หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 2000-10-03

ข่าวการศึกษา

ชี้ออกนอกระบบยังวุ่นเพราะต่างมุมมอง
“เกษม” ยอมรับมหา’ลัยไทยยังสอนเหมือน ร.ร. มัธยม
เผยผลวิจัยการสอนชนบทศึกษาล้มเหลว เรียนแต่ในตำราไม่เชื่อมโยงกับปัญหาจริง
กศน. เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมใช้หลักสูตร ปวช. นอกระบบ
ทปอ. ชี้ต้องมีกองทุนเพื่อสวัสดิการคนอยู่นอกระบบ
ชี้ต้องยกเครื่องเอนทรานซ์ปรับปรุงวิธีคิดคะแนน PR ใหม่
“กัญจนา” ย้ำนโยบายหนุนตั้งศูนย์วิทย์ฯ กระจายทุกภูมิภาค
เสาะหาแก่น-จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ “โฮมสคูล”
พสล. เดินหน้าตั้งมหา’ลัย พุทธศาสนา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สภาพัฒน์ร่างแผนสื่อ-ไอที หนุนปูฐานความรู้เยาวชน
แหล่งน้ำมัน จ.สระแก้ว ของจริงที่ไม่ไกลเกินฝัน
เครื่องสีข้าวกล้องของเด็ก ศรี’เกษ
พบอภิมหาหลุมดำใจกลางทางช้างเผือก

ข่าววิจัย/พัฒนา

ก๊าซเชื้อเพลิงจากเหง้ามันสำปะหลัง
ให้ตัวตุ่นเป็นครูเดินทางในอวกาศ
เครื่องสีข้าวกล้องของเด็ก ศรี’เกษ

ข่าวทั่วไป

ขยาย 2 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
มนุษย์น้ำแข็ง 5000 ปี
ต่อไปเข้ากรุงต้องย้ายทะเบียน
ประปาประกันดื่มป้องกันฟันผุ





ข่าวการศึกษา


ชี้ออกนอกระบบยังวุ่นเพราะต่างมุมมอง

รศ.น.พ.นิวัติ พลนิกร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาระบบบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยรัฐ ว่า ขณะนี้รัฐบาล มองแค่ว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้จำนวนข้าราชการลดน้อยลง ทำให้ประหยัดงบประมาณ ในขณะที่ข้าราชการในมหาวิทยาลัยก็ห่วงว่าจะยังคงมีสวัสดิการมากน้อยแค่ไหน ค่าตอบแทนจะเป็นอย่างไร และยังคงให้มีระบบการบริหารบุคลากรทั้งระบบราชการและระบบพนักงานมหาวิทยาลัยหรือไม่ ส่วนนิสิตนักศึกษาก็คิดว่าหน่วยกิตจะแพงขึ้นหรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายก็มองเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเท่านั้น โดยไม่ได้มองภาพรวมของความสมดุลทางการศึกษาของประเทศ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยนอกระบบได้เปิดหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจและมีผู้สนใจมาก ในขณะที่หลักสูตรที่มีความจำเป็นบางหลักสูตร เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยา กลับมีคนสนใจน้อย ซี่งอาจจะนำไปสู่การยุบหลักสูตรดังกล่าวได้ เหตุการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่วิกฤติอุดมศึกษาได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 25 กันยายน 2543 หน้า 10)





“เกษม” ยอมรับมหา’ลัยไทยยังสอนเหมือน ร.ร. มัธยม

นายสุชน ชามพูนท รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนา “การพัฒนาอุดมศึกษาไทย : การสนับสนุนจากระดับนโยบายของประเทศ” ว่ารัฐบาลจะต้องเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้เพียงพอกับภารกิจที่มากขึ้น มิฉะนั้นจะเกิดความศูนย์เปล่าของทรัพยากร รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ กล่าวว่าในการพัฒนาอุดมศึกษานั้น ในแต่ละภูมิภาคจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทบวงฯคิดจะจัดทำแผนแม่บทอุดมศึกษา และแผนเฉพาะภูมิภาคขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการที่แท้จริงของแต่ละท้องถิ่น โดยมุ่งพัฒนาประชากรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ และมีการพัฒนาสถาบันการศึกษาตามธรรมชาติและศักยภาพของแต่ละสถาบัน ศ.ดร. เกษม สุวรรณกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยเป็นที่พึ่งของสังคมไม่ได้เพราะ ยังสอนเหมือน ร.ร.มัธยม วิธีที่จะแก้ไขให้มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคมได้ คือการออกนอกระบบ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานคล่องตัวมีอิสระมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ ให้ออกมาเป็นกฎหมายโดยเร็ว เพื่อจะเป็นต้นแบบให้แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 13 กันยายน 2543 หน้า 12)





