หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 38 ประจำวันที่ 2001-09-25

ข่าวการศึกษา

ปอมท.ได้ข้อยุติร่างกม.นอกระบบให้เป็น ‘ขรก.มหา’ลัย’ แทนพนักงาน
เปิดตัวเว็บไซต์โครงงานวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา…WWW.DPST.NET…

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

ตึกระฟ้ากับเทคโนโลยีด้านวินาศภัย
เสนอ ครม. ให้ ‘คลิตี้-เคมโก้’ พท.ควบคุม ตั้งชุดดูแลเหมืองปล่อยตะกั่วทำลายสวล.
นักวิทย์ฯตัวน้อย
อาชญากรคอมพิวเตอร์คิดจี้ดาวเทียมสื่อสารทางทหาร
รถยนต์แสนฉลาดในอนาคตรับคำสั่งพาไปร้านอาหารได้
สหรัฐตั้งตาดาวเทียมให้ตามล่าหัวหน้าผู้ก่อการร้าย บิน ลาดิน
เครื่องตรวจค้นหาอาวุธตาทิพย์ จับพบอาวุธที่ไม่เป็นโลหะได้หมด

ข่าววิจัย/พัฒนา

สงบเสียงนอนกรนด้วยเข็มฉีดยา ราคาถูกแถมไม่ต้องเจ็บตัวมาก
การศึกษาในระดับโมเลกุลของความหอมของข้าวหอมไทย
หัวฉีดวัดชีวภาพแบบรวม (หัววัดน้ำตาลกลูโคสและหัววัดออกซิเจน)
เครื่องต้นแบบผสมอาหารปลา
โชว์ผลงานประดิษฐ์ รถขุดดิน-หมากรุกคริสตอล ยอดเยี่ยมเทคโนโลยีเด็กไทย

ข่าวทั่วไป

หมอสหรัฐต้านพ่อแม่ให้เด็กใช้รถหัดเดิน
โรคระบบไหลเวียนโลหิตอันตรายตายอันดับ 1
เปิบปลาปลุกชีวิตให้สดชื่นรื่นเริง
“เภสัชฯมหิดล” เตือนอย่าใช้สมุนไพรเป็นยาระบายเกิน 7 วัน…อันตราย
จัดอบรม “การทำน้ำมันหอมระเหย” จากมะนาว..หวังแก้ปัญหาล้นตลาด
เตือนระวังอันตรายอาหารเสริม ‘แปะก๊วย-ซุบไก่’ ต้องกินถูกวิธี





ข่าวการศึกษา


ปอมท.ได้ข้อยุติร่างกม.นอกระบบให้เป็น ‘ขรก.มหา’ลัย’ แทนพนักงาน

นายสนม ครุฑเมือง ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (ปอมท.) เปิดเผยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากติดปัญหากฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งจะเสนอให้มหาวิทยาลัยที่กำลังยกร่าง พ.ร.บ. ทำกฎหมายลูกควบคู่ไปเพื่อให้บุคลากรของแต่ละแห่งรับรู้ ส่วนสถานภาพข้าราชการที่เปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะเสนอให้ใช้คำว่า “ข้าราชการมหาวิทยาลัย” นอกจากนี้เมื่อเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลแล้ว ข้าราชการคนใดที่มีอายุงานใกล้จะได้บำเหน็จ ให้คนเหล่านั้นเป็นข้าราชการต่อไปจนกว่าจะได้รับบำเหน็จแล้วจึงค่อยเปลี่ยนสถานภาพ ปอมท. จะหาข้อยุติเกี่ยวกับที่มาของสภามหาวิทยาลัยมาจากการเลือกของประชาคมไม่ใช่ผู้บริหาร ในการสรรหาตำแหน่งอธิการ-บดีนั้น อธิการบดีจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นๆ อย่างน้อย 20% ซึ่งร่าง พ.ร.บ. เกือบทุกแห่งกำหนดให้เริ่มนับวาระใหม่หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ตนจะเสนอว่าไม่ควรเริ่มนับวาระใหม่ เพราะไม่ต้องการให้ผู้บริหารสร้างอิทธิพล สร้างระบบพรรคพวกและยึดติดกับตำแหน่งเกินไป เนื่องจากผู้บริหารหลายแห่งที่ต้องการออกนอกระบบเพราะจะได้เป็นอธิการบดีต่อ (มติชน ศุกร์ที่ 14 กันยายน 2544 หน้า 10)





