หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 42 ประจำวันที่ 2001-10-22

ข่าวการศึกษา

จี้อธิการสวมบทนายกฯแก้วิกฤติชาติ
วาดฝันกม. ปฏิรูปเข้าสภาสมัยนี้
ปิ๊งให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่
สมศ.ย้ำมีกฎหมายรับรองแรงงาน
กบข.ใจร้อนชิงลุยแมทชิ่งฟันด์พร้อมจดทะเบียนกองทุน พย.นี้
บัณฑิตราชภัฏได้งานกว่า 74% พบตำแหน่งสวนความรู้เพียบ

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

“ในหลวง” ทรงจดสิทธิบัตรสูตรน้ำมันปาล์ม
“ไบโอเทค” โชว์ข้าว 2 สายพันธุ์ใหม่คุณสมบัติพิเศษ
14 ตุลาคม : วันมาตรฐานโลก
สวทช. จับมือ มก. ตั้งแล็บพิสูจน์ดีเอ็นเอคน-พืช-สัตว์
ตั้งชื่อใหม่ให้ดาวเคราะห์น้อย
หนวดปลาหมึกยักษ์แต่ละเส้น แยกสมองคิดเองได้
วิศวะจุฬาฯคว้ารางวัลพัฒนาเว็บไมโครซอฟท์
19 ตุลาวันเทคโนโลยีของไทย
รีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม ทางรอดทางเลือกให้..โลกสีเขียว

ข่าววิจัย/พัฒนา

ขอดเกล็ดปลาด้วยเครื่องจักร ภูมิปัญญาชาวพื้นบ้านปากพลี

ข่าวทั่วไป

ศึกษาผู้หญิงทำงานกะดึกมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งทรวงอก
เลี้ยงเด็กตามใจโตขึ้นเป็นผู้จัดการ
อบซาวน่าเสียเหงื่อทำให้โง่ลงอีก
คนกินเนื้อสัตว์มากกว่ากินเจ มะเร็งกระเพาะอาหารมักถามหา
แอนเทร็กซ์-โรคกาลี อาวุธชีวภาพหมายเลข 1





ข่าวการศึกษา


จี้อธิการสวมบทนายกฯแก้วิกฤติชาติ

ศ.ดร. ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เผยถึงการเข้าพบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า นายกฯได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศทั้งระยะยาวและระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสวมบทบาทคิดว่าตัวเองเป็นนายกฯ แล้วมองว่าโดยศักยภาพของมหาวิทยาลัยจะทำอะไรให้กับบ้านเมืองได้บ้าง รวมทั้งให้ประสานการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ เรื่องการศึกษาข้อมูลที่มักจะจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา นายกฯ ได้ย้ำให้ใช้บุคลากรภายในประเทศให้มากขึ้น ทั้งอยากให้นิสิตนักศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีจากของจริงมากขึ้นและถ่ายทอดสู่ชุมชุมและสังคม นอกเหนือจากการเรียนทฤษฎีสำหรับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล นายกฯยืนยันในหลักการให้มหาวิทยาลัยมีเอกภาพในการบริหารงานมากขึ้น ซึ่งในเรื่องงบประมาณสนับสนุนเป็นก้อนที่หลายคนยังกังวลถึงกำลังของรัฐบาลที่สนับสนุนนั้น ในส่วนของ มก.ตนได้มอบนโยบายให้แก่ภาควิชา คณะวิชา ถึงการดึงคนเก่งมาช่วยงานในมหาวิทยาลัยจะต้องให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแม่พิมพ์ในการผลิตคน ซึ่งตนพร้อมสู้เงินเดือนและ มก. มีนโยบายที่จะเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์ การแพทย์ที่บางเขนในปี 2545 เพื่อรองรับการจัดตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ ที่ จ.สุพรรณบุรี ในปี 2549 (ไทยรัฐ พุธที่ 17 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





