|
หัวข้อข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ 61 ประจำวันที่ 2001-12-25
ข่าวการศึกษา
ยันบัณฑิตค.อ.บ.-อส.บ.ต้องสอบขอรับใบกว. ม.เอกชนกระตุ้นอาจารย์พัฒนางานด้านวิชาการ โยนกก.ปฏิรูปชี้ขาด 2 แนวทางตั้ง ก.ศึกษา สุวิทย์ ยาหอมปีหน้าให้โบนัสครูผลงานเด่น แนะครูทำวิจัยอย่ายึดรูปแบบเพื่อขอตำแหน่ง ร.ร.กทม. ร่วมภูมิปัญญาท้องถิ่นเปิดศูนย์รีไซเคิลพัฒนาชุมชน สุวิทย์ยันดึงกศน.เป็นกรมอิสระ อ้างระบบศึกษาแตกต่างร.ร. อีดี-เน็ตไทยดัง จะขยายทั่วโลก หวั่นบัณฑิตกองทุนหมู่บ้านแห่ออกกลางคัน มธ.ปฏิรูปหลักสูตรนิติฯครั้งใหญ่รอบ 10 ปี กศน.ปัดฝุ่นตำราโบราณ เชื่อสอนภาษาไทยเจ๋งสุด ศธ.สรุปโครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมมี 7 กลุ่มงาน
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
มหิดลระดมนักวิชาการทั่วโลกถก ถอดรหัสพันธุกรรม ไทยผลิตอุปกรณ์เข็มฉีดยาแห่งแรกในเอเชีย เตือนผลิตบัณฑิตไอทีเน้นคุณภาพกว่าจำนวนลดนำเข้าบุคลากร 2 นักชีวะมะกันพบตุ๊กแกเล็กที่สุดในโลก พบในโดมินิกันยาวแค่ 1.6 ซม. พบดาวเคราะห์มีบรรยากาศดวงแรกนอกระบบสุริยะ ส.พันธุ์พืชไม่ยั่นมะกันจด หอมมะลิ แนะรัฐหนุนโปรโมตข้าวชนิดอื่นเพิ่ม เนคเทค เร่งเครื่องสรรหาคณะกก.ธุรกรรมอิเล็กฯ
ข่าววิจัย/พัฒนา
มจธ.วิจัยพัฒนาเพิ่มคุณภาพอัญมณีด้วย
เตาเผาพลอยประสิทธิภาพสูง อาจารย์รม.เก่งคว้า 3 รางวัลโลก ก้าวที่กล้าของม.รังสิต ไม่ง้อฝรั่งนำร่องระบบอัตโนมัติผ่านดาวเทียม เด็กไทยประกาศศักดิ์ศรีบนเวทีโลกกับ..รางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์นานาชาติ ติงเลิกใช้วัคซีนเอดส์ทดลองคนเหนือ มะกันพบวิธีผลิตวัคซีนกันมาลาเรีย ผ่านน้ำนมสัตว์ที่ตัดแต่งพันธุกรรม นักวิจัยดัตช์เอาจริง ศึกษา ตายแล้วฟื้น
ข่าวทั่วไป
เด็กไทยชอบนมหวาน เจอ ฟันผุ ถามหากรมอนามัยแก้ปัญหาคุมบริโภคน้ำตาล จิบชา-น้ำขิงแก้ท้องเสีย ปีหน้าเก็บตังค์ใช้ส้วมไฮเทค คนละ 2 บาทนั่งได้แค่ 15 นาที ปลายปี 45 ประเดิมฉีดยาประหารนักโทษ
ข่าวการศึกษา
ยันบัณฑิตค.อ.บ.-อส.บ.ต้องสอบขอรับใบกว.
