อให้ประชาคมอุดมศึกษา และสังคม เข้าใจและยอมรับที่ว่าการออกนอกระบบจะทำให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศได้
อยากเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทำสัญญาประชาคมกับรัฐบาลในการออกนอกระบบ โดยอาจจะออกเป็นกฎหมายการคลังสำหรับอุดมศึกษา ในเรื่องการ รับภาระต้นทุนทางการศึกษาของอุดมศึกษาในแต่ละสาขาที่ว่าจะให้รัฐและนักศึกษามีส่วนในการรับภาระจำนวนเท่าใด มีกติกาในการจัดการเรียนอย่างไร งบประมาณด้านการวิจัย งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งถ้าทำได้การออกนอกระบบก็ไม่ใช่เรื่องยาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเรื่องร่างกฎหมาย การออกนอกระบบมากจนเกินไป เพราะยังมีเรื่องสำคัญกว่า คือ การทำความเข้าใจกับบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินงาน เมื่อออกนอกระบบไปแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งตนขอย้ำว่าหัวใจสำคัญของการออกนอกระบบอยู่ที่การมีธรรมาภิบาล และแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างความมั่นใจว่าเมื่อออกนอกระบบแล้วจะมีธรรมาภิบาลให้ได้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าภายในเวลา 1 ปีของรัฐบาลชุดนี้จะไม่สามารถผลักดันมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบได้ทั้งหมด แต่จะเป็นการก้าวกระโดดที่จะไปเป็นฐานแข็งแกร่งในการออกนอกระบบ
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.dailynews.co.th)
เด็กบัณฑิตพัฒนศิลป์เฮ! ครม.ยกเป็นนิติบุคคล-สอนถึงป.ตรี
คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ....ตามที่ วธ.เสนอ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ ช่างศิลป์รวม 14 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่จัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ในระดับ ปวช. ปวส. สามารถจัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาตรี มีฐานะเป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินงานได้โดยอิสระ ทั้งงบประมาณ จัดการศึกษา ส่งเสริมการผลิตบุคลากร เพื่อทำหน้าที่ช่างศิลปกรรม ศิลปินอาชีพ นักวิชาการศิลปะ และนักวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยจะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ส่วนกลุ่มงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของกรมศิลปากร ที่ยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ทำงานด้านการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุนั้น เบื้องต้นทราบว่าวิชาดังกล่าวยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเช่นยุโรป อเมริกา เพราะเป็นเทคนิคเฉพาะ ดังนั้น หากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีความพร้อมมากกว่านี้ น่าจะสามารถเปิดหลักสูตรพิเศษด้านงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ นำร่องเป็นสาขาวิชาโทให้นักศึกษาเลือกเรียน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมฝึกงานในพื้นที่ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ด้วย
(คมชัดลึก จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
เสนอแอดมิชชั่นส์ปี52 สอบโอเน็ตรวมจีพีเอ
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ประธานคณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชั่นส์ และผู้ที่เกี่ยวข้องถึงระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาว่า ในปี 2550-2551 ยังคงหลักการเดิม แต่ปี 2552 ต้องปรับระบบใหม่ กล่าวคือ การจัดทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จะสอบเพิ่มจาก 5 กลุ่มสาระ เป็น 8 กลุ่มสาระวิชา ให้เท่ากับที่โรงเรียนจัดสอน คือ เพิ่มวิชาศิลปะ การงานอาชีพ และสุขศึกษาและพลศึกษา
ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า ขอให้มหาวิทยาลัยตั้งหน่วยงานกลางขึ้นทำหน้าที่ธุรการในการรับนักศึกษาและให้สำรวจว่า การจัดสอบความถนัดวิชาเฉพาะนั้นต้องเพิ่มเติมอะไรอีก แต่ไม่อยากให้เรียกว่า ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง (เอเน็ต) เพราะถูกสื่อความไปว่าเป็นข้อสอบที่ออกเกินหลักสูตร ทั้งนี้ ตนจะหารือกับ สพฐ.และให้ประธาน ทปอ.หารือกับมหาวิทยาลัย และหาข้อยุติกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุป และประกาศก่อนที่ใช้จริง
ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า คณะทำงานแอดมิชชั่นส์จะเร่งจัดทำพิมพ์เขียวระบบการคัดเลือกที่จะใช้ในปี 2552 เสนอ ทปอ.เพื่อหารือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และคณะทำงาน ก่อนเสนอ รมว.ศธ. เพื่อให้ได้ข้อยุติภายในสิ้นปี 2549
(คมชัดลึก จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
นศ.ม.รามฯ ยื่นหนังสือ วิจิตรและสุรยุทธ ค้านม.ออก
นายนฤพล นิยมทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ และอดีตรองเลขาธิการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมคณะได้เดินทางมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล และศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของมหาวิทยาลัย 4แห่ง ที่ จะนำเข้าครม.ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน ว่า ตามที่ครม.ได้มีการยืนยันร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ(ม.นอกระบบ) เนื่องจากเรื่องการศึกษาของชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีการ ศึกษาถึงผลกระทบทั้งด้านดีและด้านเสียให้รอบครอบเสียก่อน ไม่ควรรีบร้อนดำเนินการขณะนี้ และควร ดำเนินการตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอากจากนี้ยังเห็นว่าคณะนี้ ครม. มีเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการมากกว่าเรื่อง ม. นอกระบบ ตามที่ ครม.ประกาศไว้กับสาธารณชนไว้ จึงขอให้พิจารณาดำเนินการถอนเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน เรากำลังจะประสานกับนักศึกษาทุกมหาวิท ยาลัยเพราะเห็นว่าหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ค่าหน่วยกิจแพงขึ้นแน่นอน และจะทำให้เกิด ช่องว่างระหว่างชนชั้นมากขึ้นด้วย คนจนจะไม่ได้เรียนมากขึ้น และผู้บริหารก็จะมองความคล่องตัว การ จัดซื้อจัดจ้างมากกว่า และมองลูกศิษย์เป็นเพียงลูกค้า ส่วนที่ทปอ.จะเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ให้ไม่น้อยกว่าที่มหาวิทยาลัยยังไม่ออกนอกระบบ นั้น พวกเราก็ยังจะคัดค้าน เพราะมหาวิทยาลัยที่ออก นอกระบบแล้วก็ยืนยันว่าจะไม่ขึ้นค่าหน่วยกิจ แต่ไปขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆแทนผมว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ควร มาทำเรื่องม.ออกนอกระบบ ควรปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำเรื่องนี้จะดีกว่า และอยาก ให้รัฐบาลนี้ดำเนินการเรื่องอื่นที่มีความจำเป็นต้องทำอีกหลายเรื่อง
(แนวหน้า พุธที่ 22 พ.ย. 2549 http://www.naewna.com.)
