|
หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 39 ประจำวันที่ 2001-10-02
ข่าวการศึกษา
ป.โทมหิดลชนะคดีโละวิทยานิพนธ์อังกฤษ ยันประเมินอุดมฯ ไม่ใช่จัดอันดับสถาบัน สสวท.ปรับบทบาทรับปฏิรูป กศน.ปรับเว็บฯ ใหม่สนองบริการ สอบวัดความรู้ ทั่วประเทศ ม.ค. ปีหน้า เผยอาจารย์เกษียณอื้อ-หวั่นการสอนอุดมฯชะงัก
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
ไทย อุ้มเพื่อนบ้าน โดดบุกเบิกวิทย์ลาว ผลิตได้แล้ว ยาสกัดมาลาเรีย ตำรับไทย ท่าอากาศยานในสหรัฐติดตั้ง เครื่องตรวจสอบใบหน้าผู้โดยสาร เครื่องแบบสนามทหารอนาคต ปลงศพแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่นเป็นผุยผงให้เป็นปุ๋ยของพืช ไทยพัฒนาเทคโนฯอันดับ 40 เตือนการใช้ปุ๋ยชีวภาพให้ถูกวิธี อย่านำไปบริโภคมีสิทธิตายฟรี
ข่าววิจัย/พัฒนา
สร้างหุ่นยนต์ง่ายนิดเดียว เครื่องสีถั่วลิสง 2
ภูมิปัญญาเด็กไทย คพ.ทำสำเร็จ เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์ม เครื่องควบคุมให้น้ำไก่เนื้อ เกษตรวิศวกรรมพัฒนาเครื่องหั่น-ย่อยกิ่งไม้ เครื่องทำกระดาษสา
กึ่งอัตโนมัติ ผลงานชิ้นเยี่ยมของนิสิต ม.เกษตรฯ ชี้เพิ่มจำนวนนักวิจัยไทยเหมือนปลูกหญ้าในทะเลทราย
ข่าวทั่วไป
จี้หญิงตรวจเต้านมสกัดมะเร็ง 16 สินค้าเกษตรที่ต้องติดป้ายราคา ไฟเขียวเปิดเสรีการบินในประเทศ ก่อสร้างไทยลุยหางานนอก ปท. พาณิชย์หนุนสุดลิ่มดึงเม็ดเงิน กินเจ-มังสวิรัตินานระวัง สมองเสื่อม
ข่าวการศึกษา
ป.โทมหิดลชนะคดีโละวิทยานิพนธ์อังกฤษ
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ศาลปกครอง นายกฤตยชญ์ ศิริเขต ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี พร้อมด้วยองค์คณะตุลาการศาลปกครอง ออกนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีที่ นายสรัล สินุธก นักศึกษาปริญญาโท ม.มหิดลและพวก เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีต่อ ม.มหิดล ซึ่งเป็นคู่กรณี ในฐานความผิดที่ออกกฎมิชอบด้วยกฎหมาย ให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งคดีนี้โอนย้ายมาจากคณะกรรมการว่าด้วยพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2544 โดยศาลชี้ว่า แม้ทาง ม.มหิดลต้องการใช้วิธีนี้เพื่อให้บรรลุผลทางการศึกษาแต่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความสำเร็จ บางกรณีก็อนุโลมให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทยเพราะเห็นข้อจำกัดของนักศึกษาเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ ศาลเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการสร้างค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลให้นักศึกษา ส่วนหนึ่งทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทยแล้วไปจ้างแปลเป็นภาษาอังกฤษ คณะตุลาการศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรให้ ม.มหิดลเลิกข้อบังคับนี้โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 ต.ค. 2543
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 หน้า 15)
ยันประเมินอุดมฯ ไม่ใช่จัดอันดับสถาบัน
นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. เกี่ยวกับตัวบ่งชี้ในการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษาระดับอุดมศึกษา ร่วมกับผู้แทนมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สภาหอการค้าในฐานะผู้ใช้บัณฑิต น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้หารือร่างตัวชี้วัด 21 ตัวที่ สมศ. ได้จัดทำไว้และมีข้อสรุปเห็นพ้องกันว่า การประเมินภายนอกจะต้องไม่เป็นการจัดอันดับสถาบัน แต่เป็นการประเมินตามสภาพจริงเพื่อปรับปรุงแก้ไข นายสมหวัง กล่าวต่อว่า