เผยผลวิจัยการสอนชนบทศึกษาล้มเหลว เรียนแต่ในตำราไม่เชื่อมโยงกับปัญหาจริง

รศ. สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงงานวิจัยนี้ว่า ผู้สอนในมหาวิทยาลัยยังเน้นใช้รูปแบบ ที่ผู้สอนเป็นผู้ให้ความรู้ตามทฤษฎีจากตำรา ไม่มีการเชื่อมโยงกับชนบทที่แท้จริง จึงทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจถึงความรู้ที่ได้จากการศึกษาเกี่ยวกับชนบท บทบาทของผู้สอน ควรจะเป็นผู้รวบรวมความรู้จากชนบท ทำตัวเป็นสื่อกลางที่จะส่งผ่านองค์ความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำมาถ่ายทอดให้นักศึกษา และให้นักศึกษาไปปฏิบัติในภาคสนามชนบท เพื่อให้เข้าใจการศึกษาชนบทมากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาควรให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาและองค์ความรู้พื้นบ้านมากขึ้น และนำมาบูรณา-การให้เข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีรากฐานมาจากความเป็นไทย และควรให้ปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้วยตนเอง และควรเปิดเวทีเพื่อระดมความเห็นในการกำหนดหลักสูตรขึ้นในแต่ละภูมิภาคด้วย (เดลินิวส์ กันยายน 2543)





กศน. เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมใช้หลักสูตร ปวช. นอกระบบ

นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมปฏิบัติการ กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กศน. ได้มีนโยบายที่จะเปิดกว้างให้โรงเรียนฝึกอาชีพของภาคเอกชนที่ต้องการขยายการเปิดสอนสาขาวิชาประเภทต่างๆ ในระดับประกาศนียบัตร (ปวช.) ในโรงเรียนของตนเอง หรือสถานประกอบการที่ต้องการเปิดสอนระดับ ปวช. สามารถจัดทำหลักสูตร หรือพัฒนาหลักสูตรของตนเองขึ้นมาได้ เพื่อรองรับแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุให้มีการส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนและท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 23 กันยายน 2543 หน้า 12)





ทปอ. ชี้ต้องมีกองทุนเพื่อสวัสดิการคนอยู่นอกระบบ

รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ทปอ. กำลังดำเนินเรื่องการออกนอกระบบ, การประกันคุณภาพ, การเตรียมการจัดทำงบ, การจัดตั้งกลุ่มเสวนาและวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งได้รายงานให้ รมว. ทบวงมหาวิทยาลัยรับทราบ และในวันที่ 7 ตุลาคม ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน จะรายงานผลการศึกษาการพัฒนาระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในเบื้องต้นให้ทราบ ประธาน ทปอ. ยังให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนเพื่อสวัสดิการคนนอกระบบและในระบบว่า ควรมีกองทุนรวมสำหรับคนทั้งสองระบบ นอกจากนี้ ยังได้ยืนยันว่า การออกนอกระบบเป็นสิ่งที่ดี และจะพยายามดึงทุกคนให้เข้ามามีความคิดเดียวกันให้ได้ ส่วนเรื่องที่มหาวิทยาลัยบางแห่งจะยุบการสอนบางวิชา เนื่องจากนักศึกษาสนใจน้อย เช่น ประวัติศาสตร์ นั้น ตนคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ควรคิดถึงแต่เรื่องเงิน แต่ควรมองที่คุณค่าด้านวิชาการด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 กันยายน 2543 หน้า 13)





