|
หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 44 ประจำวันที่ 2001-11-06
ข่าวการศึกษา
สุวิทย์ พร้อมลงนามหลักสูตรใหม่สัปดาห์หน้า 5 รภ. ล่าสุดบริหารแนวใหม่ตั้งแค่ 2 คณะ ว.ชุมชนรุกครึ่งทางพร้อมเปิด 10 จว. ปีหน้า ประถมฯ สงขลาจัดประเมินคุณภาพ กำแพงเพชรตั้งศูนย์วิจัยศึกษาท้องถิ่น ศบอ. สองแควนำไอเดีย พี่สอนน้องแก้ขาดครู ทบวงฯ ขอพันล้านวางข่าย Ednet 3 หน่วยงานร่วมวางเครือข่ายกศ.สารสนเทศ การศึกษาออนไลน์ชนลุ่มแม่น้ำโขง ปองพล รับเชื่อมปฏิรูปศึกษากับการกระจายอำนาจ ศธ. หวังใช้โบนัสดันงานปฏิรูป สปศ. ไม่หวั่นสุวิทย์ล้มกระดาน ชี้เลื่อนปฏิรูปไม่กระทบออกนอกระบบ มศว. ขึ้นป้ายเขตปลอดบุหรี่สั่งเดินหน้าทำความเข้าใจ สุวิทย์ จี้ทุกกรมแจงความคืบหน้าปฏิรูปกศ. ทบวงนำกองทุนมหาวิทยาลัยเข้า ก.คลังตามระเบียบใหม่ องค์กรเครือข่ายฯรุกคืบฝ่ายการเมือง
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
นายกฯทุ่มงบพัฒนาเรือเหาะใช้งานเกษตร ฤกษ์ดี อินเตอร์เน็ตตำบล ปทุมฯเปิดนำร่องแห่งแรก ชมฟาร์มสาหร่ายเกลียวทอง โครนส่งระบบสื่อสารไร้สาย อินฟราเรด เจาะตลาดไทย พป. ดิ้นอ้อนทักษิณดันสร้างศูนย์นิวเคลียร์ต่อ เปิดโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต ตั้งเป้าปีแรกสมาชิกหมื่นเดียว เทคโนโลยีชีวภาพขนาดจิ๋ว (Nanobiotechnology) แขนกล 2001 เครื่องประดิษฐ์แทนคนฉีดพ่นสารเคมี
ข่าววิจัย/พัฒนา
นักวิจัย มจธ. ผลิตเครื่องคัดข้าวโพดอ่อน ผลการวิจัย ม.เกษตร ระบุ มันสำปะหลัง เหมาะสำหรับผลิต เอทานอล มากที่สุด การผลิตสารดีไฟน์ซิลิกาจากแกลบในขนาดขยายส่วน การศึกษายางรองคอสะพาน กห. โชว์เครื่องเตือนภัย-กระสุนยางฝีมือไทย โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
ข่าวทั่วไป
ศึกชิงพันธุ์ข้าวหอมมะลิยุติ ได้ข้อสรุปใช้ซากเดิมโฮปเวลล์ทำยกระดับดอนเมือง-บางซื่อ ศิลปินไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลที่ 3 แข่งภาพพิมพ์โลก
ข่าวการศึกษา
สุวิทย์ พร้อมลงนามหลักสูตรใหม่สัปดาห์หน้า
วันที่ 26 ตุลาคม นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ภายใน 1 สัปดาห์ จะลงนามในประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรของ ศธ. แล้ว จะมีการนำร่องทดลองในภาคเรียนที่ 2/2544 นี้ นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวว่า จากการไปตรวจราชการพบว่าทั้งโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษามีความพร้อมที่จะทดลองนำร่องตามหลักสูตรใหม่แล้ว
(มติชน เสาร์ที่27 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
5 รภ. ล่าสุดบริหารแนวใหม่ตั้งแค่ 2 คณะ
นายถนอม อินทรกำเนิด เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฎ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฎ (คสส.) ได้เห็นชอบการจัดแบ่งส่วนราชการสถาบันราชภัฎ (รภ.) ตั้งใหม่ 5 แห่ง ประกอบด้วย รภ.กาฬสินธุ์ รภ.ร้อยเอ็ด รภ.นครพนม รภ.ชัยภูมิ และรภ.ศรีสะเกษ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่โดยให้ตั้งคณะวิชาเพียง 2 คณะ คือคณะวิทยาการศึกษาทั่วไป ซึ่งจัดการศึกษาวิชาพื้นฐานในการสร้างคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณธรรมวัฒนธรรมและความรู้ และคณะวิทยาการวิชาชีพ ซึ่งมีสาขาเฉพาะในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการยุบสาขาวิชาที่ไม่เป็นที่นิยมในอนาคต
(มติชน อังคารที่ 30 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
ว.ชุมชนรุกครึ่งทางพร้อมเปิด 10 จว. ปีหน้า
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนว่า คืบหน้าไปราว 50 % โดยจะเริ่มเปิดสอนใน 10 จังหวัดนำร่องปีการศึกษา 2545 แบ่งหลักสูตรเป็น 4 ประเภท คือ 1. หลักสูตรอนุปริญญา 2 ปี เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ป.วช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ป.วส.) 3. หลักสูตรระยะสั้น มีทั้งหมด 1,380 หลักสูตรให้สถานศึกษาเลือกเปิดสอนตามความพร้อมและความต้องการ และ 4. หลักสูตรซ่อมเสริมความรู้ สำหรับผู้ที่พลาดหวังจากการเอ็นทรานซ์ ซึ่งทุกหลักสูตรคืบหน้าแล้วกว่า 80-90 % สถานศึกษาสามารถเลือกประเภทและเปิดสอนหลักสูตรได้ตามความเหมาะสมกับท้องถิ่น โดยหลักสูตรจะยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี
(มติชน อังคารที่ 30 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
ประถมฯ สงขลาจัดประเมินคุณภาพ
