หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 9 ประจำวันที่ 2001-02-27

ข่าวการศึกษา

เริ่มแล้วอี-เลิร์นนิ่งเรียนภาษาผ่านเน็ต
ที่ประชุมอธิการบดีลงมติยกเครื่องระบบเอนทรานซ์
ศธ.ระดมสมองทุกกรมที่มีสถานศึกษาในสังกัดกำหนด 4 แนวทางให้โรงเรียนจัดสอนนอกระบบ
ศบอ.ครบุรีส่งครูถึงบ้านสอนคนพิการ
ศบอ.สามโก้จัดจุดอ่านเพิ่ม
แจกสารานุกรมปูความรู้วิทย์พื้นฐาน
ทปอ.ค้านยกร่างกม.คุมอาจารย์
ให้ข้อสอบวัดว่าเป็นคน
ของบฯ 5.5 หมื่นล. ตั้งกองทุนการศึกษา
‘เกษม’ ยันตั้งกก. 3 ระดับสางปฏิรูปศึกษา
‘สุธรรม’ ประกาศดันม.นอกระบบเสร็จปี’45 ชูกิจกรรมน.ส.แก้ปัญหา ‘บัณฑิตเห็นแก่ตัว’
‘นักจัดการจดหมายเหตุ’ สาขาวิชาใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชง ‘เวทีชาวบ้าน’ เสนอทรท. ปัดฝุ่นศึกษาผ่านไทยคม

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ดันรัฐออก ก.ม. อิเล็กทรอนิกส์
อุทยานวิทย์หว้ากอปลื้ม สนง. สลากฯ ให้เงินช่วย
xDSL เพื่อ Internet ความเร็วสูง
เตือนระบบนิเวศวิกฤตปรากฏการณ์ฟอกขาว เหตุประการังถูกทำลาย จี้ร่วมออกมาตรการแก้
แฉเล่ห์ไฮเทคเว็บ ‘ลูกโซ่’ ชู ‘ค่าคอม’ ล่อเหยื่อไฮโซ

ข่าววิจัย/พัฒนา

ข่าวการประกวดสิ่งประดิษฐ์
เอาเชื้อโรคหวัดสังหารโรคมะเร็ง
ใช้รกเด็กทำยารักษาอัมพาตหาย
จุฬาฯ ทำเครื่องตรวจยาปฏิชีวนะในนม
มูลนิธิข้าวเอเชียให้ทุนศึกษาวิจัยข้าวในสหรัฐฯ
เซฟไฟสัญญาณจราจร
เครื่องอัดไส้ขนมเบเกอรี่
วัสดุสมานแผลตัวเองได้
ดันไทยศูนย์กลางพัฒนาเทคโนฯชีวภาพในเอเชีย
แคนาดาประสบผลตัดต่อยีนปลาเทราต์ตัวโตกว่าปกติ 17 เท่า
ญี่ปุ่นประดิษฐ์เก้าอี้รถเข็นใช้ลิ้นบังคับ
นอร์เวย์ผลิต ‘หูฟัง’ ช่วยกรองเสียงไม่อยากได้ยิน
ศูนย์ควบคุมเขต 10 วิจัยลด ‘เอดส์’ ให้ยา ‘เนวิราพีน’ แม่ติดเชื้อ-ทารก
พบวิธีทำ ‘เกลือไอโอดีน’ ใหม่! เปิดตัวพ.ค.-เชื่อคนป่วยลดลง

ข่าวทั่วไป

แย้มแหล่งทุนทำระบบขนส่งอนาคต เก็บภาษีน้ำมัน-ภาษีรถจากเจ้าของ
ผักกาดดอง...ระวังไตพิการ
โครงการพิพิธภัณฑ์เรือใต้ทะเล
โรงละครแห่งชาติสุพรรณบุรี
องค์การค้าฯ สร้างอาณาจักร
ทุกบ้านในกทม. ต้องซื้อถังขยะ ราคาตั้งแต่ 40-80 บาท แผงลอยให้ใช้ฟรี
สวช.เก็บข้อมูลประวัติท้องถิ่นไทยลง ‘เน็ต’





ข่าวการศึกษา


เริ่มแล้วอี-เลิร์นนิ่งเรียนภาษาผ่านเน็ต

นายไพรัตน์ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำร่องให้บริการ อี-เลิร์นนิ่ง เรียนวิชาภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ www.thai2learn.com สำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป แล้ว และในอนาคตจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเปิดหลักสูตรด้าน คอมพิวเตอร์ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 19 ก.พ. 2544 หน้า 16)





ที่ประชุมอธิการบดีลงมติยกเครื่องระบบเอนทรานซ์

รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติให้มีการปรับปรุงระบบเอนทรานซ์ เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น สำหรับผู้ที่จะสอบในปีการศึกษา 2545-2546 ให้มีการลดจำนวนสอบในวิชาเฉพาะ และลดเงื่อนไขที่แยกย่อย สำหรับระยะยาวจะเริ่มใช้ปี 2547 โดยให้สถาบันทดสอบกลางของกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จัดทำข้อสอบมาตรฐานวัดความถนัดทางการเรียนและ วัดผลการสอบวิชาหลักโดยให้อิงเนื้อหาน้อยที่สุด แต่ให้เป็นการวัดทักษะ การคิดวิเคราะห์ และการใช้ภาษาให้มากที่สุด แล้วจึงส่งผลให้มหาวิทยาลัยไปพิจารณา ทั้งนี้แต่ละมหาวิทยาลัยจะจัดทำหลัก-เกณฑ์การพิจารณารับเข้าด้วยตนเอง และต้องประกาศหลักเกณฑ์ให้ทราบทั่วกัน นอกจากนี้จะมีการทดสอบกลางปีละ 3 ครั้ง ทุก ๆ 4 เดือน มหาวิทยาลัยใดที่มีความพร้อมก็อาจจะรับนักศึกษาใหม่ได้ 2 รอบ ทั้งภาคต้นและภาคปลาย ซึ่งข้อเสนอนี้ ทปอ. จะเสนอทบวง เพื่อพิจารณาต่อไป (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 19 ก.พ. 2544 หน้า 12)