นางนิตยา มหาผล กรรมการสภากว. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสภาวิศวกรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมนี้ ว่า ที่ประชุมยังคงยืนยันตามมติคณะกรรมการที่กำหนดให้บัณฑิตหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรม (ค.อ.บ.) และอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) รุ่นปีการศึกษา 2541-2545 ต้องผ่านการทดสอบความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพวิศวกร (ใบกว.) และตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นไป ทางสภากว. จะรับรองปริญญาและมอบใบกว.ให้เฉพาะหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น ด้านนายณรงค์เดช จันทรศรี นศ.ปี 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจธ. ในฐานะผู้ประสานงาน กล่าวว่า ผลการประชุมของสภากว.ยังไม่เป็นที่พอใจของนศ. โดยขณะนี้ได้ทำการรวบรวมเอกสารหลักฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อผู้เดือดร้อนที่ประกอบด้วยนศ.ค.อ.บ. และอส.บ. ที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาประมาณ 600 คนและบัณฑิตที่ได้ระบุผลกระทบอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการฟ้องได้ในเดือน ม.ค.2545
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 18 ธันวาคม 2544 หน้า 8)
ม.เอกชนกระตุ้นอาจารย์พัฒนางานด้านวิชาการ
ศ.ดร.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอุดมศึกษาเอกชน ได้หารือถึงความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยเอกชนที่เห็นควรให้มีการพัฒนาวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนทุกสถาบัน ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 9,400 คนซึ่งกว่า 95% หรือ 9,000 คนจะเป็นอาจารย์ผู้สอนธรรมดาเท่านั้น ในขณะที่ผู้มีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มีจำนวนเพียง 300 กว่าคน รองศาสตราจารย์อีก 100 กว่าคน และศาสตราจารย์อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ทบวงฯ จึงอยากหาแนวทางกระตุ้นการพัฒนาความสามารถทางวิชาการของอาจารย์ โดยให้สำนักกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนรวบรวมรายละเอียดปลีกย่อยของอาจารย์แต่ละสถาบัน ทั้งในส่วนคุณวุฒิการศึกษา ระยะเวลาทำงาน และอื่นๆ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมเป็นรายบุคคลรวมทั้งให้สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน คิดหาวิธีการส่งเสริมด้วยอีกทางหนึ่ง และหากพบข้อจำกัดใดๆ ให้เสนอขอความช่วยเหลือมายังทบวงฯ ได้ทันที
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 8)
โยนกก.ปฏิรูปชี้ขาด 2 แนวทางตั้ง ก.ศึกษา
นายจรูญ ลูลาภ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประชุมคณะทำงานจัดทำรายละเอียดภารกิจ อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งมี นายจำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาโครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยมีนางมัณฑนา ศังขะกฤษณ์ รองปลัด ศธ. เป็นประธาน ซึ่งนางมัณฑนา กล่าวว่า นายจำลอง ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้มี 2 แนวทางในการจัดตั้งกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แนวทางแรก เป็นมติเดิมที่คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการโครงสร้างใหญ่ตัดสิน คือให้ตั้งเป็นกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่เพิ่มสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา แต่ให้คงกรมศิลปากร สวช. และกรมการศาสนาในกระทรวง แทนคณะกรรมการการศาสนาและวัฒนธรรม ที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษายกร่างขึ้น อีกแนวทางหนึ่งคือ ให้แยกงานศิลปวัฒนธรรมและการศาสนาไปจัดตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการด้านสังคม ซึ่งมี นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายจำลอง กล่าวว่า คณะกรรมาธิการศึกษาฯ วุฒิสภาอยากให้งานศาสนาอยู่รวมกับการศึกษา แต่ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาทบทวน เพราะแนวคิดเรื่องนี้มาไกลแล้วและขณะนี้ก็ไม่มีเวลามาทบทวนใหม่แล้ว และตนเห็นว่าคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการแยกงานศิลปวัฒนธรรมไปจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่เพื่อให้งานดังกล่าวเข้มแข็งมากขึ้น
((มติชน อังคาร 18 ธันวาคม 2544 หน้า 10)
สุวิทย์ ยาหอมปีหน้าให้โบนัสครูผลงานเด่น
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการผลักดันแนวคิดในการให้รางวัลโบนัสแก่บุคลากรในสถานศึกษา ที่มีผลงานในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ดีว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายให้โบนัส 1 เดือน แก่บุคลากรในหน่วยงานรัฐที่ทำงานมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ซึ่งเร็วๆ นี้ตนจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ โดยเป็นไปได้ที่จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษาหน้า ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการวัดผลสัมฤทธิ์ในการสอนนักเรียน ถ้าครูและผู้บริหารในสถานศึกษาใดทำได้ตามเกณฑ์ก็จะได้โบนัสเป็นรางวัล 1 เดือน และหากสามารถพัฒนาให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกปี ก็จะได้รับโบนัสทุกปีด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทุกสถานศึกษาให้ก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายทศวรรษแห่งคุณภาพ และความเสมอภาคทางการศึกษา ที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2545 เป็นต้นไป
(มติชน พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 10)
แนะครูทำวิจัยอย่ายึดรูปแบบเพื่อขอตำแหน่ง
รศ.ดร.สุวิมล ว่องวานิช อาจารย์ภาควิชาการวิจัย คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง สภาพการวิจัยในชั้นเรียน / โรงเรียน ปัญหาอุปสรรคและการแก้ไข ซึ่งจัดโดยคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เวลานี้ครูควรเลิกเสียเวลากับการหาคำนิยามว่า การวิจัยคืออะไร และเลือกประเด็นวิจัยว่าจะวิจัยเชิงวิชาการ วิจัยทางการศึกษา หรือวิจัยเชิงปฏิบัติการ แต่ควรเริ่มลงมือทำ ทั้งนี้ในการทำวิจัยขอให้ตระหนักเสมอว่า หัวใจของการทำวิจัยในชั้นเรียนคือ การแก้ปัญหาของนักเรียนให้หมดไปและอย่าคิดว่าจะทำวิจัยเพื่อเสนอขอผลงานวิชาการอย่างเดียว
(กรุงเทพธุรกิจ อังคารที่ 18 ธันวาคม 2544 หน้า 8)
ร.ร.กทม. ร่วมภูมิปัญญาท้องถิ่นเปิดศูนย์รีไซเคิลพัฒนาชุมชน
นายวันชัย อมรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดของ กทม. ซึ่งได้แก่ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม ได้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดศูนย์รีไซเคิลภายในโรงเรียนขึ้น ผอ.สำนักการศึกษา กทม. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนี้ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม ได้นำเรื่องการรีไซเคิลมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนกลุ่มวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 8)
สุวิทย์ยันดึงกศน.เป็นกรมอิสระ อ้างระบบศึกษาแตกต่างร.ร.
