เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต
สังคมปัจจุบัน กำลังมีความกังวลใจ และมีข้อข้องใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
ซึ่งมีทั้งพืช สัตว์และจุลินทรีย์ หรือที่เราเรียกกันว่า จีเอ็มโอ (GMOs) ว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอจะมีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่
อย่างไร ทั้งในแง่ประโยชน์และโทษ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่นี้มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ดัดแแปรพันธุกรรมเหล่านี้
เพื่อจะได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและมีความเข้าใจในประเด็นมากขึ้น GMOs คืออะไร
GMOs เป็นตัวย่อของคำว่า genetically modified organisms ตัว s ข้างท้ายแสดงว่าเป็นพหูพจน์
หมายความว่ามีหลายชนิด แปลความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลงหรือตบแต่งสารพันธุกรรม
สารพันธุกรรม (DNA) คือ สารเคมีที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยพันธุกรรมหรือ ยีน (gene)
และสิ่งมีชีวิตที่ว่านี้อาจเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ก็ได้ ขณะนี้ในโลกมีผลิตภัณฑ์
GMOs ที่เป็นจุลินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์ที่ใช้อยู่ใน
อุตสาหกรรมอาหารและยา สัตว์บางชนิด เช่น ปลาแซลมอน แต่ GMOs ส่วนใหญ่ที่ได้รับการกล่าวถึงในปัจจุบันเกิดจากการดัดแปลงสารพันธุกรรมในพืช
สาเหตุที่มีความนิยมทำ GMOs ในพืชก็เพราะว่าเทียบกับสัตว์ทำได้ง่ายกว่า และสามารถศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จากหลายชั่วอายุ
(generation) ของพืชโดยใช้เวลาน้อยกว่าการศึกษาในสัตว์ ซึ่งแต่ละชั่วอายุของสัตว์มีระยะเวลายาวนาน
คำภาษาอังกฤษคำว่า modify หมายถึงการปรับแต่งหรือดัดแปลง และ modified หมายความว่า
ได้รับการปรับแต่งหรือดัดแปลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในกรณีของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่นั้น
คำนี้หมายถึงการดัดแปลงหรือตัดแต่งที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ จากการใช้วิธีการทางพันธุวิศวกรรมเท่านั้น
วิธีการอื่น เช่น การปรับปรุงพันธุ์ด้วยการผสมพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์
(breeding) แม้ว่าจะเป็นการดัดแปลงยีนโดยฝีมือของมนุษย์ แต่ไม่ถือว่าสิ่งที่ได้นั้นเป็น
GMOs เนื่องจากมนุษย์มิได้เปลี่ยนแปลงที่ตัวยีนโดยตรง เป็นเพียงผู้ช่วยให้ยีนของพืชแต่ละต้นได้มีโอกาสมาพบกันมากขึ้น
จากนั้นปล่อยให้การผสมผสาน และการเปลี่ยนแปลงของยีนอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ |
|
ิเหตุใดจึงมีการพัฒนา GMOs
องค์การสหประชาชาติคาดว่าในปี พ.ศ. 2553 จะมีประชากรโลก 7 พันล้านคน เพิ่มขึ้นถึง
107 ล้านคนในอีก 50 ปีข้างหน้า ในขณะที่พื้นที่การเกษตรจะกลับลดน้อยถอยลง เนื่องจากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น
ทำให้มีความต้องการพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น ประกอบกับปัญหามลภาวะและความเสื่อมโทรมของป่าและดินที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นปัญหาใหญ่หนึ่งที่มนุษย์จะเผชิญในอนาคตข้างหน้าคือ การที่จะต้องหาวิธีเพิ่มอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลกโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากไปกว่านี้
ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยการเพิ่มสมรรถภาพในการผลิตทางการเกษตรมากกว่าที่จะเพิ่มพื้นที่การผลิต
ในอดีตจากการเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น สารเคมี ปุ๋ย เครื่องจักรกล
และการขยายพื้นที่การเกษตรในช่วง 30 ปีนั้น ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาในฐานะที่จะเป็นทางในการเพิ่มผลผลิตอาหารในศตวรรษหน้า
และสามารถแก้ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดทางด้านการผลิตทางการเกษตรได้อย่างกว้างขวาง เช่น
1. การเพิ่มผลผลิตโดยการพัฒนาพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก
เป็นสิ่งที่สังคมโลกมีความวิตกกังวล หากไม่มีการเตรียมการที่เหมาะสมย่อยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารในระยะเวลาไม่นานนัก
2. การลดต้นทุนการผลิต การผลิตทางการเกษตรในปัจจุบันนี้มีการใช้สารเคมีเพื่อการจำกัดแมลงศัตรูพืช
และโรคพืช ในอัตราค่อนข้างสูง เกษตรกรรายย่อยมักจะประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจัดการ
ปัจจัยการผลิตหรือประสบภาวะการขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตสูง ยิ่งไปกว่านั้นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช
มีผลเสียต่อสภาพแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
การนำเทคโนโลยีต้านการตัดต่อยีนมาใช้เพื่อผลิตพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อโรค หรือแมลงศัตรูพืช
จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชากรโลก
3. การรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในด้านการเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้สูงขึ้น
ขณะเดียวกันลดต้นทุนด้านการผลิตลง ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตในพื้นที่เดิมได้ต่อไปโดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก
นับว่าเป็นการรักษาป่าและสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เทคโนโลยีสามารถเอื้อต่อการอนุรักษ์พันธุ์พืช
หรือสัตว์ที่หายาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์ โดยการนำมาเพิ่มปริมาณหรืออนุรักษ์ไว้ในรูปแบบที่เหมาะสม
โดย มธุรา สิริจันทรัตน์เอกสารอ้างอิง
1. ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ, คุณรู้จัก พืชดัดแปรพันธุกรรม
ดีแค่ไหน, เอกสารแผ่นพับเผยแพร่ความรู้ หมายเลข 1
2. นเรศ ดำรงชัย, ผลกระทบของ GMOs ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย,
สิ่งที่ประชาชนควรทราบ, โครงการศึกษานโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
(BIOTEC), พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2543, 14 หน้า
|