ศธ.ระดมสมองทุกกรมที่มีสถานศึกษาในสังกัดกำหนด 4 แนวทางให้โรงเรียนจัดสอนนอกระบบ

ดร.กล้า สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมผู้แทนกรมที่มีสถานศึกษา เพื่อคิดหาแนวทางให้สถานศึกษาในระบบ สามารถจัดการศึกษานอกระบบและ การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งทุกกรมเห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว และวิทยาลัยนาฎศิลป์สุพรรณบุรีเสนอตัวที่จะจัดเป็นสถานศึกษานำร่อง แนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 1.กรณีที่เด็กต้องย้ายตามผู้ปกครองไปทำงานต่างพื้นที่ช่วงเวลาสั้น ให้ผู้ปกครองทำความตกลงกับโรงเรียน โดยให้เด็กอ่านหนังสือเอง หรือเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใกล้ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้กลับมาเรียนที่เดิม 2.ให้สถานศึกษาใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน (ป.1-ม.6) กับเด็กที่ไม่ประสงค์จะเรียนในระบบ โดยให้เรียนฟรี 3.ให้สถานศึกษาใช้หลักสูตรนอกระบบระยะสั้น แก่ประชาชนที่ต้องการมาเรียนในช่วงเวลาที่ห้องเรียนว่าง เช่น หลักสูตรอาชีพ โดยกระทรวงจะสนับสนุนงบฯให้ส่วนหนึ่ง และผู้เรียนจ่ายส่วนหนึ่ง 4.ให้สถานศึกษาจัดการศึกษาตามอัธยาศัยได้หลายรูปแบบตามความพร้อม เช่น ให้ความรู้ผ่านหอกระจายข่าว, ผ่านเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม, จัดนิทรรศการทางวิชาการ, จัดแปลงสาธิตการเกษตร, หรือผ่านห้องสมุดฯ ฯลฯ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 24 ก.พ. 2544 หน้า 11)





ศบอ.ครบุรีส่งครูถึงบ้านสอนคนพิการ

นายเรืองยศ จักรบุตร ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) ครบุรี จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ศบอ.ครบุรี ได้จัดการเรียนการสอนแก่คนพิการทางด้านสติปัญญา โดยในโครงการดังกล่าว ศบอ.มอบให้ครูศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) และครูอาสาฯ ออกสำรวจข้อมูลในหมู่บ้านต่างๆ และบางส่วนได้ข้อมูลจากสาธารณสุข เกี่ยวกับประวัติคนพิการ และชักชวนผู้พิการเหล่านั้นให้มาเรียนที่ศูนย์ แต่มีบางส่วนที่ ศบอ. ให้ครู ศรช. และครูอาสาฯ ลงพื้นที่ไปสอนให้ถึงบ้าน โดยในขั้นตอนแรกจะเพียงแค่พูดคุยแล้วค่อยๆ เพิ่มเติมทักษะต่างๆ ให้ (มติชน พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





ศบอ.สามโก้จัดจุดอ่านเพิ่ม

นางชนิญา โพธิ์สุข ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) สามโก้ จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า หลังจากการจัดตั้งที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน พร้อมทั้งจัดหาหนังสือพิมพ์รายวัน วารสาร และเอกสารต่างๆ ให้ด้วยแล้วนั้น แต่ปรากฎว่ายังมีชุมชนย่อยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างสม่ำเสมอเพราะอยู่ห่างไกล ทางศูนย์จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้" หรือจุดอ่าน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่าน นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น (มติขน พุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





แจกสารานุกรมปูความรู้วิทย์พื้นฐาน

นายพีรศักดิ์ วรสุนโรถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) กล่าวว่า ขณะนี้ วท.ได้ทำหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนออกมาเพื่อเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานให้กับเยาวชน เป็นสารานุกรม 1 ชุดมี 20 เล่ม ทำขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่อยู่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันนี้เยาวชนไทยขาดความรู้พื้นฐานทางด้านนี้มาก ทำให้สังคมไทยมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากล ทำให้เป็นที่ดูแคลนของต่างชาติหลายอย่าง เช่น การไปกราบไว้ต้นไม้ที่มีรูปร่างผิดปกติเพื่อขอหวย ซึ่งชุดหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนจะเป็นสื่อกลางให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้กับวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่อยู่รอบๆ ตัวได้เป็นอย่างดี โดย วท.จะพิมพ์แจกจ่ายให้กับสถานศึกษาในชนบทและแนวชายแดนภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ (มติชน จันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





ทปอ.ค้านยกร่างกม.คุมอาจารย์

นางสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลการประชุม ทปอ. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) และมีมติให้จัดตั้งสถาบันทดสอบกลาง กระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากนี้เห็นควรสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลโดยระบุไว้ในกฎหมายปฏิรูปการศึกษา นางสุมณฑากล่าวต่อว่า ในกรณีที่ สกศ. เสนอให้กำหนดร่างกฎหมายควบคุมอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้น ทปอ.ไม่เห็นด้วย เพราะสถาบันอุดมศึกษามีระบบดูแลกันเองในระดับนักวิชาการอยู่แล้ว และความอิสระของนักวิชาการจะช่วยให้การควบคุมกันเองมีมาตรฐานยิ่งขึ้น หากเกิดปัญหาใดนักวิชาการจะออกมาแสดงความคิดเห็นและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ถูกบังคับให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (มติชน จันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 10)





ให้ข้อสอบวัดว่าเป็นคน

นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับนโยบายของนายแพทย์ เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาที่ให้จัดสอบระดับชาติด้วยข้อสอบมาตรฐานกลางเพื่อตรวจสอบคุณภาพการศึกษาในแต่ละชั้นช่วง ป.3 ป.6 ม.3 และม.6 เพราะจะทำให้สถานศึกษารู้สถานภาพของตัวเองว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งเพื่อนำจุดอ่อนมาปรับปรุงและพัฒนาให้การเรียนการสอนของสถานศึกษาสู่มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยมีกรอบใหญ่และเป้าหมายเดียวกันส่วนเนื้อหาจะต้องไม่เน้นวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นที่การวัดความเป็นคน ความมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีและคิดเป็นทำเป็น (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





