หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 35 ประจำวันที่ 2001-09-04

ข่าวการศึกษา

ทปอ.ดีใจเร่งเขียนกฎหมายออกนอกระบบ
ทบวงฯเตรียมรับสมัครสอบวัดความรู้เดือน ต.ค.
‘e-books’ ศธ.ใกล้คลอด จุ 200 เล่มลงเว็บ ต.ค.นี้
ชวนศิลปินแห่งชาติเล่าเรื่อง รวบรวมทำตำรานาฏศิลป์
ต่อลมหายใจครู อนุมัติเงินกู้ลบหนี้ 318 ล.

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

‘ทักษิณ’ สั่งจัดเวิร์กช็อปพลังงาน
ทำลายสถิติสุริยจักรวาล 200 ปี

ข่าววิจัย/พัฒนา

ระบบเลเซอร์ที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่าและป้องกันการปลอมแปลงอัญมณี
เทคนิคสุราษฎร์ฯชนะเลิศโครงงานวิทย์ฯอาชีวะ-เอสโซ่
ลอกเลียนแบบปลาขั้วโลก สกัดสารต้านหนาวใช้ปลูกพืช
ดื่มน้ำอัดลมมากๆ กระดูกหักง่าย แคลเซียมถูกดูดทิ้งทางปัสสาวะ
ถ้าไม่อยากเป็นนิ่วในไต อย่านอนตะแคงอยู่ข้างเดียว
ขจัดปัญหาเป็นใบ้เมื่อไปนอก ใช้โทรมือถือเป็นล่ามแปลภาษา
เตรียมพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ดมหาเชื้อแบคทีเรีย
ทารกดูดนมแม่สามเดือน ไอคิวสูงกว่าเด็กนมขวด

ข่าวทั่วไป

อร่อยเหาะกับกินหอยสุกๆ ดิบๆ ปล่อยให้พยาธิพาเหรดขึ้นสมอง
จัดเวิร์กช็อปสารพิษปนเปื้อนในอาหาร





ข่าวการศึกษา


ทปอ.ดีใจเร่งเขียนกฎหมายออกนอกระบบ

รศ.ดร. สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้เปิดเผยผลการประชุม ทปอ. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นนโยบาย ที่จะสนับสนุนและผลักดันการออกนอกระบบ ของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ที่ประชุม ทปอ. จึงมีมติที่จะร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัยในการจัดทำร่างหนังสือ แนวทางการดำเนินการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐที่เหลืออีก 20 แห่ง ประเด็นสำคัญที่จะนำเสนอ เช่น การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในรูปของเงินทุนอุดหนุนทั่วไปให้กับแต่ละมหาวิทยาลัย สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ให้กับข้าราชการที่ปรับเปลี่ยนสภาพ เป็นต้น (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2544 หน้า 12)





ทบวงฯเตรียมรับสมัครสอบวัดความรู้เดือน ต.ค.

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงฯเตรียมรับสมัครสอบวัดความรู้ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม ประจำปีการศึกษา 2545 ซึ่งได้จัดพิมพ์ระเบียบการสอบวัดความรู้เสร็จแล้ว จะเปิดขายใบสมัคร 1-10 ก.ย. และรับสมัคร 6-10 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์รับสมัครสอบทั่วประเทศ ส่วนกำหนดการสอบวิชาหลัก และวิชาเฉพาะตั้งแต่วันที่ 6-12 ต.ค. และแจ้งผลสอบวันที่ 22 พ.ย. (เดลินิวส์ พุธที่ 29 สิงหาคม 2544 หน้า 12)





‘e-books’ ศธ.ใกล้คลอด จุ 200 เล่มลงเว็บ ต.ค.นี้

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-books ของกรมวิชาการว่า ขณะนี้กรมวิชาการกำลังดำเนินการจ้างบริษัทเอกชน ผลิตหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จำนวน 200 เล่ม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมวิชาการได้ประมาณเดือน ต.ค.นี้ ประกอบด้วยหนังสือประเภทต่างๆ เช่น หนังสือเรียน หนังสือเสริมประสบการณ์ และหนังสือแปล เป็นต้น และหนังสือจะมีทั้งที่ให้ความรู้สำหรับครูผู้สอนโดยเฉพาะ จำนวน 13 เล่ม และหนังสือที่ให้ความรู้ทั้งครูและนักเรียน ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 54 เล่ม การงานและอาชีพ 16 เล่ม ทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์ 14 เล่ม ภาษาอังกฤษ 11 เล่ม ภาษาไทย 12 เล่ม สุขศึกษา และพลศึกษา 27 เล่ม คณิตศาสตร์ 19 เล่ม และสังคมศึกษา 33 เล่ม นอกจากนี้ทางกรมวิชาการยังมีโครงการบันทึกสำเนาหนังสือดังกล่าวลงในแผ่นซีดีรอม จัดส่งให้สถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย (ไทยโพสต์ อาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2544 หน้า 9)





