หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 33 ประจำวันที่ 2001-08-21

ข่าวการศึกษา

ทปอ.จับตา มร.สอนหมู่ ป.เอก
ม.รามฯยืนยันจัดปริญญาเอกไม่ใช่ของโหล
ทบวงฯคุมเข้มสอนภาคพิเศษ
ธรรมศาสตร์ได้แชมป์เปิดภาคพิเศษมากสุด
‘ทักษิณ’ชี้ออกนอกระบบต้องให้ ขรก.มีทางเลือก
เด็กไทยคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 ในการแข่งขันคณิตศาสตร์โลกที่เมืองฮ่องกง
ทปอ.ยังไม่พอใจตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพ
เขยิบ ม.คริสเตียน

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

กุญแจม่านตา
แพทยสภาดันมติห้ามโคลนนิง
อ้างทำโคลนนิงกับมนุษย์ทำง่ายยิ่งกว่าทำกับสัตว์
“ไบโอเทค” แหยงเปิดวิพากษ์จีเอ็มโอ
เตาน้ำมันก๊าด
ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่มีวาสนาได้เป็นมอญดูดาวระยิบระยับ
บอร์ดเอทานอลเสนอยกเลิกใช้เอ็มทีบีอี ผู้ผลิตเรียกร้องรัฐบาลกำหนดราคาคงที่

ข่าววิจัย/พัฒนา

การผลิตสารสีธรรมชาติจากสาหร่ายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
หมอศิริราชคว้ารางวัลวิจัยยอดเยี่ยม

ข่าวทั่วไป

พระราชทานชื่อใหม่ 2 เขื่อน จ.กาญจนบุรี
‘ทรัพย์สินฯ’ จัดงาน ‘อิ่มอุ่นทุนการศึกษา’
เลิกใบขับขี่ตลอดชีพปรับใหม่ 5 ปีครั้ง
คุมป้ายโฆษณา-หาเสียง กทม.กำหนดจุดติด 8,233จุด-ใครฝ่าฝืนปรับ 2 พัน





ข่าวการศึกษา


ทปอ.จับตา มร.สอนหมู่ ป.เอก

รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาเอกจำนวนมากถึง 300 กว่าคนว่า ตนยังไม่เคยพบมหาวิทยาลัยใดที่เปิดสอนปริญญาเอกมากขนาดนี้ เพราะว่าปริญญาเอกเป็นปริญญาวิจัยและจะต้องมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และมีความพร้อม สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษา 1 ต่อ 4-5 คน ตนจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ทปอ. ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้วันที่ 25 ส.ค.นี้ (เดลินิวส์ อาทิตย์ ที่ 14 สิงหาคม 2544 หน้า 8)





ม.รามฯยืนยันจัดปริญญาเอกไม่ใช่ของโหล

รศ.ดร.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มร. เปิดหลักสูตรปริญญาเอก 9 สาขาวิชา และรับนักศึกษาเกือบ 300 คนว่า หลักสูตรปริญญาเอกที่ มร. เปิดทั้งหมดได้รับการอนุมัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดทุกอย่างและถึงแม้ มร.จะรับ นศ.จำนวนมากแต่ตนมั่นใจว่าสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพได้เพราะ มร. มีเทคนิคการสอนที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิมาสอน ศ.ดร.สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสิทธุ์ ผอ.โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคม มร.กล่าวว่า หากมองในภาพรวมการรับนักศึกษาปริญญาเอก 262 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากแต่ถ้าแยกย่อยในแต่ละสาขาก็จะเหลือสาขาละประมาณ 30 คน ซึ่งในทุกสาขาต่างก็มีความพร้อม อย่างไรก็ตาม มร.ยังมีศักยภาพรับนักศึกษาปริญญาเอกได้อีกกว่าปีละ 100 คน แต่ต้องขึ้นกับอาจารย์ประจำจะมีความพร้อมรับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เพียงใดเพราะขณะนี้อาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย และในปี 2545 คาดว่าจะเปิดสอนในสาขาบริหารการศึกษาและการสื่อสารมวลชนเพิ่มเติมอีกด้วย (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 16 สิงหาคม 2544 หน้า 14)