ของบฯ 5.5 หมื่นล. ตั้งกองทุนการศึกษา

นายสุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยถึงผลสรุปแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาต่างๆ ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นจำนวน 6 กองทุน ในปี 2545 คือ 1. กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ปีละ 2,000 ล้านบาท จะโอนจากกองทุนกาญจนาภิเษก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาครูและกองทุนพัฒนาอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมาใว้ที่กองทุนนี้ 2. กองทุนส่งเสริมครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จะใช้เงินสนับสนุน 1,500 ล้านบาท รัฐทยอยจ่ายปีละ 300 ล้านบาท 3. กองทุนกู้ยืมของผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ต้องใช้วงเงินปีละ 50,000 ล้านบาท จะใช้วิธีโอนเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และกองทุนช่วยนักเรียนหญิง "เสมาพัฒนาชีวิต" มาจัดตั้งแทนโดยมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมารองรับการบริหารและการจัดการ โดยจะตัดสิทธิ์การกู้ยืมเงินเพื่อเรียนในการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน 12 ปี เนื่องจากรัฐได้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แล้ว แต่จะให้กู้ยืมเงินได้เฉพาะในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เท่านั้น 4. กองทุนกู้ยืมของสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ กองทุนสำหรับสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรี จะรวมจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเอกชน กับเงินทุนหมุนเวียนเพื่อวิทยาคารสงเคราะห์ สำหรับโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามเข้าไว้ด้วยกัน โดยตั้งเป้าให้กองทุนนี้มีวงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท รัฐทยอยจ่ายปีละ 100 ล้านบาท กองทุนสำหรับสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญานั้น จะโอนจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และรัฐจัดสรรเงินให้ 1,500 ล้านบาท แต่ค่อยๆทยายจ่ายปีละ 300 ล้านบาท 5. กองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาของรัฐและเอกชน และ 6. กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ให้แบ่งจากรายได้ที่มาจากผลกำไรของกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เช่น ค่าสัมปทานคลื่นความถี่ เป็นต้น (ไทยโพสต์ พฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





‘เกษม’ ยันตั้งกก. 3 ระดับสางปฏิรูปศึกษา

น.พ. เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงงานที่จะให้ความสำคัญในการดำเนินการในระยะเริ่มแรกว่า เรื่องใหญ่คือคุณภาพการศึกษา โดยเหลือเวลาเตรียมการตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติอีกปีครึ่ง ฉะนั้นต้องรีบทำโดยเฉพาะกลไกในการประสานการปฏิรูปต้องใช้เหตุใช้ผล และให้เห็นพ้องต้องกัน ให้มีความขัดแย้งน้อยที่สุดซึ่งตนคิดไว้ 3 รูปแบบคือ 1.ในระดับกระทรวง อาจใช้ชื่อคณะกรรมการประสานการปฏิรูป ควรมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลการศึกษาเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ทบวงมหาวิทยาลัย และศธ. ให้ปลัดกระทรวงเป็นเลขาธิการ โดยเป็นผู้ประสานงานเพราะบางเรื่องยังมองต่างกัน ระดับที่ 2 ในแต่ละหน่วยงาน ทั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) สกศ. ทบวงฯ และ ศธ. ต้องมีกรรมการประสานงานระดับหน่วยงานให้เข้มแข็ง และระดับที่ 3 ต่ำกว่ากระทรวง ทบวงฯ คือกรมทั้งหลาย ต้องมีกรรมการรับผิดชอบในความเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งเหลือเวลาอีก 1 ปี 6 เดือน บุคลากรในกรมยังถามว่าแล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน จึงต้องมีกรรมการระดับกรมคอยวางระบบการถ่ายโอน เพราะ สปศ.เขาจะคิดภาพกว้าง ในระดับล่างจึงต้องมีคนคอยรับลูกต่อ ซึ่งการมีกรรมการทั้ง 3 ระดับนี้ก็เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาราบรื่นที่สุด (มติชน จันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 10)





‘สุธรรม’ ประกาศดันม.นอกระบบเสร็จปี’45 ชูกิจกรรมน.ส.แก้ปัญหา ‘บัณฑิตเห็นแก่ตัว’

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้เข้าทำงานที่ทบวงฯ เป็นวันแรก โดยได้แถลงนโยบายว่า บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตจึงต้องปรับปรุงงานทุกด้านโดยเฉพาะการศึกษา ซึ่งไม่ว่าทบวงฯ จะถูกยุบหรือไม่ ทุกคนต้องช่วยกันผลักดันภารกิจที่คั่งค้างให้ลุล่วง รวมถึงการปรับให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังหวังจะใช้ศักยภาพด้านต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษาฝ่าวิกฤตของประเทศและสร้างคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม ทั้งนี้ตนจะประสานหารือกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้นโยบายที่ชัดเจนก่อนการแถลงต่อสภา นายสุธรรมกล่าวด้วยว่า ที่มีผู้วิจารณ์ว่า บัณฑิตรุ่นใหม่เห็นแก่ตัวมากขึ้นนั้น คงเป็นเพราะกิจกรรมและบทบาทนักศึกษาในปัจจุบันต่างไปจากยุคก่อนๆ แต่ต่อไปจะพยายามให้งานกิจกรรมนักศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้การเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นไปเพื่อพื้นฐานการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมในสังคมได้ (มติชน พุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 10)





‘นักจัดการจดหมายเหตุ’ สาขาวิชาใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดหลักสูตรใหม่ขึ้นในปีการศึกษา 2544 หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรระบุว่า สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร จะสามารถผลิตมหาบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถในการรวบรวม ประเมินคุณค่า จัดระบบเก็บ สงวนรักษาวิเคราะห์วิจัย และให้บริการเอกสารจดหมายเหตุ ได้อย่างแน่นอน ระยะเวลาที่จะศึกษาสาขาวิชานี้ตลอดหลักสูตร แบ่งเป็นการเรียนรายวิชาต่างๆ 3 ภาคการศึกษาปกติ และทำวิทยานิพนธ์ รวม 10 ภาคการศึกษา หรือ 5 ปี โดยวิชาส่วนใหญ่จะเรียนในวันเสาร์ – อาทิตย์ การรับนักศึกษารุ่นแรก จะเปิดรับสมัครในเดือนมีนาคม 2544 สอบคัดเลือกในเดือนเมษายน 2544 จำนวนนักศึกษาที่รับ 15 คน อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรระบุว่า การรับสมัครในปีการศึกษาต่อๆ ไป ในสาขาวิชานี้ จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือน ต.ค. ผู้ใดสนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ภาควิชาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ โทร. 222-6818 (ไทยโพสต์ จันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





