ดาวอังคาร
ดาวแดงปริศนา

เดิมชาวกรีกโบราณเรียกดาวดวงนี้ว่า ดาวเคราะห์สีแดง ( Red Planet ) เนื่องจากดาวดวงนี้มีสีแดงและสุกสว่างกว่าดาวดวงใดๆ ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า “ ดาวอังคาร ” เป็นดาวฝาแฝดของโลกและอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ จึงมีเรื่องเล่าต่างๆ และนิยายวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่กล่าวถึงดาวสีแดงดวงนี้ ดาวอังคาร ( หรือ ในชื่อภาษาอังกฤษ “ Mars ” หมายถึง เทพเจ้าแห่งสงครามของชาวโรมัน ) ยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาของจักรวาล ที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยไม่ละทิ้งความพยายามที่จะสำรวจ ค้นหา และรู้จักความเป็นไปให้มากที่สุด

ข้อมูลเบื้องต้น

ดาวอังคาร หรือ ดาวเคราะห์สีแดง เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะจักรวาลที่เคยมีความเชื่อกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิตทั้งในอดีตและอาจจะในปัจจุบันด้วย และยังเป็นทางเลือกสำหรับการสำรวจและการตั้งถิ่นฐานของมนุษยชาติในอนาคต จึงไม่น่าประหลาดใจที่ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศในโลกส่งยานอวกาศของตนขึ้นไปสำรวจและค้นคว้าวิจัย
ดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 4 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในระบบสุริยะจักรวาล มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 6,794 กิโลเมตร หรือ 4,222 ไมล์ ซึ่งใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของโลก ดาวอังคารมีมวลประมาณ 6.42 x 10 23 กิโลกรัม หรือ ราว 1/9 ของมวลโลก มีความโน้มถ่วงที่พื้นผิวราว 38% ของผิวโลก ดังนั้นน้ำหนัก 60 กิโลกรัมบนโลก จะมีน้ำหนักเหลือประมาณ 22.8 กิโลกรัมบนพื้นผิวดาวอังคาร ดาวอังคารอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 227,940,000 กิโลเมตร หรือ 141,600,000 ไมล์ คิดเป็นระยะประมาณ 1.5 เท่าของระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงโลก โดยดาวอังคารจะโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์และมีระยะห่างระหว่าง 206.6 - 249.2 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ดาวอังคารมีอุณหภูมิเฉลี่ย -65 องศาเซลเซียส (หรือ -85 องศาฟาร์เรนท์ไฮท์) ขณะที่อุณหภูมิจริง อยู่ระหว่าง -140 ถึง +20 องศาเซลเซียส
( หรือ -220 ถึง +70 องศาฟาร์เรนท์ไฮท์ ) ดาวอังคารมีดาวบริวารเล็กๆ 2 ดวง คือ Phobos หมายถึงความกลัวและ Deimos หมายถึงน่ากลัว โดยความหมายของชื่อดาวบริวารทั้งสองนี้จะสอดคล้องกับชื่อของดาวอังคาร ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าแห่งสงครามนั่นเอง ดาวอังคารมีความหนาของชั้นบรรยากาศราว 0.7% ของโลกเท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะเกิดลมหรือพายุฝุ่นได้โดยชั้นบรรยากาศประกอบด้วย Carbon Dioxide (95.3%) Nitrogen (2.7%) Argon (1.6%)Oxygen (0.15%) ไอน้ำ (0.03%) และอื่นๆ พื้นผิวดาวอังคารประกอบด้วยหินที่ประกอบด้วยโลหะจำพวกเหล็กและผงโลหะเป็นส่วนมาก จึงทำให้เมื่อมองจากโลกเห็นเป็นสีแดง ขณะที่ขั้วโลกประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์แข็งและน้ำแข็งปกคลุม เคยเชื่อกันว่า ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดาวอังคารมีอุณหภูมิต่ำกว่าโลกมากและแห้งแล้ง นอกจากนี้ชั้นบรรยากาศที่เบาบาง ยังไม่สามารถป้องกันรังสีที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ได้
ดาวอังคารจัดเป็นดาวเคราะห์ที่มีพื้นพิภพ ( Terrestial planet) ที่มีความแตกต่างของระดับความสูงของภูมิประเทศมากกว่าดาวเคราะห์ใดๆ ซีกโลกใต้ของดาวอังคารเป็นที่ราบสูงซึ่งเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต ลักษณะคล้ายคลึงกับ ดวงจันทร์ซึ่งมีความแตกต่างกันมากกับทางซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นที่ราบต่ำและมีอายุน้อยกว่าแต่มีประวัติความเป็นมาซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงบริเวณขอบของพื้นที่นับหลายกิโลเมตร สภาพภายในของดาวอังคารซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลที่เก็บได้จากพื้นผิว คาดว่ามีแกนแน่น รัศมี 1,7000 ก.ม. ล้อมรอบด้วยหินร้อนหลอมละลายและมีเปลือกบาง ดาวอังคารมีความหนาแน่นต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ที่มีพื้นพิภพดวงอื่น และอาจบ่งชี้ได้ว่าแกนของมันประกอบด้วยเหล็กและกำมะถัน (iron and iron sulfide)