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวยืนยันอย่างชัดเจนว่า จะไม่มีการยุบกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อไปรวมกับกรมสามัญศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการใหม่ที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เสนอโดยให้คงฐานะเป็นกรมหนึ่งและไม่มีการแยกเอางานด้านการอาชีพไปไว้กับโครงสร้างของกรมอาชีวศึกษา ทั้งนี้อาจจะให้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ด้าน นายอาทร จันทวิมล อธิบดี กศน. กล่าวว่า สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาแต่ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการจัดระบบการจัดการศึกษา และองค์กรด้านนโยบายและการกำกับดูแล ตลอดจนสถานะขององค์กรในส่วนของการศึกษานอกโรงเรียนอย่างชัดเจน ทำให้งานการศึกษานอกโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสจะไม่มีหน่วยงานใดดูแลรับผิดชอบ และที่สำคัญในการจัดการศึกษาของ กศน. นั้นหากให้คนในระบบโรงเรียนมาจัดการศึกษานอกโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 20 ธันวาคม 2544 หน้า 8)
อีดี-เน็ตไทยดัง จะขยายทั่วโลก
นายสุธรรม แสงประทุม รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย เปิดเผยภายหลังการเดินทางกลับจากประเทศเยอรมันว่า ตนได้รับเชิญจากสถาบันฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาของสาธารณรัฐเยอรมัน หรือ BIBB สถาบันที่นำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ให้เข้าร่วมหารือด้านความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งการร่วมหารือในครั้งนี้ ทบวงมหาวิทยาลัยกับสถาบัน BIBB ได้สร้างความร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา และการเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษากับ ED-NET ของไทย เพื่อขยายเครือข่ายการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วโลก โครงการ ED-NET ว่ามีความคืบหน้าไปมากทั้งนี้ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อผลิตเนื้อหาและสื่อในการเรียนการสอนทางไกล บรรจุไว้ในเครือข่าย ED-NET เพื่อขยายความรู้ไปสู่ภูมิภาค
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2544 หน้า 20)
หวั่นบัณฑิตกองทุนหมู่บ้านแห่ออกกลางคัน
นายปราโมทย์ เบญจกาญจน์ อธิการบดีสถาบันราชภัฏ (รภ.) บุรีรัมย์ เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ทุนบัณฑิตเข้าศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองว่า รภ.บุรีรัมย์ รับผิดชอบจัดสอนบัณฑิตอาสาฯ 2,536 คน ตามจำนวนหมู่บ้าน แต่ในช่วงปฐมนิเทศที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีบัณฑิตไม่มารายงานตัว 50 คน และคาดว่าเมื่อเข้าสู่การเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม อาจมีบัณฑิตอาสาฯลาออกกลางคันจำนวนค่อนข้างสูง เพราะหลายคนยังไม่เข้าใจโครงการ คิดว่าได้เข้ามาทำงานกับกองทุนหมู่บ้านเลยไม่ต้องเรียนหนังสือ นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เวลานี้เกิดปัญหาต่อการดำเนินงานเนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้เลย เฉพาะอย่างยิ่งในซีกมหาวิทยาลัยทราบว่า บางแห่งมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานน้อย เพราะไม่คล่องตัวในการขอใช้งบฯสำรองจ่ายของสถาบันเพื่อดำเนินงานไปก่อน ส่วนเรื่องการเปิดหลักสูตรปริญญาโทเพื่อต่อยอดให้บัณฑิตอาสาฯ นั้น ในส่วน รภ.บุรีรัมย์ต้องรอดูความต้องการและความพร้อมของอาจารย์ที่จะสอนก่อน
(มติชน จันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2544 หน้า 10)
มธ.ปฏิรูปหลักสูตรนิติฯครั้งใหญ่รอบ 10 ปี
นายสุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มธ.กำลังปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีครั้งใหญ่ เพื่อให้รองรับกับกฎหมายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ศาลปกครอง ฯลฯ เนื่องจากสังคมต้องการนักกฎหมายที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายเหล่านี้ ประกอบกับหลักสูตรที่ใช้อยู่เริ่มล้าสมัย ดังนั้นจึงถือเป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรแล้ว คาดว่าจะได้ข้อยุติในปีการศึกษา 2545
(มติชน จันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2544 หน้า 10)
กศน.ปัดฝุ่นตำราโบราณ เชื่อสอนภาษาไทยเจ๋งสุด
จากกรณีที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบันที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยต่ำมาก และทำให้เด็กไทยจำนวนมากอ่านภาษาไทยไม่แตก ดร.อาทร จันทวิมล อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กล่าวว่า ในส่วนของกศน. ก็ได้มีการทำวิจัยเพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำสื่อสำหรับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งจากการสอบถามครูอาจารย์ที่สอนภาษาไทยในโรงเรียนสามารถสรุปได้ว่า หนังสือเรียนหรือตำราภาษาไทยโบราณ เช่น หนังสือแบบเรียนเร็ว มูลบทบรรพกิจ หรือ อักษรนิติ เป็นต้น เหล่านี้เป็นหนังสือที่ดีที่จะสอนเรื่องของการใช้ภาษาตั้งแต่เริ่มต้น กศน. จึงคิดว่าเราน่าจะนำข้อดีหรือประโยชน์จากหนังสือเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาสื่อการสอนสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ของ กศน. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2544 หน้า 12)