ทบวงฯคุมเข้มสอนภาคพิเศษ

นายสุธรรม แสงประทุม รมว. ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการประชุมกำหนดมาตรการการจัดหลักสูตรภาคพิเศษในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 17 ส.ค.นี้ ว่า ที่ประชุมได้เสนอ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ให้มีการนำเข้าหารือในการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) วันที่ 25 สิงหาคม นี้ เพื่อศึกษาโครงการพิเศษของทุกมหาวิทยาลัย ว่าการจัดการสอนยังดำเนินการตามเกณฑ์ และทิศทางที่กำหนดไว้ตั้งแต่จัดตั้งโครงการหรือไม่ 2.ทปอ.เสนอให้ปรับอัตราค่าเล่าเรียนใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับภาคปกติ 3.เสนอให้รัฐสนับสนุนมหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรภาคพิเศษในรูปแบบทางไกลมากขึ้น ทั้งนี้ทบวงจะติดตามและประเมินผลและเปรียบเทียบแนวทางการจัดตั้งหลักสูตรกับการนำมาปฏิบัติจริง (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 หน้า 10)





ธรรมศาสตร์ได้แชมป์เปิดภาคพิเศษมากสุด

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการรวบรวมข้อมูลการเปิดสอนหลักสูตรภาคพิเศษในมหาวิทยาลัยของรัฐ ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยของรัฐเปิดหลักสูตรภาคพิเศษทั้งระดับปริญญาตรีถึงเอก รวม 734 หลักสูตร รองรับนักศึกษาได้ประมาณ 9 หมื่นคน ซึ่งกว่า 10% จะเป็นนักศึกษาต่างชาติ ทั้งนี้แบ่งเป็น ป.ตรี 263 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 21 หลักสูตร ป.โท 415 หลักสูตร และ ป.เอก 35 หลักสูตร ส่วนมหาวิทยาลัยที่จัดหลักสูตรภาคพิเศษมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดสอน 82 หลักสูตร (เดลินิวส์ พุธ ที่ 15 สิงหาคม 2544 หน้า 12)





‘ทักษิณ’ชี้ออกนอกระบบต้องให้ ขรก.มีทางเลือก

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวในการสัมมนาว่า อยากให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเป็นพิเศษ รวมทั้งอยากให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยเร็ว แต่ให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของข้าราชการ นายกรัฐมนตรียังให้ข้อคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องสร้างเด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถไม่ใช่รู้จักแต่จะก๊อปปี้หรือลอกเลียนแบบ และอยากเห็นเด็กไทยรักการอ่านโดยต้องพัฒนาห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต ซึ่งนอกจากจะมีหนังสือแล้วจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งห้องสมุดจะต้องเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา ส่วนบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่กำลังจะเกษียณนั้นอาจให้เกษียณที่ 65 ปี โดยให้อาจารย์เหล่านั้นมาช่วยทำวิจัย (เดลินิวส์ เสาร์ ที่ 11 สิงหาคม 2544 หน้า 10)





เด็กไทยคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 ในการแข่งขันคณิตศาสตร์โลกที่เมืองฮ่องกง

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ เลขาธิการกช. เปิดเผยว่า มีการแข่งขันวิชาการในระดับโลกของนักเรียนชั้นประถมศึกษา คือ การแข่งขันคณิตศาสตร์โลกที่จัดโดยองค์กรโปเหลียงก๊กที่เมืองฮ่องกง (The Po Leung Kuk 5th Primary Mathematics World Contest) เป็นการแข่งขันครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 16-21 ก.ค. 2544 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาเข้าร่วมแข่งขันจาก 15 ประเทศ เช่น ประเทศไทย ออสเตรีย บัลกาเรีย เม็กซิโก อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และไซปรัส รวม 40 ทีม ในการแข่งขันครั้งนี้ประเภทบุคคล ด.ช. ปรัชญา ลีนะเปสนันท์ ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 ด.ช. ณัฐกิจ สุสัณฐิตานนท์ ด.ช. ณัฐพล ประชาเดชะ และด.ช. ณัฐชนัน เพ็ญจันทร์ ได้รับรางวัลชมเชย (ไทยโพสต์ ศุกร์ ที่ 10 สิงหาคม 2544 หน้า 9)





ทปอ.ยังไม่พอใจตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพ

ศ.น.พ. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ประธานคณะทำงานเรื่องประกันคุณภาพการศึกษาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเเผยถึงการกำหนดดัชนีบ่งชี้ระดับการประเมินและเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกสำหรับสถาบันอุดมศึกษาว่า ดัชนีบ่งชี้ทั้งหมดมี 25 ตัว แบ่งเป็นดัชนีกลาง 16 ตัว และดัชนีเฉพาะสาขา 9 ตัว จะใช้ได้กับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถรับรองคุณภาพของสถาบันได้ ทั้งนี้เพราะปรัชญาและพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน และดัชนีบ่งชี้ส่วนใหญ่ยังขาดกลไกที่จะเชื่อมโยงกิจกรรมในดัชนีแต่ละข้อเข้าด้วยกัน (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 หน้า 10)