ชง ‘เวทีชาวบ้าน’ เสนอทรท. ปัดฝุ่นศึกษาผ่านไทยคม

นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กล่าวว่า ได้เสนอโครงการเวทีชาวบ้านต่อ นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นในรูปแบบการเสวนาปัญหาในท้องถิ่น และนำแนวทางมาใช้แก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายกองทุนหมู่บ้านและอินเตอร์เน็ตประจำตำบลของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากหากชาวบ้านมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ จะทำให้การบริหารกองทุนหมู่บ้านเกิดประสิทธิภาพและเป็นกองทุนที่ยั่งยืน รวมทั้งรู้จักการทำธุรกิจขนาดย่อมที่ครบวงจร (มติชน อังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ดันรัฐออก ก.ม. อิเล็กทรอนิกส์

นายจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอ-นิกส์ ด้วยการเร่งออกกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูล เพราะว่าธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมีบทบาทสำคัญในการค้า การชำระเงิน จะทำให้ลดภาระการใช้เงินสด และเช็คในการชำระเงิน ทำให้ธนาคารลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการทำงาน (เดลินิวส์ วันพุธที่ 2 ก.พ. 2544 หน้า 8)





อุทยานวิทย์หว้ากอปลื้ม สนง. สลากฯ ให้เงินช่วย

นายประเสริฐ หอมดี ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากเดือนเมษายน 2544 นี้ จะเป็นวันครบรอบ 150 ปี ที่พระบาท-สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่พระองค์ท่าน และโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1,500,000 บาท จากสำนักงานสลากกินแบ่ง เพื่อจัดสร้างหอดูดาว และจะเปิดให้บริการฐานการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์เพิ่มอีก 3 ฐาน คือ ฐานพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ฐานมนุษย์กับดวงดาว และฐานความเป็นไปในจักรวาล (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 24 ก.พ. 2544 หน้า 11)





xDSL เพื่อ Internet ความเร็วสูง

xDSL เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้นและมีเสถียรภาพของสัญญาณดีขึ้น xDSL หมายถึง เทคโนโลยีหลาย ๆ ชนิดที่เกี่ยวข้องกับ DSL (Digital Subscriber Line) นักวิจัยที่คิดค้น DSL พบว่าข้อมูลเสียงที่ส่งผ่านสายโทรศัพท์ เป็นข้อมูลที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับความสามารถจริงของสายโทรศัพท์ จึงเกิดทฤษฎีในการแบ่งคลื่นความถี่ในสายโทรศัพท์เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ใช้ในการส่งผ่านข้อมูลเสียง อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นความถี่ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการรับส่งข้อมูล ทำให้เกิดช่องสัญญาณที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้จำนวนมาก ดังนั้นจึงสามารถคุยโทรศัพท์และเล่นอินเตอร์เนตได้ในเวลาเดียวกัน โดยใช้สายโทรศัพท์เพียงเส้นเดียว (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 16)





เตือนระบบนิเวศวิกฤตปรากฏการณ์ฟอกขาว เหตุประการังถูกทำลาย จี้ร่วมออกมาตรการแก้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาและดำน้ำสำรวจปะการังที่เกาะเต่า อ.พะงัน จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เกาะเต่าเป็นเกาะที่มีน้ำใสสามารถมองเห็นปะการังได้ชัดเจนที่สุดในอ่าวไทย และยังเป็นเกาะที่เคยมีปะการังสมบูรณ์และสวยงามมากแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเมื่อปี 2541 รวมทั้งการทำประมง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ปะการังถูกทำลายเป็นบริเวณกว้าง นายนิพนธ์กล่าวว่าปะการังสามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติหากไม่ถูกรบกวน โดยเฉพาะมนุษย์ซึ่งมีส่วนในการทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกหรือโลกร้อนขึ้น และยังทำกิจกรรมที่ส่งผลให้ปะการังถูกทำลายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งน้ำเสียจากรีสอร์ท ภัตตาคารและร้านอาหาร การเหยียบย่ำปะการังของนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือ และการทำประมง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวต้องช่วยกันพยายามลดกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์โลกร้อน และการร่วมมือกันกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง (มติชน เสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





แฉเล่ห์ไฮเทคเว็บ ‘ลูกโซ่’ ชู ‘ค่าคอม’ ล่อเหยื่อไฮโซ

ในขณะนี้ มีกลุ่มบุคคลหัวใสใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตทำเว็บลูกโซ่เร่หากินกับกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ และบรรดาผู้อยู่ในวงการไฮโซ อ้างมีพื้นที่ในเว็บไซต์ให้ทำโฮมเพจ พร้อมเสนอบริการดูแลเว็บไซต์ แถมล่อใจด้วยการแบ่งค่าคอมมิชชั่นถ้าเหยื่อหาสมาชิกมาเพิ่มเติม สำหรับเว็บไซต์ที่กลุ่มบุคคลหัวใสอ้างว่ามีพื้นที่ให้ทำโฮมเพจแต่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ในราคาตั้งแต่ 100 เหรียญสหรัฐขึ้นไปนั้นมีอยู่หลายเว็บไซต์ด้วยกัน โดยผู้ขอเช่าต้องจ่ายค่าพื้นที่ 100 เหรียญสหรัฐ (ราว 4.800 บาท) นอกจากนั้นแล้วให้ไปหาสมาชิกมาโดยกำหนดให้หามา 9 คน และส่งเงินมาให้เจ้าของเว็บไซต์ 900 เหรียญ จะได้ส่วนแบ่งค่าคอมมิสชั่น 72 เหรียญ และให้หาสมาชิกไปเรื่อยๆ จนครบ 50 คน แล้วจะได้เงินประมาณ 500 เหรียญ และทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนแชร์ลูกโซ่ (มติชน พฤหัสบดี ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 19)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ข่าวการประกวดสิ่งประดิษฐ์

ด้วยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนคนไทยที่มีความสามารถในการประดิษฐคิดค้น จึงได้จัดให้มีรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเป็นประจำทุกปีในปี 2545 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประสงค์จะเสนอผลงาน ประดิษฐ์คิดค้นเพื่อขอรับรางวัลประจำปี 2545 จัดทำรายละเอียดตามข้อกำหนด ส่งถึงกลุ่มงานรางวัลกองส่งเสริมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 จนถึง 30 เม.ย. 44 โทร. 579-2288, 561-2445 ต่อ 530 โทรสาร 579-0455 (กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