เส้นทางการสำรวจ

การเดินทางของนักบินอวกาศ ผู้อุทิศชีวิตเพื่อการสำรวจจักรวาลอันไกลโพ้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ ความสนใจเกี่ยวกับดาวอังคารเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีค้นพบของนักดาราศาสตร์ในราว 200 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี ค.ศ 1609 เมื่อโจฮันเนส เคปเลอร์ สำรวจพบว่า ดาวอังคารมีวงโคจรเป็นรูปวงรี และต่อมาในปี ค.ศ.1700 ได้มีการร่างภาพพื้นผิวดาวอังคารโดย คริสเตียน ไฮเกนส์ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1877 จีโอวานนี เชพพาเรลลี่ ได้ส่องกล้องเห็นแนวคลองบนดาวอังคารหรือที่เรียกว่า canali หรือเส้นทางคล้ายร่องน้ำ การค้นพบครั้งนี้จุดประกายให้แก่นักดาราศาสตร์อื่นๆ เป็นอย่างมาก ต่อมาในปี ค.ศ 1894 เพอร์ซิวาล โลเวลล์ ได้สร้างหอดูดาวที่รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ดาวอังคาร นอกจากนี้ยังสามารถสร้างแผนที่พื้นผิวดาวอังคารเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมด้วย โลเวลล์นี้เองคือผู้ที่พยายามพิสูจน์ว่ามีคลองชลประทานหรือแนวคลองขุดบนดาวอังคาร
ต่อมาในราวปี ค.ศ.1965 องค์การนาซาของสหรัฐฯ ได้ส่งยานอวกาศ มาริเนอร์ 4 ไปสำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรก และส่งภาพพื้นผิวดาวอังคารกลับมายังโลก 21 ภาพ ตามด้วยยานอวกาศอื่นๆ อีกหลายลำ เช่น ยานมาร์ ขององค์การอวกาศแห่งอดีตสหภาพโซเวียต ยานไวกิ้ง 1 และ 2 ( ค.ศ. 1976 ) ยานพาธไฟเดอร์ ( ค.ศ.1997 ) ซึ่งพยายามค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ตามด้วยยานโกลบอลเซเวอร์เยอร์ ยานโนโซมิของญี่ปุ่น ยานมาร์เอ็กเพรส ยานบีเกิล 2 และล่าสุดยานสปิริตและยานออพพอร์ทูนิตี้
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2003 และต้นปี 2004 มียานอวกาศนานาชาติไม่ต่ำกว่า 6 โครงการที่จะไปเยือนดาวอังคาร ในปี ค.ศ. 2003 โครงการขององค์กรอวกาศยุโรป (European Space Agency-ESA) ได้ส่งยานอวกาศชื่อ “ ด่วนสู่ดาวอังคาร ”
( Mars Express ) ไปทำการสำรวจ ซึ่งถือเป็นการเปิดยุคใหม่ของการสำรวจดาวเคราะห์ของยุโรปขึ้น วัตถุประสงค์หลักของปฏิบัติการ คือการสำรวจหาน้ำใต้พื้นผิว (subsurface water) รวมทั้งทิ้งยานแลนเดอร์ลงบนพื้นผิวดาวอังคารด้วย เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ 7 แบบที่ติดตั้งไปกับยานโคจร (orbiter) จะทำการทดลองสำรวจ remote sensing ที่สร้างมาเพื่อสำรวจสภาพบรรยากาศ โครงสร้างและลักษณะทางธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์หวังว่าเครื่องมือที่ติดตั้งบน