หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 43 ประจำวันที่ 2001-10-30

ข่าวการศึกษา

มจธ.จัดเทคโนโลยีแฟร์ 2002
ทบวงฯหารือกฤษฎีกาตั้งทีม ‘ม.นอกระบบ’
จุฬาฯแจงห้ามโอนขรก. หวั่นหัวกะทิหาย
แนะยุบรวมราชภัฏ-ราชมงคลแข่งมหาวิทยาลัย
บิ๊กศึกษาฯดันราชภัฏเป็นมหา’ลัย เน้นความเป็นเอกภาพ-รับปฏิรูป
ลุ้น “ปองพล” ตรวจสอบงาน “สุวิทย์”
“สิปปนนท์” ไล่รัฐบาลไม่กล้าชี้ขาดปฏิรูป
‘ภาวิช ทองโรจน์’ เป็นปธ.ทปอ.คนใหม่
คนทบวงฯขอโอนไปราชภัฏเพียบ หวั่นกระทบกอศ.ขาดแกนลุยงาน
ระบบเปิด “ศาสตราจารย์” ไม่ต้องขอเอง
ร.ร.ออนไลน์
มหา’ลัยดาวเทียม
ลุ้น ครม. ดันโรงพิมพ์คุรุสภาเก่าตั้งห้องสมุดเด็กรู้ประวัติศาสตร์
แนะศึกษาเอกชนดึงฝรั่งเรียนไทย
ศธ.ทำหลักสูตรส่วนตัวคนพิการ
‘สุธรรม’ ปิ๊ง ‘ม.เขตปลอดบุหรี่’ ดึงน.ศ.ร่วมเสนอแนวปฏิบัติ
สปช.ปัดฝุ่นยุบร.ร.เล็ก-รื้อข้อยกเว้นเกลี่ยครู
ขอเบี้ยกันดารให้ครูอาสากศน.

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

XML มาตรฐานใหม่ ที่ใครๆ ก็พูดถึง
เตรียมดูฝนดาวตกครั้งใหญ่(อีกที)
ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในงาน Bio Thailand 2001
โรงไฟฟ้าพลังถั่ว
“ทักษิณ” ชูนโยบายอินเตอร์เน็ตตำบล ลดช่องว่าง “สังคมดิจิตอล” ใน “เอเปค”
วิทย์ฯยกเครื่องนโยบาย สวล.-เน้นแก้ความขัดแย้ง

ข่าววิจัย/พัฒนา

การวินิจฉัยอหิวาต์ และการตรวจหาแอนติเจนอย่างรวดเร็ว
ม.แม่โจ้ พัฒนาเครื่องขุดมันฝรั่ง

ข่าวทั่วไป

ความยาวนิ้วนางเป็นลางบอกอัตราเสี่ยงป่วยไข้เป็นโรคหัวใจ
ดัน “ตุ๊กตุ๊ก” ขึ้นชั้นรถแห่งชาติ
หมอเอกชนเน้นตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน





ข่าวการศึกษา


มจธ.จัดเทคโนโลยีแฟร์ 2002

นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้กล่าวในการแถลงข่าวการจัดงาน เทคโนโลยีแฟร์ 2002 ว่างานนี้จะสะท้อนความก้าวหน้าด้านวิชาการ การวิจัย กระตุ้นให้คนไทยกล้าคิด ถือว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้เริ่มมิติในการเผยแพร่องค์ความรู้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ม.ค. – 2 ก.พ. 2545 ที่ มจธ. โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1. นิทรรศการโครงการของมหาวิทยาลัยต่างๆ 2. การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ 3. การแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีของกลุ่มอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และโครงการส่วนพระองค์ และ 4. การให้คำปรึกษาการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ (มติชน ศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





ทบวงฯหารือกฤษฎีกาตั้งทีม ‘ม.นอกระบบ’

ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ ได้หารือร่วมกับเลขาธิการกฤษฎีกาเกี่ยวกับกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล ซึ่ง พ.ร.บ.ของหลายมหาวิทยาลัยที่ส่งมายังกฤษฎีกานั้น บางฉบับกำหนดว่ามหาวิทยาลัยไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกาบอกว่าต้องคิดให้ดี เพราะจะมีทั้งผลดีและผลเสีย ฉะนั้นเพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนและย่นระยะเวลาในการพิจารณา นายสุธรรม เห็นว่า คงต้องทำความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยกับกฤษฎีกา ไม่เช่นนั้นเมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ไปที่กฤษฎีกาแล้ว เมื่อกฤษฎีกาไม่เข้าใจและเรียกมหาวิทยาลัยมาชี้แจงก็จะทำให้เสียเวลา ดังนั้น นายสุธรรม จึงเสนอเลขาธิการกฤษฎีการให้จัดตั้งทีมผู้ประสานงานที่พูดคุยได้โดยตรงกับกฤษฎีกา ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกาก็รับปากเพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น (มติชน เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





จุฬาฯแจงห้ามโอนขรก. หวั่นหัวกะทิหาย

น.พ.กำจร ตติยกวี รองอธิการบดีด้านการบริหารบุคคลและการพัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับมติที่ประชุม อ.ก.ม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติไม่สนับสนุนให้ข้าราชการในจุฬาฯ โอนไปรับราชการที่หน่วยงานอื่นตามที่ตนเสนอนั้น ได้แจ้ง ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยว่า เนื่องจากคณะกรรมการปรับโครงสร้างระบบราชการ (คปร.) ได้จำกัดอัตรากำลังข้าราชการมหาวิทยาลัย โดยให้โอนย้ายได้ระหว่างมหาวิทยาลัยในสังกัดทบวงฯเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อคนที่มีความรู้ความสามารถขอโอนย้ายออกไป มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถหาผู้มีประสบการณ์สูงจากหน่วยงานอื่นมาบรรจุแทนได้ เพราะจุฬาฯมีมติไม่รับโอนข้าราชการจากมหาวิทยาลัยของรัฐด้วยกัน เนื่องจากจะทำให้มหาวิทยาลัยอื่นอ่อนแอลงรวมถึงภาพรวมของมหาวิทยาลัยไทยด้วย (มติชน พฤหัสบดี ที่ 18 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





แนะยุบรวมราชภัฏ-ราชมงคลแข่งมหาวิทยาลัย

น.ส.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ กรรมการบริหาร สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการปฏิรูปการอุดมศึกษา ซึ่งจะรวมสถาบันอุดมศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และอื่นๆ เข้าร่วมภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยทบวงฯอยู่ระหว่างจัดทำ University Mapping เพื่อลดงบประมาณในด้านต่างๆ นอกจากนี้มีผู้เสนอว่าน่าจะรวมสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะต่างจังหวัดเข้าด้วยกัน เช่น ยุบรวมวิทยาเขตของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถาบันราชภัฏเข้าด้วยกัน เพื่อให้การพัฒนาสถาบันเป็นไปด้วยดี หรือยุบรวมระหว่างสถาบันราชภัฏที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพื่อทำให้ได้สถาบันอุดมศึกษาที่แข็งแกร่งกว่ามหาวิทยาลัยบางแห่ง หรือยุบรวมสถาบันราชภัฏและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเข้ากับมหาวิทยาลัย เป็นต้น (มติชน เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





บิ๊กศึกษาฯดันราชภัฏเป็นมหา’ลัย เน้นความเป็นเอกภาพ-รับปฏิรูป

นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ กล่าวระหว่างการเป็นประธาน เปิดอบรมการถ่ายโอนสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏสู่สถาบันราชภัฏแม้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติจะแยกให้สถาบันราชภัฏเป็นอิสระ แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏในอนาคตควรคงความเป็นเอกภาพและความเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นให้ได้ รวมทั้งที่สำคัญที่สุดการสร้างมาตรฐานและคุณภาพของหลักสูตร นอกจากนี้อยากให้สถาบันราชภัฏเป็นพี่เลี้ยงให้กับการศึกษาระดับอื่นในท้องถิ่นว่า มีความพร้อมที่จะเข้ามาสู่การปฏิรูปการศึกษาในอนาคตหรือไม่ นายถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ กล่าวว่า ตามที่ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นนิติบุคคลและบริหารงานอย่างเป็นอิสระตลอดระยะเวลา 2 ปี สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏได้เตรียมความพร้อมให้กับสถาบันราชภัฏ 11 แห่งทั่วประเทศ ทั้งการปรับแนวความคิดและวิธีการ จนถึงวันนี้พร้อมที่จะไปรวมกับมหาวิทยาลัย เพื่ออยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแล้ว (สยามรัฐ อังคารที่ 23 ตุลาคม 2544 หน้า 3)





