หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 27 ประจำวันที่ 2001-07-10

ข่าวการศึกษา

ทปอ.เสนอเปิดช่องทำวิจัยหลังจบปริญญาเอก
อาจารย์ราชภัฏเจ๋ง
เซนต์โยเซฟฯไปประกวดดนตรีโลก
ครูจุฬาฯปรับทิศทางผลิตบัณฑิต เน้นรู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง
ราชภัฏติดเทอร์โบมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง เป็นศูนย์กลางการศึกษาให้เพื่อนบ้าน
“ฟิสิกส์” คว้าทองแดง
กศน.ทำใหม่กระดาษใยสับปะรด
ตั้งรง.ผลิตเข็มหมอ ที่สุดของโลกในไทย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

สถานภาพของอาหารตัดแต่งพันธุกรรม
เปลี่ยนหัวใจคนเป็นหัวใจไททาเนียม
จับพบดาวลึกลับขนาดยักษ์ เกาะหางรั้งท้ายสุริยจักรวาล
ผลิต ‘แมวจีเอ็มโอ’ ขายตัวสี่หมื่น ตัดต่อยีนแก้ปัญหา ‘โรคภูมิแพ้’

ข่าววิจัย/พัฒนา

‘สถาบันวิจัยยาง’ ประสบผลสำเร็จใช้ยางมะตอยผสมยางธรรมชาติสร้างถนน
ใช้แบคทีเรียเขมือบความสกปรก เสื้อผ้าอนาคตไม่ต้องง้อซักรีด
เป่าแคนไม้ยางไพเราะเสียงเสนาะไม่แพ้ของเดิม
ต้นแบบทหารหุ่นยนต์สหรัฐเสร็จ ตั้งเป้าอีก 10 ปีใส่สมองคิดเองได้!
จ้างทีดีอาร์ไอวางแผนปฏิบัติอุตฯตามแผน9

ข่าวทั่วไป

ไทยมาที่ 5 ในเอเชียทำธุรกิจสะดวก
“พิเชษฐ” แฉ กปน. แสบทำแผ่นดินทรุด
กทม. ยกเขตขึ้นห้าง บางรักนำวันสต๊อป
สภาพัฒน์เดินเครื่องธนาคารสมองเต็มสูบ เปิดโผวุฒิอาสาลอตแรกตัวเลขพุ่งหลักพัน
เปิดหูฉลามสารปรอทเพียบตายได้





ข่าวการศึกษา


ทปอ.เสนอเปิดช่องทำวิจัยหลังจบปริญญาเอก

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผย ผลการประชุม ทปอ. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า คณะทำงานเสนอว่าหลังจากที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจบปริญญาเอกแล้วไม่ควรที่จะมาทำงานทันที แต่จะต้องไปหาประสบการณ์ หรือทำงานวิจัยอย่างน้อย 3-4 ปีก่อนแล้วจึงกลับมาทำงานได้ และคณะทำงานยังเสนอให้ ทปอ. เสนอโครงการวิจัยหลังปริญญาเอก เพื่อขอทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2544 หน้า 12)





อาจารย์ราชภัฏเจ๋ง

ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ เผยว่า การที่ธนาคารโลกได้จัดงานวัน นวัตกรรมไทยในกรุงเทพฯ โครงการผู้เข้ารอบสุดท้ายการแข่งขันตลาดความคิดสร้างสรรค์ “การใช้เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชนบทไทย” สถาบันราชภัฏสงขลาเสนอโครงการ “ชุมชนเข้มแข็งด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศใยแมงมุม” ได้รับรางวัลชนะเลิศจากผู้ส่งผลงานกว่า 100 รายการ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





เซนต์โยเซฟฯไปประกวดดนตรีโลก

โรงเรียนเซ็นต์โยเซฟคอนแวนต์ นำโดย คุณแม่อธิการ มาแมร์ วิภา เลค และครูใหญ่ตัดสินใจส่งนักเรียนไปประกวดดนตรีโลกครั้งที่ 14 ประเทศเนเธอร์แลนด์ “14th World Music Contest 2001, Kerkrade, Netherlands” ซึ่งจะทำการประกวดในวันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีการซ้อมใหญ่ ณ สนามศุภชลาศัย ซึ่งจะมีการแสดงต่างๆ เหมือนวันประกวดจริงๆ ในวันที่ 11 กรกฎาคม เวลา 17.00 น. (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 5 กรกฎาคม 2544 หน้า 20)





