หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 31 ประจำวันที่ 2001-08-07

ข่าวการศึกษา

ศธ.เร่งวางกรอบการสอน 3 ระบบในที่เดียวกัน
‘กรีนไดมอน’บี้นักวิชาการเคลียร์ กิน ‘สาหร่ายฯ’ เท่าไรถึงเป็นเกาต์

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ควันธูปเป็นตัวการก่อมะเร็งปอด เกิดอากาศเป็นพิษยิ่งกว่าบนถนน
ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพจิ๋ว ให้กลืนลงไปถ่ายรูปลำไส้
เตือนภัย 3-MCPD, DPC ในซอสปรุงรส
เสียงรถยนต์กดสมองของเด็ก เล่าเรียนเขียนอ่านไม่รู้เรื่อง
กรมวิทย์ปรับตำรายาใหม่เน้นคุณภาพ-สมุนไพรไทย
คาร์ดป้องกันไวรัสเซอแคมฝีมือไทย

ข่าววิจัย/พัฒนา

นักวิจัยไทยรีดเลือดกับปู ทำน้ำยาตรวจโรคราคาถูก
กรมวิชาการฯรับลูกกษ. ใช้ไมยราบยักษ์เพาะเห็ด
“เตาเผาถ่านเศรษฐกิจ” อนุรักษ์ธรรมชาติแบบทูอินวัน






ข่าวการศึกษา


ศธ.เร่งวางกรอบการสอน 3 ระบบในที่เดียวกัน

ดร.กล้า สมตระกูล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการสัมมนาคณะทำงานยกร่างการจัดการศึกษา 3 รูปแบบในสถานศึกษา ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เห็นว่าควรแบ่งการจัดการศึกษาร่วมออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ในสถานศึกษาใดที่มีการจัดการศึกษาในระบบเป็นหลัก แต่ได้มีการผสมผสานระหว่างการศึกษา 3 รูปแบบร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัยน้อยเพียง 5-6% รวมทั้งคิดเวลาเรียนเป็นเกณฑ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กบางกลุ่ม จนต้องถูกตัดสิทธิการสอน ที่ประชุมเห็นว่าควรให้มีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอนรวมทั้งการคิดเวลาเรียน โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือครอบครัวจัดการศึกษาให้ก็ได้ แต่ต้องมีการทำข้อตกลงกับทางโรงเรียนให้แน่ชัด 2. จะเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ โดยมีการกำหนดหลักสูตรการศึกษาในการศึกษานอกระบบ และกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยไว้อย่างชัดเจน มีบริการห้องสมุดและบริการอินเตอร์เน็ตอย่างเต็มที่ หากได้รับความเห็นชอบก็จะจัดทำระเบียบและคำสั่ง ศธ.ต่อไป พร้อมทั้งรับสมัครสถานศึกษาที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการทดลองนำร่องจัดการศึกษาทั้ง 2 ลักษณะ ในภาคละ 5 แห่ง โดยให้ครอบคลุมทั้งระดับประถมและมัธยม ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน ซึ่งจะใช้เวลาในการนำร่อง 1 ปี (เดลินิวส์ พุธที่ 1 สิงหาคม 2544 หน้า 13)