ลุ้น “ปองพล” ตรวจสอบงาน “สุวิทย์”

จากกรณีที่ นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นรองนายกฯ ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการศึกษา และนายปองพลก็ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้ามาผลักดันงานปฏิรูปการศึกษานั้น ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา นักวิชาการ ข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) คาดหวังต่อ นายปองพล ให้มาเป็นผู้นำการปฏิรูปการศึกษาไว้สูงมาก เนื่องจาก นายปองพลเป็นทั้งนักวิชาการ นักเขียน และให้ความสนใจงานการศึกษามานาน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะคาดหวังต่อ นายปองพล ต่องานปฏิรูปการศึกษาสูงไปหรือไม่ ดร.รุ่ง กล่าวว่า ขณะนี้การปฏิรูปการศึกษาเข้าถึงยุคหน้าสิ่วหน้าขวานแล้ว ทุกคนในแวดวงการศึกษา และ กกศ.ไม่มีทางเลือก และคิดว่า นายปองพล เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ส่วนเรื่องความล่าช้าของแผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปีนั้น เนื่องจากกรมต่างๆ ต้องการให้มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้สูงขึ้น แต่สำนักงบประมาณไม่ยินยอม เรื่องนี้รัฐบาลควรต้องนำมาหารือโดยเร่งด่วน เพราะต้องเตรียมแผนรองรับให้ชัดเจน (ไทยรัฐ พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





“สิปปนนท์” ไล่รัฐบาลไม่กล้าชี้ขาดปฏิรูป

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความล่าช้าในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลว่า ข้อเสนอทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว เหลือเพียงการตัดสินใจของรัฐบาลเท่านั้น คนที่อยู่ที่สูงต้องกล้าตัดสินใจ หากทำอะไรชักช้าบ้านเมืองก็จะยิ่งล้าหลัง ถ้าไม่กล้าตัดสินใจก็อย่ามานั่งจุดนี้ ตนขอบอกว่าการปฏิรูปครั้งนี้มีการระดมความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศนับแสนๆ คน ตั้งแต่ปี 2537 มีการผลักดันจนเป็น พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ หากรัฐบาลคิดว่าการปฏิรูปผิดพลาดก็เท่ากับว่าคนนับแสนๆ คนคิดผิดด้วยเช่นกัน และรัฐบาลก็ควรต้องตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอของสำนักงานปฏิรูปการศึกษาให้ชัดเจน หากไม่รับก็ต้องชี้แจงเหตุผลด้วยว่าเพราะอะไร ขณะนี้รัฐบาลสนใจแต่เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมผู้หนีทหาร แต่เรื่องการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่กลับไม่สนใจ ตนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาหลายคนเคยเข้าพบและชี้แจงกับนายกฯ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนตนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว คงต้องอาศัยสื่อมวลชนและประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันผลักดันรัฐบาล ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลมักอ้างว่าต้องมีความรอบคอบก่อนตัดสินใจปฏิรูปการศึกษา โดยใช้วิธีการนำร่องและผลการนำร่องของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่ได้ดีกว่าผลการศึกษาของ สปส. ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายการเมืองตัดสินใจผิดพลาด (ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





‘ภาวิช ทองโรจน์’ เป็นปธ.ทปอ.คนใหม่

นางสุมณฑา พรหมบุญ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ถึงผลการประชุม ทปอ.ว่า ที่ประชุมได้เลือก นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธาน ทปอ. แทนตน ซึ่งจะหมดวาระในสิ้นปีนี้ โดยนายภาวิช จะเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป รวมถึงที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้งบประมาณกลาง 58,000 ล้านบาท ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย (มติชน อาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





