|
หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 41 ประจำวันที่ 2001-10-16
ข่าวการศึกษา
มน.ชูโบนัสดึงขรก.เปลี่ยนสถานภาพ สมศ.ดึงปลัดทบวงฯช่วยเคลียร์ปัญหาตัวบ่งชี้ประเมินมหาลัย กรมอาชีวะเห็นใจครูจ้างสอน เตรียมเสนอสวัสดิการปลอบใจ ไม่เปิดเสรีสื่อการเรียนทั้ง 100% ปีแรกหลักสูตรใหม่ลองเรียนก่อนแค่ 4 ชั้น เผยผลสำรวจบัณฑิตจุฬาฯเตะฝุ่นอื้อ รุกปรับเกณฑ์รับ ม.1 ยืดหยุ่นตามพื้นที่ สรภ.หวั่นนักเรียนทุนชวดตำแหน่ง
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
พระเทพฯทรงเตือนระวังภัยจากไฮเทค ไบโอเทค-เกษตร ร่วมจีโนมข้าว เร่งศึกษายีนความหอม-ทนแล้ง ไทยวางเป้าศูนย์แพทย์สมุนไพรเอเชีย ดิกชันนารี ชื่อแปลไทยขายผ่านเว็บ เตรียมตัดดาวพลูโตจากระบบสุริยะ พบหุ่นยนต์ไกต์ วันเทคโนโลยีไทย
ข่าววิจัย/พัฒนา
ถวายสิทธิบัตร ในหลวง ทรงปรีชา ประดิษฐ์ เครื่องกล เครื่องลอกเปลือก สา ผลผลิตของ วิศวฯมก. การวิจัยและพัฒนาการใช้ไชนาสโตน การศึกษาเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ น้ำข้าวผสมเกลือ ช่วยรักษาได้ดี โรคอุจจาระร่วงในเด็กต่ำกว่า 5 ปี อาจารย์ราชภัฏร้องภาครัฐพิจารณาแก้กฏหมายทำไวน์ วิจัยหนูบางตัวที่มียีนผ่าเหล่า มีภูมิคุ้มกันเชื้อแอนแทร็กซ์อยู่ในตัว คิดสูตรลัดทำสีครามธรรมชาติ ชาวบ้านทำไม่ทันการส่งออก ประดิษฐ์เครื่องเรียกปลาพระสังข์ ใช้เครื่องโซนาร์เป็นมนต์อาถรรพณ์ พัฒนาที่ดินปรับปรุงโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ
ข่าวทั่วไป
วัยรุ่นเฮดื่มน้ำอัดลมต่อไปได้ ไม่เป็นของแสลงให้ฟันผุ
ข่าวการศึกษา
มน.ชูโบนัสดึงขรก.เปลี่ยนสถานภาพ
นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยกรณีสภาคณาจารย์ มน. เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.มน. เกี่ยวกับสถานภาพบุคลากร ซึ่งเดิมกำหนดให้ข้าราชการทุกคนต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ โดยให้เป็นระบบคู่ขนานว่า การที่ มน. กำหนดให้มีบุคลากรประเภทเดียวเพราะต้องการให้ทุกคนเท่าเทียมกัน หากมี 2 ระบบจะทำให้การปกครองยุ่งยาก เพราะส่วนหนึ่งขึ้นกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) อีกส่วนหนึ่งขึ้นกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มน. จึงอยากทำเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่การบริหารงานให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้า มีรายได้ดี และอาจมีโบนัสให้พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่ง มน. อาจเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่แจกโบนัส
(มติชน เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
สมศ.ดึงปลัดทบวงฯช่วยเคลียร์ปัญหาตัวบ่งชี้ประเมินมหาลัย
นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ให้สัมภาษณ์ กรณีนักวิชาการติงตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษา ที่ สมศ. ดำเนินการ เป็นการวัดคุณภาพลวง ไม่สามารถประเมินคุณภาพได้อย่างแท้จริง และเป็นการเน้นตัวเลขข้อมูลมากกว่าข้อเท็จจริง ผอ.สมศ. กล่าวต่อว่า เกณฑ์ที่จะนำมาเป็นตัวบ่งชี้จะต้องเป็นเกณฑ์ที่กระตุ้นการพัฒนาคุณภาพ ของมหาวิทยาลัย คุณภาพของบัณฑิต ซึ่งการกำหนดตัวบ่งชี้จะต้องอิงกับมาตรฐานตัวควบคุมมาตรฐานอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม การจัดทำตัวบ่งชี้ สมศ. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้
(มติชน พฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