เปิดตัวเว็บไซต์โครงงานวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา…WWW.DPST.NET…

นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) ได้ร่วมกันนำผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งล้วนแต่เกิดจากความสนใจเฉพาะตัว มานำเสนอและอธิบายขั้นตอนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดในเว็บไซต์ WWW.DPST.NET จากการสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) (สยามรัฐ เสาร์ที่ 15 กันยายน 2544 หน้า 20)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


ตึกระฟ้ากับเทคโนโลยีด้านวินาศภัย

เทคนิคการสร้างอาคารสูงใหม่ โดยอาศัยวัสดุผสมชนิดใหม่ที่เรียกว่า High-performance fibre-reinforced concrete (HPFRC) ซึ่งเป็นคอนกรีตผสมกับวัสดุอื่นอีกหลายชนิดและของเหลว ที่ผู้ทำวิจัยจาก North Carolina State University ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาว่า ส่วนผสมดังกล่าวจะถูกฉีดเข้าไปในแผ่นเส้นใยอะลูมิเนียมจากการรีไซเคิล ซึ่งทำให้วัสดุดังกล่าวสามารถม้วนเก็บได้เหมือนเสื่อ แต่มีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น มันจะคอยดูดซับแรงกระแทกและเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับส่วนที่เป็นเสาและคาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโครงสร้างขนาดใหญ่ (เดลินิวส์ พุธที่ 19 กันยายน 2544 หน้า 16)





เสนอ ครม. ให้ ‘คลิตี้-เคมโก้’ พท.ควบคุม ตั้งชุดดูแลเหมืองปล่อยตะกั่วทำลายสวล.

คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางตรวจสอบสภาพพื้นที่กลุ่มเหมืองแร่ตะกั่วเคมโก้ และเหมืองแร่คลิตี้ จ.กาญจนบุรี พบว่า กลุ่มเหมืองแร่ตะกั่วในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงประกอบการโดยละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการจึงเตรียมเสนอคณะทำงานเฉพาะกิจเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาโดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้พื้นที่กลุ่มเหมืองแร่ในบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษในวันที่ 19 กันยายนนี้ นายศศิน เฉลิมลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าตะวันตก เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับพื้นที่มรดกโลก ทุ่งใหญ่นเรศวร โดยอาจจะต้องตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปัญหาโดยตรง เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีที่เกิดกับเหมืองคลิตี้ มิฉะนั้นอาจจะต้องตามแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดผลกระทบแล้ว นอกจากนี้ควรจะต้องพิจารณาความคุ้มทางด้านเศรษฐศาสตร์กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ด้วย (มติชน ศุกร์ที่ 14 กันยายน 2544 หน้า 7)





นักวิทย์ฯตัวน้อย

ทีเอ. ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาประจำปี 2544 มีเยาวชนส่งโครงการเข้าประกวด 341 โครงการทั่วประเทศ มี 12 โครงการที่ผ่านการคัดเลือก และมี 3 โครงการที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง คือ ห่อไว้ไร้หนอน, การเลี้ยงผีเสื้อโดยใช้ผลไม้ทอแทนดอกไม้ และการสำรวจเครื่องมือหาปลาและชนิดของปลา “ห่อไว้ไร้หนอน” เป็นการประดิษฐ์เครื่องห่อผลไม้ที่ทำจากกระป๋องนมผง ช่วยแก้ปัญหาการเจาะกินผลไม้จากแมลงวันทอง “การเลี้ยงผีเสื้อโดยใช้ผลไม้ทดแทนดอกไม้” ทำให้ทราบว่า หากไม่มีดอกไม้ ผีเสื้อก็กินผลไม้ได้ โดยเฉพาะแตงโม เพราะมีสีแดงและรสหวาน “การสำรวจเครื่องมือหาปลาและชนิดของปลา” ทำให้ทราบว่าปลาในท้องถิ่นมีกี่ชนิด ชาวบ้านมีวิธีจับปลาอย่างไร และใช้อุปกรณ์ใดจับปลา ยังมีอีกหลายโครงงานที่น่าสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.telecomasia.co.th/cw (เดลินิวส์ อังคารที่ 18 กันยายน 2544 หน้า 16)





