หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 18 ประจำวันที่ 2001-05-01

ข่าวการศึกษา

มจธ. จับมือทุกทิศจัดมหา’ลัยชุมชน
ทบวงฯชี้ข้อเสียเก็บคะแนนวัดความรู้ไว้ 3 ปี
สจพ. พร้อมออกนอกระบบตามแผน
‘อานันท์’ แก้ปมปัญหาจุฬาฯนอกระบบ
Dome legacy under threat
ทีเอเปิดเว็บไซต์ฟังผลเอนทรานซ์
รพ. ราชวิถีจับมือกศน. อุ้มพนักงานต่อ ม. ปลาย

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เที่ยวไทยไหนดี มจธ.โชว์ฝีมือโชว์เว็บไซต์ให้ค้นหา
พิมพ์ด้วยเสียง-เขียนด้วยมือ กับคอมพิวเตอร์ของคุณ
เด็กสิงคโปร์เริ่มติดเน็ต ร.ร.หาจิตแพทย์ปรึกษา
ทำไมโลกร้อนขึ้นทุกปี
Crop Scientists give green signal to GMOs

ข่าววิจัย/พัฒนา

รศ.ดร.อภิชัย-เพ็ญศิริ รับรางวัล PTIT
แขนกลผ่านเวิลด์ไวด์เว็บของเด็กมจธ.
โทรสาธารณะแบบบัตรไอซี ผลงานดีฝีมือ ทศท.
เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพด
เครื่องพรวนกำจัดวัชพืชใต้ต้นไม้ผล รับรางวัลจาก ‘สภาวิจัยแห่งชาติ’

ข่าวทั่วไป

‘ธูปสมุนไพร’…ไล่ยุง อีกหนึ่งผลงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรห้วยอีจ่าง
เพิ่มโทษขับรถเมาเกิดอุบัติเหตุ ห้ามใช้ใบขับขี่ทันทีเริ่ม 16 ม.ค. 45
‘มอส-แคทรียา’ ทูตต้านยาเสพย์ติด
กรมศิลป์ใช้ไอทีตีปี๊บงานพิพิธภัณฑ์
‘สมัคร’ ปิ๊งอีกผุดศูนย์สินค้าตจว. เช่าที่ รฟม.รวมแหล่งของดี-อาหารเด็ด





ข่าวการศึกษา


มจธ. จับมือทุกทิศจัดมหา’ลัยชุมชน

ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า มจธ. จะจัดโครงการมหาวิทยาลัยกับชุมชน เพื่อนำงานวิชาการที่สถาบันได้ทำการวิจัยไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะเน้นชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ทั้งที่ทุ่งครุ-ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน และราชบุรี รวมถึงชุมชนอื่นๆ ที่ต้องการให้สถาบันเข้าไปร่วมทำงาน ด้วยระบบเครือข่ายหรือแบบไตรภาคี ประกอบด้วย มจธ.ในฐานะหน่วยวิชาการ ชุมชนหรือเอ็นจีโอในพื้นที่นั้น และหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ให้ความสนใจกิจกรรมที่จัดขึ้น การดำเนินการจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรกเป็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการหลวง และโครงการตามพระราชดำริ รวมทั้งการอบรมเกษตรกร ส่วนที่สอง “มหาวิทยาลัยกับโรงเรียน” เป็นความร่วมมือของมจธ. กับร.ร.ของกรมสามัญศึกษา 19 แห่ง และร.ร. สังกัดกทม. 16 แห่ง โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สสวท.) และยังขยายไปสู่ ร.ร.ในถิ่นทุรกันดารภายใต้พระอุปถัมป์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และส่วนของการเรียนการสอน ได้ส่งเสริมให้นศ. เรียนรู้โดยสัมผัสกับชุมชน (สยามรัฐ เสาร์ที่ 28 เมษายน 2544 หน้า 20)





