|
หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 17 ประจำวันที่ 2001-04-24
ข่าวการศึกษา
ทปอ.เตรียม 2 เรื่องใหญ่ ขอความชัดเจนจากนายกฯ ทบวงฯเชิดชูครูแผ่นดิน ไม่ให้ภูมิปัญญาสูญหาย อาจารย์มหาลัยครวญยังมืดแปดด้านกับกระบวนการประกันคุณภาพมหาลัย The plague of plagiarism อาชีวะเปลี่ยนนโยบายให้จัดรับน้อง มีเงื่อนไขครูอาจารย์ร่วมกิจกรรมด้วย อาชีวะ ทัพบกไล่ยาบ้า
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
9 มหา ลัยปลุกสำนึกรณรงค์เซฟพลังงาน ชี้สารเคมีตกค้างในข้าวปลอดสารพิษ หนุนใช้ปุ๋ยหมัก5-10 ปีช่วยเจือจางดิน Traditional phone enters Internet World
ข่าววิจัย/พัฒนา
ไทยเจ๋งคิดเครื่องชี้เป้าฉายมะเร็งราคาถูก ถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จ สกัด แบคทีเรียกินเนื้อคน พบเชื้อ ไวรัส ทำลายดีเอ็นเอ-เกิดอาการป่วยทางจิต งานวิจัยยัน พื้นที่สีเขียว ช่วยลดอุณหภูมิ
ข่าวทั่วไป
ภัยสเปรย์ฉีดผมผสม สารไวไฟ อ่านคู่มือก่อนใช้ สวนผลไม้สาธารณะแห่งแรก..ที่พักผ่อนคลายร้อนในเมืองกรุง รังนกปลอมทั่วเมืองใช้ไม้ยางต้มเหมือนจริง กทม.ทำสวนผีเสื้อแห่งแรกที่สวนรถไฟ-ไว้ทัศนศึกษา จัดพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นแหล่งสร้างงาน
ข่าวการศึกษา
ทปอ.เตรียม 2 เรื่องใหญ่ ขอความชัดเจนจากนายกฯ
รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ทปอ. และทบวงฯ ได้เตรียมประเด็นที่จะเสนอต่อที่ประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการศึกษา 2 เรื่อง คือ 1.การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย 2.การพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับการส่งเสริมงานวิจัย เพื่อให้รัฐบาลรับประกันว่า จะสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าเดิม เพราะหากไม่มีสัญญาจากรัฐบาล ชาวมหาวิทยาลัยก็คงไม่มีความมั่นใจที่จะปรับเปลี่ยนสถานภาพได้ทันในปี 2545
(เดลินิวส์ พุธที่ 18 เมษายน 2544 หน้า 12)
ทบวงฯเชิดชูครูแผ่นดิน ไม่ให้ภูมิปัญญาสูญหาย
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงฯ จะจัดโครงการ เชิดชูครูแผ่นดินศิลปินแห่งชาติ โดยจะเชิญผู้ที่ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ มาเป็นอาจารย์พิเศษ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ผลงานที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านให้แก่นักศึกษา และจะขอให้ศิลปินแห่งชาติบันทึกองค์ความรู้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อมอบให้มหาวิทยาลัยจัดทำเป็นหนังสือบทเรียน หรืออาจบันทึกลงในสื่อวิดีทัศน์ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 เมษายน 2544 หน้า 10)
อาจารย์มหาลัยครวญยังมืดแปดด้านกับกระบวนการประกันคุณภาพมหาลัย
รศ.ดร. ศักดิ์ชัย นิรัญทวี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า เรื่องของการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัย ยังไม่มีความชัดเจนในทุกๆ ด้าน การทำงานของแต่ละหน่วยงานก็เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ และถ้าจะมีการประเมินก็ไม่รู้ว่าจะประเมินกันที่ระดับใด ถึงแม้ว่าจะมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็ทำหน้าที่แค่การตรวจเยี่ยม หรือตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่การประเมินคุณภาพที่แท้จริง
(เดลินิวส์ อังคารที่ 17 เมษายน 2544 หน้า 12)
The plague of plagiarism
จากการที่นักศึกษาสามารถค้นหาข้อมูล ข่าวสารต่างๆ บน Internet ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทำให้การคัดลอกข้อมูลโดยวิธีการตัด (Cut) และปะ (Paste) ได้รับความนิยมมาก ซึ่งนักศึกษานำมาใช้ในการทำรายงานโดยการคัดลอกข้อมูลจาก Web Site ต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน โดยไม่ได้อ้างถึงแหล่งที่คัดลอกมาซึ่งถือว่าเป็นการขโมยความคิด (Plagiarism) คนอื่น ฉะนั้นอาจารย์ผู้สอนจักต้องตระหนักถึงปัญหานี้ และต้องเน้นให้นักศึกษาอ้างอิงถึงแหล่งของข้อมูลที่ได้คัดลอกมา อย่างไรก็ตามมี Web sites 2 แห่งที่จะช่วยอาจารย์ในการติดตามว่า นักศึกษาคนใดคัดลอกข้อมูลมาจาก Internet บ้าง Web site แรกคือ Plagiarism.org ซึ่งได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า anti-cheating device ซึ่งจะทำการรวบรวมเอกสารวิชาการต่างๆ ไว้เพื่อตรวจสอบ อาจารย์ผู้ใดสนใจจะใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 900 บาทต่อหนึ่งวิชา ส่วนอีก Web Site หนึ่งชื่อ Plagiarized.com ก็ให้ความช่วยเหลืออาจารย์ในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลที่คัดลอกมาเช่นเดียวกัน
(Nation : Byteline, Tuesday, April 17, 2001, p.F-F2.)