กรมอาชีวะเห็นใจครูจ้างสอน เตรียมเสนอสวัสดิการปลอบใจ
นายพยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอาชีวศึกษากำลังเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการให้สวัสดิการครูจ้างสอนในสังกัดกรมอาชีวศึกษา เนื่องจากปัจจุบันกรมอาชีวศึกษามีครูจ้างสอนจำนวนมาก โดยเฉพาะในวิทยาลัยเปิดใหม่อย่างวิทยาการอาชีพ หรือวิทยาลัยสารพัดช่าง ซึ่งจะมีครูจ้างสอนถึงร้อยละ 70 โดยบุคลากรเหล่านี้จะได้รับเพียงเงินเดือนตายตัวเป็นค่าจ้าง ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีค่ารักษาพยาบาลหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ เหมือนข้าราชการ ซึ่งไม่มีแรงจูงใจให้คนเหล่านี้อยู่ต่อไป ดังนั้นตนจึงจะเสนอให้เปลี่ยนจากการว่าจ้างรายปี มาเป็นการต่อสัญญาทุก 3-5 ปี โดยให้มีระบบการประเมินเป็นระยะ ถ้าผ่านการประเมินจึงจะได้รับการต่อสัญญา แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่สามารถต่อสัญญาได้ และจะมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนรายปีเหมือนข้าราชการ ขณะเดียวกันก็จะมีการใช้ระบบบำนาญ สำหรับครูจ้างสอนจนถึงเกษียณ 60 ปี โดยจะใช้ระบบเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ
(สยามรัฐ พุธที่ 10 ตุลาคม 2544 หน้า 20)
ไม่เปิดเสรีสื่อการเรียนทั้ง 100%
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารกรมในความรับผิดชอบของตนว่า วันที่ 8 ต.ค. 44 ได้มีการพูดคุยกันถึงการผลิตสื่อการเรียนเสรี และการจำหน่ายสื่อเสรี ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมวิชาการ โดยมีการตั้งคำถามถึงการเตรียมความพร้อม รวมทั้งกรอบแนวทางที่กรมวิชาการวางไว้ ซึ่งนายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ ได้ตอบคำถามของที่ประชุมว่า จากการร่วมกับอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำวิจัยในเรื่องนี้ สรุปได้ว่า ไม่ควรเปิดเสรีทั้ง 100% โดยต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ควบคุมราคาไม่ให้แพงเกินไปจนประชาชนเดือดร้อน เนื้อหาและภาพประกอบให้มีความเหมาะสมตามวัย ที่ประชุมผู้บริหารยังได้เสนอแนะว่า เนื้อหาของแบบเรียนต้องมีการกระตุ้นให้เด็กเกิดการวิเคราะห์ได้ รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์คุณภาพส่งลงไปยังสถานศึกษา เพื่อสามารถจัดซื้อได้อย่างถูกต้อง พร้อมกันนั้นได้เสนอให้มีมาตรการกระตุ้นให้ครูได้มีส่วนช่วยพัฒนาสื่อให้ดีขึ้น รวมไปถึงสื่อทางไกลผ่านดาวเทียมโดยส่งเสริมให้มีการประกวดเพื่อพัฒนาฝีมือครูด้วย
(สยามรัฐ อังคารที่ 9 ตุลาคม 2544 หน้า 20)
ปีแรกหลักสูตรใหม่ลองเรียนก่อนแค่ 4 ชั้น
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.ศธ. เห็นชอบและประกาศลงนามบังคับใช้ในปีการศึกษา 2545 โดยในปีการศึกษา 2545 จะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในชั้น ป.1 และ ป.4 ชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2546 จะขยายใช้ในชั้น ป.1 ป.2 ป.5 ม.1 ม.2 ม.4 และ ม.5 และปีการศึกษา 2547 จะใช้หลักสูตรครบทุกชั้นเรียน จุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้ ก็เพื่อให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นคนไทย
(ไทยโพสต์ ศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2544 หน้า 9)
เผยผลสำรวจบัณฑิตจุฬาฯเตะฝุ่นอื้อ
