หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 25 ประจำวันที่ 2001-06-26

ข่าวการศึกษา

เรียนก่อสร้างสมัยใหม่ผ่านเว็บไซต์
ทบวงฯ สั่งฟันมหาวิทยาลัยปล่อยเงินกู้เรียนมั่ว
เตรียมพร้อมเด็กไทยแข่งโอลิมปิกวิชาการ
เตรียมพร้อมเด็กไทยแข่งโอลิมปิกวิชาการ
กรมสามัญอบรมครูรับ 8 หมื่น นร.พิการ
ปรับเกณฑ์ ‘ ครู ’ ขอย้ายเหลือ 1 ปี เกลี่ยลงพื้นที่เบ็ดเสร็จก่อนปฏิรูป
เปิด 156 หลักสูตร 1 ปีให้เด็กจบ ม. 3
‘ในหลวง’ ทรงรับสั่งศธ. ดูแลภาษาไทยหนังสือแปล
‘สรภ.’ สวนกระแสลดค่าหน่วยกิต
กศน. ชม. อบรมครูวิทย์
กศน. เปิดกว้างอีก ‘ทีวีศึกษา’
ปทุมวันเปิดร.ร. แรงงาน
ไม่คอยร.ร.ขัดสนสั่งใช้อี-บุ๊ก

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

‘เทอดชัย-ประกิต’ รับรางวัลหมอดีเด่น
ไอเน็ตเร่งพัฒนาระบบทัวร์ออนไลน์
จี้รัฐขีดมาตรฐานสูตร ‘ไบโอดีเซล’
เมืองพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในเอเชีย
เจอพันธุ์ใหม่…ไดโนขนนก
ผุด รง.ไบโอเอทานอล

ข่าววิจัย/พัฒนา

มจธ.เจ๋งผลิตเครื่องคัดขนาด ‘มะม่วง’
2 นักวิจัยไทยสกัดสารจากมะระขี้นก ใช้กำจัดศัตรูพืชชะงัด-แถมราคาถูก
เตาแก๊สเป็นพิษกับเด็กหนุ่มสาว หายใจบ่อนทำลายปอดอ่อนแอ
วัตถุสีของผักเป็นยาทิพย์ ถนอมรักษาหลอดเลือด
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นพิษ หญิงมีครรภ์ถึงขั้นแท้งลูก

ข่าวทั่วไป

โลกมอบรางวัลชู “ไทย” ใส่ใจคนพิการ
ร่างนิรโทษกรรมอาคารเสร็จแล้ว สร้างผิดแบบก่อน 8 ส.ค. 43 เตรียมเฮ
เขตราชเทวีใช้ ‘วันสต็อปเซอร์วิส’ นำร่องแห่งแรกในกทม. บริการทุกอย่างเสร็จใน 10 นาที





ข่าวการศึกษา


เรียนก่อสร้างสมัยใหม่ผ่านเว็บไซต์

สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาบทเรียนสอนผ่านเครือข่ายออนไลน์ วิชาเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้างและงานคอนกรีตสมัยใหม่ : การใช้เถ้าลอยจากถ่านหิน โดยเรียนฟรีผ่านเว็บไซต์ www.learn.in.th สำหรับบทเรียนบนเว็บไซต์ ผู้เรียนต้องมีรหัสผ่านเพื่อใช้ในการ ถาม-ตอบ ปัญหากับอาจารย์บนกระดานสนทนา ผู้สนใจติดต่อได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว หรือ อีเมล์ learnonline@learn.in.th ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. – 31 ส.ค. 2544 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





ทบวงฯ สั่งฟันมหาวิทยาลัยปล่อยเงินกู้เรียนมั่ว

ศ.ทพ. สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการบัญชีรายจ่ายที่สอง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ประชุมได้วางแนวทางการติดตามการชำระหนี้ของผู้กู้ที่สำเร็จการศึกษาเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กระทรวงการคลังโดยจะจัดทำแนวทางการติดตามอย่างเป็นระบบ มีผู้ตรวจสอบและรับผิดชอบโดยการติดตามเฉพาะหน้าปีนี้ ทบวงฯได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษาประสานกับธนาคารไทยในการเร่งรัดบัณฑิตให้ชำระเงินกู้ หากติดต่อผู้กู้ไม่ได้ให้เรียกผู้ค้ำประกันมาพบทันที ซึ่งในส่วนของทบวงฯ มีผู้ครบกำหนดแล้วไม่มาชำระหนี้ประมาณ 30% นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้พิถีพิถันการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้กับนิสิตนักศึกษา โดยเห็นว่าน่าจะมีบทลงโทษสถานศึกษา กรณีที่อนุมัติเงินกู้ไม่รอบคอบด้วยการลดโควตาการจัดสรรเงินกู้ เพื่อให้สถาบันนั้นๆ มีความสำนึกในการดูแลกองทุน (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 21 มิถุนายน 2544 หน้า 15)