คนทบวงฯขอโอนไปราชภัฏเพียบ หวั่นกระทบกอศ.ขาดแกนลุยงาน

นายสุชาติ เมืองแก้ว รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทบวงฯ ได้ร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) เพื่อเตรียมรับบุคลากรสังกัดคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) เข้าสังกัด (ก.ม.) ภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กอศ.) เวลานี้รอเพียงกฎหมายโอนงานของสถาบันราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลมาอยู่ภายใต้ กอศ. ส่วน ก.พ. ได้สำรวจความต้องการของข้าราชการทบวงฯ พบว่ากว่าครึ่งแจ้งความจำนงขอโอนไปยังสถาบันราชภัฏนั้น คงส่งผลกระทบต่อ กอศ. พอสมควร ตามโครงสร้าง กอศ.จะมีอัตรากำลังประมาณ 400 อัตรา เป็นข้าราชการทบวงฯ ประมาณ 300 อัตรา และข้าราชการสังกัดสภาสถาบันราชภัฏ 80 อัตรา ส่วนสาเหตุที่ข้าราชการทบวงฯต้องการโอนไปจำนวนมากอาจเป็นเพราะใกล้บ้าน และการเป็นอาจารย์จะก้าวหน้าทางวิชาการได้เร็วกว่าสายปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอโครงสร้างอัตรากำลังที่ ก.พ. กำลังทำเพื่อจัดบุคลากรลง (มติชน พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





ระบบเปิด “ศาสตราจารย์” ไม่ต้องขอเอง

ศ.ดร. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยผลประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (อ.ก.ม.) วิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเพิ่มเติมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) ในระบบเปิด โดยสรรหาผู้มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ในวิชาชีพนั้นๆ และเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม เพื่อประกาศยกย่องให้เกียรติแก่บุคคลดังกล่าว โดย อ.ก.ม. วิสามัญจะพิจารณาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อเสนอ ก.ม. ต่อไป เนื่องจากตามระเบียบเดิมผู้เสนอขอรับการพิจารณาตำแหน่ง ศ. จะต้องทำเรื่องเสนอเอง ซึ่งบางคนมีผลงานมากมายและเป็นที่ยอมรับ แต่ไม่เคยขอรับการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ต่อไปผู้ที่ทำงานมีผลงานมาก และเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมก็จะได้รับการยกย่องให้เป็น ศ. โดยไม่ต้องเสนอขอเอง และยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการเสนอขอรับการพิจารณาตำแหน่ง ศ. จนถึงวันที่เกษียณอายุราชการ เพื่อไม่เป็นการจำกัดสิทธิ์ผู้ขอ ปลัดทบวงฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นว่า ศ. ที่ปลดเกษียณจำนวนมากในทุกสาขาวิชาชีพในสังคมไทย ยังมีคุณค่าและมีประโยชน์ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ทบวงฯ ศึกษาแนวทางในการใช้ประโยชน์จาก ศ. ในภาคราชการ ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ โดยผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐ และเสนอแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายเวลาการเกษียณอายุราชการของผู้ดำรงตำแหน่ง ศ. ได้ถึง 65 ปี เช่นเดียวกับผู้พิพากษา (ไทยรัฐ พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





ร.ร.ออนไลน์

โรงเรียนมอนเต้ วิสต้า ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตจนที่สุดของโคโลราโด แต่กลับเป็นโรงเรียนที่ช่วยบรรเทาปัญหาของครอบครัวที่ขาดทุนทรัพย์ เป็นโรงเรียนไฮสคูลที่สอนผ่านออนไลน์ ช่วยให้ลูกหลานคนจนที่ไม่มีเงินส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือสามารถเรียนผ่านออนไลน์จากที่บ้านได้ ขณะที่เรียนออนไลน์ต้องจ่ายค่าเทอมเพียง 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี กรณีที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน และ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ กรณีที่เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์จากโรงเรียน โรงเรียนออนไลน์มีครูผู้เชี่ยวชาญหลายคนยอมนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์สอนหนังสือให้ เช่น อดีตเจ้าหน้าที่เกษียณในองค์การบริการและการบินแห่งสหรัฐหรือนาซ่า นักเรียนที่เรียนผ่านออนไลน์สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เช่นเดียวกับนักเรียนทั่วไป (มติชน พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





