หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 2001-03-20

ข่าวการศึกษา

ชี้จุฬาฯออกนอกระบบต้องดูเป้าหมายรวม
ราชภัฏ-ราชชนกอยากรวมตัว
ขรก.-ลูกจ้างมหา’ลัยหนุนแก้ร่างพ.ร.บ.สปศ.
ศธ.ลุยเต็มสูบ ‘หลักสูตรไอที’ เชื่อม ‘สคูลเน็ต’ พื้นที่กันดาร
กรมสามัญรับเพียบล้านกว่าคนเปิดศูนย์ฮอตไลน์ปรึกษาปัญหา
สสวท. พิมพ์ตัวอย่างหนังสือชีวะ
‘ยกเลิก’ เด็ดขาดเด็กอนุบาลสอบเข้า ป. 1
กศน. ใช้ระบบ IPM สอนวิชาชีพนักศึกษา

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

แจ้งเกิดโรงงานต้นแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์
มช.หนุนตั้งซอฟต์แวร์พาร์คเชียงใหม่
เปิดศูนย์รับจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ไทย
พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย
ปิดตำนานสถานีอวกาศเมียร์
ชี้โคลนนิ่งมนุษย์เสี่ยงพิการสูง
“บู่แคระ” ปลาพันธุ์จิ๋ว มรดกโลกที่หมิ่นเหม่สูญพันธุ์
คนเสียภาษีหายมึนเข้าเว็บช่วยคิดฟรี

ข่าววิจัย/พัฒนา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)แก่เกษตรกร: เครื่องปอกแห้ว
‘ไบโอเทค’ ผ่า 8 พันธุ์หายีนทนเค็ม เร่งปรับปรุง ‘ข้าว’ ช่วยชาวนาอีสาน
ระบุกินวิตามินซีมากต้านโรคร้าย-อายุยืน

ข่าวทั่วไป

พงศกรสั่งยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ
เตือนอย่างเชื่อใจ! ผักปลอดสารพิษแนะล้างก่อนกิน
ร.พ.อุบลฯปลื้มคนแห่ใช้ห้องสมุด-เปิดบริการเพิ่ม
มหันตภัยเงียบจากฝุ่นหิน
ฝรั่งเศสตะลึงค้นพบแมมมอธพันธุ์ใหม่





ข่าวการศึกษา


ชี้จุฬาฯออกนอกระบบต้องดูเป้าหมายรวม

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “อนาคตของจุฬาฯ จะเป็นอย่างไร” นายอานันท์ กล่าวว่า แนวทางที่จะนำจุฬาฯ ไปสู่ข้อยุติในเรื่องการออกนอกระบบมี 3 ทางคือ 1.จุฬาฯ ไม่ต้องทำอะไร ยังอยู่เหมือนเดิม 2.จุฬาฯ หาวิธีการและทิศทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การบริหารคล่องตัว 3.การออกนอกระบบ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2544 หน้า 12)





ราชภัฏ-ราชชนกอยากรวมตัว

ดร.สุวรรณ นาคพนม รักษาการเลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า มีการหารือระหว่างผู้บริหารของ สรภ. และผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการรวมสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งมีวิทยาลัยในสังกัดทั่วประเทศ 44 แห่ง กับสถาบันราชภัฏว่า มีความเป็นไปได้สูง ส่วนแนวทางการจัดการศึกษานั้น สามารถทำได้ทั้งการคงความเป็นวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนก หรือวิทยาลัยการสาธารณสุขต่อไป เพราะพ.ร.บ.สถาบันราชภัฏได้เขียนไว้ครอบคลุมว่า หน่วยงานในสังกัดสามารถใช้ชื่ออะไรก็ได้ หรือจะกำหนดให้เป็นคณะหนึ่งในสถาบันราชภัฏก็ได้ (เดลินิวส์ พุธที่ 14 มีนาคม 2544 หน้า 12)





ขรก.-ลูกจ้างมหา’ลัยหนุนแก้ร่างพ.ร.บ.สปศ.

