หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 14 ประจำวันที่ 2001-04-03

ข่าวการศึกษา

ราชภัฏ ‘สวนดุสิต’ ผลิตอักษรเสียง เปิดรับอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง
มจธ.จับมือม.มิสซูรี่-โคลัมเบียผลิตวิศวกรคอมพ์
มจธ.จับมือม.มิสซูรี่-โคลัมเบียผลิตวิศวกรคอมพ์
‘ทักษิณ’ ลงเล่นเอง ทำเวิร์กช็อปศึกษา
หนุนประเมินมหา’ลัยนอกระบบ ย้ำผู้ประเมินต้องไม่มีได้เสีย
ราชภัฏชงร่างแก้ไขพ.ร.บ.ให้ราชภัฏเป็นนิติบุคคล
ระดมศิลปินแห่งชาติสอนมหา’ลัย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

อย.ยันข้าวโพด 15 ยี่ห้อปลอดจีเอ็มโอ
ยา “น้ำผึ้ง” ไทยดังระดับโลก
อนุรักษ์ชายฝั่ง
กรมวิชาการเกษตรยุบ 17 หน่วยงานรอ ครม.ไฟเขียวเดินเครื่องทำงาน
เด็กยุคดอทคอมคว้ารางวัลเนคเทค
3 ธนาคารร่วมมือจ่ายภาษีผ่านเน็ต

ข่าววิจัย/พัฒนา


หุ่นยนต์เป่าขลุ่ยพัฒนาการเล่นดนตรีจากอดีตสู่สากล
หมอสิงคโปร์ประดิษฐ์นาฬิกาวัดความดัน

ข่าวทั่วไป

ราชภัฏ ‘สวนดุสิต’ ผลิตอักษรเสียง เปิดรับอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง
รฟท.ทำเก๋ทำโปรโมชั่นจูงใจผู้โดยสารใช้บริการ
ยกย่องไข่มดแดงเป็นอาหารมีคุณค่าสูงมาก
เมษาฯวิกฤติธนาคารเลือดแห้งคลัง
สำรวจตึกร้างทั่วกรุงทิ้งไว้อันตราย
‘ฟาสต์ฟู้ด’ ปัจจัยหลัก เด็กไทยอ้วนเกินพิกัด





ข่าวการศึกษา


ราชภัฏ ‘สวนดุสิต’ ผลิตอักษรเสียง เปิดรับอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง

โครงการสวนดุสิตผลิตอักษรเสียง เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเมื่อเดือน ก.ค. 43 ที่ผ่านมา เปิดรับอาสาสมัครอ่านหนังสือบันทึกเสียงลงเทปคาสเซ็ต ส่งให้กับห้องสมุดของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รับเข้าไว้เป็นสมบัติของห้องสมุดสมาคม และให้คนตาบอดยืมไปฟังเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ดีที่สุดด้านหนึ่ง ใครที่มีเวลาว่างและต้องการทำประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยการใช้เสียงติดต่อได้ที่ ฝ่ายวิทยุ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต อาคาร 11 ชั้น 4 ห้อง 11406 หรือ โทรศัพท์ 668-8152 ต่อ 1180 หรือ E-mail: Radiodusit@Thaimail.com (ข่าวสด ศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2544 หน้า 28)





มจธ.จับมือม.มิสซูรี่-โคลัมเบียผลิตวิศวกรคอมพ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่า ทางมหาวิทยาลัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ – โคลัมเบีย (U. of Missouri Columbia) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดโครงการวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตนานาชาติ – สองสถาบัน ในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร และจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2545 สำหรับหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตนานาชาติ 4 ปี เพื่อรับปริญญา วศ.บ. ของมจธ. และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (Twinning Program) สำหรับนักศึกษาบางส่วนที่สำเร็จการศึกษา 2 ปีแรกของหลักสูตรนานาชาติที่มจธ. ซึ่งมีความรู้ภาษาอังกฤษดี และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกสามารถสมัครเรียนต่อในชั้นปีที่ 3 และ 4 ณ มหาวิทยาลัยมิสซูรี่-โคลัมเบีย โดยนักศึกษาสามารถรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง โครงการนี้จะรับผู้ที่จบ ม.6 หรือกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนสุดท้ายสาขาวิทยาศาสตร์ และเทียบเท่าหรือระดับ 12 จากต่างประเทศ เกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจาก GPA, PR และคะแนนจากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของทบวงฯ จะเปิดขายใบสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 เม.ย. ศกนี้





