หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 46 ประจำวันที่ 2001-11-23

ข่าวการศึกษา

ทบวงฯเจรจาได้ข้อยุติการขอเครื่องราชฯม.นอกระบบ
สรุปกระทรวงใหม่เสนอ กมธ.ศึกษา 2 สภา
“กระแส” ลุ้น ก.ม. โครงสร้างเข้าสภาสมัยนี้
ชี้อจ.มหา’ลัยสอนอย่างเดียว/3ปีไม่วิจัยจะตายทางความคิด
ให้ประเมินอ.3 ระดับ 8 ที่เด็ก
“สุวิทย์” ซื้อใจครูให้ใบวิชาชีพถาวร
เผยมีอิทธิพลขวาง โอนศึกษาฯสู่ท้องถิ่น
ทบวงฯเดินหน้าให้ครม.ชี้ขาด ‘ศจ.รามฯ’
มธ.คว้าทุนโลกทำเว็บเพื่อเกษตรไทย
ม.ชุมชน
รับสมัครบัณฑิตประเมินกองทุนหมู่บ้านแล้ว
มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประสาทปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์แก่..ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สมเด็จฮุน เซน


ข่าววิจัย/พัฒนา

ม.รังสิตคิดค้นเครื่องผสมสารเคมี ใช้เสร็จเปลี่ยนใบพัดเป็นเครื่องซักผ้า
Cutless Bearing ของเรือประมงจากยางธรรมชาติ
ตะกั่วผสมกำบังรังสี
‘ไบโอไทยแลนด์ 2001’ ชมสุดยอดเทคโนโลยี
วิจัยข้าวหอมพันธุ์ใหม่ไทยสำเร็จ
ชวน “เกษตรกร” ร่วมปลูกข้าวเจ้าหอมนิล ยันอนาคตสดใสแน่
‘ปลาร้า-แหนม-ต้มยำกุ้ง’ บรรจุแพ็กรอ ‘สมอ.’ ไฟเขียว-คาดสิ้นปีได้ลองชิม

ข่าวทั่วไป

ยอยศยิ่งฟ้าอุทยานมรดกโลก
รางวัลโนเบลเรื่องสารสนเทศ
พัฒนาระบบบัตรทางด่วน ใช้ได้ทุกด่าน-ทันสมัยขึ้น
พร้อมรับมือปิดถนนสีลม เตรียมปิดถนนข้าวสารต่อ
ฉ้อราษฎร์บังหลวง ตัวถ่วงวงการหนังสือไทย
ซุ่นฮั่วเส็งเปิดตัว “ข้าวเจ้าหอมนิล” ข้าวกล้องสายพันธุ์ใหม่กินไม่อ้วน
เผยอนาคต “เพศชาย” หมดความสำคัญ
เภสัชมหิดลเตือน “การบูร” สูดดมมากทำลายเยื่อจมูก
พม่าจับช้างเผือกเชื่อคู๋บ้านคู่เมือง
รพ.รามาเปิดยาตัวใหม่กินแล้วอารมณ์ดี
ระวังเขตจตุจักรพบวัตถุอันตรายเพียบ
รณรงค์หลับเร็ว
ผักขมลูกบลูเบอรี่บำรุงสมอง ทำให้หนูมีความจำแจ่มใส





ข่าวการศึกษา


ทบวงฯเจรจาได้ข้อยุติการขอเครื่องราชฯม.นอกระบบ

รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ว่าที่ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) คนใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะ ได้เข้าชี้แจงต่อ ดร.วิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับ พนักงานของมหาวิทยาลัยนอกระบบ ได้ข้อยุติว่า 1. ข้าราชการเดิมหากประสงค์ที่จะออกนอกระบบจะยังคงสิทธิประโยชน์ในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้เหมือนการเป็นข้าราชการทุกประการ 2. พนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่เคยเป็นข้าราชการมาก่อนก็มีสิทธิเช่นเดียวกัน รายละเอียดต่างๆ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ทบวงฯ ร่วมกับ ทปอ. และ ที่ประชุมข้าราชการมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) ไปยกร่างรายละเอียดตามข้อตกลงเพื่อนำกลับมาเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาฯ ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีกครั้ง (เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544 หน้า 12)