มหา’ลัยดาวเทียม

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์หรือเอ็นยูเอส ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีระบบการเรียนการสอนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยตั้งเป้าว่าจะต้องทันสมัย และไฮเทคในระดับโลก โครงการล่าสุดที่เอ็นยูเอสกำลังจะเดินหน้าคือ การสร้างมหาวิทยาลัยดาวเทียม หรือสอนผ่านดาวเทียมจากสาขาที่ตั้งอยู่ทั่วโลก เริ่มแรกจากมหาวิทยาลัยสาขาที่ตั้งอยู่ใน 5 เมืองทั่วโลกภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้โครงการ “เอ็นยูเอส อินเตอร์ไพรส์” โดยเริ่มจากตั้งสาขาที่ซิลิคอน วัลเลย์ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สาขาแห่งนี้เน้นสอนด้านไฮเทคโนโลยี ต่อด้วยสาขาที่เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิน โดยเน้นด้านโอกาสทางธุรกิจ และการผลิต และกำลังจะจัดตั้งอีก 2 สาขาที่บอสตันของสหรัฐฯ และอินเดีย (มติชน จันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





ลุ้น ครม. ดันโรงพิมพ์คุรุสภาเก่าตั้งห้องสมุดเด็กรู้ประวัติศาสตร์

ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการห้องสมุดเด็กและเยาวชน เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาเก่า บริเวณถนนพระอาทิตย์ เพื่อเตรียมใช้ในการจัดตั้งห้องสมุดเด็กและเยาวชนว่า พื้นที่แห่งนี้มีความเหมาะสมเพราะอยู่ในชุมชน การคมนาคมสะดวก ทั้งเคยเป็นสถานที่ผลิตตำราเรียน อีกทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบยังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งชุมชนบางลำพู ป้อมพระสุเมรุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ พระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตาม โรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้ ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถานของชาติการนำมาใช้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องมีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนดังกล่าวก่อน จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรได้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ ก่อนเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติใช้พื้นที่ต่อไป คาดว่าจะใช้งบ 50 ล้านบาท และปรับปรุงสถานที่ได้แล้วเสร็จในปี 2546 (ไทยรัฐ พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





แนะศึกษาเอกชนดึงฝรั่งเรียนไทย

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. สมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ ทั้งนี้ รมว.ศธ. เปิดเผยว่า ตนได้ขอความร่วมมือจากสถานศึกษาเอกชน ในเรื่องนโยบายที่ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคหรือการศึกษานานาชาติ เพื่อดึงดูดนักเรียนต่างประเทศให้เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย และยังเสนอให้นักเรียนไทยไม่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยทางมหาวิทยาลัยเอกชนและโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว ซึ่งส่งผลให้มีเงินเข้าประเทศเกือบหมื่นล้านบาท (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม 2544 หน้า 20)





ศธ.ทำหลักสูตรส่วนตัวคนพิการ

นายประพัฒน์พงศ์ เสนาฤทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรสำหรับคนพิการ โดยกำหนดเป็นกรอบการพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการที่สามารถเรียนร่วม และให้ปรับมาตรฐานหลักสูตรกำหนดรายละเอียดตามลักษณะ ประเภท และระดับของความพิการ ส่วนคนพิการที่ไม่สามารถเรียนร่วมได้นั้น ให้จัดทำหลักสูตรเฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงความต้องการของคนพิการ โดยต้องพัฒนาทุกด้านและควรเน้นการฝึกอาชีพตามศักยภาพของคนพิการ สำหรับประเภทของความพิการที่ ศธ. กำหนดไว้ ได้แก่ ความบกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางสติปัญญา ทางร่างกายและสุขภาพ ทางการเรียนรู้ ทางการพูดและภาษา กลุ่มที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรือทางอารมณ์ กลุ่มออทิสติก และกลุ่มพิการซ้ำซ้อน โดยจำแนกความพิการเป็น 3 ระดับ พิการขั้นรุนแรงจนไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ พิการปานกลาง และพิการขั้นต่ำ (สยามรัฐ พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 20)