มจธ.จับมือม.มิสซูรี่-โคลัมเบียผลิตวิศวกรคอมพ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่า ทางมหาวิทยาลัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ – โคลัมเบีย (U. of Missouri Columbia) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดโครงการวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตนานาชาติ – สองสถาบัน ในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร และจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2545 สำหรับหลักสูตรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตนานาชาติ 4 ปี เพื่อรับปริญญา วศ.บ. ของมจธ. และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (Twinning Program) สำหรับนักศึกษาบางส่วนที่สำเร็จการศึกษา 2 ปีแรกของหลักสูตรนานาชาติที่มจธ. ซึ่งมีความรู้ภาษาอังกฤษดี และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกสามารถสมัครเรียนต่อในชั้นปีที่ 3 และ 4 ณ มหาวิทยาลัยมิสซูรี่-โคลัมเบีย โดยนักศึกษาสามารถรับปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง โครงการนี้จะรับผู้ที่จบ ม.6 หรือกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนสุดท้ายสาขาวิทยาศาสตร์ และเทียบเท่าหรือระดับ 12 จากต่างประเทศ เกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจาก GPA, PR และคะแนนจากผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของทบวงฯ จะเปิดขายใบสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 เม.ย. ศกนี้ (กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ที่ 31 มีนาคม 2544 หน้า 11)





‘ทักษิณ’ ลงเล่นเอง ทำเวิร์กช็อปศึกษา

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นายกฯลงเล่นการศึกษาวันที่ 29 เม.ย.นี้ เป็นประธานประชุมกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษา ‘ทักษิณ’นั่งเป็นประธาน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) ในเรื่อง “การกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินการด้านการศึกษาตามกระบวนการปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล และนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะประชุมในวันที่ 29 เม.ย.นี้ (สยามรัฐ เสาร์ที่ 24 มีนาคม 2544 หน้า 20)





หนุนประเมินมหา’ลัยนอกระบบ ย้ำผู้ประเมินต้องไม่มีได้เสีย

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย มีแนวคิดที่จะให้มีการประเมินมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ว่ามีปัญหาอุปสรรคหรือเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการออกนอกระบบหรือไม่ รศ.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เห็นว่า ผู้ที่จะมาประเมินนั้นตนคิดว่าน่าจะเป็นอาจารย์ที่เกษียณไปแล้ว เพราะคนกลุ่มดังกล่าวจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการออกนอกระบบ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ที่จะประเมินควรเป็นกลุ่มนักวิชาการ มิใช่เอาแต่เฉพาะข้าราชการทบวงฯเท่านั้น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 26 มีนาคม 2544 หน้า 12





ราชภัฏชงร่างแก้ไขพ.ร.บ.ให้ราชภัฏเป็นนิติบุคคล

ดร.สุวรรณ นาคพรม รักษาการเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า สรภ. ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ ให้ ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมในเดือนนี้ ส่วนร่างพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งอธิการบดี สรภ. ทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดทำและใช้ชื่อว่า ร่างพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ตนคิดว่าไม่เกิดปัญหาในเรื่องของความซ้ำซ้อน เพราะร่าง พ.ร.บ. ที่ สรภ. จัดทำขึ้นจะเป็นร่าง พ.ร.บ.กลางที่สถาบันราชภัฏทั้ง 36 แห่งใช้ร่วมกัน โดยกำหนดให้สถาบันราชภัฏทุกแห่งเป็นนิติบุคคล เป็นสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในสายการบังคับบัญชาของราชการ และเมื่อมีความพร้อมก็สามารถออกไปเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลได้ทันที (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2544 หน้า 13)