วาดฝันกม. ปฏิรูปเข้าสภาสมัยนี้

นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลพยายามจะเลื่อนการปฏิรูปการศึกษาว่า ยังไม่มีการพูดว่าจะเลื่อน แต่แนวคิดและการปฏิบัติย่อมมีข้อจำกัดหลายส่วน และงานหลักส่วนใหญ่อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการทำให้มีข้อขัดแย้งมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการจัดตั้งกฤษฎีกาชุดพิเศษที่ดูแลเรื่องกฎหมายการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะ เชื่อว่ากฎหมายทั้งหมดจะสามารถเสนอสภาทันสมัยประชุมนี้ ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนถึงการเลื่อนเวลาแต่อย่างใด แต่หากมีการเลื่อนเวลาจริงก็ไม่น่าจะเกิดผลกระทบกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยในปี 2545 ด้าน รศ. ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐคงจะขยายเวลาการใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษา เพราะกฎหมายที่ต้องผ่านสภาฯ ไม่น้อยกว่า 50 ฉบับ ยกเว้นรัฐบาลจะเสนอเฉพาะกฎหมายหลักก่อน และหากมีการเลื่อนเวลาจริงจะสร้างความผิดหวังในหมู่ประชาชน (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





ปิ๊งให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่

นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนเตรียมที่จะเชิญ ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ คณบดีแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เลขาธิการมูลนิธิ รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หารือถึงการจัดระเบียบประชาคมมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงฯ กล่าวถึงการให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ว่า การศึกษา สุขภาพ ร่างกาย จิตใจ เป็นสิ่งที่น่าจะไปด้วยกัน ซึ่งเร็วๆ นี้จะหารือกับ ศ.นพ. ประกิต ถึงแนวทางในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว พร้อมจะนำหารือกับผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัย ที่จะมีการประชุมในสัปดาห์แรกของทุกเดือนด้วย (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





สมศ.ย้ำมีกฎหมายรับรองแรงงาน

ศ.ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ. เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสมศ. ซึ่งดำเนินงานโดยไม่มีกฎกระทรวงศึกษาธิการ ศาสนาและวัฒนธรรมรองรับ อาจขัดต่อเจตนารมย์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติว่า คณะกรรมการ สมศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของ สมศ. ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สมศ. และมีกฎหมายรองรับ แต่เพื่อความเป็นเอกภาพ สมศ. จะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัยในการนำกฎกระทรวง ว่าด้วยการประกันคุณภาพภายในของ ศธ. และ ทบวงฯ และพระราชกฤษฎีการจัดตั้ง สมศ. เพื่อกำหนดสาระสำคัญของกฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ การประกันคุณภาพการศึกษาตามที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติกำหนด (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





กบข.ใจร้อนชิงลุยแมทชิ่งฟันด์พร้อมจดทะเบียนกองทุน พย.นี้

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้ง โลคอลแมทชิ่งฟันด์ ว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน 1 แห่ง เพื่อเข้ามาร่วมทุนด้วย นอกเหนือจากเงิน กบข. 2,000 ล้านบาท และเงินทุนจากรัฐบาล โดยคาดว่าเม็ดเงินจะเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 1,500 – 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะสรุปได้ในสัปดาห์หน้า และทำให้ขนาดเงินของกองทุนมีมากกว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่ากองทุนนี้จะจัดตั้งและจดทะเบียนของกองทุนได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ การที่ขอตั้งกองทุนในหุ้นก่อน เพราะไม่ต้องการที่จะให้รัฐขอให้จัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ซึ่งอาจทำให้ภาพออกมาไม่ดี และเงื่อนไขการจัดตั้งกองทุนที่ กบข. เสนอกับกระทรวงการคลัง คือนอกจากขอสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปแล้ว ยังได้ขอสิทธิ์ในการบริหารเองโดยอิสระด้วย โดย กบข. จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะซื้อหุ้นอะไร ไม่ใช่คลังต้องมาบอกว่าซื้อหุ้นอะไรโดยจะคำนึงถึงผลตอบแทนสูงสุด (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 9)