สรุปกระทรวงใหม่เสนอ กมธ.ศึกษา 2 สภา

นายจรูญ ชูลาภ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการบริหารราชการในกระทรวงศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา วันที่ 15 พ.ย.นี้ดังนี้ โครงสร้างหลักประกอบด้วย คณะกรรมการสภาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการศึกษาอาชีวศึกษา คณะกรรมการอุดมศึกษา คณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม และสำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งจะรวมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน ส่วนความคืบหน้าในการร่างกฎหมายการปฏิรูปการศึกษาเข้าสู่สภานั้น ศธ.ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เร่งพิจารณาร่างกฎหมายที่ ศธ. ได้ส่งไปเพื่อนำเข้า ครม.ในวันอังคารที่ 20 พ.ย.นี้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่าง พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ร่าง พ.ร.บ. สถานศึกษาเอกชน และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเป็นร่างที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว หากเราสามารถนำเข้า ครม. อีกรอบได้ในสัปดาห์หน้า ก็จะเป็นร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษาฉบับแรกที่เข้าสู่สภาได้ (ไทยรัฐ พุธที่ 14 พฤศจิกายน 2544 หน้า15)





“กระแส” ลุ้น ก.ม. โครงสร้างเข้าสภาสมัยนี้

นพ. กระแส ชนะวงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงกระแสสังคมที่มองว่า รัฐบาลถ่วงการปฏิรูปการศึกษาว่า ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จึงต้องศึกษาข้อเสนอที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) ทำไว้ การจะนำกฎหมายเข้าสภาก็ต้องทำการบ้าน ซึ่งตนต้องการให้รัฐบาลเสนอกฎหมายเข้าสภาในสมัยประชุมนี้สักฉบับ เพื่อเรียกเสียงนิยมจากประชาชนกลับมา หากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างกระทรวงใหมก็ยิ่งดีเพราะทราบว่าทุกคนรอคอยกันอยู่ สำหรับแนวคิดในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสำหรับครูเก่านั้น น่าจะมีการประเมินก่อน ส่วนกรณีที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) จะแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากขัดแย้งกับ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ศ.ดร ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานคณะกรรมการการบริหาร สปศ. กล่าวว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้ขัดแย้งกัน โดย พ.ร.บ. การศึกษาเน้นการกระจายอำนาจ 4 ด้าน ส่วน พ.ร.บ. กระจายอำนาจ กำหนดให้กระจายอำนาจกิจกรรมของรัฐส่วนกลางให้ท้องถิ่นแทน ซึ่งรวมถึงงานการศึกษาด้วย หากจะแก้กฎหมายถือว่า นายสุวิทย์ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภาว่าเห็นด้วย และจะปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ (ไทยรัฐ เสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





ชี้อจ.มหา’ลัยสอนอย่างเดียว/3ปีไม่วิจัยจะตายทางความคิด

นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง “การวิจัยกับการพัฒนาประเทศ” ต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า แต่ละปีมหาวิทยาลัยมีงานวิจัยนับหมื่นชิ้น แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และสื่อไม่ได้ความสำคัญในการเผยแพร่ นายเจตนา นาควัชระ กรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) กล่าวว่า ขณะนี้การทำวิจัยเน้นการเขียนโครงการเพื่อของบประมาณและตำแหน่ง ซึ่งมักเขียนไปตามความสนใจส่วนบุคคล นอกจากนี้ระบบในมหาวิทยาลัยไม่มีการถ่ายทอดวิชาเข้าสู่ระบบแล้วสอนอย่างเดียวโดยไม่ทำวิจัย จะตายทางความคิดภายใน 3 ปี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่หัวหน้าภาคจนถึงอธิการบดีไม่มีภาวะผู้นำทางวิชาการ มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องสร้างภาวะผู้นำเพื่อให้เกิดมุมมองในการสร้างประชาคมทางวิชาการ นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพราะต้องออกนอกระบบ จึงต้องหารายได้จากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน (มติชน เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





ให้ประเมินอ.3 ระดับ 8 ที่เด็ก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า เรื่องการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เห็นว่าครูประจำการที่ทำการสอนในปัจจุบันควรได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้เลย เพราะถือว่าผ่านกระบวนการคัดเลือกและมีประสบการณ์สอนอยู่แล้วแต่ต้องไม่มองข้ามเรื่องของการฝึกอบรม ซึ่งครูทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การประเมินการสอนของครู โดยดูจากผลลัพธ์คือ คุณภาพของเด็กที่จะมีการจัดสอบระดับชาติทุกปี ซึ่งจะมีความชัดเจนมากกว่า ส่วนการทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอเป็นอาจารย์ 3 ระดับ 8 นั้น จะให้ส่งผลงานได้ถึงวันที่ 20 ส.ค. 2545 หลังจากนั้นจะยกเลิกเรื่องการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นเอกสารทั้งหมด โดยใช้การประเมินผลสัมฤทธิ์ของเด็กแทน (สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