ศธ.สรุปโครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมมี 7 กลุ่มงาน
นางมัณฑนา ศังขะกฤษณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจพิจารณาโครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เปิดเผย ที่ประชุมได้ข้อสรุปในส่วนของโครงสร้างและภารกิจของกลุ่มงานต่างๆ ว่า โครงสร้างกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจะประกอบด้วย 7 กลุ่มงาน
(เดลินิวส์ ศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2544 หน้า 12)
ข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี
มหิดลระดมนักวิชาการทั่วโลกถก ถอดรหัสพันธุกรรม
มหาวิทยาลัยมหิดลระดมสมองนักวิชาการทั่วโลกถก ผลกระทบจากโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ต่ออนาคตการแพทย์ และสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ ศกหน้า เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ และรู้ถึงลำดับเบสที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของ DNA มนุษย์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,000 ล้านนิวเคลียสไทป และยังรู้ต่อไปอีกว่า ยีนซึ่งประกอบจาก DNA เหล่านี้และเป็นส่วนที่กำหนดการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ ในร่างกายมีอยู่ประมาณ 30,000 ยีน
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 20 ธันวาคม 2544 หน้า 27)
ไทยผลิตอุปกรณ์เข็มฉีดยาแห่งแรกในเอเชีย
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อก.) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับบริษัทคาร์ไทล์ แคปพิทอล อืนเวสเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศอิตาลี โรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ประเภทอุปกรณ์เข็มฉีดยาชนิดปลอดภัย (Safety Syringe) และอุปกรณ์การให้เลือด ยา หรือให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกของเอเชีย ที่มีการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ชนิดที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัย โดยใช้ชื่อโรงงานในไทยว่า บริษัทเมดดิคุล ดีไวซ์ แมนูแฟคเจอเรอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะเวลาร่วมทุน 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2544-2549 เข็มฉีดยาชนิดพิเศษนี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีใช้เฉพาะประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา เป็นกระบอกฉีดยาชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำด้วยพลาสติกอย่างดี มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานสูงมาก สามารถลดการติดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้ เช่น เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถติดได้จากการถูกเข็มทิ่มแทงมือระหว่างปฏิบัติงาน รวมถึงผู้เก็บขยะด้วย ภายหลังใช้งานแล้วลูกสูบของไซริงก์จะพับเก็บเข็มฉีดยาไปไว้ในกระบอกฉีดได้เอง เจ้าหน้าที่ไม่ต้องใช้มือปลดเขมออกจากไซริงก์ นับได้ว่ามีความปลอดภัยสูงที่สุดในขณะนี้
(มติชน อาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2544 หน้า 6)
เตือนผลิตบัณฑิตไอทีเน้นคุณภาพกว่าจำนวนลดนำเข้าบุคลากร
นายอภิชัย พันธเสน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้วิจัยถึงความต้องการบุคลากรไอทีของประเทศไทย จากการสุ่มตัวอย่างบุคลากรในภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจแล้วพบว่า บุคลากรไอทีรวมทั้งกลุ่มคอมพิวเตอร์และกลุ่มโทรคมนาคมมีประมาณ 78,000 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มโปรแกรมเมอร์และนักวิเคราะห์ระบบประมาณ 21,000 คน สถาบันการศึกษาของไทยผลิตบัณฑิตในสาขาไอทีได้ประมาณ 10,000 คนต่อปี มาจากมหาวิทยาลัยของรัฐประมาณ 3,600 คน มหาวิทยาลัยเอกชน 4,800 คน และที่เหลือมาจากสถาบันราชภัฏ ราชมงคล และอาชีวศึกษา สาเหตุที่ประเทศไทยขาดบุคลากรไอทีเพราะ บัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ คือทักษะของบัณฑิตที่จบไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด สถาบันการศึกษาควรจะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนของนักศึกษาให้ทันต่อเหตุการณ์ และตัวนักศึกษาควรจะหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียนให้มากขึ้นในส่วนของหน่วยงานรัฐก็ควรฝึกอบรมเสริมความรู้พนักงานให้มากขึ้น
(มติชน อังคารที่ 18 ธันวาคม 2544 หน้า 7)
2 นักชีวะมะกันพบตุ๊กแกเล็กที่สุดในโลก พบในโดมินิกันยาวแค่ 1.6 ซม.