รายงานข่าวจาก สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา แจ้งว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะมีการประเมินสถานศึกษารอบแรก ของโรงเรียนในสังกัด สปจ.สงขลา จำนวน 11 โรง การประเมินในรอบนี้ จะไม่มีการตัดสินคุณภาพของสถานศึกษา ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน รับรองหรือไม่รับรอง แต่จะเน้นการให้ข้อมูล เกี่ยวกับจุดอ่อน จุดแข็งของสถานศึกษา ตามเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน 14 มาตรฐาน 52 ตัวบ่งชี้
(มติชน จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 16)
กำแพงเพชรตั้งศูนย์วิจัยศึกษาท้องถิ่น
นายสุทิศ ทองสนิทกาญจน์ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผยว่า จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือการวิจัย สำหรับพัฒนาคุณภาพการศึกษา สปจ.กำแพงเพชร มอบหมายให้หน่วยศึกษานิเทศก์ ดำเนินการจัดตั้งชมรมนักวิจัยท้องถิ่น โดยเชิญชวนข้าราชการครู และผู้สนใจงานด้านวิจัยร่วมเป็นสมาชิก และเผยแพร่ผลงานการวิจัย ผลการวิจัยในชั้นเรียน นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยทางการศึกษาระดับท้องถิ่นขึ้นที่ สปจ.กำแพงเพชร เป็นศูนย์รวบรวมผลงานการวิจัยต่าง ๆ ของสมาชิกชมรม
(มติชน จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 16)
ศบอ. สองแควนำไอเดีย พี่สอนน้องแก้ขาดครู
นายวีระวัฒน์ ฆะปัญญา หัวหน้าศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) สองแคว จ.น่าน เปิดเผยว่า จากการที่ ศบอ. สองแคว ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรประถมศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบันมีผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องครูผู้สอน จึงแก้ปัญหาด้วยการขอความร่วมมือ จากรุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้ว และอยู่ระหว่างปิดภาคเรียน มาช่วยสอนวิชาหลัก เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
(มติชน จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 16)
ทบวงฯ ขอพันล้านวางข่าย Ednet
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติ (Ednet) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที เพื่อให้เครือข่าย UniNet ของทบวงฯ เป็นแกนหลักเชื่อมกับ School Net ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเพิ่มศักยภาพและเส้นทางเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษาแห่งชาติทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเห็นชอบให้พัฒนาห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จัดหนังสือ วารสาร และฐานข้อมูลทางการศึกษาในรูปของ อี-เจอร์นัล และ อี-บุคส์ ให้สถานศึกษาสร้างฐานข้อมูล แหล่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัยร่วมกัน และเชื่อมข้อมูลทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาบุคคลากรด้านไอทีเพื่อให้เครือข่ายเกิดประโยชน์สูงสุด
(มติชน อังคารที่ 30 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
3 หน่วยงานร่วมวางเครือข่ายกศ.สารสนเทศ
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี มีมติให้ทบวงฯ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงคมนาคม ร่วมรับผิดชอบเชื่อมโยงเครือข่ายสารสนเทศทางการศึกษาให้เป็นระบบเดียวกัน โดยมีเครือข่าย UNINET เป็นเครือข่ายหลัก ให้แล้วเสร็จใน 2 ปี เพื่อกระจายการศึกษาให้ทั่วถึงทุกภูมิภาค รมว.ทบวงฯ กล่าวอีกว่าที่ประชุมเห็นชอบในนโยบาย 3 ด้าน คือ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพเครือข่ายแกนหลักเพื่อใช้ในการศึกษา ทั้งภายในและนอกประเทศ สำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัย และการเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษากับอินเทอร์เน็ตทั้งในและนอกประเทศ 2. ให้มีการพัฒนาระบบศูนย์สารสนเทศ เครือข่ายห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และขยายเป็นศูนย์การเรียนรู้ครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมจัดเก็บข้อมูลฐานการศึกษาในรูปอิเล็กทรอนิกส์ เช่น E-BOOK, E-JOURNAL เป็นต้น 3. สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสารสนเทศเพื่อมาพัฒนา บำรุงรักษา และใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด
(กรุงเทพธุรกิจ อังคาร ที่ 30 ตุลาคม 2544 หน้า 8)
การศึกษาออนไลน์ชนลุ่มแม่น้ำโขง
รศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต ผอ.ศูนย์การเรียนการสอนทางไกลของ เอไอที ได้กล่าวถึงการประชุมAsia Europe Meeting ASEM เรื่องการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาบุคคลากรในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ที่สถาบัน เอไอที ที่ประชุม พูดถึงการให้การศึกษาออนไลน์กับประเทศแถบแม่น้ำโขงเป็นหลัก รศ.ดร.กาญจนา ได้เสนอให้ตั้ง GMS Content Center ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเผยแพร่และถ่ายโอนข้อมูล และให้เป็นประตูเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมตามช่วงเวลา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยปรับปรุงเนื้อหาของเครือข่ายท้องถิ่น โดยอัตโนมัติ