ได้มีการเสนอว่าผู้ประเมินการศึกษาระดับอุดมศึกษาควรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกัน มีลักษณะกัลยาณมิตร สามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ และการประเมินไม่ควรละเลยความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงเสนอให้จัดกลุ่มตัวบ่งชี้กลางอุดมศึกษาใหม่ โดยอาจแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มสถาบันที่เน้นงานวิจัย กลุ่มที่เน้นการสร้างบัณฑิต และกลุ่มระดับวิทยาลัย ซึ่งอาจให้แต่ละแห่งสมัครใจเองว่าจะอยู่ในกลุ่มใด
(มติชน จันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
สสวท.ปรับบทบาทรับปฏิรูป
ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า บทบาทของ สสวท. กับการปฏิรูปการศึกษานั้น สสวท. จะต้องทำวิจัยและพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์แกนกลางกับหลักสูตรท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจให้แก่สถานศึกษาทั้งยังมีบทบาทในการ อบรมพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะครูประถมซึ่งมีครูที่เอกวิทยาศาสตร์อยู่เพียง 7.7% เท่านั้น และในปี 45 ระดับประถมศึกษาจะมีหลักสูตรวิทยาศาสตร์เป็นหลักสูตรต่างหากที่แยกจากวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นจึงต้องเร่งอบรมครูให้เข้าใจหลักสูตรวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ สสวท. ยังมีบทบาทในการติดตามความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ของโลก
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 หน้า 15)
กศน.ปรับเว็บฯ ใหม่สนองบริการ
กรมการศึกษานอกโรงเรียน แจ้งว่า ขณะนี้ได้ปรับปรุงและปฏิรูปเว็บไซต์ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใหม่ ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับกรมการศึกษานอกโรงเรียนในทุกๆ ด้าน และยังมี Webboard สำหรับให้ผู้สนใจแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษานอกโรงเรียน หรือข้อเสนอแนะตลอดจนซักถามข้อสงสัย ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ที่ www.nfe.go.th
(สยามรัฐ พุธที่ 26 กันยายน 2544 หน้า 20)
สอบวัดความรู้ ทั่วประเทศ ม.ค. ปีหน้า
นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานระดับจังหวัด โครงการประเมินคุณภาพระดับชาติ หรือ (National Test) ว่า การประชุมในวันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของคณะกรรมการดำเนินการสอบประเมินคุณภาพระดับชาติ ก่อนที่จะมีการจัดสอบพร้อมกันในช่วงชั้นต่างๆ ในเดือน มกราคม 2545 โดยแบ่งเป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สอบวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ ประถมศึกษาปีที่ 6 สอบวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ส่วนระดับชั้น ม.6 จะให้มีการสอบวัดความถนัดทางการเรียน (SAT) แทนก่อนในเดือนพฤศจิกายน การสอบครั้งนี้ข้อสอบที่ใช้วัดจะมีข้อสอบอัตนัยในทุกช่วงชั้น นายชอบ ลีซอ ผู้อำนวยการสำนักงานทดสอบทางการศึกษา กล่าวว่า ผลการสอบ SAT ปี 2543 ของนักเรียนชั้น ม.6 จำนวน 475,000 คนนั้น พบว่ามีความแตกต่างในคุณภาพทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีชื่อเสียงกับโรงเรียนทั่วไป
(ไทยโพสต์ อังคารที่ 25 กันยายน 2544 หน้า 9)
เผยอาจารย์เกษียณอื้อ-หวั่นการสอนอุดมฯชะงัก
นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงฯได้รวบรวมตัวเลขข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ และเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เกษียณก่อนกำหนดประจำปี 2544 มีเกือบ 1,000 ราย การที่มีจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกษียณจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลได้จำกัดอัตราว่างและอัตราเกษียณของหน่วยงานราชการทั้งหมด โดยในส่วนของทบวงฯ เคยเสนอขอคงอัตราว่างและเกษียณไว้แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ได้อนุมัติให้อัตราจ้างแทน โดยจัดสรรให้ตามจำนวนผู้เกษียณและให้มหาวิทยาลัยจัดจ้างเองตามความเหมาะสม ซึ่งปัญหาคงจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันที่เปิดหลักสูตรใหม่และคณะวิทยาศาสตร์ที่ต้องรับสอนวิชาพื้นฐานให้กับคณะอื่นด้วย
(ไทยรัฐ พุธที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 15)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
ไทย อุ้มเพื่อนบ้าน โดดบุกเบิกวิทย์ลาว
ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผอ.สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบวท.) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการเครือข่ายนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้นได้มีโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนลาว ในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งบุคลากร ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้คณะนักวิทยาศาสตร์จากไทย ฟิลิปปินส์ และเกาหลี ได้เดินทางไปพบกับรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของประเทศลาวแล้ว ในเบื้องต้นพบว่าประเทศลาวขาดแคลนทั้งนักวิทยาศาสตร์ เงินสนับสนุน และแผนวิทยาศาสตร์ของชาติที่ชัดเจน ทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างล่าช้า อย่างไรก็ตาม การปรับแผนวิทยาศาสตร์ฯในครั้งนี้ จะต้องมีการนำเสนอต่อสภาผู้แทนของลาว เพื่อให้ความเห็นชอบด้วย ซึ่งหากสภาฯเห็นชอบเราก็จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือเต็มที่ต่อไป
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 หน้า15)
ผลิตได้แล้ว ยาสกัดมาลาเรีย ตำรับไทย
ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า จากการที่นักวิจัยไทยได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกศึกษาการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย เพื่อหาแนวทางพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ขึ้น โดยได้พัฒนาสารสกัดจากต้นซิงเฮาซู มานานกว่า 2 ปีแล้ว ขณะนี้สามารถสกัดสาร DHA dihydrofolate บริสุทธิ์ได้แล้ว ซึ่งสารดังกล่าวนี้มีคุณสมบัติทางยาดีกว่า ยาอทิมิสชินิน เนื่องจากมีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี ทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับองค์การเภสัชกรรม เพื่อผลิตยาต้านมาลาเรีย คาดว่าไม่เกินกลางปี 2545 จะขึ้นทะเบียนตำรับยามาลาเรียที่พัฒนาโดยคนไทยเป็นครั้งแรกได้ อีกทั้งมีแนวโน้มว่ายาดังกล่าว องค์การอนามัยโลกน่าจะนำไปใช้กับทุกประเทศทั่วโลกที่มีปัญหานี้
(ไทยรัฐ พุธที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 15)
ท่าอากาศยานในสหรัฐติดตั้ง เครื่องตรวจสอบใบหน้าผู้โดยสาร
หนังสือวอชิงตัน โพสต์ ของสหรัฐฯ แจ้งว่า คณะกรรมการปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยตามสนามบิน จะติดตั้งเครื่องตรวจจำใบหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกนในเมืองบอสตัน ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ เครื่องดังกล่าว สามารถเชื่อมโยงกล้องถ่ายภาพตามจุดตรวจ ส่งข้อมูลภาพถ่ายของผู้ที่สงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คณะกรรมการรู้สึกประทับใจ เชื่อมั่นว่าจะประกันความปลอดภัยได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นระบบที่จะวิเคราะห์ภาพใบหน้าด้วยระบบดิจิตอล แยกแยะโครงหน้าแบบต่างๆ ได้เกือบเท่ากับแยกแยะรอยพิมพ์นิ้วมือคน ช่วยให้ไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับภาพในแฟ้มประวัติผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากรได้