ระดมศิลปินแห่งชาติสอนมหา’ลัย

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงมหาวิทยาลัยมีโครงการระดมศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ เข้ามาเป็นอาจารย์สอนนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยในรายวิชาที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยดังแนวความคิดจาก “โครงการธนาคารภูมิปัญญา” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยจะให้เกียรติเชิญศิลปินแห่งชาติเข้าเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยที่มีเขตพื้นที่ใกล้เคียงกับศิลปินแห่งชาติเหล่านั้นพักอาศัยอยู่ (สยามรัฐ อังคารที่ 27 มีนาคม 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


อย.ยันข้าวโพด 15 ยี่ห้อปลอดจีเอ็มโอ

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่จำหน่ายในท้องตลาดเพื่อตรวจสอบข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่ปนเปื้อนสารพันธุกรรมครายไนน์ซี ที่ยังไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัยในมนุษย์ เช่น นิวทริคอร์นซุบข้าวโพด ข้าวโพดผสมข้าวสาลีอบกรอบน้ำผึ้ง แป้งข้าวโพด ผลิตภัณฑ์แผ่นข้าวโพดอบกรอบชนิดต่างๆ รวม 15 รายการ ส่งให้ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอ เทคโนโลยีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่กำแพงแสนตรวจวิเคราะห์ ซึ่งผลสรุปไม่พบการปนเปื้อนสารครายไนน์ซี (ไทยโพสต์ เสาร์ที่ 24 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ยา “น้ำผึ้ง” ไทยดังระดับโลก

ศ.น.พ.วินิต พัวประดิษฐ์ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า อยากให้บุคลากรทางการแพทย์นำน้ำผึ้งมาใช้รักษาแผลผ่าตัดหน้าท้องที่มีการติดเชื้อเป็นหนอง เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลรามาธิบดีใช้อยู่กว่า 10 ปีแล้ว การรักษาได้ผลดีมาก โดยภูมิปัญญาไทยนี้ได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นานาชาติ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน www.ra.mahidol.ac.th (เดลินิวส์ อาทิตย์ 1 เมษายน 2544 หน้า 24)





อนุรักษ์ชายฝั่ง

7 ประเทศเพื่อนบ้านในเขตทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ได้แก่ กัมพูชา จีน อินโดนีเชีย มาเลเชีย ไทย และเวียตนาม ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับแรก ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล อันจะมีผลทำให้ลดการสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่ง ซึ่งได้ศึกษาวิจัยมาอย่างดีแล้ว และก็หวังว่าจะออกมาเป็นกฎหมายแห่งชาติเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงฉบับใหม่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการและเครือข่ายเพื่อความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมในเขตทะเลจีนใต้เช่นโครงการ 5 ปี จะวิจัยพื้นที่เลือกสรรโดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าโกงกาง และหญ้าทะเล (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2544 หน้า 8)





กรมวิชาการเกษตรยุบ 17 หน่วยงานรอ ครม.ไฟเขียวเดินเครื่องทำงาน

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร รอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดตั้งและยุบหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อน และสามารถทำงานให้เสร็จภายในหน่วยงานเดียว จัดตั้งสำนักใหม่ 3 สำนัก คือ สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและนิวเคลียร์เทคนิค สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมการเกษตร พร้อมยกฐานะกองควบคุมพืชและวัสดุพืช และวัสดุการเกษตร เป็นสำนักคุ้มครองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนหน่วยงานที่ยุบ 17 หน่วย แยกเป็นหน่วยงานระดับกอง 6 กองคือ กองกีฏและสัตว์วิทยา กองเกษตรเคมี กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กองพฤกษศาสตร์และวัชพืช กองวัตถุมีพิษการเกษตร กองปฐพีวิทยา (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2544 หน้า 29)