ทบวงฯชี้ข้อเสียเก็บคะแนนวัดความรู้ไว้ 3 ปี

รศ.ดร. วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทบวงฯ จะเสนอที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ทบทวนการเก็บคะแนนสอบวัดความรู้ จากที่ใช้ได้ถึง 3 ปี มาเป็น 2 ปี เพราะเชื่อว่าการเก็บคะแนนไว้ 3 ปี จะมีแต่ข้อเสียคือ 1.เด็กสละลิทธิ์สูง 2.เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเด็กที่เพิ่งจบ ม.6 และสอบครั้งแรกกับเด็กที่สอบหลายครั้งแล้ว ซึ่งจะสามารถเลือกสอบเทียบบางวิชาที่คะแนนไม่ดี 3.หลักสูตรมัธยมปลายยังมุ่งที่จะให้ผู้ที่เพิ่งเรียนจบได้เข้าศึกษาต่อได้ทันที ไม่ใช่เด็กที่จบมาหลายปี อาจเกิดปัญหาในการเรียน ปลัดทบวงฯ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2545 จะยังคงใช้การสอบระบบเดิมไปก่อน เพราะหากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดจะต้องดูการดำเนินงานผ่านไป 3 ปีก่อน ส่วนเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้ใช้คะแนนสอบจากข้อสอบมาตรฐานกลางมาคัดเลือกนักศึกษานั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นการกระตุ้นให้เด็กตั้งใจเรียนตลอดชีวิต และถ้าจะให้นำคะแนนการประเมินคุณภาพและความถนัดทางการเรียนมาประกอบการพิจารณาคัดเลือกด้วยก็จะยิ่งดี เพราะคะแนนดังกล่าวจะทำให้รู้ว่าเด็กมีศักยภาพที่จะเรียนต่ออุดมศึกษามากน้อยเพียงใด (เดลินิวส์ พุธที่ 25 เมษายน 2544 หน้า 12)





สจพ. พร้อมออกนอกระบบตามแผน

นายบรรเลง ศรนิล อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) เปิดเผยว่า สจพ. อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สจพ.พ.ศ…. ครั้งที่ 3 ซึ่งประชาคม สจพ. ยังมีความเข้าใจและไม่เข้าใจเรื่องนี้ครึ่งต่อครึ่ง สจพ.จะปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลตามแผนดำเนินงานแน่นอน เนื่องจากต่อไปหากเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลจะขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการอุดมศึกษา จะทำให้การดำเนินงานต่างๆ ล่าช้า สับสน มากกว่าคล่องตัว (มติชน เสาร์ที่ 21 เมษายน 2544 หน้า 10)





‘อานันท์’ แก้ปมปัญหาจุฬาฯนอกระบบ

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ ได้สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. จุฬาฯ ครั้งที่ 1 ได้สรุปประเด็นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ปัญหาที่ชาวจุฬาฯไม่ทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งต้องแก้ไขโดยมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 2 ปัญหาที่เกิดจากความไม่ไว้ใจกับการออกนอกระบบ และประเด็นที่ยังสงสัย เช่น เกี่ยวกับงบประมาณ และเงินเดือน คณะกรรมการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดมาจัดทำเป็นข้อมูลสาธารณะแจกให้ชาวจุฬาฯ ทราบในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 20 เมษายน 2544 หน้า 12)





Dome legacy under threat

จากการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นชอบในหลักการ ให้ย้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคณะของมหาวิทยาลัยไปเรียนที่วิทยาเขตรังสิตนั้น นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ต่อต้านและแสดงความคิดเห็นว่า หากย้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีออกไปจากวิทยาเขตท่าพระจันทร์ จะทำให้กิจกรรมทางด้านสังคมและการเมืองของนักศึกษาพลอยสูญหายไปด้วย เพราะขาดการเข้าร่วมจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี และกล่าวอีกว่าที่วิทยาเขตรังสิตยังไม่พร้อมในเรื่องที่พัก บรรยากาศ และกิจกรรมนักศึกษา อธิการบดีของมธ. กล่าวว่า เรื่องการย้ายไปรังสิตนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งแผนการต่อนักศึกษาและบุคลากร มธ. มาโดยตลอด และยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนรองอธิการบดีฝ่ายบุคคล ได้กล่าวปฏิเสธว่า มธ. ไม่ได้ย้ายนักศึกษาปริญญาตรีออกไปเพื่อทำให้วิทยาเขตท่าพระจันทร์เป็นแหล่งการค้าทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวว่า แผนการย้ายนี้ไม่เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย เพราะมีคณะผู้บริหารน้อยกว่า 20 คน อยู่ในทีมผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ (Nation, Saturday, April 28, 2001, Front page)





