การศึกษาสภาพปัญหาด้านการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของครู
ในระดับประถมศึกษา ศึกษาเฉพาะกรณี กลุ่มกรุงธนเหนือ
สังกัดกรุงเทพมหานคร
กุลธิดา ธรรมวิภัชน์ และปัญญา รอดลอย
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาด้านการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของครู ในระดับ ประถมศึกษา ศึกษาเฉพาะกรณี กลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร ทางด้านสภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์และสภาพการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และทางด้านปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาจากกลุ่มประชากรที่เป็นครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ระดับประถมศึกษา เฉพาะกลุ่มกรงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 117 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า และแบบปลายเปิด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) นำเสนอข้อมูลในรูปตาราง แผนภูมิ และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยด้านสภาพการสอนพบว่า สามารถเปิดสอนคอมพิวเตอร์ได้ทุกโรงเรียน (ร้อยละ 100.0) สภาพเครื่องใช้ได้เกือบทุกเครื่อง (ร้อยละ 92.5) ส่วนใหญ่มีความต้องการเพิ่มจำนวนเครื่อง (ร้อยละ 73.6) ส่วนครูผู้สอน (ร้อยละ 55.7) มีวุฒิการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ มีประสบการณ์ในการสอน (ร้อยละ 73.6) ได้ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อน ส่วนปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง (= 2.56) แบ่งออกเป็นปัญหาในด้านสื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ (= 2.87) ปัญหาด้านหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ (= 2.66) และปัญหาด้านกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน (=2.51) ส่วนปัญหาด้านแผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และปัญหาด้านการวัดและประเมินผลของวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน มีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับน้อย (= 2.38, = 2.36)
คำสำคัญ : สภาพปัญหา/ การสอนวิชาคอมพิวเตอร์/ ระดับประถมศึกษา
A Study of Problems on Computer Teaching of Teachers in Primary School: a Case Study of North Thonburi Group, BangkokKuntida Thamwipat and Panya Rodloy
Faculty of Industrial Education and Technology ,King Mongkuts University of Technology Thonburi
Abstract
This research aimed to study about computer teaching of teachers in primary school: a Case study of North Thonburi Group, Bangkok. The study emphasized on computer condition, computer teacher and teaching plan problem in basic computer subject. Sampling groups were 117 computer teachers taught basic computer subject in primary level especially in North Thonburi group, Bangkok. Tools were questionnaires in type of scale and open- ended questions. Statistics used in this research were Mean and Standard Diviation that were presented by table, chart and content analysis . The results showed that teaching computer could be taught in all schools (100%). Most computers could be worked perfectly (92.5%). Increasing computer was needed (73.6%). Only half of computer teachers graduated in computer science (55.7%). On the other hand , the teachers were trained in teaching computer skill (73.6%). Moreover, the study found teaching plan problem which stated on mid level. it divided into 3 major groups of problems ; teaching media problem (= 2.87) , curriculum problem (= 2.66) , learning activities problem (=2.51), and on low level in lesson plan problem (= 2.38) and evaluation problem(= 2.36) .
Key word: problem condition / Computer Teaching / Primary Level
1. บทนำ
1.1 ที่มาของการวิจัย
ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของทุกคน เป็นอุปกรณ์ช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เป็นเครื่องคำนวณที่มีความสามารถสูงคำนวณงานที่ซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว สามารถเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ในการแก้ ปัญหาต่างๆ ตลอดจนสามารถใช้ติดต่อสื่อสารโต้ตอบทางไกลได้ คอมพิวเตอร์จะทวีความสำคัญยิ่ง ขึ้นในอนาคต และจะกลายเป็นเครื่องใช้สามัญประจำบ้านเหมือน วิทยุ โทรทัศน์ ต่อไป [1]
คอมพิวเตอร์พื้นฐาน ตามหลักสูตรพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) เป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากรและเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดการเรียนการสอน ให้แก่ผู้ที่สนใจได้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนได้คุ้นเคยกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตปัจจุบัน สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในฐานะเครื่องช่วยงานได้ การเรียนการสอนคอมพิวเตอร์มีกระบวนการตั้งแต่การเปิดเครื่อง การเลือกเข้าโปรแกรมที่ต้องการ การโปรแกรมที่เลือกการออกจากโปรแกรม และการปิดการทำงานเครื่อง ศึกษาความรู้เบื้องต้น และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบและการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมระบบปฏิบัติการ การใช้โปรแกรมสำหรับฝึกใช้แป้นพิมพ์ การใช้โปรแกรมประมวลคำ และฝึกการใช้โปรแกรมภาษา คอมพิวเตอร์พื้นฐาน หรือโปรแกรมตารางการทำงานเบื้องต้น และเห็นคุณค่าและความสำคัญของคอมพิวเตอร์ มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับส่วนประกอบ และการทำงานของคอมพิวเตอร์ มีทักษะในกระบวนการคิด วิเคราะห์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในฐานะอุปกรณ์ช่วยงาน เพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน [2]
จากการติดตามผลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร ทำให้ทราบสภาพและปัญหาในภาพรวมเช่น จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการจัดสรรมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ขาดการวางแผน และประสานงานของบุคคลในโรงเรียนในการใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานในระดับประถมศึกษา นับว่าเป็นระยะเริ่มต้นเท่านั้น จากความสำคัญดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความคิดที่จะศึกษาสภาพ และปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของครูในระดับประถมศึกษา ศึกษาเฉพาะกรณีกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนำไปพัฒนา และปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร ต่อไป
1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1.2.1 เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในระดับประถมศึกษาตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ในโรงเรียน สังกัดกรุงเทพมหานคร
1.2.2 เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
2. วิธีการดำเนินการวิจัย
จากการวิจัยเรื่อง การศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน วิชาคอมพิวเตอร์ของครูใน ระดับประถมศึกษา ศึกษาเฉพาะกรณี กลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยประเมินความคิดเห็นของครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและปรับปรุงงานในด้านการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไป
2.1 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากประชากร จำนวน 106 ฉบับ จากทั้งหมด 117 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 90.60 ซึ่งเป็นครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ในระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนในกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 72 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2547
2.2 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์และสภาพการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบสำรวจรายการ (Check List) ส่วนตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับ ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ลักษณะแบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามวิธีของลิเคิร์ท (Likert) คือ ระดับปัญหามากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด
3.3 การวิเคราะห์และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
3.3.1 ค่าร้อยละ (Percentage) ตอนที่ 1 สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 10 ข้อ
3.3.2 ค่าเฉลี่ยเลขคณิต () ตอนที่ 2 ของแบบสอบถามทั้ง 5 ด้านๆ ละ 12 ข้อ
3.3.3 ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ตอนที่ 2 ของแบบสอบถามทั้ง 5 ด้านๆ ละ 12 ข้อ
4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยเรื่อง การศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน วิชาคอมพิวเตอร์ของครูใน ระดับประถมศึกษา ศึกษาเฉพาะกรณี กลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นการนำเสนอผลการวิจัยจากการวิจัยเชิงสำรวจ โดยการสอบถามความคิดเห็น ของครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน โดยผู้วิจัยได้แบ่งผลการวิเคราะห์ แต่ละตอนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
4.1 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ และสภาพการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน จากจำนวนครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน จำนวน 117 คน พบว่าส่วนใหญ่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานได้ทุกโรงเรียน ร้อยละ100.0, โดยมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการของแต่ละโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรอยู่ 11 เครื่อง ร้อยละ 18.90, มีสภาพเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ของแต่ละโรงเรียนใช้ได้ทุกเครื่อง ร้อยละ 92.50, จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์มีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 91.50, ควรเพิ่มจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน ร้อยละ 95.30, โรงเรียนสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้โดยครูประจำวิชาเป็นผู้สอนเอง คิดเป็นร้อยละ 98.10, ครูผู้สอนจบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง คิดเป็นร้อยละ 55.70 ครูผู้สอนได้ผ่านการอบรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์การศึกษา ร้อยละ 91.50, ครูผู้สอนมีประสบการณ์ในการสอนวิชาคอมพิวเตอร์การศึกษา ร้อยละ 73.60, และครูผู้สอนคิดว่าโรงเรียนควรเพิ่มจำนวนครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 75.50
4.2 การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ได้ผลดังนี้
4.2.1 ผลการวิเคราะห์ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในแต่ละโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกรณีของกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร ตามความคิดเห็นของผู้สอน แบ่งปัญหาออกเป็น 5 ด้าน คือ ด้านหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ด้านแผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ด้านสื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และด้านการวัดและประเมินผลวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
4.2.2 ผลการวิเคราะห์ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในแต่ละโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกรณีของกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ในภาพรวมพบว่า ระดับสภาพปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 2.56) เมื่อแยกเป็นแต่ละด้านของสภาพปัญหาพบว่า สภาพปัญหาด้านสื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ สภาพปัญหาด้านหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และสภาพปัญหาด้านกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ ส่วนสภาพปัญหาด้านแผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน และสภาพปัญหาการวัดและประเมินผลวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน อยู่ในระดับน้อย ตามลำดับ
ตารางที่ 1 ผลรวมของค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานโดยรวมในแต่ละด้าน
ด้าน |
รายการ |
|
S.D. |
ระดับปัญหา |
1.
