สุชาดา ไชยสวัสดิ์
สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อโรมาเธอราปีคืออะไร
อโรมาเธอราปี(AROMATHERAPY)หรือ สุคนธบำบัด เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการใช้น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ (ESSENTIAL OIL) เพื่อบำบัดรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค ทำให้สุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนช่วยเสริมความงาม โดยอาศัยคุณสมบัติที่มีกลิ่นหอมและระเหยได้ของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งโมเลกุลเล็กๆ ของน้ำมันหอมระเหยสามารถถูกสูด (INHALE) เข้าทางช่องจมูก และแปรเป็นสัญญาณไฟฟ้าเคมี ส่งผ่านไปยังสมองส่วนกลาง หรือซึมผ่านผิวหนังไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีผลทำให้การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกายถึงจิตใจรวมถึงอารมณ์ได้สมดุล จึงสามารถบำบัดอาการต่างๆ ได้ เช่น ลดความเครียด ช่วยให้หลับสบาย หรือกระตุ้นให้สดชื่น มีพลัง ตลอดจนมีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิดได้ นอกจากนี้ผลทางร่างกายยังช่วยลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค ลดอาการระคายเคืองของผิวหนัง ตลอดจนช่วยเสริมความงามทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น เต่งตึง การใช้สุคนธบำบัดจัดเป็นศิลปะในการรักษาโรค (HEALING ARTS) ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ ในการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยกับอาการหรือผลที่ต้องการรักษา ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลด้วย เพราะน้ำมันหอมระเหยอาจมีผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป แม้จะมีผลต่อทางร่างกายหรือคุณสมบัติที่เหมือนกันก็ตาม
 
น้ำมันหอมระเหย(Essential Oils) คืออะไร
น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่พืชผลิตขึ้นตามธรรมชาติ เก็บไว้ตามส่วนต่างๆ เช่น กลีบดอก ใบ ผิวของผล เกสร รากหรือเปลือกของลำต้น เวลาที่ได้รับความร้อนอนุภาคเล็ก ๆ ของน้ำมันหอมเหล่านี้จะระเหยออกมาเป็นกลุ่มไอรอบๆ ทำให้เราได้กลิ่นหอม อบอวลไปทั่ว ช่วยดึงดูดแมลงให้มาผสมเกสรดอกไม้ ปกป้องการรุกรานจากศัตรู และรักษาความชุ่มชื้นแก่พืช สำหรับประโยชน์ต่อมนุษย์นั้น น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการอักเสบหรือลดบวม คลายเครียด หรือ กระตุ้นให้สดชื่น ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด





องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหย เป็นอย่างไร
องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยมีอยู่มากมายหลายร้อยชนิด แต่สามารถแยกเป็นกลุ่มของสารได้เป็น7 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะออกฤทธิ์ในการบำบัดที่แตกต่างกันดังนี้ กลุ่ม Alcohols สารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติ ฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อไวรัส ยกระดับจิตใจ ได้แก่ Linalol citronellol geraniol borneol menthol nerol teppineol ฯลฯ กลุ่ม Aldehydes สารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการระงับประสาท ยกระดับจิตใจ ลดการอักเสบ ลดความอ้วน ขยายหลอดเลือด และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ตัวอย่างได้แก่ Cidral citronellal neral geranial กลุ่ม Esters มีคุณสมบัติระงับประสาท สงบอารมณ์ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ และต้านเชื้อราได้แก่ linalyl acetate geranyl acetate bomyl acetate eugenyl acetate lavendulyl acetate กลุ่ม Ketones สาร Ketones มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดลม ละลายเสมหะ เสริมสร้างเนื้อเยื่อ และลดการอักเสบได้แก่ Jasmone fenchone camphor carvone menthone กลุ่ม Oxides ในสารกลุ่มนี้ มีคุณสมบัติในการขับเสมหะ ละลายเสมหะที่สำคัญได้แก่ Cineol นอกนั้นก็มีสารที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และการกระตุ้นระบบประสาทได้แก่ Linalol oxide ascaridol bisabolol oxide bisabolon oxide กลุ่ม Phenols มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นระบบประสาท และภูมิต้านทานของร่างกายได้แก่ Eugenol thymol earvacrol กลุ่ม Terpenesสารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อและลดการอักเสบ ประกอบด้วย Camphene cadinene caryophyllene cedrene dipentene phellandrene terpinene sabinene mycrene สาร sesquiterpenes เช่น chamazulene farnesol มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย สาร limonene มีคุณสมบัติต้านไวรัส pinene มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ เป็นต้น โดยปกติน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดจะมีสารประกอบทางเคมีตั้งแต่ 50-500 ชนิด องค์ประกอบทางเคมีแต่ละชนิด ก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ดังที่กล่าวแล้ว แต่เมื่อมาผสมผสานกันอยู่ มันก็ทำให้เกิดคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ ของน้ำมันหอมระเหยจากพืชแต่ละชนิด ที่มีจุดเด่นความเหมือนและความแตกต่างในการบำบัดต่างกันออกไป