เตรียมพร้อมเด็กไทยแข่งโอลิมปิกวิชาการ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เปิดรับสมัครนักเรียนมัธยมทั่วประเทศ ร่วมการแข่งขัน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โอลิมปิกแห่งประเทศ ในปีนี้ผู้แทนประเทศไทยที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการใน 5 สาขาวิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ที่ประเทศตุรกี อินเดีย สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และฟินแลนด์ตามลำดับ มีจำนวน 23 คน และมีสิทธิ์รับทุนศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก (เดลินิวส์ พุธที่ 20 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





เตรียมพร้อมเด็กไทยแข่งโอลิมปิกวิชาการ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เปิดรับสมัครนักเรียนมัธยมทั่วประเทศ ร่วมการแข่งขัน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โอลิมปิกแห่งประเทศ ในปีนี้ผู้แทนประเทศไทยที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการใน 5 สาขาวิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ที่ประเทศตุรกี อินเดีย สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และฟินแลนด์ตามลำดับ มีจำนวน 23 คน และมีสิทธิ์รับทุนศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก (เดลินิวส์ พุธที่ 20 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





กรมสามัญอบรมครูรับ 8 หมื่น นร.พิการ

นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยว่า ระยะเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา เด็กพิการเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนปกติเพิ่มมากขึ้น มีเด็กพิการได้เรียนร่วมในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 80,000 คน ซึ่งในปีงบประมาณ 2544 กรมสามัญฯ ได้ปรับรูปแบบและวิธีการอบรมครูให้สามารถขยายผลกว้างขึ้น โดยมอบให้สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัด หน่วยศึกษานิเทศก์ ศูนย์การศึกษาพิเศษพัฒนาหลักสูตรและอบรมครูจากทุกโรงเรียนทั่วประเทศ 2,079 คน เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งในวันที่ 1 ก.ค. 2544 ครูที่รับการอบรมจะต้องเข้าสอบภาคความรู้พื้นฐานวิชาการศึกษาพิเศษ ซึ่งครูที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 จะเข้ารับการอบรมเข้มเฉพาะทางการศึกษาพิเศษอีก 10 วัน และจะทำการประเมินเพื่อขอรับวุฒิบัตรทางการศึกษาพิเศษต่อไป (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 15 มิ.ย. 2544 หน้า 20)





ปรับเกณฑ์ ‘ ครู ’ ขอย้ายเหลือ 1 ปี เกลี่ยลงพื้นที่เบ็ดเสร็จก่อนปฏิรูป

นายวิชัย บุญนำ รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเกลี่ยครูในสถานศึกษา ตามอัตราส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียน 25 คน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ว่า ในปี 2545 จะเกลี่ยครูลงสถานศึกษาต่างๆ อีกประมาณ 500 คน โดยจะเกลี่ยครูที่เกินไปยังสถานศึกษาที่ขาดแคลน แต่ก็ยังทำได้เพียง 190 คนเท่านั้น เนื่องจากจะติดขัดปัญหาหลักเกณฑ์การย้าย และครูที่ขอย้ายส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนครู ดังนั้น ในปีนี้กรมจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอย้ายใหม่ จากเดิมที่จะย้ายเฉพาะครูที่มีอายุงาน 2 ปี เปลี่ยนเป็น 1 ปี ก็สามารถย้ายได้และจะหาครูอัตราจ้างมาแทนครูที่ขาดแคลนด้วยและหากครูขอย้ายข้ามกรมก็สามารถทำได้ และครูที่มีผลงานดี แต่ขอย้ายไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลนครู ก็จะได้รับการพิจารณาความดีความชอบเป็นพิเศษ โดยจะเลื่อนขั้นให้ 2 ขั้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และหากขอย้ายไปสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู ก็จะได้รับสิทธิ์เบิกค่าเช่าบ้านได้ โครงการนี้คาดว่ามีจะมีผลปฏิบัติได้ประมาณเดือน ต.ค. นี้ (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





