หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 20 ประจำวันที่ 2001-05-15

ข่าวการศึกษา

ชี้ต้องดึงศิษย์เก่าจุฬาฯช่วยพามหา’ลัยออกนอกระบบ
ศธ.สร้างเครือข่ายคอมฯระดับชาติ
สภาอุตสาหกรรมฯจับมือภาคเอกชนจัดโครงการโรงงานแห่งการเรียนรู้
เปิด‘ร.ร.ไปรษณีย์’เทียบหน่วยกิตได้
ทบวงฯตั้งท่าค้านแนวปฏิรูป ‘สปศ.’

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ทึ่ง ‘เด็กไทย’ พัฒนาอุตฯเกษตร ห่วง ‘โจ๋’ สนใจเกมมากกว่าดูงาน
เครื่องจับยุงอเนกประสงค์ ผลิตจากไม้ไผ่….ขายข้ามชาติ
ตัดต่อยีนเพิ่มสารเฟลโวนอล ช่วยป้องกันมะเร็ง-โรคหัวใจ
สถาบันรังสีเพื่อการเกษตร ความหวังพัฒนาคุณภาพผลผลิต
ไปอยู่ดาวอังคารกันเถอะ
ก๊าซกัมมันตรังสีก่อมะเร็งในภาคเหนือ
น่องสตรีช่วยบำรุงสมอง ขยันเดินถนอมสติปัญญา

ข่าววิจัย/พัฒนา

หาหัวกะทิยอดนักเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์
นศ.ม.บูรพาสร้างสารทดแทนนำเข้าช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจ
สจพ.สร้างช่วยประหยัดเวลา ราคาถูก ขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายและซ่อมแซมง่าย เครื่องแยกเมล็ดพริกไทย
ราชมงคลเจ๋ง คิดเมนูคอมพิวเตอร์สั่งอาหาร
นศ.ไทยโชว์ผลงานประดิษฐ์ที่ดัดแปลงใช้ได้จริง
เครื่องกล งม-เก็บ ‘หอยแครง’ รางวัลชมเชยจากสภาวิจัยแห่งชาติ
มข.เจ๋งคิดน้ำยาตรวจโรคเลือดราคาถูก

ข่าวทั่วไป

ตู้เย็นอินเตอร์เน็ตกระดานข่าวประจำบ้าน
ประกวดออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก
เป็นไปได้ตั้งโรงงานผลิตกระดาษสา
ส.ว.ลุยสานฝันต่อดิสนีย์แลนด์ในไทย
ข้าราชการรอก่อนรับเงินเดือนใหม่
ม.มหิดลไอเดียกระฉูดผุดไตรปิฎกเวอร์ชั่น 2
เมืองคอน-ชลบุรีลุยสร้างรง.ผลิตไบโอดีเซล





ข่าวการศึกษา


ชี้ต้องดึงศิษย์เก่าจุฬาฯช่วยพามหา’ลัยออกนอกระบบ

ศ.ดร. บุญรอด บิณฑสัณฑ์ ที่ปรึกษาสภานิสิตเก่าจุฬาฯ และอดีตนายกสภาจุฬาฯ กล่าวในการปฐกถาเรื่อง “รูปแบบการบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอนาคต” เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่า จากการที่จุฬาฯ จัดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการออกนอกระบบหลายครั้งแล้ว และยังไม่สามารถตอบคำถามที่จะนำไปอ้างอิง แก้ปัญหากฎระเบียบหรือปฏิบัติได้ เพราะทุกคนยังกังวลเกี่ยวกับการออกนอกระบบ เช่น ไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง การช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากภาครัฐ และการขึ้นค่าเล่าเรียนของนักศึกษา เนื่องจากไม่เข้าใจว่าการออกนอกระบบที่รัฐต้องการคืออะไร ไม่รู้รายละเอียด ข้อเท็จจริงและไม่มีความต้องการที่จะหาคำตอบของเรื่องทั้งหมด ซึ่งขณะนี้รัฐสนับสนุนค่าเล่าเรียนประมาณ 85% ส่วนที่เหลือนิสิตเป็นผู้ออกเอง ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็เริ่มเปิดสอนทางไกลเป็นจำนวนมาก โดยให้นิสิตนักศึกษาเรียนฟรีซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ต่อไปผลงานวิจัยจะเป็นของต่างชาติหมด ดั้งนั้นการออกนอกระบบตนคิดว่านิสิตเก่าจุฬาฯ น่าจะมีส่วนช่วยได้มาก โดยเฉพาะเรื่องเงิน ซึ่งนิสิตเก่าทุกคนก็สนับสนุนการออกนอกระบบ เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีระบบการบริหารที่ดีขึ้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2544 หน้า 12)