สพฐ.เปิดอัตราเงินอุดหนุนรายหัวใหม่
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่นักเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 2,280 ล้านบาท โดยการจัดสรรงบรายหัวในอัตราใหม่จะเริ่มตั้งแต่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ซึ่งในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะใช้งบฯกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราใหม่ของเงินอุดหนุนรายหัวต่อภาคเรียนเป็นดังนี้ ก่อนประถมศึกษารายหัวละ 483 บาท ประถมศึกษารายหัวละ 683 บาท ม.ต้นรายหัวละ 1,183 บาท และ ม.ปลายรายหัวละ 1,533 บาท รวมถึงจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มให้แก่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน โดยเพิ่มให้นักเรียนก่อนระดับประถมศึกษา และประถมศึกษาอีกคนละ 250 บาทต่อภาคเรียน และระดับ ม.ต้นและ ม. ปลายอีกคนละ 500 บาทต่อภาคเรียน
หลังจากนี้ สพฐ.จะทำวิจัยเพื่อศึกษาดูว่าหลังจากเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวแล้ว ส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษามากน้อยแค่ไหน รวมถึงในส่วนโรงเรียนขนาดเล็กด้วย เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป คุณหญิงกษมา กล่าวและว่า นอกจากนี้ สำนักงบประมาณยังได้วางแนวทางที่จะอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนในปีงบฯ 2551 จำนวน 4,825 ล้านบาท ปีงบฯ 2552 จำนวน 4,833 ล้านบาท และปีงบฯ 2553 จำนวน 2,624 ล้านบาท เพื่อทยอยเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนทั้ง 12 ล้านคน ภายในเวลา 3 ปี ดังนั้น โรงเรียนจะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเต็มจำนวนตามงานวิจัยของ ศธ. ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 โดยระดับก่อนประถมศึกษาเป็น 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 3,500 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3,800 บาท รวมเป็นงบฯที่เพิ่มขึ้นอีกทั้งหมดประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
ด้านนายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้กับโรงเรียนในสังกัดทุกแห่งได้แล้วเสร็จก่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 ประมาณเดือน พ.ค.แน่นอน และ สพฐ.ไม่อนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองเพิ่มเติม นอกจากจะเป็นการระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองได้ตามความสมัครใจ.
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549
http://www.thairath.co.th)
เด็กไทยเจ๋งคว้าคะแนนสูงสุด พร้อมซิว 2ทอง - 5เงิน 'คณิต-วิทย์ โอลิมปิก'
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.เปิดเผยว่า สพฐ.ได้ส่งตัวแทนเด็กนักเรียนไทยระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับช่วงชั้นที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย. ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 12 ประเทศ
ผลปรากฏว่าตัวแทนนักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันครั้งนี้ได้ถึง 8 รางวัล โดยเฉพาะผลการแข่งขันคณิตศาสตร์ ได้รับรางวัลคะแนนสูงสุดของทุกประเทศ ได้แก่ ด.ช.นิปุณ ปิติมานะอารี รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ รางวัลเหรียญทอง 2 เหรียญ ได้แก่ ด.ช.นิปุณ ปิติมานะอารี รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ และ ด.ช.วีรชัย นีรนาทวงศ์ รร.เซนต์ดอมินิค กรุงเทพฯ รางวัลเหรียญทองแดง 3 เหรียญ ได้แก่ ด.ช.ธีรวัฒน์ คูศิริรัตน์ รร.อนุบาลอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ ด.ช.พัฒรัฐ ช่างประหยัด และ ด.ช.วีรประพันธ์ กิตติพิบูลย์ รร.อนุบาลนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
สำหรับผลการแข่งขันวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัล 2 รางวัล คือ รางวัลเหรียญเงิน ได้แก่ ด.ญ.สุทัศนี ประเสริฐสุข รร.อนุบาลสาธิตมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จ.ปัตตานี และ ด.ช.ชัยพัฒน์ วิญญวิจิตร รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549
http://www.dailynews.co.th)
สกอ.เปิดคะแนนสูง/ต่ำวิชาเฉพาะปี 2550
นางศศิธร อหิงสโก ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ผลคะแนนสอบวิชาเฉพาะ เดือนตุลาคมประจำปี 2550 ในแต่ละวิชาเป็นดังนี้ วิชาความถนัดทางวิศวกรรม มีผู้เข้าสอบ 52,552 คน คะแนนต่ำสุด 2.00 คะแนนสูงสูด 85.00 คะแนนค่าเฉลี่ย 28.24 ความถนัดทางสถาปัตยกรรม เข้าสอบ 10,935 คน ต่ำสุด 3.00 สูงสุด 94.00 ค่าเฉลี่ย 34.90 ความถนัดทางวิชาชีพครู เข้าสอบ 93,936 คน ต่ำสุด 1.00 สูงสุด 84.00 ค่าเฉลี่ย 42.93 ความรู้ความถนัดทางศิลป์ เข้าสอบ 2,059 คน ต่ำสุด 14.00 สูงสุด 77.00 ค่าเฉลี่ย 41.49 ทฤษฎีทัศนศิลป์ เข้าสอบ 1,457 คน ต่ำสุด 11.00 สูงสุด 83.00 ค่าเฉลี่ย 23.83 วิชาปฏิบัติทัศนศิลป์ เข้าสอบ 1,396 คน ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 80.00 ค่าเฉลี่ย 23.83 ทฤษฎีนฤมิตศิลป์ เข้าสอบ 1,653 คน ต่ำสุด 25.00 สูงสุด 78.00 ค่าเฉลี่ย 46.34 ปฏิบัตินฤมิตศิลป์ เข้าสอบ 1,594 คน ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 84.00 ค่าเฉลี่ย 38.17 วาดเส้น เข้าสอบ 2,746 คน ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 85.00 ค่าเฉลี่ย 23.86 องค์ประกอบศิลป์ เข้าสอบ 2,229 คน ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 98.00 ค่าเฉลี่ย 22.73 และความถนัดนิเทศศิลป์ เข้าสอบ 4,127 คน ต่ำสุด 0.00 สูงสุด 100.00 และค่าเฉลี่ย 14.54
ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สทศ. ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาและนักวัดผล เพื่อสร้างข้อสอบมาตรฐาน ดังนี้ แบบทดสอบความรู้ขั้นพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระ 4 ช่วงชั้น (ป.3, ป.6, ม.3, ม.6) แบบทดสอบความรู้ขั้นลึกซึ้ง เน้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ปัญหา 8 กลุ่มสาระ 4 ช่วงชั้น แบบทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ แบบวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์บางประการที่สำคัญ 4 ช่วงชั้น และแบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ 4 ช่วงชั้น โดยคาดว่าจะเริ่มสร้างข้อสอบได้ในเดือนธันวาคม 2549.