‘สุธรรม’ ปิ๊ง ‘ม.เขตปลอดบุหรี่’ ดึงน.ศ.ร่วมเสนอแนวปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงฯ มีแนวคิดที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ เพราะแม้จะไม่มีกฎหมายห้าม แต่บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ขณะนี้จึงมีหลายสถานที่ที่กำหนดเขตปลอดบุหรี่ขึ้น เช่น สนามบิน ร้านอาหาร โรงพยาบาล จึงอยากให้มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมด้วย แต่ทบวงฯจะไม่บังคับให้มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตาม อยากให้มีการสร้างสำนึกให้นิสิตนักศึกษายินยอมพร้อมใจมากกว่า เพื่อขยายการปฏิบัติได้กว้างขวางขึ้น (มติชน อังคารที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





สปช.ปัดฝุ่นยุบร.ร.เล็ก-รื้อข้อยกเว้นเกลี่ยครู

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการเลิกจ้างครูอัตราจ้างประมาณ 3,000 คนว่า กำลังให้เจ้าหน้าที่รวบรวมสภาพปัญหาเป็นรายโรงเรียน และกล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการจ้างครูอัตราจ้างประมาณ 13,000 อัตราต่อปี ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนอยู่ ตนจึงจะนำ 2 มาตรการสำคัญมาปัดฝุ่น ได้แก่ 1. การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อกระจายครูไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งในปีแรกนักเรียนในโรงเรียนที่ถูกยุบจะได้รับค่าพาหนะโดยสารรถไปโรงเรียนแห่งใหม่ มาตรการที่ 2 คือการเกลี่ยครูช่วยราชการกลับ ซึ่งจะต้องมาพิจารณาข้อยกเว้นต่างๆ ใหม่ โดยเฉพาะการช่วยราชการในหน่วยงานที่ขาดแคลนอัตรากำลัง ที่มักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ต้องกลับสถานศึกษา ซึ่งจะต้องวางกรอบกันใหม่ให้ชัดเจนว่า หน่วยงานนั้นๆ ขาดแคลนเพียงใด (มติชน จันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





ขอเบี้ยกันดารให้ครูอาสากศน.

นายอาทร จันทวิมล อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบถึงปัญหาครูอาสาของ กศน. ซึ่งมีถึง 60% แต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าภารโรงในส่วนกลาง ด้าน นายสุวิทย์ กล่าวว่า ได้มอบให้ กศน. ไปจัดทำรายละเอียดมาเสนอ แต่ยังให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะต้องดูด้วยว่าเงื่อนไขการว่าจ้างเป็นอย่างไร (มติชน จันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2544 หน้า 10)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


XML มาตรฐานใหม่ ที่ใครๆ ก็พูดถึง

ภาษามาตรฐาน XML ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในปี 2539 เป็นภาษามาตรฐานสำหรับทำ Web Site อีกภาษาหนึ่ง ซึ่งรองรับการทำงานระบบฐานข้อมูลได้และมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น ผู้พัฒนาคือ XML Working Group ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก w3c (World Wide Web Consortium) ภาษามาตรฐานสากล XML ย่อมาจากคำว่า “eXtenSible Markup Language” แปลว่า ภาษามาร์คอัพ ที่สามารถขยายได้อย่างไม่จำกัด หรือเป็นภาษาที่ใช้ในการจัดโครงสร้างข้อมูลให้เป็นระบบ จะช่วยให้การค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตมีประสิทธิภาพ ในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันเปิดโครงการนำร่องใช้ภาษา XML ในการพัฒนาฐานข้อมูลในโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างภาครัฐ หรือที่เรียกว่า GDI (เดลินิวส์ อังคารที่ 23 ตุลาคม 2544 หน้า 12)





เตรียมดูฝนดาวตกครั้งใหญ่(อีกที)