Mars Express จะทำการตรวจจับได้ว่ามีน้ำอยู่ใต้พื้นผิวหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการก่อตัวของแม่น้ำ แอ่งน้ำ และน้ำแข็งใต้ดิน นอกจากวัตถุประสงค์หลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว Mars Express ยังช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสื่อสารที่ล่าช้า (relay communication) ระหว่างโลกกับแลนเดอร์จากชาติอื่นๆ ที่จะลงบนพื้นผิวด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มในระดับนานาชาติในการสำรวจดาวอังคาร ยานแลนเดอร์ซึ่งมีชื่อว่า บีเกิล 2(Beagle 2) จะทำการสำรวจเกี่ยวกับชีววิทยานอกโลก (exobiology) และธรณีเคมี (geochemistry) สภาวะอากาศ และสภาวะแวดล้อม เมื่ออยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร ยานบีเกิล 2 จะต้องอยู่ในสภาพอุณหภูมิต่ำถึง –100 องศาเซลเซียส มันจะนำเครื่องมือวิทยาศาสตร์หลายชนิดที่ได้รับพลังงานจากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่เติมไฟได้ไปด้วย ภารกิจแรกสำหรับบีเกิล 2 คือการถ่ายภาพทั้งจากกล้องพาโนรามาและกล้องมุมกว้างของบริเวณลงจอด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการสำรวจต่อไป
กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงจะใช้เพื่อส่องหินและดิน เศษหินภายในระยะเอื้อมถึงของแขนกลยานบีเกิล 2 จะถูกวิเคราะห์หาสสารอินทรีย์ น้ำและแร่ธาตุอื่นๆ ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ยานแลนเดอร์ยังต้องเจาะลงไปในพื้นผิว 1 เซนติเมตรทุก ๆ 6 วินาที และนำตัวอย่างดินขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ก๊าซ จุดมุ่งหมายแรกสำหรับการทดลองเหล่านี้ เพื่อมองหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต ถ้ามีสิ่งมีชีวิตในอดีตในบริเวณที่ลงจอด การรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาและในปัจจุบันของดาวอังคารจะช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเราได้ดีขึ้น เช่น ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าน้ำบนดาวอังคารหายไปในอดีตได้อย่างไร เราอาจจะศึกษาเกี่ยวกับชะตากรรมที่อาจเกิดขึ้นคล้ายกันกับมหาสมุทรในวันหนึ่งข้างหน้าได้
สำหรับยานสำรวจ Nozomi ( หมายถึง ความหวัง ) ซึ่งเป็นดาวเทียมของญี่ปุ่น ที่จะโคจรรอบดาวอังคารตามแผนการเดินทางเริ่มแรกนั้น โนโซมิจะเดินทางถึงดาวอังคารในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1999 แต่ระหว่างการสวิงผ่านโลกครั้งแรก มันไม่สามารถเร่งความเร็วได้ถึงกำหนด เนื่องจาก thruster valve ไม่ทำงาน จึงต้องปรับเปลี่ยน