“สุวิทย์” ซื้อใจครูให้ใบวิชาชีพถาวร

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ประกาศใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะผู้บริหารและครูโรงเรียนนำร่อง 1,000 กว่าโรง ซึ่งจะมีผู้บริหาร ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ และครู ประมาณ 28,000 คน ที่ต้องเข้ารับการเตรียมความพร้อมทั้งด้านสาระของหลักสูตร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตนได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.) และกรมที่มีสถานศึกษาไปพิจารณาวางแผนจัดอบรมร่วมกัน โดยไม่ได้กระทบต่อการเรียนการสอนของเด็ก ที่สำคัญการอบรมต้องเป็นสาระและกระบวนการมากกว่าเน้นไปที่รายงานที่เป็นกระดาษ และเมื่อนำไปใช้ก็จะต้องมีการประเมินครูอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันแรกที่ใช้หลักสูตรใหม่ รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยเห็นว่าครูประจำการที่ทำการสอนอยู่ในปัจจุบันควรได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเลย ส่วนครูใหม่ก็ให้เข้าสู่กระบวนการออกแบประกอบวิชาชีพตามที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) กำหนด (ไทยรัฐ พฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





เผยมีอิทธิพลขวาง โอนศึกษาฯสู่ท้องถิ่น

นางจรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โดยภาพรวมของการกระจายอำนาจนั้นยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้นำเก่า และผู้นำใหม่ และการมีส่วนร่วมสู่ท้องถิ่นของประชาชนกับ อบต. ยังมีน้อย ส่วนด้านการตรวจสอบทำได้ไม่เต็มที่ เพราะอิทธิพลขัดขวาง และการถ่ายโอนงบประมาณจากส่วนราชการต่างๆ ยังมีติดขัดในระเบียบที่ไม่คล่องตัว นางจรวยพร กล่าวต่อว่า ควรมีการวางเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมท้องถิ่นที่สามารถยืดหยุ่นได้ โดยไม่กระทบถึงสิทธิของข้าราชการครู กระทรวงมหาดไทยก็ควรมีบทบาทในการร่วมประสานความพร้อมของฝ่ายที่รับโอน ส่วนองค์กรครูก็ต้องเข้าใจและสนับสนุนบทบาทของครูที่ถ่ายโอนไปช่วยงานการศึกษาของท้องถิ่น (สยามรัฐ อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)





ทบวงฯเดินหน้าให้ครม.ชี้ขาด ‘ศจ.รามฯ’

ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา วินิจฉัยว่า การใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศจ.) ประจำการของ นายรังสรรค์ แสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) และคณาจารย์อื่นๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เมื่อความเห็น 2 หน่วยงาน ขัดกัน มร.ก็ต้องใช้กลไกของผู้มีอำนาจตัดสิน ถ้ามร. ไม่ปฏิบัติตามก็ต้องเสนอเข้า ครม. การแต่งตั้ง ศจ. ต้องได้รับการยอมรับโดยระบบรวมส่วนหนึ่ง ชุมชนส่วนหนึ่ง สังคมส่วนหนึ่ง มร. อยากตั้งศาสตราจารย์เองก็อาจเป็นเรื่องถูก แต่เมื่อมีผู้ฟ้องร้องก็ต้องว่ากันไปตามระบบ ที่อธิการบดี มร. จะฟ้องทบวงฯ นั้น ตนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล เป็นเรื่องความถูกต้องของระบบ ทบวงฯ เป็นแค่ตัวกลาง และไม่เคยคิดจะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล น.พ.พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า ที่ นายรังสรรค์ พาดพิงถึงการแต่งตั้ง ศ.คลินิกของ มม. ว่าเหมือนกับการตั้ง ศจ. ของ มร. นั้น ยืนยันว่าไม่เหมือนกัน และนำมาเทียบกันไม่ได้ เพราะ ศ.คลินิก แยกจาก ศจ. ตามระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) ที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขณะนี้ มม. มีอยู่ 120 คน โดยผู้ได้รับแต่งตั้งจะต้องใช้คำว่า “ศ.คลินิก” นำหน้าชื่อ จะใช้ ศจ. อย่างเดียวไม่ได้ (มติชน อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 15)





