หัวข้อข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 2000-11-07

ข่าวการศึกษา

ข่าวการศึกษา สจพ.ปรับขบวนนอกระบบ
ปลัดทบวงชี้ระบบ ISO ไม่เหมาะกับการศึกษา
ชี้จัดระดับสถาบันอุดมศึกษาควรทำทุกปี
กทม.เปิดเพิ่มเป็น 200 ร.ร.มัธยม
มัธยมต้นกศน.เรียนฟรี ศธ.หนุนงบกว่า 500 ล้าน
ทบวงฯร่วมกับมก.จัดตลาดนัดอุดมศึกษา
กศน.เปิดหลักสูตรให้อบต. เพื่อยกระดับความรู้มุ่งพัฒนาท้องถิ่น
ตรึงราคาแบบเรียนปี’44 เพิ่มหนังสือแจกฟรี 10%

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เตรียมจัดเก็บค่าปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงาน

ข่าววิจัย/พัฒนา

ค้นฐานข้อมูลสารเคมีอตร.ผ่านเว็บ
เครื่องรีดนมโคยุคประหยัดทางเลือกใหม่ของเกษตรกร
มูลนิธิเอเชียหนุนอาจารย์ม.สงขลานครินทร์คิดแบบจำลองเลี้ยงหมูด้วยคอมพ์

ข่าวทั่วไป

สัญญาฮัลโหลมือถือใหม่เริ่มใช้ 1 มกรา 44
สะพานข้ามแม่น้ำห้าแยกปากเกร็ดสร้างปี 45
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งตื่นจ้องคุ้มครอง "โดเมนเนม" ไทย
รัฐตั้งหน่วยปฏิบัติการอินทรี
เทคโนโลยีระดับโลก ท่อรับน้ำเสียลอดใต้เจ้าพระยา





ข่าวการศึกษา


ข่าวการศึกษา สจพ.ปรับขบวนนอกระบบ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตั้งคณะกรรมการ 8 ชุด กุมกลไกบริหารที่จะออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล นายบรรเลง ศรนิล อธิการบดีสถาบันดังกล่าว เปิดเผยว่าขณะนี้คณะกรรมการบริหารสถาบันได้พิจารณาร่างหลักการ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ฉบับที่ 3 เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะจัดแสดงความคิดเห็นของบุคลากรเร็วๆ นี้ โดยตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารงานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลรวม 8 ชุด (สยามรัฐ เสาร์ที่ 4 พฤศิจกายน 2543 หน้า 20)





ปลัดทบวงชี้ระบบ ISO ไม่เหมาะกับการศึกษา

รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำระบบ ISO มาใช้กับสถานศึกษาว่า เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะทบวงมหาวิทยาลัยมีระบบประกันคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งถ้านำมาใช้อย่างจริงจังก็จะได้ผลดี (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2543 หน้า 12)





ชี้จัดระดับสถาบันอุดมศึกษาควรทำทุกปี

ศ.น.พ.อดุลย์ วิริยเวชกุล รองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดระดับสถาบันอุดมศึกษาไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดระดับ คณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ทั้ง 56 สถาบันในประเทศไทย ว่าขณะนี้คณะทำงานได้กำหนดดัชนีบ่งชี้เพื่อจะนำไปจัดระดับแล้ว และยังได้กล่าวว่า การจัดระดับควรทำทุกปี และนำผลการประเมินในแต่ละปีมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งสามารถบอกถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ได้ รวมทั้งบอกให้รู้ว่าผู้บริหารและบุคลากรมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด จะได้นำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงตนเอง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2543 หน้า 12)