และทำให้ใช้เชื้อเพลิงมากกว่าที่วางแผนไว้ ทีมควบคุมการบินได้ส่งคำสั่งเพื่อดึงมันกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องสู่ดาวอังคาร ทีมได้พบว่าโนโซมิไม่มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะจุดจรวด เพื่อส่งตัวมันเข้าสู่วงโคจรได้ตามกำหนด ทีมวิเคราะห์ปฏิบัติการจึงหาเส้นทางอื่นที่เอื้อต่อปริมาณเชื้อเพลิงและสภาวะการสำรวจ การโคจรที่วางแผนในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1999 จึงยกเลิกไปและเส้นทางใหม่ได้ถูกสร้างขึ้น จากเวลานั้นโนโซมิจึงมีกำหนดถึงดาวอังคารในช่วงต้นปี ค.ศ. 2004 หลังจากสวิงผ่านโลก 2 ครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2002 และเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003
เป้าหมายหลักสำหรับปฏิบัติการโนโซมิ คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องการสำหรับปฏิบัติการในอนาคต โดยตรวจสอบ โครงสร้างและความเคลื่อนไหวในชั้นบรรยากาศดาวอังคาร ความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศดาวอังคารกับลมสุริยะ ตรวจสอบสนามแม่เหล็กบนดาว ถ่ายภาพสภาพอากาศและดวงจันทร์ทั้งสอง
สถานะการณ์ล่าสุดของยานโนโซมิซึ่งอาจจะมีปัญหาเมื่อต้องสวิงผ่านโลกครั้งที่สองโดยใช้แรงเหวี่ยงจากโลก เพื่อดีดเข้าสู่เส้นทางไปยังดาวอังคาร และปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ เนื่องจากระบบทำความร้อนที่เสียหายยังไม่ได้รับการซ่อมแซม จึงเกรงว่ายานอาจจะ ไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารได้
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2004 นี้ดาวอังคารจะมีผู้เยี่ยมเยือนอีกอย่างน้อย 6 ปฏิบัติการ ประกอบด้วยยานแลนเดอร์ 3 ลำและยานโคจรอีก 3 ลำ รวมทั้งยานมาร์ส โอดิสซี และ มาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารในขณะนี้ด้วย การสื่อสารและส่งข้อมูลระหว่างยานโคจรสู่ศูนย์บนโลก อาจเกิดการติดขัดได้เนื่องจากช่องทางการสื่อสารที่จำกัด นาซ่าจึงทุ่มงบประมาณกว่า 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเตรียมสร้างสถานีเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network) ใกล้กรุงแคนเบอร์ราในออสเตรเลีย กรุงแมดริดในสเปน และโกลด์สโตนในแคลิฟอร์เนีย ทั้งนี้เพื่อรับมือกับสภาพติดขัดนี้ นอกจากนี้นาซ่ายังใช้เงิน 3 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อจองเวลากล้องโทรทรรศน์ Parkes ขนาด 64 เมตรในการตามยาน สร้างตัวรับสัญญาณใหม่ และปรับปรุงพื้นผิวของกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้รับสัญญาณได้เป็น 2 เท่า