บัณฑิตราชภัฏได้งานกว่า 74% พบตำแหน่งสวนความรู้เพียบ

ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ (สมศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สรภ. ได้ทำการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏปีการศึกษา 2542 –2543 พบว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาทำงานแล้วร้อยละ 74.17 อยู่ระหว่างการศึกษาต่อร้อยละ 2.26 และยังไม่ได้ทำงานหรือศึกษาต่อร้อยละ 23.57 โดยสาขาวิชาที่มีงานทำมากที่สุดคือ สาขาการศึกษา รองลงมาเป็นสาขาวิชาศิลปศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์ตามลำดับ ผลสำรวจยังพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏส่วนใหญ่เข้าทำงานในบริษัทเอกชนมากที่สุด รองลงมาเป็นหน่วยงานราชการและประกอบอาชีพอิสระโดยมีรายได้สูงกว่าวุฒิระหว่าง 8,000-10,000 บาท ทั้งยังพบผู้ที่สำเร็จการศึกษาร้อยละ 48.05 ของผู้มีรายได้ประจำมีรายได้พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนด้วย ส่วนความรู้พิเศษที่นำไปใช้ในการงานได้พบว่า ความรู้คอมพิวเตอร์มีประโยชน์ในการทำงานมาก รองลงมาเป็นภาษาต่างประเทศขณะที่ปัญหาในการทำงานที่พบนั้นผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏมักไม่ได้ทำงานที่สอดคล้องกับความรู้ในสาขาที่สำเร็จมา ซึ่งสาขาวิชาที่มีปัญหามากที่สุดคือ สาขาวิทยาศาสตร์





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


“ในหลวง” ทรงจดสิทธิบัตรสูตรน้ำมันปาล์ม

จากการสัมมนาเรื่องในหลวงกับเทคโนโลยีใหม่ จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวทางในการศึกษาค้นคว้าทางด้านเทคโนโลยีด้วยพระองค์เอง และทรงใช้เทคโนโลยีที่ง่ายไม่สลับซับซ้อน โดยล่าสุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมอบหมายให้ดำเนินการจดสิทธิบัตร กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ทำการวิจัยและพัฒนาตามพระราชดำริ และได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ข้อเขียนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สิทธิบัตรน้ำมันปาล์มนี้นับเป็นผลงานชิ้นที่ 3 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยชิ้นแรกคือเครื่องยนต์เติมอากาศหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา ชิ้นที่ 2 เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศแล้วดูดน้ำ R x 5C สำหรับกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% นี้จะนำน้ำมันปาล์มส่วนที่เรียกว่า โอลีน มาสกัดกรด กลิ่น สี ออกจนได้น้ำมันบริสุทธิ์ โดยพระองค์ได้ทดลองใช้กับรถยนต์ดีเซลที่วิ่งทดลองไปกลับระหว่าง กทม. ถึง หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประจำ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





“ไบโอเทค” โชว์ข้าว 2 สายพันธุ์ใหม่คุณสมบัติพิเศษ

ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ ผอ.ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งหอปฏิบัติการ ดีเอ็นเอเทคโนโลยีและหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าวขึ้น โดยห้องปฏิบัติการ ดีเอ็นเอเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นเพื่อค้นคว้า วิจัย และพัฒนาการตรวจสอบความถูกต้องและความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์หรือการตรวจหาดีเอ็นเอ เนื่องในโอกาสวันพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทยและงานวันเทคโนโลยีของไทย ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคมนี้ ทางไบโอเทค จะนำข้าวหอมนิล ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ใหม่มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ สีม่วง เมื่อนำไปหุงจะได้ข้าวหอมนุ่ม มีโปรตีนสูงกว่าข้าวปกติทั่วไป และข้าวพันธุ์ใหม่ชื่อ ดับเบิลแฮพพลอย ซึ่งเป็นข้าวลูกผสมระหว่างข้าวหอมนิลกับข้าวหอมมะลิ มีคุณสมบัติพิเศษคือเมล็ดหอม นุ่ม มีโปรตีนและแร่ธาตุสูง มีสีม่วงอ่อนๆ โดยจะเปิดตัวเป็นทางการในวันที่ 7-11 พ.ย.นี้ ในงานไบโอไทยแลนด์ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