‘กรีนไดมอน’บี้นักวิชาการเคลียร์ กิน ‘สาหร่ายฯ’ เท่าไรถึงเป็นเกาต์

ข่าวรายงานว่า ตามที่บริษัท กรีนไดมอน เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสาหร่ายเกลียวทอง ยื่นฟ้องนางอรอนงค์ กังสดาลอำไพ หัวหน้าภาควิชาอาหารเคมีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจาก นางอรอนงค์ ได้กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายวิชาการว่า กินสาหร่ายเกลียวทองอาจเป็นโรคเกาต์ได้ ซึ่งเป็นกรณีแรกที่นักวิชาการให้ความเห็นทางวิชาการแล้วถูกฟ้อง ทางสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ซึ่งได้จัดเวทีอภิปรายเรื่องสิทธิเสรีภาพการให้ข้อมูลข่าวสารของนักวิชาการ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของนักวิชาการและตอบโต้บริษัทไปเมื่อเร็วๆ นี้ นายเกรียงศักดิ์ ศิริแสงเลิศ กรรมการบริหาร กล่าวว่า หากนางอรอนงค์ ยอมออกมาบอกให้ผู้บริโภคทราบว่าต้องกินสาหร่ายเกลียวทองปริมาณมากเท่าใดจึงจะเกิดโรคเกาต์ ไม่ใช่บอกเฉยๆ ว่ากินแล้วเป็นโรคเกาต์ แล้วจะถอนฟ้องให้ นายสมชาย บุญสม กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ขณะนี้กระแสออกมาว่า นักวิชาการพูดผิดได้ไม่เป็นไร แต่ถ้านักธุรกิจพ่อค้าพูดผิดเป็นการผิดกฎหมาย แล้วความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันอยู่ที่ไหน (มติชน จันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ควันธูปเป็นตัวการก่อมะเร็งปอด เกิดอากาศเป็นพิษยิ่งกว่าบนถนน

วารสารวิทยาศาสตร์ “นิว ไซแอนดิสท์” อันมีชื่อเสียง เสนอรายงานว่า คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเจง กุง ของไต้หวัน พบในการศึกษาวิจัยควันของการจุดธูปตามวัดพุทธศาสนาหลายแห่งว่า มีสารประกอบทางเคมีซึ่งมีพิษก่อมะเร็งปอดได้อยู่เต็ม และมีระดับมลพิษในอากาศสูงเสียยิ่งกว่าตามสี่แยกในกรุงเสียอีก เมื่อเอาตัวอย่างอากาศที่เก็บจากในโบสถ์ที่มีการจุดธูปไหว้พระกันมากๆ เทียบกับอากาศตามสี่แยกที่มีการจราจรมากๆ พบว่า ตัวอย่างอากาศในโบสถ์เต็มไปด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มากกว่าอากาศตามสี่แยกที่มีการจราจรคับคั่งเสียอีก ผลการศึกษาพบว่า ภายในโบสถ์ที่มีการจุดธูปจำนวนมากๆ จะมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอน สูงกว่านอกโบสถ์ถึง 19 เท่า และเหนือกว่าที่พบอยู่ตามสี่แยกทีมีการจราจรหนาแน่น นักวิจัยพบว่า โดยเฉพาะระดับของสารเบนโซไพลีน อันเป็นสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งอย่างหนึ่ง มีสูงกว่าอากาศตามบ้านที่มีคนสูบบุหรี่อยู่ถึง 45 เท่า และหากเป็นบ้านที่ไม่มีการเผาไหม้ใดๆ เช่น เตาในครัว จะสูงกว่าถึง 118 เท่า (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพจิ๋ว ให้กลืนลงไปถ่ายรูปลำไส้

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้กล้องถ่ายภาพเล็กจิ๋วขนาดเท่าเท็ดแคปซูลยา ของบริษัทเครื่องมือแพทย์อิสราเอล ใช้ในการตรวจลำไส้เล็กเพื่อตรวจหามะเร็ง เนื้องอก อาการตกเลือดและโลหิตจาง โดยให้คนไข้กลืนลงไปในท้อง มันจะสามารถถ่ายภาพช่วงของลำไส้เล็ก ซึ่งยาว 20 ฟุต แต่ตรวจหาด้วยเครื่องมือแพทย์ที่มีอยู่ปัจจุบันได้ยาก กล้องจะเคลื่อนไปตามกระเพาะ ลำไส้เล็กและใหญ่ และหลุดเมื่อถ่ายออกมาในที่สุด ระหว่างที่ไหลเคลื่อนไปนั้นมันจะถ่ายภาพในอัตราวินาทีละสองภาพ แล้วส่งภาพเป็นสัญญาณวิทยุกลับมายังเครื่องบันทึกที่คนไข้คาดไว้ที่เอว แพทย์จะพ่วงเครื่องเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจดูภาพ ซึ่งจะดูเป็นภาพนิ่งหรือให้เดินเป็นภาพชุดติดกันแบบภาพของกล้องวิดีโอก็ได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