ครูจุฬาฯปรับทิศทางผลิตบัณฑิต เน้นรู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง

ร.ศ. ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะครุศาสตร์ได้ปรับทิศทางของคณะโดยเน้นคุณภาพบัณฑิตทุกขั้นตอน เน้นให้เป็นคณะวิจัยเพื่อสร้างผลงานวิจัย เน้นการผสมผสานการสร้างความรู้กับการเรียนการสอนเข้าด้วยกัน โดยผู้เรียนจะต้องรู้จักการทำวิจัยในระหว่างเรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักสภาพความเป็นจริงของการศึกษาและสังคมไทย รวมทั้งรู้จักคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเน้นเป็นสถาบันนานาชาติด้วยการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 10)





ราชภัฏติดเทอร์โบมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง เป็นศูนย์กลางการศึกษาให้เพื่อนบ้าน

ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านนั้น สรภ. ได้ดำเนินการไปหลายแห่งแล้ว เช่น จัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศกัมพูชาที่สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อทำการวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับกัมพูชา จัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศลาวขึ้นที่สถาบันราชภัฏอุบลราชธานีจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรปริญญาโทให้กับนักศึกษาลาว จัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศพม่าที่สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร จัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศมาเลเซียที่สถาบันราชภัฏยะลา จัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศเวียดนามที่สถาบันราชภัฏสกลนคร จัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศจีนขึ้นที่สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ส่วนสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 10)





“ฟิสิกส์” คว้าทองแดง

ผลการแข่งขันซึ่งประเทศไทยเข้าแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 32 ณ เมืองอันดาลิยา ประเทศตุรกี อย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า ประเทศไทยคว้า 1 เหรียญทองแดง และ 3 เกียรติคุณประกาศโดย นายธารา เฉลิมทรงศักดิ์ ร.ร.เซนต์คาเบรียล ได้เหรียญทองแดง นายธิติ เดชธนพัฒน์ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย นายอุชุพล เรืองศรี ร.ร.สวนกุหลาบ ได้เกียรติคุณประกาศ สำหรับการแข่งขันดังกล่าวเป็นปีที่ 10 ที่ประเทศไทยเข้าร่วม รวมรางวัลทั้งหมดที่ได้รับคือ 4 เหรียญทองแดง และ 13 เกียรติคุณประกาศ (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 5 กรกฎาคม 2544 หน้า 8)





กศน.ทำใหม่กระดาษใยสับปะรด

นายเรวัฒ สุธรรม รองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน ในฐานะประธานการจัดการเรียนการสอนออกแบบบรรจุภัณฑ์จากกระดาษใยสับปะรด เปิดเผยว่า ตามที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ดำเนินการโครงการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพมูลนิธิชัยพัฒนา อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อฝึกทักษะวิชาชีพตามความถนัดของผู้เรียนและชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำออกสู่ตลาดควรมีการบรรจุหีบห่อที่สวยงามเป็นการเพิ่มคุณค่าและราคาให้สมกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ขณะนี้ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อ.หัวหิน กำลังดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมานับว่ากระดาษใยสับปะรดขายดีมาก เนื่องจากมีการรณรงค์ให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในจังหวัด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้แล้วยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่า ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตลอดจนนำกระบวนการเรียนรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกด้วย (สยามรัฐ พุธที่ 4 กรกฎาคม 2544 หน้า 20)





ตั้งรง.ผลิตเข็มหมอ ที่สุดของโลกในไทย

น.พ.มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามร่วมมือกับบริษัทเครื่องมือแพทย์ของซูโจ ของจีน ที่ทำการผลิตเข็มที่ใช้สำหรับการฝังในทางการแพทย์ เพื่อมาตั้งโรงงานผลิตเข็มที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นในประเทศไทย โดยมีข้อตกลงว่า จะขายเข็มให้ประเทศไทยเล่มละ 1 บาทเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้จะใช้พื้นที่ในอุตสาหกรรมศรีราชา หรือนิคมอุตสาหกรรมลำพูนเป็นแหล่งผลิต (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2542 หน้า 3)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