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549
http://www.dailynews.co.th)
ทปอ.เสนอ5แนวทางดันมหา'ลัยนอกระบบ
ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่ารัฐบาลจะผลักดันมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือการออกนอกระบบ ดังนั้นทปอ. จึงได้สรุปแนวทางส่งเสริมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในกำกับฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่ 1. รัฐต้องจัดสรรงบฯ ให้อย่างเพียงพอในลักษณะของเงินอุดหนุนทั่วไปที่สามารถกำหนดรายละเอียดในการนำไปใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัวภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 2. ในกรณีปรับค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ข้าราชการโดยรวมก็ขอให้จัดสรรงบฯเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่ม ค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรที่ยังมีสถานะเป็นข้าราชการด้วย 3. การคำนวณงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทนบุคลากร ให้คิดจากฐานเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่าง อื่นของข้าราชการพลเรือน ดังนั้นหากมีการปรับเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ของข้าราชการพลเรือน ทางรัฐบาลก็ต้องจัดเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้แก่มหา วิทยาลัยในกำกับฯด้วย
ประเด็น ที่ 4. ให้มหาวิทยาลัยในกำกับฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีตลอดจนค่าธรรมเนียม ต่าง ๆ เสมือนส่วนราชการ และให้มหาวิทยาลัยในกำกับฯ มีฐานะเป็นกรม และได้รับสิทธิต่าง ๆ เหมือนส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และ 5. ปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมข้าราชการ ดังนั้นหากครม.อนุมัติ ในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขอให้พิจารณารวมไปถึงพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งนี้ตนจะ ทำหนังสือเวียนชี้แจงรายละเอียดถึงมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง ก่อนจะสรุปอีกครั้งและนำมารวมกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งเป็นกฎหมายกลาง จากนั้นจะเสนอ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ก่อนนำเข้าครม. ต่อไป
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549 http://www.dailynews.co.th)
"อธิการบดี"เล็คเชอร์อนาคต "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ"
วันที่ 17-18 พ.ย.2549 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดการประชุมวิชาการ ทปอ. ประจำปี 2549 ที่วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา โดยมีอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมประมาณ 300 คน
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษเปิดงาน เรื่อง "การส่งเสริมของรัฐเพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยในกำกับอย่างมีคุณภาพ" ทั้งนี้การสัมมนาดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งยังมีร่าง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยอีก 20 แห่ง จ่อคิวรอการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีอำนาจในการบริหารจัดการคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุม ทปอ. ยังได้อภิปรายเรื่อง "การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ไม่ยากเกินกว่าจะทำ : ประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศ" โดย รศ.ดร.วัชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศ.นพ.อดุลย์ วิริยเวชกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมทั้งการบรรยายพิเศษเรื่อง "อนาคตของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธาน ทปอ. เป็นประธานสรุปข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยในกำกับอย่างมีคุณภาพ
รศ.ดร.วันชัยกล่าวถึงข้อดี-ข้อเสียของการออกนอกระบบ ว่า การออกนอกระบบเป็นเรื่องที่ง่าย แต่การจะทำให้ดีนั้นทำได้ยาก เพราะขณะนี้ก็มีบางมหาวิทยาลัยถกเถียงเรื่องการออกนอกระบบ หากมหาวิทยาลัยทุกแห่งออกนอกระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็จะเอื้อประโยชน์ให้ แต่ขณะนี้มีเพียง 4 แห่งที่ออกนอกนระบบ ทำให้มีสภาพเหมือนลูกเมียน้อยเป็นปัญหาทางการจัดการ ที่สำคัญสาธารณชนยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมีศรัทธากับการออกนอกระบบ พยายามสร้างความเข้าใจกับ
บุคลากรภายในสร้างความหวังถึงเส้นทางการเติบโตในอนาคตเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและสภามหาวิทยาลัยต้องมีการบริหารแบบมิติใหม่ ทำงานเชิงนโยบาย ที่สำคัญถึงจะมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ก็ต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของรัฐบาลด้วย
(มติชน ศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2549 http://www.matichon.co.th)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
เลิกใช้แสงเลเซอร์สู้มะเร็ง เลือกไฟแรงสูงถูกกว่า กันเยอะ
หัวหน้าคณะนักวิจัย นายเจฟฟรี กอร์ดอน มหาวิทยาลัยเบน กูเรียน ทางภาคใต้ของอิสราเอล กล่าวว่า เราใช้เทคโนโลยีพื้นๆ แทนลำแสงเลเซอร์
ตามรายงานผลการศึกษา ที่เสนอในวารสารวิชาการ ชีวเวชวิทยา ได้แสดงว่าแสงที่ใช้เป็นแสงแรงสูงของหลอดไฟที่ใช้ในการพาณิชย์ คล้ายกับหลอดไฟที่ใช้กันอยู่ในเครื่องฉายภาพยนตร์ บังคับด้วยเครื่องมือทางจักษุวิทยา ให้มันเผาไหม้เนื้อเยื่อปกติของหนูในการทดลอง เราได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ต้องใช้ลำแสงเลเซอร์ ก็สามารถจะเผาเนื้อเยื่อได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
เขาแจ้งว่าจะได้ทดลองใช้กับเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและกับคนในที่สุด ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
เอาใจผู้สูงวัยด้วยไม้เท้าไฮเทค ล้มเมื่อไรเรียกรถ ฉุกเฉินได้ทันที
นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันพัฒนาซอฟต์แวร์ทดลอง ฟรอนอฟเฟอร์ ในไกเซอร์สเลาเทิร์น ได้ประดิษฐ์ไม้เท้าชื่อ ไอ-สติ๊ค เป็นส่วนหนึ่งของโครงการช่วยเหลือการดำรงชีวิต แอสซิสเทด ลิฟวิ่ง ที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
รายงานแจ้งว่า หากตัวเซ็นเซอร์ในไม้เท้าพบว่าอยู่ในตำแหน่งตามแนวนอน ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของไม้เท้าล้มลง มันก็จะส่งสัญญาณไปยังหน่วยควบคุม ให้ส่งข้อความบอกเจ้าของให้เก็บไม้เท้าขึ้น ถ้าไม้เท้ายังคงอยู่ที่พื้น ไม่ถูกเก็บขึ้นมา กล่องควบคุมที่ตั้งโปรแกรมไว้ ก็จะโทร.ไปเรียกทั้งรถพยาบาลโดยตรง และโทร.ไปหาญาติที่เลือกตั้งโปรแกรมเอาไว้แล้ว ขณะนี้ไม้เท้า ไอ-สติ๊ค ยังไม่ได้วางจำหน่ายที่ใด แต่นักวิทยาศาสตร์ยังอยู่ระหว่างหาผู้จัดจำหน่ายอยู่.