การสกัดน้ำมันหอมระเหยทำได้อย่างไร

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชในปัจจุบันสามารถ ทำได้ใน 6 วิธีการ คือการกลั่น (Distillation) เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดเพราะทำง่าย ประหยัด ได้น้ำมันหอมระเหยปนมากับน้ำ แยกเป็น 2 ชั้น ซึ่งแยกออกได้ง่ายจะได้น้ำมันหอมระเหย (essential oil) และน้ำปรุง (aromatic water, floral water หรือ hydrosol) วิธีการกลั่นอาจแบ่งได้เป็นการกลั่นด้วยน้ำ (Water distillation)การกลั่นด้วยน้ำ และไอน้ำ (Water and steam distillation หรือ hydrofiffusion) และการกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam distillation) โดยการบีบ (Mechanical Expression) ใช้สำหรับพืชที่มีถุงน้ำมันอยู่ใต้เปลือก ซึ่งมีองค์ประกอบที่สลายตัวโดยความร้อน โดยวิธี Enfleurage เป็นวิธีที่เก่าแก่ มักใช้กับกลีบดอกไม้ ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยปริมาณน้อย ทำโดยใช้ fixed oil หรือไขมัน (fat) ชนิดที่ไม่มีกลิ่นมาแผ่เป็นฟิล์มบางๆ บนกระจก นำกลีบดอกไม้มาโปรยบนฟิล์มนี้ ตั้งทิ้งไว้หลายๆ ชั่วโมง เก็บกลีบดอกไม้ออก แล้วโปรยชุดใหม่ลงไปแทน ไขมันจะดูดซับน้ำมันหอมระเหยไว้ จากนั้นนำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ เพื่อแยกน้ำมันหอมระเหยออกมาแล้วกลั่นเพื่อแยกแอลกอฮอล์ออกไป โดยการสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction) เป็นการสกัดโดยใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสมซึ่งเป็น Volatile hydrocarbon เช่น hexane, benzene หรือ petroleum ether สกัดเอาสารหอมออกมา วิธีนี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นคงเดิม เพราะไม่เกิดการสลายตัว เหมาะสำหรับพืชที่ทนความร้อนสูงไม่ได้ เช่น มะลิ ซ่อนกลิ่นแต่ราคาแพง ปัจจุบันนิยมใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมโดยการกลั่นแบบ Destructive distillation นิยมใช้ในการกลั่นน้ำมันจากพืชวงศ์ Pinaceae และ Cupressaceae โดยการนำพืชมาเผาในที่อากาศไม่เพียงพอ จะเกิดการสลายตัวได้สารระเหยออกมา สกัดโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวภายใต้ความดันสูง (Supercritical Carbon-dioxide Extraction) วิธีนี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมมาก เพราะประสิทธิภาพการสกัดสูง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้ความดันสูง (200 เท่าของความดันบรรยากาศและอุณหภูมิ 33OC) จะกลายสภาพกึ่งเหลวกึ่งก๊าซเรียกว่า Supercritical state มีคุณสมบัติในการละลายสูง (solvent properties) จะสามารถสกัดสารหอมออกมาได้มาก ข้อดีคือ ไม่ใช้ความร้อนดังนั้นสารหอมต่างๆจะไม่สลายตัว จะคงสภาพเหมือนในสภาวะธรรมชาติ แต่วิธีนี้ต้องใช้เครื่องมือราคาแพงและวิธีการยุ่งยาก

 
 