มธ.คว้าทุนโลกทำเว็บเพื่อเกษตรไทย

นายสุนิตย์ เชษฐา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมจัดตั้งโครงการ “ไทยรูเริลเน็ท” www.thairural.net.org กล่าวว่า โครงการซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 โครงการที่ได้รับรางวัลจากเวิลด์แบงก์ ในงานวันนวัตกรรมไทยนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลของเกษตรกรไทย โครงการนี้ไม่ใช่การสร้างระบบ หรือข้อมูลที่เขาต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของราคาสินค้าเกษตร เทคโนโลยีในการผลิต, ข้อมูลการตลาด เป็นต้น ขณะเดียวกันการออกแบบเว็บไซต์นั้น จะสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรกรสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยน หรือปรับเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ตามความต้องการด้วย ปัจจุบันเริ่มความร่วมมือกับกลุ่มยุวเกษตรกรในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังกลุ่มยุวเกษตรกรตามแผนงานนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ และราชบุรี ส่วนของการดำเนินโครงการนั้นจะติดตั้งคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในเข้าถึงข้อมูล ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนเครื่องแม่ข่ายจากบริษัท คอมแพค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) จำนวน 25 เครื่องจากโครงการเวิลด์คอมพิวเตอร์ เอ็กซเชนจ์ ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 6)





ม.ชุมชน

กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน มีมหาวิทยาลัยชุมชนแห่งใหม่ มีชื่อว่า “มหาวิทยาลัยซินยี่” เป็นมหาวิทยาลัยชุมชนล่าสุดอีกแห่งหนึ่ง ที่คาดว่าจะทำให้จำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชุมชนหลายแห่งรวมกันแล้วจะสูงขึ้นเป็นหมื่นคน มหาวิทยาลัยชุมชนเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดทางให้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน คนที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือตอนเป็นเด็ก แต่เกิดอยากเรียนหนังสือขึ้นตอนแก่ โดยมีอาจารย์ที่เกษียณอายุเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่สอน นักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนไม่กำหนดวุฒิการศึกษา ไม่ต้องสอบเข้า แต่กำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (มติชน จันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





รับสมัครบัณฑิตประเมินกองทุนหมู่บ้านแล้ว

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ร.ต.อ. วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทบวงฯ และมหาวิทยาลัยเห็นชอบให้เสนอโครงการติดตามและประเมินผลโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งร่วมกับสถาบันราชภัฏ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วมมือกัน เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การประเมินภาพรวมผลต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแต่ละตำบล และภาพรวมทั้งประเทศ ทบวงฯ จะระดมผู้ชำนาญด้านเศรษฐกิจ ชุมชน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้ามาเชื่อมโยงโครงการดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยและพัฒนา ถือเป็นมิติใหม่ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งและสถาบันราชภัฏจะร่วมกันทำเพื่อเอื้อต่อชุมชนโดยตรง ทั้งนี้จะจ้างบัณฑิตระดับปริญญาตรีและโทที่มีความรู้ด้านการประเมินผลตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมอบให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกผู้ประเมินทั้ง 7,200 ตำบล ส่วนทุนที่จะให้ต่อบัณฑิตนั้น แต่ละคนจะได้รับ 6,360 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 10 เดือน โดยผู้สมัครจะจบปีใดก็ได้แต่ต้องเป็นคนในหมู่บ้านนั้นๆ หรือหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้ต้องการเข้าร่วมแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่บัดนี้ที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ทำเนียบรัฐบาล หรือที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านนั้นๆ หรือที่สถาบันราชภัฏทั้ง 41 แห่ง ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการแล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นจะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมต่อไป (มติชน อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประสาทปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์แก่..ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สมเด็จฮุน เซน

มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประสาทปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ แก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สมเด็จฮุน เซน เป็นรัฐบุรุษ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ เสียสละ และอุทิศตนเพื่อพัฒนาราชอาณาจักรกัมพูชาให้มีเสถียรภาพ และมั่นคงเจริญรุ่งเรือง สภามร. มีมติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติปริญญาปรัชญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติ (สยามรัฐ พฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 20)






ข่าววิจัย/พัฒนา


ม.รังสิตคิดค้นเครื่องผสมสารเคมี ใช้เสร็จเปลี่ยนใบพัดเป็นเครื่องซักผ้า

นายธวัชชัย จินดา นศ.ปีที่ 1 สาขาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และเพื่อนๆ คิดค้น “เครื่องผสมสารเคมีทางการเกษตร” หรือ Mixture ซึ่งเป็นเครื่องผสมสารเคมีแทนแรงคน สามารถลดการเกิดอันตรายจากสารเคมี และสารเคมีไม่ตกตะกอน ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งนอกจากนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องซักผ้าโดยการเปลี่ยนใบพัด หรือจะใช้ผสมปุ๋ยชนิดน้ำ และชนิดเม็ดได้ (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 23)





