หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 26 ประจำวันที่ 2001-07-03

ข่าวการศึกษา

Sick, poor pupils can study at home
ทบวงฯหนุนผลิตหมอเยอะๆ
เปลี่ยนวิธีรับเด็กบ้านใกล้ให้สมัครก่อน 1 เดือน
สสส.หนุนกรมสามัญทำ ร.ร. สุขภาพ
ตั้งศูนย์ศึกษาพิเศษ 76 จว.รับกลุ่มพิการ-ด้อยโอกาส
ทดลองใช้ก่อนหลักสูตรศึกษาใหม่จังหวัดละ 2 โรงก่อนลงมือจริงปี 45

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

โปรแกรมเพื่อผู้พิการผลงานเด็กบางมด
Cyber betting growing fast
Blight of the bang
ข่ายไอที 6 พันแห่งใช้ 800 ล.
ธุรกิจแท็กซี่อวกาศโตรับกระแสโลกยุคสื่อสาร
ซอฟต์แวร์ใหม่แปลอังกฤษเป็นไทยผ่านมือถือ
เด็กนักวิทย์คิดเป็นทำเป็น งานดีช่วยชุมชนได้ด้วยล่ะ
อาจารย์เภสัชฯมหิดลร่วมวิจัยกับเอกชนผลิตเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย

ข่าววิจัย/พัฒนา

วัวโคลนนิ่ง
ม.รังสิต พบวิธีทำนมจากข้าวมอลต์ มีสารอาหาร-วิตามินไม่แพ้นมวัว
เทคโนฯลาดกระบังคิดฮัลโหลเพื่อคนหูหนวก

ข่าวทั่วไป

CAT cuts toll rates
ซ่อมใหญ่สะพานแขวน ‘ชำรุด’ เปิดประกวดราคางบ 100 ล้าน
e-government ของไทย ควรเริ่มต้นได้หรือยัง ?
กรมวิทยาศาสตร์ประกัน ซอสปรุงรสไทยปลอดภัย
น้ำส้มคั้นกับหัวไช้เท้าอาหารทิพย์ ช่วยบำรุงรักษาหัวใจให้ปลอดภัย
ติดดูโทรทัศน์นานๆ เบาหวานกิน ดูมากยิ่งเป็นได้ง่ายกว่าคนดูน้อย
ดันไก่แจ้เข้าแผนฯ9 หวังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
หนุนใต้ปลูกปทุมธานี 1 ชี้เป็นพันธุ์ที่เหมาะที่สุด
เก็บเกินประกาศมหาดไทย
‘สธ.’ แนะผู้ป่วยโรคเอดส์อย่ามองข้าม ‘สมุนไพรไทย’
สมป.เดินเครื่องพัฒนาห้องแล็บอิงเกณฑ์สากล





ข่าวการศึกษา


Sick, poor pupils can study at home

นายกล้า สมตระกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่า ตนได้เตรียมโครงการที่จะอนุญาตให้นักเรียนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องการเงินสามารถเรียนที่บ้านได้เป็นเวลา 3 เดือน และคาดว่าจะเริ่มใช้ในปีการศึกษาหน้า นายกล้า กล่าวว่า โครงการนี้จะกระตุ้นให้โรงเรียนต่างๆ เปิดตัวมากขึ้นและสอดคล้องกับการศึกษาตามอัธยาศัยใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โครงการนี้จะใช้ได้กับนักเรียนทั้งในโรงเรียนของรัฐ และของเอกชน โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะปรับแก้ไขในเดือนหน้าก่อนที่จะส่งเรื่องต่อไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการต่อไป (Bangkok Post, Saturday, June 30, 2001, p.2)





ทบวงฯหนุนผลิตหมอเยอะๆ

รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า พล ต. บุญเลิศ จันทรมาศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า (ว.พ.ม.) ได้หารือเกี่ยวกับโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม ซึ่งโครงการดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดในปี 2545 และทาง ว.พ.ม. มาขอความชัดเจนว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะการผลิตแพทย์ของ ว.พ.ม. เป็นการร่วมผลิตกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางทบวงเห็นว่า ว.พ.ม. ควรผลิตแพทย์ต่อไป โดยทบวงฯ จะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณให้ (เดลินิวส์ พุธที่ 27 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