อาชญากรคอมพิวเตอร์คิดจี้ดาวเทียมสื่อสารทางทหาร

หลังจากเกิดมีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสาร พุ่งชนตึกระฟ้าและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็เกิดมือดีขู่จะจี้ดาวเทียมทหารขึ้นอีก คาดว่าสามารถลักลอบเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ควบคุม และจะบังคับดาวเทียมให้เตลิดออกนอกวงโคจรได้ เจ้าหน้าที่ปราบอาชญากรรมสกอตแลนด์ยาร์ดของอังกฤษ เปิดเผยว่า กำลังสืบสวนข่าวเรื่องที่มีมือดีขู่ อ้างว่าเป็นพวกลักลอบเข้าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น เรียกร้องเอาเงินเพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสารทหาร โครงการที่มีชื่อว่า “สกายเน็ต” โฆษกกลุ่มข่าวของเจนอันเป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญดาวเทียมการสื่อสารได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “ยังไม่เห็นว่าจะมีใครลักลอบเข้าเครือข่าย” ทางด้านกระทรวงกลาโหมได้กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า “เรื่องนี้เหลวไหลทั้งเพ ดาวเทียมของเราทุกดวงยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ควรอยู่ และทำงานตามที่ควรทำ ระบบทั้งหมดล้วนปกติดี” (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 22 กันยายน 2544 หน้า 7)





รถยนต์แสนฉลาดในอนาคตรับคำสั่งพาไปร้านอาหารได้

ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานวิจัยใหญ่ระบบธุรกิจระหว่างประเทศที่นครนิวยอร์ก เปิดเผยว่า อุปกรณ์ที่จะทำให้รถยนต์แสนรู้แบบนั้นได้แก่ “ระบบข้อมูลยานยนต์” ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตทำงานด้วยเสียงสั่ง ประดิษฐ์คิดค้นโดยผู้เชี่ยวชาญของศูนย์วิจัยไอบีเอ็มมาเป็นเวลาแรมปี ช่วยให้ผู้ขับขี่ยวดยานเชื่อมต่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายในและนอกรถได้ตลอดเวลา อุปกรณ์อันนี้จะช่วยให้คนขับสามารถรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของรถ และยังเชื่อมต่อกับบริการระยะไกลอื่นๆ ด้วย เช่น เชื่อมต่อถุงลมนิรภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมันจะติดต่อแจ้งตำรวจและพนักงานดับเพลิงได้เอง นอกจากนั้นยังสามารถรับบริการแนะนำตำแหน่งที่อยู่ของร้านอาหาร แหล่งบันเทิง รวมทั้งเส้นทางการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรคับคั่งอีกด้วย บริษัทสร้างรถยนต์บางบริษัทได้เริ่มติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวกับรถบางแบบแล้ว และกำลังพยายามจะติดตั้งให้แก่รถยนต์แบบธรรมดาจำนวนล้านคันให้หมดด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 21 กันยายน 2544 หน้า 7)





สหรัฐตั้งตาดาวเทียมให้ตามล่าหัวหน้าผู้ก่อการร้าย บิน ลาดิน

สหรัฐฯ ใช้ดาวเทียมบนฟ้าตามล่าตัว บิน ลาดิน ที่กล่าวหาเป็นตัวการก่อการร้ายถล่มตึกระฟ้าและตึกกระทรวงกลาโหม จนผู้คนล้มตายเป็นเรือนพัน ให้ดาวเทียมสืบราชการลับตั้งโปรแกรมใหม่ให้จับจ้อง โดยเฉพาะดาวเทียมสืบข่าวดวงพิเศษที่สามารถดักฟังสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และวิทยุที่เรียกกันว่า “ชิกกินต์” รวมทั้งดาวเทียมที่มีฉายาว่า “นกยักษ์” อีกสองดวง สามารถถ่ายภาพบนพื้นดินได้อย่างคมชัด ได้ถูกปรับตั้งใหม่ให้ทำงานพิเศษนี้ด้วย ดาวเทียมดักฟัง “ชิกกินต์” สามารถดักจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และส่งสัญญาณลงมาให้สถานีรับไฮเทคที่มีเรียงรายอยู่ทั่วโลก จากนั้นจะถ่ายทอดต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เพื่อเอาไปวิเคราะห์อีกชั้นหนึ่ง โดยการประสานกับระบบดักฟังอื่นทางแฟกซ์แม้กระทั่งอีเมล์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันทันสมัยจะสามารถแยกแยะข้อมูล จากสัญญาณที่ปนกันอยู่อย่างยุ่งเหยิงออกมาได้ ส่วนดาวเทียม “นกยักษ์” ได้ถ่ายภาพอันคมชัดลงมาให้องค์การตรวจการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เห็นแม้กระทั่งตัวคน เมื่อเอามาศึกษาด้วยคอมพิวเตอร์จะช่วยให้รู้ความเคลื่อนไหว และเมื่อนำไปวิเคราะห์ก็อาจทำให้ทราบที่หลบซ่อนของ บิน ลาดิน ได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 21 กันยายน 2544 หน้า 7)