Cutless Bearing ของเรือประมงจากยางธรรมชาติ

นายบุญธรรม นิธิอุทัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ทำการศึกษาวิจัยการผลิต Cutless Bearing จากยางธรรมชาติ เพื่อใช้แทนแบริ่งที่ทำจากไม้มะขาม ผลการวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการเรือประมงที่ใช้ Cutless Bearing ลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบริ่ง และมีอายุการใช้งานได้นานกว่า (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 28)





ตะกั่วผสมกำบังรังสี

นายนรา จิรภัทรพิมล ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยวัสดุกำบังรังสี พบว่า วัสดุกำบังรังสีที่เหมาะสมควรเป็นวัสดุที่มีตะกั่วเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากสามารถกำบังรังสีแกมมา และรังสีนิวตรอน มีน้ำหนักเบาและสะดวกในการใช้งาน (เดลินิวส์ เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 25)





‘ไบโอไทยแลนด์ 2001’ ชมสุดยอดเทคโนโลยี

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน ไบโอเทค จัดงาน ไบโอไทยแลนด์ 2001 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ งานนี้เป็นมหกรรมทางด้านวิชาการ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย ผลงานที่ถือว่าโดดเด่นและเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของการพัฒนาเทคโนโลยีของนักวิจัยไทยที่จะนำมาแสดง แบ่งออกเป็น 3 ด้านคือ ด้านเภสัชกรรมและการแพทย์ ผลงานที่น่าสนใจคือการวิจัยควบคุมปริมาณยุงที่เป็นพาหะนำโรคร้ายหลายชนิดที่ระบาดในประเทศไทยของ รศ.ดร.ชนินท์ อังศุธนสมบัติ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการวิจัยพัฒนายาที่สำคัญของประเทศคือ การวิจัยชุดตรวจสอบหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่รวดเร็ว และให้ผลเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ชุดตรวจโรคแบบรวดเร็วสามารถค้นหาสารออกฤทธิ์ที่ต่อต้านโรคต่างๆ เช่น สารต่อต้านเชื้อมาลาเรีย สารยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง สารยับยั้งเชื้อรา ชุดตรวจสอบหาสารออกฤทธิ์ที่ต่อต้านโรคนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้ สำหรับเรื่อง การพัฒนายาที่ถือเป็นผลงานนวัตกรรมล่าสุดจากต่างประเทศ คือ “เทคโนโลยีไมโครอาเร่ย์” ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์การแสดงออกของยีนได้ (มติชน ศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





วิจัยข้าวหอมพันธุ์ใหม่ไทยสำเร็จ

นายอภิชาติ วรรณวิจิตร หัวหน้าโครงการวิจัยข้าว ไบโอเทค กล่าวว่า ในงานไบโอเทคไทยแลนด์ ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดขึ้นวันที่ 7-10 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้น ทีมงานที่ทำวิจัยเรื่องข้าว จะนำพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ได้บางส่วนไปแสดง เช่น ข้าวเจ้าหอมนิล ที่มีโปรตีนและเหล็กสูง ข้าวดับเบิ้ลแฮพพลอยลูกผสมของข้าวหอมมะลิ และข้าวเจ้าหอมนิล สำหรับผลงานการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลินั้น ขณะนี้สามารถใช้เทคโนโลยีโมเลกุลเครื่องหมาย (Molecular Marker Technology) ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ด้วยวิธีการผสมกลับ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่อการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 หลังความพยายามในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวมานานกว่า 4 ปี ทำให้สามารถปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ที่ทนน้ำท่วม ข้าวหอมมะลิ 105 ทนแมลงศัตรูพืช และข้าวหอมมะลิทนโรคขอบใบแห้ง (มติชน ศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ชวน “เกษตรกร” ร่วมปลูกข้าวเจ้าหอมนิล ยันอนาคตสดใสแน่