เอาเชื้อโรคหวัดสังหารโรคมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูว์ส ของสกอตแลนด์ ได้พบว่าเชื้อไวรัสโรคหวัด อาจเป็นตัวการทำให้เป็นมะเร็งโรคร้ายได้ คณะวิจัยกำลังใช้เชื้อไวรัสโรคหวัด เอามาใช้แก้ปัญหาอยู่ เพราะถึงแม้มันอาจไม่ใช่ตัวการก่อโรคขึ้นเอง แต่มันก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นมะเร็งหลายอย่าง การวิจัยจะช่วยทำให้เรารู้ถึงกลไกที่ไวรัสใช้ในการก่อโรค ซึ่งจะช่วยให้เราออกแบบยาใหม่ได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2544 หน้า 7)





ใช้รกเด็กทำยารักษาอัมพาตหาย

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริดาใต้ เปิดเผยว่า ได้ทดลองใช้รกช่วยรักษาเยียวยาหนูทดลองได้ผลดีมาแล้ว หนูป่วยมีอาการกระเตื้องขึ้นจากโรคอัมพาตอย่างรวดเร็วด้วยวิธีเพียงแค่ปล่อยเซลล์สกัดจากสายรกไหลเข้าหลอดเลือด ไม่ต้องผ่าตัดปลูกในสมองโดยตรง นักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถลองใช้วิธีนี้กับคนไข้ได้ภายในเวลาปีครึ่งถึงสองปีหน้านี้ (ไทยรัฐ พุธที่ 21 ก.พ. 2544 หน้า 7)





จุฬาฯ ทำเครื่องตรวจยาปฏิชีวนะในนม

งานการวิจัยและสร้างเครื่องมือตรวจยาปฏิชีวนะนี้ชื่อว่า KS-9 โดย รศ.น.สพ.ดร.ธงชัย เฉลิมชัยกิจ กับ รศ.น.สพ.ดร.เกรียงศักดิ์ สายธนู อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทย์ ได้รับทุนในการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ระบุว่าเท่าที่ผ่านมาในการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในน้ำนมนั้น ต้องซื้อชุดตรวจสอบมาจากต่างประเทศในราคาที่แพงมาก และไม่สะดวกที่เกษตรกรรายย่อยจะนำมาใช้งาน อาจารย์ทั้ง 2 ท่านก็เลยคิดสร้างเครื่องมือชนิดนี้ขึ้นแบบง่าย ๆ โดยใช้วิธี Tube diffusion method ประกอบด้วยสปอร์ของแบคทีเรียในกลุ่ม stearothermophilus varcarlidolactis ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่เอื้ออำนวยต่อการซึมผ่านของยาปฏิชีวนะและการเจริญเติบโตของสปอร์โดยหลักการของชุดตรวจสอบนี้ คือ หลังจากหยดตัวอย่างน้ำนม 0.1 มิลลิลิตร ลงในชุดตรวจสอบและทำการอบเพาะที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 2-3 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าตัวอย่างน้ำนมที่ทำการตรวจไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างแบคทีเรีย stearothermophilus ก็จะสามารถแบ่งตัวทำให้มีการใช้สารอาหารในหลอดทดสอบ ทำให้มีสภาพกรดขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนสีของสาร Bromoresolpurple จาก สีม่วงเป็นสีเหลือง แต่ถ้าในน้ำนมมียกตกค้างอยู่ ยาก็จะไปยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรีย ทำให้ไม่เกิดกระบวนการใช้สารอาหารในหลอดทดสอบ และสีของสาร Bromoresol purple ก็จะเป็นสีม่วง ตามเดิม (ไทยรัฐ พุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





มูลนิธิข้าวเอเชียให้ทุนศึกษาวิจัยข้าวในสหรัฐฯ

ดร.ขวัญใจ โกเมศ กรรมการมูลนิธิข้าวไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิข้าวเอเชีย สาขาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในการระดมทุนเพื่องานวิจัยด้านข้าว จะให้ทุนแก่นักศึกษาในการเดินทางไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐฯ จำนวน 2,500 เหรียญ โดยเน้นงานวิจัยหรือความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการผลิตข้าว การตลาดข้าว การบริโภคข้าว และนโยบายหรือวัฒนธรรมความสัมพันธ์เกี่ยวกับข้าวในเอเชีย คุณสมบัติของผู้สมัครต้องเป็นนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ศึกษาอยู่ในสถาบันที่น่าเชื่อถือในเอเชียหรือสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียน นักศึกษาในเอเชียให้สมัครได้ที่ ดร.ขวัญใจ โกเมศ e-mail : asiarice@mozart.inet.co.th หมดเขตรับสมัครวันที่ 15 พ.ค. 44 (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2544 หน้า 7)





เซฟไฟสัญญาณจราจร

ผลงานไฟสัญญาณจราจร เป็นสิ่งประดิษฐ์ประเภท อุปกรณ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน นำโดยนาย ชูวงศ์ เพิ่มผล นายนราศักดิ์ ผิวผ่อง นายอาทิตย์ วิศวโกศล นายโสภณ โต๊ะงาม นายชูพงษ์ สุวรรณเสวก นายสุรเดช มณีศรี และนายธวัชชัย บุญเขื่อง นักศึกษา ปวช.ปี1 และ ปี 2 แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ ซึ่งมีอาจารย์ วโรตม์ สรีมงคล อาจารย์เสรี ภูผาสุข และอาจารย์อรรณพ ผิวผ่อง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ สัญญาณไฟจราจรนี้ มีอุปกรณ์หลักที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมเข้ามา คือหลอดประหยัดไฟขนาด 55 และ 20 วัตต์ และเพิ่มตัวเซ็นเซอร์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และที่สำคัญคือวงจรตรวจสภาพแสงและเลือกหลอดไฟฟ้าที่ใช้สำหรับปรับเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าในสภาพกลางคืน ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในไฟจราจรตอนกลางคืน เท่ากับเวลากลางวัน โดยวงจรตรวจสภาพแสงจะบังคับหลอดไฟฟ้าขนาด 55 วัตต์ ให้ทำงานขณะเวลากลางวัน และหลอดไฟฟ้าขนาด 20 วัตต์ในเวลากลางคืน เป็นการทำงานโดยใช้พลังงานแสงเป็นตัวควบคุม และจะมีฟิวส์ไว้ป้องกันไฟฟ้ารั่ว และผู้ใช้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะ 300 เมตร ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้พลังงานกับไฟสัญญาณจราจรในเวลากลางคืนได้ถึง 62.5 % ของจำนวนพลังงานทั้งหมดในตอนกลางวัน และยังช่วยชาติประหยัดพลังงานไฟฟ้าต่อปีได้ถึง 306.6 ยูนิต คิดเป็นค่าใช้จ่ายก็ ประมาณจุดละ 919 บาท/ปี เท่านั้น (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