เปิด 156 หลักสูตร 1 ปีให้เด็กจบ ม. 3

นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ที่จบชั้น ม. 3 และ ม.6 ที่ไม่ได้ศึกษาต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบที่จะให้ใช้งบประมาณปี 2544 จำนวน 7 ล้านบาท ในการสนับสนุนให้ผู้จบ ม.3 เรียนต่อวิชาชีพ 1 ปี และสามารถเทียบโอนเข้าเรียนต่อในหลักสูตร ปวช. โดยเรียนต่ออีก 2 ปี เช่นเดียวกับผู้ที่จบชั้น ม.6 หากผ่านการฝึกวิชาชีพ 1 ปี แล้วสามารถเทียบโอนเรียนต่อในหลักสูตร ปวส.อีกเพียง 1 ปี โดยหลักสูตรส่งเสริมวิชาชีพจะมีทั้งหมด 156 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรรับผู้จบชั้น ม.3 หรือ 9+1 จำนวน 83 หลักสูตร และหลักสูตรรับผู้จบชั้น ม.6 (12+1) จำนวน 73 หลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรผู้เรียนสามารถที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ทันทีเมื่อเรียนจบ อีกทั้งแต่ละหลักสูตรจะสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นเป็นการแก้ปัญหาการอพยพไปหางานทำข้ามถิ่น ในระยะแรกจะรับนักเรียนได้ 3,080 คน เข้าเรียนในอาชีวศึกษากว่า 400 แห่งทั่วประเทศในวันที่ 15 ก.ค. 2544 นี้ (ไทยโพสต์ อังคารที่ 19 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





‘ในหลวง’ ทรงรับสั่งศธ. ดูแลภาษาไทยหนังสือแปล

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว. ศธ.นั้น ตนได้รับพระกระแสรับสั่งเตือนเกี่ยวกับเรื่องการนำหนังสือต่างประเทศมาแปลเป็นหนังสือเรียนให้ระวัง เนื่องจากตนพูดคำไทยและภาษาอังกฤษปนกัน โดยทรงรับสั่งว่า การใช้ภาษาต่างประเทศนั้น จะต้องใช้ภาษาใจ คือการแปลความหมายออกมาเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องแม่นยำตรงความหมายมากที่สุด เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังหรืออ่านรับรู้ถึงความหมาย และสื่อสารได้ถูกต้อง ชัดเจน จึงมอบหมายให้ผู้บริหาร ศธ.ดูแลเรื่องดังกล่าว นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่ากรมวิชาการจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาว่าจะมีการปรับการแปลภาษาต่างประเทศอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องมีการอบรมและพัฒนาครูผู้สอนภาษาต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ เพื่อที่การแปลความหมายจะได้ไม่ผิดพลาดไปจากเดิม (ไทยโพสต์ อังคารที่ 19 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





‘สรภ.’ สวนกระแสลดค่าหน่วยกิต

นายถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งให้มีการสำรวจการจัดเก็บค่าหน่วยกิตของสถาบันราชภัฏทุกแห่งในปีการศึกษา 2544 นี้เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลการจัดเก็บค่าเล่าเรียนของนักศึกษาแต่ละโปรแกรมวิชาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วพบว่าโปรแกรมวิชาใดเก็บสูงเกินไปก็อาจหาแนวทางปรับลด ถ้าโปรแกรมวิชาใดเก็บต่ำเกินไปก็อาจจะขยับขึ้นบ้าง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นทราบมาว่าการจัดเก็บแต่ละโปรแกรมวิชาในภาคปกติอยู่ระหว่าง 3,000-7,000 บาท และแต่โปรแกรมวิชาและแต่ละสถาบัน ซึ่งในการวิเคราะห์การจัดเก็บค่าใช้จ่ายจากนักศึกษา จะมีการพิจารณารายละเอียดระหว่างโปรแกรมวิชาด้วยว่า จะมีการถัวเฉลี่ยช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างโปรแกรมวิชาที่มีรายได้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง กับโปรแกรมที่ช่วยตัวเองไม่ได้ รวมทั้งพิจารณาโปรแกรมรายวิชาที่รัฐให้เงินอุดหนุนด้วย สำหรับค่าหน่วยกิตที่จัดเก็บเวลานี้ ในภาคปกติหน่วยกิตละ 100 บาท และภาคสมทบ 150 บาท ยกเว้นสถาบันราชภัฏเชียงใหม่และกำแพงเพชร ในภาคปกติยังเก็บเพียงหน่วยละ 50 บาทเหมือนเดิม (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





