โครงการนำร่อง :  การผลิตเอนไซม์โปรติเอสจากราเส้นใยในอาหารเหลวระดับโรงงานต้นแบบ
เพื่อเป็นอาหารเสริมในสัตว์ปีก เช่น ไก่


รศ.ดร. ยุวพิน ด่านดุสิตาพันธ์
คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี


ปัจจุบันการใช้อาหารเสริม (Feed additive) ในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพและผลผลิตของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสัตว์บกประเภทสุกร ไก่ เป็ด และสัตว์น้ำ เช่นกุ้ง และอาหารเสริมที่มีตัวเลขการใช้ในในสัตว์ปีกมากคือ เอนไซม์โปรติเอส ตัวเลขการจำหน่ายเอนไซม์เพื่อนำมาใช้เป็นอาหารเสริมเติมลงในอาหารสัตว์ เน้น สุกร กุ้ง ไก่ เป็ด และ วัว ซึ่งได้จากสมาคมผู้ค้าเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ (Animal Health Production Association) ในปี 2546 ประมาณ 300 ล้านบาท โดยที่ร้อยละ 99 ของยอดจำหน่ายดังกล่าว เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ที่เหลือร้อยละ 1 เป็นปริมาณการผลิตโดยผีมือคนไทยในประเทศ ซึ่งนับว่ามีจำนวนน้อยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับการค้นคว้าวิจัยสาขาเทคโนโลยีเอนไซม์ ซึ่งดำเนินการอยู่หลายสถาบันการศึกษา ในประเทศไทย แต่ขาดการต่อยอดกับภาคเอกชนที่ต้องการนำไปใช้งาน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการหมักจากจุลินทรีย์ (Microbial Fermentation Technology) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงร่วมกับภาคเอกชนคือบริษัท เค.เอ็ม.พี. ไบโอเทค จำกัด โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกันเสนอโครงการนำร่องเพื่อนำเอนไซม์โปรติเอส ไปใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์ปีก ประเภทไก่ โดยปัจจุบัน บริษัท เค.เอ็ม.พี ไบโอเทค เป็นบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชีวภาพในสัตว์หลายประเภท เช่น สุกร ไก่ เป็ด และ กุ้ง ปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและพัฒนาขึ้นเอง มีประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ และจัดเป็นบริษัทที่มียอดจำหน่ายอาหารเสริมที่มีคุณภาพสูง โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากกรมปศุสัตว์

วิธีการผลิตเอนไซม์โปรติเอส

เอนไซม์โปรติเอส เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาการไฮโดรไลซ์โปรตีน และโพลีเปปไทด์ให้เป็นกรดอะมิโนและเปปไทด์สายสั้น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการหมัก สามารถใช้จุลินทรีย์เป็นต้นแบบหรือแหล่งผลิตโปรติเอสได้ โดยเฉพาะโปรติเอสที่มีคุณสมบัติเป็น Serine alkaline protease ซึ่งสามารถผลิตจาก แบคทีเรีย ยีสต์และรา โดยเอนไซม์กลุ่มนี้มีคุณสมบัติทำงานได้ดี ในช่วงความเป็นกรด-ด่างที่กว้างคือ 4-11 และเป็นโปรติเอสกลุ่มที่นำมาเป็นอาหารเสริมในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

จากการศึกษาที่ผ่านมาในคณะผู้วิจัย พบว่า ราเส้นใย Aspergillus oryzae สามารถผลิตเอนไซม์โปรติเอสได้สูงมาก ระหว่างการหมักในอาหารเหลว (Submerged fermentation) กลุ่มวิจัยร่วมกับบริษัท เค.เอ็ม.พี ไบโอเทค จำกัด จึงสนใจในการนำราชนิดนี้ ซึ่งจัดเป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ถือว่ามีความปลอดภัย (GRAS, Generally Regarded As Safe) เป็นแหล่งผลิตเอนไซม์โปรติเอสเพื่อเป็นอาหารเสริมแก่สัตว์ปีกและจำหน่ายระดับอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการนำเข้าในประเทศต่อไป