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
มายพอร์ตโฟลิโอ คอนเทสต์ 3 เวทีของนักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก
โครงการมายพอร์ตโฟลิโอคอนเทสต์ ครั้งที่ 3 หรือ My Portfolio Contest V.3 เป็นความร่วมมือระหว่างซิป้า (สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ) อินเทล และนิตยสารเมนู คอมพิวเตอร์ มายพอร์ต โฟลิโอ เป็นการประกวดผลงานด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียของนักศึกษาทั่ว ประเทศ
นักศึกษาต้องส่งผลงานด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย ในหัวข้อ Thai Fantasy เพื่อเน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ความยาว 60 วินาที จนได้ผู้เข้ารอบสุดท้าย 20 คน จากนั้นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียก็จะคัดเลือกเพื่อหาผู้ชนะเลิศเพื่อทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันบนเวทีการประกวดด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกและอินเทอร์แอคทีฟมีเดียระดับโลก หรือที่ผู้คนในวงการแอนิเมชั่นเรียกว่า งาน SIGGRAPH ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีหน้า
คณะกรรมการตัดสินของโครงการประกวดฯ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น คือ นายลักษมณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิ เมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทย (หรือ TACGA) นายคมภิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น เรื่อง ก้านกล้วย และนายสุรเชษฐ เฑียรบุญเลิศรัตน์ ผู้อำนวยการบริษัท บลู แฟรี่ จำกัด
โรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ รัชโยธิน เล็กและคับแคบไปทันที เมื่อกองเชียร์ของผู้ที่ผ่านเข้ารอบต่างมาส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจเพื่อนบนเวที
ผลการตัดสินปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศเป็นของ นายชัยชาญ อาจวิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอม เกล้าธนบุรี รางวัลรองชนะเลิศ มีสี่อันดับคือ นายจุฑา มั่นยิ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยบูรพา นายพลากร นาวาทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรังสิต นางสาววณิชยา แพร่จรรยา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ นายเอกลักษณ์ ประเสริฐบุญใหญ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.dailynews.co.th)
ไซเบอร์แพลนเน็ตคว้ารางวัลเอเชีย-แปซิฟิก
ไซเบอร์แพลนเน็ตคว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานทรีดี เอ็นจิ้น ในการประกวดโครงการเอเชีย-แปซิฟิก ไอซีทีอวอร์ด 2006 ที่มาเก๊า เอาชนะคู่แข่งจาก 15 ประเทศจากเอเชีย-แปซิฟิก
โครงการเอเชีย แปซิฟิก ไอซีทีอวอร์ด 2006 จัดขึ้น ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษมาเก๊า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการแข่งขัน 15 ประเทศ ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก โดยไซเบอร์แพลนเน็ต ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในสาขาแอพพลิเคชั่นและอินฟราสตรัคเจอร์ ทูลล์ (Applications and Infrastructure tools) จากผลงาน ทรีดี เอ็นจิ้น (3D Engine) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้โปรแกรม เมอร์นำมาใช้ในการสร้างผลงานสามมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดเด่นที่ทำให้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้นั้น ได้แก่ ศักยภาพในการใช้งานของ 3D Engine ที่เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วมีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า เหมาะในการนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ได้เป็นอย่างดี
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.dailynews.co.th)
อ.ชิตหวังให้เด็กเข้าใจ หุ่นยนต์ ไม่ใช่แค่ความคิดจากฮอลลีวูด
มีการลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระหว่างศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทั้งนี้จะมีการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์และกิจกรรมพิเศษสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการและผลงานทางด้านหุ่นยนต์ตลอด 3 ปีของระยะเวลาความร่วมมือ
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการ FIBO เปิดเผยภายหลังที่มีการลงนามว่า คาดหวังให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจกุญแจสำคัญของเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ ไม่ใช่เพียงความคิดที่แปดเปื้อนมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด จากนั้นก็หวังว่าเด็กที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์นั้นจะมีความสามารถในการเข้าถึงความรู้เองได้ รวมถึงสามารถถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ ทั้งนี้ได้เคยให้นักเรียนมัธยมมาบรรยายให้ความรู้นักศึกษาปริญญาเอก เพราะมีความรู้ดีทางด้านเซนเซอร์เนื่องจากได้ลงมือในการปฏิบัติจริง
นอกจากนี้ FIBO จะได้จัดกิจกรรมที่จุดประกายความคิดด้านหุ่นยนต์ให้กับเยาวชนมากขึ้น โดยเริ่มจากหุ่นยนต์เดินได้ที่ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น ไม้ไอติม ไม้เสียบลูกชิ้น และกระดาษลูกฟูก เป็นต้น ซึ่ง นายปิติวุฒญ์ ธีรกิติกุล นักวิจัยจาก FIBO กล่าวว่า หุ่นยนต์ประดิษฐ์จะช่วยจุดประกายความคิดเยาวชนว่าหุ่นยนต์ไม่ยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังทำให้เยาวชนเห็นว่าสามารถเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาประดิษฐ์เป็นหุ่นยนต์ได้
การประดิษฐ์หุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้มี 2 ส่วนด้วยกันคือ 1.โครงสร้างหุ่นยนต์ ใช้ไม้ไอติมและไม้เสียบลูกชิ้นเป็นขาของหุ่นยนต์ 2.ระบบไฟฟ้า ซึ่งต่อมอเตอร์เข้ากับแบตเตอรี่ แล้วนำมาประกอบเป็นหุ่นยนต์เดินได้ ทั้งนี้นายปิติวุฒญ์กล่าวว่าแม้หุ่นยนต์จะประดิษฐ์ได้ง่าย แต่ขั้นตอนการคิดยาก เพราะต้องใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับการทำงานของหุ่นยนต์ และก็ใช้เวลาเป็นเดือนทดลองประดิษฐ์จนได้หุ่นยนต์ที่เดินได้จริง
(ผู้จัดการ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.manager.co.th)
กล้องมองทะลุกำแพงช่วยงานตำรวจวางแยกชิงตัวประกัน หาตัวผู้รอดชีวิตจากตึกถล่ม
บริษัทเอกชนพัฒนากล้องวิเศษ สามารถมองทะลุกำแพงได้ มุ่งช่วงงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่รับมืออาชญากร มองเห็นพฤติกรรมของคนร้ายและวางแนวคิดปรับเปลี่ยนวิธีที่จะรับมือกับคนร้ายในกรณีที่มีตัวประกันได้
รวมถึงการค้นหาผู้เคราะห์ร้ายติดอยู่ในซากอาคารในกรณีไฟไหม้และแผ่นดินไหว
ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกจับอยู่ในบ้านทุกครั้ง ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัยมักเจาะกำแพงอาคารใต้บริเวณที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมอยู่ และสอดกล้องวิดีโอขนาดจิ๋วเข้าไปเพื่อสอดแนมพฤติกรรมของคนร้าย และการเคลื่อนไหวภายในสถานที่เกิดเหตุ เทคนิคนี้ถูกใช้ในกรณีการจับทูตอิสราเอลเป็นตัวประกันในลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2523 แต่ในการขุดเจาะอาคารซึ่งมักเกิดเสียงดัง ตำรวจต้องสร้างสถานการณ์ให้คนงานมาทำการขุดเจาะอยู่ใกล้ๆ บริษัทเทคโนโลยีของอังกฤษรายหนึ่งได้พัฒนากล้องทะลุทะลวงขึ้นมาเรียกว่า "ปริสึม 200" เพื่อใช้มองทะลุกำแพงดูการเคลื่อนไหวของคนร้าย อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดพอกับกระเป๋าเอกสารขนาดใหญ่ ใช้เรดาร์คลื่นสั้นติดตามการเคลื่อนไหวของคนที่อยู่หลังกำแพง หรืออยู่ในบ้านได้ เปิดช่องทางให้ตำรวจสามารถตัดสินใจได้ว่าจะบุกจู่โจมบริเวณไหนและตอนไหนเหมาะสม รวมถึงช่วยนักกู้ภัยในการค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังกรณีไฟไหม้หรือแผ่นดินไหว
อุปกรณ์ที่พัฒนาโดย อลัน วิล์ตเชียร์ จากเคมบริดจ์ คอนซัลแทนท์ส สามารถเห็นภาพภายในบ้านได้ทันที โดยเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่ภายในไม่รู้ตัวว่าถูกลอบจับตา ตัวเครื่องทำงานโดยการยิงคลื่นเรดาร์ด้วยความถี่ 100 ครั้งต่อวินาที จากนั้นฟังเสียงสะท้อนจากด้านในอาคารแล้วนำมาวิเคราะห์ เรดาร์นี้มีรัศมีทำงาน 20 เมตรโดยรอบ เพียงแค่ติดไว้ที่กำแพง หรือวางไว้บนโต๊ะห่างกำแพง 2-3 เมตร
"เสียงที่สะท้อนกลับมาจะถูกนำไปวิเคราะห์ พร้อมกับบันทึกและจดจำว่าอะไรที่เป็นวัตถุอยู่กับที่ จากนั้นเราสามารถเฝ้าดูการเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นคน" อลัน กล่าว และแม้เรดาร์จะเป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลาย แต่ อลัน เชื่อว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะมองทะลุสิ่งของภายในห้องหรืออาคารนั้นๆ
(คมชัดลึก พุธที่ 22 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
นักบินอวกาศรัสเซียวาดวงสวิง ตีกอล์ฟในอวกาศ ด้วยมือเดียว
มิคาอิล ไทอูริน วิศวกรการบินชาวรัสเซียจะตีลูกกอล์ฟ จากแท่นที่อยู่เหนือท่าเทียบจอดยานของไอเอสเอส โดยมีบริษัทผู้ผลิตไม้กอล์ฟของแคนาดาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนี้ เขาเผยว่า เคยเล่นฮอกกี้น้ำแข็งมาก่อนและคิดว่ามันคล้ายกับการตีกอล์ฟมาก ไทอูรินได้ฝึกซ้อมหวดลูกกอล์ฟอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่จะลงมือจริงขณะออกไปเดินในอวกาศในวันพุธ และมั่นใจว่าจะมีความปลอดภัย
ด้านสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา ได้ชะลอโครงการนี้มาหลายเดือนในระหว่างที่รอให้ผู้เชี่ยวชาญ ด้านความปลอดภัยตรวจสอบเส้นทางโคจรของไอเอสเอส เพื่อให้มั่นใจว่าลูกกอล์ฟจะไม่กระแทกถูกยาน
นายไทอูรินอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ไอเอสเอสตั้งแต่เดือนกันยายน จะไม่ถึงกับหวดโชว์วงสวิงอย่างเต็มที่ แต่จะแค่ใช้ไม้ แตะลูกกอล์ฟเท่านั้น เนื่อง จากลูกกอล์ฟมีน้ำหนักเพียง 4.5 กรัม หรือ 1 ใน 10 ของน้ำหนักลูกกอล์ฟมาตรฐาน และจะใช้เพียงมือเดียวในการตีลูก เพราะชุดนักบินอวกาศที่เทอะทะ ทำให้จับไม้พร้อมกันสองมือไม่ได้ โดยจะมีนายไมเคิล โลเปซอะเลอเกรีย ผู้บังคับยานไอเอสเอสออกไปเดินในอวกาศด้วยเพื่อบันทึกภาพ สำหรับใช้ในภาพยนตร์โฆษณาของบริษัทเอเลเมนต์ 21 กอล์ฟ ผู้ออกค่าใช้จ่ายในครั้งนี้
การตีลูกกอล์ฟนอกโลกเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2514 ในครั้งนั้นนายอลัน เชฟเฟิร์ด นักบินอวกาศชาวอเมริกันตีลูกกอล์ฟบนดวงจันทร์ด้วยเหล็ก 6 ขณะปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์กับยานอวกาศอะพอลโล 14 แถมยังคุยด้วยว่า ลูกกอล์ฟไปไกลหลายไมล์ในสภาพบรรยากาศไร้น้ำหนักของดวงจันทร์.
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
โชว์พลังมด! ประเดิมเทศกาลหนังวิทยาศาสตร์
พิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ (Science Film Festival 2006) ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ (ท้องฟ้าจำลอง) กรุงเทพฯ เริ่มขึ้นแล้วเมื่อค่ำวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนของ สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน โดยได้กล่าวว่าภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จะช่วยสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมไทย
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.วิจิตร ยังได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลในโครงการประกวดภาพถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นโดย สสวท. โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ นายเอกอนันท์ จันทร์เอี่ยม ซึ่งส่งภาพที่แสดงปฏิกิริยาเคมีในนาเกลือ ในชื่อภาพ ฟ้า ส้ม ขาว โดย ฟ้าหมายสีน้ำทะเลในนาเกลือ ส้มคือสีของปฏิกิริยาเคมีในนาเกลือ และสีขาวคือผลึกเกลือ ทั้งนี้ภาพที่ได้รับรางวัลครั้งนี้จะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในวิถีไทย ณ ท้องฟ้าจำลอง พร้อมๆ กับเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์
(ผู้จัดการ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549 http://www.manager.co.th)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ประดิษฐ์หุ่นยนต์แสนฉลาด รู้จักทำงานและแก้ตัว เองได้
วารสาร ไซเอินซ์ ฉบับล่าสุดเมื่อ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา รายงานว่าทีมนักวิจัยดังกล่าวได้ ประดิษฐ์หุ่นยนต์สี่ขาที่ดูรูปทรงเหมือนหุ่น ยนต์ง่ายๆ แต่ว่ากลไกภายในนั้นได้ใส่ชุดคำสั่งสำหรับแก้ปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่าหุ่น ยนต์ทั่วไปเอาไว้ เพื่อใช้จัดการกับบรรดาสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอันอาจจะต้องเผชิญในยามปฏิบัติงานจริง เช่น การสำรวจอวกาศ และอาจนำไปช่วยทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ได้อีกด้วย
ทีมนักวิจัยบอกว่า แทนที่จะให้ชุดคำสั่งที่ค่อนข้างตายตัวแก่หุ่นยนต์เอาไว้ พวกเขาพบว่าน่าจะลองปล่อยให้มันไปเผชิญสถานการณ์ตามธรรมชาติแล้วให้มันทำงานเองว่า จะควบคุมตัวเองอย่างไร ซึ่งเป็นกระบวนการที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ในช่วงทารก หรือสัตว์ค้นพบสภาพแวดล้อมรอบตัว หุ่นชนิดนี้จึงมี โมเดลของตัวเอง ที่สามารถจะปรับตัวได้เมื่อเกิดบาดเจ็บเสียหายขึ้นมา โดยในตอนแรกมันจะสอนตัวเองให้เดินได้ และต่อจากนั้นเมื่อมันบาดเจ็บเสียหาย ก็จะสอนตัวเองให้กลับมาเดินได้ใหม่ คล้ายการเดินแบบขาพิการ.