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายเกษม จันทร์น้อย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ประชุมประธานสภาข้าราชการและลูกจ้างมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปขมท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ปขมท. เรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ…. ร่วมกับที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวซึ่งยกร่างโดยคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) มีมติควรใช้คำว่า “ข้าราชการมหาวิทยาลัย” แทนข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และให้แก้ไขกฎหมายองค์ประกอบ ได้แก่ คณะกรรมการบริหาร งานบุคคลประจำมหาวิทยาลัย (กบม.) คณะกรรมการวินัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย (กอม.) และคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งงานวิชาการ (กวม.) โดยให้ตัวแทน ปขมท. และปอมท. ร่วมเป็นกรรมการ ส่วนคำว่า “ตำแหน่งทางวิชาการ” จะครอบคลุมเฉพาะสาย ก ให้ตัด “ทาง” ออกเพื่อให้ครอบคลุมสาย ข-ค เพราะขณะนี้บางตำแหน่งต้องช่วยสอน และทำงานวิจัย จึงต้องมีทางสนับสนุนให้ก้าวหน้า นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งปขมท. และ ปอมท. จะนำข้อสรุปที่ได้เสนอทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีด้านการศึกษาก่อนที่จะเสนอต่อไปยัง สปศ. (มติชน พุธที่ 14 มีนาคม 2544 หน้า 11)





ศธ.ลุยเต็มสูบ ‘หลักสูตรไอที’ เชื่อม ‘สคูลเน็ต’ พื้นที่กันดาร

ลดช่องว่างนักเรียน ‘เมือง-ชนบท’ กระทรวงศึกษาฯ เดินเครื่องเร่งเติมหลักสูตรไอที เน้นลงมือทำ ลดช่องว่างนักเรียนในเมือง-ชนบท เชื่อมโยงโครงการสคูลเน็ต ลุ้นหน่วยงานการสื่อสารโทรคมนาคม วางสายโทรศัพท์เข้าโรงเรียนในพื้นที่กันดาร แฉตัวเลขเด็กไทยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง/100 คน ขณะที่เด็กสิงคโปร์ 2 คนต่อเครื่อง ฝันร.ร.ปรับการสอนในระบบนานาชาติ นายเกียรติศักดิ์ เสนไทย ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) กระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดหลักสูตรไอที ในระดับมัธยมศึกษาว่า นโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มที่และกระทรวงศึกษาฯเห็นว่า ไอทีมีความสำคัญต่อสังคมและมีประโยชน์อย่างมากในการค้นหาข้อมูล นายเกียรติศักดิ์ ได้กล่าวว่า ทางกระทรวงได้มีการวางแนวทางส่งเสริมการใช้ไอทีไปแล้วผ่านโครงการสคูลเน็ตซึ่งมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนของครูและนักเรียน โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงกับโรงเรียนทั่วประเทศห้าพันแห่ง ในระยะเวลาสี่ปี เริ่มจากโรงเรียนในความดูแลของกรมสามัญ สำหรับโรงเรียนในเครือของ สปช. (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ) ยังไม่ได้เชื่อมโยงเนื่องจากขาดความพร้อมในด้านบุคลากรเชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ และเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (มติชน ศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544 หน้า 11)





กรมสามัญรับเพียบล้านกว่าคนเปิดศูนย์ฮอตไลน์ปรึกษาปัญหา

นายวินัย วิไลลักษณ์ ผู้ตรวจราชการศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า นโยบายการรับนักเรียนปีนี้ เน้นความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เด็กพิการที่ต้องการเรียนร่วมกับเด็กปกติสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ทุกโรงเรียน หากโรงเรียนใดไม่สามารถรับได้ก็ต้องประสานกับสหวิทยาเขตที่ไกล้เคียงเพื่อดำเนินการจัดหาที่เรียนให้ นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษากล่าวว่า ปีนี้โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญฯ สามารถรับเด็กได้ทั้งหมด 1,050,000 คน แบ่งเป็น ม.1 รับ 580,000 คน ม.4 รับ 470,000 คน หลักการรับยังยึดแนวเดิม แต่มีประมาณ 300 โรงเรียนที่ดำเนินการจัดสอบ ทั้งนี้กรมสามัญฯเปิดศูนย์ฮอตไลน์โทร. 280-7955-59 เพื่อให้ข้อมูลการรับเด็กนักเรียนตั้งแต่บัดนี้จนถึง 14 พฤษภาคมนี้ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2544 หน้า 20)





สสวท. พิมพ์ตัวอย่างหนังสือชีวะ

ดร.นงนุช ชาญปริยวาทีวงศ์ รองผอ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยว่า สสวท.ได้จัดทำโครงการพัฒนาตัวอย่างหนังสือเรียนวิชาชีววิทยา เล่ม 1 ขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สถานศึกษา และพัฒนาคุณภาพการเรียนทางวิทยาศาสตร์ และกระบวนการสอนของครูในระดับมัธยมปลาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 44 นี้ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2544 หน้า 20)