เด็กยุคดอทคอมคว้ารางวัลเนคเทค

ประกาศผลการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ครั้งที่ 3 รางวัลที่ 1 นายศุภศักดิ์ กุลวงศ์นันชัย จากโรงเรียนทิวไผ่งาม โครงงานที่ส่งประกวดคือ โปรแกรมจำลองการเคลื่อนที่เสมือนจริง โดยรวมฟังก์ชั่นต่างๆ ที่จะใช้สำหรับการคำนวณด้านการเคลื่อนที่ โดยวิธีการนำสูตรคำนวณด้านฟิสิกส์ เรื่องของการเคลื่อนที่โมเมนตัมฯลฯ รวมกันและจัดให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำงานได้ทั้งระบบพิกัดฉากและระบบ 3 มิติ โดยการติดต่อระบบ Direct 3 D รางวัลที่ 2 นายณฤทธิ์ บุญให้เจริญ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ โครงงานที่ส่งประกวดคือ การพัฒนาระบบการสื่อสารย่านวิทยุ VHF ให้สามารถใช้กับระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม โดยทำให้สามารถสื่อสารกับสถานีอื่นได้สองทาง และรางวัลที่ 3 นายจุฬา พิทยาภินันท์ จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา โครงงานที่ส่งประกวดคือ โปรแกรมตรวจสอบ วิเคราะห์ลายเซ็น โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวตรวจสอบ (ไทยรัฐ พุธที่ 28 มีนาคม 2544 หน้า 9)





3 ธนาคารร่วมมือจ่ายภาษีผ่านเน็ต

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารเอเชีย ให้บริการรับแบบแสดงรายการและรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2544 ธนาคารกรุงไทยคิดค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารเอเชียคิดค่าธรรมเนียมรายการละ 20 บาท (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 254 หน้า 9)





ข่าววิจัย/พัฒนา




ดร.อาวิมา เอ็ม. รูเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพในการประกอบอาชีพในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ พบว่า พนักงานที่ต้องทำงานด้วยการใช้น้ำยาซักแห้งมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งที่ลิ้น ปอด ปากมดลูก ปอดบวม ฯลฯ ผลการศึกษานี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สารโซลเวนท์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำยาซักแห้งถือเป็นสารก่อมะเร็ง ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนเรา (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 27 มีนาคม 2544 )





หุ่นยนต์เป่าขลุ่ยพัฒนาการเล่นดนตรีจากอดีตสู่สากล

นายมาศยศ มั่งมี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าว่า การประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่สามารถเป่าขลุ่ยได้ตัวแรกของประเทศไทยนี้ เกิดจากการประสานเทคโนโลยีเข้ากับจังหวะดนตรี ทำให้หุ่นยนต์สามารถเป่าขลุ่ยได้ จากการปั๊มอากาศเข้ามาภายในตัวหุ่น และใช้ลมเป่าออกทางปากพร้อมกับการใช้นิ้วบังคับ การทดสอบให้หุ่นยนต์ตัวล่าสุดที่พัฒนาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เริ่มต้นขึ้นด้วยการสาธิตให้หุ่นยนต์เป่าขลุ่ยจากทำนองเพลงทั้งไทยและจีน ไม่ว่าจะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง เพลงค้างคาวกินกล้วย เพลงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น หุ่นยนต์เป่าขลุ่ยนี้เป็นหุ่นยนต์ตัวที่สามหลังจากที่เริ่มมีการพัฒนาหุ่นยนต์ตีระนาด และหุ่นยนต์สีซอในปีที่ผ่านมา โดยมีการพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ใช้กลไกสลับซับซ้อนมากขึ้นจากเดิม ส่วนทีมงานที่ร่วมประดิษฐ์หุ่นยนต์เป่าขลุ่ยนี้ ได้แก่ นายมาศยศ มั่งมี นายวัลลภ จันทร์ตระกูล อาจารย์จากสจพ. และนายภีม พระประเสริฐ นักศึกษา โดยใช้เวลาในการประดิษฐ์นานประมาณ 2 เดือน นายมาศยศ กล่าวว่า การพัฒนาต่อไปนอกจากจะพัฒนาให้หุ่นยนต์สามารถเล่นแซกโซโฟน ที่ใช้เวลาพัฒนาอีกไม่นานนักพร้อมกับหุ่นยนต์เล่นจะเข้ได้แล้ว ต่อไปมีโครงการจะประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อเล่นดนตรีให้ได้เป็นวง ที่สามารถเล่นได้ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2544 หน้า 9)





