พืชพันธุ์ วัสดุชีวภาพเพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในอาคาร เราต่างทราบดีอยู่แล้วว่า พืชพันธุ์หรือไม้ประดับมีผลต่อจิตใจและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน การได้พักสายตาจากวัสดุที่กำเนิดแสงหรือสะท้อนแสง ด้วยสีเขียวของต้นไม้ การลดความตึงเครียดทางอารมณ์ระหว่างการทำงาน การลดความแข็งของรูปทรงอาคารและภายในที่ทำงาน แต่นอกเหนือจากนั้น พืชพันธุ์ยังสามารถใช้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้ (Healthier user environment) โดยเฉพาะอาการป่วยไข้ที่เกิดจากตึก (Building Related Illness) หรือ โรคแพ้ตึก (Sick Building Syndrome) ที่มักจะเกิดกับผู้ที่อยู่ในอาคารเป็นประจำ
สาเหตุหลักของที่มาของปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารปัจจุบัน คือ การระบายอากาศที่ไม่ดีเพราะอาศัยอากาศที่มาจากเครื่องปรับอากาศแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการสะสมสารสังเคราะห์ เชื้อโรคและ ก๊าซพิษที่เกิดจากมนุษย์ ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันนี้วัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุสังเคราะห์เช่น พรมสังเคราะห์ พลาสติก กาวที่ใช้ทำไม้อัด กระดานไฟเบอร์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องถ่ายเอกสาร ฝ้าเพดาน วัสดุสำนักงานเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของสารสะสมในอากาศ นอกจากนั้นมนุษย์เองก็เป็นแหล่งปล่อยอากาศเสีย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีเชื้อโรคและ ไวรัสชนิดต่างๆที่ติดต่อได้ทางลมหายใจวนเวียนอยู่ในอากาศของตึกสูงอีกด้วย อาคารหรือตึกที่สร้างขึ้นใหม่มักจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพของอากาศเพราะการหมุนเวียนอากาศภายในกับภายนอกไม่เพียงพอ (reduced ventilation) โดยเฉพาะอาคารที่ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงานจะมีสารสะสมในอากาศสูงกว่าอาคารทั่วไปถึง 100 เท่า เนื่องจากการพยายามใช้ระบบต่างๆที่เป็นระบบปิดไม่มีการระบายสู่ภายนอกนั่นเอง (คมสัน หุตะแพทย์, 2543) การใช้พืชเพื่อช่วยลดสารพิษในอาคาร (Toxic reduction and reduce carbon dioxide from men)
เมื่อนึกถึงไม้ประดับภายในอาคารเรามักจะใช้เพื่อการตกแต่งและสร้างบรรรยากาศของที่ทำงาน แต่ นอกจากสีและรูปทรงที่น่าสนใจแล้ว พืชยังสามารถกรองอากาศ และ ลดปริมาณสารพิษในตึกได้ เช่น เศรษฐีเรือนใน (Spider Plant) เป็นพืชที่มีการดูดสารพิษจำพวก ฟอร์มาดีไฮน์จากอากาศภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านกระบวนการย่อยสลายของมัน จากการศึกษาของ องค์การนาซ่า เพื่อที่จะหาวิธีปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในระบบปิดของยานอวกาศ ได้ระบุการใช้พืชพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 50 ชนิดที่มีความสามารถในการดูดสารพิษ (ดร.บีซี วูฟเวอร์ตัน, Eco-Friendly House Plants, 1988) ซึ่งแนะนำให้ใช้ในอาคารที่ทำงานและ บ้านเรือนด้วย พืชเหล่านี้ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความสวยงาม ทนทาน ดูแลรักษาง่าย และสามารถอยู่ในร่มเงาได้เป็นเวลาพอสมควร (shaded plants) และ เป็นพันธุ์ไม้เมืองร้อนที่หาได้โดยทั่วไป พืชแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการดูด และกำจัดสารต่างๆไม่เท่ากัน
สารพิษในอากาศ |
แหล่งที่ปล่อย |
การแก้ปัญหาทางชีวภาพ |
หมายเหตุ |
ฟอร์มาดีไฮด์ |
วัสดุบุผิว และเฟอร์นิเจอร์
พาร์ติเคิลบอร์ด
พรมสังเคราะห์
กระดาษทิชชู และ น้ำยาทำความสะอาด
|
เฟิร์น, วาสนา
เศรษฐีเรือนใน, ปาล์มไผ่
ฟิโลทอง, มรกตแดง
|
|
แอมโมเนีย |
เครื่องถ่ายเอกสาร
น้ำยาทำความสะอาด
เครื่องถ่ายพิมพ์เขียว |
จั๋ง, พลูด่าง, เดหลี
วาสนา, เสน่ห์จันทร์แดง |
|
xylene/toluene |
พาร์ติเคิลบอร์ด ไม้อัด
น้ำยาเคลือบไม้
เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์
สีทาผนัง, พื้น |
หมากเหลือง, วาสนา
เฟิร์น, สาวน้อยประแป้ง
เสน่ห์จันทร์แดง |
|