ศธ.สร้างเครือข่ายคอมฯระดับชาติ

ศ. เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (IT) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบโครงการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับนโยบายไอที และการพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมี 3 เครือข่ายคือ MOE ของศธ Uninet ของทบวงมหาวิทยาลัย และ Schoolnet ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (nectec) ให้รวมเป็นเครือข่ายเดียวกันระดับชาติ ภายใต้ชื่อ ED-net โดยมอบหมายให้ทบวงฯ รับผิดชอบจัดตั้งคณะกรรมการสร้างเครือข่ายหลักของชาติ ส่วน ศธ.รับผิดชอบการกระจายและการเข้าร่วมเครือข่าย ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการถ่ายโอนเนื้อหาวิชาในหลักสูตรจากสื่อต่างๆ เข้าเว็บไซต์ และฝึกอบรมการถ่ายโอนหลักสูตรให้เสร็จสิ้นก่อนใช้หลักสูตรใหม่ในปีหน้า รวมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานศึกษาของกรมอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และกรมการศึกษานอกโรงเรียน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2544 หน้า 12)





สภาอุตสาหกรรมฯจับมือภาคเอกชนจัดโครงการโรงงานแห่งการเรียนรู้

นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานกรรมการบริษัทไทยตาบูชิ อิเลคทริค จำกัด เปิดเผยว่า ในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทไทยตาบูชิ อิเลคทริค จำกัด ได้ร่วมกันลงนามทำความตกลงในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความรู้ของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบการให้ดีขึ้น ซึ่งแต่เดิมการเรียนการสอนด้านวิชาชีพมักไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ทำให้สถานประกอบการต้องเสียเวลาในการฝึกสอนทดลองงานกับพนักงานรุ่นใหม่เป็นประจำ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสถานประกอบการ ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านนี้ จึงได้มีแนวคิดในการทำความตกลงร่วมกันที่จะจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น โดยจะจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงงานอุตสาหกรรม และให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 20, 22, 23, 24 และ 26 ซึ่งได้พูดถึงการจัดการศึกษาของชาติไว้อย่างชัดเจนโดยใช้ชื่อว่า โครงการโรงงานแห่งการเรียนรู้ (Learning Factory) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องและยังเป็นโครงการแรกของประเทศ และทำการเปิดตัวโครงการไปเรียบร้อยแล้ว (เดลินิวส์ พุธที่ 9 พฤษภาคม 2544 หน้า 32)





เปิด‘ร.ร.ไปรษณีย์’เทียบหน่วยกิตได้

นางจรวยพร ธรณินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งออกตามร่าง พ.ร.บ. การศึกษาเอกชน ที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็น 1 ใน 23 ฉบับ โดยสถานศึกษาเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ 3 ระบบ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยแนวทางหนึ่งก็คือการเรียนทางไปรษณีย์และทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนการศึกษานอกระบบในสังกัด สช. รวม 6 แห่ง ที่เปิดสอนทางไปรษณีย์ โดยเฉพาะทางด้านการพาณิชย์และบัญชี แต่จะเป็นหลักสูตรระยะสั้น ไม่สามารถเทียบโอนผลการเรียนไปสู่ระบบอื่นๆ เพื่อการศึกษาต่อได้ แต่เมื่อมีการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ก็จะสามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ เช่น เทียบความรู้ชั้น ป.3 ม.3 หรือเทียบหน่วยกิตเพื่อไปศึกษาต่อในการศึกษาประเภทอื่นๆ เช่น ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นต้น นอกจากนี้ สช. ยังจะส่งเสริมให้ ร.ร. สอนทางไปรษณีย์ทั้ง 6 แห่งนี้ ได้พัฒนาไปสู่การสอนผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย (ไทยโพสต์ พุธที่ 9 พฤษภาคม 2544 หน้า 9)





ทบวงฯตั้งท่าค้านแนวปฏิรูป ‘สปศ.’

นายวันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผย ผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของทบวงเพื่อเตรียมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายการศึกษาในส่วนของอุดมศึกษา ซึ่งมีนายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงฯเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อศึกษารายละเอียดวาระการประชุม ครม.ฝ่ายการศึกษาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11-13 พฤษภาคมนี้ โดยในส่วนของโครงสร้างกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงร่างกฎหมายหลัก 23 ฉบับที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตเห็นด้วนในหลักการ โครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ แต่ในรายละเอียดการกำกับดูแล และการแบ่งส่วนราชการยังไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ส่วนในร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการศึกษาฯ เห็นว่า อำนาจหน้าที่ของสำนักงานหลักอื่นๆ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับอุดมศึกษา ที่ประชุมเห็นว่ายังมีบางส่วนต้องปรับปรุงในรายละเอียด และจะต้องข้อสังเกตต่างไปหารือและทำความชัดเจนในที่ประชุม ครม.ฝ่ายการศึกษา รวมถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้วย (มติชน พฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2544 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ทึ่ง ‘เด็กไทย’ พัฒนาอุตฯเกษตร ห่วง ‘โจ๋’ สนใจเกมมากกว่าดูงาน

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกองทุนพัฒนานวัตกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของ นักศึกษา ระดับปริญญาตรี ซึ่ง นายรุ่งโรจน์ แสงดารารัตน์ นักศึกษาจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์อาหาร ภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ทำโครงการนวัตกรรมผลิตไข่เค็ม โดยใช้เวลาเพียง 2 วันจากปกติที่ต้องใช้เวลาถึง 21 วัน โดยใช้ความดันระบบสูญญากาศ อาศัยหลักการให้ความดันขับไล่น้ำในไข่ และอัดน้ำเกลือเข้าไปในตัวไข่จะทำให้มีความเค็มเสมอกัน วิธีการนี้จะช่วยให้การผลิตไข่เค็มในภาคอุตสาหกรรมได้ผลผลิตที่ดีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมากขึ้น ถังความดันที่นำมาใช้กับไข่เป็ด 30 ฟอง ก็มีราคาประมาณ 6,000 บาทเท่านั้น (มติชน พุธที่ 9 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





เครื่องจับยุงอเนกประสงค์ ผลิตจากไม้ไผ่….ขายข้ามชาติ

นายอาณัติ ขำขจร ผู้ประดิษฐ์เครื่องจับยุงและนำมาใช้ประโยชน์ โดยเอาไปเป็นอาหารปลา โดยเริ่มต้นด้วยการเอาวัสดุเหลือใช้พวกถังน้ำมันและอื่นๆมาประกอบกัน แล้วใช้หลอดไฟฟ้าแบล็กไลต์ เป็นตัวล่อยุง และใช้พัดลมเป็นตัวดูดยุง เพื่อให้เข้าสู่ตาข่ายอันเป็นกับดักเป็นขั้นตอนง่ายๆ สามารถจับยุงได้คืนหนึ่งๆเป็นหลายๆกิโลกรัมแล้วจึงจับเอาซากยุงในช่วงเช้าแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ ต่อมาเครื่องดักยุงและแมลงอเนกประสงค์ หันมาใช้เครื่องจักสานอันเป็นฝีมือของชาวบ้าน มาประกอบเข้า แทนการใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งใช้ได้ดี และเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และมาเลเซีย จึงได้นำงานนี้ไปเผยแพร่ให้กับชาวบ้านในเขตตำบลเนินปอ ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ทำการจักสารโดยใช้ไม่ไผ่อันเป็นผลิตผลภายในประเทศเป็นวัสดุหลัก หากผู้ใดสนใจ ติดต่อได้ที่ คุณแจ๊ด ที่เบอร์ (01) 886-5255 หรือ (02) 291-3030 (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2544 หน้า 9)





ตัดต่อยีนเพิ่มสารเฟลโวนอล ช่วยป้องกันมะเร็ง-โรคหัวใจ

สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า นักวิจัยอังกฤษและเนเธอร์แลนด์พบว่า การตัดต่อยีนและเพิ่มสารเฟลโวนอล บนผิวมะเขือเทศอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้ สารเฟลโวนอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรค โดยจะทำให้โมเลกุลออกซิเจนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมีสภาพเป็นกลาง และนักวิจัยยังพบว่า ยีนในต้นพะทูเนีย มีความสามารถในการกระตุ้นเอนไซม์ที่ควบคุมการสังเคราะห์สารเฟลโวนอล เมื่อนำยีนดังกล่าวใส่ไปในผิวมะเขือเทศ ปรากฏว่าสามารถเพิ่มปริมาณสารเฟลโวนอลได้ถึง 78 เท่า โดยไม่ทำให้รสชาดเปลี่ยนแปลง (มติชน ศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