กศน. ชม. อบรมครูวิทย์

นายวิชัย โล้วิเลิศ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดเชียงใหม่ (ศนจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พัฒนาครูหรือผู้จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้การศึกษานอกโรงเรียน ด้วยการอบรมครูศูนย์การเรียนชุมชน (ครูศรช.) ไปแล้วส่วนหนึ่งแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการอบรมครั้งนี้เป็นการขยายผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ครูผู้สอนหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาให้กับนักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูศูนย์การเรียนชุมชนใน จ. เชียงใหม่ ทั้ง 24 อำเภอ แบ่งเป็น 2 รุ่น จำนวนทั้งสิ้น 212 คน (สยามรัฐ อังคารที่ 19 มิถุนายน 2544 หน้า 20)





กศน. เปิดกว้างอีก ‘ทีวีศึกษา’

นางสิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กับสมาคมเคเบิลทีวี (ประเทศไทย) ในการขยายเครือข่ายผู้ชมรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาจากสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา ETV ทั้งนี้นายศักรินทร์ สุวรรณโรจน์ รองอธิบดี กศน. กล่าวว่า กศน.และสมาคมเคเบิลทีวี (ประเทศไทย) ได้ร่วมกันกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนและประชาชน ด้วยการรับชมรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา โดยให้บริการเพิ่มสำหรับสมาชิกของสมาคมเคเบิลทีวีในทุกท้องถิ่น ซึ่งคาดหมายว่าจะมีผู้รับชมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300,000 ครอบครัว นอกจากนี้ 2 องค์กรจะร่วมกันสนับสนุนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2544 หน้า 20)





ปทุมวันเปิดร.ร. แรงงาน

นายนิคม บุญพิทักษ์ ผอ.เขตปทุมวัน เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองแรงงานสตรีและเด็ก กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “โรงเรียนเพื่อผู้ใช้แรงงาน” เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกแก่แรงงานสตรีและเด็กให้ได้รับการศึกษาพื้นฐานสายสามัญในระดับที่สูงขึ้นจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนโดยประสานงานกับสถานประกองกิจการที่มีแรงงานสตรีและเด็ก อำนวยความสะดวกในการจัดสถานที่ในสถานประกอบกิจการเป็นห้องเรียนและสนับสนุนงบประมาณในส่วนของครูผู้สอน ในพื้นที่เขตปทุมวันได้มีการเปิดโรงเรียนเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นแห่งแรก ณ บริษัท ไพฑูรย์ แอนรีสอร์ท จำกัด (ที่โรงแรมอโนมา) ซึ่งบริษัทเปิดโอกาสให้คนงานหญิงและเด็กของบริษัทได้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้และความก้าวหน้าในชีวิต (สยามรัฐ อังคารที่ 19 มิถุนายน 2544)





ไม่คอยร.ร.ขัดสนสั่งใช้อี-บุ๊ก

นายประพัฒน์พงษ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการกล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานในการเตรียมคัดเลือกหนังสือตำราเรียนเข้าสู่ระบบ Internet หรือE-Book ซึ่งในล็อตแรกจำนวนกว่า 100 เล่ม ช่วงเดือนกันยายนนี้ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับหลักสูตรในระดับชั้น ป.1-ป.4 และม.1-ม.4 รวมทั้งหนังสือเสริมการอ่าน หนังสือการ์ตูน หนังสือเก่าหายากที่ไม่มีการจัดพิมพ์แล้ว และประเภทหนังสือแปลต่างๆ ตลอดจนหนังสืออื่นที่กรมวิชาการไม่ได้จัดทำ เช่น หนังสือสำคัญๆ ประเภทหนังสือของคนสำคัญในประเทศ งานเขียนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือพระมหาชนก หนังสือปทานุกรม พจนานุกรม หนังสือราคาแพงที่โรงเรียนไม่มี ซึ่งเมื่อบรรจุเนื้อหาหนังสือดังกล่าวลงไปแล้ว นักเรียนสามารถเปิดอ่านได้ ทั้งในห้องสมุด โรงเรียน หรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หรือถ้าผู้ปกครองมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสมบัติส่วนตัวอยู่แล้วก็สามารถเปิดจากเว็บไซด์ของกรมวิชาการได้ (สยามรัฐ อังคารที่ 19 มิถุนายน 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


