1.
เอนไซม์เซอร์เตียนชะลอความแก่
2.
อาหารเสริมให้ประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่
3.
นักวิจัยไทยที่ได้รับเลือกให้ไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้กับนักวิจัยญี่ปุ่น
4.
ไฟฟ้าจากเกลียวคลื่น
5.
สาหร่ายสไปรูลิน่า อาหารโปรตีนสำหรับปลา
6.
ประเทศไทยเป็นครัวของโลก นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริม
7.
ผีเสื้อโมนาร์คกับข้าวโพด GMOs
8.
โรควัวบ้า ( Mad cow disease strikes U.S )
9.
เตือนอันตราย ตั้งศูนย์ไบโอเทคโลกในไทย
10.
EM จุลินทรีย์สารพัดประโยชน์
1. เอนไซม์เซอร์เตียนชะลอความแก่
ผลงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ได้ค้นพบเอนไซม์พิเศษที่ชื่อว่า เซอร์เตียน จะพบในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากพืชผัก และในไวน์แดง ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้เซลล์ของยีสต์ และเซลล์ของมนุษย์ ที่ถูกทำลายมีอายุยืนยาวขึ้นมากกว่าเดิม ช่วยลดปริมาณแคลอรีในร่างกาย ปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย และยังสามารถยืดอายุของแมลงวันและหนอนพยาธิ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีระบบชีววิทยาโมเลกุลคล้ายๆ กับมนุษย์อีกด้วย จากการทดลองโดยนำเอนไซม์เซอร์เตียน ใส่เข้าไปในเซลล์ของยีสต์ที่เลี้ยงไว้ในจานเพาะเลี้ยงพบว่ามีจำนวนของเซลล์ลูกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 70 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าเซลล์ของยีสต์อ่อนเยาว์ลงและได้เพิ่มเซอร์เตียนลงในเซลล์ของมนุษย์ ที่ดีเอ็นเอถูกทำลายจากการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีรังสี พบว่าเซลล์ของมนุษย์มีอายุยาวขึ้น
วารสารสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
http://www.scimagazine.com/news/detail.asp?id=248
(ม.ค.47)
2. อาหารเสริมให้ประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่
จากการรายงานผลการวิจัยที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเสริมของคนไทย นิยมบริโภคอาหารเสริมสูงถึง 2-3 ชนิดต่อคน ที่นิยมมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ซึ่งนักวิชาการด้านโภชนาการเตือนว่า ผลิตภัณฑ์บางชนิดมีผลข้างเคียงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ และจากผลการวิจัย เรื่อง การสร้างสุขภาพอย่างไรไม่ต้องใช้อาหารเสริม พบว่า ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อจากการโฆษณา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีรายได้น้อย และได้ใช้อาหารเสริมเพื่อการลดน้ำหนัก บางรายรับประทานมากกว่า 2-3 ชนิด บางครั้งผู้ปกครองเป็นผู้จัดซื้อให้เพื่อบำรุงสมอง และยังไม่มีรายงานชัดเจนถึงผลกระทบจากอาหารเสริม แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ วิงเวียนหรือ ปวดศีรษะ อุจจาระเป็นสีดำ ท้องเสีย ท้องผูก มีกลิ่นตัว เหงื่อออกมาก ตัวอย่างทางด้านคุณค่าทางโภชนาการและผลกระทบ พบว่าอาหารเสริมประเภทซุปไก่สกัด มีคุณค่าทางอาหารเพียงไข่ไก่ฟองเดียว ส่วนสาหร่ายสไปรูไลน่า มีปริมาณกรดนิวคลิกสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ และรังนก มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า กินแล้วผิวพรรณอ่อนวัย ขณะที่อีฟนิ่ง พิมโรส พบว่ามีผลข้างเคียงต่อผู้ที่เป็นโรคลมชัก และน้ำมันตับปลาอาจจะทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลไม่หยุด อาจทำให้เกิดสภาวะขาดวิตามินอี
วารสารสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
http://www.scimagazine.com/news/detail.asp?id=250
(ม.ค.47)
3. นักวิจัยไทยที่ได้รับเลือกให้ไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้กับนักวิจัยญี่ปุ่น