ผลสำรวจการได้งานทำของบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นปีการศึกษา 2542 พบว่า บัณฑิตสำเร็จการศึกษาทั้งหมด 3,899 คน กรอกแบบสอบถามสำรวจภาวะการหางานทำกลับมา 3,307 คน คิดเป็น 84.8% ในจำนวนนี้ ได้งานทำแล้ว 1,828 คน คิดเป็น 55.3% อยู่ระหว่างศึกษาต่อ 949 คน คิดเป็น 28.7% และยังไม่ได้งานทำ 530 คน คิดเป็น 16% สาเหตุที่ยังไม่ได้งานทำ 287 คนหรือ 54.2% อยู่ระหว่างรอคำตอบการรับเข้าทำงาน 153 คน หรือ 28.9% หางานทำไม่ได้ 84 คน หรือ 15.8% ยังไม่ประสงค์จะทำงานทั้งนี้บัณฑิตที่ได้งานทำแล้ว ส่วนใหญ่ 62.0% ประกอบอาชีพเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน รองลงมาเป็นลูกจ้างในส่วนราชการ 14.6% สำหรับปัญหาของบัณฑิตในการหางานทำนั้น พบว่า 34.9% เป็นเพราะหางานที่ถูกใจไม่ได้ 20.9% ไม่ทราบแหล่งงาน 19.2% เห็นว่าได้รับเงินเดือนน้อย 11.8% เป็นเพราะหน่วยงานไม่ต้องการ 6.0% สอบเข้าทำงานไม่ได้ ส่วนอีก 5.3% ขาดผู้สนับสนุน
(ไทยรัฐ พุธที่ 10 ตุลาคม 2544 หน้า 15)
รุกปรับเกณฑ์รับ ม.1 ยืดหยุ่นตามพื้นที่
นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการว่า ที่ประชุมหารือการเตรียมการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2545 โดยให้ยึดนโยบายและเกณฑ์การรับนักเรียน นักศึกษา เหมือนปีที่ผ่านมา สำหรับปัญหาการรับนักเรียน นักศึกษา ที่ผ่านมาพบว่า เกณฑ์การรับนักเรียนแข็งเกินไป ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้ปรับปรุงวิธีการรับให้มีความยืดหยุ่น เพื่อความสะดวกในการเข้าเรียน สำหรับการศึกษาระดับปฐมวัยนั้น เนื่องจากปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายห้ามสอบคัดเลือก หากเด็กเกินให้ใช้วิธีจับสลาก แต่มีเสียงท้วงติงจากทางโรงเรียนถึงการจับสลากในปีการศึกษาหน้า จึงเปิดโอกาสให้ใช้มาตรการอื่นในการคัดเลือก อาทิ การวัดความพร้อมและความถนัด
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 15)
สรภ.หวั่นนักเรียนทุนชวดตำแหน่ง
ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สรภ.) กล่าวว่า จากการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาเรื่องอัตรากำลังของสถาบันราชภัฏ (รภ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ 2 ลักษณะคือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สรภ.จะให้ รภ. ทุกแห่งสำรวจอัตรากำลังที่ขาดแคลนอย่างละเอียด เพราะข้อมูลที่มีอยู่ไม่เป็นปัจจุบัน จากนั้นจะนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการ และ ครม. เพื่อขออนุมัติอัตราต่อไป ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว สรภ. จะได้ รภ. เตรียมแผนและข้อมูลอัตรากำลังให้ชัดเจน เพื่อรองรับการบริหารงานของรภ. ในอนาคต สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้คือ สรภ.ไม่มีอัตรากำลังให้กับนักเรียนทุนที่ส่งไปเรียนต่อในระดับปริญญาโททั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่กำลังทยอยเรียนจบ และต้องรอคอยอัตราบรรจุถึง 138 คน ซึ่งหากไม่มีอัตราบรรจุคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 15)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
พระเทพฯทรงเตือนระวังภัยจากไฮเทค