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
นอนหลับสนิทดีทำให้เกิดปัญญาดี นร.สอบคะแนนดีล้วนแต่นอนหัวค่ำ
คณะนักจิตวิทยามหาวิทยาลัยโรม ได้ร่วมกันทบทวนรายงานผลการศึกษา คุณประโยชน์ของการนอนที่มีต่อสติปัญญารวมกันไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง ได้พบว่าการอดนอนมากเกินไปเป็นผลเสียแก่ความจำและการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ อย่างเช่น นักเรียนที่นอนไม่หลับจะสอบได้คะแนนไม่ดี
การศึกษาเรื่องโมเลกุลพันธุกรรมศาสตร์ ประสาทสรีรวิทยากับสติปัญญา และประสาทวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้ ได้ยืนยันความคิดที่ว่า การนอนอาจจะมีบทบาทในการเรียนรู้และความจำอย่างสำคัญ แม้ว่าขอบเขตของบทบาทจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่อย่างร้อนแรง
ในการศึกษาเรื่องหนึ่ง นักวิจัยได้เปรียบเทียบสุขภาพ พฤติกรรมและปัญหาในการนอนกับผลการเรียน ของผู้ที่นอนหลับปกติกับผู้ที่นอนไม่หลับพบว่า จะมีนักเรียนที่นอนไม่ค่อยหลับ สอบตกไม่หนึ่งปีหรือสองปีมากถึง 21% ในขณะที่ผู้นอนหลับปกติจะมีเพียง 11% เท่านั้น
การศึกษาซึ่งทำกับนักเรียนมัธยม 3,000 คน อีกเรื่องหนึ่ง แสดงว่านักเรียนที่สอบได้คะแนนดี จะใช้เวลานอนมากกว่า เข้านอนแต่หัวค่ำและนอนกระ-สับกระส่ายน้อยกว่า เพื่อนนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำกว่า
(ไทยรัฐ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
บอกบ๊อดไม้ขีดโบราณบั้งโพล๊ะโปรเจ็กไทล์ งานวิจัยครูไทยดึงวิทย์ใกล้ท้องถิ่น
งานประชุม วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง ประจำปี 2549 ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการพบปะกันระหว่างครูวิทยาศาสตร์จากภูมิภาคต่างๆ ในโครงการทั้งในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ประมาณ 300 คน และครูวิทยาศาสตร์ผู้สังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญคือได้มาเห็นการดำเนินการของโครงการ และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคงหนีไม่พ้นการนำเสนอผลงานความสำเร็จของโครงการที่ได้นำร่องกรุยทางมาก่อนหน้านี้แล้ว
ตัวอย่างผลงานวิจัยโดยครูนักวิจัยเช่น การศึกษาเรื่อง บอกบ๊อดไม้ขีดไฟโบราณ ของอาจารย์มัทนา วุฒิธรรมคณาพร อาจารย์สมศักดิ์ พวงกุหลาบ และอาจารย์มะลิ ตาจันทร์ดี จากโรงเรียนบ้านป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ได้พลิกฟื้นภูมิปัญญาพื้นบ้าน และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียนชั้น ป.4-6 ของโรงเรียน
อาจารย์ได้ศึกษาหลักการทำงานของ บอกบ๊อด เครื่องมือจุดไฟของคนโบราณ ซึ่งจะไม่ให้เปลวไฟแต่ให้เชื้อไฟอ่อนๆ เช่นเดียวกับการจุดธูป เพื่อนำไปเป็นเชื้อไฟต่อไปยังหญ้าแห้งให้ติดไฟต่อได้ โดยมีการทำงานอาศัยหลักการการสันดาปในสภาวะความดันสูง จากการศึกษาร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนพบว่า ขนาดของบอกบ๊อดและแรงที่ใช้มีผลต่อการเกิดการสันดาป รวมถึงเชื้อไฟที่ใช้ ซึ่งชนิดที่เหมาะสมที่สุดคือ หมื้อ หรือส่วนที่ได้จากการขูดผิวส่วนในของต้นเต่าร้าง
ผลงานที่น่าสนใจชิ้นต่อมา คือ การศึกษาเรื่อง บั้งโพล๊ะกับโปรเจ็กไทล์ ของอาจารย์เพลินพิศ นามวาด อาจารย์อนุช มั่งมี อาจารย์ธาริณี ราชสีห์ อาจารย์วิภา เมืองสอน อาจารย์มณีรัตน์ ลาจันทึก และอาจารย์กมล มั่งมี จากโรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่ได้สังเกตหลักการทำงานของ บั้งโพล๊ะ อุปกรณ์พื้นบ้านใช้สำหรับยิงผลหมากคอมเพื่อต้อนวัวควายเข้าคอก จนพบว่ามีหลักการทำงานเดียวกับหลักโปรเจ็กไทล์ในวิชาฟิสิกส์ชั้น ม.ปลาย จึงนำไปสู่การเรียนการสอนแบบเห็นจริง สัมผัสได้ ใกล้ตัว และสนุกสนาน
(ผู้จัดการ จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.manager.co.th)
สจล.ร่วมขบวนคิดหุ่นยนต์กู้ภัยตึกถล่ม ติดกล้องวิดีโอปรับทิศทางค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึก
ทีมนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์สมองกลปฏิบัติการหาผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ ติดเซ็นเซอร์ตรวจอุณหภูมิชีวิต ส่งข้อมูลเบื้องต้นสู่เจ้าหน้าที่ภาคสนามเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต
แม้ว่าหุ่นยนต์กู้ภัยต้นแบบจะได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีหลายแห่ง แต่หุ่นยนต์ตัวล่าสุดที่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สจล. พัฒนาขึ้นมาได้เพิ่มความสามารถให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน ทั้งในส่วนของมุมมองภาพจากกล้องดิจิทัล และระบบแผนที่บอกตำแหน่งผู้รอดชีวิต
นายสมหมาย ไชษราษฎร์ กล่าวว่า หุ่นยนต์กู้ภัยที่ทีมวิจัย สจล.ปรับปรุงให้กล้องวิดีโอหมุนซ้าย-ขวาได้ 60 องศา และยังยกขึ้นลงได้ 30 องศา หุ่นยนต์กู้ภัยมีขนาดกว้างประมาณ 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต ขับเคลื่อนด้วยล้อตีนตะขาบ และมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับทิศทางสำหรับสร้างแผนที่แสดงที่หมาย หรือตำแหน่งผู้รอดชีวิต
หุ่นยนต์ดังกล่าวควบคุมการทำงานด้วยระยะไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย ปัจจุบันมีระยะปฏิบัติการ 300 เมตรในพื้นที่โล่ง ข้อมูลภาพและเสียง รวมทั้งข้อมูลอุณหภูมิในร่างกายของผู้ประสบภัย จะถูกส่งมายังทีมงานกู้ภัย เพื่อให้กลุ่มผู้ช่วยเหลือทราบอาการเบื้องต้นของผู้รอดชีวิต และสามารถเตรียมอุปกรณ์ความพร้อมต่างๆ ในการช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและทันเวลา
นักศึกษา กล่าวว่า หุ่นยนต์กู้ภัยสามารถดัดแปลงให้ทำงานได้หลายรูปแบบ เช่น การขนย้ายระเบิดซึ่งมีความเสี่ยงสูงหากมนุษย์ต้องไปสัมผัสหรือใกล้ชิด การค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดในการค้นหา เพราะหากใช้อุปกรณ์อย่างอื่นที่มีขนาดใหญ่ อาจเป็นอันตรายต่อผู้รอดชีวิตได้"
(คมชัดลึก จันทร์ที่ 20 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
เข้านอนซึมเศร้าแต่ตื่นเช้าคึกคัก เพราะฮอร์โมน พลังงานเพิ่ม
นักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเติร์น รัฐอิลลินอยส์ ของสหรัฐฯ ศึกษาพบว่า ผู้ที่เข้านอนด้วยความซึมเศร้า กลับตื่นนอนเช้าคึกคักขึ้นมาได้ เนื่องจากได้ฮอร์โมนพลังงานมาเพิ่มพูนขึ้นอย่างท่วมท้น
พวกเขาได้ความรู้จากการศึกษาระดับของฮอร์โมนความเครียด ในผู้เข้ารับการทดลอง 156 คน ที่อยู่ในวัยระหว่าง 54-71 ปี และได้พบว่าอารมณ์ตอนก่อนเข้านอน มีผลต่อระดับฮอร์โมน คอร์ติโซล ซึ่งเป็นตัวเร่งเครื่อง ร่างกายของเราขึ้น มันจะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้สูงขึ้น เมื่อเกิดความเครียด แต่เกิดผลทำให้อารมณ์และความจำของเราแปรปรวนไปด้วย ปกติแล้วฮอร์โมนนี้จะขึ้นสูงเมื่อเราตื่นอยู่ และจะทวีขึ้นต่อไปอีกครึ่งชั่วโมง มาลดต่ำสุดเมื่อเข้านอน
ผลการศึกษารายงานในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า นักวิจัยต้องการจะรู้ว่าประสบการณ์ระหว่างวัน ของวันก่อนหรือวันเดียวกันนั้น ที่เป็นตัวกำหนดระดับฮอร์โมน
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549 http://www.thairath.co.th)
ก้าวแรกของนักสร้างหุ่นยนต์
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เดินหน้านโยบายแรก คือ การสร้างบุคลากร คนรุ่นใหม่ ทันที ประเดิมด้วยโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อจุดประกายให้เยาวชนรักและสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านวิทยาการหุ่นยนต์
3 ปีกับภารกิจที่ทั้งสองหน่วยงานจะต้องพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการให้ความรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์รวมถึงกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ
รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการฟีโบ้ บอกว่าปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้วิทยาการด้านหุ่นยนต์ของไทยเติบโตก็คือความมุ่งมั่น ให้น้อง ๆ เยาวชน ดูที่จิตใจของตนเอง ว่าสนใจแค่ไหน ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจแล้วแม้ว่าประเทศจะยังไม่มีเทคโนโลยี หุ่นยนต์ที่ดี ก็ไม่ควรท้อ เพราะว่า วิวัฒนาการของหุ่นยนต์ไม่ได้เกิดจากความเก่งกาจอะไร แต่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนทำงานได้สะดวกขึ้น ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนา การนี้ถึงขั้นนำหุ่นยนต์มาศึกษาการทำงานของตัวมนุษย์เอง