เปลี่ยนวิธีรับเด็กบ้านใกล้ให้สมัครก่อน 1 เดือน

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา เปิดเผยผลการประชุมการรับนักเรียนเข้าโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ว่า ควรปรับวิธีการรับนักเรียนให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิในส่วนของบ้านใกล้โรงเรียนมาแจ้งความจำนงว่า จะเข้าเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน จากเดิมให้แจ้งความจำนงก่อนแค่ 1 สัปดาห์ เพื่อให้โรงเรียนมีเวลาในการตรวจสอบรัดกุมยิ่งขึ้น และควรให้สหวิทยาเขตจัดทำข้อสอบการประเมินความถนัดได้ด้วยตนเอง และได้มีกำหนดเกณฑ์และสัดส่วนการรับเด็กผู้มีอุปการคุณให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





สสส.หนุนกรมสามัญทำ ร.ร. สุขภาพ

นายเจริญ ภักดีวานิช รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ประธานการประชุม โครงการนำร่องสร้างเสริมสุขภาพภายในโรงเรียนเปิดเผยหลังการประชุมว่าเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะจัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นของตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องจึงได้เลือกโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในระดับมัธยมศึกษา ในอนาคตจะทำการขยายโครงการไปสู่โรงเรียนในต่างจังหวัดด้วย (สยามรัฐ เสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2544 หน้า 20)





ตั้งศูนย์ศึกษาพิเศษ 76 จว.รับกลุ่มพิการ-ด้อยโอกาส

นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความสามารถพิเศษว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงสร้างการบริหารที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาของบุคคล 3 กลุ่ม ให้สามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ โดยใช้ศูนย์การศึกษาพิเศษที่มีอยู่ทั้ง 76 จังหวัดเป็นฐาน จนกว่าเขตพื้นที่การศึกษาใดมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษก็จะทยอยโอนไปสังกัดได้ นอกจากนี้ยังเห็นชอบที่จะขอแปรญัตติงบประมาณประจำปี 2545 เพิ่มเติมสำหรับงานการศึกษาพิเศษจำนวน 356 ล้านบาท โดยจะเน้นเรื่องการอบรมบุคลากรเพื่อการส่งเสริมให้บุคคลทั้งสามกลุ่มสามารถเรียนร่วมกับบุคคลปกติได้ รวมทั้งให้เน้นการดูแลด้านจิตใจของบุคคลกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ที่ประชุมจัดทำร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาของคนพิการ ด้อยโอกาส และผู้มีความสามารถพิเศษ และที่ประชุมยังได้เห็นชอบการใช้งบประมาณปี 2544 ของสำนักปลัด ศธ. เพื่อดำเนิน 2 โครงการคือ 1.การเก็บข้อมูลตัวเลขเด็กพิการในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ มาไว้ในฐานข้อมูลของกรมสามัญศึกษาเพื่อวางแผนการจัดการศึกษาต่อไป 2.จัดโครงการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้พิการและผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับกฎกระทรวงและการออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนเพื่อบุคคลทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว (ไทยโพสต์ อังคารที่ 26 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





ทดลองใช้ก่อนหลักสูตรศึกษาใหม่จังหวัดละ 2 โรงก่อนลงมือจริงปี 45

นางอารีรัตน์ วัฒนสิน รองอธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า จะนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีฉบับใหม่มาเริ่มทดลองใช้ก่อนใช้จริงในปีการศึกษา 2545 กับโรงเรียนระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา จังหวัดละ1-2 แห่งทั่วประเทศ เพื่อศึกษาผลดีผลเสีย และเป็นการนำร่องก่อนที่จะบังคับใช้ทั่วประเทศจริงๆ ในปีการศึกษา 2545 เป้าหมายหลักของการจัดทำหลักสูตรก็เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักสูตรนี้ไปปรับเป็นหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนจริงๆ รวมทั้งขยายผลไปถึงการสร้างหลักสูตรระดับหมวดวิชาต่อไปหลักสูตรใหม่ที่จะใช้ปี 2545 นี้จะมีหลักสูตรที่ส่งเสริมความสามารถสำหรับเด็กที่มีความสามารถ และเด็กกลุ่มพิเศษ หรือเรียกว่า OWNER PROGRAM ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเติมเต็มความสามารถของเด็กในกลุ่มดังกล่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ เด็กที่เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย ก็จะมีการระบุไว้ในใบรายงานผลการเรียน ทำให้ทางมหาวิทยาลัยทราบว่าเด็กมีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ นอกจากนี้กรมวิชาการจะมีการหารือกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อรองรับเด็กกลุ่มดังกล่าวเข้าศึกษาต่อในคณะต่างๆ (ไทยโพสต์ อังคารที่ 26 มิถุนายน 2544 หน้า 9)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