‘ยกเลิก’ เด็ดขาดเด็กอนุบาลสอบเข้า ป. 1

สช.พร้อมรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนในปีการศึกษา 2544 กว่า 6 แสนคน และห้ามโรงเรียนสอบคัดเลือกเด็กเข้า ป.1 โดยให้พิจารณาตามคุณสมบัติ ความพร้อม และให้โอกาสนักเรียนพิการ เด็กด้อยโอกาส เข้าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในชั้นอนุบาล ให้ยกเลิกการสอบคัดเลือก และชั้น ป.1 ให้พิจารณารับตามคุณสมบัติของเด็ก พัฒนาการและความพร้อมของเด็ก ด้วยการสัมภาษณ์ การใช้สื่อ เกม กิจกรรมประกอบ ในการทดสอบความถนัด รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสังคมและชุมชน กำหนดโควตาพิเศษในการรับนักเรียน สำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนที่จะเรียนต่อในชั้นมัธยมต้นและปลาย ให้จัดสรรโควตา ร.ร.เอกชนด้วย ส่วนนักเรียนพิการที่จะเข้าเรียนในชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ได้จัดโครงการเรียนร่วมใน ร.ร.เอกชนทั่วประเทศ และร.ร.เฉพาะผู้พิการ 12 แห่ง ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ส่วนนักเรียนยากจนและด้อยโอกาส สมัครเข้าเรียนได้ใน ร.ร.เอกชนการกุศลของวัดในพุทธศาสนา 70 แห่ง ร.ร. เอกชนสอนศาสนาอิสลามของมัสยิดต่างๆ 31 แห่ง รวมทั้ง ร.ร. ศึกษาสงเคราะห์ 31 แห่ง โดยไม่เสียค่าเล่าเรียนเช่นกัน ส่วนการรับนักเรียนในระดับ ปวช.และปวส. ได้รับลดหย่อนค่าเล่าเรียน 1,400 บาท ต่อปี ส่วน ร.ร.นานาชาติ 58 แห่ง ใช้การทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์การประเมินสมัครเข้าเรียนได้ตลอดทั้งปี ผู้ปกครองสนใจติดต่อได้ที่สายด่วนการศึกษาเอกชน โทร. 1693 และ 628-7000 (ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2544 หน้า 9)





กศน. ใช้ระบบ IPM สอนวิชาชีพนักศึกษา

นายสวัสดิ์ ตี๋ชื่น รองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน เปิดเผยว่า การที่ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสุรินทร์ นำยุทธศาสตร์เผยแพร่ขบวนการเรียนรู้รูปแบบ IPM หรือ โครงการขยายผลปฏิรูปการศึกษาโดยวิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน มาสอดแทรกในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเสริมทักษะให้แก่ผู้เรียน ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องฝึกอาชีพที่สนใจคนละไม่น้อยกว่า 2 ทักษะ และกำหนดให้ยึดสาขาอาชีพการทำนาด้วยกระบวนการ IPM เป็นหลัก เท่าที่ทำมาประสบความสำเร็จดี (สยามรัฐ พุธที่ 14 มีนาคม 2544 หน้า 21)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


แจ้งเกิดโรงงานต้นแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์

ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า โรงงานต้นแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Thailand Micro Electronic Center (TMEC) ที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ใกล้เสร็จแล้ว การติดตั้งเครื่องจักรอยู่ระหว่างรออนุมัติเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าเปิดบริการได้ปลายปีหน้าเพื่อกระตุ้นนักออกแบบวงจร เนคเทคได้จัดประกวดการออกแบบวงจรรวมแห่งประเทศไทยครั้งที่ 2 ขึ้น และเปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มีนาคม 2544 ผู้สนใจขอรายละเอียดได้ที่ฝ่ายไตรภาคี เนคเทค โทร 644-8150-9 ต่อ 650-55 (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 มีนาคม 2544 หน้า 16)





มช.หนุนตั้งซอฟต์แวร์พาร์คเชียงใหม่

ผศ.ดร. นิพนธ์ ตุวานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยตั้ง “ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์” ขื้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้กับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชียงใหม่ หรือศูนย์เชียงใหม่ซอฟต์แวร์พาร์คแอนด์เทคโนโลยี พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา โดยตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยภายใน 10 ปี สำหรับศูนย์เชียงใหม่ซอฟต์แวร์พาร์คแอนด์เทคโนโลยีนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเฟสแรกได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 มีนาคม 2544 หน้า 16)