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ได้คัดเลือก ดร.วรณพ วิยกาญจน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยไทยคนแรกให้ไปทำงานวิจัยทางด้านสมุทรศาสตร์และทะเลที่ขั้วโลกใต้กับนักวิจัยญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 เดือน ในกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2547 นี้ หัวข้อวิจัยที่เสนอมี 2 เรื่อง คือ 1. การศึกษาวิจัยสีของน้ำทะเล ซึ่งสีของน้ำทะเลจะแบ่งแยกลักษณะของแพลงตอนที่อยู่ในน้ำเกิดจากคลอโรฟิล ทำให้รู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ 2. สำรวจสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกใต้ว่า มีพฤติกรรมความเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กันอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับห่วงโซ่อาหารกันแบบใด และก่อนเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้จะต้องไปฝึกเตรียมความพร้อมของร่างกายที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นการเริ่มต้นในการพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าด้านสมุทรศาสตร์และทะเลครั้งสำคัญของไทย
สำนักข่าวไทย
http://tnanews.mcot.net/
( 23 มกราคม 2547 )
4.ไฟฟ้าจากเกลียวคลื่น
รัฐบาลสหราชอาณาจักร ผ่านองค์กรศูนย์พลังงานจากทะเลแห่งยุโรป (EMEC : European Marine Energy Center) ให้ทุนส่งเสริมการวิจัย 5.65 ล้านปอนด์ (ประมาณ 340 ล้านบาท) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาการสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้นแบบจากพลังงานคลื่นในทะเล เมื่อ 30 ปีที่แล้ว วิศวกรชาวอังกฤษ สตีเฟน ซอลเทอร์ ได้เริ่มต้นสร้างอุปกรณ์กำเนิดพลังงานจากคลื่นชื่อเอดินเบิร์ก ดักส์ ได้ประสบปัญหาต่อความเสี่ยงที่อุปกรณ์จะเสียหายจากการโดนคลื่นน้ำทำลาย มีต้นทุนสูง และต่อมาด้วยความรุนแรงของคลื่นได้ทำให้โครงการทดลองโรงจักรไฟฟ้าพลังคลื่นของยุโรปที่ อซอเรส (Azores) ต้องล่าช้าไปสองปี มีเพียงโรงจักรไฟฟ้าจากคลื่นขนาด 500 กิโลวัตต์ในโครงการลิมเพ็ต (Limpet)บริเวณเกาะไอสเลย์ ทางตะวันตกของสก็อตแลนด์เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จากแนวคิดของโรงจักรไฟฟ้าโครงการลิมเพ็ต คือจับการเคลื่อนที่ของคลื่นให้ผลักดันอากาศในลูกสูบที่เคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่ง การไหลของอากาศจะทำให้เกิดแรงขับกังหันเพื่อปั่นไฟฟ้า ได้มีผู้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการของ EMEC เป็นรายแรกคือ เพลามิส (Pelamis) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โอพีดี (OPD: Ocean Power Device) ในเอดินเบิร์ก ที่จะสร้างโรงจักรไฟฟ้าต้นแบบขนาด 750 กิโลวัตต์โดยมั่นใจในโครงการโรงจักรไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถทนต่อคลื่นยักษ์ขนาดความสูง 28 เมตรได้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นในภูมิภาคอื่นก็ยังมีหลายแห่งทั่วโลก และมีการประเมินว่าในอนาคต การใช้ไฟฟ้าจากคลื่นจะมีมากถึงร้อยละสิบของการใช้พลังงานทั้งหมด จึงนับเป็นช่องทางที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากคลื่นที่มีการต้องพัฒนาให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นไปอีก
แปลและเรียบเรียงจาก Power from the waves, New Scientist, 20 September 2003
5. สาหร่ายสไปรูลิน่า อาหารโปรตีนสำหรับปลา
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า (Spirulina platensis) หรือสาหร่ายเกลียวทอง เพื่อใช้เป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะปลาสวยงามได้เป็นผลสำเร็จ จากผลการวิจัยของนายจงกล พรหมยะและคณะ ได้เพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าในน้ำเสียที่ความเข้มข้น 20% ผสมกับสารเคมีบางชนิด เพาะเลี้ยง 15-20 วัน เก็บผลผลิตน้ำหนักแห้งได้ 0.5-1 กรัม/น้ำ 1 ลิตร นำไปศึกษาเลี้ยงปลาทองโดยใช้อาหาร 3 สูตร สูตรที่ 1 เป็นอาหารผสมที่มีปลาป่นเป็นองค์ประกอบโปรตีน 30% สูตรที่ 2 ใช้อาหารผสมสาหร่าย 15% แทนปลาป่นที่มีโปรตีน 30% สูตรที่ 3 ใช้สาหร่าย 100% มีโปรตีน 54.66% พบว่า อาหารเลี้ยงปลาทองสูตรที่ 2 และ 3 มีอัตราการรอดตายและสีของปลาสวยงามกว่าสูตรที่ 1 จึงได้พัฒนาโดยผลิตเป็นอาหารเม็ดโปรตีน 30% มีส่วนผสมสาหร่าย กากถั่วเหลือง รำละเอียด ปลายข้าววิตามิน นอกจากนี้ ยังผลิตในรูปแช่แข็งและผงใช้ในการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน ปลาถึงระยะเจริญพันธุ์ เพื่อเสริมการพัฒนาไข่ น้ำเชื้อ และเร่งสีของปลาโดยเฉพาะปลาแฟนซีคราฟให้มีความเข้ม แล้วยังใช้เลี้ยงปลาหมึก ปู หอย กุ้งสด ได้อีก
เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 326 1 ม.ค.47
http://www.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=0513010147&srcday=2004/01/01&search=no
(23 ม.ค.47)
6. ประเทศไทยเป็นครัวของโลก นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริม
การกำหนดพันธกิจของประเทศไทยให้เป็นผู้นำการส่งออกสินค้าอาหาร การผลิตอาหารที่ถูกสุขอนามัย มีคุณภาพ และสอดคล้องตามมาตรฐานเกณฑ์ใหม่ ๆของโลก ให้มีระบบการผลิตระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่มีคุณภาพและปริมาณที่สมดุลกัน โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ร่วมผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยให้เพิ่มสูงขึ้น และพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าอาหารให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าอาหาร ประเภทกุ้งสดและไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋อง โดยทำรายได้จากการส่งออกปีละกว่า 270,000 ล้านบาท สินค้าที่ส่งออก ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ผักผลไม้สดและแปรรูป สินค้าปศุสัตว์แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่ม โดยส่งออกไปที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและอื่น ๆ แต่ไทยต้องประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ มาตรการการกีดกันทางการค้า และมาตรการอื่น ๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงดำเนินการ ผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยสูงขึ้น พัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าอาหารไทยให้ได้มาตรฐาน ให้สินค้าอาหารเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายส่งเสริมอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในอันดับ 2 ของโลกภายใน 5 ปี
รัฐพร ปรีชาศาสตร์ วารสารสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต.ค. - ธ.ค. 46
7. ผีเสื้อโมนาร์คกับข้าวโพด GMOs
นักวิทยาศาสตร์ประจำสถานีทดลองการเกษตรรัฐนิวยอร์ก มหาวิทยาลัยคอร์เนล ไม่เชื่อว่าละอองเกสรจากข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมจะเป็นอันตรายต่อผีเสื้อโมนาร์ค ( monarch butterflies ) แอนโทนี เชลตัน ศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎร ถึงบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature กล่าวถึงละอองเกสรจากข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมเพื่อสร้างโปรตีน Bacillus thuringiensis ( BT ) สำหรับควบคุมแมลง อาจฆ่าหนอนผีเสื้อ Danus plexippus หรือผีเสื้อโมนาร์ค ว่าเป็นการศึกษาเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการทดลองเท่านั้น แต่จากการศึกษาในแปลงทดลองแสดงให้เห็นว่าตัวอ่อนของผีเสื้อโมนาร์ค อาจไม่ได้สัมผัสกับละอองเกสรข้าวโพดปริมาณมากเหมือนในห้องทดลอง เนื่องจากละอองเกสรข้าวโพดบีทีไม่แพร่กระจายเป็นบริเวณกว้าง และต้นมิลค์วีดที่เป็นอาหารของผีเสื้อโมนาร์คส่วนใหญ่อยู่ในทุ่งเลี้ยงสัตว์ และไร่นาเก่า ไม่ใช่ไร่ข้าวโพด นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าละอองเกสรข้าวโพดบีทีไม่ทำให้ผีเสื้อโมนาร์คตกอยู่ในอันตราย
8. โรควัวบ้า ( Mad cow disease strikes U.S )
ประเทศต่างๆ ร่วมแบนเนื้อวัวจากอเมริกาหลังตรวจพบเชื้อวัวบ้า หรือ bovine spongiform encephalopathy (BSE) มากกว่า 20 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่เป็นผู้ซื้อเนื้อวัวรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้สั่งห้ามการนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ หลังการตรวจพบเชื้อโรควัวบ้าในวัวตัวหนึ่งในรัฐวอชิงตัน จากการแถลงผลการสอบสวนพบว่าเชื้อวัวบ้ามาจากอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงวัว โรควัวบ้า ( bovine spongiform encephalopathy (BSE )) เป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตและไม่มีทางรักษา สามารถติดเชื้อได้จากการรับประทานเนื่อเยื่อประสาทของวัวโดยเฉพาะสมอง และกระดูกไขสันหลัง ประเทศที่มีการแพร่ระบาดโรควัวบ้าได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บางประเทศในยุโรปและแม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งมีระบบการตรวจสอบเข้มงวดที่สุดในโลก ก็ได้ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจพบโรควัวบ้า จำนวน 2 ตัว นอกจากนี้ยังแนะนำให้สหรัฐใช้ระบบการตรวจสอบของญี่ปุ่นซึ่งจะตรวจหาเชื้อวัวบ้าจากวัวทุกตัวที่ส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์อีกด้วย