ทีเอเปิดเว็บไซต์ฟังผลเอนทรานซ์

นายกรีกรณ์ ไพรีพินาศ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์แอคทีฟ มีเดีย เซอร์วิส จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกาศผลเอนทรานซ์ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อให้นักเรียนได้รับฟังผลการสอบได้รวดเร็วโดยเพียงแค่สอบถามผลสอบผ่านโทรศัพท์ 900-9099, 698-1345 หรือเปิดเว็บไซต์ www.clickta.com โดยนักเรียนหรือญาติเพียงแค่พิมพ์ชื่อ หรือรหัสประจำตัวผู้สอบเท่านั้น ก็สามารถที่จะรู้ผลสอบเอนทรานซ์ได้แล้ว นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังได้แนะนำสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่สามารถเข้าศึกษาต่อได้อีกด้วย โดยทางทบวงมหาวิทยาลัยจะประกาศผลสอบเอนทรานซ์ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ (สยามรัฐ พุธที่ 25 เมษายน 2544 หน้า 20)





รพ. ราชวิถีจับมือกศน. อุ้มพนักงานต่อ ม. ปลาย

น.พ. สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้บุคลากรของโรงพยาบาลให้มีโอกาสในการทำงานและศึกษาต่อไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้โรงพยาบาลได้อนุเคราะห์ให้ใช้อาคารตึกสิรินธร เป็นสถานที่นัดพบของกลุ่มนักศึกษาของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรของโรงพยาบาลถึง 80 % โดยได้ร่วมกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนเขตพญาไทจัดการศึกษามาเป็นเวลาหลายภาคการศึกษาแล้ว ปัจจุบันมีผู้จบชั้น ป.6 และ ม.3 แล้วถึง 50% โดยเหลือระดับ ม.ปลาย ที่ต้องนำร่องจัดการศึกษา โดยมีบุคลากรของโรงพยาบาลอีก 200 กว่าคนที่ยังไม่ได้เรียนต่อซึ่งโรงพยาบาลจะผลักดันให้เรียนต่อไป (สยามรัฐ อังคารที่ 24 เมษายน 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เที่ยวไทยไหนดี มจธ.โชว์ฝีมือโชว์เว็บไซต์ให้ค้นหา

การประกวด Nation Junior Web Competition 2000 หนึ่งในโครงการส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสนำเทคโนโลยีมาสร้างเว็บไซต์ ได้ทีมที่ชนะเลิศการประกวดประเภท My Country อายุไม่เกิน 21 ปี ได้แก่ทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์ มัลติมีเดีย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สมาชิกทีมนี้มี 5 คนประกอบด้วย วศิณ ลีชะไชย วิภัสรา พุทธมหิกานนท์ วีระยา เขียนกุลพัฒนากิจ สุชาดา พิทักษ์โชคชัย และฉวีวรรณ คงโชคสมัย เว็บไซต์ที่ส่งประกวดแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยนี้ บรรจุไปด้วยเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว อาหารไทยขึ้นชื่อ ประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ปฏิทินการท่องเที่ยว ซึ่งจะบอกให้ทราบว่าเมื่อไรมีเทศกาลอะไร เกิดขึ้นที่ไหน เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปชมและเตรียมตัวจะไปร่วมงาน โดยการวางแผนเดินทางตั้งแต่เนิ่นๆ ภายในยังมีแกลเลอรี่ประมวลภาพต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของไทย และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้อีกด้วย (มติชน ศุกร์ที่ 27 เมษายน 2544 หน้า 14)





