สาหร่ายสไปรูลินา ( Spirulina sp. )


ผศ . ดร . มารศรี เรืองจิตชัชวาลย์
สายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สาหร่ายสไปรูลินา ( Spirulina    หรือ Arthrospira   ) คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ( Blue-green alga หรือ Cyanobacterium ) สกุลหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็น เซลทรงกระบอกหลายเซลเรียงต่อกันเป็นเส้นสายตรง หรือขดเป็นเกลียว หรือ เป็นวง ไม่มีกิ่งก้าน เรียกว่า ไตรโคม ( trichome ) โดยเซลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-12 ไมโครเมตร ( m m) ขนาดความกว้าง ยาว ของไตรโคมขึ้นกับชนิด (Species) ของสาหร่าย และสภาวะแวดล้อมที่สาหร่ายเจริญเติบโต

สาหร่ายสไปรูลินาเป็นจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่มีการเจริญเติบโตโดยการแบ่งเซล (binary fission) เท่านั้น เซลสาหร่ายสไปรูลินาไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส และคลอโรพลาสต์ แต่มีผนังเซลประกอบด้วยเยื่อหุ้มชั้นนอก ( outer membrane ) และเยื่อพลาสมา ( plasma membrane ) ที่มีชั้นของเปปติโดไกลแคน ( peptidoglycan ) แทรกอยู่ระหว่างเยื่อทั้งสอง และมีเยื่อไทลาคอยด์ ( thylakoid mebrane ) ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง และเป็นแหล่งที่พบรงควัตถุสังเคราะห์แสง ต่าง ๆ เช่น คลอโรฟิลล์ - เอ ( chlorophyll-a ) คาโรทีนอยด์ (carotenoids) ไฟโคไซยานิน ( phycocyamin ) และ อัลโลไฟโคไซยานิน ( allophycocyanin ) นอกจากนี้สาหร่ายสไปรูลินาบางสายพันธุ์อาจมีถุงอากาศเล็ก ๆ ( gas vacuoles ) อยู่ภายในไซโตพลาสซึมทำให้สามารถลอยตัวได้

คุณประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลินา
สาหร่ายสไปรูลินา จัดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนซึ่งมีปริมาณสูงถึงร้อยละ 50-70 ของน้ำหนักแห้ง มีคาร์โบไฮเดรตอยู่ประมาณร้อยละ 12-20 นอกจากนี้สาหร่ายสไปรูลินายังเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการผลิตสารเคมีสำคัญซึ่งพบไม่ค่อยพบในสิ่งมีชีวิตอื่น โดยประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่หลายพันธะ (Polyunsaturated fatty acid, PUFA) โดยเฉพาะกรดแกมม่า - ลิโนเลนิค หรือ GLA ( g -linolenic acid, 18:3 w 6), รงควัตถุธรรมชาติ เช่น ไฟโคไซยานิน (phycocyanin) และคาโรทีนอยด์ ชนิด myxoxanthophyll, zeaxanthin และสารพวกโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharides) เป็นต้น

การเจริญเติบโตของสาหร่ายสไปรูลินา

วงจรชีวิต
ในวงจรชีวิตของสาหร่ายสไปรูลินา ไตรโคมที่เจริญเติบโตเต็มที่ มีการสร้างเซลที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า เนคริเดีย ( necridia ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะถูกย่อยทำให้ไตรโคมแตกหักออกเป็นท่อนสั้น ๆ ขนาดประมาณ 2-4 เซลที่มีลักษณะเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า โฮโมโกเนีย ( homogonia ) จากนั้นจึงมีการแบ่งตัวเพิ่มความยาวหรือจำนวนเซลของแต่ละโฮโมโกเนียจนเป็นไตรโคมที่สมบรูณ์ ( ดังรูป )
วงจรชีวิตของสาหร่ายสไปรูลินา ( Spirulina sp. )
ที่มา : Richmond, A. (1986) In CRC Handbook of Microalgal Culture (edited by Richmond, A.),
CRC press, Inc., Boca Raton, Florida, p. 216.

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
- แสง
- อุณหภูมิ
- สารอาหาร
- ความเค็ม
- ความเป็นกรด - ด่าง (pH) เป็นต้น




Presented by
Digital Library Team | e-mmet@lib.kmutt.ac.th