หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 49 ประจำวันที่ 2001-12-11

ข่าวการศึกษา

มจธ.เปิดป.เอกครั้งเดียว 2 ใบไทย-ฝรั่งเศส
มจธ.เปิดห้องสอบ ดร. โชว์ศักยภาพหลักสูตร
ทบวงเตือนม.รัฐออกนอกระบบรับผิดชอบสังคม
สุวิทย์เบี้ยวถก กกศ. งบเรียนฟรีไร้ข้อยุติ
ม.รังสิตเปิดสอนหลักสูตรอุปกรณ์ชีวการแพทย์
มธ.ปรับระเบียบเอนท์ปี 45 สมัครข้ามสายอาจถูกตัดสิทธิ
วิทยุศึกษาผ่านดาวเทียม รับฟังได้แล้วทั่วประเทศ
นายกฯทักษิณให้คำขวัญวันเด็กปี 45

ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี

เทคโนโลยีกับลอจิสติกส์
‘อุทยานวิทย์’ ดีเดย์เมษายน 45 3 หน่วยงานหลัก สวทช.ใช้พื้นที่

ข่าววิจัย/พัฒนา

สธ.ชี้คนเป็นมะเร็ง 6 หมื่น/ปี แนะกินผักป้องกันได้ 50%
มทส.รุกงานวิจัย ‘1 อาจารย์ 1 ผลงาน’
ออสซี่เจ๋งตัดต่อยีน ‘ยุง’ สกัดไข้มาลาเรีย
จัดตลาดนัดงานวิจัยเฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง’
วัคซีนป้องกันมะเร็ง

ข่าวทั่วไป

เร่งออกกฎห้ามใช้ก๊าซปรุงอาหารโต๊ะบาร์บีคิว
เภสัชฯ รวมยาเอดส์ค็อกเทล 1 เม็ด 3 สูตรคุณภาพเท่าเดิม
แนะใช้สมุนไพรดับกลิ่นแทนผลิตภัณฑ์สารเคมี





ข่าวการศึกษา


มจธ.เปิดป.เอกครั้งเดียว 2 ใบไทย-ฝรั่งเศส

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า คณะพลังงานและวัสดุมีโครงการจัดสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาปริญญาเอก โดยมีอาจารย์ของ มจธ.และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปาปิญอง (UP) ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการสอบ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน ที่ให้นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำวิทยานิพนธ์ภายใต้การดูแลของอจารย์สองสถาบัน และเมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบ คือทั้งของ มจธ. และมหาวิทยาลัยปาปิญอง ถือเป็นดุษฎีบัณฑิตไทย-ฝรั่งเศส ครั้งแรกของประเทศ ดร.จงจิตร์ หิรัญลาภ คณบดีคณะพลังงานและวัสดุ มจธ. กล่าวถึงผลงานของนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 4 คนว่า จะเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการสร้างบ้านที่สามารถลดความร้อนภายในอาคารบ้านเรือนด้วยแสงอาทิตย์ โดยงานวิจัยทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ บ้านคายไอร้อน ระบบหลังเย็นพลังแสงตะวัน หลังคารับแสงตะวัน และแอร์ยุคใหม่ไร้สารทำความเย็น ทั้งนี้งานวิจัยบางเรื่องจะดำเนินการจดสิทธิบัตรและวิจัยต่อไป เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงได้ในที่สุด (มติชน เสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2544 หน้า 11)





มจธ.เปิดห้องสอบ ดร. โชว์ศักยภาพหลักสูตร

รศ.ดร.จงจิตร์ หิรัญลาภ คณบดีคณะพลังงานและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผย (6 ธ.ค.) ว่า มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการสอบวิทยานิพนธ์แบบเปิดเป็นครั้งแรก เรียกว่า เปิดห้องสอบดอกเตอร์ 2 ปริญญาไทย-ฝรั่งเศส โดยให้สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปชมการสอบ และผลงานวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นแรกของโครงการ หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต 2 ปริญญา ด้านเทคโนโลยีพลังงาน เป็นโครงการแรกของเอเซียที่ มจธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยแปร์ปินญอง ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประหยัดเงินตราในการส่งนักศึกษาไปศึกษาปริญญาเอกในต่างประเทศ (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