เครื่องตรวจค้นหาอาวุธตาทิพย์ จับพบอาวุธที่ไม่เป็นโลหะได้หมด

บริษัท “ไอเนติก” ของอังกฤษ ได้แจ้งว่า ได้ประดิษฐ์กล้องที่เรียกว่า “กล้องคลื่นมิลลิเมตร” สามารถใช้ตรวจจับอาวุธซึ่งเครื่องตรวจจับธรรมดาจับไม่ได้ เครื่องดังกล่าวตรวจค้นเมื่อผู้โดยสารซึ่งถูกจัดให้เดินตามทางเดินรูปตัว S ยาวแค่เพียง 2-3 เมตร เครื่องจะจับพบแม้แต่มีดที่เป็นกระเบื้อง เครื่องตรวจหาอาวุธใหม่นี้ทำงานด้วยหลักการแผ่รังสีความร้อนของสิ่งของและสิ่งที่มีชีวิต พวกของที่เป็นโลหะโดยธรรมชาติมีรังสีออกมาอยู่แล้ว แม้แต่พวกมีดหรือปืนที่ห่อหุ้มด้วยผ้าหรือซุกอยู่ในกระเป๋าก็ยังปรากฏภาพเรืองแสงขึ้นในเครื่องให้เห็น เครื่องตรวจหาอาวุธใหม่นี้ได้ติดตั้งทดลองใช้อยู่ที่ปากทางเข้าอุโมงค์ยูโร ในเมืองคาเลส์ของฝรั่งเศส (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 21 กันยายน 2544 หน้า 7)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สงบเสียงนอนกรนด้วยเข็มฉีดยา ราคาถูกแถมไม่ต้องเจ็บตัวมาก

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ อ้างว่า ได้คิดยาฉีดราคาถูกๆ และไม่เจ็บปวดอะไรเลยปราบโรคนอนกรนให้สงบเงียบลงได้แล้ว แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังห่วงว่าจะมีฤทธิ์เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ผู้คิดค้นเปิดเผยว่า ยาฉีดแก้โรคนอนกรนเป็นตัวยาเคมีที่มีชื่อว่า “เตรตราเดวิลซัลเฟรต” จะฉีดเข้ากับเนื้อเยื่ออ่อนตรงข้างในโคนคอ ในการทดลองรักษากับผู้ที่นอนกรนเสียงดัง ปรากฏว่ามีคนหายกรนมาเป็นเวลานานครบปีแล้วถึงหนึ่งในสี่ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 22 กันยายน 2544 หน้า 7)





การศึกษาในระดับโมเลกุลของความหอมของข้าวหอมไทย

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ร่วมกับภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ทำการศึกษาสภาวะการปลูกข้าวหอมให้ได้พันธุ์ดี และวิจัยสามารถกำหนดแหล่งผลิตข้าวหอมที่มีคุณภาพดี ซึ่งจะเป็นผลให้ผลผลิตของข้าวสูงขึ้นเพียงพอต่อการส่งออก (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 22 กันยายน 2544 หน้า 24)





หัวฉีดวัดชีวภาพแบบรวม (หัววัดน้ำตาลกลูโคสและหัววัดออกซิเจน)

นายมานะ ศรียุทธศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยและพัฒนาหัววัดชีวภาพที่สามารถวัดน้ำตาลกลูโคส และความเข้มข้นของออกซิเจนได้พร้อมๆ กัน มีความสำคัญและมีประโยชน์มากในทางการแพทย์และกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคสำหรับแพทย์ การควบคุมกระบวนการผลิตในโรงงาน และนำไปใช้ในการศึกษาสภาวะแวดล้อมทางน้ำได้ด้วย (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 22 กันยายน 2544 หน้า 24)