2 นักชีววิทยาชาวอเมริกันสร้างชื่อ ค้นพบตุ๊กแกขนาดเล็กที่สุดในโลก ยาวเพียง 1.6 เซนติเมตร บนเกาะควบคุมของสาธารณรัฐโดมินิกัน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน 2 คน ได้แก่ นายริชาร์ด โธมัส และนายแบลร์ เฮดจ์ส์ ได้ค้นพบสัตว์เลื้อยคลานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ ตุ๊กแกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก สามารถขดตัวบนเหรียญเซนต์สหรัฐได้อย่างสบายๆ โดยตุ๊กแกจารากัวนี้มีขนาดเล็กที่สุดในจำนวนสิ่งมีชีวิต เจ้าพวกสัตว์เลื้อยคลานรวมถึงนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากทั้งหมด 23,000 ชนิด
(กรุงเทพธุรกิจ อาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2544 หน้า 1,4)
พบดาวเคราะห์มีบรรยากาศดวงแรกนอกระบบสุริยะ
นักดาราศาสตร์ผู้ประกาศเมื่อวันที่ 27 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2001 การค้นพบบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก เป็นคณะนักวิทยาศาสตร์สองคนประกอบด้วย เดวิด ชาร์บอนนู (David Charbonneau) แห่งสถาบันเทคโนโลยี แคลิฟอร์เนีย (California Institute Of Technology) และ ทีโมที บราวน์ (Timothy Brown) แห่งศูนย์การวิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (The National Centre For Atmospheric Research) ในโบลเดอร์ (Boulder) รัฐโคโลราโด นักดาราศาสตร์ทั้งสองใช้เทคนิคเดียวกับที่นักดาราศาสตร์รัสเซียในอดีตเมื่อ 240 ปีมาแล้ว ชื่อ มิเกล โลโมโนซอฟ (Michail Lomonosov) พบว่า ดาวศุกร์มีบรรยากาศ สำหรับการค้นพบครั้งใหม่ คณะนักวิทยาศาสตร์ใช้เทคนิคเดียวกัน แต่ดาวเคราะห์ที่กำลังเป็นข่าวเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หนึ่งในจำนวนประมาณ 80 ดวงที่ถูกค้นพบ ตั้งแต่เมื่อกลางทศวรรษที่เก้าสิบเป็นดาวเคราะห์บริวารของดาวฤกษ์ ชื่อ HD 209458 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 150 ปีแสง ในกลุ่มดาวเพกาซัส (Pegasus) หรือกลุ่มดาวม้าปีปีก การค้นพบเกิดขึ้นโดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 8)
ส.พันธุ์พืชไม่ยั่นมะกันจด หอมมะลิ แนะรัฐหนุนโปรโมตข้าวชนิดอื่นเพิ่ม
นายพีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมไม่เป็นห่วงกรณีที่ทางนักวิจัยสหรัฐนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ไปทำการคิดค้นพันธุ์ขึ้นมาใหม่ หรือไปจดสิทธิบัตรเพราะไม่สามารทำได้ เนื่องจากพันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ 105 เป็นพันธุ์เก่าแก่ของไทย โอกาสที่สหรัฐจะจดสิทธิบัตรซ้ำซ้อนของไทยทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ หากนำเชื้อพันธุ์ข้าวหอมไทยบางส่วนไปผสมพันธุ์และได้พันธุ์ใหม่ออกมา ตรงนี้การปกป้องไม่ให้สหรัฐจดสิทธิบัตรคงทำได้ลำบาก แต่ยังเชื่อว่าในระยะอันสั้นการคิดค้นพันธุ์ข้าวของสหรัฐที่จะให้เหมือนกับพันธุ์ข้าวของไทยทุกอย่างคงทำได้ยาก แต่ในอนาคตเป็นเรื่องที่น่ากลัว นายพีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สมาคมไม่เห็นด้วยกรณีที่ทางรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการโปรโมตเฉพาะพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ในตลาดทั่วโลกเพียงพันธุ์ข้าวเดียว เพราะประเทศไทยยังมีพันธุ์ข้าวอื่นๆ รสชาติที่ไม่แตกต่างกัน โดยประชาสัมพันธ์เป็นทางเลือกกับผู้บริโภคทั่วโลก
(มติชน จันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2544 หน้า 5)
เนคเทค เร่งเครื่องสรรหาคณะกก.ธุรกรรมอิเล็กฯ
นางสาวสุรางคณา แก้วจำนงค์ ผู้อำนวยการโครงการกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทคร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ร่างระเบียบการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อสรรหาคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 เมษายนนี้ ซึ่งครบ 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคณะกรรมการสรรหาจะมีหน้าที่จัดตั้งคณะกรรมการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 14 คน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในคณะกรรมการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และมีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ขณะที่แหล่งข่าวในวงการไอที กล่าวว่า หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะกระตุ้นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ให้ขยายตัวขึ้น