โปรแกรมเพื่อผู้พิการผลงานเด็กบางมด

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดนิทรรศการและแข่งขันการเขียนโปรแกรมต่างๆ และได้ให้รางวัลชนะเลิศกับโปรแกรม โดราเอมอน บราว์เซอร์ ของ นายธนาคม ตาฬวัฒน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้เขียนโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีมือ ให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ โปรแกรมนี้ทำงานบนระบบวินโดว์ 98 และ 2000 จะมีรูปคีย์บอร์ดอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ใช้แขนลากเมาส์ไปวางไว้ที่รูปภาพบนหน้าจอ เครื่องจะทำงานตามที่สั่งโดยไม่ต้องใช้แรงกด (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 28 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





Cyber betting growing fast

การเล่นการพนันในระบบออนไลน์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Web Site ที่เกี่ยวกับมวยไทยและกีฬาต่างๆ ซึ่งตำรวจได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และขณะเดียวกันได้มีการอภิปรายถึงกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับการเล่นการพนันบนระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด (Bangkok Post, Saturday, June 30, 2001. P 2)





Blight of the bang

นักวิทยาศาสตร์ของอินเดียรายงานว่า ดอกไม้ไฟที่จุดเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ นั้น เป็นตัวก่อให้เกิดโอโซนในระดับพื้นดิน (ground – level ozone) ซึ่งโอโซนนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของหมอกในเมืองที่มีผลต่อปอด และระบบทางเดินหายใจ นอกเหนือจากแสงแดดและสารมีพิษในอากาศ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้รายงานผลภายหลังการวัดคุณภาพของอากาศในช่วงการเฉลิมฉลองของชาวฮินดู ที่มีการจุดดอกไม้ไฟมากมายตามท้องถนนในกรุงนิวเดลฮี อย่างไรก็ตามปัญหาโอโซนที่เกิดจากดอกไม้ไฟก็เป็นเรื่องที่เล็กน้อยสำหรับบางเมืองของสหรัฐฯ ที่มีปัญหาในเรื่องหมอกควัน เช่นที่ ลอสแองเจสีส เพราะระดับของโอโซนที่เพิ่มขึ้นในกรุงนิวเดลฮี เพียง 9 ในพันล้านส่วนถือว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษที่เกิดจากรถยนต์ใน ลอสแองเจลีส ซึ่งในปี 1999 มีโอโซนสูงสุดถึง 180 ส่วนต่อพันล้านส่วน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดโดย EPA คือ 124 ส่วนต่อพันล้านส่วน (Bangkok Post, Saturday, June 30, 2001. P 8)





ข่ายไอที 6 พันแห่งใช้ 800 ล.

นายกล้า สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เพื่อการศึกษาของศธ. กล่าวว่าสำหรับกรอบงบประมาณไอทีการศึกษาที่จัดทำขึ้นนั้นใช้งบประมาณทั้งสิ้น 800 ล้านบาท ใช้ดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากรด้านไอทีเพื่อการศึกษาใช้งบประมาณ 167 ล้านบาท 2. การพัฒนาเครือข่ายไอทีเพื่อการศึกษา โดยการเชื่อมเครือข่ายไอทีด้านการศึกษาของทุกกรมและทุกหน่วยงานทั้งในส่วนของ ศธ. และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน โดยใช้งบประมาณ 274 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเครือข่ายไอทีเพื่อการศึกษาในโรงเรียนได้อีกประมาณ 6,000 แห่ง 3. การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน (ซอฟแวร์) ซึ่งจะเน้นการผลิตสื่อการเรียนการสอนตั้งแต่ก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาใช้งบประมาณ 198 ล้านบาท และ 4. การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดแวร์) โดยจะใช้วิธีซื้อและเช่าจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้งบประมาณ 237 ล้านบาท คณะกรรมการฯ จะเริ่มดำเนินการตามแผนที่วางไว้ใน ต.ค.นี้ (สยามรัฐ พุธที่ 27 มิ.ย. 2544 หน้า 20)