สถานภาพของอาหารตัดแต่งพันธุกรรม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมนักส่งเสริมการเกษตรศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดอภิปรายเรื่อง สถานภาพของอาหารตัดแต่งพันธุกรรมต่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกฏระเบียบที่ใช้ในการควบคุมอาหาร และการประเมินความปลอดภัยของอาหารที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรม รวมทั้งแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะออกกฎระเบียบ สำหรับใช้ในการควบคุมอาหารที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรม จากการประเมินการบริโภคอาหารที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรมพบว่า ไม่มีผลต่อความผิดปกติต่อสุขภาพของผู้บริโภคสำหรับประเทศไทย อาหารตัดแต่งพันธุกรรมที่นำเข้าจะต้องได้รับการทดสอบว่าปลอดภัย และยังไม่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกเพื่อการพาณิชย์ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2544 หน้า 24)





เปลี่ยนหัวใจคนเป็นหัวใจไททาเนียม

นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งใหญ่ ในความพยายามที่จะคิดใช้หัวใจเทียมเอามาใช้แทนหัวใจตามธรรมชาติของมนุษย์ อุปกรณ์หัวใจกล ที่ศัลยแพทย์ของมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ของสหรัฐฯ ผ่าตัดใส่เปลี่ยนแทนให้กับหัวใจเดิมของคนไข้ ขนาดโตเท่ากับผลส้มเป็นปั๊มไฮดรอลิกเล็กๆ ทำด้วยพลาสติกและไททาเนียม เดินด้วยไฟจากแบตเตอรี่ในตัวสามารถใช้ได้นานเป็นปี ประดิษฐ์ให้สามารถทำงานแทนหัวใจห้องล่างของคนเราได้ โดยที่ไม่ต้องมีสายไฟโยงมาต่อกับปลั๊กไฟนอกตัวเลยเมื่อแข็งแรงดีแล้ว สามารถเคลื่อนไหวเดินทางไปไหนมาไหนดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โฆษกของโรงพยาบาลแจ้งเปิดเผยว่า คนไข้หัวใจกลรายแรกกำลังพักฟื้นอย่างสุขสบาย แต่ทางบริษัท “อบิโอเมต” ผู้ประดิษฐ์หัวใจได้กล่าวออกตัวไว้ก่อนว่า คนไข้ที่ใช้หัวใจกลรายแรกอาจเป็นคนไข้ที่มีอาการหนักมากแล้ว ดังนั้นหากยังอยู่ต่อมาได้สักสองเดือนก็ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





จับพบดาวลึกลับขนาดยักษ์ เกาะหางรั้งท้ายสุริยจักรวาล

นักดาราศาสตร์ส่องกล้องพบวัตถุลึกลับขนาดใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง ขณะค้นหาวัตถุที่โครจรรอบดวงอาทิตย์ซึ่งเล็กรองจากดาวเคราะห์และโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ในอวกาศแถบใกล้ดาวพลูโต วัตถุนี้ถูกตั้งชื่อรหัสให้ว่า “2001 KX76” เป็นโลกของน้ำแข็งมีสีแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวหลายพันกิโลเมตร และนักวิชาการเชื่อว่ายังอาจจะพบวัตถุที่มีขนาดใหญ่โตกว่านี้อีกก็ได้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบวัตถุที่มีขนาดต่างๆ โคจรอยู่ในแถบนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมาไม่น้อยกว่า 400 ชิ้นแล้ว (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





ผลิต ‘แมวจีเอ็มโอ’ ขายตัวสี่หมื่น ตัดต่อยีนแก้ปัญหา ‘โรคภูมิแพ้’