เขยิบ ม.คริสเตียน

รศ.สงคราม เหลืองทองคำ รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เผยผลประชุมคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (กสอ.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติเปลี่ยนสถานะวิทยาลัยคริสเตียนเป็นมหาวิทยาลัย (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2544 หน้า 15)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


กุญแจม่านตา

ระบบจดจำม่านตาในปัจจุบันใช้ซอฟแวร์ที่สร้างโดย จอห์น โดแมน แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยภาพม่านตา ซึ่งประกอบด้วยลวดลายของเนื้อเยื่อในรูปแบบเฉพาะคน จะถูกแปลงเป็นภาพโครงร่างสามมิติ จากนั้นข้อมูลจะถูกบีบอัดให้อยู่ในรูปของรหัสที่เป็นเลข 1 กับเลข 0 เรียงกันไป 2,048 ตัว รหัสที่ว่านี้จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลสำหรับใช้เป็นตัวอ้างอิงต่อไป จากการวิจัยล่าสุดพบว่า การสแกนม่านตาเป็นวิธีรักษาความปลอดภัยที่เที่ยงตรงที่สุด เนื่องจากโอกาสที่คนสองคนจะมีม่านตาเหมือนกันนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ต่อให้เป็นฝาแฝดก็ตามที ก่อนหน้านี้รัฐบาลอังกฤษเคยทดสอบระบบนี้ 2 ล้านครั้ง ไม่ปรากฏเลยว่าม่านตาของแต่ละคนจะเหมือนกัน ในขณะที่ผลการทดสอบการจดจำเสียงมีความผิดพลาด 10-25% และถ้าใครจะเอาคอนแทคแลนส์ซึ่งมีผิวหน้าโค้งมาใส่เพื่อปลอมแปลงภาพม่านตาก็จะไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะม่านตาของคนเรามีลักษณะเกือบแบนราบระบบตรวจสอบจะรู้ได้ทันที (ไทยโพสต์ พุธ ที่ 15 สิงหาคม 2544 หน้า 9)





แพทยสภาดันมติห้ามโคลนนิง

นพ. สถาพร วงษ์เจริญ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการโคลนนิงมนุษย์ในไทยว่า นักวิทยาศาสตร์ไทยมีศักยภาพ และความสามารถมิได้ด้อยไปกว่าชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามหากมีการโคลนนิงมนุษย์ในไทย ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนก่อน ด้าน นพ.ประมวล วีรุฒมเสน เลขาธิการแพทยสภาในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมหารือกัน และมีมติเห็นชอบร่วมกัน ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันให้มีการโคลนนิงมนุษย์ในประเทศไทย เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างคนด้วยวิธีการเช่นนี้ ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มค่ากับผลที่ได้รับ อีกทั้งไม่ทราบถึงอันตรายจากโรคร้าย ความพิการ และที่สำคัญ คือใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ส่วนการโคลนนิงในสัตว์นั้น คณะกรรมการฯไม่คัดค้าน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่น่าศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และในวันที่ 13 ก.ย. นี้จะนำเข้าที่ประชุมแพทยสภาเพื่อขอความเห็น หากเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็จะออกมาเป็นข้อบังคับทางจริยธรรมของแพทยสภา (ไทยโพสต์ อังคารที่ 14 สิงหาคม 2544 หน้า 11)





อ้างทำโคลนนิงกับมนุษย์ทำง่ายยิ่งกว่าทำกับสัตว์

นักพันธุกรรมศาสตร์อ้างว่า การโคลนนิ่งมนุษย์กลับยิ่งทำง่ายกว่า ปลอดภัยยิ่งกว่าทำกับสัตว์เสียอีก ด้วยเหตุว่ามนุษย์จะไม่มีพันธุกรรมที่วิปริต จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมีลูกผิดขนาดขึ้นได้ กลุ่มนักพันธุกรรมบอกให้ความเห็น หลังจากที่เกิดมีหมอผู้เชี่ยวชาญรักษาการเป็นหมันของอิตาลีคนหนึ่ง เพิ่งประกาศแจ้งหยกๆว่า เขาคิดที่จะทำโคลนนิ่งหรือการเพาะพันธุ์พืชหรือสัตว์จากเนื้อเยื่อมนุษย์ เพื่อที่จะช่วยคู่ผัวเมียที่เป็นหมันให้มีลูกท่ามกลางเสียงคัดค้านของแพทย์ทั่วไป (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