เครื่องอัดไส้ขนมเบเกอรี่

นายนพดล สุมูลเวช และนายรังสรรค์ จำเริญศรี ชั้น ปวช.3 แผนกช่างไฟฟ้า จากวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี และ นางสาวกฤษณา พันธุ์แตง นางสาวอรุณี สารสาริน และนางสาวตลับเพชร มาลาวงศ์ ชั้น ปวส.1 แผนกอาหาร จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรี อาจารย์ที่ปรึกษา คืออาจารย์อำนาจ ชนพิทักษ์ อาจารย์วีรพงษ์ อุดมผล และอาจารย์นงลักษณ์ ชุ่มกลาง ได้ร่วมกันสร้างผลงาน "เครื่องอัดไส้ขนมเบเกอรี่" เครื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทอุปกรณ์การใช้งานเพื่อประกอบอาชีพ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ระดับภาคกลางจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เครื่องอัดไส้ขนมเบเกอรี่เครื่องนี้จะทำการอัดไส้ขนมได้เร็ว เพราะหัวอัดจะเป็นโลหะแข็ง สามารถใช้เป็นตัวเจาะเข้าไปที่ตัวขนมและอัดไส้เข้าไปข้างในทีเดียวกัน และเครื่องนี้สามารถใช้แต่งหน้าเค้ก แล้วอัดไส้ขนมต่างๆ เช่น ขนมปัง หรือโดนัทแบบมีไส้ก็ใช้เครื่องนี้ได้ วัสดุที่ใช้ทำเครื่องอัดไส้ขนมเบเกอรี่ก็หาง่าย เป็นวัสดุเหลือใช้ บางชิ้นต้องซื้อใหม่ราคาไม่แพง ใช้งบประมาณ 4,000 บาทส่วนเวลาในการทำก็ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และสามารถเคลื่อนย้ายสะดวก (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





วัสดุสมานแผลตัวเองได้

สกอต ไวท์ แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองเออร์บันนา-แชมเปญ ได้สร้าง "ระบบภูมิคุ้มกัน" สำหรับวัสดุสารประกอบที่จะซ่อมแซมตัวมันเองเมื่อเกิดความเสียหาย แคปซูลจิ๋วสามารถซ่อมรอยร้าวในวัสดุได้ทันทีที่เกิดขึ้น ทำให้วัสดุกลับแข็งแกร่งเกือบเท่าเดิม ระบบแคปซูลจิ๋วซ่อมแซมรอยแยกที่ว่านี้จะใช้ประโยชน์ได้ในงานหลายอย่างตั้งแต่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ชีวการแพทย์ ไปจนถึงยานอวกาศ อาคารและสะพานในวัสดุต่างๆ นั้น รอยร้าว รอยแยกจะทำให้แคปซูลขนาดจิ๋วแตกออก แล้วปล่อยสารสมานแผลที่บรรจุอยู่ข้างในออกมา สารดังกล่าวจะไหลออกมาอุดรอยแตก และเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้สารสมานแผลนี้แข็งตัว เป็นการผนึกปิดรอยแตกที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบเบื้องต้น ซึ่งรายงานในวารสาร Nature แสดงว่า ระบบซ่อมแซมตัวเองนี้ช่วยฟื้นสภาพของโครงสร้างให้กลับคืนได้ 75 % ของความแข็งแกร่งเดิมของมัน แคปซูลจิ๋วนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับส่วนประกอบต่างๆ ของดาวเทียม เครื่องยนต์ขับดันจรวด อวัยวะเทียม สะพาน และสถานีอวกาศ (ไทยโพสต์ อังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 9)





ดันไทยศูนย์กลางพัฒนาเทคโนฯชีวภาพในเอเชีย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมกองทัพอากาศ กลุ่มนักธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์ที่ทำกิจการเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จัดสัมมนาเรื่อง ไบโอเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยมีกลุ่มนักลงทุนและผู้สนใจในการดำเนินกิจการทางด้านนี้จากประเทศไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ร่วมฟังประมาณ 100 คน น.อ. ไพฑูรย์ จ่วงพานิช รองเสนาะการกรมแพทย์ ทหารอากาศ กล่าวว่า ในอดีตนั้นประเทศรัสเซียมีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพอย่างมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของการปกครองในประเทศ เรื่องเหล่านี้จึงไม่ได้รับการเผยแพร่ออกไป กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้พยายามทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียให้ได้ นายแดเนียล ซี. มอนตาโน ผู้เชี่ยวชาญการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพกล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาว่า หลังจากที่ตนได้ศึกษาความเหมาะสมในการทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศในเอเชียมาหลายปี ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมและได้ปรียบที่อื่นๆ มากที่สุด (มติชน อาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 6)





แคนาดาประสบผลตัดต่อยีนปลาเทราต์ตัวโตกว่าปกติ 17 เท่า

สำนักข่าวรายงานว่า วารสารเนเจอร์ ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ได้รายงานว่านักวิจัยกรมประมงแคนาดาได้ทดลองตัดต่อยีนปลาเทราต์ โดยใส่ยีนกระตุ้นการเจริญเติบโตเข้าไปในปลาเทราต์ที่เติบโตตามธรรมชาติ ปรากฏว่าหลังจากเวลาผ่านไป 14 เดือน ปลาเทราต์เหล่านั้นโตขึ้นจากปกติถึง 17 เท่า มีน้ำหนักถึง 167 กรัม ขณะที่ปลาชนิดเดียวกันที่ไม่ผ่านกระบวนการ จีเอ็มโอ ดังกล่าวจะมีน้ำหนักเพียง 7.9 กรัมเท่านั้น แต่เมื่อทีมวิจัยทีมนี้ได้ทดลองแบบเดียวกันกับปลาเทราต์ที่เลี้ยงในฟาร์ม ปรากฏว่าไม่ได้ผลแม้แต่น้อย ซ้ำปลายังมีลักษณะผิดปกติและตายเร็วขึ้นกว่าด้วย (มติชน พุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 )