อาชีวะเปลี่ยนนโยบายให้จัดรับน้อง มีเงื่อนไขครูอาจารย์ร่วมกิจกรรมด้วย
นายจรูญ ชูลาภ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2544 กรมอาชีวศึกษาได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการรับน้องใหม่จากเดิมที่ไม่ให้จัดกิจกรรมรับน้องเลย อนุญาตให้นักศึกษาจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ในสถานศึกษาได้ โดยมีครูและผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อให้ความรู้ในการเตรียมตัวเรียนแก่น้องใหม่ และชักจูงให้มีพฤติกรรมที่ดี ถ้าหากรุ่นพี่ฝ่าฝืนไปจัดรับน้องใหม่นอกสถานที่แล้วเกิดเหตุร้ายแรง รุ่นพี่จะถูกลงโทษอย่างหนัก และจะแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษาผู้ก่อเหตุด้วย
(เดลินิวส์ อังคารที่ 17 เมษายน 2544 หน้า 12)
อาชีวะ ทัพบกไล่ยาบ้า
นายจรูญ ชูลาภ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า กรมอาชีวศึกษาได้จัดทำโครงการใหญ่ 2 โครงการเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา 400 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยโครงการแรกเป็นการร่วมมือกับกองทัพบก จัดโครงการ ค่ายยุวชนต้านภัยยาเสพย์ติด นำนักเรียนกว่า 4,000 คนในระดับ ปวช. ปวส. เข้าค่ายอบรมความรู้ด้านการป้องกันยาเสพย์ติด ในวันที่ 12 ส.ค. นี้ ซึ่งกรมอาชีวะได้จัดงบปี 2544 ประมาณ 4 แสนกว่าบาท ไว้สนับสนุนโครงการดังกล่าว ส่วนโครงการที่สองเป็นการบำบัดรักษานักเรียนอาชีวศึกษาที่ติด หรือเสพยา โดยกรมฯ จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการใช้สถานที่ของโรงพยาบาลธัญลักษณ์เป็นค่ายบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพให้เด็กอาชีวะที่ติดยา ทั้งหมด 1,680 คน ซึ่งในระหว่างนี้จะมีการสอนและฝึกอาชีพให้แก่เด็กด้วย
(สยามรัฐ พุธที่ 18 เมษายน 2544 หน้า 16)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
9 มหา ลัยปลุกสำนึกรณรงค์เซฟพลังงาน
นายภิรมณ์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนสถาบันระดับอุดมศึกษา 9 แห่ง ร่วมรณรงค์ประหยัดพลังงาน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นิสิต นักศึกษาตลอดจนครู อาจารย์ ร่วมมือในการลดปริมาณการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการคิดค้นวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสถาบันตนเองมาใช้ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำความรู้และวิธีประหยัดพลังงานไปเผยแพร่ ถ่ายทอด ขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียง สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ วิทยาเขตรังสิต และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ทั้ง 9 สถาบันจะได้รับงบประมาณสนับสนุนกว่า 5 แสนบาท ในการจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน
(สยามรัฐ ศุกร์ที่ 20 เมษายน 2544 หน้า 20)
ชี้สารเคมีตกค้างในข้าวปลอดสารพิษ หนุนใช้ปุ๋ยหมัก5-10 ปีช่วยเจือจางดิน
นายธวัชชัย โตสิตระกูล ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนเกี่ยวกับข้าวปลอดสารพิษกรณีศึกษากลุ่มเกษตรกรทำนา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโครงการเคยนำข้าวที่เกษตรกรในโครงการเกษตรทางเลือก ซึ่งปลูกข้าวปลอดสารพิษจำนวน 9 ชนิด ไปให้กองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร ตรวจปริมาณสารพิษตกค้างพบว่า ข้าวปลอดสารพิษทุกชนิดที่ส่งไปตรวจสอบมีสารอันตรายประเภทออร์กาโนคลอรีน เช่น ดีดีทีดิวดรินท์ตกค้างอยู่ อย่างไรก็ตามสารพวกนี้ยังมีไม่มากพอที่จะก่อให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายได้ ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้มากนัก สำหรับวิธีการกำจัดสารพิษตกค้างในดินให้เร็วที่สุดคือ จะต้องหยุดใช้สารเคมีสำหรับพืชทุกชนิด และหันมาใช้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดแทนภายในระยะเวลา 5-10 ปี สารพิษในดินจะค่อยๆ เจือจางและหมดไป