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานประชุม เรื่องบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตอนหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ทั้งที่รับจากต่างประเทศ และที่เกิดจากการสร้างองค์ความรู้ในประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการ การเกษตรกรรม สาธารณสุข สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็นำมนุษยชาติเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เทคโนโลยีแม้มีคุณอนันต์ก็อาจมีโทษมหันต์ ถ้าไม่รู้จักกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ ประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง และจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์แก่การพัฒนาคนให้มากที่สุด
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 15)
ไบโอเทค-เกษตร ร่วมจีโนมข้าว เร่งศึกษายีนความหอม-ทนแล้ง
ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ตามที่ไบโอเทคได้เข้าร่วมโครงการถอดรหัสพันธุกรรมข้าวร่วมกับนานาชาติ และโครงการดังกล่าวสามารถศึกษาหาการเรียงลำดับเบสของข้าวนิปปอนบาร์เลย์ได้แล้วประมาณ 1 ล้านเบส ปัจจุบันได้เก็บข้อมูลดังกล่าวเอาไว้ที่ธนาคารยีน (gene bank) นานาชาติ และกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาต่อไปนั้น ขณะนี้ไบโอเทคได้ตัดสินใจปิดโครงการหาลำดับพันธุกรรมข้าว ซึ่งดำเนินโครงการโดย ดร.อภิชาต วรรณวิจิตร อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นการร่วมศึกษาโครโมโซมคู่ที่ 9 ในโครงการถอดรหัสพันธุกรรมข้าว แต่ขณะเดียวกันก็ยังจะไม่เซ็นสัญญาเพื่อใช้ข้อมูลการศึกษาจีโนมข้าวจากทั้งบริษัทชินเจนต้า และบริษัทมอนซาโต้ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ศึกษาการเรียงลำดับเบสข้าวเช่นกัน อย่างไรก็ตามการแข่งขันการศึกษาวิจัยข้าวยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากบริษัทเอกชนเหล่านี้สามารถศึกษาวิจัยหาหน้าที่ของยีนข้าวได้ทั้งหมด และพบยีนความหอมของข้าว ยีนความอ่อนนุ่มของข้าว จะหมายถึง การสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ได้ดีกว่า ไบโอเทคจึงจะตั้งหน่วยปฏิบัติการศึกษาจีโนมข้าว โดยร่วมมือระหว่างนักวิจัยของไบโอเทค และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อศึกษาและแข่งขันการวิจัยข้าวเป็นหลัก โดยมุ่งเป้าไปที่การหาตำแหน่งยีนที่มีคุณสมบัติในด้านต่างๆ คือ ยีนความหอม ยีนทนแล้ง เป็นต้น การเซ็นสัญญาเพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ไบโอเทค ลงทุนในเรื่องการศึกษาวิจัยข้าวมาแล้วจำนวน 60-70 ล้านบาท โดยมีงบประมาณเพื่อการวิจัยทางด้านนี้จำนวน 150 ล้านบาท และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2545 จะสามารถค้นพบตำแหน่งของยีนที่เป็นลักษณะสำคัญของข้าว และในปี 2546 จะสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาปรับปรุงพันธุ์พืชโดยวิธีการ Markers gene
(มติชน พฤหัสบดี ที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
ไทยวางเป้าศูนย์แพทย์สมุนไพรเอเชีย
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์แผนตะวันออกแห่งแรกในเอเชีย โดยจะร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมุนไพรให้มาลงทุนในประเทศไทย และถ่ายทอดวิชาการแพทย์ของจีนให้แพทย์ไทยด้วย
(เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2544 หน้า 24)
ดิกชันนารี ชื่อแปลไทยขายผ่านเว็บ