อนึ่งทราบกันดีว่า การควบคุมการเจริญของราเส้นใยในอาหารเหลว เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากราเส้นใย มักจะก่อให้เกิดความหนืดในอาหารเหลวในถังหมัก และควบคุมการหมักได้ยากทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายเทออกซิเจน และอาหารในน้ำหมัก แต่ปัญหาดังกล่าวจะน้อยลง ถ้าสามารถควบคุมให้ราเส้นใยเจริญเป็นก้อนกลม (เพลเล็ท) แทนการเจริญเป็นเส้นใย จากงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการ คณะผู้วิจัยได้ศึกษาปัจจัยควบคุมให้ราเส้นใยนี้เจริญเป็นเพลเล็ทระหว่างการหมักในอาหารเหลว และได้ศึกษาถึงการผลิตระดับขยายขนาดที่หน่วยปฏิบัติการ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) พบว่า สามารถควบคุมให้ราเจริญเป็นเพลเล็ทและผลิตโปรติเอสได้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของงานวิจัยการเลี้ยงราเส้นใยในอาหารเหลวขั้นสูง

ขอกล่าวสรุปปัจจัยหลัก  ในการควบคุมรูปร่างราเส้นใย ในอาหารเหลวในถังหมัก ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยทางกายภาพ : เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างการหมักในอาหารเหลวของราเส้นใย เช่น ความเป็นกรด-ด่างของน้ำหมัก  : ในช่วงความเป็นกรด-ด่างที่แตกต่างกัน จะส่งต่อรูปร่างราที่ปรากฎแตกต่างกัน แม้ในราเส้นใยชนิดเดียวกัน ยังไม่มีข้อมูลระบุโดยตรงว่าช่วงความเป็นกรด-ด่าง ใด มีผลต่อรูปร่างราอย่างไร

ความเร็วรอบการกวนของใบพัดในถังหมัก : แน่นอนว่ารอบการกวนที่สูงขึ้น มีผลทำให้ได้เพลเล็ทขนาดเล็กลง และราเส้นใยมีโอกาสก่อตัวเป็นเส้นใยยาว ๆ ได้ยากมาก แต่ขณะเดียวกัน การกวนรอบการกวนที่สูงมีผลต่อการเกิดแรงเฉือนในราเส้นใยมาก และมีผลต่อผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ

สภาพบรรยากาศของน้ำหมักระหว่างการหมัก : เป็นปัจจัยที่อาจเสริมให้เกิดรูปร่างที่เป็นเส้นใยได้ดี หรือส่งเสริมการเกิดเป็นเพลเล็ทได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้วิจัยควรเข้าใจจุลชีววิทยาของราที่ศึกษา จึงจะสามารถนำปัจจัยนี้มาร่วมส่งเสริมสภาพที่ต้องการได้

รูปร่างและใบกวนของถังหมัก : ถังหมักโดยทั่วไปที่ใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการทั่วไป เป็นแบบที่มีใบพัดเหมาะกับการเลี้ยงแบคทีเรีย ที่ทนต่อแรงเฉือนได้สูง ซึ่งต่างจากราเส้นใย  ที่ไม่ทนแรงเฉือน ในการวิจัยเบื้องต้นส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงได้ยาก กับการต้องใช้ถังหมักลักษณะดังกล่าว หรือแม้แต่ถังหมักระดับโรงงานต้นแบบหรือการผลิตระดับอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนใหญ่จะออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง กับจุลินทรีย์ทั่วไป ดังนั้น งานวิจัย ควรทำใจหรือวางแผนล่วงหน้าว่า  ถังหมักที่จะใช้ต่อในระดับขยายขนาด ส่วนใหญ่จะเป็นถังหมักแบบหรือชนิดเดียวกับที่ใช้เลี้ยงแบคทีเรียทั่วไป นั่นคือ ควรศึกษาปัจจัยเหล่านี้เพื่อให้มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์หรือรูปร่างราน้อยที่สุด

2. ปัจจัยทางเคมี : ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับสารอาหารที่ใช้ในการเจริญของราเส้นใย เช่น มีรายงานการลดแหล่งไนโตรเจนที่เป็น แอมโมเนียมไนเตรท ว่ามีผลทำให้ได้ขนาดของเพลเล็ทใหญ่ขึ้น หรือปัจจัยของฟอสเฟตที่อยู่ในน้ำหมัก ส่งเสริมการเกิดเพลเล็ทได้เช่นกัน หรือการใช้ความเข้มข้นแหล่งคาร์บอน เช่นกลูโคสที่แตกต่างกัน ก็เป็นปัจจัยควบคุมรูปร่างเพลเล็ทได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ บางครั้งไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ในราที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องอาศัยการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติม

อนึ่งปัจจัยที่กล่าวข้างต้นนี้ ถ้ามองดูเผิน ๆ เหมือนกับว่าเป็นปัจจัยที่เป็นอิสระ หรือเป็นปัจจัยโดด ๆ ที่สามารถควบคุมการเจริญของราเส้นใยรูปแบบต่าง ๆ ได้ ดังกล่าวข้างต้น แต่ในทางปฏิบัติ (ร่วมกับทางทฤษฎีแล้ว) หาได้เป็นเช่นนั่นไม่ ปัจจัยเหล่านี้ อาจเป็นปัจจัยที่เสริมหรือหักล้างอีกปัจจัยได้ ตัวอย่างเช่น ความเป็นกรด-ด่างของน้ำหมักระหว่างการหมัก แม้จะเป็นผลร่วมกันระหว่างสารต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสารอาหารหรือเมทาบอไลท์ที่ปรากฎในน้ำหมักระหว่างการหมักซึ่งขึ้นกับวิถีการเจริญของราขณะนั้น และสามารถควบคุมให้ได้ค่าความเป็นกรด-ด่างที่ต้องการได้ แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องคำนึงถึงช่วง pH ที่ให้ผลดีต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ และอยู่ในช่วงที่สามารถควบคุมรูปร่างราได้เช่นกัน นั่นคือ กระบวนการการหมัก ไม่สามารถละเลยการศึกษาค่าที่ให้ผลดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดต่อสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา หรือตัวอย่างอื่น ๆ เช่นการปรับสภาพบรรยากาศให้มีออกซิเจนน้อยระหว่างการหมัก เพื่อทำให้เกิดเป็นเพลเล็ทหรือสภาพเซลล์เดี่ยวคล้ายยีสต์ (yeast like form) ในราบางชนิด สามารถทำได้โดยตรงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกันผู้วิจัยก็สามารถเลือกหรือใช้ปัจจัยอื่น ๆ ได้ เพื่อควบคุมได้เช่นกัน เช่นการใช้ความเข้มข้นสูงของกลูโคส สามารถบังคับให้จุลินทรีย์เกิดวิถีการเจริญแบบไร้อากาศได้  และทำให้ได้เพลเล็ท หรือสภาพเซลล์เดี่ยวคล้ายยีสต์ได้เป็นต้น

ที่กล่าวข้างต้น เป็นปัจจัยกว้าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการเลี้ยงราเส้นใยในอาหารเหลวในถังหมัก ในงานวิจัยการผลิตโปรติเอสจากราเส้นใย Aspergillus oryzae ได้นำปัจจัยดังกล่าวมาศึกษา และสามารถสรุปปัจจัยสำคัญในการควบคุมรูปร่างราเส้นใยชนิดนี้คือ

1. หัวเชื้อเริ่มต้น : ในงานวิจัยสรุปได้ว่า การใช้หัวเชื้อเริ่มต้นเป็นสปอร์ ระหว่างการหมักจะได้ลักษณะปรากฏ 2 แบบ คืออาจเป็นเส้นใยหรือเพลเล็ทก็ได้ ขึ้นกับสภาพแวดล้อม เช่น ความเร็วรอบการกวนที่แตกต่างกันจะให้ลักษณะปรากฏต่างกัน (ตั้งแต่ 250-700 รอบต่อนาที) ขณะที่การใช้หัวเชื้อเริ่มต้นเป็นเพลเล็ท ได้ลักษณะปรากฎที่เป็นเพลเล็ทในทุกความเร็วรอบการกวนที่ศึกษา (ตั้งแต่ 250-700 รอบต่อนาที)

2. ความเร็วรอบการกวน : ในกรณีที่ใช้หัวเชื้อเป็นสปอร์ การใช้รอบการกวนที่สูงขึ้น ตั้งแต่ 250-550 รอบต่อนาที จะได้ขนาดเพลเล็ทที่เล็กลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนรอบการกวนที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเพิ่มความเร็วรอบจนถึง 700 รอบต่อนาที จะได้ราที่เป็นเส้นใยเส้นสั้นเพียงอย่างเดียวในระหว่างการหมัก ในขณะที่การใช้หัวเชื้อเริ่มต้นเป็นเพลเล็ท จะได้ราที่เป็นเพลเล็ทในทุกความเร็วรอบที่ศึกษาดังกล่าวข้างต้น โดยความเร็วรอบการกวนสูงจะได้ขนาดเพลเล็ทที่เล็ก  ขนาดเพลเล็ทที่เล็ก รวมทั้งลักษณะราเส้นใยเส้นสั้น จะผลิตโปรติเอสที่ต้องการได้สูง