บทส่งท้าย

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการค้นหา และไม่ว่าบทลงท้ายจะเป็นเช่นไร มนุษย์ได้เริ่มตั้งข้อสังเกตแล้วว่า เราอาจมิได้เป็นมนุษย์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวที่ดำรงชีวิตอยู่ในจักรวาลอันไพศาลนี้ มนุษย์จึงได้ร่วมมือกันโดยมิได้คำนึงถึงเชื้อชาติและข้อแตกต่างใดๆ และทุ่มเทสติปัญญา ความเพียรพยายามและความมุ่งมั่นที่จะค้นหา และค้นพบบางสิ่งที่แอบคาดหวัง ร่องรอยการเดินทางอันยิ่งใหญ่ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกและจิตใจอันกล้าหาญของนักสำรวจรุ่นแล้วรุ่นเล่า ถูกเล่าขานไม่รู้จบสิ้น แม้นมนุษย์จะพบเพียงความว่างเปล่าในท้ายที่สุด ทว่าความฝันและความปรารถนาอันแรงกล้ายังคงอยู่ และอาจจะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงอยากรู้ และเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจักรวาล
เหนืออื่นใดปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า มนุษย์โดดเดี่ยวเพียงลำพังหรือไม่ในห้วงจักรวาลนี้ ยังคงท้าทาย และรอคอยอย่างไม่หวั่นต่อกาลเวลาและผู้ออกเดินทางไปเพื่อค้นหาคำตอบดังใจปรารถนา
เพราะดวงดาวยังคงเป็นตัวแทนของความฝันและความหวังในใจมนุษย์ ที่ผู้คนบากบั่นเพื่อให้ได้มาหรือเพียงไปให้ถึงดังคำกล่าวขาน


ข่าวล่าสุด

ออพพอร์ทูนิตี้ส่งภาพชุดแรกกลับโลก
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา ( นาซ่า ) แถลงเมื่อวันที่ 25 มกราคม ว่ายานออพพอร์ทูนิตี้ ซึ่งเป็นยานหุ่นยนต์คู่แฝดของยานสปิริต ได้ส่งภาพถ่ายชุดแรกกลับมายังโลกแล้ว ภายหลังจากลงจอดบนดาวอังคารเป็นผลสำเร็จเมื่อเวลา 21.05 น. ของวันเสาร์ ตามเวลาในสหรัฐ ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 12.05 น. ของวันอาทิตย์ตามเวลาในไทย โดยภาพถ่ายชุดนี้มีทั้งภาพสีและภาพขาวดำที่แสดงให้เห็นภาพตัวยานจอดอยุ่บนที่ราบใกล้หินก้อนหนึ่ง ยานออพพอร์ทูนิตี้ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ 6 ล้อ ลงจอดคนละฝากฝั่งกับยานสปิริตในบริเวณที่เรียกว่าเมริเดียนี แพลนัม ที่ราบขนาดใหญ่ใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งเป็นแหล่งแร่เฮมาไทต์ขนาดใหญ่ เพราะนักวิทยาศาสตร์วางแผนจะให้ยานลำนี้สำรวจชั้นแร่เฮมาไทต์ซึ่งเป็นออกไซด์เหล็กในบริเวณดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ว่าเกิดจากตะกอนของมหาสมุทร เถ้าถูเขาไฟ หรือจากสภาพแวดล้อมโบราณอื่นๆ บนดาวอังคารกันแน่ ในส่วนของยานสปิริตที่ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน และเกิดปัญหาระบบสื่อสารขัดข้องทำให้ขาดการติดต่อกับพื้นโลกนาน 2 วันนั้น นาซ่าแถลงว่าได้รีเซตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ทำให้ยานสปิริตสามารถส่งสัญญาณกลับโลกได้แล้ว แต่ข้อมูลที่ส่งกลับมายังขาดตอน จึงตัดสินใจปิดระบบชั่วคราว ทำให้ต้องหยุดสำรวจดาวอังคารนาน 3 สัปดาห์
ทั้งนี้ยานหุ่นยนต์แฝด 2 ลำถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงร่วมกัน โดยนาซ่าได้ส่งยานสปิริตออกเดินทางเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ปีที่แล้ว ตามด้วยยานออพพอร์ทูนิตี้ ในวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งยานคู่แฝดทั้ง 2 ลำได้เดินทางถึงดาวอังคารในวันที่ 3 ม.ค. และ 24
ม.ค. ตามลำดับ ผู้สนใจข่าวคราวการสำรวจดาวอังคารของยานคู่แฝดทั้ง 2 ลำอย่างใกล้ชิด สามารถติดตามได้จากเวบไซด์ www.marsrovers.jpl.nasa.gov