เปิดศูนย์รับจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ไทย

นายอาเธอร์ ชาง กรรมการผู้จัดการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เน็ตเวิร์ค โซลูชั่น อิงค์ เปิดเผยว่า บริษัทซึ่งเป็นหนึ่งใน Registrar เอกชนจาก 43 รายทั่วโลกที่ได้รับอนุญาตจากองค์กรรับจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์สากล ICANN โดยได้รับสัมปทานจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมภาษาท้องถิ่น 8 ปี เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ภาษาท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ได้แก่ ภาษาไทย พม่า ลาว เขมร จีน บังคลาเทศ ศรีลังกา(ทมิฬ) และเวียดนาม ผู้สนใจของจดชื่อ โดเมนเนมเป็นภาษาไทย สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thainic.net, www.inet.ac.th และ www.ksc.net โดยสามารถจดชื่อเว็บไซต์ได้ในตระกูล .com, .net และ .org. (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 มีนาคม 2544 หน้า 16)





พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทย

พิพิธภัณฑ์เภสัชกรรมไทยเป็นพิพิธภัณฑ์ทางยาของไทย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณต้นซอยสุขุมวิท 38 ภายในมีเรื่องราวหลายส่วน เช่น ประวัติต้นกำเนิด วิชาชีพเภสัชกรรมที่เริ่มมาจากพระฤาษีครูแพทย์ ครูดั้งเดิมของการแพทย์ไทย วิวัฒนาการเภสัชกรรมแผนตะวันออกและภูมิปัญญาพื้นบ้านในสมัยต่างๆ ได้แก่ ทวารวดีลพบุรี มีหินบดยา, รางและลูกกลิ้ง บดยาสมัยรัตนโกสินทร์, ประวัติโรงงานเภสัชกรรม. ข้อมูลตำราพระโอสถ, หมอหลวง, หมอราษฎร์, ตำราหมอนวดแผนโบราณ และมุมที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่ง คือ วิวัฒนาการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีตู้แสดงเครื่องยาไทยและจีนกว่า 200 ชนิด ผู้ที่สนใจจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นหมู่คณะ ทางสมาคมมีวิทยากรอธิบายให้ความรู้อย่างละเอียด (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2544 หน้า 27)





ปิดตำนานสถานีอวกาศเมียร์

สถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย ซึ่งมีกำหนดหมดอายุขัยในวันที่ 20 มีนาคม 2544 นี้ จะถูกบังคับให้ตกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ แนวชายฝั่งประเทศชิลี ยังไม่เป็นที่ยืนยันได้ว่า จะตกลงตามเป้าหมาย จะมีการศึกษาถึงการตกของสถานีอวกาศเมียร์ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อจะใช้เป็นบทเรียนแรกของสถานีอวกาศนานาชาติ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2544 หน้า 16)





ชี้โคลนนิ่งมนุษย์เสี่ยงพิการสูง

นาย จอห์น แม็คเบน ผู้อำนวยการฝ่ายศัลยกรรม โรงพยาบาลหญิงเมลเบอร์น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้กำเนิดเด็กในหลอดแก้ว (IVF) กล่าวว่า หลังจากที่ ศ.เซอรเวริโน่ อันติโนริ ชาวอิตาลี ซึ่งเคยสร้างชื่อเสียงด้วยการช่วยให้สตรีวัย 62 ปีตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตร กำลังเตรียมแผนที่จะทำการโคลนนิ่งมนุษย์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกว่า ผลจาการโคลนนิ่งสัตว์ทำให้เห็นได้ว่า อัตราความผิดปกติมีสูงมาก ดังนั้นอัตราความเสี่ยงต่อความผิดปกติในการโคลนนิ่งมนุษย์ ก็อาจสูงมากจนไม่เป็นที่ยอมรับได้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 มีนาคม 2544 หน้า 6)





“บู่แคระ” ปลาพันธุ์จิ๋ว มรดกโลกที่หมิ่นเหม่สูญพันธุ์

นายธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมงแจ้งข่างเรื่อง การค้นพบปลาพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งอยู่ในแหล่งน้ำของประเทศไทย ปลาดังกล่าวคือ ปลาบู่ขนาดเล็ก หรือปลาบู่แคระ เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงและแหล่งน้ำตามธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ผู้ค้นพบปลาสายพันธุ์ดังกล่าวคือ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการ 7 สถาบันพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง (ไทยรัฐ พุธที่ 14 มีนาคม 2544 หน้า 7)