14 ตุลาคม : วันมาตรฐานโลก

14 ตุลาคม เป็นวันมาตรฐานโลกเพื่อระลึกถึงการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO (International Organization for Standardization) เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ในวันที่ 14 ตุลาคม 2489 ผู้แทนจากประเทศผู้นำอุตสาหกรรม 25 ประเทศ ได้มาประชุมร่วมกันมีมติให้มีการจัดตั้ง ISO ขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐานให้สอดคล้องกันเป็นมาตรฐานสากล หรือมาตรฐานระหว่างประเทศและสนับสนุนงานด้านการมาตรฐานและกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อันเนื่องมาจากมาตรฐานที่แตกต่าง ISO มีขอบข่ายการดำเนินงานที่กว้างขวาง คือ เป็นองค์กรผู้กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศในเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและโทรคมนาคม ประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเภท Member Body ของ ISO จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สมอ. ทำให้ประเทศไทยสามารถปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้นและยังทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางวิชาการ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านมาตรฐานของประเทศ (มติชน อาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2544 หน้า 5)





สวทช. จับมือ มก. ตั้งแล็บพิสูจน์ดีเอ็นเอคน-พืช-สัตว์

ผอ.สวทช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี สัตว์ รวมถึงดีเอ็นเอมนุษย์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากยีนข้าว โดยจะให้บริการปรึกษาวิเคราะห์ทดสอบทางเทคนิคเพิ่มเติมจากความร่วมมือเดิมของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอฯ ที่กำแพงแสน ซึ่งรับตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยีของไทยนี้ได้รับการยอมรับจากประเทศยุโรปอย่างมาก เนื่องจากในช่วงต้นปี 2544 เคยยืนยันผลพิสูจน์การปนเปื้อนของเนื้อวัวในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากกลุ่มประเทศยุโรปได้ ทั้งที่ประเทศคู่ค้าของไทยได้พิสูจน์แล้วไม่พบการปนเปื้อนของเนื้อวัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีของห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอของ สวทช. พิสูจน์ได้ละเอียดกว่าของต่างประเทศ (ไทยรัฐ พุธที่ 17 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





ตั้งชื่อใหม่ให้ดาวเคราะห์น้อย

วงการดาราศาสตร์ร่วมอาลัยกับเหตุการณ์สลัดอากาศก่อวินาศกรรมที่อเมริกา เมื่อ 11 ก.ย. ด้วยการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยร่วมไว้อาลัย 3 ดวง ชื่อดังกล่าวแปลความแล้วแสดงถึงความสงสาร ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และแสดงถึงคุณธรรมต่อคนทั้งมวล สำหรับดาวเคราะห์น้อยทั้งสามที่จะมีชื่อใหม่นั้น ดวงแรกคือ 1980 DN ซึ่งค้นพบเมื่อปี 2523 จะได้ชื่อว่า “คอมพาสชั่น” ดาวเคราะห์น้อยอีกสองดวงที่ได้รับตั้งชื่อในครั้งนี้คือ 1980 PV1 จะได้ชื่อว่า “โซดิลาริตี้” ถูกค้นพบเมื่อปี 2523 เช่นกัน สำหรับชื่อดาวดวงสุดท้ายคือ “แมกนานิมิตี้” เป็นชื่อใหม่ให้กับดาวเคราะห์น้อย 1980 TE7 (ไทยรัฐ พฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





หนวดปลาหมึกยักษ์แต่ละเส้น แยกสมองคิดเองได้

นิตยสาร “ไซน์” ฉบับเดือนกันยายน รายงานผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้าศึกษาพฤติกรรมของปลาหมึกยักษ์ พบว่า หนวดปลาหมึกแต่ละเส้นมีสมองคิดแยกจากกัน ในการศึกษาพบว่า มันสมองที่อยู่ภายในกะโหลกของปลาหมึกสามารถจะบังคับการมองเห็นอาหารในทะเล และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร แต่ในการนำอาหารเข้าปากนั้นสมองส่วนกลางของปลาหมึกยักษ์จะส่งข้อความไปยังเส้นประสาทจำนวนมากที่กระจายอยู่ตามหนวดทั้ง 8 เส้น โดยเส้นประสาทเหล่านั้นจะคอยควบคุมการเคลื่อนไหวของหนวดเพื่อหยิบจับอาหาร นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังวางแผนระยะยาวที่ต้องการขยายผลเพื่อประยุกต์การทำงานของหนวดปลาหมึกยักษ์ไปใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีแขนกลซึ่งสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งท้าทายก็คือการคิดค้นและพัฒนาวัสดุสำหรับการทำแขนกลที่สามารถทำงานได้เช่นเดียวกับหนวดปลาหมึก ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสิ่งที่ยากต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 18 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