‘เทอดชัย-ประกิต’ รับรางวัลหมอดีเด่น

ศ.น.พ. สมหวัง ด่านชัยวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิชาการวิชาชีพและวิจัย ม.มหิดล กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลมหิดล-บีบราวน์ ในปี 2544 มีมติมอบรางวัลให้แก่ รศ.น.พ. เทอดชัย ชีวะเกตุ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศ.น.พ. ประกิต วาทีสาธกกิจ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะ รศ.น.พ. เทอดชัย ชีวะเกตุ เป็นผู้ที่ริเริ่มทำขาเทียมจากเศษพลาสติกเหลือใช้ ซึ่งมีคุณภาพดีและมีราคาถูก ศ.น.พ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ซึ่งปัจจุบันมีผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 2 ล้านคน ทั้ง 2 ท่านจะได้รางวัลคนละ 350,000 บาท พร้อมกับเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล พร้อมประกาศนียบัตรเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 10 ตุลาคม ที่อาคารใหม่สวนอัมพร (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2544 หน้า 24)





ไอเน็ตเร่งพัฒนาระบบทัวร์ออนไลน์

นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเตอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด หรือไอเน็ต เปิดเผยว่า ไอเน็ตได้พัฒนาระบบท่องเที่ยวออนไลน์ ร่วมกับบริษัท ไดเร็ค คอมเมิร์ซ เทคโนโลยีจำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการจองที่เรียกว่า คาลิปโซ ซิสเต็มส์ (Calypso System) คาลิปโซ ซิสเต็มส์ จะเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่เชื่อมต่อธุรกิจโรงแรม ที่พัก บริษัทท่องเที่ยว บริการตั๋วเครื่องบิน รถเช่า รวมถึงบริษัทประกันภัย ที่ครบวงจร รวมกับระบบการจ่ายเงินทางเว็บไซต์ ไทยดอทคอมของไอเน็ต ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 นาที ในการจองและจ่ายเงินค่าห้องพักมากกว่า 700 แห่งใน 40 กว่าจังหวัดทั่วประเทศไทย (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 21 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





จี้รัฐขีดมาตรฐานสูตร ‘ไบโอดีเซล’

นายพีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลในระหว่างการสัมมนา นักวิจัยพบผู้ผลิตไขปัญหาไบโอดีเซล เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ขณะนี้สูตรในการพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซลมีมากกว่า 1,000 สูตร แต่ละสูตรก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน รัฐบาลควรจะมีการกำหนดมาตรฐานน้ำมันดีเซลโดยแบ่งให้มีความหลากหลายตามประเภทวัตถุดิบ เช่น มาตรฐานน้ำมันปาล์ม มาตรฐานน้ำมันมะพร้าว หรือมาตรฐานน้ำมันผสม เพื่อกำกับการผลิตให้มีคุณภาพในการใช้งานมากขึ้น ปัญหาการผลิตไบโอดีเซลในขณะนี้ มี 3 เรื่องคือ 1. ภาษี จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเก็บภาษีหรือไม่ 2. ต้องสร้างหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน 3. ต้องมีนโยบายชัดเจนว่าจะสนับสนุนการผลิตไบโอดีเซลอย่างไร วท.มีแนวทางในการพัฒนาไบโอดีเซลค่อนข้างจะชัดเจน โดยจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางด้านวิชาการ การวิจัยต่อผู้ผลิต จะสร้างโรงงานต้นแบบไบโอดีเซลเพื่อให้เป็นแบบอย่าง การวิจัยและพัฒนาไบโอดีเซลขณะนี้ยังไม่มีการทดสอบการใช้งานในระยะยาวว่า จะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์อย่างไรบ้าง มีเพียงผลทดสอบระยะสั้นเท่านั้นพบว่ามีประสิทธิภาพดี ต้องทดสอบในระยะยาวด้วยว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ (มติชน จันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





เมืองพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในเอเชีย

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Research and training Center. SERT) มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้จัดทำสวนพลังงานของเล็กใช้ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนสามารถนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้งานจริง โดยได้รับเงินอุดหนุนส่วนหนึ่งจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สนับสนุนผู้ซื้อเครื่องทำน้ำร้อน ซึ่งเวลานี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายกว่า 10,000 ระบบและได้รับเงินทุนอุดหนุนในโครงการสาธิตพลังงานแสงอาทิตย์ในอุตสาหกรรมการอบแห้งด้วย รศ.วัฒนพงษ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า โครงการสวนพลังงานแสงอาทิตย์ใช้พื้นที่จำนวน 50 ไร่ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพัฒนาวิจัยและสาธิตการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของทุกรูปแบบ และเป็นส่วนพลังงานแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ในสวนพลังงานประกอบด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างศูนย์สาธิต โดยอาคารแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ อาคารทดสอบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทุกระบบ เป็นอาคารที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็มรูปแบบ อาคารบริการ อาคารฝึกงาน อาคารศูนย์ธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หอพัก และหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 10 หลัง เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะนำไปใช้ในชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง และสามารถใช้งานได้จริง อาคารทั้งหมดจะไม่พึ่งไฟฟ้า และสวนพลังงานแห่งนี้เป็นแห่งแรกของโลกที่จำลองเมืองที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดไว้ เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์เราจะพัฒนาสวนพลังงานแห่งนี้ให้เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต (มติชน พฤหัสบดี ที่ 14 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