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 7)
เครื่องแบบสนามทหารอนาคต
เครื่องแบบทหารใหม่ นับเป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์ของจุลเทคโนโลยี อันเป็นศาสตร์ของการนำเอาอณูและปรมาณูเดี่ยวๆ มาประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่มาใช้ประโยชน์ โดยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของพลาสติก น้ำมันและสิ่งทอ ช่วยให้มีคุณสมบัติให้อากาศผ่านเข้าออกได้ ทนทานต่อความร้อน มีความเหนียวแน่นแข็งแรงแต่ยืดหยุ่นได้ นักวิทยาศาสตร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ เผยว่า ด้ายทอเส้นเล็กละเอียดนั้นผลิตกันได้แล้ว และทางกองทัพยังมีโครงการจะตัดเย็บเครื่องแบบที่วิเศษกว่านั้นขึ้นภายในสิบปีข้างหน้านี้ เป็นเครื่องแบบที่มีตัวรับสัญญาณและคอมพิวเตอร์จิ๋วฝังอยู่ในตัว โดยที่มันจะเหนียวทนกระสุนได้ สามารถส่งสัญญาณสำคัญและเปลี่ยนสีได้เพื่อการพรางตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 7)
ปลงศพแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่นเป็นผุยผงให้เป็นปุ๋ยของพืช
นักนิเวศวิทยา เสนอวิธีปลงศพกันเสียใหม่ เพื่อจะได้ไม่กระทบกระเทือนสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิธีไฮเทค อบให้แห้งด้วยความเย็นจัด แล้วป่นให้ละเอียดเป็นผงธุลีเอาไปใส่ต้นไม้ให้เป็นปุ๋ย นักนิเวศวิทยาของสวีเดน นางซูซาน ไวห์-มาสัก กล่าวแจ้งว่า ได้ทดลองวิธีนี้กับซากวัวและหมูได้ผลมาแล้ว โดยแช่แข็งซากในก๊าซไนโตรเจนที่เย็นจัดจนมีสภาพเป็นของเหลว พร้อมกับอาบคลื่นเสียงความถี่ต่ำด้วย เพื่อให้ไนโตรเจนเหลวซึมซาบเข้าไปจนถึงกระดูก ซากที่ถูกแช่เย็นจัดจนแข็งแล้วรีดน้ำออกด้วยการระเหยที่ความดันและอุณหภูมิต่ำ เมื่อเอาค้อนเคาะเบาๆ ก็แตกร่วนออกเป็นผุยผงจนสิ้น ส่วนศพมนุษย์ถ้าใช้ปลงศพด้วยวิธีนี้ แต่ละคนจะเหลือเป็นเพียงผงธุลีที่สะอาด ปราศจากกลิ่นเพียงแค่อย่างมากก็แค่หนึ่งในสี่ของน้ำหนักเต็มเท่านั้น
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 หน้า 7)
ไทยพัฒนาเทคโนฯอันดับ 40
ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากรายงานการศึกษา Human Development Report ประจำปี ค.ศ. 2001 (HDR 2001) ภายใต้หัวข้อ Making Technology Works For Human Development ของสำนักโครงการพัฒนาแห่งประชาชาติ หรือ UNDP ได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาของประเทศไทยเป็นตัวอย่างในการริเริ่มเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ 3 โครงการ คือ การนำอินเตอร์เน็ตเข้าสู่โรงเรียนในโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (Schoolnet) การคิดค้นยารักษาโรคมาเลเรียที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นในประเทศไทย และวิธีคาดการณ์เทคโนโลยี ในรายงานยังได้นำเสนอเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 72 ประเทศทั่วโลก
(สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 27 กันยายน 2544 หน้า20)
เตือนการใช้ปุ๋ยชีวภาพให้ถูกวิธี อย่านำไปบริโภคมีสิทธิตายฟรี
ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า ผู้ผลิตปุ๋ยชีวภาพ โฆษณาเกินความจริง ทำให้เข้าใจผิดว่า ปุ๋ยชีวภาพนำไปบริโภคได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ขณะนี้มีการวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อให้ทราบว่า จุลินทรีย์ตัวไหนให้ประโยชน์และให้โทษ จะได้ร่างแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย
(เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 22)
ข่าววิจัย/พัฒนา
สร้างหุ่นยนต์ง่ายนิดเดียว
นายประเสริฐศักดิ์ เดชอุดม นักศึกษาปริญญาโท ปี 1 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ของ มจธ. ได้รับเชิญจากบริษัท WARNER BROS. PICTURES ให้นำหุ่นยนต์ไปแสดงเพื่อเปิดตัวภาพยนตร์ เรื่อง เอ.ไอ จักรกลอัจฉริยะ ที่โรงภาพยนต์สยามสแควร์ มัลติเพล็กซ์ รอบปฐมทัศน์ ทำให้มีโอกาสนำหุ่นยนต์ SMR (Simple Mobile Robot) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์พื้นฐานที่ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสร้างหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นผลงานที่เขาได้ประดิษฐ์ขึ้นมาไปแสดงด้วย ท่านผู้ใดสนใจติดต่อได้ที่ E-mail : chang@fibo.kmutt.ac.th
(เดลินิวส์ อังคารที่ 25 กันยายน 2544 หน้า 16)
เครื่องสีถั่วลิสง 2
ภูมิปัญญาเด็กไทย
นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้วิจัยและพัฒนาเครื่องสีผิวถั่วลิสง 2 เป็นผลสำเร็จ โดยมีอาจารย์ เลิศศักดิ์ เหมยากร เป็นที่ปรึกษา จากการทดสอบประสิทธิภาพในการสี พบว่ามีประสิทธิภาพเกือบ 100% อัตราการผลิตสูงสุด 700 ก.ก./ชม. สามารถทดแทนแรงคนได้ถึง 10 คน หากท่านใดสนใจรายละเอียด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2470-9123
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 24 กันยายน 2544 หน้า 24)
คพ.ทำสำเร็จ เครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์ม
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็น สุกร ไก่ และโคนม คือ การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองธรรมชาติ ปัญหากลิ่นเหม็น และปัญหาแมลงวัน ทำให้มีประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงร้องเรียนเข้ามาที่ คพ. จำนวนมาก ซึ่งกรมได้พยายามหาทางแก้ไข
โดยล่าสุดนักวิจัยได้คิดค้นเครื่องกำจัดกลิ่นเหม็นจากกิจกรรมดังกล่าวได้สำเร็จ และได้มีการทดลองใช้ในอุตสาหกรรมปลาป่นที่มีกลิ่นเหม็น โดยเครื่องดังกล่าวสามารถกำจัดกลิ่นเหม็นได้ถึง 85%
(มติชน พุธที่ 26 กันยายน 2544 หน้า 7)
เครื่องควบคุมให้น้ำไก่เนื้อ
ราชัญ นันตา และ สุรพล รอดอยู่ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สจพ. ได้วิจัยเครื่องต้นแบบระบบควบคุมการให้น้ำไก่เนื้อแบบอัตโนมัติ สั่งข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์สามารถพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้
(เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 16)
เกษตรวิศวกรรมพัฒนาเครื่องหั่น-ย่อยกิ่งไม้
นายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร นายกสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กองเกษตรวิศวกรรมได้พัฒนาเครื่องหั่น-ย่อยพืช สำหรับทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสดออกมา 2 แบบ แบบที่ 1 สามารถหั่นย่อยกิ่งไม้ทั่วๆ ไปที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสูงสุด 2 นิ้ว แบบที่ 2 เป็นเครื่องย่อยซากพืชเส้นใย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่กองเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2519-4497, 0-2579*2153
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 27)
เครื่องทำกระดาษสา
กึ่งอัตโนมัติ ผลงานชิ้นเยี่ยมของนิสิต ม.เกษตรฯ
นายวิทยา หนาแน่น นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ออกแบบสร้างเครื่องทำแผ่นกระดาษสาที่ทำด้วยมือกึ่งอัตโนมัติ สามารถผลิตกระดาษสาได้ 20-60 วินาทีต่อแผ่น ค่าใช้จ่ายตกแผ่นละ 2.6-6.5 บาท เครื่องมือนี้ได้รับรางวัล Industrial Award ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. โทร 0-2942-8556 ต่อ 1105, 1126