นายทศพรรษ ทองน้อย เจ้าของเว็บไซต์ www.palthai.com ได้พัฒนาโปรแกรมแปลภาษาอังกฤษเป็นไทย หรือดิกชันนารีภายใต้ชื่อโปรแกรมแปลไทย โดยได้พัฒนามาแล้ว 3 เวอร์ชั่น โดยเวอร์ชั่นล่าสุดเป็นเวอร์ชั่น 3.1.0 หรือแปลไทย 2000b ความสมบูรณ์ของการแปลในระดับใช้งานได้ด้วยฐานข้อมูลคำศัพท์ 15,000 คำศัพท์ โดยสามารถแปลได้ทั้งแบบคำต่อคำ และเป็นประโยค ซึ่งผู้ใช้ต้องติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวบนเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมดังกล่าวได้เปิดจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.palthai.com ในราคา 150 บาทต่อผู้ใช้ 1 คน โดยในเบื้องต้นได้เปิดให้ทดลองดาวน์โหลดไปใช้ฟรีในลักษณะแชร์แวร์ (shareware) ซึ่งจะมีกำหนดระยะเวลาการทดสอบใช้งาน นอกจากนี้ยังให้ผู้ใช้เลือกระดับความสุภาพของการแปลได้ด้วย เพื่อป้องกันการแปลคำหยาบหรือไม่เหมาะสม โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.palthai.com
(ไทยโพสต์ อังคารที่ 9 ตุลาคม 2544 หน้า 9)
เตรียมตัดดาวพลูโตจากระบบสุริยะ
นักวิทยาศาสตร์เตรียมเสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับดาวพลูโตว่าไม่ได้เป็นดาวนพเคราะห์ พบมีส่วนประกอบของน้ำแข็งถึงครึ่งหนึ่งทำให้มีสถานะเป็นดาวหางมากกว่า นายนีล ไทสัน ผู้อำนวยการหอดูดาวเฮย์เดนของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน ระบุว่าดาวพลูโตมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำแข็งถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้มีสถานะของการเป็นดาวหางมากกว่าเป็นดาวเคราะห์ และความคิดเช่นนี้กำลังได้รับการยอมรับจากสมาชิกบางคนของสหภาพดาราศาสตร์สากล ซึ่งเห็นว่าดาวพลูโตควรจะถูกลดสถานะลงจากการเป็นดาวเคราะห์ลงมาเป็นเพียงเทหวัตถุ ไม่ได้เป็นดาวนพเคราะห์ที่เป็นสมาชิกภายในระบบสุริยะอีกต่อไป
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
พบหุ่นยนต์ไกต์ วันเทคโนโลยีไทย
นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมที่จะจัดงานเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และวันเทคโนโลยีของไทย ระหว่างวันที่ 19-21 ต.ค. นี้แล้ว โดยจุดเด่นของงานจะนำเสนอแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลายหน่วยงานนำไปสนองพระราชดำริจนเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น ฝนหลวง โครงการแก้มลิง แก๊สโซฮอล์ ถ่านจากแกลบ ซึ่งแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
ข่าววิจัย/พัฒนา
ถวายสิทธิบัตร ในหลวง ทรงปรีชา ประดิษฐ์ เครื่องกล
นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าถวายสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศ และดูดน้ำ ซึ่งพระองค์ทรงยื่นขอสิทธิบัตรเลขที่ 063072 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ถวายการตรวจสอบตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตร และได้จดทะเบียนโดยออกสิทธิบัตรเลขที่ 10304 เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา สำหรับเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ที่ทรงประดิษฐ์เป็นเครื่องกลที่แตกต่างไปจากกังหันน้ำชัยพัฒนา โดยเติมอากาศด้วยการดูดน้ำจากด้านล่างถึงข้อต่อ เพื่อให้ผสมกับอากาศที่ถูกอัดเข้าและฉีดพ่นออกมาให้น้ำที่ได้รับการผสมกับอากาศเกิดการหมุนเวียน ทั้งในแนวล่างและแนวดิ่ง ทำให้น้ำได้รับการเติมอากาศได้อย่างทั่วถึง การประดิษฐ์นี้สามารถใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจนจากอากาศลงในน้ำ ซึ่งนอกจากนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังใช้ในการเพิ่มออกซิเจนในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2544 หน้า 15)
เครื่องลอกเปลือก สา ผลผลิตของ วิศวฯมก.
