หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 13 ประจำวันที่ 2000-11-14

ข่าวการศึกษา

บุญเยี่ยม มีศุข วิศวะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มจธ.
ประชาพิจารณ์ (นอกรอบ) ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์
ศธ.ยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับมีบทลงโทษผู้ขัดขวางเด็กเข้าเรียน
ปรับหลักสูตรช่างทาสีสู่มาตรฐานสากล
ระเบียบเทียบโอนการศึกษาคืบหน้าเผยมีหลากหลายเกินสิบวิธี
ทปอ. จี้มหา’ลัยเอาจริงผลิตคนรุ่นใหม่ให้มีสมอง
มหา’ลัยเริ่มเครียดคลังจ้องคุมเงินนอกงบประมาณ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เปิดตัวหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงรุ่นใหม่นานาชนิด
คดีประวัติศาสตร์ผู้ผลิตคอมพ์ค่ายไทยยิ้มร่า
เผาศพไร้มลพิษต่อลมหายใจคนเป็น
จีนเล็งส่งนักบินท่องอวกาศในอนาคตอันใกล้
หิมะต่างดาว
ถกพลังงานนิวเคลียร์พื้นภาคเอเชีย ไทยเจ้าภาพ-เน้น ใช้อย่างปลอดภัย
พบ 4 จุดบนดวงอาทิตย์ ผวาระเบิดประจุไฟฟ้ารบกวนระบบสื่อสารโลก
อาเซียนจับมือออสซี่เปิดศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ชายทะเล
ฮือฮากล้อง ‘ฮับเบิล’ ของนาซ่าจับภาพ 2 กาแล็กซี่ชนกันได้
พบดาวเคราะห์จิ๋ว ‘Plutino’

ข่าววิจัย/พัฒนา

เซลล์สุริยะรูปแบบใหม่
เตาเผากระดูกสัตว์ งานวิจัยสู่ชุมชน

ข่าวทั่วไป

หวั่นวัฒนธรรมไทยสาบสูญ ยุบทิ้งกรมศิลปากร
ฐานอัตราค่าไฟฟ้าแบบใหม่ กฟน.คุยควักกระเป๋าน้อยลง





ข่าวการศึกษา


บุญเยี่ยม มีศุข วิศวะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มจธ.

สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายบุญเยี่ยม มีศุข ได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ประจำปีการศึกษา 2542 นายบุญเยี่ยม มีศุข เป็นนักวิชาการรุ่นแรกๆ ของประเทศที่มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติทางด้านวิศวกรรมเคมีและเครื่องกล เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและสนับสนุนการส่งออก (มติชน เสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 หน้า 4)





ประชาพิจารณ์ (นอกรอบ) ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์

การเตรียมการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวโน้มของการปฏิเสธการเข้าร่วมประชาพิจารณ์ของคณาจารย์กลุ่มหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนบทความได้เสนอแนวคิดว่า การไม่ได้รับความร่วมมือในการทำประชาพิจารณ์มีสาเหตุมาจาก 1) การตัดสินใจนำมหาวิทยาลัย 19 แห่งออกนอกระบบราชการ ถูกตัดสินใจก่อนการทำประชาพิจารณ์ในประชาคมแต่ละแห่ง ในส่วนของจุฬาลงกรณ์ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ถูกข้ามขั้นตอนไปหมดสิ้น 2) ระบบการตรวจสอบและความสมดุลระหว่างสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีและคณาจารย์ยังไม่ดีพอ 3) การคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ ของคณาจารย์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ไปเพิ่มอำนาจให้สภามหาวิทยาลัย การบริหารงาน และอื่นๆ 4) วิกฤตด้านคุณภาพอาจารย์และนักศึกษา (มติชน อาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2543 หน้า 4)





ศธ.ยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับมีบทลงโทษผู้ขัดขวางเด็กเข้าเรียน

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้มีการพิจารณายกร่างแก้ไขพ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับ กำหนดว่าให้มีการจัดการการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี สำหรับเด็กทุกคน โดยสำรวจจำนวนและรายชื่อเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 ประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า 1 ปี ถ้าหากสถานประกอบการใดรับเด็กวัย 7-16 ปี เข้าทำงานจะถูกลงโทษ รวมทั้งเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และผู้ปกครองของเด็กที่ไม่ให้เด็กเข้าเรียนโดยไม่มีเหตุผล ก็ถือว่ามีความผิดต้องถูกลงโทษด้วย (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ปรับหลักสูตรช่างทาสีสู่มาตรฐานสากล

