หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 21 ประจำวันที่ 2001-05-29

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯตะลึงยอดรวมสละสิทธิเอนทรานซ์12,296 คน เผยมหา’ลัยดังเริ่มกระบวนการลงดาบเด็กเรียนควบ
ม.ศรีปทุมยกเครื่องอินเตอร์เน็ตรับอี-เลิร์นนิ่ง

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

วันสากลความหลากหลาย
คนไทยดูดาวอังคารได้ด้วยตาเปล่า
แจ้งเกิด Science Park เมืองไทยชาตินี้ได้เห็นแน่
มอบปตท.รับสูตรผลิตไบโอดีเซล
ไมโครเวฟอินเตอร์เน็ต
พบลูกติดลับสุริยจักรวาลอยู่ห่างไกลถึงปลายขอบ

ข่าววิจัย/พัฒนา

หม้อหุงข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ฝีมือคนไทย
ฐานข้อมูลสมุนไพร
เครื่องปรับอากาศอินเตอร์เน็ต
วิจัยได้เทคนิคขับรถแบบประหยัดน้ำมัน
ม้าหลอดแก้ว
วศ.เจ๋งผลิตดอกไม้เซรามิก
เอ็มเทคหนุนเอกชน
กินแอปเปิ้ลมะเขือเทศบำรุงปอดให้แข็งแรง

ข่าวทั่วไป

ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐเป็นพิษ แพร่โรคให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย
กทม.ทุ่ม 60 ล้านซื้อเรดาร์ใช้เอง หวังรับมือแก้น้ำท่วมได้ทันท่วงที
ใช้บิลใบเดียวกันเริ่มได้ภายในปีนี้
ฝ่ายโภชนาการเจ้าจำปีปลื้ม ได้รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯตะลึงยอดรวมสละสิทธิเอนทรานซ์12,296 คน เผยมหา’ลัยดังเริ่มกระบวนการลงดาบเด็กเรียนควบ

ทบวงมหาวิทยาลัยได้แจ้งว่ามีผู้ไม่ผ่านการสัมภาษณ์และผู้สละสิทธิการสอบเอนทรานซ์ 12,296 คน หรือร้อยละ 24 ของเด็กที่ผ่านการสอบข้อเขียน โดยแยกเป็นสถาบันอุดมศึกษาขอถอน 6,293 คน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 5,326 คน และสังกัดอื่นๆ 677 คน สำหรับเด็กที่ผ่านการสอบข้อเขียนโดยใช้วุฒิ กศน. จำนวน 859 คนแต่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ 522 คน สำหรับ 337 คนที่หายไปไม่ทราบว่าเป็นผู้ที่ใช้วุฒิที่เป็นโมฆะมาสมัครหรือไม่ สำหรับผู้สมัครที่ใช้วุฒิ กศน. สถานศึกษาหลายแห่งกำลังรอนโยบายของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประทศไทย (ทปอ.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป (เดลินิวส์ พุธที่ 23 พฤษภาคม 2544 หน้า12)





ม.ศรีปทุมยกเครื่องอินเตอร์เน็ตรับอี-เลิร์นนิ่ง

นางรัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงระบบอินเตอร์เน็ตภายในมหาวิทยาลัยใหม่ด้วยมูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อรองรับการเรียนการสอน แบบอี-เลิร์นนิ่ง โดยเปลี่ยนแบ็คโบนที่เป็นเส้นใยแก้วนำแสง แบบ 100 เมกะบิตต่อวินาที มาเป็น 1,000 เมกะบิตต่อวินาที พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์ที่มีความเร็วสูง เชื่อมต่อทั้งในมหาวิทยาลัยและวิทยาเขตเข้าด้วยกัน (เดลินิวส์ อังคารที่ 22 พฤษภาคม 2544 หน้า 16)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


วันสากลความหลากหลาย

วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปีประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) หัวข้อสำหรับปีนี้คือ “ความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน” ซึ่งปัญหาการรุกรานจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิง และยังอาจทำให้พืชบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่หรือโลกได้ ความจริงปัญหานี้ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเองได้มีการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการอนุสัญญว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเป็นฝ่ายเลขานุการ ได้แต่งตั้งคณะทำงานชีวินทรีย์ต่างถิ่นในประเทศไทยมาตั้งแต่ 23 มกราคม 2539 เพื่อรวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของประเทศไทย และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางมาตรการควบคุมและป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คณะทำงานได้มีการจัดประชุมหารือและยกร่างแผนการดำเนินงาน รวมทั้งรวบรวมบัญชีรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทยกว่า 5,000 ชนิด (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2544 หน้า 32)