เจอพันธุ์ใหม่…ไดโนขนนก

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐค้นพบไดโนเสาร์ที่มีขนอย่างนกเพิ่มขึ้นอีกสองชนิดในมลรัฐนิวเม็กซิโก เจ้าไดโนเสาร์ทั้งสองชนิด คือ โนทรอนอายคัส (Nothronychus) กับไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กชนิดหนึ่งในวงศ์เซอลูร์โอซอร์ (coelurosaur) ซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่อ เคยมีชีวิตเมื่อ 90 ล้านปีก่อนในบริเวณที่เป็นหนองบึง โนทรอนอายคัส เป็นไดโนเสาร์ในชั้นเทอโรมพอดซึ่งเป็นพวกกินเนื้อ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับไทรันโนซอรัส ทว่ามันกลับวิวัฒนาการมากินพืช มีน้ำหนักประมาณ 1 ตัน ตัวยาว 4.5-6 เมตร เวลายืนจะสูง 3-3.6 เมตร มีสองขาเดินตัวตรงกว่าพวกญาติๆ ที่กินเนื้อของมัน ลำคอเรียวยาว แขนยาว มีมือที่คล่องแคล่ว มีอุ้งเล็บงองุ้มยาว 4 นิ้ว พุงใหญ่ หัวเล็กมีฟันสำหรับทึ้งต้นพืชเต็มปาก หางค่อนข้างสั้น และขาหลังกำยำ ส่วนเจ้าเซอลูร์โอซอร์ตัวยาว 2.1 เมตร สูง 1 เมตร รูปร่างของลำตัวมันมองเหมือนเจ้าไทรันโนซอรัสซึ่งตัวใหญ่กว่ามาก เว้นแต่มันมีแขนยาวกว่าของเจ้ายักษ์ไทรันฯ เจ้าตัวนี้เป็นนักล่าที่ตัวค่อนข้างเล็ก มันจึงกินแต่สัตว์เล็กๆ จำพวกกิ้งก่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ไทยโพสต์ พุธที่ 20 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





ผุด รง.ไบโอเอทานอล

นายประจวบ ไชยสาส์น ผู้แทนการค้าไทยให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลไทยและออสเตรียเห็นชอบ ในหลักการแลกเปลี่ยนการซื้อข้าวของไทย กับการซื้อโรงงานไบโอเอทานอลจากออสเตรียในมูลค่าที่เท่ากัน ในลักษณะการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าเกษตรกับพลังงาน โดยออสเตรียจะมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตไบโอเอทานอลให้แก่ไทยจำนวน 5 แห่ง ที่จะสามารถผลิตไบโอเอทานอลได้ถึงวันละ 1.5 ล้านลิตร ซึ่งไทยจะนำสินค้าเกษตร เช่น ข้าว อาหารทะเลแช่แข็ง แลกกับการให้ออสเตรียเข้ามาสร้างโรงงานให้ในระยะเวลา 10 ปีแบบไม่มีดอกเบี้ย การผลิตไบโอเอทานอลจะช่วยลดการใช้สารเอ็มทีบีอี หรือหัวเชื้อที่ใช้เพิ่มออกเทนในน้ำมันเบนซิน และเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีน้ำมันราคาถูกไว้ใช้ในชนบท (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2544 หน้า 3)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มจธ.เจ๋งผลิตเครื่องคัดขนาด ‘มะม่วง’