พิมพ์ด้วยเสียง-เขียนด้วยมือ กับคอมพิวเตอร์ของคุณ

ในราววันที่ 31 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ไมโครซอฟท์เตรียมวางตลาดซอฟต์แวร์ที่ใช้ ‘พิมพ์ด้วยเสียง เขียนด้วยมือ’ ของตัวเองออกมาอย่างเป็นทางการ ใช้ชื่อว่า ออฟฟิศ เอ็กซ์พี ที่พุ่งเป้าจำหน่ายในเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะ เพราะมันเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบส่วนใหญ่โดยนักวิจัยของไมโครซอฟท์ในห้องทดลองที่ปักกิ่ง เพื่อให้ใช้กับภาษาจีนและตัวคันจิ ของญี่ปุ่นได้ นอกจากนั้นฟังก์ชั่นที่ใช้จำแนกลายมือเขียนของออฟฟิศ เอ็กซ์พี สามารถใช้กับภาษาเกาหลีได้ เอ็กซ์พีที่ว่านี้จะมีเครื่องหมายปรากฏให้เห็นอยู่บนแถบเครื่องมือ (tool bar) ของโปรแกรมทุกอย่างของออฟฟิศ ที่เราต้องทำก็แค่คลิกที่เครื่องหมายที่ว่าจากนั้นก็เขียนลงบนแผ่นรอง และปากกาอิเล็กทรอนิกส์ (ขายแยกต่างหากจากซอฟต์แวร์ โปรแกรมไหนมีฟังก์ชั่นให้พิมพ์ได้ เราก็ใช้การเขียนแทนการพิมพ์ได้ทั้งหมด มันทำงานได้ดีที่สุดเมื่อใช้กับโปรแกรม เวิร์ด และเอาท์ลุก ซึ่งเราจำเป็นต้องพิมพ์มากที่สุดอยู่แล้ว ซอฟต์แวร์ เอ็กซ์พี ของไมโครซอฟท์ ทำให้เราเขียนด้วยลายมือ แล้วกลายเป็นตัวพิมพ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ หรือจะปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นลายมืออย่างเดิมก็ได้ พวกเขาเรียกมันว่าอิงค์อิงค์ ที่แปลว่าหมึกนั่นแหละ ข้อดีก็คือเจ้าอิงค์หรือลายมือของเราในเครื่องสามารถปรับแต่งได้ ไม่ว่าจะเป็นย่อ ขยาย ทำตัวหนา ตัวเอียง ขีดเส้นใต้ แถมแลกเปลี่ยนระหว่างคอมพ์ที่บ้านกับคอมพ์มือถือพกพากลับไปกลับมาได้อีกต่างหาก ปัญหาสำคัญของโปรแกรมก็คือ การจำแนกเสียงของคอมพิวเตอร์ยังไม่ละเอียดและถูกต้องมากพอ จนทำให้มีปัญหากับคำพ้องเสียง และประโยคหรือวลีที่ออกเสียงคล้ายหรือใกล้เคียงกัน กระนั้นแม้แต่การใช้ซอฟต์แวร์ พิมพ์ด้วยเสียงในภาษาอังกฤษเอง ก็ยังสับสนและผิดพลาดอยู่มาก อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่า ออฟฟิศ เอ็กซ์พี ของไมโครซอฟท์ จะช่วยให้การ “พิมพ์ด้วยเสียง เขียนด้วยมือ” แพร่หลายและลองใช้กันมากขึ้นในเอเชียในอนาคตอันใกล้ (มติชน ศุกร์ที่ 27 เมษายน 2544 หน้า 11)





เด็กสิงคโปร์เริ่มติดเน็ต ร.ร.หาจิตแพทย์ปรึกษา

เมื่อเร็วๆ นี้ เอพีรายงานว่า นายโฮ เป็ง คี รัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและกิจการภายในประเทศของสิงคโปร์ ได้ออกมาเตือนถึงโอกาสเสี่ยงที่ประชาชนหลายพันคนในสิงคโปร์จะ “ติดอินเตอร์เน็ต” ได้กล่าวตอนหนึ่งในแถลงการณ์ต่อที่ประชุมว่าด้วยปัญหานี้ว่า พฤติกรรมการเสพติด รวมทั้งการติดอินเตอร์เน็ต สามารถทำลายสุขภาพของผู้ใช้ หรือแม้กระทั่งความสุข ความสัมพันธ์ กระทั่งที่สุด จิตวิญญาณของผู้ใช้หรือผู้เล่นอินเตอร์เน็ต (มติชน อาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2544 หน้า 16)