ชี้ต้องยกเครื่องเอนทรานซ์ปรับปรุงวิธีคิดคะแนน PR ใหม่

ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน อาจารย์ภาควิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะประธานคณะทำงานการศึกษาพัฒนาระบบการสอบเอนทรานซ์ เปิดเผยว่า ทางคณะทำงานได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะรายงานให้ ทปอ. ทราบในวันที่ 7 ต.ค. นี้ โดยในรายงานจะระบุถึงข้อดี ข้อเสีย ของระบบที่ผ่านมา รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และเชื่อว่าการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคตต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ส่วนการนำผลการเรียนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPA) และแสดงลำดับที่ (PR) มาประกอบการพิจารณาทั้ง 100% คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (เดลินิวส์ พุธที่ 27 กันยายน 2543 หน้า 10)





“กัญจนา” ย้ำนโยบายหนุนตั้งศูนย์วิทย์ฯ กระจายทุกภูมิภาค

น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการได้ไปเป็นประธานเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ให้บริการศึกษาตามอัธยาศัย ลักษณะของการจัดนิทรรศการในศูนย์วิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นแบบ Interactive Exhibition หรือ Hand on Exhibition ซึ่งผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการชมนิทรรศการ คือ จับได้ หมุน หรือกดปุ่มได้ ทำให้ผู้ได้รับบริการมีโอกาสพัฒนาทักษะพื้นฐาน ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้รับความรู้และความเพลิดเพลินด้วย กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริม ให้มีการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 13 กันยายน 2543 หน้า 12)





เสาะหาแก่น-จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของ “โฮมสคูล”

ในการอภิปราย เรื่อง “แก่นแท้และจุดมุ่งหมายอันสมบูรณ์ของการศึกษาโดยครอบครัว” ในการประชุมก่อตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว กรุงเทพมหานคร (ศปศค.กทม.) โดยมีวิทยากร 3 ท่าน คือ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต นายอมรวิชช์ นาครทรรพ และนายอุทัย ดุลย-เกษม คณะวิทยากรได้กล่าวว่า โฮมสคูล ต้องมีเป้าหมายที่ดีและชัดเจน ให้เด็กเรียนเรื่องใกล้ตัว แต่มีความหมาย วัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ต้องชัด กิจกรรมเน้นที่เรียนได้ทุกที่และการประเมินต้องหลากหลาย ทุกเวลา กว้างไกล นอกจากนั้น คณะวิทยากรยังเห็นว่า การเรียนรู้ของคนไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบในระบบเสมอไป และโฮมสคูลก็เป็นทางเลือกทางหนึ่ง และควรมุ่ง 4 อย่าง คือ 1) มุ่งการใช้หัว ใช้สติปัญญา 2) ดำเนินชีวิตอย่างมีสัมมาอาชีพ 3) พัฒนาทางจิตวิญญาณ และ 4) พัฒนาทางอารมณ์ของเด็ก (มติชน 24 กันยายน 2543 หน้า 4)





พสล. เดินหน้าตั้งมหา’ลัย พุทธศาสนา

พลโทฉลอม วิสมล รองประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) กล่าวว่าที่ประชุม พสล. มีมติให้มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่จะเกิดขึ้นนั้นตั้งอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ อีกทั้งประชากร 95% นับถือศาสนาพุทธมากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อที่จะให้ทันฉลองครบรอบ 50 ปี ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลกที่จะเกิดขึ้นนี้ จะไม่ทำหน้าที่ในการสอน แต่จะทำหน้าที่ประสานงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ จะเป็นแหล่งรวมของวิชาการทางพุทธศาสนาของโลก ทั้งสายเถรวาท มหายาน และวชิรยาน จะมีผู้เชียวชาญทางคอมพิวเตอร์ช่วยเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เชื่อว่าการจัดตั้งดังกล่าวจะกระตุ้นให้คนไทยเกิดความกระตือรือล้น ในการปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนามากขึ้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 กันยายน 2543 หน้า 13)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สภาพัฒน์ร่างแผนสื่อ-ไอที หนุนปูฐานความรู้เยาวชน