วิธีการบำบัดโดยใช้อโรมาเธอราปีทำได้อย่างไร
วิธีการบำบัดโดยใช้อโรมาเธอราปีสามารถทำได้มากมายหลายวิธี ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี6วิธีหลักดังนี้คือ การอาบ เป็นวิธีในการบำบัดโดยใช้อโรมาเธอราปี แบบ ง่าย ที่สามารถทำเองได้ ภายในบ้านโดยทำการ ผสมน้ำอุ่นในอ่างน้ำสำหรับลงแช่อาบ แล้วหยดน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 6-8 หยด ลงในอ่างน้ำ แช่ทั้งตัวสักประมาณ 20 นาที ไอระเหยจากอ่างน้ำอุ่น และการซึมทางผิวหนังด้วยการแช่ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นบรรเทาอาการปวดเมื่อยและคลายเครียด การประคบ เป็นวิธีการบำบัดโดยใช้อโรมาเธอราปี แบบง่าย อีกวิธีหนึ่งสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยโดยใช้ผ้าขนหนูสะอาด ชุบน้ำที่ผสมน้ำมันหอมระเหยประคบ ตามบริเวณที่ต้องการ ยกเว้นบริเวณดวงตา ในส่วนผสมที่ใช้น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดต่อน้ำอุ่น 100 มล. การประคบนี้เป็นการบำบัดเฉพาะที่ จะช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้นและหายปวดเมื่อย การสูดดม เป็นวิธีการทางอโรมาเธอราปีอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กลิ่นหอม จากน้ำมันหอมระเหยเพื่อการบำบัดด้วย การสูดดมกลิ่นหอมอย่างเดียวโดยไม่มีการสัมผัสทางผิวหนัง ทำได้ 2 วิธีคือ ใส่น้ำมันหอมระเหย 2-3 หยด ในชามที่เตรียมน้ำอุ่นไว้แล้วก้มลงสูดดมสัก 2-3 นาที หรือหยด น้ำมันหอมระเหย 1-2 หยด ในผ้าเช็ดหน้าแล้วสูดดม ใช้บำบัดเพื่อการผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นให้สดชื่น และให้พลัง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำมันหอมระเหยโดยตรง เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง การสูดไอน้ำ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบำบัดทางอโรมาเธอราปี แบบ ง่าย โดยอาศัยคุณสมบัติของน้ำมันระเหยบางชนิดที่ เป็น แอนตี้เซปติก (Antiseptic) ฆ่าเชื้อโรคได้ เมื่อสูดดมไอน้ำจากน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้เข้าไป จะช่วยกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจได้ การอบห้อง เป็นวิธีการทางอโรมาเธอราปีชนิดหนึ่ง ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อการบำบัดด้วยการอบห้องให้หอม โดยใช้ หลักการอบห้องเพื่อฆ่าเชื้อโรค ในโรงพยาบาล น้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจะถูกอบอวล ในห้องที่ปิดมิดชิดสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ในกรณีที่ต้องการให้ห้องหอมตามกลิ่นที่ต้องการ ก็สามารถทำได้ โดย หยดน้ำมันหอมระเหย 3-4 หยด ในน้ำที่เตรียมใส่ในจานสำหรับเผา (Aroma Jar) แล้วจุดเทียนไว้ในห้อง ความร้อน จากเทียน จะทำให้กลิ่นหอม จากน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย ส่งกลิ่นอบอวลไปทั่วห้อง ควรอบไม่เกิน 10 นาที ต่อครั้ง การนวด เป็นวิธีการทางอโรมาเธอราปีอีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อการบำบัด ด้วยการสัมผัสทางผิวหนัง เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะด้วยสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด จะสามารถช่วยบำบัดรักษาโรคได้ ตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังด้วยการนวด ส่วนกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้ประสาทสัมผัสรับกลิ่น ปรับอารมณ์ให้รู้สึกสบายขึ้นไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการใช้น้ำมันหอมระเหย ที่มีคุณภาพดี และเลือกใช้ให้เหมาะกับความต้องการในการบำบัด จะทำให้การนวดเพื่อการบำบัดนี้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น



บรรณานุกรม
1. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ : “สุคนธบำบัด” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนาคม 2545
2. คมสัน หุตะแพทย์ “มหัศจรรย์น้ำมันหอมระเหย : น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้และสมุนไพร” วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 3/2546 พ.ศ.2546
3. ประเทืองศรี สินชัยศรี : การสกัดน้ำมันหอมระเหย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. วิรดี ศรอ่อน : การสกัดน้ำมันหอมระเหย วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 9/2543
5. http://www.deancoleman.com
6. http://www.essentialoils.co.za








Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th