หมอสิงคโปร์ประดิษฐ์นาฬิกาวัดความดัน

“นาฬิกาหมอ” เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่คิดค้นโดยแพทย์ของประเทศสิงคโปร์ ใช้สำหรับตรวจวัดความดันได้โดยสวมติดตัวตรวจวัดได้ตลอดเวลา ซึ่งตัวนาฬิกามีเครื่องวัดความดันโลหิตติดอยู่ ช่วยให้วัดความดันโลหิตได้เป็นพักๆ ตลอดเวลาสามารถคาดเดาอาการหัวใจวายได้ล่วงหน้า (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ราชภัฏ ‘สวนดุสิต’ ผลิตอักษรเสียง เปิดรับอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง

โครงการสวนดุสิตผลิตอักษรเสียง เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมาเมื่อเดือน ก.ค. 43 ที่ผ่านมา เปิดรับอาสาสมัครอ่านหนังสือบันทึกเสียงลงเทปคาสเซ็ต ส่งให้กับห้องสมุดของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รับเข้าไว้เป็นสมบัติของห้องสมุดสมาคม และให้คนตาบอดยืมไปฟังเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ดีที่สุดด้านหนึ่ง ใครที่มีเวลาว่างและต้องการทำประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยการใช้เสียงติดต่อได้ที่ ฝ่ายวิทยุ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต อาคาร 11 ชั้น 4 ห้อง 11406 หรือ โทรศัพท์ 668-8152 ต่อ 1180 หรือ E-mail: Radiodusit@Thaimail.com (ข่าวสด ศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2544 หน้า 28)





รฟท.ทำเก๋ทำโปรโมชั่นจูงใจผู้โดยสารใช้บริการ

นายสราวุธ ธรรมศิริ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากการที่การรถไฟฯเปิดดำเนินกิจการครบ 104 ปีนั้น เริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2517 เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้จะเริ่มปรับปรุงคุณภาพการบริการใหม่ๆ จูงใจลูกค้าเพื่อเพิ่มรายได้ โดยจะเริ่มโครงการจูงใจให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการรถไฟให้มากขึ้น เช่น จัดรายการชิงโชคส่งเสริมการขาย ส่วนในปีหน้าก็จะเพิ่มโครงการส่งเสริมการขายอีกเช่น เก็บแต้มสะสมระยะทาง (Railway Plus) หรือให้อัตราค่าโดยสารพิเศษลด 15% ในช่วงที่มีผู้โดยสารมาก เช่น วันหยุด เพื่อจูงใจให้มาใช้บริการรถไฟและจะเริ่มจัดเดินรถแบบท่องเที่ยวมากขึ้น นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การรถไฟฯอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทโอเอ็มทีจอยเวนเจอร์ เพื่อขอเช่ารถมาใช้ในการท่องเที่ยว โดยจะร่วมกับบริษัทเอกชนเน้นผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเส้นทางเหนือ 2 ขบวน และใต้ 2 ขบวน กำหนดค่าโดยสารสูงกว่าปกติ 30% ซึ่งการจัดรายการส่งเสริมการขายนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 104 ปี (ไทยรัฐ พุธที่ 28 มีนาคม 2544 หน้า 9)