Mad Cow Disease Strikes U.S. Nittaya Maphungphong Washington, DC30 Dec 2003
9. เตือนอันตราย ตั้งศูนย์ไบโอเทคโลกในไทย
นายจักรชัย โฉมทองดี คณะทำงานโลกาภิวัฒน์ภาคประชาชนเพื่อสันติภาพกล่าวถึงผลการประชุมเอเปกซี่งศึกษาจากแถลงการณ์การประชุมวันที่ 17 18 ตุลาคม ว่าไม่มีการทบทวน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และเรื่องการรับรองมติเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้นายเจริญ คัมภีรภาพ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษานโยบายและกฏหมาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงประเด็นการพิจารณาผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางไบโอเทคโนโลยีว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เนื่องจากการขยายอิทธิพลของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพ สารเคมีและยา รวมถึงการขยายตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าเทคโนโลยีชีวภาพเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย จะส่งผลกระทบต่อระบบการเกษตรและเกิดการเอารัดเอาเปรียบทางสังคม เนื่องจากไม่มีองค์กรใดที่จะคุ้มครอง โดยเฉพาะโอกาสที่กรณีโรคซาร์ส ไวรัสอื่นๆ หรือสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นจำนวนมากในห้องทดลอง ใครคือผู้รับผิดชอบ
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 21 ต.ค.2546
http://www.manager.co.th/asp-bin/viewnews.asp?newsid=4618178994059
(22 ม.ค.47)
10. EM จุลินทรีย์สารพัดประโยชน์
ความเป็นมาและประโยชน์ของ EM กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ EM คือกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่ ศ. ดร. เทรูโอะ ฮิงะ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญสาขาพืชสวนแห่งมหาวิทยาลัยริวกิว ประเทศญี่ปุ่น ค้นพบเมื่อปี 2526จากการค้นคว้าพบว่าจุลินทรีย์มี 3 กลุ่ม คือกลุ่มสร้างสรรค์ กลุ่มทำลายและกลุ่มที่เป็นกลาง ดังนั้นการเพิ่มจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ลงในดินจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินได้ EM ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากธรรมชาติ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเชื้อราที่เป็นเส้นใย ( Filamentous fungi ) กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ( Photosynthetic microorganisms ) กลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก ( Fermented microorganisms ) กลุ่มจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน ( Nitrogen fixing microorganisms ) และกลุ่มจุลินทรีย์สร้างกรดแลคติก ( Lactic acid producing microorganisms ) ซึ่งจุลินทรีย์ทั้ง 5 กลุ่มนี้จะร่วมกันปรับปรุงและเพิ่มคุณภาพให้กับดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ EM ทั้งในด้านปศุสัตว์ ประมง สิ่งแวดล้อมและใช้กับพืชได้ทุกชนิด ในการใช้ EM นั้นสามารถใช้ได้ 2 รูปแบบคือ การใช้ EM สดซึ่งยังไม่ได้ทำการแปรสภาพ เช่น การใช้ในรูปปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยแห้ง หรือใช้กับสัตว์ อีกรูปแบบหนึ่งคือการใช้กับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ในการย่อยสลายของเสีย บำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่น เป็นต้น
ธิดา ศรีปวน หน่วยวิจัยเอนไซม์วิทยาและเทคโนโลยี
http://www.ist.cmu.ac.th/riseat/index.php
(22 ม.ค.47)
Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th