นายณรงค์ นิตยาพร รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม- แห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ฯ กำลังติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสื่อมวลชน ไอที และโทรคมนาคม เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการปรับแผน และนำสาระสำคัญของแผนพัฒนาไอที มากำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่ง ของแผนพัฒนาแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2545-2550) แผนพัฒนาสื่อฯ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ 1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสื่อ 2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ผลิตสื่อ 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้รับและผู้ใช้สื่อ 4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการบริหารจัดการ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เรื่องการปฏิรูปสื่อถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนา สภาพัฒน์ฯคาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ จะเสนอแผนฯ 9 ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลังจากประชาพิจารณ์แล้ว เพื่อประกาศใช้ให้ทันในปีนี้ และให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปกำหนดเป็นแผนของบประมาณได้ทันในปี 2545 (ไทยโพสต์ จันทร์ที่ 25 กันยายน 2543 หน้า 8)





แหล่งน้ำมัน จ.สระแก้ว ของจริงที่ไม่ไกลเกินฝัน

กรมทรัพยากรธรณีได้ว่าจ้าง บริษัท ซีจีจี. จำกัด จากประเทศฝรั่งเศสมาสำรวจความสั่นสะเทือนของชั้นหิน เพื่อสำรวจหาแหล่งน้ำมันใต้ดินในพื้นที่ อ.ตาพระยา กิ่งอำเภอโคกสูง และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อเดือน มกราคม 2540 โดยนำรถสั่นสะเทือนรวม 4 คัน เข้าทำการสำรวจที่ อ.ตาพระยา เป็นแห่งแรก คณะสำรวจทำงานจนครบตามเส้นทางสุดท้ายที่ ถนนสายอรัญประเทศ – นิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส พอสรุปได้ว่า บริเวณช่องเขาตะโก อ.ตาพระยา มีสัญญาณน้ำมันแต่ไม่มาก พื้นที่ กิ่งอ.โคกสูง มีสัญญาณความชื้นของน้ำมันหนาแน่น น่าจะมีปริมาณพอสมควร ส่วนในตลาด อ.อรัญประเทศ จุดที่มีความชื้นมากอยู่ที่ ถนนสายกลางตลาดอรัญประเทศ บริเวณธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย ไปจนถึงบ้านฟากห้วย จะพบความชื้นของน้ำมันหนาแน่น ก่อนถึงนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส 4 กม. แต่การสำรวจนี้เป็นการเก็บตัวอย่างเท่านั้น ถ้าหากมีการขุดเจาะต้องสั่งเครื่องมือจากประเทศฝรั่งเศส เพื่อค้นหาสัญญาณอย่างละเอียด จึงจะบอกได้ว่า เมื่อมีการขุดเจาะแล้วจะได้น้ำมันหรือก๊าซคุ้มทุนหรือไม่ (X-Cite ไทยโพสต์ จันทร์ที่ 25 กันยายน 2543 หน้า 7)





เครื่องสีข้าวกล้องของเด็ก ศรี’เกษ

นายสมพล สุรเสน และนายเจด็จ แก้วจันทร์ นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 2 แผนกช่างเทคนิคอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์สุรชาติ แปลนนาค, อาจารย์ขจรศักดิ์ จันทร์นวล และอาจารย์ นิรันดร สมมุติ ได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กขึ้น เพื่อช่วยผ่อนแรงและสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้เครื่องสีข้าวกล้องแทนการตำข้าว สิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับรางวัลชมเชยอันดับที่ 5 ประเภทอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ระดับชาติ ของกรมอาชีวศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2542 ต่อมาเครื่องสีข้าวกล้องนี้ได้ถูกปรับปรุงให้กระทัดรัด และเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น โดย โกญจนาฏ ภักพวง และ พรศักดิ์ สุภาพ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 แผนกช่างเทคนิคอุตสาหกรรม เครื่องนี้สามารถสีได้ทั้งข้าวกล้องและข้าวสารธรรมดาในเครื่องเดียวกัน ใช้เวลาในการสร้างเครื่องนี้ 1 เดือน งบประมาณ 32,000 บาท (สยามรัฐ อังคารที่ 26 กันยายน 2543 หน้า 20)