กทม.เปิดเพิ่มเป็น 200 ร.ร.มัธยม

นางธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าฯกรุงเทพฯมหานคร เปิดเผยถึงนโยบายด้านการศึกษาของ กทม. ว่าตามที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติได้กำหนดให้ รัฐต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และภาคขยายโอกาส 12 ปีนั้น กทม.ได้พิจารณาว่าจะจัดการสอนในโรงเรียนสังกัดกทม. ระดับมัธยมต้นต่อเนื่องจาก ระดับประถมศึกษาจากเดิมที่ปัจจุบัน โรงเรียนสังกัดกทม. ระดับมัธยมต้นต่อเนื่องจากระดับประถมศึกษา จากเดิมที่ปัจจุบันโรงเรียนสังกัด กทม. เปิดการสอนในระดับมัธยมต้นจำนวน 56 โรงเรียน โดยจะพิจารณาเพิ่มขึ้นเป็น 200 โรงเรียนจากทั้งหมด 432 โรงเรียน ขณะนี้มี 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์ เขตสวนหลวง, โรงเรียนเสนานิคม เขตจตุจักร และโรงเรียนแสมดำ เขตบางขุนเทียน ที่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบจากคณะกรรมการ คาดว่าสามารถเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมต้นได้ในปีการศึกษาหน้า นอกจากนี้ ได้พิจารณาที่จะปรับโรงเรียนประชานิเวศน์ ที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ประถมปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้แยกเป็นโรงเรียนอิสระ คือเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่ง และระดับมัธยมศึกษาอีกแห่งหนึ่ง และยังพิจารณาเปิดการเรียนการสอนขยายโอกาส 12 ปีในพื้นที่เขตชานเมือง ได้แก่ เขตหนองจอก ประเวศ สวนหลวง อีกด้วย (สยามรัฐ พุธที่ 1 พฤศจิกายน 2543 หน้า 6)





มัธยมต้นกศน.เรียนฟรี ศธ.หนุนงบกว่า 500 ล้าน

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จัดเตรียมงบประมาณประจำปี 2544 สำหรับการจัดการศึกษานอกระบบ โดยจะไม่เรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งตั้งเป้าไว้จำนวน 988,000 คน เป็นเงินจำนวน 589,897,400 บาท ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่สามารถจัดการศึกษาให้ฟรีได้ทุกคน เนื่องจากได้รับเงินอุดหนุนเพียง 300,000 คน เป็นเงิน 135,000,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการยังได้วางเกณฑ์ให้มีการยกเว้นการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ให้แก่กลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกโรงเรียน ได้แก่ การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับทหารกองประจำการ และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง การศึกษานอกโรงเรียนสำหรับผู้ต้องขัง และการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในรูปบัตรส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งกำหนดไว้ 4 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนในชนบทยากจน ช่วงอายุตั้งแต่ 13-15 ปี กลุ่มแรงงานความรู้ต่ำในสถานประกอบการ กลุ่มสตรีอาชีพพิเศษ – สตรีกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มคนพิการ (ไทยโพสต์ พุธที่ 1 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ทบวงฯร่วมกับมก.จัดตลาดนัดอุดมศึกษา

ทบวงมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดโครงการเลือกแนวทางวางอนาคตกับ "ตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา" ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2543 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ และอาคารศูนย์เรียนรวม 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2543 หน้า 7)





กศน.เปิดหลักสูตรให้อบต. เพื่อยกระดับความรู้มุ่งพัฒนาท้องถิ่น

นายประสิทธิ์ อุดมโภชน์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ได้ประสานงานไปยังกรมการปกครองและสถาบันราชภัฎอุตรดิตถ์ ทำการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีขึ้น ตามโครงการการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับชุมชนขึ้น โดยจะเปิดในสาขาพัฒนาชุมชน มุ่งเน้นให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าเรียนได้ โดยใช้เวลาเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนภาคละ 10 สัปดาห์ และจะเรียนภาคปฏิบัตินอกพื้นที่ โดยอาศัยพื้นฐานการปฏิบัติงานจริงตามอำนาจ บทบาท หน้าที่ของผู้นำท้องถิ่นอีก 5 สัปดาห์ต่อ 1 ภาคเรียน ซึ่งเวลาเรียนจะมีการกำหนดร่วมกันอีกครั้ง ระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง ทั้งนี้การเปิดการเรียนการสอนจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับอนุปริญญาตรีเรียน 2 ปี และระดับปริญญาตรีเรียน 4 ปี (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ตรึงราคาแบบเรียนปี’44 เพิ่มหนังสือแจกฟรี 10%

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายให้เพิ่มหนังสือเรียนที่แจกฟรีเป็นร้อยละ 90 จากเดิมที่แจกให้เพียงร้อยละ 30 ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการจะให้องค์การค้าของคุรุสภา ตรึงราคาแบบเรียนไว้ แม้ว่าราคากระดาษ อุปกรณ์การผลิตจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็กนักเรียน (ไทยโพสต์ พุธที่ 1 พฤศจิกายน 2543 หน้า 12)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เตรียมจัดเก็บค่าปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงาน

นายบุญสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกลุ่มในเครือสหพัฒน์ และนายรัชดา สิคาลวณิช รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมบรรยายและเปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายการจัดเก็บค่าปล่อยน้ำทิ้งสู่สภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะใช้ในปี 2544 ซึ่งจะถูกนำมาบังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีโรงงานซึ่งอยู่ในข่ายต้องเข้าสู่ระบบการจ่ายค่าน้ำทิ้งกว่า 7 หมื่นโรงงาน รายได้จากการจัดเก็บค่าปล่อยน้ำทิ้ง จะนำเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม (เดลินิวส์ อังคารที่ 31 ตุลาคม 2543 หน้า 33)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ค้นฐานข้อมูลสารเคมีอตร.ผ่านเว็บ

รศ.สุชาดา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า สกว. ได้ให้ทุนแก่นักวิจัยจุฬาฯ สร้างฐานข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตราย เนื่องจากพบว่าสารเคมีและวัตถุอันตรายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตรงกัน ไม่สามารถประมวลผลในภาพรวมเพื่อการติดตามได้ จึงจำเป็นต้องสร้างระบบโดยใช้ฐานข้อมูลสารเคมีอันตรายประสานงานข้อมูลเพื่อการอ้างอิง เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงข้อมูลสารเคมีให้ตรงกัน และสามารถใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของสารอันตรายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศในกรณีฉุกเฉินได้ งานวิจัยดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะเปิดให้บริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ http://chemtrack.trf.or.th (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2543 หน้า 16)





เครื่องรีดนมโคยุคประหยัดทางเลือกใหม่ของเกษตรกร

ผศ. อร่าม คุ้มกลาง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จะให้สถาบันเป็นศูนย์ทางด้านโคนม-โคเนื้อ (COE) จึงมอบให้ อ.สหัส นุชนารถ ประดิษฐ์เครื่องรีดนมวัวราคาประหยัดและต้นทุนน้อย เพื่อช่วยเกษตรกรที่ไม่สามารถซื้อเครื่องรีดนมวัวที่มีราคาแพงจากต่างประเทศได้ เครื่องรีดนมวัวที่เกิดจากการประดิษฐ์นี้มีคุณภาพ และปริมาณการทำงานเฉลี่ยแล้วไม่ต่างกับเครื่องที่ซื้อจากต่างประเทศ หากสนใจเครื่องรีดนมวัวแบบประหยัดนี้ ติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โทร.(042) 771-816-20 หรือที่สำนักงานอธิการบดี เทเวศร์ กรุงเทพฯ โทร.(02) 282-9340-41 (เดลินิวส์ อังคารที่ 31 ตุลาคม 2543 หน้า 27)





มูลนิธิเอเชียหนุนอาจารย์ม.สงขลานครินทร์คิดแบบจำลองเลี้ยงหมูด้วยคอมพ์

ผศ.ดร.ยุทธนา ศิริวัธนนุกูล อาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมมือกับ Prof. Graham Wood และ Dr.Patrick Morel จาก Massey University ได้เงินสนับสนุนจากมูลนิธีเอเชีย 2000 และมูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คิดค้นแบบจำลองการเลี้ยงสุกรในคอมพิวเตอร์สำหรับประเทศไทย หรือ Pig Growth Model For Thailand แบบจำลองถูกพัฒนาขึ้นเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่เป็นภาษาไทย ทำงานอยู่ในโปรแกรมเอ็กเซล ประกอบด้วย 5 ส่วนหลักคือ เมนูหลักของโปรแกรม การประเมินสูตรอาหาร ปริมาณการให้อาหาร มาตรฐานคุณภาพซากสุกรและราคา รวมถึงการทำงานของโปรแกรมและผลการเลี้ยงสุกร โดยเมื่อกรอกข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนแล้วโปรแกรมจะทำงาน และรายงานผลการเลี้ยงสุกรให้ทราบ ประกอบด้วย 1. การเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการใช้อาหารของสุกรในแต่ละสัปดาห์ 2. ปริมาณอาหารที่เหมาะสมที่ควรให้สุกรกินในแต่ละวัน 3. น้ำหนักสุกรที่จะขายและจำนวนวันที่ใช้เลี้ยง 4. ปริมาณไขมันและเนื้อแดงของสุกรที่น้ำหนักต่างๆ 5. กำไรสูงสุดที่ได้รับต่อตัว และต่อปีที่น้ำหนักต่างๆ 6. กำไรสูงสุดที่ได้รับเมื่อขายสุกรที่น้ำหนักเหมาะสม เกษตรกรท่านใดสนใจโปรดติดต่อ ผศ.ดร.ยุทธนา ศิริวัธนนุกูล ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร.(074)212-843 (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2543 หน้า 20)