ผศ.วิชา หมั่นทำการ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คิดค้นเครื่องลอกเปลือกสา โดยใช้เครื่องยนต์เบนซินมีใบมีดลอกเปลือก ใช้แรงงานคน 1-2 คน สามารถลอกเปลือกสาได้ 30-40 ก.ก. ต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าแรงงานคนถึง 10 เท่า
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2544 หน้า 24)
การวิจัยและพัฒนาการใช้ไชนาสโตน
นางนิภา จุลละจาริตต์ กองวิเคราะห์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้มีการสำรวจไชนาสโตนในจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นแร่ที่เกิดในธรรมชาติมีคุณสมบัตินำมาใช้เป็นเนื้อผสมสำเร็จทางเซรามิกได้เพื่ออนุรักษ์แหล่งแร่ดินขาว ซึ่งมีคุณสมบัติดีได้ถูกเลือกให้เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อวิจัยทำผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทดูดซึมน้ำต่ำ และนำมาเป็นส่วนผสมหลักในการทำผลิตภัณฑ์สโตนแวร์
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2544 หน้า 24)
การศึกษาเพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ
ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี) ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับน้ำยางข้น เพื่อหาสูตรน้ำยางที่ดี มีชนิดและปริมาณสารเคมีที่เหมาะสมสำหรับทำผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ เช่น ถุงมือการแพทย์ ท่อสายยางน้ำเกลือ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปเป็นพื้นฐานในการประกอบการต่อไป
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2544 หน้า 24)
น้ำข้าวผสมเกลือ ช่วยรักษาได้ดี โรคอุจจาระร่วงในเด็กต่ำกว่า 5 ปี
นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนแก่ นางอรุณี ทรัพย์เจริญ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะทำการวิจัยเรื่องผลของการใช้น้ำข้าวผสมเกลือ และนมผสมข้าวในการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กเล็ก เป็นผู้วิจัยศึกษาเรื่องนี้ โดยใช้น้ำข้าวผสมเกลือร่วมกับนมผสมข้าว โดยเปรียบเทียบกับการใช้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไออาร์เอสร่วมกับนมผสมข้าว และไออาร์เอสกับนม ผลการวิจัยพบว่า ใน 24 ชั่วโมงแรกของการรักษา กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารกลุ่มแรกมีปริมาณการถ่ายอุจจาระลดลง และหายจากอาการอุจจาระร่วงได้เร็วกว่า 2 กลุ่มหลัง สรุปได้ว่า น้ำข้าวผสมเกลือมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้การใช้น้ำข้าวผสมเกลือยังมีข้อดีคือ น้ำข้าวจะถูกย่อยในลำไส้ให้เป็นกลูโคสในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำตาลกลูโคสในไออาร์เอส
(มติชน เสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
อาจารย์ราชภัฏร้องภาครัฐพิจารณาแก้กฏหมายทำไวน์