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5 โครงการคือ โครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี – โท, โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับเยาวชน JAVADA, โครงการฝึกอบรมผู้ฝึกงานก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และโครงการส่งอาสาสมัครไปญี่ปุ่นในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ทางกรมฯได้หารือกับบริษัทสี ทีโอเอ เพื่อจัดทำหลักสูตรช่างทาสีให้เกิดการเรียนรู้ตามมาตรฐานที่ใช้กันในระบบสากล (เดลินิวส์ เสารที่ 4 พฤศจิกายน 2543 หน้า 28)





ระเบียบเทียบโอนการศึกษาคืบหน้าเผยมีหลากหลายเกินสิบวิธี

ดร.กล้า สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการด้านการจัดระบบและการจัดการศึกษา เปิดเผยความคืบหน้าของการจัดสร้างระบบการเทียบโอนการศึกษาว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการแบ่งระดับการศึกษาซึ่งเป็นการกำหนดหลักการใหญ่ได้ผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วทั้ง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นเรื่องของการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียน ส่วนฉบับที่ 2 เป็นเรื่องของการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเรื่องของการเทียบโอนการศึกษาระดับต่างๆ จะอยู่ในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 และขณะนี้ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับยังอยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่อาจต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 เดือน ดังนั้นในระหว่างนี้ทางคณะอนุกรรมการเทียบโอนการศึกษาทุกระดับการศึกษา ซึ่งมีตนเป็นประธาน จึงเห็นว่าควรยกร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเทียบ โอนผลการศึกษารอไว้ก่อน เพราะเมื่อร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวผ่านครม.แล้ว จะได้ประกาศใช้ระเบียบฯ ว่าด้วยการเทียบโอนผลการศึกษาได้ทันที (เดลินิวส์ พุธที่ 8 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ทปอ. จี้มหา’ลัยเอาจริงผลิตคนรุ่นใหม่ให้มีสมอง

รศ. ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สถาบันวิจัย ไอเอ็มดี ได้จัดอันดับเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศในด้านการแข่งขัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ใน 47 ประเทศที่เข้าร่วมจัดอันดับ ประเทศไทยมีการเปิดกว้างทางการศึกษามากที่สุด แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ จำนวนนักวิจัย และการลงทุนด้านการวิจัยอยู่ในอันดับต่ำสุด จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องตื่นตัว สร้างบัณฑิตให้เก่ง ให้มีสมอง พึ่งตนเองได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2543 หน้า 10)





มหา’ลัยเริ่มเครียดคลังจ้องคุมเงินนอกงบประมาณ

กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบใหม่ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา ต้องนำเงินนอกงบประมาณมาฝากในหน่วยงานที่กระทรวงการคลังกำหนดเท่านั้น ระเบียบนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ผู้บริหารของหลายมหาวิทยาลัยได้แสดงทัศนะที่แตกต่างกันและ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เปิดตัวหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงรุ่นใหม่นานาชนิด

บริษัทเซกาในญี่ปุ่น ผลิตหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงชุดใหม่ออกมาอีกหลายชนิด มีทั้งหุ่นยนต์แมว หุ่นยนต์ดอกไม้ และหุ่นยนต์ไดโนเสาร์ หุ่นยนต์แมวชื่อ เมียว-ชิ และหุ่นยนต์นก "เชอร์รี-ชิ" ที่สามารถร้องเพลงได้ถึง 6 เพลง นอกจากนี้เซกาเผยโฉมหุ่นยนต์สุนัข ปู-ชิ รุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนาจากรุ่นเดิมโดยตั้งชื่อว่า ซุปเปอร์ ปู-ชิ ที่ร้องเพลงได้ถึง 17 เพลง และมีลูกเล่นต่างๆ แพรวพราว ส่วนใครที่ไม่ชอบสุนัขและแมวก็มีทางเลือกใหม่ โดยมีหุ่นยนต์ดอกไม้และหุ่นยนต์ไดโนเสร์กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อนำออกจำหน่ายในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)