นายอภิชาติ วรรณวิจิตร หัวหน้าโครงการวิจัยข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึง เรื่องผลผลิตและการตลาดของข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่ไบโอเทคสร้างขึ้นมาได้ในขณะนี้ว่า เรื่องนี้สภาวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ดีแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจที่สมัครเข้าร่วมโครงการ และจะเป็นผู้ดูแลการผลิตและรับซื้อผลผลิตทั้งหมดคืนในราคาประกัน เกษตรกรที่สนใจการปลูกข้าวเจ้าหอมนิล ต้องมาทำข้อตกลงการผลิตร่วมกันโดยตรงกับไอโอเทค ในส่วนของบริษัทเอกชนนั้น ขณะนี้บริษัทเกษตรรุ่งเรือง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ทำสัญญากับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการรับซื้อข้าวเปลือก และผลิตข้าวสารจำหน่ายผู้บริโภคภายใต้ชื่อการค้าว่า ข้าวเจ้าหอมนิลเพื่อนไทย และข้าวหอมไตรรงค์เพื่อนไทย สนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวเจ้าหอมนิลนั้น ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-29428200 ต่อ 3086 (มติชน อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





‘ปลาร้า-แหนม-ต้มยำกุ้ง’ บรรจุแพ็กรอ ‘สมอ.’ ไฟเขียว-คาดสิ้นปีได้ลองชิม

นางดรุณี เอ๊ดเวิร์ด รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงเรื่องความคืบหน้าการทำมาตรฐานของปลาร้า แหนม ต้มยำกุ้ง และน้ำจิ้มไก่ของประเทศไทยว่า ขณะนี้ไบโอเทคได้ทำมาตรฐานปลาร้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการพิจารณาก่อนจะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม หลังจากไบโอเทค ได้ส่งนักวิชาการเข้าไปในชุมชนต่างๆ ที่ทำอุตสาหกรรมปลาร้า เพื่อให้ความรู้ทางด้านเทคนิคเพื่อยกระดับการผลิตให้เข้าขั้นมาตรฐานที่กำหนดไว้ปรากฎว่า หลายชุมชนทำปลาร้าเข้าขั้นมาตรฐาน สะอาดและรสชาติดีมากขึ้นแล้ว ส่วนน้ำจิ้มไก่นั้น สูตรมาตรฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่นักวิจัยกำลังสรุปรายงานการศึกษาอายุการใช้งานว่า ทำอย่างไรจึงให้เก็บได้นานที่สุด ส่วนต้มยำกุ้งนั้นทำออกมา 2 ลักษณะคือ แบบเครื่องแกงเข้มข้นแพ็กใส่ถุงมิดชิด และน้ำต้มยำกุ้งสำเร็จรูปแบบไม่มีกุ้ง ทั้ง 2 แบบมีมาตรฐานออกมาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการติดต่อให้ สมอ. พิจารณาอยู่ โครงการต่อไปที่ไบโอเทคจะทำให้มีมาตรฐานอกมาคือ ต้มข่าไก่ และขนมจีน เพราะอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก (มติชน จันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





ข่าวทั่วไป


ยอยศยิ่งฟ้าอุทยานมรดกโลก

นายฐิระวัตร์ กุลละวณิชย์ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า องค์การยูเนสโก ได้มีมติยกย่องและรับ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จังหวัดจึงได้ร่วมกับหน่วยงานราชการและเอกชน จัดงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก และงานกาชาดปี 2544 ขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่ 7-15 ธ.ค. นี้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 33)





รางวัลโนเบลเรื่องสารสนเทศ

ในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันประจำปี 2001 ได้แก่ จอร์จ เอ. เอเคอร์ลอฟ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ ไมเคิล สเพนซ์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และโจเซฟดี สติกวิทซ์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทั้งสามท่านได้รับรางวัลด้านเศรษฐศาสตร์ สำหรับงานวิเคราะห์ตลาดสารสนเทศอสมรูป (Asymmetric Information) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบข้อมูลข่าวสารที่ใช้กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม่เท่าเทียมกัน หรือไม่สมส่วน ก็จะทำให้เกิดปัญหาจากด้านธุรกิจ และตลาดผิดเพี้ยนไป (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 12)





พัฒนาระบบบัตรทางด่วน ใช้ได้ทุกด่าน-ทันสมัยขึ้น

นายยืนหยัด ใจสมุทร รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การทางฯ อยู่ในระหว่างเร่งเจรจากับบริษัททางด่วนกรุงเทพ เพื่อเปลี่ยนระบบการใช้บัตรทางด่วนใหม่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยใช้ได้ทุกด่านมากขึ้น คาดว่าได้ข้อยุติภายในปีนี้ (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 32)