คนไทยดูดาวอังคารได้ด้วยตาเปล่า

น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.นี้ เป็นต้นไป ทั่วโลกสามารถเห็นดาวอังคารด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนที่สุดในรอบ 15 ปี เนื่องจากโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกมากที่สุด สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ 3ทุ่มเป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้โดยอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวแมงป่องมีสีแดงสดใสไม่กระพริบ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2544 หน้า 19)





แจ้งเกิด Science Park เมืองไทยชาตินี้ได้เห็นแน่

ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึง ความคืนหน้าของโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยหรือ Science Park ว่า ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ ศูนย์ไอโอเทค ศูนย์เอ็มเทค ศูนย์เนคเทค ศูนย์ทั้ง 3 แห่งชาตินี้ เตรียมย้ายที่ทำการใหม่ไม่เกินสิ้นปี อุทยานวิทยาศาสตร์นี้ตั้งอยู่ระหว่าง ม.ธรรมศาสตร์รังสิต และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจร และสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาใช้บริการทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรที่จัดเตรียมไว้ให้โดยเก็บภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2544 หน้า 16)





มอบปตท.รับสูตรผลิตไบโอดีเซล

พ.ต.ท. ทักษิน ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมการศึกษาไอโอดีเซลเพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ และลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศว่า ได้มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไบโอดีเซล และมอบให้กรมการทะเบียนการค้ากำหนดมาตรฐานส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลให้ถูกต้องตามกฎหมาย และที่ประชุม ปตท. เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรียกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันไอโอดีเซล 10% และยกเว้นการจ่ายเงินเข้ากองทุนเชื้อเพลิงและกองทุนอนุกรักษ์พลังงานจำนวน 54 สตางค์ต่อลิตร นอกจากนี้ได้สั่งให้องค์การคลังสินค้าระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าวออกต่างประเทศ โดยให้นำมาขายกับ ปตท. (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2544 หน้า 9)





ไมโครเวฟอินเตอร์เน็ต

บริษัท แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด เปิดตัวเตาไมโครเวฟอินเตอร์เน็ต รุ่น M-G270IT และไมโครเวฟอินเวอร์เตอร์ รุ่น M-M270IV คุณสมบัติพิเศษของเครื่องแรกสามารถเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมสูตรอาหารที่มีอยู่มากถึง 110 รายการจากเว็บไซต์ www.dreamig.com ได้ พร้อมทั้งมีอุปกรณ์สนับสนุนการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ต เช่น จอวินโดว์ แอลซีดีขนาดใหญ่ 80 x 52.2 มม. ส่วนเครื่องหลังสามารถปรับรสชาติอาหารให้เป็นธรรมชาติได้ดีที่สุดโดยใช้เทคโนโลยีคลื่นไฟฟ้า 5 ระดับ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





พบลูกติดลับสุริยจักรวาลอยู่ห่างไกลถึงปลายขอบ

นักดาราศาสตร์ของหอดูดาวอริโซนาของสหรัฐอเมริกา ได้พบดาว “วรุณ” เมื่อสำรวจแถบดาวเคราะห์น้อย ปลายชายขอบของสุริยจักรวาล แต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลายมันมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 900 กม. สั้นกว่าดวงจันทร์ “ชารอน” บริวารของดาวพลูโต ดาวเคราะห์ดวงปลายสุดซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,200 กม.เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การพบดาววรุณ นับเป็นการยืนยันที่เคยมีนักดาราศาสตร์ชื่อโคลด์ ทอมโบ ของสหรัฐฯ สงสัยว่าจะต้องมีดาวเคราะห์ลึกลับดวงอื่นอีกเมื่อตอนที่เขาค้นพบดาวพลูโต ใน พ.ศ. 2473 (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


หม้อหุงข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ฝีมือคนไทย

กลุ่มอาจารย์สาขาเทคโนโลยีพลังงาน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิจัยและพัฒนาหม้อหุงข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จ โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง และได้จดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งสามารถหุงข้าวได้สวยเหมือนหม้อหุงข้าวไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีเตาปิ้งอาหารจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 24 พฤษภาคม 2544 หน้า 12)





ฐานข้อมูลสมุนไพร

ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงนักวิจัยที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรได้ใช้ค้นหาข้อมูล ฐานข้อมูลนี้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสมุนไพร ข้อมูลทุนวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร ตำรับสมุนไพรและรายงานการวิจัย คาดว่าอีก 2 ปีจึงจะเสร็จ ผู้ที่สนใจข้อมูลสามารถไปค้นหาข้อมูลได้ที่สภาวิจัย ในเบื้องต้นยังไม่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเพราะยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือจากประชาชนที่มีบันทึกเกี่ยวกับตำรายาและต้องการให้เก็บลงฐานข้อมูลนี้ สามารถติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือที่สภาวิจัย หรือติดต่อที่ รศ.รุ่งระวี เต็มศิรฤกษ์กุล โทร 644-8677 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2544 หน้า 32)