ทบวงเตือนม.รัฐออกนอกระบบรับผิดชอบสังคม

ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการออกนอกระบบมหาวิทยาลัยของรัฐว่า การออกนอกระบบจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนให้โครงสร้างและระบบการบริหารงานมหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระ คล่องตัว สามารถให้พนักงานมีส่วนร่วมและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยมากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของแต่ละสถาบันในการบริหารจัดการ โดยคิดต้นทุนการให้บริการเอง ทั้งนี้ เป็นการบังคับให้มหาวิทยาลัยปรับกลไกการบริหารให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยทำงานอย่างเต็มตามศักยภาพจริง ซึ่งหากมหาวิทยาลัยบริหารจัดการได้ไม่ดีก็เป็นหน้าที่ของแต่ละแห่งที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมหาเหตุผลอธิบายให้ได้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 4 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





สุวิทย์เบี้ยวถก กกศ. งบเรียนฟรีไร้ข้อยุติ

“สุวิทย์” ไม่เข้าประชุมคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ (กกศ.) ครั้งที่ 3/2544 ส่งผลให้การพิจารณาแนวทางการจัดทำงบประมาณเพื่อการศึกษา 12 ปี ทำไม่ได้ในขณะที่การจัดทำงบประมาณปี 2546 ใกล้เวลาที่ต้องสรุป ที่ประชุม กกศ. จึงมีมติให้ส่งรายละเอียดการประมาณการค่าใช้จ่าย 3 ทางเลือก ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา เพื่อหาข้อยุติร่วมกับสำนักงบประมาณให้ทันตามกฎหมาย ชี้รัฐต้องจัดสรรฉุกเฉินเพิ่มจากงบประมาณปกติอีกประมาณ 5,000-14,000 ล้านบาท ที่ประชุมก็มีความเป็นห่วงว่า การปฏิรูปการศึกษาจะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ขึ้นมา 1 ชุด โดยมี นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เร่งรัดให้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 หมวด 5, 7 และ 8 พิจารณาแผนการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 4 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





ม.รังสิตเปิดสอนหลักสูตรอุปกรณ์ชีวการแพทย์

ม.รังสิต ขอเป็น ม.เอกชนรายแรก เปิดหลักสูตรอุปกรณ์ชีวการแพทย์ รับแผนฯ 7 และ 8 ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งทรัพยากรบุคคล โดยจะเริ่มเปิดสอนปีแรกตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะเปิดสอนหลักสูตร วท.บ. สาขาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545 แบ่งเป็นหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตรต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการเปิดหลักสูตรดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ขึ้น โดยมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีทักษะและความรู้ ขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาทางด้านอุปกรณ์ชีวการแพทย์ เพื่อประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนเข้าใจหลักการของอุปกรณ์ชีวการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ดูแลบำรุงรักษา การใช้งานได้ และมีความรู้ด้านวิศวกรรมโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 6 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





มธ.ปรับระเบียบเอนท์ปี 45 สมัครข้ามสายอาจถูกตัดสิทธิ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรับระเบียบการสมัครเอนทรานซ์ปี 2545 ในหลายคณะวิชา นางศรีสุรางค์ จันทรสมบัติ หัวหน้าฝ่ายรับเข้าศึกษา สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงการปรับระเบียบการเลือกเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา (เอนทรานซ์) ประจำปีการศึกษา 2545 ว่า ในปีการศึกษา 2545 มีหลายคณะและประเภทวิชาใน มธ. ที่ได้ปรับรายละเอียดของผู้สมัครเอนทรานซ์ จากเดิมที่ไม่มีกำหนดแผนการเรียนของผู้สมัคร เปลี่ยนเป็นให้ผู้สมัครต้องเลือกสอบวัดความรู้ และสมัครคัดเลือกฯตรงกับสายแผนการเรียนที่เรียนมา ดังนั้น ก่อนการสมัครสอบวัดความรู้ขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับคณะ / ประเภทวิชาที่ต้องการสมัครเข้าศึกษาต่อ โดยเฉพาะในส่วนของหมายเหตุข้างท้ายตารางการรับของแต่ละคณะ / ประเภทวิชา ไม่เช่นนั้น หากผู้สมัครไม่ได้เลือกสอบวัดความรู้ในวิชาที่คณะมีการกำหนดแผนการเรียนไว้ จะทำให้เสียสิทธิในการสมัครเข้าศึกษาต่อ รวมถึงผู้ที่จะสมัครเอนทรานซ์ข้ามสายแผนการเรียน จะต้องศึกษาระเบียบการคัดเลือกอย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2544 หน้า 28)