สถาบันรังสีเพื่อการเกษตร ความหวังพัฒนาคุณภาพผลผลิต

จากการที่ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ แห่งองค์การสหประชาชาติ (FAO-LIAEA) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้รังสีเพื่อกำจัดแมลงและไล่ศัตรูพืชในผัก ไม้ผล ไม้ดอก ในเมล็ดพืช และธัญพืช กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจัดตั้ง “สถาบันรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตร” โดยเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งนี้ นางวัชรีพร โอฬารนก ผู้อำนวยการสถาบันรังสีเพื่อการส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภารกิจของสถาบันฯ คือการศึกษาวิเคราะห์ พัฒนา ส่งเสริมวิทยาการและกระบวนการใช้รังสี ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้รังสีแก่เกษตรกรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับภารกิจแรกได้เจรจาในโครงการร่วมมือด้านรังสีเพื่อการเกษตร กับ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติ และมีแผนร่วมมือในการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2544-2548 แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระหว่างปี 2544-2545 เน้นด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรม ความสามารถในการควบคุมแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันจากการฉายรังสี ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2546-2547 ขยายพื้นที่คุ้มครองผลผลิตจากแมลงวันผลไม้เพิ่มขึ้น ขยายโครงการความร่วมมือด้านการใช้รังสีเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออก ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 ขยายพื้นที่คุ้มครองผลผลิตจากแมลงวันผลไม้ ไม่ต่ำกว่า 300,000 ไร่ต่อจุด จะเห็นได้ว่าการนำรังสีมาใช้ประโยชน์ต่อเกษตรกร และผลผลิตโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงแล้ว ยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรผู้ส่งออก ในการเอื้อต่อระบบการสำรวจ ตรวจสอบในพื้นที่นำร่อง เพื่อใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่ที่เหมาะสม (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2544 หน้า 23)





ไปอยู่ดาวอังคารกันเถอะ

การเตรียมดาวอังคารให้สามารถรองรับความต้องการของมนุษย์เพียงแต่เป็นแผนการในขั้นแรก อาจจะสำเร็จหรือไม่ก็ได้ เพราะสภาพบรรยากาศของดาวอังคารกับโลกมีความต่างกัน หากจำเป็นจริงๆ ควรปรับสภาพของดาวอังคารให้ใกล้เคียงกับโลกโดยการปลูกพืช เนื่องจากพืชสามารถผลิตออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ จึงต้องหาทางทำให้พืชสามารถทนทานและดำรงชวิตอยู่ได้โดยกระบวนการทางพันธุกรรม พืชที่นักวิทยาศาสตร์จะส่งไปเป็นชนิดแรกคือ พืชที่มีชื่อว่า Arabidopsis ซึ่งเป็นพืชชนิดแรกในโลกที่ถูกถอดรหัสทางพันธุกรรมทั้งหมดเสร็จสิ้นสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตัดต่อยีนที่สามารถทำให้พืชเรืองแสงด้วยตัวของมันเองได้ลงไปในพืชดังกล่าว แสงที่เรืองขึ้นเกิดจากปฏิกิริยาของพืชที่มีต่อสภาวะแวดล้อมในขณะนั้น เช่น ความแล้ง อุณหภูมิ และโรคระบาด พืชดังกล่าวจะถูกส่งไปดาวอังคารในปี ค.ศ.2007 เมื่อไปถึงก็จะทำการเตรียมดินให้เหมาะก่อนโดยการปรับสภาพความเป็นกรด ด่าง เพิ่มปุ๋ยและสารอาหารแล้วจึงทำการเพาะเมล็ดขึ้นในโดมเล็กๆ ที่สร้างขึ้นบนยานที่ลงจอดนั่นเอง ยังมีอุปสรรคอีกสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือ อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนที่มีความแตกต่างกันถึง 7 องศาเซลเซียสในตอนกลาง และลบ 76 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืน (เดลินิวส์ พุธที่ 9 พฤษภาคม 2544 หน้า 16)