คดีประวัติศาสตร์ผู้ผลิตคอมพ์ค่ายไทยยิ้มร่า

คดีประวัติศาสตร์ไมโครซอฟท์-เอเทค รูดม่านลงด้วยชัยชนะของธุรกิจไทยที่มีต่อยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์ จุดประกายความหวังบริษัทคอมพิวเตอร์รายย่อยที่กำลังถูกไล่บี้อีกเป็นเบือ ขณะที่ไมโครซอฟท์และกรมทรัพย์สินฯ เครียด พลิกตำราศึกษาคำพิพากษากันยกใหญ่ ยอมรับมีผลต่อการติดตามการละเมิดลิขสิทธิ์ในอนาคต และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาก็ได้พิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ระหว่างบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ในฐานะโจทก์ และบริษัทเอเทค คอมพิวเตอร์ ในฐานะจำเลย โดยตัดสินให้บริษัทเอเทคเป็นผู้ชนะคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ นับเป็นการปิดฉากคดีฟ้องร้องที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี รวมทั้งเป็นการประกาศชัยชนะของบริษัทไทยที่มีต่อมหาอำนาจซอฟต์แวร์ สัญชาติอเมริกัน ทั้งนี้ศาลฎีกาได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไทยก่อนหน้านี้ ด้วยการยกฟ้องบริษัทเอเทค โดยตัดสินว่า การกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการล่อซื้อของไมโครซอฟท์ โดยที่เอเทคไม่มีเจตนากระทำความผิด ซึ่งเท่ากับว่าไมโครซอฟท์เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดเอง ไมโครซอฟท์จึงไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหาย (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2543 หน้า 8)





เผาศพไร้มลพิษต่อลมหายใจคนเป็น

พันเอก ธีระ ไกรพานนท์ ผู้อำนวยการกองฌาปนกิจ ฌาปนสถานกองทัพบกเปิดเผยว่า กองทัพบกได้นำเอาเตาเผาศพไร้มลพิษ ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม ตั้งแต่ปล่อยไฟ ปล่อยน้ำมัน มีแผงควบคุมอยู่ด้านนอกสร้างด้วยเหล็ก และอิฐทนความร้อนอยู่ภายใน มาใช้ในวัด 3 แห่งในกทม. คือ วัดโสมนัสวรวิหาร วัดอาวุธวิกสิตาราม และวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต การเผาใช้อุณหภูมิ 800-1000 องศา จะไม่มีสิ่งเป็นมลพิษลอยขึ้นไปในอากาศ และกระดูกยังเหลืออยู่ จะต้องมีการตรวจสอบวัดค่ามลพิษปีละ 1 ครั้ง ขณะนี้มีเตาเผาศพ 6 เตา โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมันนี งบประมาณเตาเผาละ 4 ล้านบาท (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2543 หน้า 24)





จีนเล็งส่งนักบินท่องอวกาศในอนาคตอันใกล้

ในอนาคตอันใกล้นี้จีนจะส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 จีนได้สร้างและส่งดาวเทียมของตัวเองสำเร็จแล้ว รองประธาน หู หงฝู่ แห่งบริษัทเทคโนโลยีวิทยาการอวกาศจีน (China Aerospace Science Technology Corp) กล่าวว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพของดาวเทียมเหล่านี้ โดยมุ่งเพิ่มอายุการใช้งานและขีดความสามารถของดาวเทียมสื่อสารในเรื่องแผนการส่งนักบินอวกาศนั้น จีนได้ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่หลังจากสามารถทดลองยิงจรวดเฉินโจวขึ้นสู่อวกาศได้เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งจะมีการทดสอบจรวดที่ไร้คนควบคุมอีกหลายครั้ง (ไทยโพสต์ อังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