(มติชน เสาร์ที่ 14 เมษายน 2544 หน้า 7)
Traditional phone enters Internet World
ขณะนี้ได้มีเทคโนโลยีรวมบริการโทรศัพท์ และ Internet เข้าด้วยกัน ออกมาเป็นบริการตัวใหม่ที่เรียกว่า Unified Messaging Systems (UMS) ซึ่งผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องมี PC ในการรับ e-mail แต่สามารถรับ e-mail ที่ส่งมาทาง Internet ผ่านโทรศัพท์หรือเครื่องรับ ส่ง fax ได้ UMS นี้สามารถรับเสียง แฟ๊กซ์ และข้อความในฐานะที่เป็น วัตถุที่อยู่ในกล่องเดียวกัน บริการนี้สามารถใช้ได้ทั่วประเทศ โดยเสียค่าบริการ 3 บาท บริษัท Velocall ซึ่งเป็น ISP หนึ่งของ USM กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ใช้บริการนี้อยู่ประมาณ 1,000 คน ผุ้สนใจสามารถทดลองใช้บริการฟรีได้ที่ www.velocall.com แล้วยังมี ISP อื่นๆ อีกที่ให้บริการ UMS เช่น MailRus.com, Tnengineering.com, T2Mail.com และ 2bSure.com
(Nation : Byteline, Tuesday, April 17, 2001, P.F3.)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ไทยเจ๋งคิดเครื่องชี้เป้าฉายมะเร็งราคาถูก
นายเสนีย์ ร่ารื่น นักรังสีการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ประดิษฐ์เครื่องมือช่วยจัดตำแหน่งการฉายรังสีมะเร็งเต้านม ซึ่งผลที่ได้มีความแม่นยำกว่าเดิมมาก ค่าใช้จ่ายประมาณเครื่องละ 3,000 บาท ใช้เวลาสร้าง 180 ชั่วโมง เครื่องมือชิ้นนี้ได้รับรางวัลดีเด่นสาขาฟิสิกส์ จากการประชุมวิชาการประจำปีสมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทยครั้งที่ 12 ประจำปี 2544
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 เมษายน 2544 หน้า 16)
ถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จ สกัด แบคทีเรียกินเนื้อคน
นายโยเซฟ เฟอร์เร็ตติ นักชีววิทยาด้านโมเลกุล ซึ่งเป็นแกนนำในโครงการนี้ เปิดเผยว่า แบคทีเรียสเร็พ เอ ตัวนี้เป็นแบคทีเรียตัวที่สองแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัสสารพันธุกรรมของมันออกมาได้สำเร็จ ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของผลงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร National Academy of Sciences และเว็บไซต์ www.pnas.org
(มติชน เสาร์ที่ 15 เมษายน 2544 หน้า 6)
พบเชื้อ ไวรัส ทำลายดีเอ็นเอ-เกิดอาการป่วยทางจิต
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการศึกษาของทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ในเมืองบัลติมอร์ ของสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าการที่เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายรหัสทางพันธุกรรมบางส่วนของมนุษย์ อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการป่วยทางจิต ประเภทตัดขาดจากสิ่งแวดล้อม หรือมีบุคลิกภาพแตกแยก จากการศึกษากับกลุ่มผู้ป่วยพบเชื้อรีโทรไวรัสจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยดังกล่าว เชื้อไวรัสบางตัว เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัด สามารถรุกรานเซลล์มนุษย์และขยายพันธุ์ในเซลล์ จากนั้นก็จะทำให้เซลล์อื่นๆ ติดเชื้อไปด้วย เชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง นับเป็นตัวอย่างของเชื้อรีโทรไวรัส อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยล่าสุดนี้ นักวิจัยคาดหวังที่จะพบแนวทางในการรักษาอาการป่วยทางจิตในลักษณะดังกล่าว
(มติชน เสาร์ที่ 15 เมษายน 2544 หน้า 6)