ก๊าซกัมมันตรังสีก่อมะเร็งในภาคเหนือ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ แจ้งว่า จากการวิเคราะห์อาการป่วยด้วยโรคมะเร็งของคนไทยที่แล้วมา มีอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ แต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 60,000 ราย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง มีอัตราชุกของโรคมะเร็งปอดสูงมากที่สุดในประเทศไทย ผู้วิจัยจึงได้ให้ความสนใจก๊าซเรดอนซึ่งเป็นรังสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นสาเหตุมะเร็งปอดอันดับ 2 รองจากบุหรี่ ก๊าซเรดอนเป็นก๊าซกัมมันตรังสี มีน้ำหนักกว่าอากาศ 7 เท่าครึ่ง เกิดจากการละลายตัวของธาตุยูเรเนียมและเรเดียมที่มีอยู่ในดิน หิน และทรายในเปลือกโลกทั่วไป จากการสำรวจใน 20 จังหวัดพบว่า ก๊าซเรดอนในอาคารบ้านเรือนแถบจังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มระดับความเข้มสูงกว่าภาคอื่น โดยมีปัจจัยจากการสูบบุหรี่ขี้โยเป็นตัวหนุน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2544 หน้า7)





น่องสตรีช่วยบำรุงสมอง ขยันเดินถนอมสติปัญญา

ผู้เชี่ยวชาญประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้พบว่า ในการศึกษาสตรีที่เดินเป็นประจำมักจะยังคงมีความจำ และความคิดอ่านดี ไม่เสื่อมถอยไปตามวัย นักวิจัยได้ศึกษาโดยทดสอบสติปัญญาของสตรีสูงอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี จำนวน 5,926 คน 2 ครั้ง ครั้งหลัง ห่างกันระหว่าง 6-8 ปี พบว่า ผู้หญิงที่เดินน้อยสัปดาห์หนึ่งไม่ถึง 800 เมตร สติปัญญาเสื่อมถอยลงจากการวัดเมื่อครั้งแรกถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ผิดกับผู้ที่เดินในหนึ่งสัปดาห์เป็นระยะทางเกือบ 29 กม. สติปัญญาเสื่อมถอยเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


หาหัวกะทิยอดนักเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์

มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (FRIT) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) และมูลนิธิเพื่อการศึกษาคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (C8C) จัดโครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3” โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีหน้าที่จัดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมสำหรับหุ่นยนต์ เป็นการแข่งขันประเภทนักเรียนมัธยม ผู้เข้าแข่งขันจะต้องได้รับการอบรมและทดสอบ ผู้ชนะเลิศจะได้รางวัล 50,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน RoboCup Junior ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ผู้สนใจขอข้อมูลที่มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ โทร.502-1172, 583-6330 หรือ http://tpt.nectec.or.th/noc/ หรือศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โทร. 470-9339 หรือ http://fibo.kmutt.ac.th/thai/frit/index.htm. (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2544 หน้า 12)





นศ.ม.บูรพาสร้างสารทดแทนนำเข้าช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจ

สารเภสัชรังสีเฮกซะคิส ที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อใช้ถ่ายภาพหัวใจของผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ให้ผลชัดเจนในการแสดงบริเวณที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย และการอุดตันของเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี เอื้อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคของแพทย์ โดยปกติต้องนำเข้าจากต่างประเทศในลักษณะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป บรรจุขวดๆ ละ 1 มิลลิกรัม แบ่งใช้กับผู้ป่วยได้ 2.3 คน ราคานำเข้าในปี 2538 จำนวน 1 กรัมมีมูลค่า 5 ล้านบาท แต่หลังจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจึงงดการนำเข้าโดยใช้สารตัวอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาทดแทน โดยล่าสุด นายศุภชัย ฤทธิกุลสิทธิชัย นายพรศักดิ์ แซ่เจ็ง และนางสาวพัชราภรณ์ งื้มนันใจ นักศึกษาภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซี่งมี นายขจัดภัย ทิพย์ผ่อง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้คิดค้นผลงาน “แนวทางใหม่ในการผลิตเตตระคิส (2-เมทอกซิไฮโซบิวทิลไฮโซไซยาโน) คอปเปอร์ (1) ไอออน เพื่อเตรียมเป็นสารเภสัชรังสี” ซึ่งจะมีราคาเพียงมิลลิกรัมละ 500 บาท ต่ำกว่าการนำเข้าถึง 10 เท่า ผลงานครั้งนี้ใช้เวลา 9 เดือน วิธีการต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างมากในการสังเคราะห์สารประกอบด้วยไอโซไนไตร์ส สารตั้งต้นทุกตัวที่ใช้ในปฏิกิริยาเป็นสารเคมีที่หาง่าย ราคาถูก และสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ ผลงานจากการค้นคว้าครั้งนี้จะต้องนำส่งสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อผสมสารรังสีที่เป็นสารควบคุม และอยู่ในความรับผิดชอบซึ่งจะได้เป็นยาเภสัชรังสี สำหรับนำไปฉีดเข้ากล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วย การค้นคว้าดังกล่าวได้รับทุนจากโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาในอุดมศึกษา และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2544 หน้า 6)