เตือนภัย 3-MCPD, DPC ในซอสปรุงรส

หลังจากเมื่อปี 2542 ยุโรปได้ตรวจพบสาร 3-MCPD ในผลิตภัณฑ์ซอสถั่วเหลืองที่นำเข้าจากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย ในปริมาณที่สูงเกินกว่ามาตรฐาน ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ซอสถั่วเหลืองจากแถบเอเชียทั้งหมด มาในปีนี้ประเทศอังกฤษได้ทำการสุ่มตรวจหาสาร 3-MCPD ปนเปื้อนในซอสปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง ซอสหอยนางรม ซอสเห็ด กันอีกครั้ง ผลปรากฏว่าจาก 100 ตัวอย่างมีถึง 22 ตัวอย่างที่มีปริมาณสาร 3-MCPD ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ตัวอย่างที่พบปนเปื้อนมากที่สุดคือ ที่ระดับ 93.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นซอสถั่วเหลืองจากประเทศไทย ทำให้อังกฤษเรียกคืนสินค้าซอสปรุงรสทุกยี่ห้อในท้องตลาดที่มีสาร 3-MCPD ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบีย ห้ามนำเข้าซอสปรุงรสจากไทย และอีกหลายประเทศเป็นการชั่วคราว ขณะที่มาตรฐานของผู้นำเข้าสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป กำหนดให้พบสาร 3-MCPD ปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฟินแลนด์และออสเตรีย กำหนดไว้ที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กล่าวคือ 3-MCPD เป็นสารที่เป็นพิษต่อไต และหากได้รับเกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน จะทำให้การเคลื่อนที่ของสเปิร์มลดลง และมีผลเสียต่อการสืบพันธ์ของเพศชาย ในขณะที่ DCP ซึ่งพบในระหว่างกระบวนการผลิตซีอิ๊วด้วยวิธีทางเคมี (ซอสปรุงรส) เช่นเดียวกับสาร 3-MCPD ในสัตว์ทดลองพบว่า สารดังกล่าวก่อให้เกิดเนื้องอกหลายแบบในอวัยวะหลายอย่างในสัตว์ทดลอง (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





เสียงรถยนต์กดสมองของเด็ก เล่าเรียนเขียนอ่านไม่รู้เรื่อง

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอินน์สบรัค ของออสเตรเลีย ได้พบว่า เสียงอึกทึกของการจราจรที่ดังสะเทือนเลื่อนลั่นอยู่เป็นประจำ บั่นทอนความสามารถในการเรียนรู้ เขาได้พบว่าเด็กที่อยู่ในบริเวณที่มีระดับเสียงดังรบกวนอยู่เสมอ โดยมากมักจะมีระดับความดันเลือด อัตราการเดินของหัวใจ และระดับของเฮอร์โมนอันเกิดจากความเครียดสูงขึ้นกว่าปกติธรรมดา (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 2 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





กรมวิทย์ปรับตำรายาใหม่เน้นคุณภาพ-สมุนไพรไทย

ดร.ภักดี โพธิศิริ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้วิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย เพื่อใช้เป็นยาแบบครบวงจรแล้ว และจะประสานงานอย่างเป็นระบบและกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนล่วงหน้า ยาสมุนไพรที่ผลิตขึ้นมีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป (มติชน จันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2544 หน้า 7)