(กรุงเทพธุรกิจ พฤหัสบดี ที่ 20 ธันวาคม 2544 หน้า 6)
ข่าววิจัย/พัฒนา
มจธ.วิจัยพัฒนาเพิ่มคุณภาพอัญมณีด้วย
เตาเผาพลอยประสิทธิภาพสูง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยอาจารย์และคณะวิจัย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้ร่วมกันวิจัยควบคุมบรรยากาศ และมีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ในการเผาพลอย รศ.ดร.พิเชษฐ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการเปิดเผยว่า เตาเผาพลอยอุณหภูมิสูงที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถควบคุมบรรยากาศที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,800 องศาเซลเซียส ซึ่งดีกว่าเตาไฟฟ้าแบบเก่าคือสามารถนำพลอยที่เผาแล้วออกจากเบ้าเตาที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,000-3,000 องศาเซลเซียสได้ โดยผนังเตาและลวดความร้อนไม่ชำรุดเสียหาย เพื่อปรับบรรยากาศการเผาพลอยได้สะดวก เพิ่มสีและคุณภาพของพลอยที่เผาให้สูงกว่ากรรมวิธีที่ใช้กันอยู่ทั่วไป รศ.ดร.พิเชษฐ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของเตาเผาดังกล่าวเชื่อว่าจะมีผลต่อการเพิ่มคุณภาพของอัญมณีและการเพิ่มรายได้ เพราะเป็นสินค้าที่ทำรายได้อยู่ใน 10 อันดับแรกของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2544 หน้า 20)
อาจารย์รม.เก่งคว้า 3 รางวัลโลก
นางอุไรวรรณ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยว่า จากการที่สถาบันฯ ได้ส่งผลงานวิจัยราชมงคลเข้าร่วมกิจกรรมแสดงนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ Brussels Eurcka 2001:50th Anniversary of the Word Exhibition Research and New Technology เมื่อวันที่ 13-19 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยการสนับสนุนของสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งสามารถคว้ารางวัล Bronze medal พร้อมประกาศเกียรติคุณมาได้ 3 รายการ ได้แก่ 1. การพัฒนาการเรียนการสอนศิลปะ เพื่อสร้างสำนึกร่วมกันต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดย ผศ.จินตนา วิกันตานนท์ วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วย โดย นายบุษรา สร้อยระย้า และนางจุฑา พีระพัชระ จากวิทยาเขตโชติเวช และ 3. ผลิตภัณฑ์จากพืชตระกูลเมา โดย นายวินัย แสงแก้ว และนางกาญจนา ตันสุวรรณรัตน์ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมเกษตรลำปาง ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2544 หน้า 20)
ก้าวที่กล้าของม.รังสิต ไม่ง้อฝรั่งนำร่องระบบอัตโนมัติผ่านดาวเทียม
ชวลิต ไทยประดิษฐ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เกิดประกายความคิดที่จะทำระบบนำร่องอัตโนมัติ (GPS Autopilot) สำหรับควบคุมเส้นทางการเคลื่อนที่ของแบบจำลองบังคับ ด้วยวิทยุให้เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่กำหนดลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ เขามุ่งประโยชน์ไปที่การเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อสำหรับใช้ในงานสำรวจทางอากาศ เพื่อลดค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ในงานสำรวจทางอากาศ อุปกรณ์หลักที่ใช้จะแบ่งเป็นส่วนฐานและส่วนเคลื่อนที่มี 1. ไมโครคอนโทรลเลอร์ 2. โน้ตบุ๊ก 3. อุปกรณ์วิทยุรับส่ง 4. เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GPS และ 5. เรือ โครงการลักษณะนี้สามารถนำไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เช่น ตั้งเส้นทางการบินเพื่อการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ พ่นสารเคมีเพื่อการเกษตร งานทางด้านทหาร อีกทั้งยังสามารถนำไปเชื่อมต่อกับแบบจำลองบังคับวิทยุได้หลายชนิด