สจพ.สร้างช่วยประหยัดเวลา ราคาถูก ขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายและซ่อมแซมง่าย เครื่องแยกเมล็ดพริกไทย

“เครื่องแยกเมล็ดพริกไทย” ผลงานของ นายสมพง สุธาพจน์ นายสราวุธ ถาวรสกุลรัตน์ และนายอุดรอินฟู นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) โดยมีอาจารย์ทวีป งามสม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เครื่องแยกเมล็ดพริกไทยตัวนี้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1 แรงม้า เป็นต้นกำลังส่งด้วยสายพานสามารถลำเลียงเมล็ดพริกไทยและซังพริกไทยออกจากเครื่องได้ด้วยความเร็ว 544 รอบ/นาที ใช้ได้ทั้งพริกไทยพันธุ์ซาราวัดหรือพันธุ์ซีลอน เพราะเป็นพริกไทยโตเร็วให้ผลผลิตสูง เมื่อเทียบกับแรงงานคนในการแยกเมล็ดพริกไทย จะแยกได้ประมาณ 30 กิโลกรัม/ชั่วโมง หากใช้เครื่องแยกสามารถทำการแยกได้ 160 กิโลกรัม/ชั่วโมง การแยกพริกไทยแต่ละครั้ง จะต้องนำไปตากแดดก่อนซึ่งใส่ได้ครั้งละ 5 กิโลกรัม เครื่องแยกเมล็ดพริกไทย ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยผลผลิตของเกษตรกรรมสวนพริกไทยเพื่อทดแทนแรงงานคน ทั้งช่วยประหยัดเวลา บำรุงรักษาง่าย ราคาถูก ขนาดกระทัดรัด เคลื่อนย้าย และซ่อมแซมง่าย เหมาะสำหรับเครื่องทุ่นแรงแก่เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรท่านใดสนใจ สอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (913-2500-24 ต่อ 1121, 1166) (สยามรัฐ เสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2544 หน้า 20)





ราชมงคลเจ๋ง คิดเมนูคอมพิวเตอร์สั่งอาหาร

นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบไปด้วย ภัทรพงษ์ อัญชันภาคี นพนันท์ บุญมาก บุญยืน ยี่สุ่นสี โดยมี อาจารย์ศุภชัย เหลืองภากร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้คิดค้น โครงการเมนูคอมพิวเตอร์ เพื่อลดขั้นตอนการสั่งรายการอาหาร การจ่ายเงินค่าอาหารให้รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้ลดการจ้างพนักงาน ประหยัดรายจ่ายได้มาก อุปกรณ์สั่งอาหารชุดนี้ประกอบด้วยชุดแสดงผล คือบอร์ด สั่งอาหารแต่ละครั้งสูงสุด 12 รายการไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถแก้ไขข้อมูลและเพิ่มเติมการสั่ง ต้นทุนต่อเครื่องประมาณ 2,500 บาท ระบบการติดต่อสื่อสารไม่รวมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 2,700 บาท และชุดจ่ายกระแสไฟตรง 500 บาท ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ อาจารย์ศุภชัย เหลืองภากร ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ต.คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โทร. 549-3420, 448-0555, 01-890-8233 (มติชน ศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2544 หน้า 14)





นศ.ไทยโชว์ผลงานประดิษฐ์ที่ดัดแปลงใช้ได้จริง

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กองทุนพัฒนานวัตกรรม The German Technical Cooperation : GTZ และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โครงการดังกล่าวคัดเลือกผลงานของ นศ.ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลงานที่ได้รับคัดเลือกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น หมวกกันน็อคติดกระจกมองด้านหลังของ นายไกรฤกษ์ เสวะนา คณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ นกขุนทอง (ซอฟต์แวร์อ่านหนังสือ) ของ นายพุฒิพันธ์ พลยานันท์ คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 10 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