การทดสอบภาคสนามการนำโปรติเอสไปใช้กับไก่

ได้มีการนำผลิตภัณฑ์โปรติเอสที่ได้ไปทดสอบกับไก่ ทั้งไก่ไข่และไก่เนื้อหลายฟาร์ม โดยทางบริษัทเค.เอ็ม.พี. ไบโอเทคจำกัด เป็นผู้ดำเนินการ   ขอยกตัวอย่างเพียง 2 ฟาร์ม ดังนี้

การทดสอบในไก่ไข่ จังหวัดขอนแก่น : ช่วงดำเนินการ วันที่ 7 มกราคม 2548 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2548 (เปรียบเทียบเฉพาะช่วง 6 สัปดาห์แรกของไก่ไข่)

สัตว์ทดลอง : ไก่ไข่พันธุ์ Isa Brown เพศผู้ จำนวน 10,000 x 6 ตัว แบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดเล้าควบคุมที่มีการให้อาหารปกติของฟาร์ม (C1, C2, C3)  และชุดเล้าทดลองคือ เล้าที่มีการใช้เอนไซม์โปรติเอสเป็นสารเสริม (T1, T2,T3) ดำเนินการเป็น 3 ซ้ำในแต่ละชุด

ผลการทดลอง : ตารางข้างล่างสรุปผลเปรียบเทียบของเล้าควบคุมและเล้าทดลอง

               

เล้าทดลอง

เล้าควบคุม (C)

เล้าทดลอง (T)

จำนวนไก่เริ่มเข้าเลี้ยง (ตัว)

10,000

10,000

น้ำหนักแรกเข้า (kg)

0.040

0.040

น้ำหนักขาออก (kg)

0.515

0.520

อาหารที่ใช้ต่อไก่หนึ่งตัว (gm)

96.3

99.6

อาหารที่ใช้ไปทั้งหมด (kg)

9.720

10.065

FCR

2.026

2.075

ADG (gm/day)

10.805

10.913

อายุการเลี้ยง (day)

44

44

Uniformity (%)

61.14

74.77


จากผลการทดลองที่ได้ในไก่ไข่ แม้ว่าน้ำหนักไก่ขาออก ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเล้าทดลองและเล้าควบคุม แต่ลักษณะไก่ไข่ที่ได้รับเอนไซม์โปรติเอสมีความสม่ำเสมอของรูปร่าง (Uniformity) ที่สูงกว่าไก่ไข่ที่ไม่ได้รับเอนไซม์โปรติเอส โดย Uniformity  เป็นลักษณะพึงประสงค์ในไก่ไข่ ก่อนที่จะนำขึ้นสู่กรงเลี้ยงในการผลิตไข่ต่อไป

การทดสอบในไก่เนื้อ จังหวัดสระบุรี : ช่วงดำเนินการ วันที่ 24 ธันวาคม 2548 ถึง 30 มกราคม 2549
สัตว์ทดลอง : ไก่เนื้อพันธุ์ Arbor Acres เพศผู้ จำนวน 9,900 x 3 ตัว แบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดเล้าควบคุมที่มีการให้อาหารปกติของฟาร์ม (C)  และชุดเล้าทดลองคือ เล้าที่มีการใช้เอนไซม์โปรติเอสเป็นสารเสริม (T1, T2)

ผลการทดลอง : ตารางข้างล่างสรุปผลเปรียบเทียบของเล้าควบคุมและเล้าทดลอง

เล้า

เล้าควบคุม (C)

เล้าทดลอง (T1)

เล้าทดลอง (T2)

จำนวนไก่เริ่มเข้าเลี้ยง (ตัว)

9,900

9,900

9,900

จำนวนไก่ที่จับขาย (ตัว)

9,208

9,192

9,331

% การตาย

7.00

7.15

5.75

น้ำหนักรวมที่ชั่งได้ (kg)

18,964

20,054

20,911

น้ำหนักเฉลี่ย (kg)

