หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 36 ประจำวันที่ 2001-09-11

ข่าวการศึกษา

ชี้มาตรฐานการศึกษาไทยต่ำสุด เกาหลีใต้-สิงคโปร์สุดยอดเอเชีย
รามฯ จับมือ วท. เรียนฟรีทางไกล เทคโนฯ ส่งตรง ‘ตำบล-หมู่บ้าน’
ดัน 11 มาตรการแก้ขาดครู
เสนอผ่าราชมงคลเป็น 6 กลุ่ม
สภาครุศาสตร์ตัดสินใจปรับหลักสูตรผลิตครูเป็น 5 ปี
ทปอ. เร่งศึกษาคุณภาพภาคพิเศษ
อีคอมเมิร์ชราชภัฏ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เรือเหาะลำแรกฝีมือคนไทย

ข่าววิจัย/พัฒนา

เครื่องปอกเปลือกไข่

ข่าวทั่วไป

ยื่นแบบ ภงด.91 ออนไลน์ต้นปีหน้า





ข่าวการศึกษา


ชี้มาตรฐานการศึกษาไทยต่ำสุด เกาหลีใต้-สิงคโปร์สุดยอดเอเชีย

รายงานผลการสำรวจเกี่ยวกับระบบการศึกษาของชาติเศรษฐกิจในเอเชีย 12 ประเทศ โดยสถาบันที่ปรึกษาความเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ค) แห่งสิงคโปร์ โดยการสอบถามความคิดเห็นจากบรรดานักธุรกิจระดับบริหารชาวต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาค พบว่า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น มีระบบการศึกษาดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งส่งผลให้แรงงานในประเทศมีคุณภาพสูงสุดตามไปด้วย ส่วนไทยติดกลุ่มต่ำสุด อยู่อันดับ 10 เหนือกว่าเวียดนาม และอินโดนีเชีย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 กันยายน 2544 หน้า 6)





รามฯ จับมือ วท. เรียนฟรีทางไกล เทคโนฯ ส่งตรง ‘ตำบล-หมู่บ้าน’

ศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รศ.ดร. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือทางวิชาการในการเผยแพร่เทคโนโลยีสู่ชนบท โดยจัดให้มีการเรียนการสอนความรู้ในด้านต่างๆ แก่ประชาชนในชุมชน และ อบต.ทั่วประเทศ โดยมุ่งให้ความรู้ 3 ระดับ คือ ภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น ภูมิปัญญาระดับประเทศ และภูมิปัญญาระดับสากล ซึ่งจะมีการเรียนการสอน 2 ระบบคือ การให้ความรู้แบบไร้พรมแดนตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยจัดสอนให้ฟรี และการสอนในระบบสำหรับผู้ที่ต้องการได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตร ซึ่งผู้เรียนต้องลงทะเบียนและผ่านการประเมินผลของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื้อหาวิชาที่ถ่ายทอดจะเน้นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรม ซึ่งน่าจะนำไปใช้ในโครงการ 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล โครงการดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 18, 19 และ 20 กันยายน โดยจะจัดอบรมให้แก่ประธานกรรมการบริหาร อบต. และปลัด อบต. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ไทยโพสต์ อังคารที่ 4 กันยายน 2544 หน้า 9)





ดัน 11 มาตรการแก้ขาดครู

นายสมยศ มีเทศน์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู (กค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังครูในสถานศึกษาว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน จำนวน 11 มาตรการดังนี้ 1. ขอคงอัตราเกษียณปกติของข้าราชการครูที่จะเกษียณในปีนี้ จำนวน 2,391 อัตรา 2. ขอทดแทนอัตราเกษียณก่อนกำหนดมากกว่า 20% 3. การจ้างครูอัตราจ้างชั่วคราว 4. การเกลี่ยกำลังครู 5. การยกเลิกเกณฑ์การประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่ยึดจำนวนนักเรียนเป็นเกณฑ์ และให้ใช้เกณฑ์คุณภาพแทน 6. ควบคุมการสั่งครูไปช่วยราชการ 7. การตรวจสอบจำนวนนักเรียน ครู และห้องเรียนที่ถูกต้องตามจริง 8. การเร่งรัดสำรวจและทำฐานข้อมูลข้าราชการครูเป็นรายโรงเรียน 9. ให้จัดนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาหมุนเวียนไปฝึกสอนในสถานศึกษา 10. การแสวงหาพระสงฆ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และบัณฑิตอาสาช่วยงานในสถานศึกษา 11. การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหา (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 6 กันยายน 2544 หน้า 20)





เสนอผ่าราชมงคลเป็น 6 กลุ่ม

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมปฏิรูปการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (รม.) เสนอมา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ โดยให้เปลี่ยนชื่อจาก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ปรับโครงสร้างของวิทยาเขต ให้เป็นแบบเดียวกับวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ให้การศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ที่ประชุมมีมติให้แบ่งวิทยาเขตเป็น 6 กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มมีวิทยาเขตหลัก 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลคลองหก วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ วิทยาเขตพณิชยการพระนคร วิทยาเขตภาคพายัพ วิทยาเขตภาคใต้ และวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 กันยายน 2544 หน้า 12)