พร้อมรับมือปิดถนนสีลม เตรียมปิดถนนข้าวสารต่อ

นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะเริ่มโครงการปิดถนนสีลมเป็นถนนสำหรับคนเดิน ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.นี้ ได้จัดรถเมล์ รถไฟฟ้า ไว้ให้บริการ เป็นโครงการใหม่ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และลดปัญหามลพิษและแก้ไขปัญหาการจราจร ถนนต่อไปที่จะปิดอย่างถาวรคือถนนข้าวสาร (เดลินิวส์ พฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน 2544 หน้า 34)





ฉ้อราษฎร์บังหลวง ตัวถ่วงวงการหนังสือไทย

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่าย (ส.พ.จ.ท.) โดย นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา นายกสมาคม เคยเข้าพบและยื่นหนังสือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมการอ่านและวงการหนังสืออย่างเป็นรูปธรรม จากงานมหกรรมหนังสือและสื่อการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 6 ปี 2544 ที่เพิ่งผ่านไป นางสุวดี ได้สรุปแนวโน้มและเห็นปัญหาของกระบวนการธุรกิจหนังสือในเมืองไทย โดยสะท้อนภาพออกมาอย่างเข้าถึงแก่นปัญหา และย้ำว่า ปัญหาของวงการหนังสือไม่ได้เกิดจากนักเขียนและสำนักพิมพ์ผู้ผลิต แต่เกิดจากปัญหาคอร์รัปชั่นหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงในงบประมาณของห้องสมุดทั่วประเทศ มีความไม่โปร่งใส มีใบสั่งให้บรรณารักษ์ซื้อหนังสือ (มติชน เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 14)





ซุ่นฮั่วเส็งเปิดตัว “ข้าวเจ้าหอมนิล” ข้าวกล้องสายพันธุ์ใหม่กินไม่อ้วน

นายกัลญ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เกษตรรุ่งเรือง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ข้าวสายพันธุ์ใหม่ชื่อ ข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งคิดค้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบริษัทเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวทั้งในประเทศและทั่วโลก ข้าวเจ้าหอมนิลดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพันธุ์ของข้าวกล้องให้มีลักษณะเด่นกว่าข้าวกล้องที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไป ใช้ชื่อตราสินค้า “ข้าวเพื่อนไทย” สำหรับตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้ บริษัทจะนำออกงานแสดงสินค้าไบโอ ไทยแลนด์ 2001 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน ข้าวเจ้าหอมนิลมีลักษณะเมล็ดข้าวมีสีม่วงเรียวยาว หุงง่าย มีความนุ่มเหนียวหอมอร่อย รับประทานแล้วไม่อ้วน เพราะมีคาร์โบไฮเดรตน้อย แต่อุดมด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม โพแทสเซียม และทองแดงในประมาณสูงกว่าข้าวอื่นๆ ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำไปจดสิทธิบัตร (มติชน เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2544 หน้า 18)





เผยอนาคต “เพศชาย” หมดความสำคัญ

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า วารสาร บริทิช เมดิคอล เจอร์นัล ได้ตีพิมพ์รายงานผลการประชุมนานาชาติว่าด้วย สุขภาพเพศชาย โดยระบุว่า มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเพศชาย กล่าวคือ ผู้ชายจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุสำคัญๆ ทุกประเภทมากกว่าหญิง ในอนาคตเพศชายอาจจะไม่มีความสำคัญในสังคมอีกก็ได้เพราะปัจจุบันนี้ ผู้หญิงก็สามารถทำงานสำคัญๆ ได้ดังเช่นที่ผู้ชายทำ รวมทั้งค่านิยมของคนที่เปลี่ยนไป เช่น การแต่งงานกับเพศเดียวกัน และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อความสำคัญของเพศชายทั้งสิ้น (มติชน ศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





เภสัชมหิดลเตือน “การบูร” สูดดมมากทำลายเยื่อจมูก

รศ.พร้อมจิตต์ ศรลัมภ์ รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมนำการบูรมาใส่ในห้องปรับอากาศหรือในรถยนต์ โดยที่ไม่ทราบว่า ประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อยากฝากเตือนว่า ไม่อยากให้นำการบูรไปใส่ในห้องปรับอากาศหรือรถยนต์ เพราะการบูรระเหิดกลายเป็นไอ ถ้ามีปริมาณเข้มข้นในอากาศทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกเป็นอันตรายได้ ปกติจะใส่ในตู้เสื้อผ้าหรือบริเวณที่มีกลิ่นอับ แต่ไม่ควรใส่ห่อใหญ่เกินไป ควรใส่การบูรเล็กน้อยพอไม่ให้ตู้มีกลิ่นอับเท่านั้น ถ้าใส่มากเกินไปอาจทำลายเยื่อจมูก (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 22)