หิมะต่างดาว

นาซาได้ค้นพบผืน "หิมะ" ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลบนดวงจันทร์ ไอโอของดาวพฤหัสบดี โดยยานกาลิเลโอได้ส่งภาพหิมะที่ว่านี้กลับมายังโลก แต่หิมะนี้เป็นสสารที่มีองค์ประกอบหลักเป็น ซัลเฟอร์หรือกำมะถัน ไม่ใช่น้ำอย่างบนโลกเรา หิมะกำมะถันเหล่านี้โปรยปรายมาจากท้องฟ้าเหมือนหิมะบนโลก โดยภูเขาไฟได้พ่นสารประกอบก๊าซซัลเฟอร์ออกมา แล้วสสารดังกล่าวได้เกิดการระเหิดและตกลงสู่ผิวดินในรูปของผลึก นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอริโซนา โมเสส มิลาซูโซ อธิบายว่าความร้อนจากบรรดาภูเขาไฟมีพลังของไอโอ จะคอยหมุนเวียนสสารที่เหมือนหิมะเหล่านี้ โดยความร้อนจากลาวาจะเปลี่ยนของแข็งที่ระเหยง่ายนี้ให้เป็นก๊าซ แล้วก๊าซจะตกผลึกกลายเป็นอนุภาคที่เป็นของแข็งในทำนองเดียวกับเกล็ดหิมะ ในภาวะปกติบนโลกนั้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีสถานะเป็นก๊าซ แต่ในหลายพื้นที่อันหนาวเย็นจัดบนดวงจันทร์ไอโอ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์อาจเป็นก๊าซ ของแข็ง หรือของเหลวได้ (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ถกพลังงานนิวเคลียร์พื้นภาคเอเชีย ไทยเจ้าภาพ-เน้น ใช้อย่างปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมเรื่อง "การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ทางสันติในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 1 หรือ The First Forum for Nuclear Cooperation in Asia (FNCA-1) ในประเทศไทย ประเด็นหลักที่จะมีการหารือกันคือ การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัยในเอเชีย นายอิทธิ พิชเยนทรโยธิน รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ประเทศเอเชียจำนวน 9 ประเทศคือ สาธารณรัฐเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียตนาม ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย มีความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ในกลุ่มมากขึ้น โดยจะมีการประสานความคิดใน 3 ระดับคือ ระดับนโยบาย โดยกำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ระดับประสานงาน โดยการกำหนดให้มีการประชุมระดับผู้ประสานงาน และระดับโครงการโดยให้มีการประชุมระดับหัวหน้าโครงการ (มติชน จันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)





พบ 4 จุดบนดวงอาทิตย์ ผวาระเบิดประจุไฟฟ้ารบกวนระบบสื่อสารโลก

นายนิพนธ์ ทรายเพชร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน สาขาดาราศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าในการติดตามจำนวนจุดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจจะเกิดการระเบิดจ้าและมีประจุพลังงานไฟฟ้ากระเด็นออกไปในอวกาศ และหลุดเข้าสู่บรรยากาศของโลก จนมากระทบกับระบบสื่อสารภายในโลกได้ จากการติดตามของดาวเทียมโซโหขององค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอมริกา (นาซ่า) พบว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กล้องโทรทัศน์ถ่ายรูปจุดบนดวงอาทิตย์ได้ 4 จุดแต่ละจุดมีขนาดใหญ่กว่าโลกเล็กน้อย แต่ยังไม่สามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่า ทั้ง 4 จุดนี้จะมีโอกาสระเบิดจนทำให้เกิดประจุไฟฟ้าออกมายังบรรยากาศของโลกได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามนาซ่ารวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย จะรายงานผลเรื่องนี้ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนตลอดเวลา (มติชน จันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)





อาเซียนจับมือออสซี่เปิดศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ชายทะเล

นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า สผ.ได้จัดทำโครงการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชายฝั่งทะเล ดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ระยะที่ 3 เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) สนับสนุนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล โดยก่อตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment and Resource Information Centre NERIC) ขึ้นภายในสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลของประเทศไทย NERIC จะเป็นหัวใจสำคัญในการจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดจนความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้การจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต (มติชน พฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)





ฮือฮากล้อง ‘ฮับเบิล’ ของนาซ่าจับภาพ 2 กาแล็กซี่ชนกันได้

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลซึ่งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซ่า) ได้ส่งขึ้นไปบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในอวกาศสามารถบันทึกภาพกาแล็กซี่ 2 กาแล็กซี่ชนกันเอาไว้ได้ นักดาราศาสตร์คาดว่าการชนกันดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน เพราะบริเวณที่ชนกันนั้นห่างไกลจากโลกออกไปหลายร้อยล้านปีแสง (มติชน พฤหัสบดี ที่ 9 พฤศจิกายน 2543 หน้า 7)





พบดาวเคราะห์จิ๋ว ‘Plutino’