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่า นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถผลิตเครื่องคัดผลมะม่วงที่มีความสม่ำเสมอกันทั้งขนาด และน้ำหนักได้สำเร็จแล้ว นักศึกษาที่ออกแบบ ศึกษาและประดิษฐ์เครื่องดังกล่าวประกอบด้วย นายกล้าณรงค์ ศิลานาม นายณรงศักดิ์ แสนละมุล และนายสาธิต นิลใย โดยมี ผศ.วีระชัย แก่นทรัพย์ เป็นที่ปรึกษา เครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นจะคัดมะม่วงโดยใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ สามารถคัดมะม่วงได้สี่แบบ ตามมาตรฐานการส่งออกมะม่วงของชมรมผู้ผลิตและจำหน่ายมะม่วง ราชบุรีคือ ขนาด A น้ำหนัก 350-450 กรัม ขนาด B น้ำหนัก 300-350 และขนาด C น้ำหนัก 250-300 ด้วยเครื่องนี้สามารถคัดขนาดผลไม้ได้ถึง 3,600 ผล ไม่ต้องใช้กำลังคนซึ่งมีศักยภาพทำได้เพียง 600 ผล ต่อชั่วโมงต่อคน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจธ. แจ้งว่า ผลสำเร็จนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชน หากเกษตรกรที่สนใจหรือชุมชนใดมีปัญหาอะไรที่ต้องการให้ทางโครงการเข้าไปช่วยเหลือ ขอให้ส่งข้อมูลมาที่โครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชน สำนักงานอธิการบดี ชั้น 7 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถ.ประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. 10140 หรือ โทร.(02)470-9665 และ 470-9682 (มติชน จันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





2 นักวิจัยไทยสกัดสารจากมะระขี้นก ใช้กำจัดศัตรูพืชชะงัด-แถมราคาถูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางประภากร-นายนฤพล ทีโพนทัน ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาเรื่องการศึกษาประสิทธิภาพของมะระขี้นกในการกำจัดแมลงศัตรูพืชบางชนิดในห้องปฏิบัติการ โดยนำส่วนต่างๆ ของมะระขี้นกที่ปลูกไว้ในแปลงทดลองคือ ลำต้น ราก ใบ และเมล็ดมาทำให้มีคุณสมบัติเหมือนกัน เพื่อหาส่วนที่มีการสะสมของสารฆ่าแมลง ผลการศึกษาปรากฏว่า บริเวณใบมีสารฆ่าแมลงมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ลำต้นและราก ส่วนผลนั้นมีฤทธิ์แค่ทำให้แมลงอ่อนแอเท่านั้น เมื่อนำส่วนต่างๆ เหล่านี้มาผ่านกรรมวิธี แล้วนำไปฉีดใส่แมลงที่ใช้ทดลองคือ ด้วง หมัดผักมวนแดง หนอนกระทู้ผัก และเต่าแตงแดง แมลงจะตายทันที การกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีนี้ไม่มีผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาถูก (มติชน พุธที่ 20 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





เตาแก๊สเป็นพิษกับเด็กหนุ่มสาว หายใจบ่อนทำลายปอดอ่อนแอ

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคาทอลิกที่กรุงโรม ได้พบว่า เด็กหญิงอิตาลี วัยระหว่าง 11-13 ปี ที่เข้าไปเล่นอยู่ในครัวมากเท่าใด มักจะเป็นคนมีปอดทำงานอ่อนลงมากเท่านั้น เด็กคนที่มีอาการมากที่สุด ยังพบสารเคมีที่ส่อให้รู้ว่าเป็นคนเกิดอาการแพ้ง่ายในตัวมากที่สุดด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดของอังกฤษ กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ นับเป็นการยืนยันความรู้ว่า เตาแก๊สมีส่วนเกี่ยวพันกับการเกิดปัญหาของปอด และให้ความเห็นว่า ควรจะมีการตรวจสอบควันไอเสียในครัว และการระบายอากาศเพื่อรักษาสุขภาพของปอด (ไทยรัฐ พุธที่ 20 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





วัตถุสีของผักเป็นยาทิพย์ ถนอมรักษาหลอดเลือด

นักวิจัยของมูลนิธิโภชนาการของอังกฤษ ได้พบจากการศึกษาความหนาของหลอดเลือดที่คอของหญิงชายอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มีอาการของโรคหัวใจมาก่อนการตรวจหลอดเลือดที่คอ สามารถเป็นตัวแทนบอกให้รู้ถึงสภาพของหลอดเลือดได้ทั้งตัวแม้กระทั่งหลอดเลือดไปยังหัวใจได้ ได้พบว่าผู้ที่มีวัตถุสีในพืชผักตามธรรมชาติในเลือดเข้มข้นมากมักมีหลอดเลือดที่คอปกติดีกว่าเพื่อน ขณะเดียวกันผู้ที่มีวัตถุสีดังกล่าวในเลือดต่ำมีหลอดเลือดที่มีสภาพจับตัวหนากว่าปกติ การค้นพบช่วยให้รู้สาเหตุที่ผู้ที่กินผักผลไม้มากๆ มักจะไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวัตถุสีในธรรมชาติ ได้แก่ ผักบร็อคโคลี ผักกาดหอม แอสพารากัส ผลอโวคาโด ถั่ว กะหล่ำปลี กะหล่ำปม เซอละรี ผักขม และผักน้ำ นอกจากนี้ยังมีอยู่ในสีเหลืองของไข่แดงด้วย (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 21 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นพิษ หญิงมีครรภ์ถึงขั้นแท้งลูก