ยกย่องไข่มดแดงเป็นอาหารมีคุณค่าสูงมาก

นายแพทย์สำราญ อาบสวรรค์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดสระแก้ว ได้ชี้แจงคุณค่าทางอาหารของไข่มดแดงว่า ไข่มดแดงเป็นไข่ของสัตว์ประเภทหนึ่ง จึงมีโปรตีนเหมือนไข่ไก่และไข่สัตว์อื่นๆ โดยทั่วไป มีคุณค่าเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ กระดูก ไขมันและสมอง นอกจากไข่มดแดงเป็นอาหารที่มีคุณค่าอาหารสูงแล้วยังปลอดสารพิษอีกด้วย และเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านหนองมั่ง ตำบลหนองแวง จังหวัดสระแก้ว ในการประกอบอาชีพเก็บไข่มดแดงขาย หลังเสร็จสิ้นการทำนา โดยมีบริษัทมาติดต่อของซื้อในราคา กิโลกรัมละ 100 บาท (ไทยรัฐ จันทร์ที่ 26 มีนาคม 2544 หน้า 7)





เมษาฯวิกฤติธนาคารเลือดแห้งคลัง

พ.ญ.ศรีวิไล ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ช่วง เม.ย - พ.ค. ของทุกปี สภากาชาดไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนโลหิต ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตฯ มีโลหิตพอใช้เพียงวันต่อวัน หากจำเป็นต้องใช้โลหิตอย่างเร่งด่วนก็จะต้องเกิดภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลหิตหมู่พิเศษ (Rh Negative) ซึ่งพบน้อยมากในคนไทยคือ 1,000 คน จะพบเพียง 3 คน ศูนย์บริการโลหิต ขอเชิญชวนผู้ที่มีอายุ 17-60 ปี น้ำหนัก 45 กิโลกรัม ขึ้นไป และไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง บริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริการโลหิตฯ หรือที่หน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่ภายในงานกาชาด ระหว่างวันที่ 1-9 เม.ย. นี้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 31 มีนาคม 2544 หน้า 32)





สำรวจตึกร้างทั่วกรุงทิ้งไว้อันตราย

นายมานะ นพพันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนจะสั่งการให้ 50 เขตออกสำรวจตึกร้างทั่วกรุง หวั่นทิ้งไว้นานอาจชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพ รวมทั้งป้องกันปัญหาอาชญากรรม แหล่งมั่วสุม มิจฉาชีพ ส่วนที่ กทม. เคยมีแนวคิดจะเป็นตัวกลางในการประสานงานเพื่อให้ประชาชนที่สนใจจะซื้อห้องชุด คอนโดมิเนียม แฟลต ฯลฯ นั้น ขณะนี้ต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากอาจเป็นการชี้แนะช่องทาง หรือสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของอาคารบางรายได้ หากใครมีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับอาคารให้สอบถามได้ที่โทรศัพท์ 247-0075 หรือที่กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม.2 ดินแดง (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2544 หน้า 36)





‘ฟาสต์ฟู้ด’ ปัจจัยหลัก เด็กไทยอ้วนเกินพิกัด

พ.ญ.แสงโสม สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัย เปิดเผยว่า ในปี 2543 เด็กไทยเป็นโรคอ้วนเฉลี่ยร้อยละ 13.6 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2538 มีเด็กเป็นโรคอ้วนเฉลี่ยร้อยละ 7.4 ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ ความไม่ใส่ใจของผู้ปกครองในการดูแลการรับประทานอาหารของเด็กๆ โดยปล่อยให้บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะกับประเทศเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เนื่องจากอาหารประเภทนี้มีไขมันสูง หากปล่อยให้อ้วนจะทำให้เป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลิ้นหัวใจอุดตัน หรือไขมันในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้เด็กเสียชีวิตก่อนวัยได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 3 มีนาคม 2544 หน้า 32)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215