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัททรานจีนิค เพ็ท ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของสหรัฐได้ประกาศว่า จะดัดแปลงยีนในแมว เพื่อผลิตแมวรุ่นใหม่ไร้โปรตีนต้นเหตุทำให้คนเกิดอาการโรคภูมิแพ้แมว ข่าวแจ้งว่า ศ.เจอร์รี่ หยาง อาจารย์มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัด ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่สามารถลอกแบบทางพันธุกรรม หรือโคลนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นผลสำเร็จในสหรัฐ เปิดเผยว่า จะใช้เทคนิคลอกแบบทางพันธุกรรมมาดัดแปลงยีนแมว เพื่อแก้ปัญหาอาการภูมิแพ้เมื่อเข้าใกล้แมวซึ่งทำให้มีอาการ คัน จาม น้ำมูก น้ำตาไหล มั่นใจว่าภายในเวลาสองปีจะสามารถผลิตแมวจีเอ็มโอออกมาจำหน่ายให้คนรักแมวแต่มีอาการภูมิแพ้แมวได้ แมวที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีราคาตัวละ 40,000 บาท (มติชน ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


‘สถาบันวิจัยยาง’ ประสบผลสำเร็จใช้ยางมะตอยผสมยางธรรมชาติสร้างถนน

สถาบันวิจัยยางฉะเชิงเทรา ได้ทดลองใช้ยางมะตอยผสมกับยางธรรมชาติสร้างถนนได้สำเร็จ ผลการทดสอบปรากฏว่าถนนมีความแข็งแรงดีมาก มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมถนนได้อีกมาก เป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศมากขึ้น (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 7 กรกฎาคม 2544 หน้า 20)





ใช้แบคทีเรียเขมือบความสกปรก เสื้อผ้าอนาคตไม่ต้องง้อซักรีด

นักเทคโนโลยีชีวภาพ ของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซสตต์ของสหรัฐฯ กำลังทดลองด้ายทอชุบด้วยแบคทีเรียสายพันธุ์หนึ่ง ในการศึกษาเพื่อหาแบคทีเรียสายพันธุ์ที่กำจัดฝุ่นละอองและสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นกับเหงื่อไคลลง และอาจจะถึงขนาดหาชนิดที่สามารถกำจัดกลิ่นอันน่ารังเกียจ และปล่อยกลิ่นเป็นเสน่ห์กับเพศตรงข้ามแทน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





เป่าแคนไม้ยางไพเราะเสียงเสนาะไม่แพ้ของเดิม

ผส.ปิยพันธ์ แสนทวีสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานจากไม้ยางพารา” ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศึกษากรรมวิธีและขั้นตอนการสร้างเครื่องดนตรีจากไม้ยางพารา 6 ชนิด คือ กลอง พิณโปร่ง พิณไฟฟ้า พิณเบส แคน และโปงลาง ศึกษาทั้งจากวิธีการและเทคนิคดั้งเดิม และเปรียบกับเครื่องดนตรีที่ผลิตโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นพื้นบ้านจำหน่าย ได้ข้อสรุปว่า ไม้ยางพารา สามารถนำมาผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานได้เหมือนกับไม้ดั้งเดิม คุณภาพเสียงของเครื่องดนตรีที่ผลิตได้นี้ไม่มีความแตกต่างกับการผลิตด้วยวิธีการดั้งเดิมมากนัก (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





ต้นแบบทหารหุ่นยนต์สหรัฐเสร็จ ตั้งเป้าอีก 10 ปีใส่สมองคิดเองได้!