ชวนศิลปินแห่งชาติเล่าเรื่อง รวบรวมทำตำรานาฏศิลป์

รศ.ดร. สุรพล วิรุฬรักษ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันอุดมศึกษาได้เชิญศิลปินแห่งชาติเข้ามาช่วยทำหลักสูตรการเรียนการสอน และเป็นวิทยากรให้กับนักศึกษามานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นระบบที่ชัดเจน รศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ตำราเรียนของวิชานาฏศิลป์ ระดับปริญญาตรีมีอยู่ไม่ถึง 10 เล่มและไม่ทันสมัย ตนคิดว่าสมควรที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ศิลปินแห่งชาติ เข้ามาช่วยกันเล่าเรื่องและถ่ายทอดศิลปะต่างๆ และบันทึกเรียบเรียงไว้เป็นตำรา เพื่อศิลปะต่างๆ จะไม่สูญหาย และให้คนรุ่นหลังได้ทราบประวัติความเป็นมาอย่างถูกต้องและแม่นยำ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2544 หน้า 12)





ต่อลมหายใจครู อนุมัติเงินกู้ลบหนี้ 318 ล.

นายอำรุง จันทวานิช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2544 ตามหลักการของคณะกรรมการข้าราชการครู (กค.) จัดสรรเงินกองทุนฯ จำนวน 318 ล้านบาท จากจำนวน 320 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้ง 76 จังหวัด โดยแบ่งเป็นเงินจัดสรรให้กรุงเทพมหานคร จำนวน 12.8 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 13.4 ล้านบาท จ.อุบลราชธานี 9.7 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 9.1 ล้านบาท โดยจัดสรรให้ข้าราชการครูที่มีปัญหาเดือดร้อนและมีความจำเป็นได้รับการช่วยเหลือในวงเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท และในปี 2545 นี้ทางกองทุนจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเข้ามาอีก 300-400 ล้านบาท (ไทยโพสต์ อังคารที่ 28 สิงหาคม 2544 หน้า 9)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


‘ทักษิณ’ สั่งจัดเวิร์กช็อปพลังงาน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จัดทำสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านพลังงาน เพื่อต้องการทราบถึงสถานการณ์พลังงาน และนโยบายพลังงานของประเทศทั้งหมด เพื่อให้มีการจัดการอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล คาดว่าจะจัดได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ทำลายสถิติสุริยจักรวาล 200 ปี

นักดาราศาสตร์ยุโรปได้ยืนยันการพบดาวเคราะห์น้อย อยู่ในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์อันห่างไกล อยู่ใกล้ๆ กับดาวพลูโต มีขนาดใหญ่ ถึงกับทำลายสถิติดาวเคราะห์น้อยยักษ์ดวงก่อนลงได้ หลังจากครองสถิติยืนยงมานานถึง 200 ปี นักดาราศาสตร์สนใจในดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ไม่เฉพาะแต่ขนาดอันใหญ่โตเท่านั้น แต่ยังสนใจเพราะเหตุว่า มันยังช่วยยกฐานะของดาวพลูโต เพราะเป็นที่ทุ่มเถียงกันว่า ดาวพลูโตควรถือเป็นดาวเคราะห์ด้วยหรือไม่ บางคนเห็นว่าดาวพลูโตอันเป็นดาวเคราะห์น้องเล็กที่สุดในสุริยจักรวาล มีขนาดใหญ่ไม่พอที่จะจัดว่าเป็นดาวเคราะห์กับเขา ต่อไปนี้จะได้เลิกดูถูกดาวพลูโตกันเสียที (ไทยรัฐ พุธที่ 29 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ระบบเลเซอร์ที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่าและป้องกันการปลอมแปลงอัญมณี

รศ.ดร. พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเรื่องการเพิ่มมูลค่าและการป้องกัน การปลอมแปลงอัญมณีด้วยเลเซอร์ เปิดเผยว่า ระบบนีโอดีเมียมแย็กเลเซอร์ ที่ใช้ในการเพิ่มมูลค่า และป้องกันการปลอมแปลงอัญมณีนี้ จะใช้เลเซอร์แบบลำแสงต่อเนื่องที่มีความยาวคลื่น 1064 นาโนเมตร โดยสามารถโฟกัสลำแสงเลเซอร์ได้เล็กประมาณ 2-7 ไมครอน ระบบนี้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ระบบเลเซอร์ ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ของอัญมณี โดยเคลื่อนที่ชิ้นงาน หรืออัญมณีที่จะแกะสลักโดยไม่ต้องเคลื่อนที่ลำแสงเลเซอร์ และระบบโฟกัสลำแสงเลเซอร์ เป็นระบบที่ช่วยทำให้ลำแสงเลเซอร์มีขนาดเล็ก เพื่อที่จะสามารถเจาะผิววัสดุที่มีความแข็งมากๆ ได้ ซึ่งจะสามารถเขียนตัวหนังสือหรือรูปแบบที่ต้องการลงบนอัญมณี ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าต้องส่องด้วยกล้องเลนส์ขยาย ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดตำหนิแก่อัญมณี และที่สำคัญคือ ป้องกันการปลอมแปลงได้ (สยามรัฐ อังคารที่ 28 สิงหาคม 2544 หน้า 20)