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดจิ๋ว มีชื่อว่า 2000 EB173 หรือ ‘Plutino’ ซึ่งเป็นก้อนหินและน้ำแข็ง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 373 ไมล์ ประมาณ 1 ใน 4 ของดาวพลูโต ดาวนี้มีวงโคจรอยู่ระหว่าง ดาวเนปจูนกับดาวพลูโต หรือห่างจากโลกประมาณ 3.6 พันล้านไมล์ (เดลินิวส์ พุธที่ 8 พฤศจิกายน 2543 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เซลล์สุริยะรูปแบบใหม่

นักวิทยาศาสตร์จาก Bell Laboratories in Murray Hill มลรัฐ New Jersey สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสารประกอบตัวใหม่ ซึ่งนำมาใช้ทดแทนซิลิคอนและมีราคาถูก ชื่อว่า "pentacene" เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ สารนี้สามารถดูดซับเอาพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ได้แล้ว สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้เหมือนกับซิลิคอน ในขบวนการ photovoltaic ทำให้สามารถนำมาใช้เคลือบลงบนวัสดุ อย่างเช่น พลาสติกที่มีความยืดหยุ่น เพื่อทำเป็นเซลล์สุริยะราคาถูก (เดลินิวส์ พุธที่ 8 พฤศจิกายน 2543 หน้า 16)





เตาเผากระดูกสัตว์ งานวิจัยสู่ชุมชน

นางศันสณี รัชชกูล ผู้อำนวยการศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึงผลงานวิจัย เรื่อง "เตาเผากระดูกสัตว์ พร้อมระบบควบคุมและกำจัดกลิ่น" ว่า ปัญหาฟลูออไรด์เป็นพิษเป็นปัญหาเรื้อรังที่พบมาก เพราะได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิดอาการตกกระในฟันแท้ เกิดความผิดปกติของกระดูกและพิการได้ วิธีแก้ปัญหาคือการกรองลดปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำโดยใช้ไส้กรองกระดูกสัตว์ ดังนั้นศูนย์ทันตสาธารณสุขร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงคิดประดิษฐ์เตาเผากระดูกสัตว์พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขึ้น เพื่อผลิตถ่านกระดูกสัตว์ที่ได้มาตรฐานในการกรองปริมาณฟลูออไรด์ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน (เดลินิวส์ พุธที่ 8 พฤศจิกายน 2543 หน้า 16)





ข่าวทั่วไป


หวั่นวัฒนธรรมไทยสาบสูญ ยุบทิ้งกรมศิลปากร

นายอาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า อีก 2 ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างราชการใหม่ โดยเฉพาะกรมศิลปากรที่เป็นหน่วยงานใหญ่ และมีหน้าที่อนุรักษ์ฟื้นฟู และสืบสานมรดกของชาติให้คงอยู่ ถ้าปรับโครงสร้างให้เล็กลงและรวมอยู่ในหน่วยงานอื่นที่กระจายอยู่ ทำให้การดำเนินงานด้านต่างๆ ทำไม่ได้เต็มที่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า โครงสร้างใหม่จะเป็นอย่างไร แต่ถ้าอนาคตไม่มีใครให้ความสำคัญกับหน้าที่อนุรักษ์สืบสาน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศชาติเหล่านี้ เกรงว่ามรดกที่มีคุณค่าสะท้อนถึงเอกลักษณ์ ความเจริญของประเทศชาติจะหมดลง และสูญหายไปในที่สุด (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2543 หน้า 27)





ฐานอัตราค่าไฟฟ้าแบบใหม่ กฟน.คุยควักกระเป๋าน้อยลง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้มีนโยบายให้ปรับฐานอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ โดยคิดจากต้นทุนกิจการผลิตจากโรงไฟฟ้า การไฟฟ้ายืนยันว่าแม้จะมีการปรับฐานใหม่แต่ค่าไฟฟ้าจะถูกลง สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปในเขตกรุงเทพฯซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 หรือใช้ไฟเกิน 250 หน่วยต่อเดือน จะถูกลงเฉลี่ย 0.9% นอกจากนี้ยังมีค่า FT ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจริงในแต่ละเดือนที่เบี่ยงเบนไป ค่า FT จะคิด 4 เดือนต่อครั้ง ดังนั้นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2543 – มกราคม 2544 จะยังไม่มีค่า FT จะไปเริ่มเก็บในใบแจ้งหนี้เดือน กุมภาพันธ์ 2544 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2543 หน้า 34)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215