กองทัพอเมริกันเตรียมพัฒนาหุ่นยนต์เข้าประจำการ มุ่งเน้นปฏิบัติหน้าที่ทั้งเพื่อตรวจการณ์ สอดแนมและทำลายล้างแบบ “กามิกาเซ” เผยอีก 10 ปีอาจมีทหารหุ่นยนต์คิดได้ด้วยตัวเอง สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐตั้งเป้าหมายพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้น เพื่อใช้ในการปฏิบัติการรบบนพื้นราบแทนทหารในอนาคตอันใกล้ โดยมอบหมายให้หลายบริษัทเป็นผู้คิดค้นและออกแบบหุ่นยนต์เพื่อการนี้ ภายใต้การควบคุมของโครงการหุ่นยนต์ร่วม ซึ่งเพนตากอนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2532 ข่าวระบุว่า แม้หุ่นยนต์ดังกล่าวจะยังมีขีดความสามารถจำกัด แต่ในขณะนี้มีสำนักงานตำรวจหลายแห่งทั่วสหรัฐนำเอาหุ่นยนต์ดังกล่าวไปปฏิบัติการเสี่ยงอันตรายแทนเจ้าหน้าที่แล้วเป็นจำนวนมาก เช่นใช้ในการกู้ระเบิด ปฏิบัติการของหน่วยสวาท และกรณีเกิดเหตุก๊าซรั่วไหลหรือเหมืองถล่มเป็นอาทิ (มติชน ศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2544 หน้า 26)





จ้างทีดีอาร์ไอวางแผนปฏิบัติอุตฯตามแผน9

นายดำริ สุโขธนัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการกำหนดกลยุทธ์และกรอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) ว่า ได้จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ที ดี อาร์ ไอ) เป็นที่ปรึกษาการจัดทำกลยุทธ์และกรองแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในวงเงิน 3 ล้านบาท โดยกรอบการดำเนินงานจะเน้นหาจุดบุกพร่องของนโยบายที่ผ่านมา หากลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดหลัก 4 แนวคือ 1. เอกชนเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน 2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลดต้นทุน และพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา 3. พัฒนาธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้เชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่ 4. การเตรียมความพร้อมต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น (เดลินิวส์ อังคารที่ 3 กรกฎาคม 2542 หน้า 9)





ข่าวทั่วไป


ไทยมาที่ 5 ในเอเชียทำธุรกิจสะดวก

สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานจากสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ว่า บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ หรือเพิร์ค ได้ทำการสำรวจความเห็นจากนักธุรกิจระดับผู้บริหาร 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เกี่ยวกับเงื่อนไขค่าใช้จ่าย และความสะดวกในการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียด้านสาธารณูปโภค การทุจริตมิชอบระบบข้าราชการ ผลการสำรวจ สิงคโปร์ มาเป็นอันดับ 1, ฮ่องกง ได้อันดับ 2, มาเลเซีย ได้อันดับ 3, ญี่ปุ่น ได้อันดับ 4 และไทยอยู่อันดับที่ 5 ส่วนการสำรวจทางด้านบรรษัทภิบาล มาเลเซีย เหนือกว่า สิงคโปร์ และฮ่องกง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2542 หน้า 19)





“พิเชษฐ” แฉ กปน. แสบทำแผ่นดินทรุด

นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี (กทธ.) ออกไปสุ่มตัวอย่างหมู่บ้านจัดสรรและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่วิกฤติน้ำบาดาล ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินทรุดตัว เพราะพื้นที่วิกฤติน้ำบาดาลเป็นพื้นที่ที่ห้ามมีการใช้น้ำบาดาล เพราะถือว่ามีการบริการน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) ให้บริการได้ทั่วถึงแล้ว ผลการตรวจสอบรอบแรกพบว่า พื้นที่ที่ถูกสุ่มตัวอย่างเป็นพื้นที่ที่มีการบริการน้ำประปาของ กปน. ทั่วถึงแล้ว แต่กลับเป็นว่า กปน. กลับใช้วิธีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาผสมกับน้ำประปาที่เตรียมจ่ายให้บ้านเรือนประชาชนไปให้บริการ โดยที่ผู้ใช้น้ำประปาไม่ทราบว่า น้ำประปาดังกล่าวมีน้ำบาดาลปะปน ถือว่าผิดต่อ พ.ร.บ.น้ำบาดาลของ กทธ. แต่กปน. ได้ทำหนังสือกลับมาให้ทราบว่ามีการกระทำเช่นนี้จริง แต่ในทั้งพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล กปน. มีการผสมน้ำบาดาลกับน้ำประปาจ่ายให้ประชาชนเพียงวันละ 15,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 5 กรกฎาคม 2542 หน้า 9)