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและเครือข่ายภูมิปัญญาพื้นบ้าน จังหวัดเพชรบุรี จัดทำโครงการวิจัยการศึกษาสำรวจศักยภาพและสถานภาพของภูมิปัญญาไทย โดย นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยถึงโครงการวิจัยการศึกษาสำรวจศักยภาพและสถานภาพของภูมิปัญญาไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งได้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมไททรงดำ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและเครือข่ายภูมิปัญญาพื้นบ้าน อ.เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ว่า ศักยภาพของภูมิปัญญาไทยในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทุกภูมิภาค โดยทั่วไปมักมีการสั่งสมและสืบสานจากบรรพบุรุษและถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังมาโดยตลอด อาทิ ภูมิปัญญาด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม หัตถกรรม แพทย์แผนไทย และสมุนไพร นายทรงจิต ภูลลาภ อาจารย์สถาบันราชภัฏพระนคร กล่าวว่า หากเครื่องดื่มซึ่งใช้เทคนิค เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยได้รับการแก้ไขในเรื่องของกฎหมายที่ปัจจุบันยังมีการควบคุมอยู่ เชื่อว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรและชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งเป็นการสร้างเสริมเพิ่มมูลค่าการผลิตทางการเกษตร และเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
วิจัยหนูบางตัวที่มียีนผ่าเหล่า มีภูมิคุ้มกันเชื้อแอนแทร็กซ์อยู่ในตัว
นิตยสารเคอเรนต์ไบโอโลจี ฉบับเดือนตุลาคม รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยในสหรัฐฯที่พบหน่วยถ่ายพันธุกรรม หรือยีนชื่อว่า KifiC ในตัวหนู ซึ่งสามารถผลิตโปรตีน มอเตอร์โปรตีน ว่า อาจช่วยให้ได้วิธีรักษาหรือวัคซีนสำหรับคนที่ติดเชื้อโรคแอนแทร็กซ์ต่อไป นายวิลเลี่ยม ดิทริทช์ หัวหน้าคณะนักวิจัยของฮาเวิร์ดเมดิคัล สคูล นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐฯ พบว่ายีน KifiC เป็นยีนที่คอยแบ่งแยกโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นและจัดส่งไปตามจุดหมายที่อยู่ภายในเซลล์ต่างๆ ข้อแตกต่างที่นักวิจัยค้นพบระหว่างยีน KifiC ที่มีภูมิคุ้มกัน กับยีนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หัวหน้าคณะนักวิจัยอธิบายว่า หลังจากได้รับเชื้อแอนแทร็กซ์เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์หรือมนุษย์ผู้รับเชื้อ แบคทีเรียแอนแทร็กซ์จะผลิตสารพิษและลำเลียงขนส่งโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว (Macrophages) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำลายเชื้อโรคแบคทีเรียที่รุกรานเข้าสู่ร่างกาย หลังจากนั้นแล้วแบคทีเรียจะเริ่มต้นกระบวนการผลิตสารเคมีที่มีปฏิสัมพันธ์สูง ซึ่งสามารถทำให้เซลล์ในร่างกายถูกทำลายและตายลงในที่สุด
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
คิดสูตรลัดทำสีครามธรรมชาติ ชาวบ้านทำไม่ทันการส่งออก
นักวิทยาศาสตร์ของโครงการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชนบทและการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เข้าช่วยวิจัยหาวิธีการทำสีครามตามธรรมชาติในการย้อมผ้า ทำให้ได้ทราบว่าในการสกัดสีคราม ควรจะนำใบครามสดมาปั่นก่อนจึงค่อยนำไปแช่ในน้ำ จะทำให้เนื้อครามแห้งและได้สีครามมากกว่าการแช่โดยไม่ปั่น ทั้งยังใช้เวลาน้อยกว่ากันด้วย ถ้าปั่นใบครามสดที่แช่จนได้สีครามมากที่สุดจะใช้เวลาแค่ 12 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่ปั่นจะต้องใช้เวลาแช่นาน 18 ชั่วโมง นักวิจัยซึ่งเป็นคณะอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์สถาบันราชภัฏสกลนคร ยังได้พบสูตรผสมเนื้อครามกับน้ำขี้เถ้าที่ทำให้เกิดสีครามที่เหมาะสม คือใช้เนื้อคราม 180 กรัม ต่อน้ำขี้เถ้า 500 มิลลิลิตร และหากจะเร่งให้เป็นสีครามเร็วขึ้น ก็ให้เติมน้ำมะขามเปรี้ยวหรือน้ำส้มสายชู 5% เพียง 3-7 วัน ก็จะเป็นสีคราม