(สยามรัฐ เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2544 หน้า 20)
เด็กไทยประกาศศักดิ์ศรีบนเวทีโลกกับ..รางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์นานาชาติ
ในการแข่งขันการประกวดมหกรรมหุ่นยนต์นานาชาติ Robo Festa Kanagawa 2001 ถึงแดนอาทิตย์อุทัยเมื่อเร็วๆ นี้ สัญญา บุญรัตน์, ธีระ อยู่สุข, จิรศักดิ์ วุฒิวรรณพงศ์ และสุรีย์พร เฉลิมพันธ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ลงแข่งขันในนามทีม micee@nb ได้ใช้ความมุ่งมั่นพยายามจนคว้ารางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์อัจฉริยะประเภท Intellingent Robot Contest 2001 พ่วงมาด้วย รางวัลพิเศษประจำงานรุ่น Challenge Course ที่มีให้เพียงรางวัลเดียวมาครองได้สำเร็จ และทีมคนเก่งจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็ไม่ยอมน้อยหน้าส่งหุ่นยนต์เสริฟน้ำเข้าประกวดเช่นกัน บริการได้ประทับใจกรรมการเลยคว้ารางวัลชนะเลิศประเภท Partner Robot Contest มาได้เช่นกัน
(สยามรัฐ พฤหัสบดี ที่ 20 ธันวาคม 2544 หน้า 20)
ติงเลิกใช้วัคซีนเอดส์ทดลองคนเหนือ
น.พ.จีรศักดิ์ คำบุญเรือง ที่ปรึกษาโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เอดส์ในภาคเหนือนั้น ได้ทำการศึกษาวิจัยสุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อเอดส์ประมาณ 7,000 คน จะติดเชื้อรายใหม่เพียง 2 คนเท่านั้น เมื่อสถานการณ์การติดเชื้อเอดส์ของภาคเหนือเป็นเช่นนี้ จึงไม่เหมาะสมที่โครงการวิจัยใดหรือบริษัทใดจะนำวัคซีนเอดส์มาทดลอง
(มติชน อังคารที่ 18 ธันวาคม 2544 หน้า 7)
มะกันพบวิธีผลิตวัคซีนกันมาลาเรีย ผ่านน้ำนมสัตว์ที่ตัดแต่งพันธุกรรม
รอยเตอร์รายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ทีมนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ บริษัทเจนไซม์ทรานส์จีนิกส์ แห่งเมืองฟลามิงแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์ ได้ประกาศการค้นพบวิธีการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรีย ที่ยังคงคร่าชีวิตคนมากถึง 2.7 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี โดยทีมนักค้นคว้าทดลองดังกล่าว ได้ประสบผลสำเร็จในการผลิตวัคซีนด้วยการตัดแต่งพันะกรรมในต่อมน้ำนมของหนูทดลอง 2 ตัว ให้สามารถผลิตโปรตีนที่เป็นแอนติเจน หรือตัวสร้างภูมิต้านทานในยีนของตัวพาราสิตพลาสไมเดียม ฟาลสิพารุ่ม หรือเชื้อมาลาเรียนี้จนประสพผลสำเร็จ และกำลังรอเวลาที่จะทดลองกับแพะทดลอง 2 ตัวของบริษัท ในทำนองเดียวกันเพื่อจะดูว่าจะให้ผลอย่างเดียวกันหรือไม่
(มติชน พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 20)
นักวิจัยดัตช์เอาจริง ศึกษา ตายแล้วฟื้น
คณะนักวิจัยในฮอลแลนด์ ศึกษา ประสบการณ์หลังความตาย เป็นครั้งแรกชี้เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ยังมีอยู่แม้ในขณะสมองหยุดทำงานแล้ว ทั้งนี้ คณะนักวิจัยในฮอลแลนด์ได้เก็บข้อมูลเรื่องนี้ โดยสัมภาษณ์ผู้ป่วยหลายร้อยคนที่เคยมีประสบการณ์ชีพจรหยุดเต้นสมองไม่ทำงาน ซึ่งถือได้ว่า ตายไปแล้วในทางการแพทย์ แต่ได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์จนฟื้นสติขึ้นมาได้ ผลการศึกษาพบว่า 18% ของผู้ป่วยเหล่านี้สามารถจดจำได้ถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่ตัวเองหมดสติ นอกจากนี้ 8-12% ของผู้ถูกสำรวจ ยังมีประสบการณ์ที่เข้าข่าย ประสบการณ์หลังความตาย อาทิ การมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หรือ การพบและพูดคุยกับเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว
(กรุงเทพธุรกิจ พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 10, 16)
ข่าวทั่วไป
เด็กไทยชอบนมหวาน เจอ ฟันผุ ถามหากรมอนามัยแก้ปัญหาคุมบริโภคน้ำตาล