ธุรกิจแท็กซี่อวกาศโตรับกระแสโลกยุคสื่อสาร

นายริชารด์ โบลส์ ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชีย แอเรียนสเปซ บริษัทจรวดส่งดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป กล่าวว่า ทิศทางของธุรกิจแท็กซี่อวกาศที่รับส่งดาวเทียมโคจรรอบโลกมีอนาคตสดใส โดยเฉพาะตลาดประเทศแถบเอเชีย เนื่องจากหลายประเทศมีความต้องการดาวเทียมสื่อสาร เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการศึกษา บริษัทแอเรียนสเปซ เป็นบริษัทที่ครองตลาดมากที่สุดในโลก (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





ซอฟต์แวร์ใหม่แปลอังกฤษเป็นไทยผ่านมือถือ

ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สาขาสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า ขณะนี้เนคเทคได้ร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ จีเอสเอ็ม 2 วัตต์ ในการพัฒนาบริการใหม่ คือ แปลภาษาอังกฤษเป็นไทยออนไลน์ผ่านมือถือได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าชาวต่างชาติ ระบบแปลภาษาที่ใช้คือ ภาษิต ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือระหว่างเนคเทค กับ บ.เอ็นซีซี ประเทศญี่ปุ่น (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





เด็กนักวิทย์คิดเป็นทำเป็น งานดีช่วยชุมชนได้ด้วยล่ะ

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ประจำปี 2544 สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย กับเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (ทีเอ) จัดด้วยกัน ปีนี้เป็นปีที่ 8 ผศ.ดร.อารมณ์ เพชรชื่น นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ บอกว่า การเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์จะต้องเน้นให้นักเรียนทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น และจะต้องมีวิธีการที่ส่งเสริมให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว โดยการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นมา สำหรับโครงงานที่หนูๆ จะส่งเข้าประกวดต้องเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือการอนุรักษ์และประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม หรือการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เริ่มวันโครงงานตั้งแต่วันนี้ หมดเขตวันที่ 13 ก.ค. โครงงานที่เข้ารอบสุดท้ายจะจัดแสดงให้ในงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18-22 ส.ค.นี้” สนใจสอบถามที่สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย โรงเรียนหอวัง ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร.286-491 (ข่าวสด 4 มิถุนายน 2544 หน้า 24)





อาจารย์เภสัชฯมหิดลร่วมวิจัยกับเอกชนผลิตเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย

ผศ.ดร.ภญ.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ Asian Nutraceutical Centre (ANC) เอกชนพัฒนาครีมลดรอยด่างดำจากสารธรรมชาติขึ้น สารเหล่านี้จะหาได้จากพืชและผลไม้ไทยหลายชนิดที่มีสารที่มีประโยชน์ สามารถใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางที่ช่วยบำรุงผิวหน้า ปราศจากสารพิษอันตราย ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาครีมสูตร WITEBERRI P O จากสารธรรมชาติที่มีคุณสมบัติช่วยลดรอยด่างดำอย่างได้ผลและปลอดภัย (ข่าวสด ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2544 หน้า 28)





ข่าววิจัย/พัฒนา


วัวโคลนนิ่ง

นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐฯประกาศความสำเร็จ “โคลนนิ่ง” ถอดสำเนาลูกวัวสุขภาพดี 8 ตัว เมื่อวันอังคารโดยใช้วิธีการโคลนตัวอ่อนลูกวัวมากกว่า 100 ตัว แต่ประสบความสำเร็จแค่ 8 ตัว ลูกวัวตัวแรกถือกำเนิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ตัวสุดท้ายกำเนิดเมื่อเดือนสิงหาคม นายสตีฟ สติซ หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้เชื่อว่า ฝูงวัวเหล่านี้จะช่วยในการปรับปรุงเทคโนโลยีโคลนนิ่งได้ต่อไป ในปัจจุบันห้องทดลองของสตีฟ สไตซ์หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในการวิจัยสามาารถผลิตตัวอ่อนจากการโคลนนิ่งได้วันละประมาณ 200 ตัว และเมื่อผ่านไปได้ 7 วัน จึงจะส่งต่อไปยังแม่วัวที่เป็นตัวรับได้วันละ 10-20 เปอร์เซ็นต์ (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 28 มิถุนายน 2544 หน้า 2)