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2544 หน้า12)
ปองพล รับเชื่อมปฏิรูปศึกษากับการกระจายอำนาจ
เมื่อ 30 ตุลาคม ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการหารือนอกรอบ เรื่องการปฏิรูประบบราชการเมื่อ วันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า มีผู้เสนอว่าท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอว่าการปฏิรูปการศึกษาต้องมองภาพรวมของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติกับ พ.ร.บ.การกระจายอำนาจควบคู่กันไป เพราะถ้ามองเฉพาะ พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะทำให้เม็ดเงินมหาศาลลงสู่ภูมิภาคผ่านเขตพื้นที่การศึกษาแต่ไม่ใช่ท้องถิ่น นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี และนายสิปปนนท์ เกตุทัต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาก็เห็นด้วย โดยนายปองพล รับจะเป็นแม่งานหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
(มติชน พุธ ที่ 31 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
ศธ. หวังใช้โบนัสดันงานปฏิรูป
นายจรูญ ชูลาภ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายสมาน ภุมมะกาญนะ ที่ปรึกษารมว. ศึกษาธิการ ว่า จากปัญหาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ยังมีผู้เข้าใจผิดในหลายประเด็น เช่น เรื่องโครงสร้างกระทรวงการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ที่ถูกมองว่าล่าช้า แท้จริงแล้วไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด แต่จะนำทั้งสองโครงสร้าง คือ โครงสร้างของที่ สปศ. ร่างขึ้น และโครงสร้างของ ศธ. มาหลอมรวมกัน ส่วนเรื่องโครงสร้างการบริหารเป็นเพียงส่วนเสริมให้เกิดการปฏิรูป จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า จากการหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งมีแนวคิดกระตุ้นการปฏิรูปในส่วนของการเรียนรู้ โดยมอบให้สนง. คณะกรรมการข้าราชการครู (กค.) ไปศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการให้เงินตอบแทนเป็นโบนัสพิเศษแก่ร.ร. ที่ผ่านการประเมินการปฏิรูปการเรียนรู้ได้ดี อย่างไรก็ตามเงินดังกล่าวจะเป็นเงินเพิ่มนอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เพื่อเป็นแรงจูงใจ และไม่เกี่ยวกับแท่งเงินเดือนใหม่แต่อย่างไร
(สยามรัฐ พุธที่ 31 ตุลาคม 2544 หน้า 20)
สปศ. ไม่หวั่นสุวิทย์ล้มกระดาน
นายจำลอง ครุฑขุนทด รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยการปฏิรูปการศึกษาใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะมีการประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ โดยนายกได้ขอดูรายละเอียดร่างหลักสูตรฯอีกครั้งว่ากรมวิชาการได้ปรับแก้ในส่วนนายกฯ ได้เพิ่มเติมหรือไม่ และนัดให้กรมวิชาการ ไปชี้แจงในวันที่ 1 พ.ย.นี้ 2. การร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่จะมีร่างกฎหมายสู่การประชุมสภาฯในสมัย นอกจากนี้นายปองพล จะเร่งรัดกฏหมายที่ศธ. ได้ส่งให้ครม. ไปแล้วแต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระในการประชุม ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ ร่างพ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ร่างพ.ร.บ.การศึกษาเอกชน อยู่ระหว่างการส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณา ส่วนกรณีที่นายสุวิทย์ เรียกผู้บริหารระดับสูงของศธ. ไปปรับโครงสร้างของสปศ. นั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะ ศธ. ได้แถลงไปแล้วว่าเห็นด้วยกับที่ สปศ. เสนอถึง 90 % ส่วนนายปรัชญา เวสสารัชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สปศ. กล่าวว่า ทราบว่านายสุวิทย์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดระบบแท่งเงินเดือนของ สปศ. นัก แต่คงไม่ถึงกับล้มกระดานใหญ่ อย่างร่างกฏหมายแต่อย่างใด
(สยามรัฐ พุธ ที่ 31 ตุลาคม 2544 หน้า 20)
ชี้เลื่อนปฏิรูปไม่กระทบออกนอกระบบ
รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจะมีการเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ว่าไม่ว่าจะมีการเลื่อนหรือไม่ก็ตาม ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยรัฐแต่อย่างใด เนื่องจากการออกนอกระบบ จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความอิสระคล่องตัวในการบริหาร ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จะมี พ.ร.บ. เป็นของตัวเอง โดยมีทบวงฯ เป็นผู้ประสานงาน และเมื่อมีการปรับโครงสร้างรวมกระทรวงศึกษาธิการและทบวงฯ เข้าด้วยกัน มหาวิทยาลัยก็จะขึ้นตรงกับคณะกรรมการอุดมศึกษา รศ.ดร. สุมณฑา กล่าวอีกว่า ในส่วนการจัดสรรงบประมาณ ขณะนี้ ทปอ. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดในการคิดค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งอนาคตไม่ว่ามหาวิทยาลัย หรือสถาบันราชภัฎ ราชมงคล ก็จะใช้เกณฑ์การจัดสรรเดียวกัน โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่รัฐสามารถพิจารณาจัดสรรเพิ่มให้แต่ละมหาวิทยาลัยตามแต่ความจำเป็นเนื่องจากแต่ละสถาบันจะมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เงินเดือนสูงต่ำไม่เท่ากัน จึงเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 8)
มศว. ขึ้นป้ายเขตปลอดบุหรี่สั่งเดินหน้าทำความเข้าใจ
มศว. เตรียมขึ้นป้ายประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยให้ฝ่ายกิจการนักศึกษาทำความเข้าใจและรณรงค์การเลิกบุหรี่ รศ.ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวถึงโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ตามแนวคิดของนายสุธรรม แสงประทุม รมต.ทบวงมหาวิทยาลัย ว่า มศว.เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ เป็นนโยบายที่มีความสำคัญแค่ระดับกลางเท่านั้น ควรมีมาตรการให้นักศึกษาเลิกสูบถาวร และงดกิจกรรมนำไปสู่การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ด้วย
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 8)
สุวิทย์ จี้ทุกกรมแจงความคืบหน้าปฏิรูปกศ.
สุวิทย์ เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาเต็มที่ ทำแผนชี้แจงผลงานและความคืบหน้าต่อสาธารณชน กฎหมายปฏิรูปการศึกษา 3 ฉบับจะเข้าสภาทันภายในเดือน พ.ย. นี้ ที่ประชุมได้กำหนดแผนงานการปฏิรูปการศึกษาไว้ทั้งหมด 9 แผนด้วยกัน คือ 1. การปฏิรูปการเรียนรู้ 2. การประกันคุณภาพการศึกษา 3. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4. การปฏิรูปครูและบุคคลากรทางการศึกษา 5. การปฏิรูประบบการจัดการงบประมาณ 6. การปฏิรูปสื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา 7. การปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายและการนำร่องเขตพื้นที่การศึกษา 8. การบูรณาการการศึกษา ศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม และ 9. การส่งเสริมศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม 2544 หน้า 8)
ทบวงนำกองทุนมหาวิทยาลัยเข้า ก.คลังตามระเบียบใหม่
ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยเมื่อ 30 ตุลาคม ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงเงินกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2517 ในวงเงิน 4 ล้านบาทซึ่งจนถึงขณะนี้มีเงินเหลือในกองทุนประมาณ 6 ล้านบาท และที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำเงินดังกล่าวไปเก็บไว้กับกระทรวงการคลัง ตามที่มีการขอมา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบราชการใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัยจะยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการในปีหน้า เพราะฉะนั้นกองทุนดังกล่าวจึงเหมือนเป็นมรดกที่ต้องแบ่งจ่ายจึงกำหนดจัดสรรให้เป็นเงินกองทุน 2 ประเภท คือ 1. เงินกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้พิการและด้อยโอกาส ซึ่งชื่อกองทุนแต่ละสถาบันจะเป็นชื่ออดีตรัฐมนตรีอาวุโส 2. เงินรางวัลสำหรับนักศึกษาดีเด่นพร้อมโล่รางวัลในนามรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 31 ตุลาคม 2544 หน้า 8)
องค์กรเครือข่ายฯรุกคืบฝ่ายการเมือง
หลังจากมีกระแสวิพากษ์ว่ารัฐบาล โดยเฉพาะนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการยื้อการปฏิรูปการศึกษาออกไปนั้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าวยืนยันว่า นายสุวิทย์ มีความตั้งใจและพยายามทำเต็มความสามารถ จึงน่าจะให้เวลาพิสูจน์ผลงาน นางสิริกร กล่าวว่า กฎหมายมี 9 หมวด ทำไปแล้ว 3 หมวด คือ หมวด 4 ว่าด้วยแนวทางการจัดการศึกษาและจัดสรรหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หมวด 5 การบริหารจัดการศึกษา ได้เตรียมความพร้อมในการรับโอนอำนาจการบริหารการศึกษาให้แก่สถานศึกษาแล้ว โดยได้นำร่องที่ จ.เชียงใหม่ และหมวด 6 เรื่องมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ได้เพิ่มตัวชี้วัดมาตรฐานเรื่องการป้องกันยาเสพติดเข้าไปด้วย นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ที่ปรึกษานางสิริกร เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมเปรียบเทียบร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาเห็นด้วยว่าควรเพิ่มอาชีวศึกษามาเป็นอีกแท่งหนึ่งต่างหาก นอกจากนี้เห็นว่าควรมีการยกร่างกฎหมายให้คุรุสภาทำหน้าที่เป็นทั้งสภาวิชาชีพและสมาคมวิชาชีพตามความต้องการของคุรุสภา เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้ ครม. ตัดสินใจด้วย