วิศวะจุฬาฯคว้ารางวัลพัฒนาเว็บไมโครซอฟท์

บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ประกาศผลการแข่งขันพัฒนาเว็บเซอร์วิสระดับเยาวชน ครั้งที่ 1 ในโครงการ “Thailand Student NET Competition” โดยใช้ซอฟท์แวร์ VisualStudio.NET ของไมโครซอฟท์ ซึ่งอยู่บนมาตรฐานเทคโนโลยี XML เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ผู้ชนะเลิศคือ ทีม C ProFessor จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพัฒนาระบบเว็บเซอร์วิสสำหรับห้องสมุด รางวัลที่ 2 คือทีม EOS.NET จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นโครงการระบบช่วยบริการข้อมูลด้านการเงินส่วนบุคคล โดยอาศัยข้อมูลการเงินจากเว็บของธนาคาร รางวัลที่ 3 คือทีม “Internet Cash Flow Model” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต เป็นโครงการบริหารเว็บเซอร์วิสกลาง เพื่อให้บริการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบนอินเตอร์เน็ต ทั้ง 3 ทีมนี้จะได้เป็นตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคที่ประเทศเกาหลี พร้อมทั้งมีโอกาสได้พบกับ บิลล์ เกตส์ (เดลินิวส์ พุธที่ 17 ตุลาคม 2544 หน้า 16)





19 ตุลาวันเทคโนโลยีของไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยได้รับพระราชทานฝนหลวงเป็นครั้งแรก เป็นวันเทคโนโลยีของไทย พร้อมทั้งจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” ระหว่างวันที่ 19-21 ต.ค. ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งในงานจะนำเสนองานในพระราชดำริ เช่น โครงการฝนหลวง โครงการแก้มลิง แก๊สโซฮอล์ ดีโซฮอล์ และการทำถ่านจากแกลบ (เดลินิวส์ อังคารที่ 16 ตุลาคม 2544 หน้า 16)





รีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม ทางรอดทางเลือกให้..โลกสีเขียว

บริษัทรีไซเคิลเอ็นจิเนียริ่งใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้มีการจัดระบบของการจัดการของเสีย โดยโรงงานรับรีไซเคิลสารละลายเคมีภัณฑ์ที่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกทินเนอร์ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้สารละลายจำพวก เคมีคอล โซลเวนท์ (Chemical Solvents) ส่วนสารละลายที่ใช้แล้วในอุตสาหกรรมอื่นจำพวก Chlorinated Solvents นั้น นายปฏิการ มหัทธนารักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท รีไซเคิลเอ็นจิเนียริ่ง เปิดเผยว่า ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมข้างต้น แต่เดิมการกำจัดสารละลายเหล่านี้นำไปบำบัดแล้วปล่อยทิ้งหรือ บางครั้งไปทำเป็นน้ำมันเตาสำหรับเป็นเชื้อเพลิงได้ ขณะที่ในตัวของสารละลายเหล่านี้หากมาผ่านกระบวนการกลั่น กรอง การระเหยน้ำ และการดูดซับความชื้นสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ หรือบางครั้งอาจใช้เทคโนโลยีและเติมเคมีบางตัวเข้าไปสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เช่นกัน ปัจจุบันกำลังการผลิตรีไซเคิลของโรงงานสามารถรองรับของเสียได้ปริมาณ 5,000 ต่อปี โรงงานก่อตั้งมาแล้ว 2 ปี ทำให้โรงงานประหยัดเงินได้ปีละ 230 ล้านบาท และช่วยลดการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมปีละ 300 ล้านบาท (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2544 หน้า 8)