ทั้งนี้ความร่วมมือ ระหว่างฟีโบ้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือในการฝึกอบรมเยาวชน ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งฉายแววของการเป็นนักสร้างหุ่นยนต์
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549 http://www.dailynews.co.th)
โคราชซิ่งรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ฝีมือ มทร.อีสานช่วยชาติรับมือน้ำมันแพง
นายชิติสรรค์ วิชิโต หัวหน้าโครงการรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา กล่าวว่า ทีมงานประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหรือแบบ 2 ที่นั่ง วิ่งด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์แทนเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี และทุนค้นคว้าวิจัย 9 หมื่นบาท
ส่วนประกอบหลักของรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว มีมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง แบตเตอรี่ 24 โวลต์ และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 50 วัตต์ จำนวน 2 แผง เพื่อรับและเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ส่งไปจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และในวันที่มีแสงแดดไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนในการชาร์จประจุให้แบตเตอรี่ได้อีกทางหนึ่ง
ทางโครงการได้ผลิตรถพลังแสงอาทิตย์แล้ว 4 คัน ให้อาจารย์ขับไปสอนหนังสือ และบุคลากรใช้ขับส่งเอกสารภายในมหาวิทยาลัย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งาน ก่อนที่จะส่งเสริมสู่ภาคเอกชน
(คมชัดลึก ศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
ข่าวทั่วไป
เรียกคืนเครื่องราชฯ
นับแต่มีประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ซึ่งกำหนดเหตุในการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชฯไว้หลายประการ เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในการมีข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ และถูกเรียกคืนตามระเบียบนี้แล้ว 8 ราย ในจำนวน 4 รายแรกถูกเรียกคืนในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2549 มีทั้งข้าราขการตุลาการ อัยการ และตำรวจ
ล่าสุดในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2549 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีก 4 ราย ประกอบด้วย ข้าราชการตุลาการ นายทหารและนายตำรวจ
(มติชน พุธที่ 22 พ.ย. 2549 http://www.matichon.co.th)
การแก้ไขคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ
ตามที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้แถลงแก่สื่อมวลชน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะให้ ก.พ.จัดทำแฟ้มผลงานข้าราชการ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาบันทึกพฤติกรรมที่ดี และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของข้าราชการแต่ละคน เพื่อสนองนโยบาย 4 ป. ของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในด้านความโปร่งใส และการมีคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ นับเป็นสิ่งที่ดีหาก ก.พ.สามารถนำแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และอย่าให้เป็นเพียงนโยบายที่สวยหรู เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสนใจแล้วก็เงียบหายไปเหมือนไฟไหม้ฟางเช่นที่แล้วๆ มา
เพราะปัจจุบันคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการไทยมีปัญหาค่อนข้างวิกฤต ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็อาจนำความหายนะมาสู่ประเทศได้ โดยเฉพาะคุณธรรมจริยธรรมในด้านความซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการไทย โดยรวมปัจจุบันเสื่อมถอยลงมาก เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และประพฤติมิชอบในหน่วยราชการต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยราชการบางคนขาดภูมิคุ้มกันด้านคุณธรรมจริยธรรมในความซื่อสัตย์สุจริต ยอมศิโรราบให้นักการเมือง และนักธุรกิจเข้ามาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร้ศักดิ์ศรี เพื่อเอาตัวรอด หรือหาผลประโยชน์ใส่ตัว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ดังจะเห็นได้จากการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง นักธุรกิจในโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าอภิมหาโปรเจ็คต์นั้น จะไม่สามารถสำเร็จได้หากมิได้รับการสนับสนุน และการร่วมมือจากกลุ่มข้าราชการที่เป็นเจ้าของโครงการ
(มติชน พุธที่ 22 พ.ย. 2549 http://www.matichon.co.th)
พยาบาล 90,000 คนรวมพลังตรวจคัดกรองโรคฟรี 9 ธ.ค.นี้
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ สธ.และกรมการแพทย์จะจัดโครงการ รวมพลังพยาบาลรักษ์สุขภาพประชาชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันดังกล่าวจะรวมพลังพยาบาลประมาณ 90,000 คน ให้บริการตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจวัดน้ำตาลในเลือดฟรีเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้กับประชาชนทั่วประเทศรวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก 2 โรคนี้มีประชาชนป่วยไม่ต่ำกว่า 13 ล้านคนและในจำนวนนี้กว่า 9 ล้านคนยังไม่รู้ตัวว่าป่วย
นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนามาตรฐานการตรวจรับรองห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์หรือนิติเวชศาสตร์ตามมาตรฐานสากลไอเอสโอ/ไออีซี 17025 (ISO/IEC 17025) ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยรับผิดชอบด้านให้การรับรองความสามารถทางห้องปฏิบัติการด้านนี้ ในการตรวจวิเคราะห์ที่ต้องการพิสูจน์ข้อปัญหาทางกฎหมาย เช่น ปัญหาคดีอาญา การพิสูจน์ดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อหาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม หรือเอกลักษณ์บุคคล ที่ผลการตรวจวิเคราะห์ต้องมีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก เป็นที่ยอมรับต่อผลการดำเนินคดีความทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยจะเปิดให้บริการรับรองห้องปฏิบัติการด้านนิติวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป
(คมชัดลึก พุธที่ 22 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
เผยเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงวันละ 37 คน
นายสุวิทย์ ขันธาโรจน์ ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวว่า ทุกวันที่ 25 พ.ย. เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งจากศูนย์ข้อมูล ของ สค. และ กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ได้รายงานสถิติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 พ.ย. 2549 พบเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงถึง 2,929 ราย พฤติกรรมที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ ทำร้ายร่างกาย 1,499 ราย ถูกข่มขืน 796 ราย โดยเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนมากที่สุด โดยคนที่ทำร้ายเด็กและผู้หญิงเป็นคนใกล้ชิดหรือเพื่อนมากที่สุด รองลงมาคือ คนในครอบครัว พ่อ แม่ ญาติ สาเหตุของการกระทำความรุนแรง อันดับหนึ่งมาจากการเมาสุราหรือติดยาเสพติด และจากรายงานของศูนย์พึ่งได้ ที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล 82 แห่ง พบเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 พ.ย. 2549 สูงถึง 13,550 ราย แสดงว่ามีเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง 37 คนต่อวัน ส่วนมูลค่าการรักษาและช่วยเหลือมากถึง 6 พันล้านบาท
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาในแง่นโยบายจะต้องทำเชิงรุก พัฒนาและป้องกัน โยงกับยุทธศาสตร์สังคม 3 ด้าน ซึ่งจะเป็นการป้องกันที่รากฐานที่แข็งแรง พร้อมกันนี้จะเร่งดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่จะเข้า ครม. ภายใน 2 สัปดาห์ และคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2550.