คนเสียภาษีหายมึนเข้าเว็บช่วยคิดฟรี

บริษัทซิลค์สแปน จำกัด ได้ร่วมกับกรมสรรพากรเผยแพร่โปรแกรมการคำนวณภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.91 สามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.silkspan.com โปรแกรมดังกล่าวที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถคำนวณภาษีได้อย่างง่ายดายด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีมีความสะดวก ลดปัญหาความสับสนและลดความผิดพลาดในการกรอกแบบ ภ.ง.ด.91 (ไทยรัฐ พุธที่ 14 มีนาคม 2544 หน้า 9)





ข่าววิจัย/พัฒนา


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)แก่เกษตรกร: เครื่องปอกแห้ว

นายณัฐวุฒิ นฤนาท นายยงยุทธ ยาวิไชย และนายสิริชัย เผือกสวัสดิ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จาก ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพื่องานวิจัยทางวิศวกรรม (Center of Operation for Computer Aided Research Engineering) หรือ โคแคร์ (COCARE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีโดยมี ผศ. ดร. สุรเชษฐ์ ชุติมา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องปอกแห้ว จนได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์เพื่อการเกษตรปี 2544 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เครื่องปอกแห้วสามารถปอกแห้วได้อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการปอก 1,125 ลูกต่อชั่วโมง หรือประมาณ 125 กิโลกรัมต่อวัน คิดที่เวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพบว่าสามารถปอกแห้วได้เร็วกว่าคนถึง 3 เท่า แห้วที่ได้หลังการปอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก และมีขนาดเท่ากันทุกลูกเหมาะกับงานอุตสาหกรรม เปอร์เซนต์เนื้อแห้วที่ได้หลังจากการเจียนเปลือกที่เหลือออกแล้วจะมีเนื้อแห้วประมาณ 55 % ของน้ำหนักแห้วก่อนปอก ส่วนการปอกด้วยคนเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้วที่เหลืออยู่ประมาณ 60-65% ค่าใช้จ่ายสำหรับการสร้างเครื่องอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท (สยามรัฐ อังคารที่ 13 มีนาคม 2544 หน้า 20)





‘ไบโอเทค’ ผ่า 8 พันธุ์หายีนทนเค็ม เร่งปรับปรุง ‘ข้าว’ ช่วยชาวนาอีสาน

นายเฉลิมพล เกิดมณี ผู้จัดการห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเซลล์พืชศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้พื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพสูง โดยเฉพาะข้าวหอมนั้น 90% จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 70% ในจำนวนนี้จะอยู่ในพื้นที่ดินเค็ม ข้าวที่ได้เป็นข้าวที่มีคุณภาพสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็ให้ผลผลิตต่ำมากเช่นเดียวกันคือ ได้เพียงแค่ 50 ถังต่อไร่ ไบโอเทคจึงได้พยายามหาทางปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยนำข้าวคุณภาพทนเค็ม 8 ชนิดคือ ข้าวขาวดอกมะลิ ข้าวเหลืองแตงโม ข้าวแดงดอกกก ข้าวพีทีที ข้าวไออาร์.5882 ABHAYA FR13A และ NSG19 มาเป็นข้าวต้นแบบ ในการศึกษาหากลไกการเจริญเติบโตของข้าวเหล่านี้ ว่ามียีนป้องกันตัวเองจากความเค็มของดินได้อย่างไร นักวิจัยได้ศึกษาเรื่องนี้ไปแล้ว 20% คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีจะแล้วเสร็จ (มติชน ศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ระบุกินวิตามินซีมากต้านโรคร้าย-อายุยืน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผลการวิจัยล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ บ่งชี้ว่า นอกจากการออกกำลังการเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การไม่สูบบุหรี่ และควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว การรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีเพิ่มมากขึ้น ยังช่วยให้ผู้คนห่างไกลจากโรคร้ายดังกล่าวได้เช่นกัน นักวิจัยระบุด้วยว่า นอกจากการกินวิตามินซีจะมีสรรพคุณในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายในยามมีอาการไข้และเป็นหวัดแล้ว วิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซีเดนต์ ซึ่งจะช่วยขจัดของเสียในร่างกายอีกด้วย (มติชน ศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