ม.รังสิต พบวิธีทำนมจากข้าวมอลต์ มีสารอาหาร-วิตามินไม่แพ้นมวัว

อาจารย์ ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล และคณะวิจัย จากภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำโครงการผลิตเครื่องดื่มสุขภาพนมข้าวมอลต์บรรจุกระป๋อง ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถนำผลงานวิจัยไปผลิตได้จริงในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และขนาดกลาง จากการตรวจพบว่าในน้ำนมข้าวมอลต์มีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้นมถั่วเหลือง และนมวัว น้ำนมข้าวมอลต์นี้ใช้ชื่อว่า มอลตามิลค์ ซึ่งมีอายุเก็บได้นานถึง 1 ปี (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 28 มิถุนายน 2544 หน้า 23)





เทคโนฯลาดกระบังคิดฮัลโหลเพื่อคนหูหนวก

นายเกียรติกูล เจียรนัยธนะกิจ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คิดค้นโทรศัพท์ชนิดพิเศษสำหรับคนหูหนวก ซึ่งจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกับคนปกติได้ดีขึ้น จากเดิมที่คนหูหนวกจะใช้วิธีสื่อสารด้วยระบบฝากข้อความผ่านเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ต หรือส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงคิดว่าควรจะต้องมีโทรศัพท์ที่คนหูหนวกสามารถใช้งานได้โดยตรง ไม่ต้องพึ่งพาระบบฝากข้อความ แต่ในระยะแรกคนหูหนวกอาจต้องจ่ายเงินซื้อโทรศัพท์ที่ว่านี้ในราคาสูงสักหน่อยราว 13,000 บาท ซึ่งรวมค่าเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือด้วย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2544 หน้า 32)





ข่าวทั่วไป


CAT cuts toll rates

ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะมีราคาถูกลงประมาณ 5.55 – 40% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป หลังจากที่การสื่อสารแห่งประทศไทยได้ตัดสินใจประกาศลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จากการลดราคาครั้งนี้จะทำให้อัตราในการโทรศัพท์ระหว่างประเทศต่ำสุด 18 บาทต่อนาที และสูงสุด 55 บาทต่อนาที ซึ่งเปรียบเทียบกับขณะนี้คือ นาทีละ 135 บาท (Bangkok Post, Saturday, June 30, 2001. Front Page)





ซ่อมใหญ่สะพานแขวน ‘ชำรุด’ เปิดประกวดราคางบ 100 ล้าน

นายสมบัติ อุทัยสาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การทางฯ เตรียมซ่อมสะพานพระราม 9 ครั้งใหญ่ บริษัทที่น่าจับตามองคือ บริษัทของจีน ซึ่งได้เคยส่งวิศวกรเข้ามาช่วยตรวจสอบผิวจราจรบนสะพานพระราม 9 แล้ว พบว่าผิวสะพานชำรุด เพราะแอสฟัลต์ที่ปูไว้ไม่ยึดเกาะกับผิวเหล็กของสะพาน เนื่องจากเป็นสะพานโครงสร้างเหล็ก ขณะนี้การทางฯ ได้ศึกษาในเรื่องนี้แล้ว เพื่อพิจารณาร่าง TOR ออกประกวดราคา ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2545 และจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และต้องมีการระบุให้มีการประกันการซ่อมไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2544 หน้า 34)





e-government ของไทย ควรเริ่มต้นได้หรือยัง ?

e-government คือวิธีการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ ที่เป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลงานภาครัฐ และปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นโดยมุ่งเป้าหมายที่คน 3 กลุ่ม คือ ประชาชน ภาคธุรกิจ และข้าราชการ e-government แบ่งได้ 2 ส่วนคือ 1.e-government เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือการสื่อสารกันระหว่างภาครัฐ กับรัฐด้วยกันโดยใช้ Intranet เป็นสื่อกลาง 2. e-service เป็นการใช้ Internet เป็นสื่อกลางในการให้บริการระหว่างภาครัฐ กับภาคธุรกิจ และภาครัฐกับประชาชน ประเทศสิงคโปร์ และออสเตรเลีย ได้กำหนดแผนการไว้ว่า ภาครัฐจะให้บริการผ่าน Internet และอิเล็กทรอนิกส์เต็ม 100% ภายในปี 2001 และประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ใช้บริการนี้ตั้งแต่ปี 2000 ส่วนประเทศไทยจะต้องมีการปรับปรุงกฏหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็น e-government อีกมากมาย (เดลินิวส์ อังคารที่ 26 มิถุนายน 2544 หน้า 16)