2.06 0.02

2.18 0.03

2.24 0.04

อาหารที่ใช้ไปทั้งหมด (kg)

31,590

32,610

34,350

FCR

1.67

1.63

1.64

น้ำหนักแรกเข้า (gm)

39

39

39

ADG (gm/day)

53.18

56.34

57.92

อายุการเลี้ยง (day)

38

38

38

PI (Production Index)

301.89

326.79

338.77


จากผลการทดลองที่ได้ยืนยันว่า การใช้เอนไซม์โปรติเอสในไก่เนื้อ  (T1 & T2) ได้น้ำหนักเฉลี่ย (kg) , น้ำหนักเฉลี่ยไก่เพิ่มขึ้นต่อวัน (ADG) และค่า Production index สูงกว่าเล้าควบคุม (C) อนึ่ง อัตราการตายของไก่เนื้อทั้ง 2 ชุด มีค่าสูงเนื่องจากช่วงการเลี้ยงไก่อยู่ช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น (ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม) ทำให้ไก่ตาย

สรุปผลการทดสอบการใช้โปรติเอสในไก่

จากผลการทดสอบใช้เอนไซม์โปรติเอสเป็นอาหารเสริมในสัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่ไข่และไก่เนื้อ สรุปได้ว่าการใช้เอนไซม์โปรติเอสเป็นอาหารเสริมในสัตว์ปีกประเภทไก่ ให้ผลดีกว่าชุดควบคุมที่ไม่มีการใช้เอนไซม์โปรติเอส ซึ่งทำให้เห็นว่า แนวทางการใช้โปรติเอสเป็นอาหารเสริมในสัตว์ปีกในเมืองไทยมีความเป็นไปได้สูง และที่สำคัญเป็นเอนไซม์ซึ่งดำเนินการผลิตได้เองภายในประเทศ จากเทคโนโลยีการเลี้ยงราเส้นใยในอาหารเหลว

เอกสารอ้างอิง

Cohen,B.L., 1973, Regulation of intracellular and extracellular neutral and alkaline protease in Aspergillus nidulan, Journal of General Microbiology, 29, 311-320.

Cohen,B.L., Morris,J.E. and Drucker,H., 1975, Regulation of two extracellular protease of Neurospora crassa by induction and by carbon-nitrogen and sulfur-metabolite repression, Archives of Biochemistry and Biophysics, 169, 324-330.

Cohen,B.L., 1981, “Regulation of protease production in Aspergillus”, Transactions of the British Mycological Society, 76, 447-450.

Cui,Y.Q., van der Lans, R.G.J.M., Giuseppin,M.L.F. and Luyben,K.C.A.M., 1998, “Influence of fermentation conditions and scale on the submerged fermentation of Aspergillus awamori”, Enzyme and Microbial Technology,23, 157-167.

Lindberg,R.A., Rhodes,W.G., Eirich,D.L. and Drucker,H., 1982, Extracellular acid proteases from Neurospora crassa, Journal of Bacteriology, 150, 1103-1108.

McIntyre,M. and McNeil,B., 1997a, “Effect of carbon dioxide on morphology and product synthesis in chemostat cultures of Aspergillus niger A60”, Enzyme and Microbial Technology,21,479-483.

McIntyre, M. and McNeil, B., 1997b, “Effects of elevated dissolved CO2 levels on batch and continuous cultures of Aspergillus niger A60 : an evaluation of experimental methods”, Applied and Environmental Microbiology, 63, 4171-4177.

Nielsen,J., Johansen,C.L., Jacoben,M., Krabben,P., Villadsen,J., 1995, "Pellet formation and fragmentation in submerged cultures of Penicillium chrysogenum and its relation to penicillin production", Biotechnology Progress, 11, 93-98.

Rao,M.B., Tanksale,A.M., Ghatge,M.S. and Deshpande,V.V., 1998, Molecular and biotechnological aspects of microbial protease, Microbiology and Molecular Biology Reviews, 62,597-635.

Ross, I.K., De Bernardis, F., Emerson, G.W., Casson, A. and Sullivan, P.A., 1990, The secreted aspartate proteinase of Candida albican : physiology of secretion and virulence of proteinase deficient mutant, Journal of General Microbiology, 136, 687-694.

White, S. McIntyre, M., Berry, D.R. and McNeil, B., 2002, The autolysis of industrial filamentous fungi, Critical Reviews in Biotechnology, 22(1), 1-14.





Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th