คาร์ดป้องกันไวรัสเซอแคมฝีมือไทย

บริษัท อาร์แอนดี คอมพิวเตอร์ ซิสเท็ม จำกัด ผู้วิจัยและคิดค้นคาร์ดป้องกันไวรัส แจ้งว่า ขณะนี้สามารถผลิตคาร์ดที่ตรวจจับและฆ่าไวรัสเซอแคมได้แล้ว โดยใช้คาร์ดของอาร์แอนด์ดี รุ่น AVC-5000 และ AVC-4000 เข้าไปดาวน์โหลด Signature VP2488 พร้อมซอฟต์แวร์ PATH เพื่ออัพเกรดโปรแกรมได้ด้วยตนเองที่ www.rd-comp.com (เดลินิวส์ อังคารที่ 31 กรกฎาคม 2544 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


นักวิจัยไทยรีดเลือดกับปู ทำน้ำยาตรวจโรคราคาถูก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา คงทวีเลิศ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ผลิตน้ำยาตรวจสอบมะเร็ง จากปูทะเลของไทยด้วยราคาที่ถูกกว่าน้ำยาจากนอกถึง 8 เท่า และสามารถตรวจหามะเร็งได้ด้วยเงินไม่เกิน 50 บาทต่อครั้ง ตามหลักวิชาการผู้ป่วยที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกายนั้น ในกระแสเลือดจะมีกรดชนิดหนึ่งสูงกว่าคนปกติ ซึ่งหากตรวจวัดกรดนี้ได้ ก็ทราบได้ว่าผู้นั้นมีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งหรือไม่ และสารที่มีชื่อว่าเลคติน สามารถจับตัวกับกรดดังกล่าวได้ ซึ่งสารนี้มีอยู่ในเลือดของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด เช่น ปูทะเล ทีมวิจัยจึงได้ทำการศึกษาถึงวิธีนำเลือดปูทะเลมาแยกสารเลคตินให้บริสุทธิ์ และหลังจากทำมานาน 3 ปี ก็สามารถผลิตน้ำยาตรวจสอบแนวโน้มการเกิดมะเร็งจากเลือดได้ จากการทดสอบกับคนไข้ น้ำยาตรวจสอบฝีมือคนไทยชุดนี้สามารถทำนายผลการตรวจได้อย่างถูกต้องเกือบ 90% และยังตรวจได้ว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอยู่นั้น มีอาการในขั้นไหนอีกด้วย (ไทยรัฐ พุธที่ 1 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





กรมวิชาการฯรับลูกกษ. ใช้ไมยราบยักษ์เพาะเห็ด

นายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร โดยกองเกษตรวิศวกรรม ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเครื่องหั่นบดซากต้นไมยราบยักษ์ กระทรวงเกษตรฯที่ต้องการให้พัฒนาเครื่องหั่นย่อยซากพืชมาใช้ในการหั่นบดซากต้นไมยราบยักษ์ ซึ่งเป็นวัชพืชขนาดใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรในจังหวัดภาคเหนือ และลุกลามลงมาถึงภาคกลาง รวมทั้งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในอนาคตอีกด้วย ขณะนี้ได้นำร่องให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย นำไปเพาะเห็ดบ้างแล้ว โดยกรมวิชาการฯได้วางแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อจัดหาเครื่องหั่นซากต้นไมยราบยักษ์ หรือถ้าหากเกษตรกรมีเครื่องมือหั่นย่อยซากพืชอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาพัฒนาปรับปรุงเป็นเครื่องหั่นบด เพื่อนำมาใช้ในการกำจัดไมยราบยักษ์ที่กำลังระบาดในขณะนี้ได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





“เตาเผาถ่านเศรษฐกิจ” อนุรักษ์ธรรมชาติแบบทูอินวัน

นายถอง ชัญปัญหา จ.สกลนคร ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม ได้ใช้ “เตาเผาถ่านอนุรักษ์ธรรมชาติ” ในการเผากิ่งไม้สดๆ ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งมาเผาถ่าน ซึ่งนอกจากจะให้ถ่านหุงต้มแล้ว ยังให้สารสกัดจากยางไม้อันเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไว้ฉีดพ่นไล่แมลงในสวนไม้ผลอีกด้วย (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2544 หน้า 7)







KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215