ข่าววิจัย/พัฒนา


ขอดเกล็ดปลาด้วยเครื่องจักร ภูมิปัญญาชาวพื้นบ้านปากพลี

นายชอบ มีอาษา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ผู้นำปลามาแปรรูปเป็นปลาร้าจำหน่าย และคิดประดิษฐ์เครื่องช่วยขอดเกล็ดปลาแบบที่ใช้งานได้รวดเร็วออกมาจำหน่าย เครื่องขอดเกล็ดปลานี้ชื่อว่า “เครื่องทำปลาร้าไฮเทค” อันเป็นเครื่องจักรที่เป็นองค์ประกอบในการผลิตปลาร้า โดยขั้นตอนการทำงานหลังจากที่คัดตัวปลามาเป็นวัตถุดิบ หรือที่จะหมักเกลือทำปลาร้า โดยการทำความสะอาดปลาในรูปแบบการขอดเกล็ด เครื่องทำปลาร้าไฮเทค นี้ สามารถขอดเกล็ดปลาได้ครั้งละ 50 กิโลกรัม มีข้อดี คือกินไฟน้อย ปั่นเกล็ดปลาได้ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก ประหยัดเวลา เกษตรกรที่สนใจเครื่องมือตีเกล็ดปลา หรือเครื่องทำปลาร้าไฮเทค ที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของเกษตรกรรายนี้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บ้านเลขที่ 199 หมู่ 1 ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก หรือจะติดต่อไปที่ สำนักงานเกษตรอำเภอปากพลี โทรศัพท์ 0-3731-1289 หรือสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-6190 (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ศึกษาผู้หญิงทำงานกะดึกมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งทรวงอก

เหตุที่ผู้หญิงทำงานกะดึก มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นมะเร็งทรวงอกถึง 60% นั้น นักวิจัยสหรัฐฯบอกว่าเป็นเพราะร่างกายตอบสนองต่อแสงที่ส่องมากระทบ ทำให้ไปกดการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน คนที่ทำงานกะดึกมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งทรวงอก ความเสี่ยงที่ว่านั้นมีเพิ่มขึ้นถึง 60% และยิ่งผู้หญิงทำงานกะดึกเป็นเวลานานชั่วโมงเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





เลี้ยงเด็กตามใจโตขึ้นเป็นผู้จัดการ

เซเรเนลลา ซาโลโมนี นักจิตวิทยาอิตาลี ได้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ลา รีพับพลิก ว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจนั้น มีแนวโน้มว่าเมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยข้อสรุปนี้ได้มาจากการที่ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันจิตวิทยาในกรุงโรม สุ่มสำรวจผู้จัดการบริษัทที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพ ประมาณ 300 คน พบว่า ผู้ถูกสำรวจถึงร้อยละ 62 รับว่าตอนเป็นเด็กถูกพ่อแม่ตามใจมาก เมื่อขออะไรมักจะต้องได้เสมอ นักจิตวิทยาบอกว่า เด็กที่ถูกตามใจ มักมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงกว่าเด็กทั่วไป และจะเติบโตพร้อมกับความคิดที่ว่า ยังมีโอกาสครั้งที่สองสำหรับพวกเขาเสมอ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





อบซาวน่าเสียเหงื่อทำให้โง่ลงอีก

นายซิกฟรีด เลอห์ นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน จากมหาวิทยาลัยเออร์ลังเกน นูเอนเบิร์ก อธิบายถึงสาเหตุที่การอบซาวน่าอาจทำให้คนเราโง่ลง ทำให้มีผลกระทบต่อระดับสติปัญญา หรือไอคิว จึงขอแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเพื่อให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ควรบริหารสมองด้วยการฝึกขบคิดแก้ปัญหาก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะพัฒนาไอคิว หรือรักษาระดับไอคิวไว้ได้ สิ่งที่ควรระวังนอกเหนือจากการสูญเสียน้ำในตัวมากจะทำให้เราโง่ลง ก็คือกินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลน้อยเกินไป หรืออยู่ในที่มืดๆ และออกกำลังกายน้อยเกินไป (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