กรมวิทยาศาสตร์ประกัน ซอสปรุงรสไทยปลอดภัย

กรณีสำนักงานมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ประกาศเตือนผู้บริโภคให้ระวังอันตรายจากสาร 3-MPCF C] T 1.3 DCP ซึ่งเป็นสารปนเปื้อนในกลุ่มคอลโรโพรพานอล ในซอสปรุงรสหลายยี่ห้อที่ส่งออกจากประเทศไทย และเชื่อว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งหลังตรวจพบว่า มีการปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่อังกฤษกำหนดนั้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ศ.ดร. ภักดี โพธิศิริ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ยืนยันซอสปรุงรสไทยปลอดภัย ปริมาณสารที่ปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดเนื้องอก มะเร็ง หรือเป็นหมันในเพศชาย (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





น้ำส้มคั้นกับหัวไช้เท้าอาหารทิพย์ ช่วยบำรุงรักษาหัวใจให้ปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ กล่าวว่า ผลการวิจัยได้แสดงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การบริโภคผลไม้จำพวกมะนาวและส้มกับผักพวกกะหล่ำปลี เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ และ หัวไช้เท้ามากๆ ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและอัมพาตได้ การกินผลไม้มากๆ ก็ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง อันเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคหลอดเลือดหัวใจ (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ติดดูโทรทัศน์นานๆ เบาหวานกิน ดูมากยิ่งเป็นได้ง่ายกว่าคนดูน้อย

คณะนักวิจัยของนครบอสตันแห่งสหรัฐฯ รายงานการศึกษาวิจัยพบผู้ชายจำนวนไม่ต่ำกว่า 37,000 คนว่า ผู้ที่ชอบดูโทรทัศน์นานๆ มีโอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานแบบที่ปกติมักเป็นกับคนอ้วนที่วัยเกิน 40 ปีไปแล้วง่ายขึ้น ผู้ที่ดูโทรทัศน์มากระหว่าง 2-10 ชม.ใน 1 อาทิตย์ เทียบกับคนที่ดูนานรวมกัน 1 ชม. มีโอกาสที่จะเป็นได้มากกว่ากันถึง 66 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งคนที่ดูนานรวมกันมากถึงระหว่าง 21-40 ชม. จะเป็นเบาหวานมากขึ้นถึงสองเท่า และมากกว่าคนที่ดูนานรวมกันอาทิตย์หนึ่ง 40 ชม. เกือบสามเท่าตัว คณะนักวิจัยกล่าวว่าการนั่งๆ นอนๆ ดูโทรทัศน์นานๆ ทำให้เป็นเบาหวานได้ ก่อนหน้าก็เคยศึกษาพบกันว่าการออกกำลังช่วยป้องกันเบาหวานชนิดนี้ได้ และคนที่ติดโทรทัศน์มากๆ มักจะอ้วน (ไทยรัฐ พุธที่ 27 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





ดันไก่แจ้เข้าแผนฯ9 หวังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

นายวัลลภ เจียรวนนท์ นายกสมาคมไก่แจ้ไทย-อินเตอร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการเลี้ยงไก่แจ้มาเป็นเวลานานหลายร้อยปี และการเลี้ยงนั้นไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีการเลี้ยงและพัฒนากันแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฮอลแลนด์ รวมทั้งประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม เป็นต้น ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเจ้าของสายพันธุ์ จึงควรที่จะมีการส่งเสริมและพัฒนาให้ไปสู่ระดับสากล และให้เป็นที่นิยมกว้างยิ่งขึ้น เพราะไก่แจ้ นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสวยงามแล้ว ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การซื้อขายเป็นไปในราคาที่สูง สร้างรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี และที่สำคัญการเลี้ยงไก่แจ้นั้นใช้พื้นที่ไม่มาก (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