วิทยุศึกษาผ่านดาวเทียม รับฟังได้แล้วทั่วประเทศ

ดร.บุญเลิศ มาแสง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วประเทศสามารถรับฟังรายการต่างๆ ของสถานีวิทยุศึกษา FM92 MHz ได้แล้ว โดยเป็นการรับฟังผ่านดาวเทียมไทยคม ซึ่งการออกอากาศที่ครอบคลุมได้ทั่วประเทศ สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มุ่งให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้ และสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ผู้สนใจรายการต่างๆ ของสถานีวิทยุศึกษา สามารถสอบถามรายละเอียด และขอรับตารางออกอากาศได้ที่ ส่วนรายการและออกอากาศวิทยุศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กท. 10400 โทรศัพท์ 0-2246-1115-21 ต่อ 328, 330 หรือ 0-2247-8186 ทุกวันในเวลาราชการ (เดลินิวส์ พุธที่ 5 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





นายกฯทักษิณให้คำขวัญวันเด็กปี 45

สำหรับคำขวัญวันเด็กในปีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ให้คำขวัญว่า “เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส” (เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2544 หน้า 19)





ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี


เทคโนโลยีกับลอจิสติกส์

ฯพณฯ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ในอนาคต มาเปิดการบรรยายให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาจัดโดย 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีว่า “ลอจิสติกส์” นั้นเป็นเรื่องการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อการจัดส่งสินค้าตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และเมื่อเข้าระบบการผลิตสินค้าไทยมีการวางแผนและควบคุมการผลิต รวมทั้งการวางแผนความต้องการทางด้านวัตถุดิบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า เอ็มอาร์พีทู (Manufacturing Resources Planning หรือ MRP II) ลอจิสติกส์ จะไปได้ดีจะต้องมีเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาร่วมช่วยด้วยไปทุกครั้ง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีมากๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบอีอาร์พี หรือ ไออีที (เดลินิวส์ พฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม 2544 หน้า 17)





‘อุทยานวิทย์’ ดีเดย์เมษายน 45 3 หน่วยงานหลัก สวทช.ใช้พื้นที่

นายยุทธ โรจน์วีระสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 โครงการแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญภายใต้ สวทช. 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งจะย้ายพนักงานทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่อาคารวิจัยที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ในราวกลางเดือนมีนาคมปีหน้า ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จะย้ายที่ตั้งและพนักงานทั้งหมดมาอยู่ในอาคารวิจัยหลังที่ 2 ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ทั้งนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ จะทำหน้าที่ผู้ประสานงานทั้งส่วนของระบบสื่อสาร และระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในฐานะผู้ดูแลโครงการพร้อมเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าคาดว่าภายในปีแรกของการเปิดให้บริการจะมีผู้เช่าใช้พื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 50% หรือ 3,000 ตารางเมตร นายยุทะ กล่าวว่า โครงการแห่งนี้ยังมีแผนดึงบริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงเข้ามาใช้พื้นที่ในการวิจัยและพัฒนาด้วย ได้แก่ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และดูปองก์ ทั้งนี้เพื่อปูทางสู่การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในระยะยาว และมองถึงความเป็นไปได้ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับอุทยานวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และจีน เพื่อดึงการลงทุนเข้าประเทศ สำหรับโครงการเฟส 2 นั้นจะเป็นการก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมและอาคารหน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยี (อินคิวเบเตอร์) ซึ่งได้งบประมาณมาแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 6 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