2.
3.
4.
5. |
ด้านหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
กิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
แผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
ด้านสื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
การวัดผลและการประเมินผลวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน |
2.66
2.51
2.38
2.87
2.36 |
0.57
0.54
0.67
0.65
0.53 |
ปานกลาง
ปานกลาง
น้อย
ปานกลาง
น้อย |
|
เฉลี่ย |
2.56 |
0.48 |
ปานกลาง |
4.3.3 การวิเคราะห์ข้อคำถามปลายเปิด
4.3.3.1 เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานในการจัดการเรียนการสอน ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับซอฟต์แวร์ ที่จะใช้ ซึ่งจะจำกัดในเรื่องของเนื้อที่หน่วยความจำ ทำให้มีอุปสรรคในการใช้สื่อและซอฟท์แวร์บางชนิด
4.3.3.2เสนอให้มีการอบรมการเขียนแผนการสอน ให้มีแผนการสอนคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย หนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนที่ดีควรกำหนดเนื้อหาพื้นฐานที่เด็กสามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เนื้อหาในหนังสือประกอบการเรียนการสอนควรมีรายละเอียดให้มากที่สุด
4.3.3.3 การจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควรจะมีคู่มือครู แบบเรียนสำหรับเด็กและในเรื่องของการวัดผลประเมินผลน่าจะมีรูปแบบที่ชัดเจน
4.3.3.4 ควรจัดและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเทอร์เน็ตไว้คนละห้องกับห้องเรียนอีกต่างหากอีก 1 ห้อง 20 เครื่อง ควรมีเครื่องฉายภาพ Projector ประจำห้องคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง ควรมีสื่อการสอนให้กับนักเรียนครบทุกกลุ่มสาระและครบทุกเครื่อง
4.3.3.5 ควรให้มีการอบรมครูผู้สอนคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะในเรื่องความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การใช้คอมโปรแกรมต่างๆการเขียนโปรแกรมเป็นต้น
4.3.3.6 การจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ควรมีความสนใจและกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ มี CAI ใบงาน คู่มือ หนังสือ ประกอบการเรียน นักเรียนจะสนุกเมื่อได้เรียน เมื่ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนพร้อมการเรียนจะมีประสิทธิภาพเต็มที่
4.3.3.7 ควรมีการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ชัดเจนว่า ชั้นใดเรียนระดับใด มีเนื้อหาอย่างไรในแต่ละชั้น กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละชั้นเลยว่า ต้องการให้นักเรียนทราบอะไร แล้วจัดชั่วโมงเรียนเนื้อหาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ตามช่วงชั้น
5. อภิปรายผล
5.1 ด้านปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
5.1.1 ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ของโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกรณีของกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการจัดการเรียนการสอน ยังขาดบุคลากรที่มีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง ขาดเครื่องคอมพิวเตอร์ และสื่อต่างๆ มีไม่เพียงพอและไม่ทันสมัย จึงทำให้การจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร ซึ่งสอดคล้องกับงาน ดอกแก้ว พานทอง [4] ที่พบว่า ผู้สอนมีปัญหาในการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง และสอดคล้องกับผลงานวิจัยของ ถนัด ผลให้ [5] ที่พบว่า ปัญหาของครูเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง
5.1.2 ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ของโรงเรียนในระดับประถม ศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกรณีของกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อพิจารณาด้านหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน พบว่าโดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานเป็นวิชาที่พึ่งบรรจุลงในหลักสูตรประถมศึกษา เป็นวิชาที่ยังใหม่ต่อครูผู้สอนและผู้เรียน จึงทำให้มีปัญหาต่อการเรียนการสอนอยู่บ้าง จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเพื่อปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความพร้อมของผู้สอนและนักเรียน การจัดทำหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลักสูตรจึงต้องปรับให้ทันสมัยตลอด และมีการจัดทำคู่มือให้มีมาตรฐานทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผู้จัดทำแผนการสอนจะต้องทำแผนให้สอดคล้องกับที่หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ [3] ที่ว่าควรกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ชัดเจน มีเนื้อหาอย่างไรในแต่ละชั้น กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ จัดชั่วโมงเรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับงานของ ถนัด ผลให้ [5] พบว่าปัญหาของครูเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ด้านหลักสูตรส่วนใหญ่มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง
5.1.3 ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ของโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกรณีของกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อพิจารณาด้านกิจกรรมการเรียน การสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน โดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอกับนักเรียน จึงฝึกปฏิบัติได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งผู้สอนมีประสบการณ์ในการสอนน้อย มีความรู้ไม่ลึกซึ้งพอ ผู้เรียนขาดความรู้พื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษ ผู้สอนมีจำนวนน้อย ควรเน้นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การสืบค้นหาข้อมูล และหลักสูตรการสอนยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมและสถานศึกษา สภาพของเครื่องควรทันสมัยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และโปรแกรมใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานของ ถนัด ผลให้ [5] ที่พบว่า ปัญหาของครูเกี่ยวกับการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ด้านกิจกรรมการเรียนการสอนมีปัญหาในระดับมากเพียงด้านเดียว คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้ไม่ทันสมัยและไม่เพียงพอ และในการจัดการเรียนการสอน ควรจะเพิ่มระยะเวลาในการเรียน และมีหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้ามากขึ้น นักเรียนจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ควรมีความสนใจ และกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ สนุกเมื่อได้เรียน เมื่ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพเต็มที่ ยังสอดคล้องกับงานของ ธนากร สมสมาน [6] ด้วย
5.1.4 ปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ของโรงเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกรณีของกลุ่มกรุงธนเหนือ สังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อพิจารณาด้านสื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน โดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าการจัดการเรียนการสอนด้านสื่อการเรียนการสอนนั้น มีปัญหาในเรื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนไม่เพียงพอ และไม่ทันสมัย โรงเรียนไม่มีงบประมาณที่จะจัดหาเพิ่มเติมได้ ความไม่ชำนาญในการใช้สื่อและอุปกรณ์ของผู้สอน และผู้เรียน เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอกับซอฟต์แวร์ทำให้มีอุปสรรคในการใช้งาน ควรมีเครื่อง Projector ประจำห้องคอมพิวเตอร์ แต่ละห้องควรมีสื่อการสอนให้กับนักเรียนครบทุกกลุ่มสาระ และครบทุกเครื่องซึ่งสอดคล้องกับงานของ ถนัด ผลให้ [5] ที่พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้ไม่ทันสมัยและไม่เพียงพอ
6. ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้
6.1 ข้อเสนอแนะด้านหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลักสูตรจึงควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแต่ละโรงเรียน เพราะความพร้อมของครูผู้สอน ผู้เรียนและอุปกรณ์ต่างๆ ในแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน เนื่องจากวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน มีการเปลี่ยนแปลงด้านโปรแกรมที่รวดเร็ว และยังใหม่ในหลักสูตรประถมศึกษา จึงควรมีการจัดอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรแก่ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน หรือควรจะศึกษาหลักสูตรให้ชัดเจนก่อนจัดกิจกรรม โรงเรียนควรจัดหาเอกสาร ห้องสื่อประกอบการเรียนการสอน ให้สอดคล้องตามหลักสูตรที่กระทรวงกำหนดไว้สำหรับการให้บริการแก่ผู้เรียน ผู้สอนควรเริ่มสอนเนื้อหาเริ่มจากง่ายไปยาก
6.2 ข้อเสนอแนะด้านกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
ครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่หลากหลาย สอดแทรกเนื้อหาให้น่าสนใจเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดี เนื้อหาที่สอนควรมีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน จะส่งผลให้ผู้เรียน เรียนรู้ไปตามลำดับ ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ครูผู้สอนเป็นประจำอยู่เสมอ เพราะคอมพิวเตอร์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้สอนควรพยายามสังเกตผู้เรียน และให้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเพื่อไม่ให้ผู้เรียนที่ตามเพื่อนไม่ทันเกิดความเบื่อหน่ายต่อวิชา