พ.ญ.นันทา อ่วมกุล กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2539 ในศูนย์เด็กเล็กได้รับนมหวานถึงร้อยละ 83 แม้ว่ามีการศึกษายืนยันว่า นมธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดฟันผุขึ้นอย่างแน่นอน นมหวานมีส่วนทำให้ฟันผุได้ เพราะมีรายงานการศึกษาในกรุงเทพมหานคร พบว่า เด็กที่ดื่มนมหวานในช่วงอายุ 0-2 ปีมีฟันผุมากกว่าเด็กที่ดื่มนมจืด แม้เด็กที่ดื่มนมหวานและแปรงฟันเป็นประจำยังมีฟันผุมากกว่าเด็กที่ดื่มนมจืด และไม่ได้แปรงฟันอย่างสม่ำเสมออีกด้วย และการดูดนมจากขวด การดูดนมและหลับคาขวดนมในช่วงอายุ 0-2 ปีจะทำให้ฟันผุมากกว่าเด็กที่ดื่มนมจืด ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของเด็กวัยเรียนใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า เด็กมีพฤติกรรมนอนหลับคาขวดนมถึงร้อยละ 29 ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก
(มติชน พุธที่ 19 ธันวาคม 2544 หน้า 7)
จิบชา-น้ำขิงแก้ท้องเสีย
สมุนไพรที่ช่วยแก้ท้องเสียคือใบชาจีนที่เป็นชาดำซึ่งจะมีรสฝาด นำใบชามาชงน้ำร้อนให้เข้มสุดๆ สารที่มีรสฝาดในใบชา คือ สารกลุ่มแทนนิน มีฤทธิ์ฝาดสมานเนื้อเยื่อบุผิวอ่อนๆ ในลำไส้ที่ถูกพิษจากเชื้อโรคหรือพิษจากอาหาร โดยจะทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผิวที่กำลังอักเสบ ทำให้เกิดเป็นฟิล์มบางๆ คุมเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารและลำไส้ไว้ไม่ให้สารพิษ หรือเชื้อโรคเข้าไปทำอันตรายเพิ่มเติมขึ้น นอกจากนี้สารที่มีรสฝาดจะไปทำปฏิกิริยากับเชื้อโรค ซึ่งเป็นโปรตีนเหมือนกันทำให้เชื้อโรคตายด้วย สำหรับอาการปวดมวนท้องที่ทำให้รู้สึกไม่สบายในท้องในช่วงที่ท้องเสีย การย่อยอาหารจะทำได้ไม่ดีนัก ดังนั้นจึงควรงดอาหารแต่ดื่มน้ำชาแก่ๆ สลับกับน้ำขิงเข้มๆ น้ำขิงจะช่วยให้ระบบท้องดีขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่จะมาช่วยรักษาอาการท้องเสียเช่น ขมิ้น เทียนตากบ เป็นต้นไม้กลุ่มเดียวกับผักชี จะมีน้ำมันหอมระเหยลดอาการมวนท้องที่เกิดจากการท้องเสียได้ดีมาก เช่นเดียวกับลูกผักชีและอบเชย เอามาใส่รวมกับใบชาแล้วชงน้ำดื่มเพื่อให้ใบชามีรสชาด และกลิ่นที่ดีขึ้นแล้วยังช่วยลดอาการปวดมวนท้อง และอาการถ่ายท้องด้วย โดยดื่มทุก 2 ชั่วโมงสลับกับน้ำขิง
(กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2544 หน้า 3)
ปีหน้าเก็บตังค์ใช้ส้วมไฮเทค คนละ 2 บาทนั่งได้แค่ 15 นาที
นายวัฒนา ล้วนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด เปิดเผยว่า การติดตั้งสุขาสาธารณะระบบไฮเทคใกล้ได้ผู้ลงทุนแล้ว เบื้องต้นสำรวจจุดที่เหมาะสมไว้ 72 จุด ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและประชาชนผ่านมาก สุขาสาธารณะไฮเทค จะทำด้วยสเตนเลสภายในกว้าง 1-1.5 ตร.ม. เป็นสุขารวมใช้ได้ทั้งชายและหญิง เมื่อจะใช้ต้องหยอดเหรียญประตูจะเปิด มีกำหนดเวลา 15 นาที หากต้องการจะใช้ต่อจะต้องออกมาหยอดเหรียญใหม่ ถ้าทำธุระเสร็จก่อนสามารถกดปุ่มหรือปิด-เปิดประตูได้ สุขาจะมีระบบทำความสะอาดตัวเองพร้อมน้ำยาดับกลิ่นเมื่อใช้เสร็จน้ำจะไม่ออกมาเลอะเทอะ
(เดลินิวส์ อังคารที่ 18 ธันวาคม 2544 หน้า 34)
ปลายปี 45 ประเดิมฉีดยาประหารนักโทษ
นายศิวะ แสงมณี อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงเรื่องการประหารชีวิตนักโทษด้วยวิธีฉีดยาว่า ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า (ก.พ.45) เรื่องนี้ รมว.มหาดไทย ได้แนะให้กรมราชทัณฑ์ทำรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติชี้แจงต่อสื่อมวลชน ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะนำข้อมูลไปสรุปเริ่มตั้งแต่ห้องประหารชีวิตด้วยการฉีดยา จะมีรูปแบบอย่างไร มีสารเคมีชนิดใดบ้าง หากตายแล้วต้องเก็บศพไว้กี่ชั่วโมง รวมถึงจะต้องมีสักขีพยานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง หรืออาจเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ด้วย รวมถึงญาติผู้เสียหายและญาตินักโทษเข้าไปดูได้หรือไม่
(เดลินิวส์ อังคารที่ 18 ธันวาคม 2544 หน้า 19)
KMUTT
Digital Library
Contact Digital Library : info@lib.kmutt.ac.th
Tel : 0-2470-8215
|
|
|