(เดลินิวส์ พุธที่ 26 กันยายน 2544 หน้า 20)
ชี้เพิ่มจำนวนนักวิจัยไทยเหมือนปลูกหญ้าในทะเลทราย
ศ.ดร. พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยาย เรื่อง มหาวิทยาลัยไทยจะพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้อย่างไร เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นี้ว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยน้อยมาก ผู้ที่จบมาจากต่างประเทศส่วนใหญ่ จะเป็นครูสอนระดับประถมและมัธยม ส่วนที่เหลือจึงจะเป็นนักวิจัย และความเข้าใจผิดคิดว่าการที่มหาวิทยาลัยจะสร้างนักวิจัยขึ้นมาได้ จะต้องมีการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทและเอก ซึ่งไม่เป็นความจริง ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ขาดแคลนนักวิจัยเป็นเพราะในประเทศไทยยังขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ ไม่มีสิ่งจูงใจในการทำวิจัย ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือฐานข้อมูลในการทำวิจัย และที่สำคัญไม่มีบรรยากาศของการทำวิจัยในประเทศของเราเลย
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 หน้า 10)
ข่าวทั่วไป
จี้หญิงตรวจเต้านมสกัดมะเร็ง
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเปิดงานมหกรรมมะเร็งเต้านม ครั้งที่ 1 ว่า ปัจจุบันพบหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมสูง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขต กทม. คาดว่าจะพบผู้ป่วยรายใหม่ทั่วประเทศกว่า 6,000 รายในปี 2545 นอกจากนี้ มะเร็งเต้านมยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของโรคมะเร็งในผู้หญิง ดังนั้น การให้สุขศึกษาแก่ประชาชนเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมป้องกันโรคดังกล่าว นพ.เสรี ตู้จินดา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ เพราะโรคนี้มีปัจจัยของการเกิดโรคหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ผู้หญิงที่ไม่เคยให้กำเนิดบุตร ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะมีโอกาสเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 5-10 การรับประทานยาคุมกำเนิดนานๆ รวมถึงการรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง เป็นต้น ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรหมั่นตรวจเต้านมของตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 2-3 วันหลังการหมดประจำเดือน หากพบก้อนเนื้อหรือเนื้อที่แข็งเป็นไตผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 45-60 ปี ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องเมโมแกรมทุกๆ 2 ปี
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 29 กันยายน 2544 หน้า 15)
16 สินค้าเกษตรที่ต้องติดป้ายราคา
ขณะนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดให้มีการติดป้ายแสดงราคาสินค้าชนิดต่างๆ โดยมีหลายหมวดหมู่ด้วยกัน สำหรับหมวดเกษตรนั้นมีสินค้าที่ต้องติดป้ายแสดงราคา 16 รายการดังนี้ 1. กรดมด 2. กรรไกรตัดกิ่งไม้ 3. กระบอกพ่นหรือฉีดยาฆ่าแมลง 7. เครื่องมือจับสัตว์น้ำ8. เครื่องสูบน้ำ 9. แคลเซียมคาร์ไบต์ 10. ปุ๋ยเคมี 11.ปูนขาว 12. ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช 13. รถไถเดินตาม 14. รถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร 15. สายยางส่งน้ำ และ 16. หัวอาหารสัตว์ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถแจ้งข้อมูลไปได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน 1569