เครื่องต้นแบบผสมอาหารปลา

นายธัญญ พรหมอารีย์ นายสราวุธ อุเทนสุต และนางสาวพิกุล สุวรรณกาญจน์ นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ช่วยกันสร้างประดิษฐ์เครื่องผสมอาหารปลาราคาถูกขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องต้นแบบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา โดยมีอาจารย์ จิตตกร ทรงต่อศรีสกุล เป็นที่ปรึกษา เครื่องผสมอาหารปลาเครื่องนี้ต้องการสร้างขึ้นเพื่อให้ได้อาหารปลาแบบอัดเม็ด (ชนิดจมน้ำ) ตามลักษณะการแปรรูปคือส่วนของการบด ส่วนของการผสม ส่วนของการอัดเม็ด และส่วนของการทำให้แห้ง เครื่องดังกล่าวรวมทุกขั้นตอนไว้ในตัว เครื่องทั้งหมดจึงง่ายต่อการทำงาน สามารถเลือกชนิดและคุณภาพวัสดุอาหารได้ตรงตามความต้องการ อัตราส่วนกำลังการผลิตเท่ากับ 15 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งหมด 15,000 บาท สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทร. 0-2913-2500-24 ต่อ 8109 ในวันและเวลาราชการ (สยามรัฐ อาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2544 หน้า 20)





โชว์ผลงานประดิษฐ์ รถขุดดิน-หมากรุกคริสตอล ยอดเยี่ยมเทคโนโลยีเด็กไทย

การประกวดผลงานออกแบบ ระดับนานาชาติ “พีซีที อะวอร์ด 2001 อินเตอร์เนชั่นแนล” ครั้งที่ 9 จัดโดยบริษัท พาราเมตริก เทคโนโลยีคอร์ปเรชั่นจัดประกวด รางวัลชนะเลิศเป็นของ นายพิณิตย์ บุญมี กับนายโสภณ นันตภิวัฒน์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสร้างสรรค์ “โครงงานรถขุดดิน” ซึ่งคิดค้นได้อย่างซับซ้อนนำชิ้นงานมาประกอบและต่อกันได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ สมจริง ส่วนอีกรางวัลเป็นของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้าชัย ในการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ปรากฏว่า นายณัฐชัย อึ้งศรีวงศ์ นิสิตปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ กับผลงาน “หมากรุกคริสตอล” เป็นโปรแกรมหมากรุกไทยได้รางวัล อีกรางวัลนิสิตเกษตรฯ ได้รองชนะเลิศโปรแกรม Open Source ผลงานของ นายธีวรา วรโฆษิต และ น.ส.สุวรัตน์ รัฐกุล ชุด “ระบบจัดการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับระบบปฏิบัติการลีนุกซ์” รางวัลที่ 3 น.ส.ณัฐฑิยา กัณหาบัง ผลงาน “ระบบควบคุมและส่งเสริมกระบวนการซอฟต์แวร์” และประเภทโปรแกรมงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รางวัลชมเชยเป็นของ นายรัฐฉัตร ฉัตรพัฒนศิริ ชุด “ระบบตรวจจับผู้บุกรุกอย่างง่าย” (มติชน ศุกร์ที่ 14 กันยายน 2544 หน้า 14)





ข่าวทั่วไป


หมอสหรัฐต้านพ่อแม่ให้เด็กใช้รถหัดเดิน

รายงานข่าวจากสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน เรียกร้องในการห้ามใช้รถหัดเดินสำหรับเด็ก เนื่องจากพบว่าอุปกรณ์ช่วยหัดเดินเป็นอันตราย แม้มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันแล้วก็ตาม รถหัดเดินสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบาดเจ็บและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ยังไม่แน่ชัดถึงประโยชน์จากอุปกรณ์หัดเดินดังกล่าว จึงเห็นว่าควรออกคำสั่งห้ามการผลิตและจำหน่ายรถหัดเดินสำหรับเด็ก (มติชน พฤหัสบดี ที่ 13 กันยายน 2544 หน้า 13)