(มติชน อังคารที่30 ตุลาคม 2544 หน้า10)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
นายกฯทุ่มงบพัฒนาเรือเหาะใช้งานเกษตร
ผลงานวิจัยและพัฒนาเรือเหาะอาภากร ของ รศ.ดร. ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอากาศยาน ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการและคณะได้เสร็จสมบูรณ์ และผ่านการทดลองใช้งานหลายครั้งแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนให้มีการทำวิจัยต่อ เพื่อพัฒนาใช้งานด้านการเกษตร เช่น การสำรวจพื้นที่เกษตรกรรม การชี้จุดการเกิดไฟป่า เป็นต้น เรือเหาะดังกล่าวนอกจากจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ ลงมายังภาคพื้นดินได้แล้ว ยังประยุกต์ใช้งานร่วมกับระบบ จีพีเอส และกล้องอินฟาเรด ซึ่งทำให้ทราบตำแหน่งของเรือเหาะได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องเฝ้าดูและใช้สังเกตการณ์ตอนกลางคืนได้ด้วย
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2544 หน้า 16)
ฤกษ์ดี อินเตอร์เน็ตตำบล ปทุมฯเปิดนำร่องแห่งแรก
นายภุชงค์ รุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้เปิดนำร่อง อินเตอร์เน็ตตำบล แห่งแรกของประเทศไทยที่ ตำบลบางกระดี่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี การเปิดโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตตำบลในครั้งนี้จะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย 100 ตำบลนำร่อง จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 แห่ง ในปี 2545 และจะติดตั้งเพิ่มเติมจนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มชุมชนสามารถนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้านทางระบบสารสนเทศได้ และสร้างเครือข่ายข้อมูลระดับตำบล เป็นการนำเสนอสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมการขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และในอนาคตสามารถพัฒนาไปถึงระดับ อีคอมเมิร์ช
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2544 หน้า 32)
ชมฟาร์มสาหร่ายเกลียวทอง
คุณสมชาย บุญสม เจ้าของฟาร์มสาหร่ายเกลียวทอง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจ้าของสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทยที่ดีที่สุดจากภูมิปัญญาไทย เป็นอาหารเสริมที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง จากผลการวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WTO) ยืนยันว่า ไม่มีพืชชนิดใดจะมีความหลากหลายให้คุณค่าทางโภชนาการเท่ากับสาหร่ายเกลียวทอง และจากการประชุมเรื่องอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติ เมื่อ 2517 ได้ประกาศให้สาหร่ายเกลียวทอง เป็นอาหารที่ดีที่สุด สำหรับอนาคตผู้สนใจต้องการทราบเรื่องการผลิตสาหร่ายเกลียวทอง ติดต่อได้ที่เจ้าของ โทร. 053-363603
(เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2544 หน้า 27)
โครนส่งระบบสื่อสารไร้สาย อินฟราเรด เจาะตลาดไทย
นายอีริค แบร์เร่น ผู้อำนวยการบริษัท โครนเทคนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าขณะนี้บริษัทนำเทคโนโลยีใหม่ ด้านระบบการสื่อสารไร้สายด้วยแสง (ไวร์เลส ออปติคัล) ความเร็วสูงเข้ามารุกตลาดในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากเห็นช่องทางของตลาดสื่อสารไร้สายที่กำลังเติบโตโดยเฉพาะการลงทุนติดตั้งระบบทั้งของผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ ที่ต้องเร่งแข่งขันกับผู้ให้บริการด้านเครือข่ายความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นสื่อกลาง (Physical Medium) ในการสื่อสารข้อมูลโดยใช้แสงอินฟราเรดในอากาศแบบสื่อสารสองทาง (ฟูล ดูเพล็กซ์) สนับสนุนการส่งและรับได้ในเวลาเดียวกัน รวมถึงรองรับการส่งข้อมูลตั้งแต่ อีเธอร์เน็ต จนถึงกิกะบิต อีเธอร์เน็ต ภายในรัศมี 8 กิโลเมตร จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ จะใช้แสงอินฟราเรดที่มีอยู่ในธรรมชาติทำให้ไม่ต้องขอใบอนุญาตการใช้งาน (ไลเซ่น) และไม่มีข้อจำกัดด้านความถี่ในการส่งข้อมูล รวมทั้งสนับสนุนด้านระบบความปลอดภัย เนื่องจากไม่มีเทคนิคใดที่สามารถถอดรหัสข้อมูลจากแสงอินฟราเรดได้