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 7)
ไฟเขียวเปิดเสรีการบินในประเทศ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาร์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ที่ประชุม กบร. มีมติให้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการบินในเส้นทางบินภายในประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้สายการบินเอกชนที่ประกอบการอยู่สามารถทำการบินทับเส้นทางบินของสายการบินไทยที่ให้บริการอยู่ได้ แต่ทั้งนี้ การบินทับเส้นทางบินจะอยู่ในเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะต้องทำการบินในเส้นทางบินหลัก เส้นทางบินรองและเส้นทางบินย่อยไปพร้อมๆ กัน และกระทรวงคมนาคมจะประกาศยกเลิกกฎกระทรวง 2534 ที่ได้กำหนดว่า ห้ามสายการบินเอกชนบินทับเส้นทางบินของการบินไทยที่ให้บริการอยู่ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติที่จะให้สายการบินทุกสายการบินที่ประกอบการในเส้นทางบินในประเทศไทยสามารถปรับอัตราค่าโดยสารภายในประเทศได้เสรี โดยมีเงื่อนไขว่า ในเส้นทางบินที่มีระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร ผู้ประกอบการสามารถปรับอัตราค่าโดยสาร ส่วนเส้นทางบินที่มีระยะทางเกินกว่า 200 กิโลเมตร การที่จะปรับอัตราค่าโดยสารจะต้องปรับให้อยู่ในมาตรฐานราคาค่าโดยสารขั้นต่ำ ขั้นสูงที่ 3.82-6.82 บาท/กิโลเมตร ตามที่กรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กำหนด
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 27 กันยายน 2544 หน้า 7)
ก่อสร้างไทยลุยหางานนอก ปท. พาณิชย์หนุนสุดลิ่มดึงเม็ดเงิน
นายชรินทร์ หาญสืบสาย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า กรมฯได้สนับสนุนและผลักดันให้สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างของไทย รวมตัวกันก่อตั้งเป็นองค์กรเอกชนโดยใช้ชื่อว่า สหพันธ์ธุรกิจการออกแบบและการก่อสร้างแห่งประเทศไทย (FEDCON) โดยเป็นการรวมตัวกันของสมาคมวิชาชีพ 9 สมาคม เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานสมาชิกของสหพันธ์ให้มีโอกาสเสนอและรับงานในต่างประเทศ เป็นตัวแทนของสมาคมก่อสร้างและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพธุรกิจบริการออกแบบและก่อสร้างเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของวิชาชีพธุรกิจบริการออกแบบและก่อสร้าง กรมฯมองเห็นศักยภาพของธุรกิจดังกล่าวในการที่จะทำรายได้เข้าสู่ประเทศมหาศาล โดยเฉพาะปัจจุบันที่มูลค่าการก่อสร้างในประเทศลดลงเหลือ 60,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น การหาตลาดต่างชาติจึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง
(ไทยรัฐ พุธที่ 26 กันยายน 2544 หน้า 9)
กินเจ-มังสวิรัตินานระวัง สมองเสื่อม
น.พ.จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง อาจารย์ประภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าเมื่ออายุ 60 ปี จะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดจาก 1. การเสื่อมสลายของเนื้อสมองที่ตายลงและไม่มีเซลล์สมองใหม่ขึ้นมาทดแทน 2. ปัญหาจากหลอดเลือดสมองที่มีไขมันสะสมใต้ผนังหลอดเลือด เกิดหลอดเลือดอุดตันไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ 3. เกิดจากติดเชื้อในสมอง มีการอักเสบจนเซลล์สมองตาย สูญเสียความเฉลียวฉลาด 4. เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 12 โดยจะพบบ่อยในคนที่กินเจ กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป
(มติชน พุธที่ 26 กันยายน 2544 หน้า 7)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|