พบอภิมหาหลุมดำใจกลางทางช้างเผือก

นักวิทยาศาสตร์ในแคลิฟอร์เนีย ได้ค้นพบตำแหน่งหลุมดำในใจกลางกาแลกซี ซึ่งมีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 2.6 ล้านดวง นักดาราศาสตร์คาดกันมานานแล้วว่า ดาราจักรของเราอาจหมุนวนรอบหลุมดำอันมหึมานี้ แต่ไม่เคยพบหลักฐาน ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ค้นพบตำแหน่งที่แน่ชัดแล้ว หลุมดำเกิดจากการยุบถล่มตัวเองในวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ มีแรงดึงดูดมหาศาลกระทั่งแสงก็ไม่อาจหนีออกมาได้ทำให้คนมองไม่เห็นมัน นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า หลุมดำแบบนี้คงพบในใจกลางของทุกกาแล็กซี (ไทยโพสต์ อังคารที่ 26 กันยายน 2543 หน้า 12)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ก๊าซเชื้อเพลิงจากเหง้ามันสำปะหลัง

ผศ.ดร. จุไรรัตน์ ดวงเดือน และคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเคมี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้ทำการวิจัยเพื่อที่จะแปรรูปเหง้ามันสำปะหลังให้เป็นก๊าซเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในการเผาขยะเปียก เนื่องจากเหง้ามันสำปะหลังเป็นส่วนที่เกษตรกรเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ประมาณ 8-10 ล้านตันต่อปี คณะวิจัยได้ทดลองนำก๊าซเชื้อเพลิงที่ได้จากเหง้ามันสำปะหลังไปใช้ในการเผาขยะเปียก 1 ตัน โดยใช้ทุนเพียง 438 บาท หากใช้น้ำมันดีเซลจะมีต้นทุน 3,920 บาท จะเห็นได้ว่า การใช้ก๊าซเชื้อเพลิงจากเหง้ามันสำปะหลังจะประหยัดกว่าการใช้น้ำมันดีเซล ถึง 10 เท่า เตาเผาเหง้ามันสำปะหลังนอกจากเผาขยะแล้วยังใช้ในกระบวนการผลิตอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น การอบแห้งผลผลิตการเกษตร การเผาเห็ดฟาง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือนและในชุมชนได้อีกด้วย (สยามรัฐ พุธที่ 27 กันยายน 2543 หน้า 20)





ให้ตัวตุ่นเป็นครูเดินทางในอวกาศ

มนุษย์พยายามล้วงความลับของตัวตุ่นว่า ทำอย่างไรมันถึงหลับจำศีลได้นานเป็นแรมเดือน เพื่อจะเอามาใช้ในการแพทย์และการเดินทางรอนแรมนานเป็นปีเป็นเดือนในอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้พยายามศึกษาตัวตุ่นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์ขุดรูอยู่ พบในออสเตรเลียและนิวกินี มันจะเข้าอยู่ภาวะจำศีลเมื่อเข้าฤดูแล้ง ซึ่งอาหารและน้ำขาดแคลน เพื่อชะลอการเผาผลาญพลังงานและอุณหภูมิในตัวลงเป็นการสงวนพลังงานเพื่อความอยู่รอด มันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์ที่สุด ประมาณว่า อยู่ยืนยงมา 120 ล้านปีแล้ว (ไทยรัฐ พุธที่ 27 กันยายน 2543 หน้า 7)





เครื่องสีข้าวกล้องของเด็ก ศรี’เกษ

นายสมพล สุรเสน และนายเจด็จ แก้วจันทร์ นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 2 แผนกช่างเทคนิคอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์สุรชาติ แปลนนาค, อาจารย์ขจรศักดิ์ จันทร์นวล และอาจารย์ นิรันดร สมมุติ ได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กขึ้น เพื่อช่วยผ่อนแรงและสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้เครื่องสีข้าวกล้องแทนการตำข้าว สิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับรางวัลชมเชยอันดับที่ 5 ประเภทอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ระดับชาติ ของกรมอาชีวศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2542 ต่อมาเครื่องสีข้าวกล้องนี้ได้ถูกปรับปรุงให้กระทัดรัด และเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น โดย โกญจนาฏ ภักพวง และ พรศักดิ์ สุภาพ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 แผนกช่างเทคนิคอุตสาหกรรม เครื่องนี้สามารถสีได้ทั้งข้าวกล้องและข้าวสารธรรมดาในเครื่องเดียวกัน ใช้เวลาในการสร้างเครื่องนี้ 1 เดือน งบประมาณ 32,000 บาท (สยามรัฐ อังคารที่ 26 กันยายน 2543 หน้า 20)