หนุนใต้ปลูกปทุมธานี 1 ชี้เป็นพันธุ์ที่เหมาะที่สุด

นายปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมฯมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 สำหรับในภาคใต้นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 23 จ.ปัตตานี ทดลองผลิตและกระจายพันธุ์ในเขตพื้นที่รับผิดชอบในฤดูนาปรังที่ผ่านมา โดยได้จัดทำแปลงทดสอบพันธุ์ข้าวหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 ใน อ.ระโนด จ.สงขลา จากผลการทดลองที่ผ่านมา ไม่พบการระบาดของศัตรูพืช โรคพืช และยังเป็นพันธุ์ข้าวหอมชนิดเดียวที่เหมาะกับพื้นที่ในภาคใต้ ดังนั้น ข้าวปทุมธานี 1 จึงเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในภาคใต้ ในการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากข้าวคุณภาพต่ำมาเป็นข้าวคุณภาพดี (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2544 หน้า 7)





เก็บเกินประกาศมหาดไทย

นายสมบัติ อุทัยสาง รมช.มหาดไทย ในฐานะดูแลการทางพิเศษฯ นายวิเชียร รัตนะพีระพงศ์ ประธานบอร์ดการทางพิเศษฯ แถลงถึงความพร้อมในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ใช้ทางด่วน ซึ่งจะเริ่มเก็บตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 1 กรกฎาคม 2544 (คืนวันเสาร์) เป็นต้นไปว่า ในทางปฏิบัติไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการทางพิเศษฯ ได้เตรียมความพร้อมรองรับไว้แล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ใช้ทางด่วน 1 และ 2 ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ใช้ทางจ่ายค่าทางด่วนรวมเท่ากับ 42 บาท แต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดว่า ค่าผ่านทางเท่ากับ 40 บาท กรณีนี้จะเป็นการกระทำที่ขัดกับประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ นายวิเชียร ตอบว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทางพิเศษครั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทยเพราะเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากประกาศกระทรวงมหาดไทยเป็นการประกาศเพื่อกำหนดอัตราค่าผ่านทาง หรือเทียบกับราคาสินค้าชนิดหนึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตรงกันข้าม นายสุวิช พึ่งเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ กล่าวว่า จะขยายเวลาลดค่าผ่านทางของทางด่วนอุดรรัถยา หรือทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะไปสิ้นสุดในปลายปี 2544 อัตราค่าผ่านทางในช่วงลดราคานี้ได้แก่ ที่ด่านเมืองทอง และศรีสมาน เก็บ 20/40/60 บาท ด่านบางพูน เชียงราก และบางปะอิน เก็บ 30/60/90 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ/6-10 ล้อ/มากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2544 หน้า 12)





‘สธ.’ แนะผู้ป่วยโรคเอดส์อย่ามองข้าม ‘สมุนไพรไทย’

น.พ.มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สาธารณาสุข มีนโยบายสนับสนุนการศึกษาทดลองการนำสมุนไพรมาใช้ โดยจะมีการวิจัยร่วมกับหมอพื้นบ้าน หากมีตำรับใดที่เชื่อว่าสามารถช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ได้ จะนำมาทดสอบความเป็นพิษทั้งตำรับก่อน น.พ.มงคล กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของสถาบันการแพทย์แผนใหม่พบว่า สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยเอดส์และอาการที่เกี่ยวข้องสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ สมุนไพร ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อเอชไอวีโดยตรง สมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อฉวยโอกาสทั้งภายในและภายนอก สมุนไพรที่ใช้รักษาอาการที่เกี่ยวข้อง และย้ำว่าสมุนไพรต่างๆ ไม่มีฤทธิ์ในการักษาโรคเอดส์โดยตรง แต่สามารถบรรเทาอาการของโรคได้ (ข่าวสด ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2544 หน้า 27)





สมป.เดินเครื่องพัฒนาห้องแล็บอิงเกณฑ์สากล

ดร.จงดี ว่องพินัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สมป. เป็นหน่วยงานกำหนดระบบคุณภาพและให้การรับรองห้องปฏิบัติการ เพื่อควบคุมคุณภาพของผลการวิเคราะห์ให้ได้มาตรฐานตามหลักสากล ส่งผลให้ห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการว่าผลการวิเคราะห์มีความถูกต้องแม่นยำ ในประเทศไทยขณะนี้มี 2 หน่วยงานที่ดำเนินการรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC Guide 17025 (ISO/TEO Guide 25 เดิม) คือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรับรองด้านผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยขอบข่ายการบริการของ สมป. ได้แก่ ห้องปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215