(ไทยรัฐ พุธที่ 10 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
ประดิษฐ์เครื่องเรียกปลาพระสังข์ ใช้เครื่องโซนาร์เป็นมนต์อาถรรพณ์
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยพลีมัธ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ กำลังทดลองเรียกปลาอาศัยหลักของชีววิทยา โดยใช้คลื่นเสียงโซนาร์ร่วมกับวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเสียงและพฤติกรรมของปลาให้ไปกินอาหารตามที่ต่างๆ ที่อยู่ไกลๆ ออกไป โดยที่นายโจนาธาน โลเวลล์ นักศึกษาปริญญาเอกของสถาบันสมุทรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้ประสบความสำเร็จในการเรียกปลาฝูงหนึ่ง จำนวน 30 ตัว ที่เลี้ยงไว้ในบ่อมาแล้ว และจะได้ลองวิชาในทะเลดูบ้างในตอนปลายปีนี้ เขาเชื่อว่า การเลี้ยงปลาในทะเลสมัยใหม่ทั้งในอังกฤษและที่อื่นต่อไป คงจะเอาเทคนิคคลื่นเสียงโซนาร์เลียนเสียงของการหาคู่ หรือเรียกมาให้อาหารไปใช้กันเพื่อใช้เรียกปลาให้ไปรับอาหารเสริมที่มีคุณค่าพิเศษได้
(ไทยรัฐ พุธที่ 10 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
พัฒนาที่ดินปรับปรุงโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ
นายอรรถ สมร่าง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินมีแผนที่จะร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศข้อมูลดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินระยะที่ 4 คือปรับปรุงระบบการกำหนดเขตการปลูกพืชเศรษฐกิจ และเพิ่มฐานข้อมูลแผนที่การใช้ที่ดินชุดใหม่อีก 40 จังหวัด รวมทั้งสร้างระบบการแสดงผลและพิมพ์ผลแผนที่ในทุกระดับ นอกจากนี้ยังมีระบบการเรียกใช้ข้อมูลการชะล้าง พังทลายของดิน ระบบเรียกใช้และแสดงคุณสมบัติของดิน
(เดลินิวส์ พุธที่ 10 ตุลาคม 2544 หน้า 27)
ข่าวทั่วไป
วัยรุ่นเฮดื่มน้ำอัดลมต่อไปได้ ไม่เป็นของแสลงให้ฟันผุ
นักวิจัยของศูนย์เทคเวอร์จีเนีย นโยบายในเรื่องอาหารและโภชนาการของสหรัฐฯ ได้สำรวจคนจำนวน 15,000 คน เพื่อดูว่า การดื่มน้ำอัดลมพวกโคล่าหรือเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต ที่มีรสมะนาว ทำให้ฟันผุเป็นรูหรือไม่ ได้พบว่าไม่ทำให้ฟันของคนทุกกลุ่มอายุเป็นอันตราย เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 25-40 ปีเท่านั้น พวกวัยรุ่นอเมริกันปกติจะดื่มน้ำอัดลมกันเฉลี่ยแล้ววันละ 1 กระป๋องเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญโรคฟันและโภชนาการของอังกฤษ กล่าวว่า มีหลักฐานอย่างแข็งแรงของความเกี่ยวพันของน้ำอัดลมที่มีรสหวานกับการที่ฟันผุและสึกกร่อน โฆษกของทันตแพทย์สมาคมของอังกฤษ ก็กล่าวเสริมว่า มีหลักฐานที่ส่อว่าน้ำอัดลมและน้ำผลไม้รสหวานมีส่วนต่อฟันผุและเคลือบฟันสึกกร่อน เขาแนะนำว่า ควรดื่มนม ชากาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาล เป็นเครื่องดื่มที่ไม่เป็นอันตรายกับฟัน ข้อแนะนำที่ดีที่สุดก็คือ อย่าให้ฟันต้องสัมผัสกับน้ำตาลวันละหลายหนนักจะเป็นการดี
(ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2544 หน้า 7)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|