กทม. ยกเขตขึ้นห้าง บางรักนำวันสต๊อป

นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผย ความคืบหน้าการตั้งที่ทำการพิเศษให้บริการด้านทะเบียนราษฎร์ ที่ห้างสรรพสินค้าว่า ได้พิจารณาเห็นว่าจะจัดตั้งที่ทำการพิเศษนี้ขึ้นที่เขตบางรัก เป็นเขตนำร่องเพราะเป็นย่านธุรกิจสำคัญ โดยจะเช่าพื้นที่ในอาคารซีพีทาวเวอร์ 30 ตารางเมตร เป็นที่ทำการ ส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งที่ทำการพิเศษจะใช้งบฯ 2 ล้านบาท ในการซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ออนไลน์ข้อมูลไปที่สำนักงานเขต ทั้งนี้เรื่องการตั้งสำนักงานเขตย่อยจะมีการประชุมคณะกรรมการด้านไอที วันที่ 10 กรกฎาคม นี้ ก่อนจะเสนอให้ผู้ว่าฯ อนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายใน 3 เดือน ที่ทำการพิเศษนี้จะให้บริการด้านทะเบียนราษฎร์เป็นหลัก เช่น ทำบัตรประชาชน แจ้งย้ายที่อยู่ แจ้งเกิด-ตาย แต่งานที่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมก็ยังคงต้องทำที่เขต ส่วนบริการแบบ ONE STOP SERVICE ที่เขตราชเทวี ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะขยายโครงการออกไป 4 มุมเมือง โดยใช้งบฯแห่งละ 4 ล้านบาท จะขอผู้ว่าฯเปิดให้ได้ 10 แห่ง (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 5 กรกฎาคม 2544 หน้า 6)





สภาพัฒน์เดินเครื่องธนาคารสมองเต็มสูบ เปิดโผวุฒิอาสาลอตแรกตัวเลขพุ่งหลักพัน

นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการดำเนินการเรื่องธนาคารสมองตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยการนำข้าราชการที่เกษียณแล้วแต่ยังมีความรู้ความสามารถมาช่วยงานพัฒนาประเทศว่า ผู้ตอบรับยินดีเป็นวุฒิอาสาแล้ว 1,057 คน โดยทาง สศช. ได้ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการวุฒิอาสาไปช่วยแจ้งความประสงค์มาแล้ว สำหรับค่าตอบแทนของวุฒิอาสานั้นไม่มี หน่วยงานที่ต้องการความช่วยเหลือจึงควรเตรียมเงินก้อนหนึ่งให้สำหรับใช้ในการเดินทาง หรืออาจมีการตกลงกันและพิจารณาเองตามความเหมาะสม (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 5 กรกฎาคม 2542 หน้า 8)





เปิดหูฉลามสารปรอทเพียบตายได้

องค์การอนุรักษ์สัตว์ป่านานาชาติ หรือ Wild Aid เปิดเผยว่า ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า หูฉลามบางชนิดที่จำหน่ายทั่วไปอาจมีสารปนเปื้อนที่อันตรายต่อสุขภาพ เช่น สารปรอท นอกจากจะทำลายสุขภาพผู้บริโภคแล้วยังกระทบต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย และหูฉลามที่ขายในย่านเยาวราช พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ถูกพ่อค้าหลอกขายหูฉลามหูใหญ่ๆ โดยนำสารเคมีบางชนิดมาใส่ในหูฉลามที่ยังไม่ผ่านกระบวนการปรุง เพื่อทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและราคาสูงขึ้นตามขนาด ทั้งนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (TISTR) วิจัยพบว่า ร้อยละ 70 ของหูฉลามที่สุ่มวิจัยมีโลหะหนักอย่างสารปรอทปนเปื้อนเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 42 เท่า และผลวิจัยในฮ่องกงตันปีที่ผ่านมา ก็พบสารปรอทเกินมาตรฐานในหูฉลามเช่นกัน และความจริงแล้วหูฉลามไม่ได้มีคุณค่าอาหารอย่างที่เข้าใจ นอกจากจะแพงแล้วยังมีสารพิษที่เป็นอันตรายด้วย (สยามรัฐ อังคารที่ 3 กรกฎาคม 2544 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215