ข่าววิจัย/พัฒนา


สธ.ชี้คนเป็นมะเร็ง 6 หมื่น/ปี แนะกินผักป้องกันได้ 50%

น.พ.เสรี ตู้จินดา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของคนไทยใน 3 อันดับแรก ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปีละ 60,000 คน อีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปีละ 120,000 คน ขณะนี้ผลการวิจัยในต่างประเทศยืนยันแล้วว่า มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คนอีสานเป็นมะเร็งตับมาก เพราะกินปลาสุกๆ ดิบๆ ภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดเพราะชอบสูบบุหรี่ ส่วนภาคใต้เป็นมะเร็งต่ำกว่าทุกภาค เพราะคนใต้กินผักมาก เพราะฉะนั้นการกินผักจะช่วยป้องกันมะเร็งได้ 50% (กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 4 ธันวาคม 2544 หน้า 11)





มทส.รุกงานวิจัย ‘1 อาจารย์ 1 ผลงาน’

ผศ.ดร.ทวี เลิศปัญญาวิทย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นไป ทางมหาวิทยาลัยจะริเริ่มโครงการ “หนึ่งอาจารย์ หนึ่งผลงาน” ขึ้นที่มีเป้าหมายให้อาจารย์ทุกคนผลิตผลงานอย่างน้อยหนึ่งชิ้นในรอบปี โดยผลงานอาจจะเป็นงานวิจัย สื่อ สิ่งประดิษฐ์ เอกสารเกี่ยวกับการสอน บทแสดงแนวคิด กิจกรรมทางวิชาการ เป็นต้น โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์ของ มทส. ได้ระดมสมอง เสนอแนวคิดและผลิตผลงานอันจะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต กระตุ้นการค้นคว้าวิจัยให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาประเทศทั้งในระดับชุมชน ระดับภูมิภาค และระดับชาติ ผศ.ดร.ทวี กล่าวว่า โดยหลักการทำวิจัยก็คือ จะให้อาจารย์แต่ละคนเป็นผู้กำหนดแผนการผลิตผลงานพร้อมระบุดัชนีชี้วัด หรืออาจารย์หลายคน อาจร่วมกันเสนอแผนผลิตผลงานแบบบูรณาการที่มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และแจ้งต่อหัวหน้าสาขาวิชาภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งนี้เมื่อครบระยะเวลา 1 ปี อาจารย์ผู้เสนอผลงานจะทำการประเมินผลการปฏิบัติงานด้วยตนเองว่า สำเร็จตามเป้าหมายเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา และปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยผลงานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยใช้ประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของอาจารย์ประจำปีด้วย มทส.มีอาจารย์กว่า 200 คนดังนั้น ในปีหนึ่งๆ จะมีผลงานวิจัยกว่า 20 ชิ้น ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมีการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่สามารถนำไปขยายผลได้ และพัฒนาเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม 2544 หน้า 12)





ออสซี่เจ๋งตัดต่อยีน ‘ยุง’ สกัดไข้มาลาเรีย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ขณะนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียค้นพบคำตอบที่จะสกัดการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียได้แล้ว โดยอาศัยกรรมวิธีตัดต่อดัดแปลงยีนให้ประชากรยุงส่วนหนึ่ง เพื่อทำให้แพร่เชื้อไข้มาลาเรียไม่ได้อีกต่อไป หรืออาจจะทำให้ถูกกำจัดง่ายขึ้นด้วยฤทธิ์ของยาปราบยุง อย่างไรก็ดีวารสารนิว ไซเอินทิสต์ รายงานว่า ดร.สตีเฟ่น เดวิส หัวหน้าทีมวิจัยแห่งองค์การวิจัยอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์เครือจักรภพ ในกรุงแคนเบอร์รา ของออสเตรเลีย คิดค้นกรรมวิธีที่จะดัดแปลงยีนในตัวยุงเพื่อทำให้ไม่มีทางปล่อยเชื้อโรคไข้มาลาเรียได้อีกต่อไป (มติชน อังคารที่ 4 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





จัดตลาดนัดงานวิจัยเฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง’

นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ในวันที่ 5-9 ธันวาคมนี้ ที่ฮอลล์ 6 ชั้นล่าง ศูนย์การประชุมและแสดงนิทรรศการอิมแพค เมืองทองธานี วช.จะจัดนิทรรศการ ตลาดนัดงานวิจัย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ ติดต่อประสานงานกันระหว่างนักวิจัย ผู้ใช้ประโยชน์จาการวิจัย และแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่จะมาให้คำปรึกษาในเรื่องการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรและการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการผลงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การแสดงผลงานหัตถศิลป์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งผลงานของทั้ง 2 พระองค์ได้รับรางวัลสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณสูงสุดจากงาน Brusseis Eureka 2001 : 50th World Exhibition of Innovation, Research and New Technology ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยที่ได้รับรางวัลจากงานดังกล่าวอีก 16 รางวัล (มติชน อังคารที่ 4 ธันวาคม 2544 หน้า 6)





วัคซีนป้องกันมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ในนครเมลเบิร์น สามารถกำจัดเนื้องอกในตัวหนูอย่างได้ผลชะงัด คาดว่ากรรมวิธีเดียวกันนี้ จะนำไปใช้กำจัดเชื้อมาลาเรีย และมีศักยภาพที่จะฆ่าเชื้อโรคปอดบวม โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ และเชื้อไข้หวัดได้ด้วย เป็นระบบวัคซีนที่เรียกว่า “Dctag” คิดค้นได้โดยคณะนักวิจัยซึ่งมี ศาสตราจารย์เอียน แม็คเค็นซี่ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์ออสตินเป็นผู้นำ ศ.แม็คเค็นซี่ แถลงว่า ผลการทดลองกับหนูเป็นที่พอใจมาก จึงเชื่อได้ว่าเป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างวิเศษสุดเท่าที่เคยทำกันมา สถาบันวิจัยออสตินกำลังร่วมมือกับ Prima Biomed บริษัทไบโอเทคโนโลยี เพื่อค้นหาเทคนิคที่จะนำระบบวัคซีนนี้ไปใช้กับมนุษย์ (เดลินิวส์ อาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2544 หน้า 10)





ข่าวทั่วไป


เร่งออกกฎห้ามใช้ก๊าซปรุงอาหารโต๊ะบาร์บีคิว

นายประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังตรวจสอบร้านบาร์บีคิว คุมเข้มการใช้ก๊าซปรุงอาหารบนโต๊ะ แต่ผลตรวจพบมีการแก้ไขแล้วโดยติดสัญญาณเตือนภัยและเก็บถังก๊าซห่างจากร้าน รอข้อบัญญัติ กทม. ออกบังคับห้ามใช้ก๊าซเร่งให้เสร็จก่อน ส.ก. หมดวาระ หากบังคับใช้หมดสิทธิใช้ก๊าซปรุงอาหารบนโต๊ะ (เดลินิวส์ พุธที่ 5 ธันวาคม 2544 หน้า 34)





เภสัชฯ รวมยาเอดส์ค็อกเทล 1 เม็ด 3 สูตรคุณภาพเท่าเดิม

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ได้เพิ่มความครอบคลุมจำนวนผู้ป่วยเอดส์ ให้ได้รับยาต้านไวรัสให้มากขึ้นจากเดิมได้รับเพียง 3,000 คน ใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งในปี 2545 นี้จะของบเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 500 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอาการได้อีก 6,000-7,000 คน ทั้งนี้ต้องดูความเป็นไปได้ของงบประมาณของประเทศด้วย ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ราคายาต้านไวรัสถูกลงให้เร็วที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2544 หน้า 13)





แนะใช้สมุนไพรดับกลิ่นแทนผลิตภัณฑ์สารเคมี

นางนิตยา มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนมากสอบถามมายังกระทรวงว่า ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นอับและปรับอากาศซึ่งผลิตจากสารเคมี จะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจหรือไม่ ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสารเคมีนั้นมีโอกาสจะทำให้บางคนมีอาการภูมิแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าวขอแนะนำให้ประชาชนหันมาใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อปรับแต่งกลิ่นบ้าง เพราะสมุนไพรไทยนั้นมีสรรพคุณอย่างดีที่จะช่วยกำจัดกลิ่นอับในสถานที่ต่างๆ สมุนไพรดังกล่าว ได้แก่ ลูกมะกรูด ใบเตยหอม ฝรั่งสุก แต่ละชนิดให้กลิ่นหอมแตกต่างกันไป เลือกใช้ได้ตามความชอบ (มติชน อังคารที่ 4 ธันวาคม 2544 หน้า 6)






KMUTT Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215