พม่าจับช้างเผือกเชื่อคู๋บ้านคู่เมือง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้จับช้างเผือกตัวหนึ่งได้ ขณะล้อมจับช้างทั้งหมด 9 ตัว ในบริเวณใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่รัฐคะฉิ่น ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงย่างกุ้ง รัฐบาลทหารของพม่าจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ค้นพบช้างเผือกคราวนี้ เพราะเท่ากับเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ประชาชนเชื่อว่า จะเกิดสันติภาพและความรุ่งเรืองในชาติ (มติชน จันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2544 หน้า 7)





รพ.รามาเปิดยาตัวใหม่กินแล้วอารมณ์ดี

รศ.น.พ.รณชัย คงสกนธ์ หัวหน้าฝ่ายบริการภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และคณะกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สามีภรรยาในสังคมไทยมีปัญหาในเรื่องของความรุนแรง โดยเฉพาะสามีชอบซ้อมภรรยาเพราะถือเป็นโรคจิตประเภทหนึ่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมในอนาคต ขณะนี้มีการคิดค้นการรักษาแบบใหม่คือใช้ “ยาหยด” ในอาหารที่รับประทานเป็นประจำ โดยที่สามีหรือฝ่ายชายไม่รู้ มีชื่อสามัญทางยาว่า “ริสเพอริดอล” การรักษาโรคดังกล่าวควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ เพราะเป็นยาใหม่ นำไปหยด 1-2 ซีซี จากการติดตามประเมินผลประมาณ 3-4 เดือน อาการของสามีดีขึ้นไม่ทุบตีหรือทำร้ายภรรยาอีกเลย (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ 12 พฤศจิกายน 2544 หน้า 9)





ระวังเขตจตุจักรพบวัตถุอันตรายเพียบ

นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานที่เก็บวัตถุอันตราย พบว่ามี 1,764 แห่งในกรุงเทพฯ และพบว่า เขตจตุจักร มีวัตถุอันตรายมากที่สุด กทม. จะประสานยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงทราบ (เดลินิวส์ อังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2544 หน้า 32)





รณรงค์หลับเร็ว

สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอเอช) กำลังจะรณรงค์ให้เด็กอเมริกันนอนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะการนอนหลับเพียงพอทำให้สุขภาพดีและทำงานมีประสิทธิภาพ มาวันนี้ทางเอ็นไอเอชรณรงค์ให้เด็กอายุ 7-11 ปี นอนหลับให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายวันละ 9 ชั่วโมง จะเรียนหนังสือเก่ง สุขภาพจิตดี และมีโอกาสอ้วนพุงพลุ้ยน้อย ทางเอ็มไอเอช กล่าวถึงวิธีการให้เด็กหลับเร็ว คือ ก่อนนอนให้ดูการ์ตูนเหมียว “การ์ฟิลด์” แมวที่ชอบนอน ให้อ่านหนังสือแทนดูทีวี หลีกเลี่ยงอาหาร ดื่มโซดา และมิให้นอนกับสัตว์ (มติชน จันทร์ 12 พฤศจิกายน 2544 หน้า 10)





ผักขมลูกบลูเบอรี่บำรุงสมอง ทำให้หนูมีความจำแจ่มใส

ศึกษาพบ ผักขมและผลบลูเบอรี่ เป็นอาหารบำรุงสมอง ช่วยป้องกันสมองเสื่อม เนื่องมาจากความแก่ชราได้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริดาใต้ของสหรัฐฯ ได้รายงานที่ประชุมสมาคมประสาทวิทยาว่า สามารถรักษาหนูที่สมองเสื่อมตามอายุขัยให้กลับฟื้นคืนเดิมได้ ด้วยการให้กินอาหารที่อุดมด้วยผักขม ส่วนบลูเบอรี่นั้น ได้พบว่า มีสรรพคุณช่วยป้องกันความจำเสื่อมเนื่องจากความแก่ชราในหนูทดลองได้ โดยการป้อนอาหารเสริมผลบลูเบอรี่ให้กินนาน 4 เดือน ปรากฏว่าหนูที่ได้รับการบำรุงเหล่านั้น สามารถจดจำวัตถุต่างๆ หลังจากเวลาผ่านไปนาน 1 ชั่วโมงได้ ในขณะที่หนูพวกที่กินอาหารตามปกติไม่อาจจดจำอะไรได้เลย






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215