น.ส.ประพีร์ วีราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่า จากการคำนวณของนักดาราศาสตร์ของ องค์การนาซา และหอดูดาว Armagh ของอังกฤษ พบว่า ประชาชนในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะได้ดูปรากฏการณ์ฝนดาวตกครั้งใหญ่ในรอบปี 2544 จากกลุ่มดาว Leonids หรือดาวสิงโต ในคืนวันที่ 18 พ.ย. 44-19 พ.ย.44 เวลา 01.22 น. ตามเวลาของประเทศไทย จะดูได้บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีท้องฟ้าโปร่ง และไม่มีแสงรบกวน (เดลินิวส์ อังคารที่ 23 ตุลาคม 2544 หน้า 12)





ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในงาน Bio Thailand 2001

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จะจัดงานประชุมและนิทรรศการเทคโนโลยีชีวภาพนานาชาติ (Bio Thailand 2001) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในวันที่ 7-10 พ.ย. 2544 ในงานจัดแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปแป้ง การผลิตเม็ดพันธุ์ การแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร และมีผลงานวิจัยต่างๆ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการคัดเลือกพันธุ์ข้าว ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.อภิชาต วรรณวิจิตร ข้าวเจ้าหอมนิล และข้าวลูกผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มุ่งหวังให้นักวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมได้มาพบกันเพื่อจะได้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ประชาชนสามารถเข้าชมงานได้ฟรี สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2642-5322-31 ต่อ 240 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 28)





โรงไฟฟ้าพลังถั่ว

นายคิม กริฟฟิธ ประธานบริษัทพลังงานเออร์กอน ของออสเตรเลีย ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังถั่ว โดยวิธีการเผาเปลือกถั่ว แมคาดาเมีย ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าไปสู่บ้านเรือนราษฎรได้กว่า 1,200 หลังคาเรือน และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารในเมืองยิมปี้ รัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งต้องมีปริมาณเปลือกถั่ว 5,500 ตัน เผาเพื่อให้เกิดความร้อนเข้าสู่กังหันพลังงานความร้อนมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ชั่วโมงละ 7.6 กิกะวัตต์ต่อปี และสามารถลดปริมาณแก๊สจากปฏิกิริยาเรือนกระจก 8,500 ตันต่อปี (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2544 หน้า 8)





“ทักษิณ” ชูนโยบายอินเตอร์เน็ตตำบล ลดช่องว่าง “สังคมดิจิตอล” ใน “เอเปค”

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ณ ห้องประชุมแมนดาริน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ (ICC) นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เข้าร่วมในการหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ ABAC พร้อมกล่าวปาฐกถาว่า ประเทศสมาชิกเอเปคได้มีการดำเนินการร่วมกันในการแก้ไขปัญหา เรื่องช่องว่างทางวิทยาการในหลายมิติ (digital divide) และหนึ่งในหลายมาตรการที่ได้มีความพยายามร่วมกันทำคือ การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านทางเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างทางวิทยาการ และเสริมสร้างสังคมดิจิตอลที่มีความครอบคลุม นอกจากนี้ ยังมีข้อริเริ่มใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค ประเด็นที่ประเทศไทยมีความห่วงใยคือ เชื่อว่าคนจนและผู้ด้อยโอกาสยังมีศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ และยังไม่ได้มีการดึงเอาออกมาใช้อีกมาก สิ่งที่คนเหล่านี้ขาดแคลนก็คือโอกาส และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงอธิบายว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงได้มีการจัดตั้งโครงการอินเตอร์เน็ตตำบลขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร โครงการดังกล่าวมีเป้าประสงค์ที่ต้องการจะปิดช่องว่างทางข้อมูลข่าวสาร เพื่อที่ว่าความรู้และทักษะต่างๆ ของคนในสังคมจะได้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด (มติชน อาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2544 หน้า 19)





วิทย์ฯยกเครื่องนโยบาย สวล.-เน้นแก้ความขัดแย้ง

นายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เผยภายหลังการประชุมพิจารณาร่างนโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกระทรวง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องแยกออกเป็นกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้เห็นความจำเป็นของการเตรียมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงได้เชิญหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อทำนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยจะพิจารณาตามกรอบแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 นโยบายของรัฐบาลและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม 20 ปีของกระทรวง (ไทยรัฐ พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 15)