ข่าวทั่วไป


สัญญาฮัลโหลมือถือใหม่เริ่มใช้ 1 มกรา 44

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เตรียมประกาศให้ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึง พีซีที เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2544 สาระสำคัญของสัญญามี 6 ประการคือ 1. กำหนดให้ส่งใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการให้ผู้บริโภครับทราบไม่น้อยกว่า 10 วัน 2. หากผู้บริโภคต้องการรายละเอียดเลขหมายการโทรฯในพื้นที่เดียวกัน ผู้ประกอบการจะต้องจัดส่งให้ภายใน 30 วัน 3. ต้องระบุค่าธรรมเนียมการให้บริการ 4. วิธีการคิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ 5. กรณีโทรศัพท์หายและผู้ บริโภคแจ้งให้ทราบทางโทรศัพท์ บริษัทจะต้องระงับการให้บริการทันที 6. เมื่อผู้บริโภคยกเลิกสัญญา ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าประกันหมายเลขคืนภายใน 15 วัน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2543 หน้า 9)





สะพานข้ามแม่น้ำห้าแยกปากเกร็ดสร้างปี 45

นายวรวิทย์ เลิศลักษณา อธิบดีกรมโยธาธิการ เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ดและถนนต่อเชื่อม อยู่ระหว่างการจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2545 เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงขนาด 6 ช่อง ความยาวสะพานพร้อมเชิงลาดยาว 1,725 เมตร ใช้งบก่อสร้าง 4,120 ล้านบาท (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2543 หน้า 34)





กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งตื่นจ้องคุ้มครอง "โดเมนเนม" ไทย

นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังศึกษาถึงเงื่อนไขกฎหมายเครื่องหมายการค้า ว่าจะสามารถครอบคลุมถึงการให้การคุ้มครองชื่อโดเมนเนม หรือรายชื่อเว็บไซต์ที่เป็นสกุลประเทศไทย (code country domain name) ซึ่งได้แก่ชื่อเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วยดอทซีโอดอททีเอช (co.th) เพื่อให้กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองโดเมนเนมที่จดนามสกุลประเทศไทยไม่ให้ถูกละเมิดจากต่างชาติ ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันธุรกิจของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกทำให้ถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าอยู่บ้าง รวมทั้งมีสิทธิถูกละเมิดโดเมนเนมด้วย จึงควรหาทางป้องกันไว้ (ไทยรัฐ อังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2543 หน้า 9)





รัฐตั้งหน่วยปฏิบัติการอินทรี

กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการชื่อ "หน่วยปฏิบัติการอินทรี" และกำลังรับอาสาสมัครโดยเฉพาะทหารเกณฑ์ที่ปลดประจำการแล้วมาปฏิบัติงาน ซึ่งหน่วยปฏิบัติการดังกล่าวมีภารกิจหลักคือ ปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าซากสัตว์ เพื่อป้องกันเรื่องโรคที่ติดมากับซากสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย โดยให้ประจำอยู่ในจังหวัดชายแดนที่มีการขนย้ายซากสัตว์ต่างประเทศ (ไทยรัฐ อังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2543 หน้า 8)





เทคโนโลยีระดับโลก ท่อรับน้ำเสียลอดใต้เจ้าพระยา

โครงการจัดการน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กำลังอยู่ในช่วงระหว่างเร่งก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่างๆ รวมถึงสภาพป่าชายเลนและอ่าวไทย การก่อสร้างโดยการเจาะดันท่อลอดแม่น้ำเจ้าพระยาประสบความสำเร็จด้วยดี เพื่อรับน้ำเสียจากฝั่งพระประแดงผ่านท่อมายังท่อรวบรวมน้ำเสียที่คลองตาคองข้างโบสถ์ราฟาแอลฝั่งสมุทรปราการ ซึ่งจะส่งน้ำเสียไปที่โรงบำบัดขนาดใหญ่ ที่ตำบลคลองด่านฝั่งสมุทรปราการ ขั้นตอนก่อสร้างนี้มีชื่อว่า SC-31 RIVER CROSSING นับว่าเป็นท่อลอดใต้น้ำที่มีประสิทธิภาพและยาวที่สุดในโลก ใช้เทคโนโลยีระดับโลก ออกแบบและก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE) (ไทยรัฐ อาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2543 หน้า 10)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215