ที่มา : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก

องค์การนาซ่าตั้งชื่อเนินใกล้บริเวณจุดลงจอดยานสำรวจตามชื่อลูกเรือยานโคลัมเบียเพื่อเป็นการ
รำลึกถึง

ผู้อำนวยการองค์การนาซ่า ฌอน โอคีฟี่ แถลงในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า นาซ่าจะตั้ง
ชื่อเนินที่อยู่ทางตะวันออกของจุดลงจอดยานสำรวจสปิริต ตามชื่อลูกเรือยานอวกาศโคลัมเบีย เอสทีเอส 107
เพื่อเป็นการรำลึกถึงลูกเรือของยานทั้ง 7 ชีวิต
“ เนินเขาทั้งเจ็ดลูกนี้จะได้รับการตั้งชื่อตามชื่อลูกเรือชุดสุดท้ายของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย
เพื่อเป็นการรำลึกถึงดวงวิญญาณที่กล้าหาญของพวกเขา ลูกเรือยานโคลัมเบียต้อง
เผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ท้าทาย และได้กระทำการอันเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในการ
สำรวจ ” ยานอวกาศโคลัมเบียมีนักบินอวกาศริค ฮัสแบน เป็นผู้บัญชาการ และนักบินอวกาศวิลเลียม แมค
คูลเป็นนักบินผู้ควบคุม ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการปฏิบัติการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ นักบินอวกาศไม
เคิล แอนเดอร์สัน นักบินอวกาศกัลนา เชาลา นักบินอวกาศเดวิด บราวน์ นักบินอวกาศลอเรล คลาค และ
นาวาอากาศเอกอิแลน รามอน ผู้เชี่ยวชาญด้านขีปนาวุธจากประเทศอิสราเอล
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ 2003 ยานโคลัมเบียและลูกเรือได้หายไปจากน่านฟ้าทางทิศตะวันตก ขณะกำลังบินผ่านเข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อลงจอด เที่ยวบินที่ 28 ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยานโคลัมเบียนี้ ได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโดยมีระยะเวลาทั้งสิ้น 16 ภารกิจดังกล่าวได้แก่การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศ ลูกเรือยานโคลัมเบียประสบ ความสำเร็จในการทดลองกว่า 80 รายการ องค์การนาซ่าจะได้เสนอเรื่องนี้ไปยัง “ สหพันธ์ดาราศาตร์นานาชาติ ”เพื่อการประกาศตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ
ภารกิจของยานขนส่งโคลัมเบียซึ่งเป็นยานขนส่งที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ คือการนำนักบินอวกาศ 7 คน ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเป็นภารกิจครั้งที่ 28 ของยานลำนี้ ยานขนส่งโคลัมเบียใช้งานมาแล้ว 22 ปี ผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาแล้วมากกว่า 100 ครั้ง และล่าสุดได้เข้าซ่อมบำรุงที่โรงงานในเมืองปาล์มเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1999 การระเบิดของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจรวมทั้งรัสเซียได้ร่วมกันดำเนินการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติขึ้น และกำลังอยู่ในขั้นการดำเนินการใช้ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียเป็นยานพาหนะ เพื่อให้นักบินอวกาศและผู้เกี่ยวข้องได้เดินทางไปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติ พร้อมขนส่งสัมภาระต่างๆ ไปยังสถานีอวกาศ ดังนั้นการสูญเสียยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพเนินที่รับการตั้งชื่อตามชื่อลูกเรือยานโคลัมเบีย สามารถดูได้ที่
http://www.jpl.nasa.gov/mer2004/rover-images/feb-02-2004/captions/image-10.html .

ที่มา : www.jpl.nasa.gov ( February 02, 2004 )

โดย คุณแก้วใจ






Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th