เครื่องปรับอากาศอินเตอร์เน็ต

บริษัทแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ อิงค์ ประเทศเกาหลี เปิดตัวเครื่องปรับอากาศอินเตอร์เน็ตรุ่นใหม่ล่าสุด WHISEN ใช้เวลาวิจัยนานถึง 3 ปี ลงทุนพัฒนากว่า 5,000 ล้านวอน ใช้พอร์ทสื่อสาร RC2320 และเบราเซอร์อินเตอร์เน็ต (I-Cable Operation Program) ผู้ใช้สามารถเชื่อมโยงเครื่องปรับอากาศเข้าพีซี โดยใช้สายที่อยู่ในเครื่องแล้วเข้าเว็บไซต์ของแอลจีอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อไม่อยู่บ้านก็ควบคุมการทำงานของเครื่องผ่านอินเตอร์เน็ต หากเครื่องทำงานผิดปกติ ก็มีฟังก์ชันวิเคราะห์ระบบแล้วเชื่อมโยงกับโฮมเพจศูนย์บริการ การทำงานทุกระบบควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2544 หน้า 16)





วิจัยได้เทคนิคขับรถแบบประหยัดน้ำมัน

นักวิจัยของสวีเดน ได้พบในการศึกษาว่า คนทั่วไปมักคิดกันว่า การขับรถช้าๆ ช่วยประหยัดน้ำมัน ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง หากแต่การขับรถที่ถูกจังหวะต่างหากจึงจะช่วยให้ประหยัดน้ำมันได้อย่างแท้จริงที่ เขาได้คิดพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยบอกเตือนผู้ขับรถยนต์ให้รู้เทคนิคในการขับขี่ อุปกรณ์นั้นจะช่วยคอยแนะนำ ปรากฏข้อความบนจอหน้าปัด เช่น ให้เปลี่ยนเกียร์ 2 ขึ้นเป็นเกียร์ 3 ให้เร่งความเร็วขึ้นอีก หรือให้ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องแตะเบรกบ่อยๆ จากการศึกษาพบว่า หากขับรถตามคำแนะนำดังกล่าว จะสามารถประหยัดน้ำมันได้มากถึงร้อยละ 16 ทีเดียว (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





ม้าหลอดแก้ว

ศาสตราจารย์ ทวิงค์ แคลเลน นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าโครงการหน่วยเพาะพันธุ์ม้า เมืองนิวมาร์เก็ต กล่าวว่า เป็นอีกก้าวหนึ่งของการปรับหน่วยถ่ายพันธุกรรมในห้องทดลองเพื่อให้ได้ม้าที่ดีขึ้น เทคนิคดังกล่าวนำเอาไข่จากรังไข่ของม้าออกมาเลี้ยงให้โตขึ้นในห้องทดลองเป็นเวลา 8 วัน ซึ่งเป็นเทคนิคผสมในหลอดแก้วเหมือนกับที่ใช้คน และเป็นลูกม้าคู่แรกที่เกิดจากการคัดสายพันธุ์ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





วศ.เจ๋งผลิตดอกไม้เซรามิก

นายสุทธิเวช ต.แสงจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เผยว่า ขณะนี้ วศ. สามารถผลิตดอกไม้จากเซรามิกได้สำเร็จแล้ว หลังจากที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการมานานถึง 5 ปี เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ศึกษาทดลองนำรูปแบบของดอกไม้มาเขียน หรือปั้นประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์จากเซรามิกขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกไม้ป่าและดอกไม้ประจำท้องถิ่น 9 ชนิด ได้แก่ ดอกสุพรรณิการ์ ดอกเอื้องตาเหิน ดอกสำเภางาม ดอกเอื้องม้าวิ่ง ดอกเล็บมือนาง ดอกกล้วยไม้ ดอกหน้าวัว ดอกกระเจียว และดอกเสี้ยว ขณะนี้นำมาจัดประดับตกแต่งบนผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น แจกัน เชิงเทียน เข็มกลัด และเป็นช่อดอกไม้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2544 หน้า 15)





เอ็มเทคหนุนเอกชน

รศ.ดร. ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ขณะนี้เอ็มเทคร่วมกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้านเทคโนโลยีวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยขึ้น โดยมีโรงงานเป้าหมาย 100 โรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่สามารถดำเนินการวิจัยและพัฒนาได้เอง ระยะเวลาโครงการ 2 ปี 4 เดือน งบประมาณ 20.9 ล้านบาท ในระแรกใช้เวลาดำเนินงาน 10 เดือน งบฯ 3.96 ล้านบาท เพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาโรงงานจำนวน 20 โรงงาน ส่วนระยะที่ 2 เป็นโครงการระยะยาวอยู่ระหว่างการดำเนินการในรายละเอียดเพื่อขอนุมัติ คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินงาน 18 เดือน และจะใช้งบฯ ทั้งสิ้น 16.94 ล้านบาท (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2544 หน้า 15)