โรคระบบไหลเวียนโลหิตอันตรายตายอันดับ 1

โรคระบบไหลเวียนโลหิต เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของกลุ่มสาเหตุการตาย 10 กลุ่มแรก จากการสำรวจการบริโภคอาหารประจำวันของคนไทย พบว่าคนภาคกลางและคนภาคใต้จะรับประทานไขมันและโปรตีนจากสัตว์มากกว่าคนภาคอื่นๆ และคนในเมืองรับประทานไขมันและโปรตีนจากสัตว์มากกว่าคนชนบท นอกจากนี้คนไทยยังบริโภคเกลือปรุงรสถึงวันละ 7-17 กรัม สูงกว่ามาตรฐาน 1.2-2.8 เท่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อโรคเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ (มติชน พฤหัสบดี ที่ 13 กันยายน 2544 หน้า 7)





เปิบปลาปลุกชีวิตให้สดชื่นรื่นเริง

อาจารย์วิชาจิตวิทยาของโรงเรียนแพทย์ไครสทเชิร์ช ของนิวซีแลนด์ รายงานว่า พบหลักฐานในการศึกษาวิจัยว่า ในโปรตีนของปลามีสารประกอบที่เรียกว่า “ทริปโตฟาน” อันเป็น กรดอมิโนอันเป็นอาหารที่จำเป็นอย่างหนึ่งของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง มีสรรพคุณช่วยให้คนเราหายจากอาการซึมเศร้า สารนี้มีสรรพคุณเป็นยาต่อต้านความรู้สึกซึมเศร้าได้ดี (ไทยรัฐ พุธที่ 19 กันยายน 2544 หน้า 7)





“เภสัชฯมหิดล” เตือนอย่าใช้สมุนไพรเป็นยาระบายเกิน 7 วัน…อันตราย

รศ. พร้อมจิตต์ ศรลัมภ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตือนผู้ใช้ยาสมุนไพรช่วยระบาย-ลดความอ้วน อย่าใช้ติดต่อเกิน 7 วันจะทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่ทำงาน สมุนไพรเหล่านี้ได้แก่ มะขามแขก ชุมเห็ดเทศ และขี้เหล็ก ที่มีสารมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ส่วนปลายเพื่อขับอุจจาระ แนะวิธีเลิกใช้ยาระบายให้รับประทานอาหารที่มีกาก ดื่มน้ำมาก และออกกำลังกาย (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2544 หน้า 2)





จัดอบรม “การทำน้ำมันหอมระเหย” จากมะนาว..หวังแก้ปัญหาล้นตลาด

นายสมบูรณ์ สุทธิพงษ์ เกษตรจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดอบรมเรื่อง “การกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากมะนาว และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้” ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มแม่บ้านเกษตร เพื่อนำไปปรับใช้เป็นการเสริมรายได้ ได้จัดอบรมไปแล้ว 1 รุ่น รุ่นที่ 2 จะเปิดอบรมระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2544 ที่ศูนย์แปรรูปผลผลิตเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรโพธิ์ทองพัฒนา อำเภอท่ายาง ผู้สนใจติดต่อได้ที่ คุณสุมาลัย แสงสุวรรณกุล โทร.0-1862-6769 หรือ 0-3242-4127 ในวันเวลาราชการ (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 21 กันยายน 2544 หน้า 27)





เตือนระวังอันตรายอาหารเสริม ‘แปะก๊วย-ซุบไก่’ ต้องกินถูกวิธี

ภก.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยา สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้คนไทยเริ่มหันมาสนใจในเรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นจำนวนมาก การกินอาหารเสริมในปริมาณมาก จะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบร่างกายได้เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่อนข้างจะมีความเข้มข้นของสารอาหารสูง เช่นใบแปะก๊วย คนส่วนมากเข้าใจผิดว่าใบแปะก๊วยกินแล้วจะช่วยบำรุงสมองเสริมความจำ แต่ความเป็นจริงใบแปะก๊วยจะใช้กับคนที่เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ เพราะมีส่วนช่วยทำให้เส้นเลือดขยายขึ้น ถ้าผู้บริโภคกินใบแปะก๊วยในปริมาณที่มากและต่อเนื่อง อาจจะทำให้เส้นเลือดขยายมากจนเป็นอันตราย (มติชน ศุกร์ที่ 7 กันยายน 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215