ญี่ปุ่นประดิษฐ์เก้าอี้รถเข็นใช้ลิ้นบังคับ

สำนักข่าวยูมิอูริ รายงานว่า นักวิศวกรสถาบันวิจัยประมวลผลข้อมูลมนุษย์เอทีอาร์ ซึ่งตั้งอยู่ในนครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นบรรลุความสำเร็จในการประดิษฐ์เก้าอี้รถเข็นสำหรับคนพิการบังคับการทำงานด้วยลิ้นเป็นครั้งแรกในโลกแล้ว วิศวกรทีมนี้ร่วมกันคิดค้นเก้าอี้เข็นชนิดดังกล่าวขึ้นมาเพราะเห็นว่า มีคนพิการจำนวนมากที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขาตัวเองได้มีแต่ลิ้นเท่านั้นที่เคลื่อนไหวได้ จึงหาทางประดิษฐ์เก้าอี้รถเข็นที่ใช้ลิ้นบังคับขึ้นมา เพื่อให้คนพิการที่มีข้อจำกัดดังกล่าวได้สามารถควบคุมเก้าอี้รถเข็นของตนเองได้ (มติชน พฤหัสบดี ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





นอร์เวย์ผลิต ‘หูฟัง’ ช่วยกรองเสียงไม่อยากได้ยิน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นิตยสารนิว ไซเอนทิสต์ รายงานว่า ทีมวิศวกรชาวนอร์เวย์ได้ร่วมกันประดิษฐ์หูฟังชนิดใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถกลั่นกรองเสียงที่ไม่อยากจะได้ยินได้สำเร็จแล้ว หูฟังใหม่ล่าสุดนี้ติดตั้งคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งมีโปรแกรมคัดเลือกเสียงต่างๆ ตามลักษณะการใช้งาน เช่น หากติดตั้งในแฮนด์ ฟรี ก็จะช่วยให้ได้ยินเสียงคู่สนทนาผ่านโทรศัพท์มือถือชัดเจนขึ้น เพราะตัดคลื่นเสียงที่รบกวนภายนอกออกหมด เว้นแต่เสียงที่จำเป็นเช่น เสียงสัญญาณเตือนอันตรายต่างๆ เสียงแตรรถยนต์ ฯลฯ หากใช้ในกิจการสื่อสารของทหาร ก็จะช่วยให้ทหารที่อยู่ในรถถัง เครื่องบินหรือใช้ปืนใหญ่ได้ยินเสียงพูดคุยสื่อสารกันชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ผู้ประดิษฐ์ได้นำเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นได้นี้เข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมแล้ว คาดว่าจะมีออกขายในราวต้นปีหน้านี้ (มติชน พฤหัสบดี ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 7)





ศูนย์ควบคุมเขต 10 วิจัยลด ‘เอดส์’ ให้ยา ‘เนวิราพีน’ แม่ติดเชื้อ-ทารก

น.พ.ชวลิต นาถประทาน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อเขต 10 เชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์กำลังเสนอขอวิจัยการลดอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกโดยการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ชื่อ “เนวิราพีน” (Nevirapine) ให้แม่ที่ติดเชื้อเอดส์และลูก ให้คณะกรรมการวิจัยในคนที่ สธ.พิจารณาเพราะขณะนี้มีสถานพยาบาลในภาคเหนือตอนบนที่มีความพร้อมที่จะทำวิจัยดังกล่าว ซึ่งการให้ยาดังกล่าวจะเป็นการเสริมอีกทางหนึ่งควบคู่กับการให้ยาต้านไวรัสเอแซททีกับแม่ที่ติดเชื้อเอส์ (มติชน อาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 6)





พบวิธีทำ ‘เกลือไอโอดีน’ ใหม่! เปิดตัวพ.ค.-เชื่อคนป่วยลดลง

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ น.พ.พิชิต สุวรรณประกร เลขาธิการมูลนิธิโภชนาการไอโอดีน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มูลนิธิโภชนาการไอโอดีนเฉลิมพระเกียรติ ได้ร่วมกับองค์กรสตรีร่วมรัฐภาคี สภากาชาด กรมอนามัย กระทรวงมหาดไทย ธนาคารออกสิน ฯลฯ ร่วมกันวางแผนการกวาดล้างโรคขาดสารไอโอดีนทั่วไทย โดยก่อนหน้านี้มีโครงการผลิตไข่สดเสริมไอโอดีนออกมาเผยแพร่ทั่วประเทศมาแล้ว ล่าสุดได้พบวิธีการผลิตเกลือใหม่ที่มีสารไอโอดีนทั่วถึง และลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และได้เริ่มทดลองทำแล้วที่บ่อเกลือ อ.บ้านเกลือ จ.น่าน และ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี วิธีการใหม่ที่ลดขั้นตอนการผลิตเกลือ คือการเติมไอโอดีนลงในเกลือขณะต้ม ซึ่งการเติมไอโอดีนนี้มีสูตรและกรรมวิธีทางเทคนิคพิเศษที่ไม่ทำให้สารไอโอดีนระเหยไปในขณะต้ม โดยเมื่อต้มแล้วผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องมาพ่นไอโอดีนอีก ทั้งยังทำให้เกลือแต่ละเม็ดมีปริมาณไอโอดีนทั่วถึงกว่า (มติชน พฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 19)





ข่าวทั่วไป


แย้มแหล่งทุนทำระบบขนส่งอนาคต เก็บภาษีน้ำมัน-ภาษีรถจากเจ้าของ

พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) กล่าวถึง ผลการศึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและพื้นที่ว่า เสนอให้มีการลงทุนระบบขนส่งมวลชนระยะเวลา 20 ปี จะต้องใช้เงินจำนวนมากโดยเป็นเงินทุนที่ต้องกู้จากต่างประเทศ แล้วในอนาคตอาจต้องเก็บภาษีน้ำมัน และภาษีรถจากคนที่ใช้รถส่วนตัว สำหรับข้อสรุปการต่อขยายระบบขนส่งมวลชนขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งผลการศึกษามี 2 แนว คือแนวโฮปเวลล์ หรือใช้ถนนพหลโยธิน จะสรุปได้เร็วๆ นี้ ส่วนปัญหาโครงการโฮปเวลล์ควรให้ นายวีระ สุสังกรกาญจน์ อดีต รมต. ประสานเพื่อเจรจากับประธานบริษัทโฮปเวลล์ให้กลับมาทำโครงการต่อ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 34)