กินแอปเปิ้ลมะเขือเทศบำรุงปอดให้แข็งแรง

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮมของอังกฤษ ได้สอบถามผู้ใหญ่ที่ไม่สบายมีการหายใจขัดมีเสียงหวีด หรือคนที่เป็นหืดกับผู้ที่เป็นโรคปอดอื่นๆ จำนวนเกือบ 2,500 กว่าคน ถึงอาหารการกินและลองให้เข้าทดสอบวัดความจุของปอด ได้พบว่าผู้ที่ปอดมีความจุมากที่สุด ได้แก่คนที่กินแอปเปิ้ลเป็นประจำ ในอาทิตย์หนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 ผล หรือไม่ก็กินมะเขือเทศอยู่เกือบจะทุกวัน นักวิจัยกล่าวว่า “การศึกษาครั้งนี้ นับว่าน่าสนใจตรงที่แสดงว่า ใครที่กินแอปเปิ้ลวันละ 1 ลูก หรือมะเขือเทศทุกวัน จะหายใจคล่องขึ้น” (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐเป็นพิษ แพร่โรคให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย

นักวิจัยของศูนย์การแพทย์ไรท์ แพทเตอร์สัน ของสหรัฐฯ ได้ลองตรวจสอบธนบัตรสหรัฐฯ ชนิดฉบับละ 1 ดอลลาร์ ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ 68 ฉบับ ดูเป็นตัวอย่างได้พบว่า ธนบัตรเหล่านั้นมีอยู่ 5 ฉบับ มีความสกปรกมากเต็มไปด้วยเชื้อโรคที่ทำให้คนแม้จะแข็งแรงล้มเจ็บได้ และอีก 59 ฉบับ ก็มีเชื้อโรคที่อาจทำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ หรือมะเร็ง เจ็บไข้ได้ป่วยได้ ในจำนวนธนบัตรทั้งหมดนี้ มีเพียง 4 ฉบับเท่านั้นที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสะอาด ดังนั้นเราไม่ควรประมาท ถ้าหากธนบัตรสามารถแพร่โรคได้จริง จึงไม่ควรจะเอามือไปเช็ดหูเช็ดตา จมูก และปาก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ และควรจะล้างมือบ่อยๆ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2544 หน้า 7)





กทม.ทุ่ม 60 ล้านซื้อเรดาร์ใช้เอง หวังรับมือแก้น้ำท่วมได้ทันท่วงที

นางธงชัย กลั่นทอง ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีโครงการที่จะซื้อเรดาร์ตรวจสภาพอากาศไว้ใช้เอง ได้ตั้งงบประมาณไว้ตั้งแต่ปี 2544 จำนวน 60 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดและข้อกำหนด เพื่อเปิดให้เอกชนประกวดราคา คาดว่าจะเสร็จไม่เกิน 1 เดือน นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เห็นชอบในโครงการ ทั้งนี้เรดาร์จะไม่ซ้ำซ้อนกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพียงแต่ละเอียดแม่นยำขึ้นเพื่อช่วยรับมือแก้น้ำท่วมได้ทันที (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2544 หน้า 34)





ใช้บิลใบเดียวกันเริ่มได้ภายในปีนี้

นางชวนพิศ ธรรมศิริ ผู้ว่าการประปานครหลวง เปิดเผยความคืบหน้าในการให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าไฟและน้ำประปาใบเดียวกันว่า กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะทำงานศึกษา คาดว่าภายใน 1-2 เดือนจะได้ข้อสรุป และน่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้การประปายังมีการให้บริการชำระค่าน้ำแบบใหม่ คือ ส่งพนักงานไปอ่านมาตรพร้อมออกใบแจ้งหนี้ได้ทันที และให้ผู้ใช้บริการนำไปชำระตามจุดบริการต่างๆ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งจะเริ่มใช้เดือนมิถุนายนนี้ในเขตพื้นที่นำร่องสาขาประชาชื่นก่อน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2544 หน้า 34)





ฝ่ายโภชนาการเจ้าจำปีปลื้ม ได้รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น

นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายโภชนาการ (ต่างประเทศ) เป็นหนึ่งในสถานประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นกิจการอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ดีเด่น บริษัทได้นำระบบ GMP (Good Manufacturing Practice) และ ประเภทการบริหารงานคุณภาพประจำปี 2544 HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) และ ISO 9002 มาใช้ในการประกันคุณภาพแก่ลูกค้า (เดลินิวส์ อังคารที่ 22 พฤษภาคม 2544 หน้า 26)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215