ข่าวทั่วไป


ขยาย 2 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

อนุกรรมการแก้ไขปัญหาจราจรเร่งด่วนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อจข.) จะพิจารณาขอความเห็นชอบ และสนับสนุนโครงการก่อสร้างขยายสะพานพระนั่งเกล้า และนนทบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสะพานทั้งสอง โดยสะพานพระนั่งเกล้าจะใช้งบ 965 ล้าน ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี สะพานนนทบุรีใช้งบ 600 ล้าน ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี (เดลินิวส์ พฤหัสบดี 28 กันยายน 2543 หน้า 34)





มนุษย์น้ำแข็ง 5000 ปี

นักไต่เขา 2 คนได้พบซากมนุษย์น้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุดอายุ 5,300 ปี ในเขต ออตซเทเลอร์ แอลป์ บริเวณพรมแดน ออสเตรีย-อิตาลี ชายคนนี้ถูกแช่แข็งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร ซากศพนี้ได้ถูกเก็บรักษาในช่องแช่เย็นเป็นพิเศษที่อุณหภูมิ –6 องศาเซลเซียส แต่เมื่อ 2 วันที่แล้วผู้เชี่ยวชาญได้เปิดเครื่องทำความร้อนเพื่อให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ตรวจสอบสภาพร่างกายและเก็บตัวอย่าง ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่เคยมีการทดสอบหลังจากการค้นพบ ออตซี เมื่อปี 2534 การทดสอบกับซากมนุษย์น้ำแข็งนี้ทำในหลายด้าน เช่น วิเคราะห์ธาตุเหล็กที่หลงเหลือเพื่อดูลักษณะการตายของ ออตซี เปรียบเทียบดีเอนเอ ของออตซี กับซากศพก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ และการเก็บตัวอย่างจากทางเดินอาหารเพื่อศึกษากระบวนการกลายเป็นมัมมี่โดยธรรมชาติ เป็นต้น (ไทยโพสต์ พุธที่ 27 กันยายน 2543 หน้า 12)





ต่อไปเข้ากรุงต้องย้ายทะเบียน

นายสมัคร สุนทรเวช ได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม 31 ผู้ว่าฯ เมืองใหญ่ทั่วโลก ที่กรุงปักกิ่ง ถึงการให้บริการพื้นฐานแก่คนในกรุงเทพฯ ว่ามีประชาชนที่มีทะเบียนบ้าน อาศัยใน กทม. ประมาณ 6 ล้านคน แต่มีประชาชนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน กว่า 4,000,000 คน ซึ่ง กทม. ต้องให้บริการกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในกทม. แต่สามารถเก็บภาษีได้เฉพาะกับคน 6 ล้านคนเท่านั้น ผู้ที่อาศัยใน กทม. จึงควรย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ใน กทม. ให้ถูกต้อง เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามรายจ่ายจริง การย้ายที่อยู่อาศัยนั้นปกติมีกฎหมายบังคับอยู่แล้วว่า ประชาชนที่ย้ายที่อยู่จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อย้ายสำมะโนครัวภายใน 15 วัน เป็นไปได้ว่าจะหยิบยกกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้ต่อไป (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 29 กันยายน 2543 หน้า 6)





ประปาประกันดื่มป้องกันฟันผุ

การประปานครหลวง รับรองคุณภาพน้ำประปาว่าได้ผลิตตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ในเรื่องของสารฟลูออไรด์ สามารถดื่มและช่วยป้องกันฟันผุได้ เพราะจากการเฉลี่ยทั้งปีของน้ำประปามีปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 – 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร (ไทยรัฐ พุธที่ 27 กันยายน 2543 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215