ทำไมโลกร้อนขึ้นทุกปี

นักวิทยาศาสตร์ได้สรุปว่า สาเหตุที่โลกร้อนขึ้นทุกปี สาเหตุใหญ่เกิดจากความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ที่มีมากขึ้นกว่าระดับมาตรฐาน โดยเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลกจนโหว่เป็นช่องใหญ่ ทำให้อากาศของโลกเพี้ยนไปจากปกติ อุบัติภัยที่เกิดจากลมฟ้า อากาศ และน้ำท่วม ก็เกิดขึ้นตามมา (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 เมษายน 2544 หน้า 16)





Crop Scientists give green signal to GMOs

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรม เป็นสิ่งที่ปลอดภัยต่อการบริโภค นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน กล่าวว่า GMOs เป็นเครื่องมือที่มีความสามารถสูง ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลก และขณะนี้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์จาก GMOs มากที่สุดในโลก รองลงมาคือ อาร์เจนตินา แคนาดา และจีน โดยสหรัฐฯ ให้การยอมรับมันฝรั่งที่มีการตัดแต่งพันธุ์ตั้งแต่ปี 1994 ตามด้วยข้าวโพดชนิดต่างๆ 10 พันธุ์ เมล็ดฝ้าย 2 พันธุ์ มะเขือเทศ 6 พันธุ์ และมันฝรั่ง 3 พันธุ์ แต่ผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปได้ต่อต้านผลิตภัณฑ์ GMOs (Nation, Saturday 25, April, 2001, p. 9A)





ข่าววิจัย/พัฒนา


รศ.ดร.อภิชัย-เพ็ญศิริ รับรางวัล PTIT

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มอบรางวัล PTIT ประเภท PTIT Fellow ประจำปี 2544-2545 ให้ รศ.ดร.อภิชัย เทอดเทียนวงษ์ รองศาสตราจารย์ระดับ 7 ประจำโครงการทักษะวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผลงานวิจัยที่น่าสนใจ ได้แก่ การไหลของของไหลแบบหลายวัฎภาค, เทคโนโลยีฟลูอิไดเซชั่น, การทำรูปแบบจำลองและการคำนวณโดยใช้คอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิง, การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เคมีแบบหลายวัฎภาค พร้อมกันนี้ได้มอบรางวัล PTIT Scholar ให้ นางสาวเพ็ญศิริ ลิ้มวัฒนาภรณ์ เจ้าหน้าที่วิจัยระดับ 4 ประจำศูนย์เทคโนโลยีซ่อมบำรุงรักษา มจธ. (มติชน พฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2544 หน้า 6)





แขนกลผ่านเวิลด์ไวด์เว็บของเด็กมจธ.

นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย นายสมภพ เกียรติผดุงกุล นายสุวิทย์ ธรรมาวุฒิกุล นายเอกลักษณ์ หิรัญสิริสวัสดิ์ และนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย น.ส. รัฐพรรณ กำอินแก้ว และนายวีรพล ไพศาลธนกุล ร่วมกันคิดออกแบบ ระบบการควบคุมแขนกลผ่านบริการ World Wide Web ขึ้น โดยอาศัยประโยชน์จากสถาปัตยกรรม ลูกข่ายและแม่ข่ายในการทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมแขนกลที่มี 5 แกน ผ่านเวิลด์ไวต์เว็บ ซึ่งที่ด้านลูกข่ายจะแบ่งเป็น 2 ส่วนประกอบด้วย ส่วนการควบคุม จะมีปุ่มตัวอักษร A-Z เขียนด้วยภาษา Java และส่วนของการรับสัญญาณภาพเคลื่อนไหว จากสถานที่ทำงานของแขนกล ระบบที่ใช้ในการจัดการ การทำงานของวงแขนกลซึ่งเขียนขึ้นโดย C++ ที่แม่ข่ายโครงงานนี้ ยังช่วยในการจัดการเกี่ยวกับความยุ่งยากซับซ้อนในด้าน Kinematics and Singular ity ที่ช่วยคำนวณขอบเขตการทำงานและค่ามุมของแต่ละ Joint ของแขนกล ซึ่งจะสั่งงานผ่านภายใต้โพรโตคอลของการสื่อสารสำหรับผู้ใช้ สามารถประยุกต์ระบบการทำงานนี้ให้มีความยืดหยุ่นได้ ผู้ใช้สามารถระบุและตรวจสอบรายละเอียดของการผลิตจากระยะไกลได้อย่างง่ายดาย ในอนาคตอาจมีผู้ประยุกต์ใช้กับการทำงานในสถานที่อันตรายอย่างในโรงงานนิวเคลียร์ โดยสั่งให้แขนกลหรือหุ่นยนต์ทำงานได้ผู้ใช้งานจะออกคำสั่งในระยะไกลๆ หรืออยู่ประเทศไหนในโลกก็ได้ เพราะเป็นการสั่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตและยังใช้ระบบนี้เชื่อมต่อของเครื่องได้มากกว่า 1 เครือข่าย หรือการเชื่อมต่อจากผู้ใช้มากกว่า 1 คน ต่อไปอาจจะมีการพัฒนากล้องวิดีโอให้เคลื่อนที่ได้ และโครงการวิจัยนี้จะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การคิดค้นต่างๆ ต่อไปในอนาคต (สยามรัฐ ศุกร์ที่ 27 เมษายน 2544 หน้า 20)