สัดส่วนในการใช้ พืชพันธุ์ที่เพียงพอต่อการปรับปรุงคุณสมบัติของอากาศที่แนะนำ คือ จัดวางต้นไม้และไม้ประดับ ประมาณ 8 ต้น ต่อบ้านขนาดกลาง และ ควรเพิ่มปริมาณในอาคารสำนักงานที่มีคนอยู่มาก และ มีสารเคมีในอากาศที่เกิดจาก เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้สำนักงานและ เฟอร์นิเจอร์ ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก สำหรับ Americas Foliage for Clean Air Council แนะนำว่า พืชขนาดกลาง(ไม้พุ่มประดับ) 2-3 ต้นมีประสิทธิภาพในการกรองอากาศในเขตประมาณ 100 ตารางฟุต ต้นไม้ที่วางอยู่ในเขตหายใจ จะช่วยในการกรองก๊าซเสียจากมนุษย์ ลดสารพิษจากวัสดุสังเคราะห์ ลดจุลินทรีย์ เชื้อโรค บางชนิดในอากาศ และ ยังเพิ่มประจุลบในอากาศ และ ความชื้น ในบริเวณนั้นๆด้วย
พืชช่วยปรับปรุงสภาพและเพิ่มความชื้นในอากาศ (Plants: natures humidifiers)
ตึกที่เป็นระบบปิดและ ใช้เครื่องปรับอากาศ จะเกิดภาวะความชื้นภายในอากาศต่ำสังเกตได้จาก ผู้ที่อยู่ในอาคารนานๆ จะเกิดอาการปากแตก ผิวแห้ง และ คอแห้ง พืชสามารถช่วยลดภาวะไม่น่าสบายเหล่านี้โดยปล่อยความชื้น และประจุลบผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง และการคายน้ำ ตัวอย่างไม้ในร่มที่มีคุณสมบัติในการคายน้ำสูงได้แก่ หมากเหลือง (Chrgsalido carpus lutesers) เดหลี (Spathiphyllim Clevelandii) บอสตันเฟิร์น (Nephrolepis exaltata) และ วาสนาอธิษฐาน(Dracaena Fragrans Massangeana) เยอบีร่า (Gerbera Jamesonii) แววมยุรา(Maranta Leuconeura) และ ยางอินเดีย(Ficus Rubusta) พันธุ์ไม้เหล่านี้นอกจากจะหาได้ง่าย ส่วนมากยังมีคุณสมบัติในการกรองสารพิษด้วย
มารู้จักพืชดูดสารพิษบางชนิดกันเถอะ
ไม้ขนาดกลาง (ต้นไม้)
|
|
|
ต้นไทรใบแหลม |
ต้นหมากเหลือง |
ไทรใบยาว |
ต้นไทรใบแหลม (Weeping Fig) Ficus benjamina
ไทรใบยาว (Ficus Alii) Ficus Macleilandii
ต้นหมากเหลือง (Areca Palm) Chrysalidocarpus lutescens
ไม้พุ่มขนาดกลาง
|
ฟิโล มรกตแดง |
จั๋ง |
วาสนา |
เดหลี |
จั๋ง (Lady Palm) Rhapis excelsa
วาสนา (Corn Plant) Dracaena fragrans
ฟิโลเดนดรอน มรกตแดง (Red emerald Philodendron) Philodendron erubescens
เดหลี (Peace Lily) Spathiphyllum sp.
ไม้พุ่มขนาดเล็ก
|
เศรษฐีเรือนนอก |
เฟิร์น |
เขียวหมื่นปี |
เศรษฐีเรือนนอก เรือนใน (Spider Plant) Chlorophytum comosum Vittatum
เฟิร์น (Kimberly Queen) Nephrolepis obleterata
เขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen) Aglaonema crispum Silver Queen
ไม้เลื้อย หรือไม้คลุมดิน
|
พลูด่าง |
พลูเขียว |
ฟิโลทอง |
พลูด่าง (heart-leaf philodendron) Philodendron oxycardium
ฟิโลทอง (Golden Pothos) Epipremnum aureum
พืชพันธุ์ที่แนะนำเหล่านี้ สามารถใช้ภายในอาคาร(บริเวณที่ได้รับแสงประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน) หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ดูแลรักษาง่าย ไม่อ่อนแอต่อโรค และเป็นพืชเมืองร้อนที่เราพบโดยทั่วไป การใช้พืชเหล่านี้ตกแต่งอาคารเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่ทำงาน น่าจะมีการเผยแพร่และสนับสนุนให้เกิดการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เพราะเป็นวัสดุตกแต่งที่มีราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ สามารถใช้งานได้ง่าย พนักงานสามารถนำมาเอง และ ดูแลเองได้ โดยอาจจะอาศัยการดูแลโดยรวมจากผู้ดูแลตึกในระหว่างวันหยุด และ การหมุนเวียนย้ายเอาพืชพันธุ์ที่อ่อนแออกมาพักฟื้นในโรงเรือนต้นไม้ภายนอกอาคารบ้าง จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ง่ายและประหยัดที่สุดในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ใช้อาคาร บทความโดย
อภิญญา ลิ้มไพบูลย์ ว-ภส40
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
บรรณานุกรม
1. ฺB.C. Wolverton, Eco Friendly House plants London, George Weiderfeld & Nicolson Ltd., 1996
2. คมสัน หุตะแพทย์ ไม้ประดับดูดสารพิษ วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 8/2542 กันยายน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทย
3. Snyder Stuart D. Environmental Interiorscapes . New York: Whitney Library of Design, 1995
4. http://www.pettigrew.ie/health.htm Health Benefits March 2001
http://home.talkcity.com/RightWay/Idmweb2/plants_1-20.htm Houseplants for Clean Air June 2001
5. Nelson R. Hammer Interior Landscape. Massachusetts: Rockport Publishers.Inc. 1999
|