หนังสือพิมพ์ “ซันเดย์ มิเรอร์” ของอังกฤษ แจ้งว่า ได้มีการศึกษาวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านเป็นภัยกับสตรีมีครรภ์ อาจทำให้แท้งลูกง่ายขึ้นถึงสองเท่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่น พวกเตาไมโครเวฟ และเครื่องเป่าผมจะปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา นอกจากนั้นก็ควรจะเลี่ยงยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าด้วยเช่นกัน (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 21 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


โลกมอบรางวัลชู “ไทย” ใส่ใจคนพิการ

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันแฟรงคลิน และอีลินอร์ รูสเวลท์ และคณะกรรมการโลกว่าด้วยคนพิการได้คัดเลือกให้ประเทศไทยได้รับรางวัล แฟรงคลิน ดีเลโน รุสเวลท์ ว่าด้วยเรื่องคนพิการสากลประจำปี ค.ศ.2001 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการดำเนินการดีเด่นตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการโลกของสหประชาติ ว่าด้วยเรื่องคนพิการ รางวัลนี้จะมอบให้กับประมุขของประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงรับการทูลเกล้าฯถวายรางวัล วันที่ 2 ก.ค.นี้ ที่อาคารสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รางวัลดังกล่าวได้เริ่มมอบตั้งแต่ปี 2539 โดยปีนี้มี 20 ประเทศทั่วโลกที่เสนอเข้ารับรางวัล แต่ได้รับคัดเลือกเพียง 3 ประเทศ คือ จอร์แดน เซาท์แอฟริกา และไทย (ไทยรัฐ พุธที่ 20 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ร่างนิรโทษกรรมอาคารเสร็จแล้ว สร้างผิดแบบก่อน 8 ส.ค. 43 เตรียมเฮ

รายงานข่าวจากศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร แจ้งความคืบหน้าการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมอาคารที่ก่อสร้างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายของ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่ากทม. ว่าขณะนี้ร่างดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และอยู่ระหว่างเสนอมหาดไทย หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอ ครม. ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา หลักการสำคัญที่คณะกรรมการวางไว้เพื่อยกประโยชน์ให้กับเจ้าของอาคารที่ต่อเติม หรือก่อสร้างผิดกฎหมายมี 5 ข้อคือ 1. จะต้องเป็นอาคารที่ก่อสร้างหรือต่อเติมก่อนวันที่ 8 ส.ค 2543 2. ต้องไม่ลิดรอนสิทธิเพื่อนบ้านหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียง 3. ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง 4. ปลอดภัยจากอัคคีภัย 5. หากจะต่อเติมบนอาคารที่พักอาศัยสามารถต่อเติมได้เพียงชั้นเดียว พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้เฉพาะอาคารบ้านพักอาศัย, ตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์เท่านั้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 21 มิถุนายน 2544 หน้า 30)





เขตราชเทวีใช้ ‘วันสต็อปเซอร์วิส’ นำร่องแห่งแรกในกทม. บริการทุกอย่างเสร็จใน 10 นาที

นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เป็นประธานแถลงข่าวเปิด “ศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ” (ONE STOP SERVICE) แห่งแรกใน กทม. ที่สำนักงานเขตราชเทวี การให้แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จต่อประชาชน ณ สำนักงานเขต เป็นบริการอีกรูปแบบหนึ่งที่กทม. ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคม ซึ่งสามารถให้บริการได้ทุกงานบริการที่มีอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ณ จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาติดต่อให้มากที่สุด อีกทั้งเกิดความโปร่งใสในบรรยากาศใหม่ที่เป็นกันเอง ตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. สำหรับการเข้ามารับบริการของประชาชนนั้นต้องกดบัตรคิวบริเวณประตูทางเข้าเพื่อเลือกประเภทของการรับบริการ โดยแบ่งเป็น 5 ประเภทคือ 1.การชำระเงิน 2. การยื่นแบบภาษีโรงเรือน-บำรุงท้องที่-ป้าย 3.ทะเบียนราษฎร์ 4. บัตรประจำตัวประชาชน 5.การยื่นและรับรอง ทั้งนี้ถ้าประชาชนมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่เขตราชเทวี โทร 247-2712, 246-8981-2 ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00-16.00 น. (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2544 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215