เทคนิคสุราษฎร์ฯชนะเลิศโครงงานวิทย์ฯอาชีวะ-เอสโซ่

จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ อาชีวศึกษา-เอสโซ่ ประจำปี 2544 ที่จัดขึ้นภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติอิมแพ็ค เมืองทองธานี ปรากฏว่า วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงงานการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มน้ำแบบลูกสูบ ชักด้วยชุดควบคุมความดัน ซึ่งเป็นผลงานของ นศ.ปวส.2 ซึ่งการสร้างชุดควบคุมความดันดังกล่าว มีต้นทุนประมาณ 200 บาท แต่สามารถทำให้ปั๊มน้ำธรรมดาทำงานแบบปั๊มน้ำอัตโนมัติ ซึ่งมีราคาสูงกว่าเกือบ 2 เท่าได้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 28 สิงหาคม 2544 หน้า 16)





ลอกเลียนแบบปลาขั้วโลก สกัดสารต้านหนาวใช้ปลูกพืช

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา ผลิตสารต่อสู้กับความหนาวเย็นชนิดใหม่ขึ้นมา คาดว่าจะนำไปใช้กับพืชที่ปลูกในเขตหนาวได้ ดร.โรเบิร์ต หัวหน้าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า สารสกัดธรรมชาติที่ได้มาจากปลาเทเลออสต์ ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยในแถบขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ ซึ่งเรียกว่าไกลโคโปรตีน เป็นสารที่ใช้สำหรับป้องกันเลือดแข็งตัวเมื่อต้องว่ายในน้ำเย็น คณะนักวิจัยได้ลอกเลียนสารเคมีดังกล่าวนำมาสังเคราะห์ทำเป็นสเปรย์พ่นผลผลิตของต้นไม้ที่ปลูกในเขตประเทศอากาศหนาว ใช้ในการถนอมอาหารแช่แข็งและแช่อวัยวะที่รอการผ่าตัดให้เก็บได้เป็นเวลานาน (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ดื่มน้ำอัดลมมากๆ กระดูกหักง่าย แคลเซียมถูกดูดทิ้งทางปัสสาวะ

รายงานการศึกษาเผยแพร่ ในวารสารโภชนาการทางการแพทย์สหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มประเภทโคล่า และพวกน้ำอัดลมมากเกินไป จะมีแร่ธาตุแคลเซียมอันจำเป็นกับร่างกายถูกขับปนออกมากับปัสสาวะ นักวิจัยของศูนย์วิจัยโรคกระดูก มหาวิทยาลัยเครห์ตันของสหรัฐฯ ได้ศึกษาอิทธิพลของเครื่องดื่มประเภทต่างๆ พบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มโคล่าวันละเพียง 4 กระป๋อง ก็อาจเสี่ยงกับกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น (ไทยรัฐ พุธที่ 29 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ถ้าไม่อยากเป็นนิ่วในไต อย่านอนตะแคงอยู่ข้างเดียว

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้พบข้อสังเกต เมื่อศึกษากับคนไข้นิ่วในไตรายที่มักเป็นซ้ำซากรายหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ชอบนอนตะแคงข้างเดียวกับไตข้างที่เกิดนิ่วมากถึง 76% นักวิจัยผู้เป็นแพทย์ผู้ชำนาญโรคไตกล่าวอธิบายว่า การนอนตะแคงอยู่ข้างเดียวทุกคืน อาจจะทำให้มีเลือดไปอยู่ยังไตข้างนั้นมากซึ่งก่อตัวเป็นนิ่วของไตข้างนั้นเข้า (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ขจัดปัญหาเป็นใบ้เมื่อไปนอก ใช้โทรมือถือเป็นล่ามแปลภาษา