“ไบโอเทค” แหยงเปิดวิพากษ์จีเอ็มโอ

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่าตามที่ไบโอเทคจะจัดประชาพิจารณ์จุดยืนจีเอ็มโอในสังคมไทย ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ที่ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานีนั้น จากเดิมที่มีแนวคิดว่าจะเป็นการจัดประชาพิจารณ์เพื่อหาข้อสรุป แต่ปรากฏว่าเสียงตอบรับจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการหลายๆ ท่านเห็นว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมกับการประชาพิจารณ์ ดังนั้น จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นการจัดเวทีสาธารณะ ระดมความคิดเห็นในนโยบายจีเอ็มโอทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วยด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอาหาร ด้านกฎหมาย และด้านสังคมแทน โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะได้ข้อสรุปสำหรับจัดประชาพิจารณ์ในอนาคตต่อไป (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 หน้า 15)





เตาน้ำมันก๊าด

ผลิตภัณฑ์เตาน้ำมันก๊าด ภายใต้ยี่ห้อ “มาราธอน” จากบริษัทมารภัต พรอพเพอร์ตี้ ได้ดัดแปลงตะเกียงน้ำมันก๊าดเดิมๆ ให้สามารถใช้งานได้มากขึ้น “เตาน้ำมันก๊าด มาราธอน” ผลิตจากเหล็กชุบโพรเมี่ยม รับน้ำหนักได้ 70-100 กก. มีคุณลักษณะเฉพาะคือ มีไส้กรองเพื่อควบคุมเขม่า, ควัน เนื่องจากการเผาไหม้จะมีควันและเขม่าซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาชนะที่ใช้หุงต้มมีรอยดำ จึงนำไส้กรองมาเป็นตัวควบคุมอากาศเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าวนอกจากนี้ ยังปรับความร้อนได้เหมือนเตาแก๊ส มีสิ่งที่เปลี่ยนไปจากตะเกียงน้ำมันก๊าดตามปกติคือ 1. ไม่มีควัน 2. ให้ความร้อนสูงขึ้น และควบคุมระดับความร้อนได้ ส่วนอันตรายจากการระเบิดนั้น บริษัทรับประกันว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ประโยชน์ คือความประหยัด เนื่องจากมีความจุที่สามารถเติมน้ำมันได้ 3 ลิตร โดยน้ำมัน 1 ลิตรใช้ได้ 5-6 วัน กับการทำอาหาร 3 มื้อ ซึ่งในแต่ละมื้อปรุงอาหารได้ 3 รูปแบบ ค่าใช้จ่ายคิดแล้วเฉลี่ยมื้อละไม่เกิน 2 บาท ซึ่งประหยัดกว่าการใช้แก๊ส 20-30% ความสะดวก สามารถหิ้วไปที่ไหนก็ได้ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 หน้า 9)





ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่มีวาสนาได้เป็นมอญดูดาวระยิบระยับ

ชาวโลกส่วนใหญ่ถึงสองในสามบนพื้นพิภพนี้ ไม่มีบุญได้เห็นท้องฟ้ายามมืดมิดดารดาษไปด้วยดาวระยิบระยับเลย เพราะเหตุที่โดนความสว่างของแสงไฟบดบังเสียหมด นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาค้นคว้าทำแผนที่มลพิษทางแสงของโลก ระบุว่า โดยเฉพาะชาวยุโรปตะวันตกและคนบนทวีปอเมริกา เกือบจะทุกคนไม่มีวาสนาได้เห็นท้องฟ้ายามราตรีที่แท้จริงโดยสิ้นเชิง คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ศึกษาถึงการมองเห็นท้องฟ้ายามราตรี ตามภูมิภาคต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมต่างๆ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯเป็นหลัก (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





บอร์ดเอทานอลเสนอยกเลิกใช้เอ็มทีบีอี ผู้ผลิตเรียกร้องรัฐบาลกำหนดราคาคงที่

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ยกเลิกการใช้สารเอ็มทีบีอีในน้ำมันเบนซินทันที เมื่อไทยผลิตเอทานอลได้เพียงพอกับความต้องการและขอให้กำหนดนโยบายในการใช้เอทานอลมากขึ้นและเป็นการลดการนำเข้าเอ็มทีบีอีที่แต่ละปีมีมูลค่า 4 พันล้านบาท และหากมีการส่งเสริมการใช้เอทานอลในดีเซลในสัดส่วน 10% ด้วย ก็จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้มาก (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 หน้า 8)





ข่าววิจัย/พัฒนา


การผลิตสารสีธรรมชาติจากสาหร่ายเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการผลิตสารสีธรรมชาติจากสาหร่าย โดยสารสีที่ได้จากธรรมชาติสามารถนำมาใช้ทดแทนสารสีสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่านับพันล้านบาท สารสีธรรมชาตินี้มีองค์ประกอบของกรดอะมิโน ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงใช้ผสมในเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ใช้แต่งสีขนม (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2544 หน้า 28)