ผักกาดดอง...ระวังไตพิการ

สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่าง ผักกาดดองเปรี้ยว จากส่วนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อมาตรวจหาสารกันบูดตกค้าง 2 ตัวคือ กรดซอร์บิก และกรดเบนโซอิก ปรากฏว่า พบกรดเบนโซอิกตกค้างในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างพบเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่ยังโชคดีอยู่บ้าง ที่กรดซอร์บิกตรวจหายังไงก็ไม่พบสารดังกล่าว ถ้าได้รับเกินปริมาณที่กำหนด และได้รับอย่างต่อเนื่อง จะมีผลทำให้ตับกับไตทำงานหนักขึ้น และเมื่อทำงานหนักขึ้นประสิทธิภาพในการทำงานก็ลดลง จนอาจถึงขั้นตับกับไตพิการได้ (ไทยรัฐ)





โครงการพิพิธภัณฑ์เรือใต้ทะเล

นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร รองนายกเมืองพัทยา มีความคิดที่จะจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์เรือใต้ทะเลบริเวณอ่าวพัทยา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานใต้ทะเลสำหรับบุคคลที่สนใจ และนักท่องเที่ยวที่นิยมดำน้ำ และยังเป็นแหล่งอนุรักษ์และอนุบาลสัตว์น้ำ ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างยื่นหนังสือไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อขอให้เรือรบที่ปลดประจำการมาใช้ทำพิพิธภัณฑ์เรือใต้ทะเล (เดลินิวส์ พุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 32)





โรงละครแห่งชาติสุพรรณบุรี

นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า โรงละครแห่งชาตินี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มพูนและประสบการณ์ด้านการแสดงนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ของนักเรียน และนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ รวมทั้งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ประจำท้องถิ่น และระหว่างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 และในวันที่ 3 มีนาคม 2544 จะมีการแสดงรอบปฐมทัศน์ ผู้สนใจสามารถจองบัตรเข้าชมได้ที่โรงละครแห่งชาติ ภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี โทร.(035) 535122 (เดลินิวส์ อังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 33)





องค์การค้าฯ สร้างอาณาจักร

นายวิชัย พยัคฆโส ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภา ว่า ขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกาศขึ้นค่าเช่าที่ดินบริเวณอาคาร 9 ถนนราชดำเนินที่องค์การค้าฯเช่าเป็นที่ทำการร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์เพิ่มจากเดิม 100 เท่า คือจาก 110,000 บาทเป็น 11 ล้านบาทต่อปี องค์การค้าฯมีแนวคิดเสนอคณะกรรมการองค์การฯ เพื่อสร้างศูนย์การค้าทางการศึกษาแบบครบวงจรบริเวณโรงพิมพ์คุรุสภา ซอยลาดพร้าว 64 เพื่อเป็นที่จำหน่ายหนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอนและใช้เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมครู นักเรียนนักศึกษาเน้นเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งเป็นสำนักงานใหญ่ขององค์การค้าฯด้วย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)





ทุกบ้านในกทม. ต้องซื้อถังขยะ ราคาตั้งแต่ 40-80 บาท แผงลอยให้ใช้ฟรี

นายสมัครสุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ว่า ตนได้แนวคิดในการสนับสนุนให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกสุขลักษณะ โดยสำนักรักษาความสะอาดจะจ้างบริษัทเอกชนผลิตถังขยะ 3 ขนาด คือ ขนาด 20 ลิตร สำหรับบ้านขนาดเล็กอาศัยอยู่ 4 คน ถังขนาด 40 ลิตร สำหรับบ้านขนาดกลางอาศัยอยู่ 6 คน และถังขนาด 60 ลิตร สำหรับบ้านขนาดใหญ่อาศัยอยู่ 8 คนขึ้นไป โดยถังขยะจะขายในราคา 75-80 บาท หากบ้านใดไม่ต้องการซื้อต้องหาถังขยะมารองรับขยะหน้าบ้านเอง ส่วนผู้ค้าหาบเร่ทาง กทม.จะให้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการไม่บังคับ แต่ผู้ค้าอาจจะซื้อถุงขยะจากกทม. หรือนำมาเอง ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยตามบ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่างข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยของสำนักรักษา โดยเบื้องต้นคาดว่าค่าธรรมเนียมสำหรับบ้านขนาดเล็ก 50 บาท บ้านขนาดกลาง 70 บาท และบ้านขนาดใหญ่ 100 บาท ทุกบ้านที่จ่ายค่าธรรมเนียมจะได้รับถุงขยะฟรี 30 ใบ (สยามรัฐ พุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 6)





สวช.เก็บข้อมูลประวัติท้องถิ่นไทยลง ‘เน็ต’

นายอาทร จันทวิมล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เตรียมโครงการสืบค้นประวัติท้องถิ่นไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้นักเรียนนักศึกษา ได้สืบค้นเรื่องราวมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย ขณะนี้ได้เตรียมรวบรวมข้อมูลต่างๆ ลงในแผ่นดิสก์และผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ไปบางส่วนแล้ว เช่น ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่, อ.บ้านเชียง จ.อุดรธานี, อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และอ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น สำหรับข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้รวบรวมมาจากการศึกษาบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม และประวัติของท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ จากเอกสาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง (ข่าวสด พฤหัสบดี ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 5) องค์การค้าฯ สร้างอาณาจักร นายวิชัย พยัคฆโส ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภา ว่า ขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกาศขึ้นค่าเช่าที่ดินบริเวณอาคาร 9 ถนนราชดำเนินที่องค์การค้าฯเช่าเป็นที่ทำการร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์เพิ่มจากเดิม 100 เท่า คือจาก 110,000 บาทเป็น 11 ล้านบาทต่อปี องค์การค้าฯมีแนวคิดเสนอคณะกรรมการองค์การฯ เพื่อสร้างศูนย์การค้าทางการศึกษาแบบครบวงจรบริเวณโรงพิมพ์คุรุสภา ซอยลาดพร้าว 64 เพื่อเป็นที่จำหน่ายหนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอนและใช้เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมครู นักเรียนนักศึกษาเน้นเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งเป็นสำนักงานใหญ่ขององค์การค้าฯด้วย (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 20)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215