คนกินเนื้อสัตว์มากกว่ากินเจ มะเร็งกระเพาะอาหารมักถามหา

วารสาร “ระบาดวิทยามะเร็ง, ตัวชี้วัดชีวภาพและการป้องกัน” รายงานผลการวิจัยของ ซูซาน เมย์น และคณะ จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษากับผู้คนกว่า 1,700 ราย โดยถามเกี่ยวกับเรื่องอาหาร โภชนาการ และมองย้อนถึงประวัติการเป็นมะเร็งของผู้ถูกวิจัย แล้วเปรียบเทียบกันระหว่างคนที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารกับคนที่ไม่เป็น ก็พบว่าคนที่กินเนื้อสัตว์หรือต้นตอมาจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างยิ่ง ทั้งยังระบุได้ว่าอาหารที่จะช่วยป้องกันได้ก็คืออาหารพืชผักที่อุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามิน และมีเนื้อสัตว์กับผลิตภัณฑ์นมในปริมาณต่ำจะช่วยลดการเป็นมะเร็งลงได้ (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





แอนเทร็กซ์-โรคกาลี อาวุธชีวภาพหมายเลข 1

โรคแอนแทร็กซ์หรือโรคกาลี เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย B3anthracis ซึ่งเป็นเชื้อแท่งติดสีแกรมบวก มีสปอร์ อาศัยอยู่ในดิน เชื้อชนิดนี้แพร่หลายอยู่ทั่วโลก เมื่อเชื้อ B-anthracis เข้าไปอยู่ในตัวคนจะมีลักษณะเป็นทรงแท่งที่แพร่ขยายจำนวนได้ แต่ถ้าเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในลักษณะสปอร์ เมื่ออยู่ในร่างกายของคนจะไม่กลายเป็นสปอร์ ยกเว้นเมื่อสัมผัสกับอากาศ เชื้อ B-anthracis สามารถจะดำรงชีวิตในสปอร์ได้เป็นเวลานานมากถึงหลายสิบปี ลักษณะของสปอร์นั้นถือว่าเป็นระยะหนึ่งของวงจรชีวิตของเชื้อชนิดนี้ และเป็นระยะที่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้ สัตว์จะติดเชื้อนี้จากการที่ไปกินหญ้า สัตว์ที่เป็นโรคนี้ได้แก่ วัว ควาย ม้า แพะ แกะ แต่สัตว์อื่นก็อาจติดเชื้อโรคนี้ได้เหมือนกัน ส่วนคนนั้นจะติดเชื้อจากการที่เชื้อเข้าสู่ทางผิวหนัง เมื่อมีบาดแผลแล้วสัมผัสกับหนังสัตว์ ขนสัตว์ หรืออาจจะติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือสูดดมหายใจอากาศที่มีสปอร์ที่ติดมากับขนสัตว์ที่ทำเป็นเสื้อผ้าหรือถูกแมลงกัดก็เป็นได้ ลักษณะทางคลีนิก โรคกาลีก่อให้เกิดอาการในคนได้เป็น 3 รูปแบบคือ ทางผิวหนัง ทางลำไส้ และทางการสูดดม สำหรับการใช้สปอร์ของเชื้อแอนแทร็กซ์เป็นอาวุธชีวภาพนั้นน่าจะใช้วิธีพ่นเป็นฝอย ละออง อาการป่วยจากการสูดดม เมื่อสูดดมหายใจของสปอร์ที่มีแอนแทร็กซ์เข้าไปจะก่อให้เกิดพยาธิสภาพในทางเดินหายใจและต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด สปอร์จะงอกตัวเป็นแท่งของแบคทีเรียพร้อมกับปล่อยสารพิษที่ก่อให้เกิดเลือดออกและปอดอักเสบ โรคกาลีชนิดที่เกิดจากการสูดดมจะเริ่มด้วยอาการไข้ ไม่สบาย อ่อนเพลีย ไอ และเจ็บหน้าอก หลังจากนั้นอาการจะทุเลาลง 2-3 วัน แล้วอาจจะมีอาการหายใจลำบากมาก หอบ ตัวเขียว อาการโลหิตเป็นพิษ หมดสติ (มักมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบประมาณครึ่งหนึ่ง ) มักจะตายภายใน 24-36 ชั่วโมง การรักษาโรคกาลีชนิดนี้ เมื่อก่อนรักษาด้วยเพนิซิลลิน นับเป็นวิธีรักษาโรคกาลีชนิดแพร่ทางการหายใจได้ผลดี (มติชน เสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2544 หน้า 7)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215