โทรสาธารณะแบบบัตรไอซี ผลงานดีฝีมือ ทศท.

โทรศัพท์สาธารณะแบบบัตรไอซี ผลงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นผลงานการวิจัยที่ได้รับรางวัลคิดค้นดีเยี่ยมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมประจำปี 2544 จากสภาวิจัยแห่งชาติ นายสมยศ พงษ์สุวรรณ หัวหน้าคณะวิจัยฯ ได้ทดลองใช้งานแล้วกว่า 6 พันเครื่อง กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 5 หมื่นเครื่องทั่วประเทศ ประหยัดงบประมาณในการนำเข้ากว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยมีเสียงบอกมูลค่าบัตรสำหรับคนตาบอดและใช้ระบบการส่งข้อมูลด้วยตัวหนังสือสำหรับผู้พิการทางหู (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 เมษายน 2544 หน้า 16)





เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพด

นายพลกฤษณ์ เฉยทอง เกษตรกรจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประดิษฐ์เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพด ซึ่งสามารถกำหนดระยะการส่งของเมล็ดข้าวโพดที่ปลูกได้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการหยอดเมล็ดข้าวโพด และทุ่นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน แต่ปัจจุบันเครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพดนี้ยังไม่สามารถตั้งระยะความลึกได้ เนื่องจากเมื่อหยอดข้าวโพดลงไปในดินที่ไม่เสมอ ตื้นบ้างลึกบ้าง เวลาตกลงในที่ตื้นเมล็ดเมื่อไม่มีฝนตกก็จะไม่ขึ้น ที่หยอดไว้ลึกๆ จะขึ้นได้ดีกว่า แต่หากฝนตกมากเกินไปที่หยอดตื้นก็ขึ้นได้ดี แต่ที่หยอดไว้ลึกก็จะเน่าตาย ผู้สนใจกรุณาติดต่อได้ที่ 49 หมู่ 8 บ้านซับกองทอง ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ รหัสไปรษณีย์ 67130 หรือโทรศัพท์ (056) 724-717 (เดลินิวส์ อังคารที่ 24 เมษายน 2544 หน้า 32)





เครื่องพรวนกำจัดวัชพืชใต้ต้นไม้ผล รับรางวัลจาก ‘สภาวิจัยแห่งชาติ’

นายมงคล กลางวโรภาส และนายเอนก สุขเจริญ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประดิษฐ์ เครื่องพรวนกำจัดวัชพืชใต้ต้นไม้ผล เครื่องนี้สามารถพรวนดินและกำจัดวัชพืชไปพร้อมๆ กัน โดยใช้เวลาพรวนดินต่อต้นเฉลี่ยประมาณ 1 นาทีเศษ และในการพรวนอย่างต่อเนื่องจะเสียค่าเชื้อเพลิงประมาณ 40 สตางค์ ซึ่งประหยัดแรงงานได้ 12 เท่าตัว และเร็วกว่าประมาณ 20 เท่าตัว งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลชมเชย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2544 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 21 เมษายน 2544 หน้า 23)





ข่าวทั่วไป


‘ธูปสมุนไพร’…ไล่ยุง อีกหนึ่งผลงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรห้วยอีจ่าง