ข่าววิจัย/พัฒนา


การวินิจฉัยอหิวาต์ และการตรวจหาแอนติเจนอย่างรวดเร็ว

ศ.ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา ภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยอหิวาต์ และการตรวจหาแอนติเจนอย่างรวดเร็ว โดยการใช้ Monoclonal Antibodies เพื่อวินิจฉัยอหิวาต์ที่เกิดจากเชื้อ Vibriocholerae Serogroup 0:139 ได้ในอัตราที่แม่นยำสูงรู้ผลภายใน 1 ชั่วโมง และราคาถูก ซึ่งเปรียบเทียบกับการตรวจเช็คแบบเดิมคือการเพาะเชื้อ ต้องใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง และต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญพิเศษ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 28)





ม.แม่โจ้ พัฒนาเครื่องขุดมันฝรั่ง

ผศ.บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเครื่องขุดมันฝรั่ง โดยได้รับเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาโครงการนี้จากกระทรวงวิทย์ฯ ผลการวิจัยพบว่า เครื่องนี้เหมาะสมกับการเพาะปลูกในประเทศไทย โดยสามารถขุดมันฝรั่งได้ 1.2 ไร่ต่อชั่วโมง และสามารถประยุกต์ใช้เป็นรถแทรคเตอร์ขนาดเล็กได้ด้วย และได้ขอจดสิทธิบัตรแล้ว ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โทร. 0-5349-8147 (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2544 หน้า 23)





ข่าวทั่วไป


ความยาวนิ้วนางเป็นลางบอกอัตราเสี่ยงป่วยไข้เป็นโรคหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ค้นพบความเกี่ยวพันระหว่างความยาวนิ้วนางของเด็กผู้ชาย กับโอกาสการเจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจ เมื่อตอนเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มต่อไป การศึกษาวิจัยพบว่า เด็กผู้ชายที่มีนิ้วนางสั้น ต่อไปจะเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพื่อน และมีระดับของฮอร์โมนเทสโตสเตโรน อันเป็นฮอร์โมนเพศชายต่ำ ซึ่งฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจ (พฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม 2544 หน้า 7)





ดัน “ตุ๊กตุ๊ก” ขึ้นชั้นรถแห่งชาติ

นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.อุตสาหกรรม เผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เป็นประธานคณะทำงานศึกษากำหนดมาตรฐานรถตุ๊กตุ๊กเพื่อพัฒนาเป็นรถแห่งชาติ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งสถาบันยานยนต์ได้ศึกษาข้อมูลมากว่า 1 ปีแล้ว และคาดว่าจะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับใน 3 เดือนข้างหน้า สำหรับรูปแบบการจัดตั้งมีแนวความคิดที่จะจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งจะเชิญชวนบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มาร่วมลงทุน และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50% ปัจจุบันรถตุ๊กตุ๊กของไทยไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ควบคุมปริมาณการใช้ในประเทศโดยการออกทะเบียนให้เพียง 50,000 คัน ในขณะที่มีผู้ผลิต 4 ราย ซึ่งกำลังการผลิตที่เหลือต้องส่งไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินเดีย แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน (พุธที่ 24 ตุลาคม 2544 หน้า 9)





หมอเอกชนเน้นตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน

นพ.เติมศักดิ์ กุศลรักษา รองกรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้นำโปรแกรม “9 ไลฟ์” ซึ่งเป็นโปรแกรมดูแลสุขภาพแนวใหม่ เชิงป้องกันที่วิเคราะห์โปรแกรมการตรวจสุขภาพเฉพาะรายมาให้บริการแก่ลูกค้าของโรงพยาบาลเฉพาะราย เนื่องจากแต่ละบุคคลมีวิธีการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมการรับประทานอาหารต่างกัน ฉะนั้นแต่ละบุคคลจึงมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ กัน โปรแกรมนี้เป็นการลงทุนน้อย แต่ได้รับผลลัพธ์ที่คุ้มค่า เพราะผู้บริโภคจะรับรู้แต่เนิ่นๆ ว่า มีความเสี่ยงต่อโรคใดบ้าง และควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะป้องกันโรคอย่างได้ผล (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2544 หน้า 24)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215