6.3 ข้อเสนอแนะด้านแผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
แต่ละโรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้จัดทำแผนการสอนไว้ล่วงหน้า ควรมีการจัดอบรมเกี่ยวกับการจัดทำแผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน เพื่อให้ความรู้แก่ครูผู้สอนในการจัดทำแผนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กระทรวงกำหนดให้ ด้านสื่อการเรียนการสอน โรงเรียนควรมีการจัดหาสื่อ ซอฟท์แวร์ และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้ครบถ้วนตรงตามเนื้อหา เพื่อใช้ประกอบในการเรียนการสอน โรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูผู้สอนฝึกการใช้สื่อในห้อง ปฏิบัติการได้อย่างชำนาญ คู่มือที่ใช้ประกอบการเรียนควรมีอย่างเพียงพอ และสอดคล้องกับเนื้อหา
6.4 ข้อเสนอแนะด้านสื่อการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
แต่ละโรงเรียนควรจัดงบประมาณในการจัดหาโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้เรียนให้เพียงพอ รวมทั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสอนอื่นๆ ที่ใช้ประกอบการเรียนให้ทันสมัยมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้สอน ควรมีเวลาในการจัดทำสื่อการสอนเพื่อให้สื่อมีความน่าสนใจ และควรมีเวลาในการฝึกฝนการใช้สื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สอน เพื่อให้เกิดความชำนาญ คล่องตัวในการใช้งาน เมื่อเวลาที่ทำการสอนจริงจะได้มีความมั่นใจในการใช้สื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้นไป จะเป็นผลทำให้ผู้เรียนมีความมั่นใจและศรัทธาผู้สอนมากขึ้น เกิดความอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น อีกทั้งควรเพิ่มโปรแกรมสำเร็จรูปช่วยสอน ให้ทันสมัยและเพียงพอในการที่จะให้นักศึกษาได้ศึกษาเพิ่มเติมนอกเวลาเรียนได้มากขึ้นอีกด้วย
6.5 ข้อเสนอแนะด้านการวัดและประเมินผลวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน
โรงเรียนควรมีการส่งเสริมให้ครูผู้สอนศึกษาหาความรู้ ในการวัดและประเมินผลวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ควรมีมาตรฐานการวัดและประเมินผลของนักเรียน ควรศึกษาเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ควรศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ควรศึกษาตัวแปรที่มีผลต่อการจัดการเรียนการสอน ควรศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนว่ารูปแบบลักษณะใด มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการสอนหลายๆ รูปแบบด้วย
7. ข้อเสนอแนะการวิจัยครั้งต่อไป
7.1 ควรมีการวิจัย โดยการเจาะลึกถึงรายละเอียดของแต่ละด้านของปัญหา เพื่อศึกษาปัญหาที่มีในปัจจุบัน โดยอาจจะศึกษาจากครูผู้สอนประจำวิชา, นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบันในทุกภาคการศึกษาที่เปิดสอน เพื่อพัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาที่ใช้สอนให้สมบูรณ์ ทันต่อเหตุการณ์ และทันต่อเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ต่อไป
7.2 ควรมีการวิจัยในเรื่อง สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับระดับของนักเรียนที่เรียนแต่ละวิชา
7.3 ควรมีการวิจัยในเรื่องของนโยบายกองวิชาการ สำนักการศึกษา ของกรุงเทพมหานคร
8. เอกสารอ้างอิง
1. กระทรวงศึกษาธิการ, 2540, แนวการจัดกิจกรรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ระดับประถมศึกษา ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533), กรุงเทพมหานคร, โรงพิมพ์
คุรุสภาลาดพร้าว, หน้า 1.
2. สุกรี รอดโพธิ์ทอง, 2532, หลักสูตรคอมพิวเตอร์ในระดับมัธยมศึกษา, วารสารครุศาสตร์. 5(2), กรุงเทพฯ, หน้า 92-93.
3. กระทรวงศึกษาธิการ, 2534, แนวการใช้หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533), กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์การศาสนา, หน้า 3.
4. ดอกแก้ว พานทอง, 2541, สภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุดรธานี, รายงานการศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม. มหาสารคาม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, หน้าบทคัดย่อ.
5. ถนัด ผลให้, 2542, การศึกษาปัญหาของครูและนักเรียน เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา จังหวัดอุดรธานี, รายงานการศึกษาค้นคว้าอิสระ กศ.ม. มหาสารคาม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, หน้าบทคัดย่อ.
6. ธนากร สมสมาน, 2532, สภาพความต้องการและปัญหาการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน มัธยมศึกษา ในกรุงเทพมหานคร, ปริญญานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ข-ค.
|