นางอาภา สายทอง ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรห้วยอีจ่าง จ.อุทัยธานี ได้คิดทำธูปสมุนไพรไล่ยุง โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้เป็นมารดา ส่วนประกอบในการทำคือ เปลือกต้นธูป เปลือกสะเดา เปลือกต้นอีเห็น ผิวมะกรูด ต้นตะไคร้หอม และแง่งข่า ซึ่งทุกอย่างมีสรรพคุณในการไล่ยุง นำไปตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด แล้วจึงนำมาทำเป็นธูป วิธีใช้จุดไฟนำไปวางบริเวณที่มียุง ไม่มีอันตรายต่อคน (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 2 เมษายน 2544 หน้า 33)





เพิ่มโทษขับรถเมาเกิดอุบัติเหตุ ห้ามใช้ใบขับขี่ทันทีเริ่ม 16 ม.ค. 45

พ.ต.ต. ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) ได้หารือแนวทางและมาตรการป้องกัน เกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจร ได้เสนอออกกฎหมายห้ามสาดน้ำสงกรานต์กับผู้ขับขี่รถ เพิ่มโทษคนเมาสุราหนักขึ้น 1 ใน 3 ใช้มาตรการตัดแต้มใบขับขี่ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเพราะเมาสุรา พักใช้ใบขับขี่ทันที จะเริ่ม 16 มกราคม 2545 (เดลินิวส์ พุธที่ 25 เมษายน 2544 หน้า 34)





‘มอส-แคทรียา’ ทูตต้านยาเสพย์ติด

พล.ท. พิศณ อุไรเลิศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือก “มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และ “แคทรียา อิงลิช” ให้เป็นทูตเยาวชนต่อต้านยาเสพย์ติดในปีแรก เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่สื่อและร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพย์ติด และกิจกรรมบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพย์ติดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่มักยึดถือนักร้องนักแสดงเป็นแบบอย่าง (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 เมษายน 2544 หน้า 20)





กรมศิลป์ใช้ไอทีตีปี๊บงานพิพิธภัณฑ์

นายอารักษ์ สังหิตกุล รองอธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้กรมศิลปากรปรับปรุงงานด้านพิพิธภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการบรรยายหรือให้ข้อมูลการชมพิพิธภัณฑ์แก่ผู้เข้าชม และขณะนี้กรมศิลปากรกำลังพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อรวบรวมรายละเอียดของพิพิธภัณฑ์ภายในประเทศ รวมถึงคำบรรยายสรุปไว้ในอินเตอร์เน็ตด้วยโดยสามารถเปิดดูได้ที่ www.thaimuseum.com ซึ่งจะเริ่มเผยแพร่ได้ประมาณกลางปีนี้ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 27 เมษายน 2544 หน้า 12)





‘สมัคร’ ปิ๊งอีกผุดศูนย์สินค้าตจว. เช่าที่ รฟม.รวมแหล่งของดี-อาหารเด็ด

นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ว่า กทม.มีโครงการที่จะสร้างศูนย์สินค้าต่างจังหวัดศูนย์อาหารที่มีลักษณะคล้ายกับบาซาร์ให้เป็นบางกอกไนต์บาซาร์ซึ่งกทม. จะไปเช่าที่ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยประมาณ 153 ไร่ สร้างเป็นที่ขายสินค้าของดีจากต่างจังหวัด เปิดให้ขายได้ทุกวัน โดยวันจันทร์ถึงวันศุกร์จะเปิดในช่วงเย็นถึงค่ำ และวันเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดขายได้ทั้งวัน จะไม่มีการโอนแผงให้คนอื่น ถ้าไม่ขายก็ให้คืนแผง ซึ่งตรงนี้ทางคณะกรรมการตลาดนัดจตุจักรจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งขณะนี้กทม.กำลังดำเนินการที่จะเจรจาขอเช่าพื้นที่อยู่ หากเช่าพื้นที่ได้ก็จะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จก่อนสิ้นปีนี้ สำหรับผู้สนใจนำของดีของจังหวัดมาขายก็สามารถติดต่อกับกทม. ได้ (สยามรัฐ พุธ 25 เมษายน 2544 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215