เครื่องกล งม-เก็บ ‘หอยแครง’ รางวัลชมเชยจากสภาวิจัยแห่งชาติ

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2544 รางวัลชมเชยด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร แก่ผลงาน “เครื่องกลอุปกรณ์ งม-เก็บ หอยแครง” ของ นายสมพล ม่วงยังและคณะ จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โทร.323-9009, 323-9683 ต่อ 253 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2544 หน้า 23)





มข.เจ๋งคิดน้ำยาตรวจโรคเลือดราคาถูก

รศ.ดร. สุพรรณ ฟูเจริญ อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ทำวิจัยคิดค้นน้ำยาตรวจเฮโมโกลบินอี (HbE) ในการตรวจหาผู้เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจางเรื้อรัง ในรูปแบบของชุดน้ำยาสำเร็จรูป 2 ชุด โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีการในปัจจุบัน (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2544 หน้า 24)





ข่าวทั่วไป


ตู้เย็นอินเตอร์เน็ตกระดานข่าวประจำบ้าน

ตู้เย็นอินเตอร์เน็ต ผลิตโดยบริษัทแอลจี เป็นบริษัทแรกในโลกของเกาหลี ที่สามารถเอาเทคโนโลยีสื่อสารระบบภาพเคลื่อนไหว ซึ่งใช้กับอุปกรณ์ประเภทมัลติมีเดียมาประยุกต์ใช้กับตู้เย็น นอกจากจะเป็นตู้แช่แข็งแล้วได้เพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานอีก 9 ระบบ เรียกว่า ตู้เย็นอินเตอร์เน็ตดิจิทัล DIOS สามารถท่องเน็ตได้ รับส่งอีเมล์ได้ ถ่ายภาพได้ ฝากโน๊ตเป็นตัวหนังสือ ภาพและเสียงได้ ตู้เย็นชนิดนี้ได้จดสิทธิบัตรทั้งในและนอกประเทศไปแล้วกว่า 75 สิทธิบัตร (เดลินิวส์ พุธที่ 9 พฤษภาคม 2544 หน้า 16)





ประกวดออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก

บริษัทแอลจีอิเล็กทรอนิกส์ (LG) จัดโครงการประกวดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เทคโนโลยีดิจิทัลกับมนุษย์ โดยมีหัวข้อการแข่งขัน “Bridging the Digital with the Human” เพื่อชิงรางวัล 20,000 เหรียญสหรัฐ แบ่งการประกวดเป็น 4 ประเภทคือ 1.User Friendly (การออกแบบเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้) 2.Solid เพื่อเติมเต็มความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ 3.Expressive ออกแบบเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ ความรู้สึก 4.Reflecing lifestyle ออกแบบเพื่อสร้างแนวทางของชีวิตยุคใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคข้อมูล เริ่มเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2544 และจะตัดสินในวันที่ 15 มิถุนายน 2544 ผู้สมัครสามารถรวมกลุ่มหรือเดี่ยวก็ได้ไม่จำกัดสายงาน รายละเอียดต่างๆ สามารถดูได้ที่ www.lge.com/design และ www.lge.co.kr/design (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2544 หน้า 16)





เป็นไปได้ตั้งโรงงานผลิตกระดาษสา

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ระบุมีความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตกระดาษสา ผลิตภัณฑ์กระดาษสาแปรรูป ทดแทนการผลิตแบบอุตสาหกรรมในครอบครัว โดยใช้แรงงานในท้องถิ่นเพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน และใช้วัตถุดิบทางการเกษตรภายในประเทศ ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME) เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2544 หน้า 23)





ส.ว.ลุยสานฝันต่อดิสนีย์แลนด์ในไทย

นายสุรเดช ยะสวัสดิ์ ส.ว.พะเยา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหาการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เปิดเผยถึงความคืบหน้าที่จะชักชวนให้ บริษัทดีสนีย์แลนด์ มาลงทุนทำสวนสนุกในเมืองไทย ขณะนี้ได้รับคำตอบจาก นายอัลโต มานดินี ผู้จัดการฝ่ายโครงการของ บริษัทดิสนีย์แลนด์ ว่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของบริษัท ซึ่งข้อเสนอที่ผู้บริหารของบริษัทฯสนใจมาลงทุนคือ ค่าแรงถูก ทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่ถึง 21.1 ล้านไร่ ภาคอีสานมีศักยภาพทางธุรกิจท่องเที่ยวเพราะเป็นประตูสู่อินโดจีน (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2544 หน้า 3)