หมอศิริราชคว้ารางวัลวิจัยยอดเยี่ยม

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ได้ประกาศผลรางวัลงานวิจัยประจำปี 2544 ปรากฏว่า มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม 3 รางวัล คือ ผลงานวิจัยเรื่อง “การสอดแกนดามยึดตรึงกระดูกต้นขาแบบไม่เปิดรอยหักโดยใช้คลื่นความถี่สูงบอกแนว” ของ ศ.นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยมสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานดีเยี่ยมอีก 2 รางวัล คือ ผลงานวิจัยเรื่อง “เรือนพื้นบ้านไทย-มอญ” ของ ศ.อรศิริ ปาณินท์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาการศึกษาได้แก่ผลงานเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาระบบการประเมินผลภายในของสถานศึกษา” ของ รศ.ดร.สุวิมล ว่องวาณิช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2544 หน้า 14)





ข่าวทั่วไป


พระราชทานชื่อใหม่ 2 เขื่อน จ.กาญจนบุรี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่าในการประชุม ครม. วันที่ 21 ส.ค. ที่จะถึงนี้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีจะเสนอ ครม. รับทราบถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเขื่อนใหม่ 2 เขื่อน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือเขื่อนเขาแหลมซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปลี่ยนชื่อเป็น “เขื่อนวชิราลงกรณ์” และให้เปลี่ยนชื่อเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “เขื่อนแม่กลอง” (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 หน้า 3)





‘ทรัพย์สินฯ’ จัดงาน ‘อิ่มอุ่นทุนการศึกษา’

นายสมชาย พูลพิทยาธร ผู้จัดการสถาบันพัฒนาชุมชนเมือง สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า ได้จัดโครงการ “อิ่มอุ่น ทุนการศึกษา” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยความร่วมมือจากสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน F.M. 96 MHz ในการสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งนี้ภายหลังการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ได้มีประชาชนโทรศัพท์ติดต่อและขอข้อมูลโครงการฯ จากสถาบันพัฒนาชุมชนเมืองฯ เพื่อขอรับอุปการะเด็กจำนวนมาก (สยามรัฐ เสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2544 หน้า 20)





เลิกใบขับขี่ตลอดชีพปรับใหม่ 5 ปีครั้ง

นายพงศกร เลาหวิเชียร รมช.คมนาคม เปิดเผยหลังจากประชุม ครม.ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางบกในร่าง พ.ร.บ. รถยนต์กำหนดให้มีการนำหมายเลขทะเบียนรถที่เป็นที่นิยมของประชาชนออกประมูล คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200-300 ล้านบาท สาเหตุที่เปิดประมูลทะเบียนรถเพื่อแก้ไขปัญหาการชะลอจดทะเบียนรถและป้องกันไม่ให้มีการนำรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนและเสียภาษี (รถป้ายแดง) มาใช้ นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ และปรับอายุใบอนุญาตขับขี่รถ ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมีอายุ 5 ปี ส่วนรถสาธารณะมีอายุ 3 ปี รวมทั้งได้ปรับอายุของผู้ขอใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะจากเดิมไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์เหลือเพียงไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์ (เดลินิวส์ พุธที่ 15 สิงหาคม 2544 หน้า 18)





คุมป้ายโฆษณา-หาเสียง กทม.กำหนดจุดติด 8,233จุด-ใครฝ่าฝืนปรับ 2 พัน

นายนิคม ไวยรัชพานิช ผอ.สำนักผังเมืองเปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานควบคุมดูแลความเรียบร้อยเกี่ยวกับป้ายประชาสัมพันธ์ในเขต กทม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ป้ายที่ถูกต้องและถือเป็นป้ายที่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งในเขตกทม.ได้อย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 8,233 ป้าย ได้แก่ป้ายหยุดรถเมล์ 3,845 ป้าย ป้ายกล่องไฟโฆษณาที่ติดตั้งพร้อมถังขยะ 2,500 ป้าย ป้ายศาลาที่พักผู้โดยสาร 563 ป้าย ป้ายตอม่อรถไฟฟ้า 176 ป้าย ป้ายแสดงผลงานเขต 50 ป้าย ทั้งนี้ให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนที่สนใจจะประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้า งานประกวด งานสัปดาห์สินค้าราคาถูก หรือกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ สามารถขออนุญาตติดตั้งป้ายแสดงข้อความได้ในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายเหล่านี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด เพียงทำเรื่องเสนอมาที่กองประชาสัมพันธ์ กทม. (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 หน้า 12)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215