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 6)
พป. ดิ้นอ้อนทักษิณดันสร้างศูนย์นิวเคลียร์ต่อ
นายปฐม แหยมเกตุ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำหนังสือมาถามถึงความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการวิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ กับ พป. เมื่อปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมาเพราะโครงการได้หมดสัญญาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่ง พป. ได้ตอบยืนยันไปที่ ครม. ว่าโครงการดังกล่าวยังมีความเหมาะสมที่ประเทศควรจะต้องผลักดันต่อไป เพราะจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 21)
เปิดโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต ตั้งเป้าปีแรกสมาชิกหมื่นเดียว
ดร.ดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไอพีทีวี หรือ Internet Protocol TV โดยผนวกศักยภาพของบริษัทแม่คือชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ในการเป็นผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม ซี.เอส.คอมมิวนิเคชั่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและชินบอร์ดแบนด์ เป็นผู้ผลิตรูปแบบรายการและเนื้อหาบริการ โดยผู้ชมที่เป็นสมาชิกสามารถรับชมรายการ 6 ประเภทคือ ไอพีฟรีทีวี รับชมรายการโทรทัศน์ฟรีทีวีทุกช่องจากคอมพิวเตอร์, ไอพี เลิร์นนิ่ง บริการให้สถาบันการศึกษาและบุคลากรใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนทางไกล, ไอพี เทรนนิ่ง กลุ่มรายการเสริมทักษะผู้ชมด้วยหลักสูตรพัฒนาบุคลากร, ไอพี เพย์ วิว บริการฉายภาพยนตร์ที่เพิ่งออกจากโรง ก่อนที่จะมีการผลิตเป็นวีดิโอ ไอพี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กลุ่มรายการเพื่อความบันเทิง และ ไอพี สปอร์ต รายการกีฬาลิขสิทธิ์จากต่างประเทศโดยบริการทั้งหมดจะรับชมผ่านทางเว็บไซต์ ที่ www.ip-tv.tv สำหรับรูปแบบของบริการผู้ชมต้องสมัครเป็นสมาชิกและติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณโดยมีค่าแรกเข้า 6,000 บาท แบ่งบริการเป็น 3 ระดับ คิดค่าบริการขึ้นอยู่กับเนื้อหารายการที่ต้องการใช้บริการโดยมีอัตราค่าเข้าชมอยู่ระหว่าง 1,200-9,000 บาทต่อเดือน โดยระบบจะสามารถรับส่งข้อมูลได้ไม่ต่ำกว่า 256 กิโลบิตต์ต่อวินาที จนถึงสูงสุด 15 กิกกะบิตต์ มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือองค์กรธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการใช้อินเตอร์เน็ต และต้องการสื่อเสริมรวมถึงนักเรียนนักศึกษา โดยบริษัทตั้งเป้าผู้เข้าใช้บริการในปีแรกไว้ 10,000 ราย
(ไทยรัฐ ศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)
เทคโนโลยีชีวภาพขนาดจิ๋ว (Nanobiotechnology)
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ นักวิชาการ ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้กล่าวถึง Nanobiotechnology หรือเทคโนโลยีชีวภาพขนาดจิ๋ว ซึ่งอาศัยความรู้ขั้นสูงของชีวเคมีร่วมกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการควบคุม ดัดแปลง หรือสร้างชีวโมเลกุลขึ้นมา โดยอาศัยหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว (ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 ในพันล้านส่วนของ 1 เมตร) เป็นผู้ปฏิบัติงาน ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประกอบอะตอมให้เป็นโครงสร้างโมเลกุลให้เกิดเป็นโมเลกุลใหม่ ๆ ประโยชน์ที่ได้มีมากมหาศาล ในทางการแพทย์สร้างผิวหนัง, สร้างอวัยวะเทียม, ซ่อมยีน ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาว นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอีก 15-20 ปี คงจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2544 หน้า 28)
แขนกล 2001 เครื่องประดิษฐ์แทนคนฉีดพ่นสารเคมี
คุณสุเทพ ยี่สุ่นแก้ว เกษตรกร จังหวัดพิจิตร ได้นำที่ปัดน้ำฝนรถยนต์มาพัฒนาเป็นเครื่องประดิษฐ์ แขนกล 2001 ใช้ฉีดพ่นสารเคมีในต้นไม้แทนแรงงานคนที่มีประสิทธิภาพ และมีราคาไม่แพง ผู้สนใจติดต่อได้ที่ 57/1 หมู่9 บ้านใหม่เนินสวรรค์ ต.หนองปลาไหล อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร
(เดลินิวส์ จันทร์ ที่29 ตุลาคม 2544 หน้า 27)
ข่าววิจัย/พัฒนา
นักวิจัย มจธ. ผลิตเครื่องคัดข้าวโพดอ่อน
นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประสบความสำเร็จสร้างเครื่องคัดขนาดข้าวโพดฝักอ่อน หนุนภาคการผลิต ด้วยอัตราการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อข้าวโพดอ่อน 1,000 กิโลกรัม นายนิธิ บุรณจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มจธ. ผู้พัฒนาเครื่องคัดขนาดข้าวโพดฝักอ่อนกล่าวว่า ผลงานนี้เป็นการพัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีซ่อมบำรุงรักษา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และความร่วมมือจากบริษัท อะโกร-ออน จำกัด ใช้ระยะเวลาดำเนินงานราว 1 ปี จึงสร้างเครื่องต้นแบบสำเร็จ ด้วยเงินทุนราว 1 แสนบาท นอกจากนั้นเครื่องมือนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้คัดขนาดสินค้าเกษตรประเภทอื่นที่มีรูปร่างคล้ายข้าวโพด เช่น กระเจี๊ยบ พริก เป็นต้น โดยปัจจุบันมีผู้สนใจให้นำเครื่องนี้ไปใช้กับการคัดขนาดและสีผิวของส้มเขียวหวานด้วย ซึ่งคงต้องมีการดัดแปลง ดีไซน์รูปร่างของสายพานใหม่ให้เหมาะสมกับรูปร่างและลักษณะของผลส้ม
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม 2544 หน้าพิเศษ 7)
ผลการวิจัย ม.เกษตร ระบุ มันสำปะหลัง เหมาะสำหรับผลิต เอทานอล มากที่สุด
ศ.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พเชษฐ์ รองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวผลงานวิจัยว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่เหมาะที่สุดที่จะนำมาผลิต เอทานอล เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินได้บางส่วน และยังช่วยแก้ปัญหาราคาหัวมันสดตกต่ำ จากการคำนวณพบว่า มันเส้นราคา 2,500บาท/ตัน จะผลิตเอทานอล ได้ในราคาต้นทุนการผลิต 11.50 บาท/ลิตร
(เดลินิวส์ จันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2544 หน้า 27)
การผลิตสารดีไฟน์ซิลิกาจากแกลบในขนาดขยายส่วน
นายสมศักดิ์ ดำรงเลิศ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะผู้วิจัยสามารถเตรียมสารดีไฟน์ซิลิกาได้ความบริสุทธิ 99.5 % จากการเผาแกลบที่ใช้เตาเผาแบบต่อเนื่องมีสายพานลำเลียง สารดีไฟน์ซิลิกาใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมเซรามิก ไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มคุณค่าแกลบ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2544 หน้า 28)
การศึกษายางรองคอสะพาน
ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้พัฒนายางรองคอสะพานต่อแรงกดดันสูงและสามารถทดแทนการใช้แผ่นยางมะตอย หรือท่อนเหล็ก โดยการใช้ยางรองคอสะพาน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมในการควบคุมการรองรับน้ำหนักการกระแทก การบิดตัว และการหดตัวของสะพาน
(เดลินิวส์ เสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2544 หน้า 28)
กห. โชว์เครื่องเตือนภัย-กระสุนยางฝีมือไทย
สำนักวิจัยกลาโหม ร่วมกับ สกว.และเอกชน โชว์ผลงานประดิษฐ์ เครื่องแจ้งเตือนภัย กระสุนยาง อุปกรณ์อเนกประสงค์ฝีมือคนไทย เพื่อป้องกันประเทศ มท.สนใจระบบเตือนภัย ขณะต่างประเทศสนใจกระสุนยางติดต่อให้ไปแสดงและสาธิต สำนักวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม (สวพ.กห.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัท พรีซิพาร์ท จำกัด ได้ร่วมสาธิตผลงานประดิษฐ์คิดค้น ตามโครงการกระสุนยางและอุปกรณ์อเนกประสงค์ เพื่อป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันชีวิต ที่กองพันทหารม้าที่ 2 จุดประสงค์ของการวิจัยนี้ คือ ต้องการพัฒนากระสุนยางสำหรับฝึกซ้อมทดแทนกระสุนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทีมวิจัยสามารถพัฒนากระสุนยางที่ใช้แทนกระสุนซ้อมรบนำเข้าได้มากกว่า 10 ประเภท อาทิ ปืนเอ็ม 16 RPG ปืนครก ปืนประจำรถถัง ปืนต่อสู้อากาศยาน ที่สำคัญราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ เช่นกระสุนเอ็ม 16 ของต่างประเทศราคานัดละกว่า 10 บาท กระสุนยางที่พัฒนาขึ้นมาราคานัดละไม่ถึง 2 บาท หรือกระสุนปืนขนาด 60 มิลลิเมตร ของไทยราคาเพียง 70 บาท ขณะที่กระสุนจริงมีราคานัดละ 11,000 บาท
(กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ ที่26 ตุลาคม 2544 หน้า 10)
โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
ทบวงมหาวิทยาลัย โดย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี บริษัทไทยคอมมอดิตี้ บริษัทเกเวิร์ชมึนเลอร์ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของดีอีจี จากประเทศเยอรมนี ในโครงการ หุ้นส่วนภาคเอกชน-สาธารณะ ร่วมกันพัฒนาโครงการที่มีชื่อว่า การผลิตและการตลาดของเครื่องเทศอบแห้งที่คงคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีโรงอบพลังงานแสง
อาทิตย์ เพื่อสร้างโรงงานต้นแบบโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วที่บริษัทไทยคอมมอดิตี้ สาขาเพชรบูรณ์ 2 และผ่านการทดสอบระบบการทำงานแล้ว ขณะนี้กำลังใช้อบแห้งผลิตภัณฑ์เครื่องเทศที่อยู่ในความสนใจของตลาดโลกทั้งตะไคร้ พริก กระเจี๊ยบ และขิง รวมถึงพืชหมวดสมุนไพร เมล็ดโกโก้ และกาแฟ ต้นทุนการสร้างโรงอบนี้ใช้วัสดุจากต่างประเทศ ตกราว 7 แสนบาทแต่หากใช้วัสดุในไทย อาจเหลือแค่ 2 แสนบาทเท่านั้น แต่ประโยชน์ที่ได้สุดคุ้ม ที่สำคัญคือยังคงคุณค่าของสารในผลิตภัณฑ์ ปลอดจากสารปนเปื้อนในอากาศ รักษาสีและกลิ่นของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และเก็บได้นาน ทั้งยังเป็นกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก มมส. กำลังวิจัยและสร้าง โรงงานต้นแบบเพื่อการแปรรูปกลีบดอกดาวเรืองให้เป็นผลิตภัณฑ์แซนโธฟิวส์ อีกที่มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากทบวงฯ ประมาณ 4 ล้านบาท คาดว่าต้นปี 2545 นี้ก็จะได้ยลโฉม
(ไทยรัฐ เสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)
ข่าวทั่วไป
ศึกชิงพันธุ์ข้าวหอมมะลิยุติ
นายสมศักดิ์ สิงหลกะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดแถลงข่าวผลการตรวจสอบกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (อีรี่) กรณีนายคริส เดเรน นักวิจัยสหรัฐฯ นำพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไทยไปวิจัยจนทุกฝ่ายหวั่นเกรงจะกระทบข้าวไทยว่า จากการส่งคณะเจ้าหน้าที่ไปหาข้อเท็จจริงยังอีรี่ ได้ข้อมูลแล้วว่า ดร.นีล รัตเกอร์ จากศูนย์วิจัยข้าวเดล บัมเพอร์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ขอรับพันธุ์ข้าวไปจากอีรี่ และยืนยันว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งสองมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ ในการจดสิทธิบัตรทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ใดๆ ที่พัฒนาได้จากข้าวขาวดอกมะลิ 105 และการที่นักวิจัยได้พันธุ์ข้าวไปเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยไม่ต้องขออนุญาตประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของเชื้อพันธุ์นั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ว่าพันธุ์ข้าวที่ฝากไว้ก่อน พ.ศ.2537 หากมีใครมาขอทางอีรี่สามารถมอบให้ได้ทันที โดยไม่ต้องอนุญาตเจ้าของเชื้อพันธุ์เพราะถือว่าเป็นมรดกของมวลมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยนำข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปฝากไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2504 แล้ว นายหิรัญ หิรัญประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ข้อวิตกเรื่องที่สหรัฐฯ จะพัฒนาข้าวเป็นสินค้าแข่งกับไทยนั้นเราไม่ควรวิตก เพราะกรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องมาตลอด ขณะนี้ไทยมีพัธุ์ข่าวมากกว่า 30 พันธุ์ และไม่อยากให้มองแต่ว่าต่างประเทศได้นำข้าวของเราไปพัฒนา เพราะที่ผ่านมาไทยก็นำพันธุ์ข้าวของประเทศต่าง ๆ จากอีรี่มาพัฒนาจนได้ข้าวใหม่ๆ หลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวกข 1 ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1 จากจุดนี้ทำให้ไทยเป็นผู้ค้าข้าวอันดับ 1 ของโลกมากว่า 10 ปี
(ไทยรัฐ เสาร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2544 หน้า 8)
ได้ข้อสรุปใช้ซากเดิมโฮปเวลล์ทำยกระดับดอนเมือง-บางซื่อ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมต.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังจากการประชุมผู้บริหารคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ว่าได้ข้อสรุปใช้ฐานรากเดิมของโฮปเวลล์ สร้างทางรถไฟยกระดับจากดอนเมืองถึงบางซื่อ ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสจร. พิจารณาออกแบบโดยใช้งบกว่าหมื่นล้าน โดยกู้เงินดอกเบี้ยต่ำระยะยาวจากต่างประเทศ และพยายามใช้วัสดุในประเทศให้มากที่สุดการพัฒนาเส้นทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้ โดยผลักดันให้สถานีบางซื่อเป็นสถานีรถไฟกลางแทนหัวลำโพง
(เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม 2544 หน้า 34)
ศิลปินไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลที่ 3 แข่งภาพพิมพ์โลก
อ.ทินกร กาษรสุวรรณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ได้ส่งภาพพิมพ์เข้าประกวดในงาน International Print Triennia Kanagawa 2001 (การแข่งขันภาพพิมพ์โลก) ณ เมืองยูโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นได้รับรางวัลที่ 3 จากจำนวนผลงานทั้งหมด 2,213 คนจาก 85 ประเทศได้รับเงินรางวัล 500,000 เยน
(เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2544 หน้า 26)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|