พงศกรสั่งยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ

นายพงศกร เลาหวิเชียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กรมการขนส่งทางบก ให้เร่งกฎหมายที่ยังคั่งค้าง เช่น กฎหมายจัดประมูลหมายเลขทะเบียนสวย กฎหมายเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ รวมทั้งกฎหมายยกเลิกการบังคับใช้ฟิล์มกรองแสง เพื่อลดข้อครหาต่างๆ (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 15 มีนาคม 2544 หน้า 36)





เตือนอย่างเชื่อใจ! ผักปลอดสารพิษแนะล้างก่อนกิน

น.พ.เสรี หงส์หยก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลได้ศึกษาปัญหาสารพิษตกค้างจากผักที่ประชาชนรับประทานในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2543 โดยได้สุ่มตัวอย่างผักสดและผักที่ติดป้าย ผักปลอดสารพิษจากตลาด และห้างสรรพสินค้าในเขตจ.นนทบุรี ผลการทดลองพบว่า มีสารพิษตกค้างในผักเกินความปลอดภัย 6 ชนิด อีก 2 ชนิด ไม่พบสารพิษเลย แสดงให้เห็นว่าการล้างผักด้วยน้ำธรรมดาก็สามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างในผักได้ (มติชน พุธที่ 7 มีนาคม 2544 หน้า 7)





ร.พ.อุบลฯปลื้มคนแห่ใช้ห้องสมุด-เปิดบริการเพิ่ม

น.พ.กวี ไชยศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากการที่ โรงพยาบาลได้ทำโครงการพัฒนาห้องสมุด เปิดโอกาสให้คนนอก นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเข้ามาใช้บริการนั้น ปรากฏว่า มีผู้เข้ามาใช้บริการถึงวันละ กว่า 2,000 คน ทางโรงพยาบาลจึงพยายามปรับปรุงรูปแบบการบริการให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้ใช้และให้ครบวงจรมากขึ้น น.พ.กวี กล่าวว่า ขณะนี้มีบริการใหม่ที่จะให้กับคนไข้ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลคือ ช่วงเวลา 10.00 น. จะมีเจ้าหน้าที่นำรายการหนังสือไปให้คนไข้และญาติถึงตึก และในช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ก็จะจัดหนังสือตามที่สั่งให้ (มติชน ศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544 หน้า 7)





มหันตภัยเงียบจากฝุ่นหิน

โรคปอดจากฝุ่นหรือโรคซิลิโคลิส เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานโม่หิน ขัดทราย ทำเครื่องเซรามิก ทำเหมืองแร่ ทำครก ฯลฯ ซึ่งในระยะแรกแพทย์ทั่วไปมักไม่สามารถวินิจฉัยได้ เนื่องจากลักษณะฟิล์มเอ็กซเรย์ในระยะแรกจะเหมือนหรือคล้ายกับวัณโรคปอดซึ่งมีชุกชุมกว่า โรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ขณะนี้ผู้บริหารของหน่วยงานรัฐ 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกันจับมือควบคุมและป้องกันโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเริ่มควบคุมและลดฝุ่นในโรงงานโม่หิน การตรวจวัดระดับของฝุ่น และการตรวจสุขภาพคนงาน รวมทั้งการรณรงค์ให้คนงานได้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น (มติชน อาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2544 หน้า 6)





ฝรั่งเศสตะลึงค้นพบแมมมอธพันธุ์ใหม่

เอเอฟพี รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสประกาศว่า ได้ค้นพบแมมมอธพันธุ์ใหม่ที่แหล่งขุดค้น โรแมง ลา โรช ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝรั่งเศส นายปาทริค โปบ หัวหน้าคณะทีมสำรวจ เปิดเผยว่า ซากชิ้นส่วนกว่า 325 ชิ้นที่ค้นพบนั้น มีลักษณะผสมของวูลลี่ แมมมอธ และอิมพีเรียล แมมมอธ จึงทำให้เชื่อว่า น่าจะเป็นซากของแมมมอธพันธุ์ใหม่ เนื่องจากซากแมมมอธที่พบมีอายุในช่วงเวลาที่ต่างไป และมีฟันแตกต่างจากแมมมอธกันสองชนิด กระดูกขาอ่อนมีความยาวถึง 51 นิ้ว (มติชน ศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215