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549
http://www.thairath.co.th)
อิสราเอลพึ่งนาโนเล็งสร้างอาวุธจิ๋วพิฆาตอริแบบไม่ทันเห็นตัว
หนังสือพิมพ์รายวันเยดีเอาะห์ อาห์รอเนาะห์ (Yedioth Ahronoth) ของอิสราเอลรายงานว่า ทางการอิสราเอลมีแผนการสร้างหุ่นยนต์ขนาดแมลงที่บินได้ โดยมีมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ไบโอนิกฮอร์เน็ต (bionic hornet) หรือตัวต่อชีวประดิษฐ์ ที่สามารถซอกแซกขึ้นลงตามซอกต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายได้ หรือไม่เช่นนั้นตัวต่อดังกล่าวก็จะเป็นอาวุธร้ายที่ศัตรูไม่สามารถสังเกตเห็นได้
ผลงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์อีกหลายชิ้นที่นักวิทยาศาสตร์พัฒนาขึ้นให้แก่กองกำลังทหารของอิสราเอล ซึ่งยังมียุทธภัณฑ์อื่นๆ อาทิ สุดยอดถุงมือที่ใส่แล้วทำให้มือแข็งแรงมากกว่าขึ้นกว่าเดิม และยังมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถสแกนหาระเบิดพลีชีพได้อีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ได้ผสานเข้ากับเทคโนโลยีนาโน และกำลังพัฒนาในแผนกปฏิบัติการลับของอิสราเอล
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์รายวันของอิสราเอลได้รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของนายชิมอน เปเรส (Shimon Peres) รองนายกรัฐมนตรีอิสราเอลว่า จากสงครามในเลบานอน ทำให้พวกเขาตระหนักว่าสรรพาวุธขนาดเล็กนั้นเป็นที่ต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากจะใช้เครื่องบินมูลค่า 100 ล้านเหรียญออกมาจัดการแค่เพียงผู้ก่อการร้ายที่พร้อมพลีชีพก็ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล ดังนั้นทางอิสราเอลจึงพยายามที่จะสร้างอาวุธแห่งอนาคตให้พร้อมรับมือการสงครามในรูปแบบใหม่
(ผู้จัดการ พฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. 2549 http://www.manager.co.th)
ย้ำสื่อตระหนักถึงสังคม
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมนาวิชาการเรื่อง ปัญหาจริยธรรมสังคมไทย : สื่อจะช่วยได้อย่างไร ในโอกาสครบรอบ 52 ปี วันสถาปนาคณะ โดยมีนายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ จริยธรรมสังคมไทย จริยธรรมสื่อ ตอนหนึ่งว่า จริยธรรมคือการประพฤติด้วยความดี ความถูกต้อง และยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่สังคม และทุกวิชาชีพกำลังต้องการ
แต่สังคมยังสบสนระหว่างความดีกับความไม่ดี โดยเฉพาะข้าราชการที่อาจสับสนมาก เพราะผู้ที่อุทิศตนเพื่อบ้านเมืองกลับไม่ได้รับการดูแล ในขณะที่กลุ่มที่เป็นมือเป็นไม้ให้นักการเมืองกลับได้รับการยกย่อง ทั้งสังคมยังไม่แสดงออกถึงความน่ารังเกียจการการทุจริตมากเท่าที่ควร โดยยังยกย่องคนที่ตำแหน่งฐานะ โดยไม่ดูว่าตำแหน่งและฐานะเหล่านั้นมีทีมาอย่างไร อยากให้เกิดการกดดันผู้กระทำไม่ถูกไม่ชอบ แต่ต้องไม่อาศัยความรุนแรง
นายกล้าณรงค์ กล่าวอีกว่า สื่อมีส่วนช่วยผลักดันสังคมให้เป็นไปในทางใดก็ได้ เพราะสังคมเปิดรับสื่อตลอดเวลา แต่สื่อมักเล่นข่าวตามกระแสสังคม จับคำพูดคนนั้นมาชนกับคนนี้ให้เป็นข่าว และต้องการกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จากที่เคยเป็นสีดำก็ต้องการให้เป็นขาวทันที แต่ไม่ดูว่าผู้ปฏิบัติทำให้เป็นขาวทันทีไม่ได้ ทุกเรื่องมีกรอบ มีกฎเกณฑ์ที่ต้องทำด้วยความรอบคอบ
ทุกวิชาชีพต่างมีจรรยาบรรณ ซึ่งตั้งบนฐานของจริยธรรม จะทำอย่างไรให้จริยธรรมอยู่ในใจทุกคน ไม่ใช่แค่ท่องจำ ซึ่งเป็นเรื่องยาก
(คมชัดลึก ศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
ซีดีเอ็มเอ
ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีสื่อสารน้องใหม่ ซีดีเอ็มเอเป็นระบบสื่อสารมัลติมีเดียไร้สายความเร็วสูง ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุดของระบบการสื่อสารแห่งโลกอนาคต และเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดในประเทศไทย มีจุดเด่นในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย ได้ในทุกที่ทุกเวลา แม้แต่ในพื้นที่ที่คู่สายโทรศัพท์เข้าไม่ถึง
บริษัท กสท โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) เปิดทดลองให้บริการซีดีเอ็มเอเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ให้แก่ประชาชนในเขต 51 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค พร้อมทั้งปรับปรุงเวบไซต์ของบริษัท เพื่อนำเสนอข้อมูลการบริการซีดีเอ็มเอ และประกาศตัวเป็นสังคมออนไลน์ของกลุ่มคนที่ในยุคเครื่องมือสื่อสารไร้สายแห่งโลกอนาคต เนื้อหาในเวบได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของซีดีเอ็มเอ พื้นที่ให้บริการ ผลิตภัณฑ์ และฟังก์ชันการใช้งาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับโปรโมชั่นและแบบฟอร์มการขอใช้บริการ ที่พร้อมให้ดาวน์โหลดจากหน้าเวบในทันที
(คมชัดลึก ศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2549 http://www.komchadluek.net)
จีนสร้างโรงไฟฟ้า พลังแสงอาทิตย์ขนาดยักษ์
รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศขอล้มแชมป์ เดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกโรงใหม่ขึ้นมาในเมืองตงหวง มณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเมืองที่รับแดดดีมากตามแผนการที่วางไว้ โรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่ 31,000 ตารางเมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์
ใช้งบประมาณลงทุน 6,030 ล้านหยวน หรือประมาณ 30,640 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 5 ปี สาเหตุผลักดันให้รัฐบาลจีนคิดทดลองสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดยักษ์ไว้สำหรับเป็นต้นแบบ
ก็เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อนแรงมาก เฉลี่ยเติบโตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นเป็นทบทวี โดยพลังงานส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์นำมาจาก "ถ่านหิน" ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องสรรหาพลังงานใหม่ๆ มาเป็นทดแทนถ่านหิน
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนด้านธุรกิจพลังงานในต่างแดน โครงการโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ หรือโครงการพลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในมณฑลกานซู
(มติชน ศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2549 http://www.matichon.co.th)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|