มีโทรศัพท์มือถือเป็นล่ามช่วยแปลให้รู้เรื่องได้หมด บริการล่ามของโทรศัพท์มือถือมีชื่อเรียกว่า “เวิร์บโมบิล” จะช่วยแปลคำพูดได้ทันควันเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่นและจีน ตามแต่จะเลือก โดยบริการอยู่ตามข่ายโทรศัพท์มือถือมาตรฐาน เมื่อจะใช้บริการก็เพียงแต่หมุนหมายเลขเท่านั้น บริการนี้เป็นผลงานของโครงการวิจัยมูลค่า 387 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งนำออกแสดงในนครซีแอตเติลของสหรัฐฯไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิจัยของโครงการรับรองว่า สามารถแปลได้ถูกต้องถึง 90% และทดสอบมาแล้วถึง 25,000 ครั้ง และยังไวอีกด้วย พร้อมกันนั้นได้มีคอมพิวเตอร์มือถือที่แปลเสียงคำสั่งออกเป็นภาษาอื่นทันที ออกมาจำหน่ายในสหรัฐฯด้วย อุปกรณ์มีชื่อว่า “ยูนิเวอร์แซลทรานสเลเตอร์” หรือ “UT-100” มีคำศัพท์ที่บันทึกไว้ประมาณ 3,000 คำ ผู้ใช้พูดคำศัพท์ที่ต้องการจะให้แปล กรอกไมโครโฟนของเครื่อง และเครื่องจะพูดภาษาที่เลือกออกมา อุปกรณ์นี้นอกจากจะเป็นล่ามยังจะทำหน้าที่เป็นนาฬิการปลุกและเครื่องบันทึกเสียงดิจิตอลได้อีกด้วย (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





เตรียมพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ดมหาเชื้อแบคทีเรีย

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ในเมืองเบตเฟิร์ตเชียร์ พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้ดมหาเชื้อแบคทีเรียตัวการทำให้เกิดวัณโรค และรู้ผลชนิดที่มั่นใจได้ภายในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น เปรียบเทียบกับวิธีการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่กินเวลาราว 2 วัน ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าใช้การได้ดีมีประสิทธิภาพ นักวิทยาศาสตร์เตรียมเดินหน้าทดสอบภาคสนามต่อไป ก่อนที่จะผลิตอุปกรณ์ออกมาใช้งาน (ไทยรัฐ อังคารที่ 28 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ทารกดูดนมแม่สามเดือน ไอคิวสูงกว่าเด็กนมขวด

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอร์เวย์ ทำการศึกษากับเด็ก 345 ราย ที่มีอายุระหว่าง 13 เดือนถึง 5 ขวบ แล้วดูความสัมพันธ์ระหว่างระดับสติปัญญากับระยะเวลาที่ได้ดูดนมแม่ ปรากฏว่าเด็กพวกที่ได้กินนมแม่น้อยกว่า 3 เดือน ทำคะแนนได้ต่ำกว่าปกติของทักษะสมองในเด็กวัย 13 เดือน และมีไอคิวต่ำกว่าเมื่ออายุ 5 ขวบ เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้กินนมจากอกแม่เป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น ยิ่งทารกดูดนมแม่นานเท่าใดก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้มากขึ้น (ไทยรัฐ อังคารที่ 28 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


อร่อยเหาะกับกินหอยสุกๆ ดิบๆ ปล่อยให้พยาธิพาเหรดขึ้นสมอง

นพ.ชวลิต มังคละวิรัช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวว่า หนูเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด เช่น กาฬโรค เลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ไข้รากสาดใหญ่ รวมทั้งโรคเยื่อสมองอักเสบจากพยาธิหรือ พยาธิหอยโข่ง เนื่องจากหอยกินมูลของหนู เมื่อคนกินหอยดิบๆ ตัวพยาธิจะไปเจริญเติบโตในสมองก่อให้เกิดอาการปวดศรีษะ มีคนเสียชีวิตจากพยาธิหอยโข่งขึ้นสมองปีละประมาณ 56 ราย พบคนในภาคอีสานมีพยาธิหอยโข่งในร่างกายกว่า 1,000 คน (ไทยรัฐ พุธที่ 29 สิงหาคม 2544 หน้า 7)





จัดเวิร์กช็อปสารพิษปนเปื้อนในอาหาร

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า อาหารที่คนไทยบริโภคพบว่า มีการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย แต่อาหารที่ส่งออกมีการกำหนดมาตรฐานในระดับโลก เช่น โคเด็กซ์ ตนจึงมีนโยบายให้ทุกฝ่ายตระหนักและรับรู้ถึงพิษภัยที่ได้รับ โดยสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แก้ระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมสารปนเปื้อนให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกับอาหารส่งออก ซึ่งจะมีการบังคับเร็วๆ นี้ นางสุดารัตน์ กล่าวว่าในวันที่ 17 ก.ย.นี้ จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เพื่อวางแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกัน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2544 หน้า 19)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215