ข้าราชการรอก่อนรับเงินเดือนใหม่

กรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงให้ทราบว่า การที่ข้าราชการยังไม่ได้รับปรับขั้นเงินเดือนตามมติของคณะรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากต้องรอให้กฎของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และระเบียบกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเรียบร้อยเสียก่อน ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดร่างระเบียบกระทรวงการคลัง หากกฎหมายเสร็จเรียบร้อย กรมบัญชีกลางพร้อมสั่งจ่ายเงินเดือนได้ทันที การเลื่อนขั้นเงินเดือนแบบใหม่จะกำหนดไว้ 3 ขั้นคือ 0 ขั้น 0.5 ขั้น และ 1 ขั้น จะพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ครั้งคือ ทุกวันที่ 1 เมษายน และวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี และระบบใหม่นี้จะเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องมีผลงานที่ชัดเจนและโดดเด่นไม่เหมือนในอดีตที่ได้รับการพิจารณาขั้นทุกปีแม้จะไม่มีผลงานที่โดดเด่นก็ตาม หากข้าราชการที่ไม่ได้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนภายใน 2 ปีติดต่อกัน อาจถูกเรียกสอบและถูกไล่ออกได้ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูงสุดของอันดับหรือได้เงินเดือนเต็มขั้น หากได้รับการประเมินผลงานอยู่ในระดับเลื่อนเงินเดือนครึ่งขั้น หรือหนึ่งขั้นจะได้รับเงินตอบแทนพิเศษ 2% หรือ 4% ของเงินเดือนตามลำดับ และให้เงินรางวัลประจำปี จำนวน 1 เท่าของเงินเดือนเป็นรางวัลการทำงานที่เกิดผลสัมฤทธิ์ (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 10 พฤษภาคม 2544 หน้า 9)





ม.มหิดลไอเดียกระฉูดผุดไตรปิฎกเวอร์ชั่น 2

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสำนักคอมพิวเตอร์ได้จัดทำพระไตรปิฏกฉบับคอมพิวเตอร์สำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก โดยบันทึกข้อมูลทางพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย 45 เล่ม ได้มีการพัฒนาโดยสามารถแปลงภาษาบาลีเป็นอักษรต่างๆ เพิ่มเติมถึง 9 ภาษา คือ โรมัน เทวนาครี สิงหล พม่า เขมร มอญ ล้านนา ลาว และเวียตนาม และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2544 ได้พัฒนา BUDSIR/TT v.2 ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถสืบค้นคำในลักษณะซับซ้อน แสดงพจนานุกรม บาลี-ไทย และภาพพุทธประวัติพร้อมคำบรรยายได้ (ข่าวสด จันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2544 หน้า 24)





เมืองคอน-ชลบุรีลุยสร้างรง.ผลิตไบโอดีเซล

นายวิฑิต เจียรนัย นายอำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงกรณีกรมสรรพสามิตมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลทับสะแก ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าว 20 ส่วน ผสมน้ำมันก๊าด 1 ส่วน ที่ผ่านมาก่อนตั้งเป็นไบโอดีเซลบริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทับสะแก และอบต.นาหูกวาง ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลควรทบทวนเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชไม่ควรมีการเก็บภาษี จ.ชลบุรี นายนิยม จุฬาเสรีกุล อุปนายกสมาคมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย กล่าวว่า จ.ชลบุรีได้มีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวเช่นกัน โดยผลิตที่ ต.คลองตำหรุ อ.เมือง วันละ 30,000 ลิตร แต่ไม่พอจำหน่าย สำหรับสูตรที่ใช้ผลิตขณะนี้คือ น้ำมันปาล์ม 75% น้ำมันก๊าด 20% น้ำมันเบนซิน 5% และน้ำมันเบนซิน 20% น้ำมันมะพร้าว 80% เมื่อนำมาตีกวนเข้ากันก็ได้ไบโอดีเซล เหมาะสำหรับจะใช้กับเครื่องยนต์ที่ใช้แรงงานต่ำ ซึ่งกำลังดำเนินการสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลใน อ.บ้านบึง และเปิดใช้ได้กลางปี 2545 (มติชน พฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2544 หน้า 5)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215