งานวิจัยยัน พื้นที่สีเขียว ช่วยลดอุณหภูมิ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (วช.) แจ้งว่า วช.ได้สนับสนุนให้ น.ส.กฤษณา กฤษณพุกต์ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับอิทธิพลของพื้นที่สีเขียวที่มีต่อสภาพในเขตเมือง เพื่อที่จะศึกษาว่า พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองจะมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในเมืองจริงหรือไม่ ผลการวิจัยพบว่า หากพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สีเขียวกับภูมิอากาศ ปรากฏว่า มีความชัดเจนว่าบริเวณใดที่เป็นพื้นที่สีเขียวจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงอุณหภูมิต่ำ แต่ในบริเวณที่มีการก่อสร้างจะมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ และอุณหภูมิค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจจะเป็นผลมาจากพื้นที่สีเขียวสามารถดูดซับอากาศ และคายความร้อนทำให้อากาศเย็นได้ดีกว่า หากมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสภาพแวดล้อมได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังจะสามารถลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
(มติชน เสาร์ที่ 15 เมษายน 2544 หน้า 6)
ข่าวทั่วไป
ภัยสเปรย์ฉีดผมผสม สารไวไฟ อ่านคู่มือก่อนใช้
นายนิตยา จันทร์เรือง มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สเปรย์ฉีดผมติดไฟได้ง่าย เนื่องจากมีส่วนผสมของสารไวไฟในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน จึงขอเตือนผู้นิยมใช้สเปรย์รวมทั้งช่างเสริมสวยให้ระมัดระวังอันตราย ผู้ใช้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากที่ติดอยู่ข้างขวดอย่างเคร่งครัด ขณะใช้ควรงดการสูบบุหรี่ หรือจุดไฟเพื่อติดบุหรี่ เนื่องจากเปลวไฟจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับสเปรย์
(มติชน เสาร์ที่ 14 เมษายน 2544 หน้า 7)
สวนผลไม้สาธารณะแห่งแรก..ที่พักผ่อนคลายร้อนในเมืองกรุง
สวนอนุรักษ์ไม้ผลเฉลิมพระเกียรติตลิ่งชัน ถือเป็นสวนสาธารณะที่เป็นไม้ผลแห่งแรกในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ติดกับสำนักงานเขตตลิ่งชัน และตลาดน้ำตลิ่งชัน มีเนื้อที่ 20 ไร่เศษ จุดเด่นของสวนผลไม้นี้คือ การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ผลดั้งเดิมที่คนรุ่นหลังอาจไม่เคยเห็น ต้องการให้เป็นแหล่งวิทยาทาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งจำหน่ายพันธุ์ไม้แห่งใหม่ด้วย สวนนี้ได้เปิด เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2544
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 13 เมษายน 2544 หน้า 26)
รังนกปลอมทั่วเมืองใช้ไม้ยางต้มเหมือนจริง
ภ.ญ. ฉันทนา จุติเทพารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปปลอม ซึ่งทำจากยางไม้คารายากัม เป็นยางไม้จากต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ แต่จะดูดน้ำทำให้พองตัวเป็นวุ้น มีลักษณะขุ่น เมื่อนำมาต้มจะมีลักษณะคล้ายรังนกนางแอ่น จึงเตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อ
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 14 เมษายน 2544 หน้า 26)
กทม.ทำสวนผีเสื้อแห่งแรกที่สวนรถไฟ-ไว้ทัศนศึกษา
นายทวีศักดิ์ เดชเดโช รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า กทม.จะทำสวนผีเสื้อในกรุงเทพฯ ที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักอนุรักษ์สัตว์และแมลง รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในวงจรชีวิต ถือได้ว่าเป็นสวนผีเสื้อแห่งแรกในกรุงเทพฯ ซึ่งที่เชียงใหม่และภูเก็ตมีแล้ว
(เดลินิวส์ อังคารที่ 17 เมษายน 2544 หน้า 34)
จัดพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นแหล่งสร้างงาน
นายยืนหยัด ใจสมุทร รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและจัดกรรมสิทธิ์ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การทางพิเศษฯ สำรวจพื้นที่ใต้ทางด่วนเตรียมจัดพื้นที่ให้ผู้ยากจนและมีรายได้น้อย ใช้เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่จะเร่งรัดขจัดปัญหาความยากจนของคนในเขตเมือง ได้พิจารณาพื้นที่ใต้ทางด่วนในซอยศาสนา ซึ่งมีถึง 20 ไร่ โดยให้เช่าในราคาถูก
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 16 เมษายน 2544 หน้า 30)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|