สภาครุศาสตร์ตัดสินใจปรับหลักสูตรผลิตครูเป็น 5 ปี

รศ.ดร. สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มธ.) ในฐานะประธานสภาคณบดี คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคสท.) เปิดเผยผลการประชุม สคสท. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการปรับหลักสูตรระดับปริญญาตรีใหม่เป็น 5 ปี โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 ทั้งนี้เพื่อความแข็งทางด้านวิชาการ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เพื่อจะได้คนเก่ง คนดี และมีศรัทธาต่อวิชาชีพ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 กันยายน 2544 หน้า 10)





ทปอ. เร่งศึกษาคุณภาพภาคพิเศษ

ศ.นพ. อดุลย์ วิริยเวชกุล ประธานคณะทำงานกลุ่มประกันคุณภาพอุดมศึกษาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการวิเคราะห์หลักสูตรภาคพิเศษของมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มีคนไปเรียนกันมากจนเกิดความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพว่า ตนได้วางแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ไว้ 2 แนวทางคือ 1. สำรวจหลักสูตรภาคพิเศษว่า มีมากน้อยเพียงใด มีวิชาใดบ้าง อัตราค่าเล่าเรียน และอัตราผู้สำเร็จการศึกษา 2. การจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางการประกันคุณภาพหลักสูตรภาคพิเศษเพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพไม่แตกต่างจากหลักสูตรภาคปกติ เมื่อได้ข้อสรุปจะได้นำเสนอ ทปอ. ในเดือนกันยายนนี้ (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 กันยายน 2544 หน้า 10)





อีคอมเมิร์ชราชภัฏ

ราชภัฏ ร่วมมือ เนคเทคฯ จัดอบรมอาจารย์ต้นแบบด้านอีคอมเมิร์ชไปแล้วกว่า 100 คน จาก 36 สถาบันทั่วประเทศ เพื่อให้นำความรู้กลับไปถ่ายทอดให้อาจารย์และนักศึกษา และขยายผลไปสู่ชุมชน ในการทำอีคอมเมิร์ชชาวบ้าน ราชภัฏก็นำร่องโครงการด้วยเว็บไซต์ราชภัฏดอตคอม (www.rajbhat.com) ให้ราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและนำสินค้าเด่นของชุมชนเป้าหมายมาขึ้นเว็บแนะนำ แถมเขียนซอฟต์แวร์ต้นแบบให้ราชภัฏอื่นๆ นำไปใช้ เรียกว่าจะทำอีคอมเมิร์ชได้แบบง่ายๆ ในสไตล์ราชภัฏ ตอนนี้โครงการอยู่ขั้นประเมินผล ก่อนติดต่อสถาบันการเงินให้ซื้อขายสินค้าชุมชนออนไลน์ได้จริงๆ (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 กันยายน 2544)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เรือเหาะลำแรกฝีมือคนไทย

รศ.ดร. ปองวิทย์ ศิริโพธ์ และทีมงาน จากภาควิชาวิศวกรรมการบินและอากาศยาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิจัยออกแบบและสร้างเรือเหาะก๊าซฮีเลียมไร้คนขึ้นเป็นผลสำเร็จ เรือเหาะนี้ไม่ใช่เครื่องบินที่บังคับด้วยเครื่องยนต์ แต่เป็นอากาศยานที่ลอยตัวด้วยก๊าซฮีเลียมซึ่งไม่ติดไฟ การเคลื่อนตัวไปข้างหน้าหรือถอยหลังขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ อากาศยานชนิดนี้มีประสิทธิภาพและความสามารถรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา การสำรวจ โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร งานวิจัยนี้ใช้เวลามากกว่า 10 ปีมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้าน 4 แสนบาท มีชื่อทางการและสิริมงคลยิ่งว่า “อาภากร” (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 กันยายน 2544 หน้า 16)





ข่าววิจัย/พัฒนา


เครื่องปอกเปลือกไข่

นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคระยอง ได้ประดิษฐ์ “เครื่องปอกไข่” ซึ่งอาจารย์สิทธิชัย จันทร์พัฒนพงศ์ ได้เปิดเผยว่า เครื่องนี้มีประสิทธิภาพในการปอกไข่ได้สูงถึง 50 ฟอง ในเวลา 1 นาทีเท่านั้น ใช้ง่าย สะดวก ทำจากวัสดุที่ไม่เกิดสนิม ขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ง่ายต่อการทำความสะอาด มีราคาถูก เพียง 6,500 บาทต่อเครื่อง และไม่เปลืองไฟ แต่ขณะนี้ยังไม่มีวางจำหน่าย (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 3 กันยายน 2544 หน้า 15)





ข่าวทั่วไป


ยื่นแบบ ภงด.91 ออนไลน์ต้นปีหน้า

นายสุรีย์ บัวคอม ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรใช้ระบบออนไลน์ข้อมูลผู้เสียภาษีภายในสำนักงานสรรพภากรอำเภอแล้วจำนวน 767 แห่ง จาก ทั้งหมด 899 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะให้ประชาชนยื่นแบบเสียภาษีที่ไม่มีการจ่ายเงินคืนผ่านทางเว็บไซต์ www.rd.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้การยื่นแบบภาษีออนไลน์จะเริ่มจาก แบบ ภพ.36 และภงด.54 ภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนแบบ ภธ.40 ภงด.91 หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภงด.1 และ ภงด.2 จะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 (เดลินิวส์ อังคารที่ 4 กันยายน 2544)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215